ทางเลือกใหม่ของคุณผู้หญิงกับผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช แผลเล็ก พักฟื้นเร็ว

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช Laparoscopic Surgery in Gynecology   เป็นการผ่าตัดที่มุ่งรักษาความผิดปกติของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี ไม่ว่าจะเป็นมดลูก ท่อนำไข่หรือรังไข่ รวมทั้งอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น โดยการใช้กล้องที่มีกำลังขยายภาพประมาณ 10-20 เท่า ใส่ผ่านเข้าไปในช่องท้อง ทำให้แพทย์ผู้ผ่าตัดเห็นรอยโรคและอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น และใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ5 มิลลิเมตร เข้าไปทำการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องขนาด 5-10 มิลลิเมตร ประมาณ 3-4 แผล   ภาวะที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช   1.ผู้ป่วยที่มีประจำเดือนผิดปกติ ที่เกิดจากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกมีการหนาตัว   2.ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยจากถุงน้ำรังไข่ พังผืดในช่องท้อง   3.ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือนจากช๊อกโกแลตซีสต์   4.การตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก   5.อื่นๆ เช่น การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก การทำหมัน การฉีดสีตรวจดูท่อนำไข่   ข้อห้ามสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช 1.ผู้ป่วยมีภาวะโรคหัวใจหรือโรคปอดชนิดรุนแรง   2.ผู้ป่วยมีภาวะไส้เลือนกระบังลม   สภาพหลังผ่าตัด สภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัด จะมีสายน้ำเกลือที่แขนใดข้างหนึ่ง มีแผลผ่าตัดเล็กๆ 3-4 แผลอาจมีอาการเจ็บหรือระคายคอ เนื่องจากใส่ท่อช่วยหายใจในช่วงดมยาสลบได้   การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด 1.หลังผ่าตัดควรพลิกตะแคงตัว และเคลื่อนไหวร่างกายบนเตียง ภายหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง ควรลุกนั่ง และเดินโดยเร็ว เพื่อให้ฟื้นตัวไว ลดการเกิดอาการท้องอืด หรือภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น การเกิดพังผืดในช่องท้อง   2. ถ้ามีอาการปวดแผลผ่าตัด ควรแจ้งให้พยาบาลทราบ เพื่อให้ยาบรรเทาอาการปวด   3.ถ้ามีอาการจุกเสียดแน่นบริเวณลิ้นปี่ร้าวไปที่ไหล่ ให้นอนพักบนเตียง อาการจะค่อยๆทุเลาลง   4.ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน (จากผลข้างเคียงของยาสลบ) ควรแจ้งพยาบาลทราบ เพื่อให้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน   5. อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ไม่มาก ควรใส่ผ้าอนามัยไว้   6. หลังผ่าตัดควรปัสสาวะเอง ถ้าปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะไม่สะดวกควรแจ้งพยาบาล   การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน   1.ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงร่างกาย ควรรับประทานผักและผลไม้ เพื่อช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก   2. การอาบน้ำสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรสังเกตหลังอาบน้ำ ว่าพลาสเตอร์ปิดแผลมีการลอกหรือน้ำซึมเข้าแผลผ่าตัดหรือไม่   3.งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการตรวจจากแพทย์ว่าแผลหายเรียบร้อยดี   4. ในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัดควรงดยกของหนักหรือออกแรงเบ่งมากๆ งดออกกำลังกาย แต่สามารถเดินขึ้นลงบันไดได้ ระยะหลังผ่าตัด 7-10 วัน ถ้าไม่มีอาการปวดแผลสามารถทำงานและออกกำลังได้ตามปกติ   5. ถ้ามีอาการผิดปกติต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด   อาการผิดปกติที่ควรกลับมาพบแพทย์ 1.แผลผ่าตัดอักเสบ บวมแดง มีหนอง   2. มีไข้สูงติดต่อกัน 2-3 วัน   3. ปวดท้องมาก หลังรับประทานอาหารแล้วอาเจียนทุกครั้ง   4. มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก กรณีผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ออกผ่านทางกล้องอาจมีอาการของคนที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงได้ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ใจสั่น หงุดหงิด ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อได้ ควรแจ้งแพทย์ทราบเพื่อพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทน+              ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

11 เรื่องของซีสต์กับผู้หญิงที่ควรรู้

 ซีสต์ สารพันเรื่องของผู้หญิง         ซีสต์ เกิดจากเนื้องอกของผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นถุง ซึ่งมีไขมัน เซลหนังกำพร้า เส้นผมหรือต่อมเหงื่อ หรือสารคัดหลั่งของร่างกายบรรจุอยู่ภายในโครงสร้างที่เป็นผนังของซีสต์ก็คือ ส่วนประกอบของผิวหนัง เช่น รูขุมขน ท่อของต่อมไขมัน หรือต่อมเหงื่อ ซึ่งพองตัวเป็นถุง เนื่องจากมีการอุดตันของรูเปิดของต่อมต่างๆเหล่านี้ หรือ การฝังตัวของเซลล์ผิวหนังเข้าไปในชั้นหนังแท้ ซึ่งเกิดขึ้นตามหลังจากที่ผิวหนังถูกทิ่มแทง เป็นแผล หรือเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยซีสต์ที่เกิดจากกลไกประการหลังนี้ จะป็นซีสต์ที่เป็นตั้งแต่กำเนิด   ซีสต์มีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะต่างกันอย่างไร   สามารถจำแจกซีสต์ที่เกิดขึ้น บนผิวหนังตามลักษณะตำแหน่งที่เกิด และส่วนประกอบของซีสต์ ออกเป็นชนิดต่างๆ ซีสต์ที่มีผนังซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายผิวหนัง ได้แก่ Epidermal Cyst, Milium, Steatocystoma Multiplex, Vellus Hair Cyst และ Dermoid Cyst ซีสต์ที่มีผิวหนังเป็นต่อมเหงื่อ ได้แก่ Apocrine และ Eccrine Hidrocystoma   Epidermal Cyst    เป็นซีสต์ที่พบบ่อยที่สุด โดยเป็นซีสต์ ที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง ที่เป็นส่วนประกอบของรูขุมขน โดยมี Keratin ซึ่งมีส่วนประกอบเหมือนขี้ไคลบรรจุอยู่ภายในซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะ เป็นก้อนกลมๆ ขนาดแตกต่างกัน สีเดียวกับผิวหนังซึ่งยึดติดอยู่กับผิวหนังด้านบน แต่ไม่ติดกับเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ซีสต์และอาจมีรูเปิดที่ผิวหนังในส่วนที่ซีสต์ยึดติดอยู่ ซึ่งเมื่อเราดึงผิวหนังให้ตึงจะพบรอยบุ๋มเกิดขึ้นบนซีสต์ในตำแหน่งนี้ และพบสารสีขาวๆ คล้ายสังขยาไหลออกมาเมื่อเราบีบซีสต์ แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยซีสต์ เนื่องจากการบีบซีสต์อาจทำให้ซีสต์มีการอักเสบ เจ็บและบวมแดงขึ้นได้ Epidermal Cyst จะมีขนาดแตกต่างกันไป เป็นกันได้ในทุกเพศทุกวัยและทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยคือ ที่ใบหน้า คอ หน้าอก และหลังส่วนบน   Milium   หรือสิวข้าวสาร เป็นซีสต์ที่มีผนังและส่วนประกอบเหมือน Epidermal Cyst แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวคล้ายสิว ซึ่งอยู่ตื้นและมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ1-2  มม. ซีสต์ชนิดนี้ พบได้ทุกอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงวัยชรา เป็นได้เท่าเทียมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ทั่วทั้งตัว แต่จะพบบ่อยบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จมูกในทารกแรกเกิด และที่หนังตาและแก้มในเด็ก นอกจากนี้ Milium ยังมักเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังเคยถูกทำลายมาก่อน เช่นในบริเวณที่ ผิวหนังเคยเป็นแผลถลอก หรือเกิดขึ้นหลังการขัดหน้า เกิดขึ้นหลังจากได้รับการฉายรังสีหรือตากแดดจนไหม้ หรือหลังจากเป็นโรคผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำพองใส หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่เคยทายาสเตียรอยด์อยู่นานๆ ส่วนใหญ่เมื่อผิวหนังมีการสมานแผลภายหลังการที่ผิวถูกทำลายด้วยลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจมี สิวข้าวสารขึ้นได้ Steatocystoma Multiplex   เป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นที่ท่อของต่อมไขมัน (Sebaceous Duct) ผนังของซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับซีสต์ชนิดแรกคือ Epidermal Cyst แต่สารที่บรรจุภายในซีสต์ไม่ใช่ Keratin แต่เป็นไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน ซีสต์ชนิดนี้มักจะพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย มีลักษณะเป็นตุ่มใต้ผิวหนังขนาดแตกต่างกันแต่มักไม่เกิน 5 ซม.  ซึ่งพบได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยบริเวณกลางหน้าอก ต้นแขนและต้นขา ถ้าซีสต์ประเภทนี้อยู่ตื้นจะมองเห็นเป็นตุ่มสีเหลืองๆ แต่ถ้าซีสต์อยู่ลึกจะเห็นเป็นตุ่มสีเดียวกับผิวหนัง ลักษณะสำคัญของซีสต์ประเภทนี้ก็คือ ถ้าใช้เข็มเจาะซีสต์จะมีน้ำมันสีเหลืองคล้ายเนยเหลวๆ ไหลออกมา ซีสต์ประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันหลายๆตุ่ม   Vellus Hair Cyst   เป็นซีสต์ขนาดเล็กซึ่งมีผนังและสารที่บรรจุอยู่ในซีสต์คล้ายกับ Epidermal Cyst และ Steatocystoma Multiplex แต่มีเส้นผมขนาดเล็ก (Vellus Hair) บรรจุอยู่ภายในซีสต์ด้วย ทำให้        ซีสต์มีลักษณะเป็นตุ่มสีคล้ำ ซีสต์ชนิดนี้มักเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ ตุ่มทั่วร่างกายและ    Dermoid Cyst   เป็นซีสต์ที่พบไม่บ่อย ซีสต์ชนิดนี้มักเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือวัยเด็ก และเป็นซีสต์ที่มีส่วนประกอบเหมือนผิวหนังมากที่สุด โดยผนังของซีสต์ประกอบด้วยเซลผิวหนัง เส้นผม ต่อมเหงื่อและต่อมไขมัน ลักษณะของซีสต์เป็นก้อนกลมใต้ผิวหนัง ขนาดประมาณ1-4 ซม. ซึ่งอาจมีปอยผมงอกออกมาจากซีสต์ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณหางคิ้ว จมูก และหนังศีรษะ ซีสต์ชนิดนี้ถ้าเป็นบริเวณกึ่งกลางของร่างกาย เช่น จมูก และศีรษะบริเวณท้ายทอยอาจมีทางเปิดติดต่อกับสมอง เนื่องจากผนังของซีสตืประกอบด้วยเซลผิวหนัง จึงมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เช่นเดียวกับผิวหนังทั่วๆไป แต่อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็ง จากซีสต์ต่ำมาก จนไม่จำเป็นต้องกังวลจนกลัดกลุ้ม โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากซีสต์ ส่วนใหญ่จึวเป็นการอักเสบและการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่ซีสต์แตก จากการถูกเจาะหรือบีบซีสต์ หรือการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกเสียดสีบ่อยๆ ทำให้สารที่บรรจุอยู่ในซีสต์เล็ดลอดออกมากระตุ้นให้ร่างกายเกิดขบวนการอักเสบ และเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนัง แทรกซึมเข้าไปเจริญเติบโตในซีสต์ ทำให้ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น แดงและเจ็บ สำหรับ Dermoid Cyst นั้นนอกจากจะมีโอกาสเกิดการอักเสบและติดเชื้อ เช่นเดียวกับซีสต์ชนิดอื่นๆ แล้ว ในกรณีที่ซีสต์มีทางเปิดติดต่อกับสมอง การติดเชื้อที่ซีสต์จึงอาจลุกลามเข้าไปในสมอง เกิดเป็นฝีในสมองได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหนไม่ควร เจาะ แคะ แกะ เกาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว   การรักษา   เนื่องจากซีสต์เป็นเนื้องอกที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อย จึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดออก แต่ควรผ่าตัดเอาซีสต์ออกในกรณีที่ซีสต์นั้นมีการอักเสบติดเชื้อบ่อยๆ หรือมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบติดเชื้อ จากการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการเสียดสีบ่อยๆ สำหรับซีสต์ที่มีขนาดเล็กและอยู่ตื้น เช่น Milium อาจให้การรักษาด้วยการเจาะและใช้เครื่องมือสำหรับกดสิว กดเอาสารที่บรรจุอยู่ใรซีสต์ออก