"เจ็บหน้าอก" อาจไม่ใช่ "โรคหัวใจ" อาการแบบไหน เป็นโรคอะไร รีบเช็ก!

อาการเจ็บหน้าอก... อาจเกิดจากหลากหลายโรค             อาการเจ็บหน้าอก หลายคนต้องตกใจกลัวว่า ต้องเป็นโรคหัวใจแน่เลยยิ่งถ้าอาการเกิดบ่อยๆ ด้วย  ความมั่นใจเรื่องสุขภาพที่แข็งแรงนั้นย่อมหายไปเลย  แต่เกิดความวิตกกังวลเข้ามาแทนที่ ซึ่งจริงๆแล้วอาการเจ็บหน้าอกนั้น  อาจมาจากโรคหัวใจหรือไม่ได้มาจากโรคหัวใจ เสมอไป เพราะมีหลายปัจจัยในการเกิดได้ ดังนี้ 1.หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน             อาการของโรคจะทำให้เจ็บแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก ปวดเมื่อยหัวไหล่  ปวดกราม  หรือจุกบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งอาการแบบนี้จะเป็นมากขณะออกกำลังกาย เป็นอาการเจ็บหนักๆเหมือนมีอะไรมาทับหรือรัดบริเวณกลางหน้าอกใต้กระดูก  บางคนมีร้าวไปบริเวณคอ กราม ไหล่ และแขนทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะข้างซ้าย  อาการจะทุเลาลงเมื่อได้นั่งพักหรืออมยา Nitroglycerin ซึ่งเราก็สามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสม ไปตรวจสมรรถภาพหัวใจบ้างปีละครั้ง เพื่อให้แพทย์ได้แนะนำวิธีการดูแลตัวเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการเจ็บหน้าอกและการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ 2.เจ็บหน้าอกจากอาการแสบร้อนที่หน้าอกหรือลิ้นปี่             ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคกรดไหลย้อน เมื่อกระเพาะอาหารของคุณและกรดในกระเพาะอาหารที่ช่วยย่อยอาหาร  กลับดันกลับเข้าไปในหลอดอาหาร หลอดที่เชื่อมต่อ ลำคอกับกระเพาะอาหาร และจากกรดในกระเพาะมีความเป็นกรดสูงมาก จึงเป็นเหตุให้คุณรู้สึก แสบร้อนหลังกระดูกหน้าอกของคุณ ซึ่งภายในกระเพาะอาหารนั้นเรียงรายไปด้วยเยื้อหุ้มชั้นดีที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดฤทธิ์กัดกร่อนของกรดมาทำลายได้ ขณะที่หลอดอาหารไม่ได้เป็นเช่นนั้น หากอาการเกิดขึ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือมากกว่า คุณอาจมีโรคกรดไหลย้อน Gastroesophageal Reflux Disease (GERD) เกิดขึ้นแล้ว ต้องได้รับการรักษา มิฉะนั้นอาจเกิดโรคหอบหืด แน่นหน้าอก ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเป็นมะเร็งชนิดที่หายยากได้ 3.กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกได้รับบาดเจ็บ             หรือที่เราเรียกกันแบบธรรมดาว่า “กล้ามเนื้อหน้าอกฉีก” เป็นการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในการเล่นกีฬา สามารถเกิดได้ทั้งในระหว่างฝึกซ้อม หรือในระหว่างการแข่งขันที่ต้องใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก ซึ่งมีปัญหามาก โดยในนักกีฬาจะมีโอกาสบาดเจ็บซ้ำได้สูง และมีอาการปวดเรื้อรังได้ 4.ความรู้สึกที่ไม่สบายภายในหน้าอก             ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุ  หรืออาจจะเกิดการที่เราเคยกระทบกระเทือนในบริเวณนั้นมาก่อน  อาการจะทุเลาลงเมื่อได้กินยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ 5.โรคเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ             หากคุณเป็นอีกคนที่กำลังต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัสในช่วงสองสามวันที่ผ่านมานี้ คุณก็อาจจะมีอาการเจ็บปวดแปล๊บๆที่หน้าอกได้ เพราะมันเป็นผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการอักเสบในชั้นเนื้อเยื่อรอบหัวใจ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความผิดปกติของภูมิต้านทานที่บกพร่องด้วย เช่นโรคลูปัส และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ถึงแม้ว่าเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมักจะไม่เป็นพิษเป็นภัยมากนัก แต่มันจะส่งผลต่อคุณภาพของชีวิตของคุณ จึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง 6.โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ             โรคของเยื้อหุ้มหัวใจอาจทำคุณมีไข้และมีอาการเจ็บหน้าอกได้ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุที่ทำให้สมรรถภาพการทำงานของร่างกายลดลง ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มหัวใจที่หนาออกไป ก็จะช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกให้ดีขึ้นได้                                               สอบถามเพิ่มเติมได้ที่                                              ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี                                       โทร 02-561-1111 ต่อ1322-1323

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ทุก ชม. จะมีคนไทย 5 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

ทุก ชม. จะมีคนไทย 5 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ             คงเคยได้ยินมาบ้าง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ บางคนต้องไปขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือผ่าตัดต่อหลอดเลือดบ้าง เพื่อให้คนตระหนักว่าโรคหัวใจ และอัมพาตเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงถึง 11.2 ล้านคนต่อปี ร้อยละ 80 ของการตายก่อนวัยอันควรจากโรคหัวใจและอัมพาต สามารถหลีกเลี่ยงได้หากควบคุมปัจจัยความเสี่ยงจากบุหรี่ อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะและการไม่ออกกำลังกาย           มีการประมาณกันอย่างคร่าว ๆ ว่าทุกชั่วโมงจะมีคนไทย 5 คน เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ หรือทุกปีกว่า 65,000 คน ต้องตายด้วยโรคหัวใจที่สามารถป้องกันได้          มีหลายคนคิดว่าโชคดีที่ไม่ใช่เรา หรือคนที่เรารัก และก็จะยิ่งเป็นโชคดียิ่งขึ้น ที่ได้อ่านบทความนี้ จนเข้าใจและสามารถนำมาปฏิบัติเกิดประโยชน์ ทำให้ใจสบาย และมาเริ่มทำความเข้าใจกันตามลำดับไป          กล้ามเนื้อหัวใจก็เหมือนกับอวัยวะอื่นที่ต้องการเลือดแดงมาเลี้ยงหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจเรียกว่า หลอดเลือดแดงโคโรนารีซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร แตกแขนงออกจากส่วนต้นของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ดา (Aorta) บริเวณนั้นมักเรียกว่า ขั้วหัวใจ           หลอดเลือดโคโรนารีมีสองเส้นใหญ่ ๆ คือ หลอดเลือดแดงด้านซ้าย และทางด้านขวา หลอดเลือดหัวใจที่ว่านี้จะอยู่ที่ผิวด้านนอกของหัวใจ แตกแขนงห่อหุ้มทุกตารางนิ้วของหัวใจผนังด้านในของหลอดเลือดโคโรนารีถูกครอบคลุมด้วยเซลล์บุผิวขนาดเล็ก ๆ เรียกว่า เอนโดทีเลียม (Endothelium) ดูราวกับปูด้วยกระเบื้องอย่างดี อาทิ จะหลั่งสารที่สำคัญหลายชนิดคอยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดอุดตันจากเกร็ดเลือดและคราบไขมัน ราวกับการเคลือบน้ำยาอย่างดี ทั้งยังมีสารที่ช่วยให้เกิดการขยายตัวของเส้นเลือดทำให้การไหลเวียนดีขึ้นอีกด้วย           เซลล์เนื้อเยื่อบุผิว ที่ว่านี้เหมือน ๆ กับเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเราตามธรรมชาติซึ่งมีการเจริญและเสื่อมสลายตายไปตามเวลา          ถ้าหากค่อย ๆ เกิดขึ้น และเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น ตามอายุ ก็มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาทุกข์ร้อนใจอะไร แต่ถ้าหากเกิดก่อนเวลาอันควรอะไรจะเกิดขึ้น นึกถึงสภาพของพื้นกระเบื้อง ที่กระดำกระด่างและร่อนหลุด มีเศษไขมัน คราบของสกปรกไปเกาะอยู่เต็มไปหมด หลอดเลือดหัวใจขนาดเพียง 3 มิลลิเมตร ที่มีไขมันเข้าไปสะสมอยู่ที่ผนัง ค่อยๆ พอกพูนสะสมปริมาณมากขึ้น           การสะสม พอกพูนของไขมันดังกล่าวนี้ อันที่จริงแล้วค่อย ๆ เกิดขึ้นตั้งแต่อายุน้อย ๆ ทั้งที่ ถูกกำหนดโดยหลายปัจจัย อาทิพันธุกรรม และปริมาณไขมันที่บริโภคและการสูบบุหรี่  ความดันโลหิตสูง           ถ้าการสะสมของไขมันเป็นน้อย ๆ (น้อยกว่า 50% ของเส้นเลือด) ก็อาจยังไม่ก่อให้เกิดการอะไร แต่ถ้าเป็นมากซึ่งมักจะเกินกว่า 70% ของหลอดเลือด เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอกับความต้องการของกล้ามเนื้อหัวใจ จะเกิดอะไรขึ้น          ถ้าอาการตีบตันค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ก็จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือดแบบเรื้อรัง โดยเฉพาะเวลาที่ร่างกายและกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมาก ๆ เช่น ขณะออกกำลังกายตื่นเต้น ก็อาจทำให้เกิดอาการ ซึ่งเมื่อหยุดพักแล้วจะดีขึ้นเอง ยกเว้นในบางรายอาจต้องใช้ยาขยายหลอดเลือดช่วย ที่เรียกว่า ยาพ่นหรืออมใต้ลิ้น           ถ้าอาการตีบตันเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันใด ซึ่งก็มักเกิดจากไขมัน (Lipid plaque) ที่ผิวด้านในของหลอดเลือดหัวใจมีการแตกออก แล้วก็มีเกร็ดเลือดมาอุดตันเต็มหลอดเลือดทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีอาการวูบจากเจ็บหน้าอกจนถึงหัวใจวาย ถึงขนาดทำให้บางคนเสียชีวิตทันทีจากหัวใจ (Sudden cardiacdeath)  เช่น ที่ได้ยินข่าวว่า ดีใจ ตกใจมาก เป็นลมช็อคตายไปเลยก็มี รายที่โชคดีหน่อยก็อาจถูกนำส่งโรงพยาบาลพบแพทย์ รักษาเยียวยากันไปตามความรุนแรง ประเภทนี้ก็มีทั้งที่รอดและที่ไม่รอดเช่นกัน                 ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สังเกตอย่างไรว่าเป็น ภาวะหัวใจโต การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) สามารถดูเบื้องต้นได้