ส่วนการรักษา ซีสต์ชนิดอื่นก็ทำได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนซีสต์ออกส่วน Steatocystoma นั้น เนื่องจากสารที่อยู่ในซีสต์เป็นน้ำมัน จึงอาจรักษาได้ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำมันที่บรรจุอยู่ในซีสต์ และลอกเอาผนังของซีสต์ออก ในกรณีที่ซีสต์มีการอักเสบติดเชื้อ ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าซีสต์เพื่อระบายหนองออก สำหรับ Dermoid Cyst ที่อยู่ในตำแหน่งที่อาจมีทางเปิดติดต่อกับสมองนั้น ก่อนให้การรักษาแพทย์จะต้องทำการตรวจอย่างละเอียดร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนไว้ล่วงหน้า ซีสต์ เป็นเรื่องไม่น่าต้องกังวลมากนัก เพราะโอกาสกลายเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหน หรือถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป็นซีสต์ ก็ลองไปให้แพทย์ผิวหนังช่วยวินิจฉัยดูได้ เพื่อความสบายใจ สิ่งที่ต้องดูแลตัวเองให้ดีคืออย่ามือซนไปบีบ เจาะซีสต์เองเพราะสามารถทำให้ติดเชื้อ และเป็นแผลขึ้นมาได้                     ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การนอนสำคัญต่อสุขภาพ เพราะคิดเป็น 1 ใน 3 ของ 1 วัน เพื่อให้ร่างกายเร่งซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด

การนอนสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร  การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรา ร่างกายเรายอมสละเวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอน โดยในช่วงที่เราหลับนั้นร่างกายจะเข้าสู่สภาวะที่การรับรู้ของร่างกายแยกตัวออก และลดการตอบสนองจากสิ่งแวดล้อมชั่วคราว และในช่วงนี้เองหลาย ๆ ระบบในร่างกายจะมีการพักผ่อนเกิดขึ้น แต่บางระบบของร่างกายโดยเฉพาะสมองจะยังคงทำงานต่อเนื่อง โดยอาศัยการควบคุมจากสมดุลของสารสื่อประสาท ทำให้เกิดการหลับในระยะต่าง ๆ ได้แก่ หลับเงียบ (Non-rapid eye movement sleep; NREM) และ หลับฝัน (Rapid eye movement sleep; REM) นอกจากนี้ช่วงที่หลับยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่แตกต่างไปจากขณะตื่น ได้แก่ 1.เร่งซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุดและเร่งสร้างโปรตีนสำหรับนำไปใช้ในวันต่อไป (Restoration of tissue) 2.ควบคุมฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติ (Hormonal control) 3.พัฒนาระบบประสาท อารมณ์ ความจำ (Neural maturation, regulation of emotions and memory) 4.กำจัดโปรตีนผิดปกติออกจากสมอง (Protein misfolding clearance)    ปัญหาเกี่ยวกับการนอน ที่พบบ่อย 1.หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) มี 2 ชนิด ได้แก่ หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea; OSA) และ หยุดหายใจขณะหลับจากระบบประสาทส่วนกลาง (Central sleep apnea; CSA) สำหรับ OSA คือภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ คอหอย โดยเฉพาะโคนลิ้นหย่อนไปปิดกั้นทางเดินหายใจในขณะหลับ ผู้ป่วยจะไม่สามารถหายใจได้ แม้จะพยายามหายใจก็ตาม ถ้ายังสามารถมีอากาศผ่านเข้าไปได้บ้าง เราอาจจะได้ยินเสียงกรน เมื่อขาดอากาศนานพอสมควร สมองจะสั่งให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ถึงขนาดรู้ตัว (Arousal) ส่วน CSA จะเกิดจากการที่สมองไม่สั่งการให้หายใจ เพราะฉะนั้นในช่วงที่หยุดหายใจจะไม่พบการขยับตัวเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจ การที่ผู้ป่วยต้องตื่นหลาย ๆ ครั้งเพื่อหายใจเช่นนี้ จะส่งผลให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม นอกจากนี้การที่สมองต้องตื่นตัวอยู่บ่อย ๆ ยังส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้ อันเนื่องมาจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ไม่ได้พักผ่อน และการที่มีช่วงพร่องออกซิเจนสลับกับช่วงได้รับออกซิเจน (Deoxygenation-reoxygenation) ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (oxygen free radical) จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบต่อไป   2.การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติขณะหลับ (Sleep related abnormal movement) และ นอนละเมอ (Parasomnia) ได้แก่ อาการขาอยู่ไม่สุก (Restless leg syndrome) ขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement in sleep) นอนกัดฟัน (Bruxism) และ นอนละเมอ อาการขาอยู่ไม่สุก เป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ให้กับผู้ป่วยค่อนข้างมาก โดยหลาย ๆ คนอาจบรรยายความรู้สึกนี้ลำบาก เช่น รู้สึกคันยุบยิบอยู่ข้างในขาแต่เกาแล้วไม่หาย รู้สึกชา ๆ อยากจะขยับขา หลังจากขยับขาจะรู้สึกดีขึ้นชั่วคราว มักเป็นช่วงขณะกำลังอยู่นิ่ง ๆ และก่อนนอน อาการนี้จึงมักรบกวนการนอนของผู้ป่วยอย่างมาก ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิด ส่งผลเสียต่อจิตใจอย่างมาก ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับการพร่องธาตุเหล็กในสมอง ขากระตุกขณะหลับ เป็นภาวะที่พบว่าผู้ป่วยมีขากระตุกเป็นช่วง ๆ ขณะหลับไปแล้ว โดยผู้ป่วยมักไม่ทราบมาก่อน แต่การกระตุกของขาที่มากผิดปกติอาจรบกวนการนอนให้หลับไม่ลึกหรือไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ตื่นเช้าเหมือนนอนไม่พอ หากไม่ตรวจด้วยวิธีที่ถูกต้องก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีภาวะนี้ซ่อนอยู่ นอนกัดฟัน หลาย ๆ ครั้ง เวลาตื่นขึ้นมาตอนเช้า ผู้ที่มีภาวะนอนกัดฟันอาจมีอาการปวดกรามหรือขมับ หรือขากรรไกรค้าง นอกจากนี้คู่นอนอาจได้ยินเสียงกัดเน้นฟัน หรือเสียงถูฟันในขณะหลับ นอนละเมอ เช่น ละเมอเดิน (sleep walking) มักพบในช่วงวัยเด็ก แต่หากพบพ้นจากวัยเด็ก อาจต้องหาสาเหตุกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนั้น นอกจากนี้อาการละเมอที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายรุนแรง มีเนื้อหาตามความฝัน ทำให้ตัวผู้ป่วยหรือคนรอบข้างได้รับบาดเจ็บ (REM sleep behavior disorder; RBD) อาจเป็นอาการนำก่อนเป็นโรคความเสื่อมของสมอง เช่น พาร์กินสัน   3.