สังเกตอย่างไรว่าเป็น ภาวะหัวใจโต การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) สามารถดูเบื้องต้นได้ ภาวะหัวใจโต             ขนาดหัวใจที่โตกว่าปกตินั้น อาจแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ โตจากกล้ามเนื้อที่หนาตัวกว่าปกติ ลองนึกภาพคนเล่นกล้าม นักเพาะกายกล้ามเนื้อใหญ่ขึ้นเพราะทำงานหนัก กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นกัน หากต้องทำงานหนัก บีบตัวมาก ๆ เช่น ในกรณีความดันโลหิตสูง หรือลิ้นหัวใจตีบก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นได้ อีกประการหนึ่งคือขนาดของหัวใจโต เพราะกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี มีเลือดคั่งค้างในห้องหัวใจมากคล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ทำให้ขนาดโตขึ้น มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจโตที่เป็นดาราประจำคือ ความดันโลหิตสูง ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย เบาหวาน เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่หนากว่าปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย   หัวใจโตคืออะไร             ภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติใด ๆ หากมีอาการก็จะเป็นอาการเนื่องจากโรคที่เป็นต้นเหตุ และอาการจากหัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อยง่าย หอบ แน่นหน้าอก เป็นต้น  การตรวจร่างกายจะบอกได้หากหัวใจมีขนาดโตมากแต่โดยทั่วไปแล้ว การตรวจร่างกายจะมุ่งหาสาเหตุของหัวใจโต มากกว่าที่จะบอกขนาดของหัวใจ  การตรวจที่จำเป็นคือ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์ทรวงอก (ปอดและหัวใจ) หากกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมาก หรือเคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน จะแสดงให้เห็นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ก็มิได้หมายความว่าหัวใจไม่โต หรือไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจอาจบอกว่าโตแต่จริงๆ  แล้วไม่โตก็ได้ และเอกซเรย์ทรวงอกบอกขนาดหัวใจได้ดีพอสมควร แต่ก็ผิดพลาดได้ง่ายเพราะขึ้นอยู่กับเทคนิคระยะห่างระหว่างหัวใจกับฟิล์ม การหายใจ เป็นต้น บ่อยครั้งที่ดูว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ แต่จริง ๆ แล้วขนาดหัวใจปกติไม่โตเลย ในทางกลับกันเอกซเรย์บอกว่าปกติแต่ความจริงมีกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติมากก็เป็นได้ ต้องเข้าใจว่าการตรวจเหล่านี้ล้วนมีข้อจำกัดทั้งสิ้น บ่อยครั้งที่แพทย์สั่งตรวจพิเศษเหล่านี้หลาย ๆ อย่าง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้ความเห็นและรักษา   การตรวจวินิจฉัย             ไม่มีวิธีไหนดีที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดในการตรวจเลย วิธีดูขนาดหัวใจที่ยอมรับกันว่าดีมากในปัจจุบัน คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ Echocardiography หลักการคือเครื่องมือจะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงทะลุผ่าอวัยวะต่างๆ ที่จะตรวจเมื่อผ่านส่วนต่าง ๆ คลื่นเสียงเหล่านี้จะสะท้อนกลับ ความสามารถในการสะท้อนกลับขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อเยื่อที่มันผ่าน เช่น เลือด กระดูก กล้ามเนื้อ เหล่านี้ให้สัญญาณการสะท้อนกลับแตกต่างกัน คอมพิวเตอร์จะบันทึกสัญญาณสะท้อนกลับเหล่านี้ นำมาสร้างภาพขึ้นเห็นเป็นอวัยวะที่แพทย์กำลังตรวจอยู่ ดังนั้นหากตรวจที่หัวใจ ก็จะเห็นห้องหัวใจซึ่งวัดขนาดได้ว่าโตหรือไม่ เห็นการทำงานของลิ้นหัวใจเห็นกล้ามเนื้อหัวใจ และความสามารถในการบีบตัวว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นจึงให้รายละเอียดได้มากกว่าการตรวจอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจชนิดนี้ไม่เห็นหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และเห็นภาพไม่ชัดนักในผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคปอด (ยกเว้นการตรวจโดยผ่านหลอดอาหาร)   ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ             ผู้ที่มีอาการของหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูงหรือตรวจร่างกายพบระบบการทำงานหัวใจผิดปกติ ควรได้รับการตรวจนี้ เพื่อดูความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนั้นแล้วผู้ที่เอกซเรย์พบว่า หัวใจโตกว่าปกติบางราย ควรดูให้แน่ใจว่าโตจริงไหม ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาเป็นราย ๆ ในผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด เช่น เบาหวาน หากพบว่าหัวใจโตจากเอกซเรย์ก็ควรตรวจละเอียดเช่นกัน เนื่องจากภาวะหัวใจโตไม่จำเป็นต้องมีอาการ   การรักษา             การรักษาภาวะหัวใจโต คือการรักษาตามสาเหตุ เช่นรักษาความดันโลหิตสูง ผ่าตัดลิ้นหัวใจ หรือรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น แม้ว่าการรักษาอาจไม่ได้ลดขนาดหัวใจลงให้เห็นได้ชัดเจนจากเอกซเรย์ในบางราย แต่การรักษาจะช่วยป้องกันไม่ให้โตขึ้นเรื่อย ๆ ได้                    ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ) VS ยาแก้อักเสบ ต่างกันอย่างไร?

ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ)  VS ยาแก้อักเสบ ต่างกันอย่างไร ? “ยาแก้อักเสบ” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงต้องเคยมีประสบการณ์การรับประทานยากลุ่มนี้กันมาบ้าง เช่น เวลามีอาการเจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด หรือบาดแผล แล้วกรณีที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ รวมทั้งอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในการทำงานหรือเล่นกีฬา ก็ได้รับยาแก้อักเสบเช่นกัน กรณีเหล่านี้ยาแก้อักเสบที่ได้รับ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ? ใช้แทนกันได้หรือไม่ ?   โดยทั่วไปปฏิกิริยาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย มีสาเหตุได้มากมาย ทั้งที่มาจากการติดเชื้อ และไม่ใช่การติดเชื้อ การใช้ยาเพื่อรักษาการอักเสบ จึงต้องพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด               ในกรณีการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด, แผลอักเสบ ยาที่ได้รับจะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotics) ตัวอย่างเช่น เพนิซิลลิน, เตตราซัยคลิน, ซัลฟา, คลอแรมเฟนิคอล, กานามัยซิน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องรับประทานตามแพทย์สั่งจนครบชุด เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อต่อยา               ส่วนการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น กรณีกล้ามเนื้อ-เอ็นอักเสบจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาที่ให้ผลต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory) และมีฤทธิ์ระงับปวด โดยไม่มีผลในการยับยั้งเชื้อใดๆ ยากลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) และไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งเรารู้จักกันย่อๆว่า เอ็นเสด (NSAIDs: non-steroid anti-inflammatory drugs) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Ibuprofen (ชื่อการค้า Brufen®, Gofen®), Diclofenac (ชื่อการค้า Voltaren®), Mefenamic acid (ชื่อการค้า Ponstan®) ที่ผู้หญิงมักคุ้นเคยกันดีเวลาปวดประจำเดือน หรือดั้งเดิมที่สุด คือ ทัมใจแอสไพริน (aspirin) ยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ   จะเห็นได้ว่า “ยาแก้อักเสบ” บางครั้งอาจหมายถึงยาปฏิชีวนะ แต่ในบางครั้งก็ไม่ใช่ การที่ใช้คำว่า “ยาแก้อักเสบ” จึงอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ และเนื่องจากยาทั้ง 2 กลุ่มสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไป อาจมีผู้ป่วยบางส่วนซื้อยาแก้อักเสบมาใช้เองอย่างผิดวัตถุประสงค์ สลับกันระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานั้นๆอีกด้วย หรือในกรณีของข้อบ่งใช้และวิธีการใช้ ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และได้รับยาแก้อักเสบ ซึ่งในกรณีนี้เป็นยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปจะให้รับประทานจนอาการหายดีแล้วหยุดยาได้ การรับประทานยานี้ต่อเนื่องกันนานๆ นอกจากจะระคายเคืองทางเดินอาหารแล้ว อาจทำให้ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ หรือเกิดภาวะไตวายได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีความเข้าใจผิดว่า “ยาแก้อักเสบ” ทุกตัวต้องรับประทานต่อเนื่องจนยาหมด จึงรับประทานยาลดการอักเสบกล้ามเนื้อต่อเนื่องจนยาหมด แม้ว่าอาการอักเสบปวดกล้ามเนื้อจะหายไปก่อนที่ยาจะหมดแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นการได้รับยาเกินความจำเป็น อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ แพ้ยา : หากแพ้ไม่มากอาจมีอาการแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้น ผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต เกิดเชื้อดื้อยา : การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด เกิดโรคแทรกซ้อน : ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ อันตรายถึงชีวิต   ดังนั้น หากเกิดภาวะเจ็บป่วยไปพบแพทย์และได้รับยาแก้อักเสบมา ให้อ่านฉลากอย่างละเอียดให้เข้าใจ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและมีความปลอดภัย   ภญ.ณัฐกร จริยภมรกุร เภสัชกร ประจำ รพ.วิภาวดี เอกสารอ้างอิง ทหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในร้านยา; สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) Health Systems Research Institute 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การเสื่อมของข้อเข่านอกจากการใช้งานตามอายุยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย

การเสื่อมของข้อเข่านอกจากการใช้งานตามอายุยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย คุณรู้หรือไม่ข้อเข่ามีหน้าที่อย่างไร                 ปวดเข่าเป็นปัญหาที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์อยู่เสมอทั้งนี้เพราะเข่าเป็นข้อต่อของร่างกายที่ทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักตัว เช่น ในขณะที่เรา  ยืน เดิน วิ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้              ดังนั้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่า ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ข้อเข่าจึงมีโอกาสเสื่อมสภาพได้ง่าย การรักษาอาจต้องเปลี่ยนข้อเข่า   สาเหตุของข้อเข่าเสื่อม                การเสื่อมของผิวข้อกระดูกอ่อนจากการใช้งานตามอายุที่มากขึ้นปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 1.  กรรมพันธุ์ 2.  การใช้ข้อเข่าอย่างสมบุกสมบันมากเกิน 3.  การดูแลสุขภาพไม่ดีน้ำหนักตัวมากเกินไป 4.  เคยได้รับการบาดเจ็บหรือโรคภัยไข้เจ็บมาก่อน ทำให้เข่าเสื่อมเร็วขึ้น   รู้ได้อย่างไรว่าเริ่มมีข้อเสื่อมแล้ว   • เริ่มมีอาการปวดเข่าเวลามีแรงกดบนข้อเข่ามากขึ้น • นั่งเหยียดเข่า หรือนอนพักอาการปวดเข่าจะน้อยลง • ข้อเริ่มยึด เวลาตื่นนอนตอนเช้า พอเริ่มเดินไปแล้วอาการดีขึ้น • อาการปวดเข่า อาจจะไม่แน่นอน •เข่าเสื่อมมากขึ้น จะมีอาการปวดบวมมากขึ้น • ข้อเข่าเสื่อมเป็นมานานๆ เข่าอาจโก่งผิดรูป งอเหยียดได้น้อยลง กล้ามเนื้อต้นขาลีบลง     ข้อควรปฏิบัติ   1. การใช้ความเย็นหรือความร้อน • ใช้ความเย็นประคบในกรณีที่ปวดบวมเฉียบพลัน โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงหลังที่ได้รับบาดเจ็บ ห้ามนวด  ถู ดัด ในระยะนี้เด็ดขาด • ใช้ความร้อนประคบเมื่อเลย 24 ชั่วโมงไปแล้ว หรือในกรณีที่เป็นเรื้อรัง 2.พันผ้ายืดหรือใส่ที่พยุงเข่าเพื่อช่วยประคับประคองข้อเข่าเมื่อจำเป็นต้องเคลื่อนไหว 3.พักการใช้งานของข้อเข่า หรือใช้เครื่องช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า เพื่อแบ่งเบาน้ำหนักตัวที่ข้อเข่าต้องแบกรับ 4.การถนอมข้อเข่า • การไม่ยืนเดินมากเกินไป • ขึ้น ลง บันไดเท่าที่จำเป็น • ลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป • ไม่งอหรือพับข้อเข่ามากๆ เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งขัดสมาธิ พับเพียบ นั่งคุกเข่า เป็นต้น • ใช้เครื่องช่วยเดิน การออกกำลังกายเพื่อบริหารข้อเข่าให้แข็งแรงควรทำเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว   ท่าบริหารข้อเข่า   1.นอนหงาย            ใช้หมอนรองใต้เข่า เหยียดเข่าให้ตรง เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วปล่อยทำสลับกัน ให้ทำข้างละ 10-20 ครั้ง 2.นั่ง            ทำได้โดยนั่งห้อยข้างบนเก้าอ้ หรือโต๊ะ เอามือยันพื้นเก้าอี้หรือโต๊ะไว้ หรือพิงพนัก (ถ้ามี) เหยียดข้อเข่าให้ยื่นออกมาตรงๆ เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที ทำข้างละ 10-20 ครั้ง 3.นอนคว่ำ            งอเข่าให้งอเข้าไป  เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วเหยียดลง ข้างละ 10-20 ครั้ง 4.นอนหงายยกเข่าติดเตียง            นอนหงายเหยียดเข่าให้ตรง กดเข่าลงให้ติดเตียงเกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วปล่อยทำสลับกัน  ให้ทำข้างละ 10-20 ครั้ง การบริหารในแต่ละท่า หากทำได้ดีแล้วอาจใช้ถุงทราย ถ่วงที่บริเวณข้อเท้าโดยเริ่มจากน้ำหนักน้อยๆและจำนวนครั้งน้อยๆก่อน อาจเริ่มจากน้ำหนัก 0.5-2.0 กิโลกรัม ขึ้นกับวัยและสภาพของผู้ออกกำลังกาย            แต่ถ้าหากมีอาการปวดมากขึ้น หรืออาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ โดยแนวทางรักษามีหลายอย่าง รวมไปถึงการเปลี่ยนข้อเข่า