ความผิดปกติของนาฬิกาชีวิต (Circadian rhythm disorder) นอกเหนือไปจากการนอนหลับที่เพียงพอและคุณภาพการนอนที่ดีแล้ว การนอนหลับตรงตามเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานมีประสิทธิภาพด้วย  อาการต้องสงสัยโรคจากการหลับ 1.นอนกรน 2.ตื่นไม่สดชื่นเหมือนนอนไม่พอ 3.ปวดศีรษะตอนเช้า 4.ขาดสมาธิ 5.ง่วงนอนระหว่างวันมาก หลับในที่สาธารณะ ที่ประชุม หรือระหว่างรอรถประจำทาง และที่ต้องระวังที่สุดคือขณะขับรถ 6.ต้องพึ่งกาแฟตลอดเวลาให้ตื่นตัว 7.นอนไม่หลับ หรือตื่นระหว่างคืนบ่อย   การตรวจวินิจฉัยโรคจากการหลับ การวินิจฉัยโรคจากการหลับ จะสามารถตรวจได้โดยวิธีมาตรฐานเรียกว่า Polysomnography เป็นการติดตั้งตัววัดการเปลี่ยนแปลงทางชีวสรีรวิทยาหลายอย่างไว้ตามร่างกายเพื่อติดตามการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างละเอียดตลอดเวลาในขณะที่นอนหลับ ประกอบด้วย คลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การตรวจการหายใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ท่านอน และบันทึกวิดีโอ (VDO) โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับเฝ้าสังเกต ซึ่งจัดเป็นวิธีการตรวจมาตรฐาน นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องต่อไป    10 วิธีที่ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น (Sleep hygiene) 1.ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานปกติและวันหยุด 2.ห้องนอนควรเงียบสงบ สบาย อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวนขณะหลับ 3.เตียงนอนมีไว้สำหรับนอน ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียง เช่น โทรศัพท์ กินอาหาร อ่านหนังสือ เป็นต้น (เป็นการฝึกให้ร่างกายสัมพันธ์กับเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ พอร่างกายอยู่บนเตียงนอนจะสามารถหลับได้อย่างรวดเร็ว) 4.หลีกเลี่ยงการงีบหลับตอนกลางวัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรงีบกลางวันเกิน 30 นาทีและหลังบ่าย 3 โมง 5.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต) แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน 6.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน 7.หลีกเลี่ยงการมองแสงจ้า ๆ เช่น การเล่น smartphone หรือ tablet ก่อนเข้านอน (แสงโดยเฉพาะแสงสีน้ำเงินจะกดฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้หลับยาก) 8.หลีกเลี่ยงการมีอารมณ์ขุ่นเคือง ตื่นเต้นสนุกสนาน หวาดกลัว เช่น การโต้เถียง การดูภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญก่อนเข้านอน 9.หากนอนไม่หลับภายใน 20 นาที ไม่ควรกังวล ไม่ควรมองนาฬิกา ควรลุกจากที่นอนเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเตียงนอน เช่น นั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือสวดมนต์ แล้วกลับมาที่เตียงนอนอีกครั้งเมื่อเริ่มง่วงนอนเท่านั้น 10.รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อยวันละ 30 นาที เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ     ด้วยความปรารถนาดีจาก แผนกอายุรกรรม รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

“โรคกระเพาะอาหารอักเสบ” 【Gastritis】 รู้ทันอาการ ➥ รักษาเองยังได้ หายไว

โรคกระเพาะไม่หายสักทีทำอย่างไรดี อาจเกิดจากความเครียด หรือยาแก้ปวดบางกลุ่ม กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นอวัยวะที่มีน้ำย่อยและกรดที่เข้มข้น สำหรับใช้ในการย่อยอาหาร ดังนั้น ผนังของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงต้องมีกลไกในการปรับสภาพให้ทนต่อกรดและน้ำย่อย จึงไม่ทำให้เกิดแผลในภาวะปกติ สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastriti)s และแผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า เอช.ไพโลไร (H.pylori) ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังหรืออาจเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ (Chronic gastritis and/or peptic ulcer) ยาแก้ปวดข้อและกระดูก หรือยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งจะทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผลได้ หากมีการใช้ยากลุ่มนี้ยาจะไปทำลายชั้นผิวของกระเพาะอาหารเช่นกัน การดื่มสุรา สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารรสจัดบ่อยๆ จะทำให้เกิดการกัดกร่อนทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก เนื่องจากจะทำให้มีกรดในกระเพาะมากกว่าปกติ ความเครียดก็เป็นสาเหตุให้เกิดการกระตุ้น ให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้ อาการ ปวดจุกแน่นท้องที่บริเวณลิ้นปี่ หรือแสบท้อง ท้องอืด มีลมในท้องมาก เรอบ่อย หรือแน่นขึ้นไปที่หน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน (ในกรณี ที่มีอาการมากขึ้น และไม่ได้รับการรักษา) อาการปวดอาจสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น หิวแล้วปวด หรืออิ่มแล้วปวด บางรายมีอาการปวดแสบท้องตอนกลางคืนบ่อยๆ อาการแทรกซ้อน จากแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ถ่ายอุจจาระมีสีดำ อาเจียนเป็นเลือด การรั่วทะลุของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีอาการเหมือนอาหารไม่ย่อย ท้องอืดมาก รู้สึกอิ่มตลอด รับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ การรักษา การรักษาด้วยยา Antacid เป็นยาตัวแรกที่ใช้มานาน เพื่อลดอาการที่เกิดขึ้น และป้องกันการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร โดยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารสามารถทานยาได้ตลอดเวลา ออกฤทธิ์ระยะสั้น Histamine receptor antagonists โดยจะช่วยยับยั้งการหลั่งกรด