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการปวดคอ... แก้ไขได้ ด้วยการบริหารที่ถูกวิธี

อาการปวดคอ... แก้ไขได้ ด้วยการบริหารที่ถูกวิธี สาเหตุของอาการปวดคอ   1.         กลุ่มอาการเนื้อเยื่อกล้ามเนื้ออักเสบ มีจุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านข้างแนวกระดูกสันหลังใต้ท้ายทอย ทำให้ปวดบริเวณต้นคอร้าวขึ้นไปที่ศีรษะ ทำให้มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วยได้ พบประมาณ 90 %  2.         มีแรงกระแทกต่อกระดูกต้นคอทางตรงและ ทางอ้อม เช่น อุบัติเหตุต่างๆ 3.         มีการเสื่อมของกระดูกต้นคอตามอายุ ทำให้มีหินปูนเกาะรอบขอบกระดูกไประคายเคืองเส้นประสาทคอปวดร้าวตามไหล่แขนได้พบประมาณ 5 %  4.         จากอิริยาบถของคอไม่ถูกต้อง เช่น นั่งก้มหน้าทำงานนานๆ หรือ เงยหน้านานๆ ทำให้มีความรู้สึกเมื่อยล้าได้ นอนหมอนสูงเกินไป  กึ่งนั่งกึ่งนอนดูทีวี 5.         ภาวะเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ   อาการและอาการแสดง   1.         มีอาการปวดคอ อาจมีปวดร้าวลงมาตามบ่า ไหล่ แขน มือ หรือสะบักข้างใดข้างหนึ่ง 2.         อาจมีอาการชาตามแขนหรือนิ้วมือร่วมด้วย ความรู้สึกอาจเปลี่ยนแปลงไป 3.         เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง ตึงหรือ ปวดๆ ขัดๆ ถ้าเคลื่อนไหวจนสุด 4.         มีอาการเกร็งแข็งของกล้ามเนื้อต้นคอ หรือมีจุดกดเจ็บบริเวณท้ายทอย ต้นคอ บ่า 5.         อาจมีอาการปวดศีรษะตื้อๆ   ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว เมื่อมีอาการปวดคอ   1.         นอนหลับ อย่าหนุนหมอนสูงเกินไปหรือหนุนในลักษณะที่ผิดแนวของกระดูก เช่นนอนพาดโซฟา หรือ ม้านั่งหมอนควรรองรับศีรษะต้นคอและบ่าเล็กน้อยถ้าลองสอดมือไม่ควรมีช่องว่างใต้คอ 2.         ไม่ควรสะบัดต้นคอแรงๆ หรือหมุนคอเร็วๆ 3.         ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด 20-30 นาที หรือใช้แผ่นร้อนประคบบริเวณต้นคอพร้อมกับการบริหารต้นคอร่วมด้วย 4.         ถ้าต้องนั่งทำงานนานๆ ควรจะมีเวลาพักเพื่อช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหรือบริเวณต้นคอสลับกับการทำงาน 5.         ปรับเครื่องใช้สำนักงานให้เหมาะสม เช่น จอคอมพิวเตอร์ ต้องอยู่ระดับสายตา 6.         ผู้ที่นั่งขับรถ ควรจะมีพนักพิงรองที่ต้นคอและศีรษะ 7.         ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์   การบริหารต้นคอ            เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของคอและเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อต้นคอให้มีแรงพยุงข้อต่อของคอให้แข็งแรงขึ้น 1.         ก้มและเงยศีรษะช้าๆ กลับมาหน้าตรง 2.         หน้ามองตรง เอียงคอไปด้านข้างหูแนบไหล่มากที่สุด สลับซ้าย-ขวา 3.         หน้ามองตรง ค่อยๆหันหน้าไปทางขวาช้าๆ มองตรงสลับไปทางขวาช้าๆ  หมายเหตุ : แต่ละท่าควรทำ 10 ครั้ง 4.         บริหารเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นการเกร็งกล้ามเนื้อต้านกันระหว่างมือกับศีรษะโดยไม่มีการเคลื่อนไหว เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที -           บริหารกล้ามเนื้อคอด้านหน้า-ด้านหลัง        มือผลักหน้าผากเกร็งศีรษะต้านแรงกันโดยให้หน้าตรง      ใช้ฝ่ามือดันท้ายทอยมาข้างหน้าเกร็งศีรษะต้าน หน้าตรง -           บริหารกล้ามเนื้อต้นคอด้านข้าง                    • ใช้สันมือดันเหนือกกหูเกร็งศีรษะสู้แรงหน้าตรงซ้าย-ขวา -           บริหารกล้ามเนื้อสำหรับหมุนคอ                    • ใช้สันมือยันขากรรไกรครึ่งด้านหน้าออกแรงผลักเหมือนหน้าจะหมุนเกร็งสู้หน้าตรง -           ยืดกล้ามเนื้อลดความตึงเครียด    ยือกล้ามเนื้อต้นคอ –บ่า • นั่งเก้าอี้ มือยึดขอบเก้าอี้ อีกมือวางที่ด้านข้างศีรษะให้ศีรษะก้มลงและเอียงไปหาไหล่ตรงข้าม กดยืดให้รู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาทีกลับมาหน้าตรง •ก้มศีรษะมือประสานกันกดด้านหลังศีรษะส่วนบนกดค้างไว้ 10 วินาทีค่อยๆผ่อนแรงกด ทำซ้ำ   ยืดกล้ามเนื้อสะบัก • มือพาดไหล่ด้านตรงข้าม ใช้มือดันที่ข้อศอกออกแรงไปด้านหลังค้างไว้ 10 วินาที • ยกแขนข้างที่จะยืดแตะสะบักด้านตรงข้ามมืออีกข้างออกแรงดันบริเวณข้อศอกไปด้านตรงข้ามรู้สึกตึงบริเวณท้องแขนและสะบัก • ทำท่าละ 10 -15 ครั้ง วันละ 3 เวลา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