การรักษาด้วยยานี้จะได้ผลเมื่อใช้นานประมาณ 1 เดือน Proton pump inhibitors เป็นยาที่นิยมใช้ในปัจจุบันแต่มีราคาที่ค่อนข้างแพง มีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตกรดและช่วยให้แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นหายได้เร็วขึ้น Mucosal protective agents มีผลในการเคลือบแผลทำให้หายได้เร็วขึ้น ไม่ให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุทางเดินอาหาร การรักษา H.pylori เมื่อมีการตรวจพบจะพิจารณาให้ยาตามแผนการรักษาของแพทย์ การปฏิบัติตัว รับประทานอาหารอ่อนครั้งละน้อยๆแต่บ่อยครั้งได้เคี้ยวอาหารให้ช้าๆและเคี้ยวให้ละเอียด รับประทานอาหารระหว่างมื้อ แต่ไม่ควรรับประทานอาหารแล้วนอนทันที เพราะเพิ่มการหลั่งกรดในช่วงกลางคืน หลีกเลี่ยงการดื่มนม เพราะอาจทำให้เกิดอาการแน่นท้องหรือมีลมในกระเพาะอาหารมาก งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ – การดื่ม Alcohol ลดภาวะเครียด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า EDX (EMG & NCS)

การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (electrodiagnosis)EMG             เป็นเครื่องมือในการช่วยตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า และค้นหาความบกพร่องของเส้นประสาท จากอาการชาที่มือ ชาเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องและแม่นยำ เครื่อง EMG คืออะไร มีหลักการและวิธีการอย่างไร...                                                                                                                                                                                                                                                                                                   การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า คือ การนำเอาความรู้ทางด้านไฟฟ้ามาใช้ช่วย ในการตรวจวินิจฉัยโรค โดยทั่วไปจะมีหลักการและวิธีการตรวจอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ    1.การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve Conduction Study)                   เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้ไฟฟ้าขนาดที่ปลอดภัยกระตุ้นตามแนวทางเดินของเส้นประสาทในส่วนต่างๆของร่างกาย เพื่อตรวจว่ามีความผิดปกติของเส้นประสาทตรงส่วนใดมากน้อยเพียงใด เช่น กรณีที่เส้นประสาททำงานผิดปกติ อันเป็นผลเนื่องมาจากเบาหวาน หรือ การกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือและข้อศอก เป็นต้น   2.การตรวจวินิจฉัยไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ (Needle Electromyographic Study)                  เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้เข็มเล็กๆตรวจดูความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท เช่น การกดทับของเส้นประสาทบริเวณคอและหลัง การบาดเจ็บของเส้นประสาท หรือภาวะกล้ามเนื้อมีความผิดปกติ เป็นต้น   3.การตรวจการนำไฟฟ้าของระบบประสาทส่วนกลาง (Evoked Potential)                  เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคโดยการใช้ไฟฟ้า แสง เสียง กระตุ้นให้มีสัญญษณไฟฟ้าผ่านไปตามแนวของเส้นประสาท เพื่อตรวจว่ามีความผิดปกติที่ส่วนใดของสมองและไขสันหลัง   การตรวจดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร                 การตรวจดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้การวินิจฉัยโรคมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น รวมทั้งยังใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนรักษาต่อไป   การตรวจมีความปลอดภัยพียงใด                การตรวจนี้เป็นการตรวจที่ปลอดภัยตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ท่านอาจรู้สึกเหมือนการถูกกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หรืออาจเจ็บบ้างเมื่อใช้เข็มตรวจในกล้ามเนื้อ สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น คือ                  • อาจระบมจากการใช้เข็มตรวจซึ่งมักหายไปใน 2-3 วัน                • กรณีที่ต้องมีการตรวจกล้ามเนื้อด้วยเข็ม ในบริเวณช่วงอกอาจเกิดภาวะลมรั่ว (Pncumothorax)  ซึ่งจะมีอาการแน่นหน้าอกหายใจลำบากแต่อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนนี้พบได้น้อยมากและสามารถแก้ไขได้   ถ้าท่านมีปัญหาดังต่อไปนี้ กรุณาแจ้งแพทย์ก่อนการตรวจ               • ประวัติเลือดออกง่าย หรือรับประทานยาบางชนิดที่อาจทำให้เลือดออก                   ง่าย (ในกรณีที่ต้องใช้เข็มตรวจ)                 • ติดเครี่องกระตุ้นการของหัวใจด้วยไฟฟ้า (Pace Maker)                 • มีผิวหนังอักเสบและติดเชื้อในบริเวณที่ต้องการตรวจ   หมายเหตุ   • ผู้ป่วยที่กินยา Mestinon (ยาแก้โรค Myasthenia gravis) งดรับ ประทานยาล่วงหน้าก่อนการตรวจ 1 วัน                     • ไม่ต้อง งดน้ำ และอาหาร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.วิภาวดี เบอร์ 02-561-1111 ต่อ 1118-9 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มายืดกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลายกันดีกว่า เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการเจ็บปวดได้