5 ข้อควรรู้ก่อนทานทุเรียน

5 ข้อควรรู้ก่อนทานทุเรียน            มีใครทราบหรือไม่คะว่า "ทุเรียน" ถึงจะอร่อยดีมีประโยชน์ แต่หากไม่ถูกวิธีก็เป็นอันตรายต่อชีวิตได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก่อานทานทุเรียน เรามาอ่าน “5 ข้อควรรู้ก่อนทานทุเรียน” กันก่อนดีกว่าค่ะ   1. ทุเรียน เป็นผลไม้ที่แคลอรี่สูง เพราะทุเรียน 4-6 เม็ด ให้ปริมาณแคลอรี่ถึง 400 กิโลแคลอรี่ เทียบเท่าน้ำอัดลม 2 กระป๋อง หรือข้าว 1 จานเต็มๆ เพราะฉะนั้นทานเพลินระวังน้ำหนักขึ้นนะเออ 2. ทุเรียน มีปริมาณน้ำตาลสูงมากอีกเช่นกัน ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง  3. นอกจากผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้ว ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง หัวใจ เส้นเลือด และไขมันในเลือด ควรทานทุเรียนให้น้อยที่สุด 4. ทุเรียน เป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน ทานเพียวๆ ก็มีฤทธิ์ร้อนอยู่แล้ว หากทานพร้อมกับแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ก็ตาม จะยิ่งทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายมากขึ้น ร่างกายจะเกิดความร้อนสูง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ 5. ในเมื่อทุเรียนให้พลังงานสูง ดังนั้นมื้อใด หรือวันไหนที่ทานทุเรียน ควรหลีกเลี่ยงอาหารอื่นๆ ที่ให้พลังงานสูงด้วยเช่นกัน เช่น อาหารประเภททอด อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ อาหารหวานมันอื่นๆ หรือลองลดปริมาณอาหารลงส่วนหนึ่งในมื้อถัดไป ถ้าเป็นไปได้ควรออกกำลังกายเพิ่มด้วย เพื่อเผาผลาญพลังงานที่ได้รับเพิ่มเข้าไป   เราไม่ได้ห้ามว่า ห้ามทานทุเรียน แต่ก่อนทานทุเรียนจะต้องมีสติให้มากๆ รู้ตัวว่าทานไปมากเท่าไรแล้ว ห้ามปากห้ามใจตัวเองได้ พร้อมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำได้ตามนี้ รับรองว่าทานทุเรียนได้อิ่มอร่อย ปลอดภัยต่อร่างกาย ไม่มีเรื่องต้องกังวลใจแน่นอนค่ะ   ข้อมูลจาก : www.sanook.com

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

12 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับการ บริจาคเลือด

12 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับการ “บริจาคเลือด” หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าการบริจาคเลือด มีประโยชน์ในเรื่องของการได้ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่ต้องการเลือดเพื่อรักษา แต่นอกจากได้อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นแล้ว การบริจาคเลือดยังมีข้อมูลที่น่าสนใจที่คุณอาจไม่เคยรู้อีกเพียบ   12 เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับการ “บริจาคเลือด”   1. ใครที่คิดว่าเห็นคนไปบริจาคเลือดกันหลายคน คิดว่าน่าจะเพียงพอแล้ว ขอบอกเลยว่าคิดผิด เพราะปัจจุบันมีความต้องการใช้เลือดในแต่ละวันสูงถึง 5,000 ยูนิตต่อวัน แต่ตอนนี้เลือดที่ได้รับบริจาคมามีเพียง 2,000 ยูนิตต่อวันเท่านั้น 2. ที่เห็นไปรอคิวบริจาคเลือดกันมากมาย จริงๆ แล้วเป็นเพียง 3% ของประชากรไทยทั้งประเทศเองนะ แล้วมันจะไปพอที่ไหน จริงไหม? 3. เลือดที่เราบริจาคไปในแต่ละครั้ง สามารถแยกออกมาใช้งานได้หลายส่วน ทั้งเกล็ดเลือด พลาสมา และเม็ดโลหิตแดง เราไม่ได้ใช้เลือดเพื่อการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยแต่เพียงอย่างเดียวนะ 4. แต่ถึงอย่างไร ผู้ป่วยที่ต้องการใช้เลือดมากที่สุด ก็หนีไม่พ้นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดใหญ่ หรือประสบอุบัติเหตุ แล้วประเทศเราก็ประสบอุบัติเหตุกันบ่อยเสียด้วยสิ 5. การบริจาคเลือดช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกให้สร้างเม็ดโลหิตใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมาหมุนเวียนใช้บำรุงร่างกาย เป็นการเปลี่ยนถ่ายเลือดเก่า เลือดใหม่ได้อย่างมีประโยชน์ และปลอดภัยที่สุด 6. เมื่อเราได้เปลี่ยนถ่ายโลหิตเก่า-ใหม่ ส่งผลให้เลือดใหม่ที่ไปหล่อเลี้ยงตามร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใสยิ่งขึ้น 7. หากคุณตั้งใจจะบริจาคเลือดเป็นประจำตามที่สภากาชาดแนะนำ นั่นหมายความว่าคุณจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา ต้องระวังเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน ไม่เครียด เลยทำให้กลายเป็นคนที่มีสุขภาพดีไปโดยธรรมชาติ   8. เมื่อร่างกายแข็งแรง ก็ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่ใครๆ ก็กลัวอย่าง โรคมะเร็ง ซึ่งคนที่บริจาคเลือดจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคร้ายอย่างมะเร็งน้อยกว่าคนที่ไม่เคยบริจาคเลือดด้วยนะ   9. สุขภาพจิตดีตามไปด้วย เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรดีๆ เพื่อคนอื่น ความสุขใจ อิ่มเอมใจ จะส่งผลต่อจิตใจของเราที่รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ได้ทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ด้วย 10. เราบริจาคเลือดได้สูงสุด 4 ครั้งต่อปีเลยนะ (โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายเราได้รับอันตรายใดๆ) หรือทั้งชีวิตเราบริจาคเลือดได้มากถึง 212 ครั้งเลยทีเดียว 11. กรุ๊ปเลือดที่ต้องการมากที่สุดก็คือ กรุ๊ป AB ตามมาด้วยกรุ๊ป A, B และ O ตามสัดส่วนของประชากรในประเทศ 12. เคยได้ยินเรื่องกรุ๊ปเลือดแบบ negative ไหม หากใครที่มีกรุ๊ปเลือด Rh- นั่นหมายความว่าคุณใช้เลือดโดยส่วนใหญ่ที่คนไทยมีไม่ได้ (เราเรียกระบบหมู่โลหิตนี้ว่า Rh- ส่วนใหญ่คนไทยมีหมู่เลือดเป็น Rh+ แต่จะพบ Rh- มากขึ้นในชาวต่างชาติ) ใครที่รู้ตัว หรือรู้จักคนที่มีหมู่เลือด Rh- ชวนไปบริจาคเลือดด้วยกันด่วนๆ เลย เพราะกรุ๊ปเลือดนี้ถือว่าเป็นกรุ๊ปเลือดหายาก และพิเศษมากจริงๆ   ที่มา : www.sanook.com

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การประคบอุ่นเปลือกตา การนวดเปลือกตา การฟอกเปลือกตา เพื่อการรักษาเปลือกตาอักเสบ

การประคบอุ่นเปลือกตา การนวดเปลือกตา การฟอกเปลือกตา เพื่อการรักษาเปลือกตาอักเสบ โรคต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันและเปลือกตาอักเสบ(Eyelids Spa)   อาการ           ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่เปลือกตา ระคายเคือง  แสบตา รู้สึกตาแห้ง ต้องกระพริบตาบ่อย ๆ ภาวะนี้จะมีอาการมากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สาเหตุ          เกิดจากการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตาและการอักเสบที่ขอบเปลือกตา ตามปกติที่ขอบเปลือกตาจะมีรูเปิดของต่อมไขมัน ซึ่งจะมีการขับน้ำมันออกมาตามธรรมชาติ เพื่อเคลือบชั้นน้ำตา ให้มีความคงตัวไม่ระเหยเร็ว ดังนั้น ผู้ที่มีต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตัน จึงมีภาวะตาแห้งร่วมด้วย   การรักษา การทำความสะอาดเปลือกตา (Eyelid Hygiene)           ทำเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้ผู้ป่วยสบายตา ลดการใช้ยาและน้ำตาเทียม การดูแลประกอบด้วย 1.การประคบอุ่น (Warm Compression)            สามารถใช้เครื่องแว่นประคบอุ่นหรือประคบอุ่นด้วย Commercial hot pack, ผ้าขาวบางห่อข้าวสวย ไข่ต้มสุก ผ้าชุบน้ำอุ่น ประคบนาน 5 นาที เพื่อให้ไขมันอ่อนตัวลง กลายเป็นน้ำมันเหลว ๆ  อุณหภูมิที่ใช้ประคบประมาณ 40 องศาเซลเซียส การทดสอบก่อนประคบ ให้นำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้นำมาวางบนหลังมือ ไม่ควรร้อนเกินไป ให้เรารู้สึกร้อนเป็นพอ เพราะถ้าร้อนมากจะเป็นอันตรายต่อดวงตา หากอุปกรณ์ที่นำมาประคบมีอุณหภูมิลดลงมาก ควรนำมาอุ่นใหม่ แล้วประคบต่อจนครบเวลา ดังนั้น ควรมีอุปกรณ์สำรองสำหรับประคบอุ่น ทำวันละ 2 รอบ เช้าและเย็น   2.การนวดเปลือกตา ( Eyelid Massage)            เมื่อไขมันละลายดีขึ้น หากช่วยรีดตามรอยของต่อมโดยปลายนิ้วทำนาน 1 นาที รีดจากบนลงล่างสำหรับเปลือกตาบน และรีดจากล่างขึ้นบนสำหรับเปลือกตาล่างไปหารูเปิดของต่อม Meibomian ทำให้ไขมันออกได้ง่ายขึ้น   3.การฟอกเปลือกตา (Eyelid Scrub)           สามารถใช้ผลิตภัณฑ์เฉพาะดวงตา หรือสบู่เหลวเด็กแชมพูสระผมเด็กผสมกับน้ำ การทำความสะอาดตานี้จะช่วยควบคุมโรค ลดแบคทีเรียที่สะสมออก ลดต่อมไขมันที่เปลือกตาอุดตันและเปลือกตาอักเสบให้อาการโดยรวมดีขึ้น   ด้วยความปรารถนาดี จากแผนกจักษุและเลสิค รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กิน ดื่ม ขยับ ปรับอารมณ์