มายืดกล้ามเนื้อให้ผ่อนคลายกันดีกว่า เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการเจ็บปวดได้       ประโยชน์ของการยืดกล้ามเนื้อ (Stretching)                 การยืดกล้ามเนื้อเป็นวิธีการรักษาเพื่อทำให้เนื้อเยื่อที่มีการตึงหรือหดสั้นยืดยาวออกมีผลทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดการคลั่งของของเสียในเนื้อเยื่อ ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวยืดหยุ่นดีขึ้น ทำให้ลดการเจ็บปวดและการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นไปได้อย่างปกติ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเตรียมกล้ามเนื้อก่อนและหลังออกกำลังกายช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บได้อีกด้วย หลักการยืดกล้ามเนื้อด้วยตนเอง 1.   การเคลื่อนไหวต้องทำอย่างช้าๆ 2.   แรงที่ใช้ในการยืดต้องเบาๆช้าๆ และค้างไว้เมื่อรู้สึกตึงหลีกเลี่ยงการ กระตุกเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งมากขึ้นอาจเกิดการบาดเจ็บได้ 3.   การยืดแต่ละครั้งต้องค้างไว้ 5-10 วินาที 4.   การปล่อยจากการยืดต้องค่อยๆลดแรงที่ยืดลง การยืดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ 1.กล้ามเนื้อต้นคอ-บ่า • ยืดกล้ามเนื้อต้นคอ มือประสานด้านหลังศีรษะกดศีรษะลงคางชิดอกช้าๆให้รู้สึกตึงค้างไว้ 10 วินาที เงยหน้าขึ้นช้าๆ   นั่งเก้าอี้ มือยึดขอบเก้าอี้ อีกมือวางที่ด้านข้างศีรษะให้ศีรษะก้มลง และเอียงไปหาไหล่ตรงข้าม กดยืดให้รู้สึกตึงค้างไว้ 10 วินาที กลับมาหน้าตรงสลับซ้าย-ขวา 2.กล้ามเนื้อแขนและสะบัก • ยืดกล้ามเนื้อสะบัก สะบักข้างที่จะทำการยืดให้ยกมือพาดไปไหล่ตรงข้ามใช้มืออีกข้างออกแรงดันบริเวณต้นแขนไปด้านหลังให้รู้สึกตึงสะบักค้างไว้ 10 วินาที   ยกแขนข้างที่จะยืดเตะสะบักด้านตรงข้ามมืออีกข้าง ออกแรงดันบริเวณข้อศอกไปด้านตรงข้ามรู้สึกตึงบริเวณท้องแขนและสะบักค้างไว้ 10 วินาที ยืดกล้ามเนื้อแขนและมือ • ไขว้แขนไปด้านหลังใช้มืออีกข้างจับบริเวณข้อมือออกแรงดึงออกด้านข้าง/ดึงให้รู้สึกตึงค้างไว้ 10 วินาที • มือประสานกันไขว้ด้านหลังเหยียดแขนตรงให้รู้สึกตึงบริเวณหน้าไหล่ค้างไว้ 10 วินาที • มือประสานยกขึ้นเหนือศีรษะ แขนตรงให้รู้สึกตึงค้างไว้ 10 วินาที • กระดกข้อมือขึ้น-ลง ออกแรงดันยืดให้รู้สึกตึง ค้างไว้ 10 วินาที 3.กล้ามเนื้อหลังและสะโพก • นอนหงายชันเข่าขึ้นดึงเข้ามาชิดอกทั้งสองข้างค้างไว้ 10 วินาที • นอนหงายตั้งขาขึ้นไขว้ข้ามขาอีกข้างมือกดเข่าชิดพื้นด้านตรงข้ามมืออีกข้างยึดขอบเตียงกับไหล่ยกตามสลับอีกข้าง • นอนหงายชันเข่าสอดแขนใต้น่องดึงเข้ามาชิดหน้าอกรู้สึกตึงบริเวณสะโพกและต้นขาด้านหลัง ค้างไว้ 10 วินาที • นั่งขัดสมาธิ มือวางที่พื้นแขนเหยียดตรงเลื่อนมือไปด้านหน้าจนศีรษะติดพื้น ถ้าไม่สามารถนั่งขัดสมาธิได้นั่งเหยียดขาตรงได้ • ยกแขนข้ามศีรษะเอียงลำตัวไปด้านข้าง ค้างไว้   4.กล้ามเนื้อขาและเท้า • ยืดน่องและต้นขาด้านหลัง นอนหงายงอเข่าข้างหนึ่งขึ้นนำผ้ายาวคล้องฝ่าเท้าที่งอเหยียดเข่าพร้อมใช้มือดึงผ้าให้กระดกข้อเท้ารู้สึกตึงบริเวณน่องและต้นขาด้านหลัง ยืนหันหน้าเข้าผนังก้าวเท้ามาข้างหน้า 1 ก้าว ขาข้างหลังเข่าเหยียดตรง เท้าวางราบกับพื้นโน้มตัวไปค้างหน้าค้างไว้ • ยืดต้นขาด้านใน นั่งหันฝ่าเท้าชนกันมือจับที่ข้อเท้าค่อยๆก้มหลังให้ศีรษะติดพื้น • ยืดขาหน้า นั่งชันเข่าขาข้างที่จะยืดเหยียดไปด้านหลังเข่าติดพื้น โน้มตัวไปด้านหน้าจนรู้สึกตึงบริเวณหน้าขาค้างไว้   ในการยืดแต่ละท่านับค้าง 10 วินาที ให้รู้สึกตึงทำท่าละ 10-15 ครั้ง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สูงวัยแข็งแรงได้ด้วยการออกกำลังกาย อย่างไรจึงจะเหมาะสม

สูงวัยแข็งแรงได้ด้วยการออกกำลังกาย อย่างไรจึงจะเหมาะสม     ออกกำลังกายอย่างไรดี จึงจะเหมาะสม   หลักการทั่วไปได้แก่ 1.         ควรออกกำลังกายอย่างช้าๆ ควรมีช่วงพักในการออกกำลังกายบ้าง 2.         ไม่ควรออกกำลังกายที่หนักเกินไป 3.         จะหยุดพักเมื่อเหนื่อย ในรายที่ไม่ค่อยแข็งแรงดีอาจหยุดพัก หรือลดความเร็วจนหายเหนื่อยจึงเริ่มใหม่ 4.         ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 5.         จังหวะการออกกำลังกายไม่ควรเปลี่ยนแปลงกะทันหัน 6.         ถ้าต้องการทำเป็นหมู่คณะ ควรอยู่ในวัยเดียวกัน   ข้อควรระวังสำหรับผู้สูงอายุในระหว่างออกกำลังกาย สำหรับผู้สูงอายุข้อควรระวังที่จะต้องหยุดการออกกำลังกายได้แก่ 1.         เวียนศีรษะ ตามัว หูตึง กว่าปกติ 2.         หายใจหอบ หายใจไม่ทัน 3.         ลมออกหู 4.         ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ คือ ประมาณ 120-130 ครั้ง/นาที   ข้อห้ามในการออกกำลังกายผู้สูงอายุ 1.         ไม่สบาย 2.         หลังจากฟื้นไข้มาใหม่ๆ 3.         ในสถานที่ร้อนจัด อบอ้าว 4.         หลังจากทานอาหารใหม่ๆ   การบริหารร่างกายในผู้สูงอายุท่านอน 1.         นอนหงายยกแขนขึ้น-ลง เหนือศีรษะและกางออกด้านข้าง 2.         นอนหงาย งอแขนแตะไหล่ เหยียดแขนออก 3.         มือขวายกแตะไหล่ซ้ายเหยียดศอกขึ้นตรงๆ และลง สลับข้างทำแบบเดียวกัน 4.         กระดกข้อมือขึ้น-ลง และกำ-แบมือเต็มที่ 5.         นอนหงายชันเข่า แขนวางข้างตัว หายใจเข้าเต็มที่ท้องป่อง หายใจออกช้าๆท้องแฟบ เป็นการบริหารปอด 6.         นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง เหยียดเข่าซ้ายตรง และงอ เข่าเข้ามาอย่างเดิม เหยียดเข่าขวาตรง และงอเข่าเข้ามาอย่างเดิมทำสลับซ้าย-ขวา 7.         นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง เหยียดเข่าขวายกขาขึ้นตรงๆ กลับมาในท่าเดิม เปลี่ยนเหยียดเข่าซ้ายยกขาตรงสลับกัน 8.         นอนหงายกางขาออกด้านข้าง สลับซ้าย-ขวา 9.         กระดกเท้าขึ้น-ลง 10.       หมุนเท้าเข้าด้านใน หมุนออกด้านนอก   ท่านั่ง 1.         ก้มศีรษะจรดคาง แล้วเงยหน้าขึ้นช้าๆ 2.         เอียงคอมาทางซ้าย ขวา และหมุนศีรษะไปทางซ้าย ขวา โดยไม่ต้องก้มหน้า 3.         นั่งตัวตรง มือท้าวสะเอวค่อยๆ เอนตัวลงด้านซ้ายจนเต็มที่สลับข้างขวา 4.         นั่งตัวตรง บิดเอวให้หันไปทางซ้าย สลับข้างขวา 5.         นั่งตัวตรง เหยียดเข่าซ้ายขึ้นตรงๆ พร้อมกระดกข้อเท้าเกร็งค้างไว้ 5 วินาที วางเท้าลง สลับเหยียดเข่าขวา   ท่ายืน 1.         ยืนเกาะขอบโต๊ะ หรือเก้าอี้ย่อตัวลงพร้อมแยกเข่า ออกจากกันหลังตรงแล้วยืดตัวขึ้น 2.         ยืนเกาะขอบโต๊ะหรือเก้าอี้ ก้าวขาซ้ายไปข้างหน้า งอเข่าซ้าย ขาขวาเหยียดตรง ค้างนับ 1-3 สลับข้าง            ท่าบริหารแต่ละท่า ควรทำวันละ 15-20 ครั้งก่อนถ้าไม่รู้สึกเหนื่อยให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆออกกำลังกายวันละครั้ง ตอนเช้าหลังตื่นนอนเพราะเป็นเวลาที่ร่างกายพักผ่อนเต็มที่แล้ว และอากาศในตอนเช้าก็สดชื่น แจ่มใส  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มลภาวะจากฝุ่นละอองที่อาจทำร้ายคุณ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง

ฝุ่นละอองนี่คือ PM2.5      PM2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน ก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศโดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเป็นที่รับรู้กันว่า PM2.5 เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิกหรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHS) เป็นต้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่ม1 ของสารก่อมะเร็งในปี พ.ศ. 2556      เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดเล็ก แต่เมื่อแผ่รวมกันแล้วจะมีพื้นผิวรวมกันมากมหาศาล ทำให้มันสามารถนำพาสารต่างๆ ล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควัน      โดยตัวมันเองและสารหลายชนิดที่อยู่บนผิวของมัน ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญและส่งสัญญาณเตือนภัยมานานแล้ว ปัญหาอนุภาคของฝุ่นละออง PM2.5 มีผลต่สุขภาพของมนุษย์อย่างไร      เนื่องจากขนาดที่เล็กของ PM2.5 ทำให้เมื่อมันถูกมนุษย์สูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอดเราได้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลมในปอด ด้วยคุณสมบัติขนาดจิ๋วจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางส่วนของมันจึงเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมแล้วซึมผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ความร้ายกาจของมันต่อปอดของเราเป็นผลจากการกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนท์ รบกวนดุลแคลเซียมจนทำให้เกิดการอักเสบ และกระตุ้นยีนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งสารอักเสบซึ่งเป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของตัวเราเอง จนเกิดผลร้ายที่สำคัญ 3 ประการคือ     1. ระยะสั้น เกิดอาการฉับพลัน ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปัญหาของการอักเสบ และส่งผลให้ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โรคที่พบ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง ไอ หอบหืด โรคผิวหนังอักเสบและโรคเยื้อบุตาอักเสบ      2. ทำให้คนที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด          3.ระยะยาว เนื่องจากฝุ่นมีขนาดเล็ก ฝุ่นไม่ได้เข้าไปแค่ถุงลมอย่างเดียวยังสามารถผ่านถุงลมเข้าไปในหลอดเลือดแดงได้ เข้าไปในเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กและมีผลทำให้เกิดการอักเสบในเส้นเลือดตามมา ซึ่งก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง อาจกลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังส่งผลให้การทำงานของปอดถดถอย จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น และเพิ่มอัตราการตายและการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้น           กลุ่มเสี่ยงไหนบ้างที่ควรระวังมลภาวะจากฝุ่นละออง      1. เด็กเล็กเพราะปอดกำลังพัฒนาและร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่      2. ผู้สูงอายุเพราะอาจมีโรคปอดหรือหัวใจที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย.      3. หญิงตั้งครรภ์      4. ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืดเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะฝุ่นละอองอาจกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้น      5. ผู้ที่ออกกำลังหรือทำงานกลางแจ้ง เช่น คนขายพวงมาลัย คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะหายใจเร็วและแรงขึ้น      ล่าสุดหลายจังหวัดในประเทศไทยเจอปัญหาฝุ่นละอองในอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน ปัญหานี้เราควรดูแลตัวเองอย่างไร      1. ควรหลีกเลี่ยงไม่ไปทำกิจกรรมในพื้นที่มีฝุ่นหมอกควันปกคลุม งดออกกำลังกายในที่แจ้ง      2. ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมผ้าปิดจมูกหรือสวมหน้ากาก N-95   คำแนะนำในการลดปริมาณอนุภาคฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศได้อย่างไร    เราสามารถร่วมไม้ร่วมมือควบคุมแหล่งกำเนิดได้โดย 1. ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 2.ใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด และมีเครื่องมือดักจับอนุภาคที่หลงเหลือไม่ให้กระจายตัวออกมา 3.ควบคุมกระบวนการก่อสร้างให้มีฝุ่นน้อยที่สุด รื้อถอนและทำลายสิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช้งานแล้วอย่างถูกวิธี  4.หลีกเลี่ยงการเผาป่าและเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการทำเกษตรกรรม  ** ด้วยความปราถนาดีจากโรงพยาบาลวิภาวดี **  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

"ส้ม" 【ผลไม้วิตามินซีสูง】12 คุณประโยชน์ & สรรพคุณช่วยยับยั้ง ลดความเสี่ยงเยอะมาก