กิน ดื่ม ขยับ ปรับอารมณ์    ทำไมน้ำหนักไม่ลด? ทำไมหน้าท้องยื่น? เป็นคำถามกวนใจของสาวๆที่มีน้ำหนักเกิน  แต่คำตอบไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป  ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากเนสท์เล่  เปิดเผยเคล็ดลับที่สาวๆอาจไม่รู้  ทั้งเรื่องการกิน  ดื่ม  ขยับ  และปรับอารมณ์  ที่จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น เทคนิคการสร้างสุขภาพดีด้วยการ ‘กิน-ดื่ม’ รับประทานอาหารเช้าในปริมาณที่มากกว่ามื้ออื่น             อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุดในแต่ละวัน  เพราะเป็นแหล่งที่มาของพลังงานซึ่งเราจำเป็นต้องใช้  ในการทำกิจกรรมมากมาย  ไม่เพียงเท่านั้น  อาหารเช้ายังมีประโยชน์ที่หลายคนคาดไม่ถึงอีกมาก  อาทิ ·คนที่งดอาหารเช้ามีสิทธิ์อ้วนได้มากกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำถึง 4.5 เท่า  เพราะว่า  ตั้งแต่มื้อดึกมาจนถึงเช้าวันใหม่  เราไม่ได้ทานอะไรมาเกือบ 12 ชั่วโมง  หากยิ่งไม่ทานมื้อเช้า  ซึ่งเป็นมื้อแรกของวัน  จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง  จนไปเพิ่มแนวโน้มในการรับประทานอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูงในมื้อเที่ยงมากขึ้น  ในขณะที่มีเวลาในการเผาผลาญพลังงานน้อยลง  จึงเป็นสาเหตุให้มีน้ำหนักเกินและอาจเป็นโรคอ้วนได้อย่างไม่รู้ตัว ·ผู้หญิงที่รับประทานอาหารเช้าซึ่งมีปริมาณแคลลอรี่มากกว่ามื้ออื่นๆจะสามารถควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่า ·เด็กที่ทานอาหารเช้าเป็นประจำจะมีทักษะความจำที่ดีกว่า  และมีสมาธิในการเรียนรู้ที่ดีกว่า  จากการศึกษาวิจัยพบว่า  การทานอาหารเช้าจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอและมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้หรือการทำงาน  ทำให้ระบบความจำ  ทักษะการเรียนรู้  และอารมณ์ดีขึ้น  แต่หากขาดพลังงานจากอาหารมื้อเช้าร่างกายจะขาดพลังงานจำเป็น  สมาธิลดน้อยลง  สมองทำงานไม่ได้เต็มที่  หากขาดอาหารเช้าเป็นประจำอาจส่งผลต่อสติปัญญาและมีผลเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน             ร่างกายเราประกอบด้วยน้ำถึง 70%  โดยทุกเซลล์มีน้ำเป็นองค์ประกอบ  ฉะนั้นการดื่มน้ำที่น้อยเกินไปอาจทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการร่างกายเรียกร้องขอน้ำโดยอัตโนมัติ  จึงเกิดเป็นปัญหาสุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บได้  เทคนิคง่ายๆ สำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศคือวางน้ำเปล่าไว้ข้างกายให้จิบดื่มได้ตลอดทั้งวัน  เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกายอยู่เสมอ ·ปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนคือ  น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) x 33 = ปริมาณน้ำ (มิลลิลิตร) ·ปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมโดยเฉลี่ยคือ 2  ลิตรต่อวัน ‘ลด’ ปริมาณ  แต่ไม่  ‘งด’  มื้อเย็น             หลายคนมีความเข้าใจที่ผิดคือเลือกที่จะงดรับประทานอาหารมื้อเย็นเพื่อเป็นการควบคุมน้ำหนัก  แต่ในความเป็นจริงคือเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบตามที่ร่างกายต้องการตลอดทั้งวัน  เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น  เราจึงควรเลือกทานอาหารมื้อเย็นให้ถูกวิธี  คือ  ควรทานอาหารมื้อเย็นก่อนเวลาเข้านอน 3 ชั่วโมง  เพื่อป้องกันไม่ให้กระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหารไปกระทบช่วงเวลาการพักผ่อนของร่างกาย  แค่ลดปริมาณที่รับประทานในมื้อเย็นก็เป็นประโยชน์แล้ว  ยิ่งไปกว่านั้น  ควรให้ความสำคัญในการเลือกทานอาหารที่ย่อยง่ายไขมันต่ำ  เช่น  เนื้อปลา  และผักผลไม้หลากหลายชนิด  ซึ่งมีสารอาหารแตกต่างกันไป ‘ลด’ ปริมาณน้ำตาลที่รับประทานในแต่ละวัน             ไขมันส่วนเกินสะสมไม่ได้เกิดจากการทานอาหารประเภทไขมันในปริมาณที่มากเกินไปเท่านั้น  แต่ส่วนหนึ่งมาจากการทานน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป  เนื่องจากกลไลของร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลที่เหลือจากการใช้พลังงานให้กลายเป็นไขมันสะสม  น้ำตาลจึงเป็นหนึ่งสาเหตุของปัญหาสุขภาพและโรคอ้วน  ดังนั้น  เราจึงควรควบคุมปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายรับเข้าไป  เลือกชนิดอาหารที่มีความหวานน้อยกว่า  โดยเปรียบเทียบกับการอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปทุกชนิด  เพื่อช่วยให้เราสามารถเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะกับความต้องการของร่างกายเรา วิธีการคำนวณปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มง่ายๆเพียงแค่น้ำค่าน้ำตาล (กรัม) ที่ระบุฉลากโภชนาการมาหารด้วย 4 กรัม เราจะทราบว่าในผลิตภัณฑ์นั้นๆ  มีน้ำตาลอยู่ประมาณที่ช้อนชาต่อ 1 หน่วยโภชนาการ เทคนิคการสร้างสุขภาพดีด้วยการ ‘ขยับ’ ·ผลวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า  หากรับประทานอาหารอิ่มแล้วเดินทันที  30  นาที  จะช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงเกินไป  รวมถึงการป้องกันการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันได้ดีกว่า  เมื่อเปรี่ยบเทียบกับคนที่เดินในระยะเวลาเท่ากันหลังประทานอาหารไปแล้ว 1 ชั่วโมง ·เพิ่มโอกาสในการออกกำลังกายด้วยการตื่นเช้าขึ้นสัก 15 นาที  แล้วขยับเคลื่อนไหวด้วยการเต้นไปกับเพลงสนุกๆ  เป็นการปลุกร่างกายให้ตื่นตัวก่อนออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ตลอดทั้งวัน ·ขยับเปลี่ยนท่านั่ง  หรือลุกเดินเคลื่อนไหวระหว่างวันทำงาน  การนั่งในท่าติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้   เทคนิคการสร้างสุขภาพที่ดีด้วยการ  ‘ปรับอารมณ์’             เมื่อสุขภาพร่างกายแข้งแรงแล้ว  อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือความสุขใจ  เราสามารถหาวิธีผ่อนคลายให้ตนเองในแต่ละวันด้วยการพักผ่อนสายตาระหว่างทำงาน 5-10 นาที  ทุกๆ 2 ชั่วโมง  อีกหนึ่งวิธีลดความเคลียดแบบง่ายๆคือ “การกอดคนที่เรารักและไว้ใจ”  เพราะสัมผัสการกอดมีผลต่อการเพิ่มการหลั่งสารอ๊อกซิโตซิน (Oxytocin)  ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน  เพิ่มภูมิคุ้มกัน  ทั้งยังกระตุ้นการตื่นตัวได้ดี                             ด้วยความปรารถนาดีจาก รพ.วิภาวดี                  ขอบคุณที่มาจาก: นิตยสาร Health Plus@City

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<