            ส้มเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอมหวานสามารถนำมาทำเครื่องดื่มให้ความสดชื่นกับร่างกายได้ นอกจากนี้ส้มยังมีคุณค่าทางอาหารไม่น้อยและประโยชน์อีกหลากหลายอย่าง จึงสามารถบอกได้ว่าส้มเป็นผลไม้สารพัดประโยชน์ เรามาดูกันดีกว่า 12 ประโยชน์ของส้มนั้นมีอะไรบ้าง   1. ผลไม้แก้ท้องผูก            ส้มเป็นหนึ่งในผลไม้แก้ท้องผูกได้ เพราะมีใยอาหารสูง ช่วยในระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย โดยกินส้ม 1 ผลใหญ่ก็จะได้ใยอาหาร 2.0 กรัม  2. กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย          ส้มมีวิตามินซีไม่น้อย จึงทำให้ส้มจัดเป็นผลไม้กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย ช่วยป้องกันอาการป่วย ไปจนถึงอาการป่วยที่หนักหนาได้ เพราะเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี เราก็จะป่วยยาก เชื้อโรคและไวรัสต่างๆ ก็มีโอกาสจู่โจมเราได้น้อยนั่นเอง 3. ปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด           น้ำตาลฟรุกโตสในเนื้อส้มมีส่วนช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่พุ่งสูงหลังจากกินส้มเข้าไป อีกทั้งไฟเบอร์ในส้มยังช่วยให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกทาง จึงจัดว่าส้มเป็นผลไม้ช่วยคุมระดับน้ำตาลในเลือดอีกชนิดหนึ่ง        4. ช่วยลดความดันโลหิต           ส้มเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม และยังมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างต่ำ จึงช่วยในกระบวนการไหลเวียนโลหิตได้ดี ทำให้ร่างกายควบคุมความดันโลหิตได้อย่างสมดุล และยังช่วยลดความดันเลือดในคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วยนะคะ 5. ลดคอเลสเตอรอลในเลือด           ในเนื้อส้มเองก็ไม่มีคอเลสเตอรอล ขณะที่วิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระที่มีในเนื้อส้มก็ยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ โดยสารต้านอนุมูลอิสระจะเข้าไปปกป้องหลอดเลือดไม่ให้อนุมูลอิสระเข้ามาเกาะและก่อให้เกิดไขมันพอกพูนไปเรื่อย ๆ จนก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจ เป็นต้น     6. บำรุงหัวใจ           โพแทสเซียมในส้มคือส่วนสำคัญที่ช่วยให้หัวใจทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ในส้มยังมีวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ดีต่อการทำงานของหัวใจ ช่วยให้หัวใจเต้นในจังหวะปกติ และช่วยในการไหลเวียนของเลือดให้เป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น   7. ลดความเสี่ยงโรคนิ่วในไต           มีการศึกษาพบว่า น้ำส้ม มีส่วนช่วยลดการเกิดนิ่วในไต โดยโพแทสเซียมในส้มจะช่วยยับยั้งการเกิดนิ่วต่าง ๆ ในร่างกาย และช่วยให้นิ่วถูกขับถ่ายออกมาพร้อมของเสีย ลดความเสี่ยงโรคนิ่วในไตและนิ่วในอวัยวะอื่น ๆ ได้   8. ยับยั้งการเกิดแผลเปื่อย           การศึกษาในวารสาร American College of Nutrition พบว่า คนที่ร่างกายได้รับวิตามินซีสูงจะมีโอกาสเกิดแผลเปื่อยได้น้อยกว่าคนที่ร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และส้มก็เป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีมากถึง 89% ของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวันเชียวนะคะ 9. ลดความเสี่ยงโรคสโตรก           อาการสโตรก (Stroke) เกิดจากการที่หลอดเลือดตีบ แตก ตัน ซึ่งการศึกษาจากมูลนิธิโรคหัวใจแห่งอเมริกา พบว่า การรับประทานผลไม้ประเภทซิตรัสอย่างส้มและเกรปฟรุตมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคสโตรกในผู้หญิงได้ถึง 19% เมื่อเทียบกับอาสาสมัครที่กินผลไม้ในกลุ่มซิตรัสน้อยกว่า   10. ป้องกันมะเร็ง           ในเนื้อส้มมีสารต้านอนุมูลอิสระประเภทฟลาโวนอยด์ค่อนข้างสูง ซึ่งเจ้าสารตัวนี้มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ อีกทั้งเนื้อส้มที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ก็ยังจะช่วยขับเอาของเสียที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ออกมา จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกทาง           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า สารซิตรัสในส้มสามารถต้านการเกิดมะเร็งช่องปาก มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย 11. ลดความเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อม           มีงานวิจัยที่เผยว่า เพียงกินส้มวันละผลก็ช่วยลดโอกาสเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ ส่วนรายละเอียดจะเป็นยังไง ลองอ่านกันเลย    12. ส้มช่วยบำรุงผิว           สารต้านอนุมูลอิสระผสานกับพลังแห่งวิตามินซีมีส่วนช่วยปกป้องเซลล์ผิวจากการถูกแสงแดดทำร้าย ปกป้องผิวจากมลพิษ ช่วยลดการเกิดริ้วรอย และช่วยบำรุงเซลล์ผิวให้แข็งแรง ทำให้ผิวดูกระชับตึงมากขึ้น เนื่องจากวิตามินซีเป็นสารตั้งต้นของคอลลาเจนนั่นเอง           ไม่เพียงแต่เนื้อส้มและน้ำส้มเท่านั้นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของเรา แต่อย่างที่บอกไว้ในตอนแรกนะคะว่าส้มมีประโยชน์ไปยันเปลือกเลย                                           ข้อมูลจาก : www.kapook.com

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไขมันในเลือดสูงหากมากกว่า 240 ม.ก. บวกกับความเสี่ยงของแต่ละคน อาจเกิดโรคร้ายตามมา

ไขมันในเลือดสูงหากมากกว่า 240 ม.ก. บวกกับความเสี่ยงของแต่ละคน อาจเกิดโรคร้ายตามมา      ไขมันในเลือดสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ          ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย ไขมันเป็นส่วนประกอบของเซลล์ โดยเฉพาะผนังเซลล์ทุกชนิด เซลล์สมอง และเป็นแหล่งพลังงานสำรองโดยเก็บไว้ในรูปเซลล์ไขมัน ไขมันที่สูงผิดปกติมีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ   ไขมันในร่างกายได้มา 2 ทางคือไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นและไขมันที่ได้มาจากอาหาร         ไขมันที่ได้มาจากอาหารมี 2 ประเภทคือ ไขมันจากพืชและไขมันจากสัตว์         ไขมันจากสัตว์ ได้แก่ไขมันที่ได้จากอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ มันสัตว์ หนังสัตว์ (หนังเป็ด หนังไก่)  ไขมันสัตว์ (มันหมู มันวัว) ไข่แดง สมองและเครื่องในสัตว์ ซึ่งมี “คอเลสเตอรอล”  เป็นส่วนประกอบสำคัญ         ไขมันที่ได้จากพืชประกอบด้วย “ไตรกลีเซอไรด์” เป็นส่วนใหญ่ ได้จากอาหารประเภท กะทิ แป้ง ขนมหวานที่มีน้ำตาลมาก  ไขมันกลุ่มนี้ ในปัจจุบันเชื่อว่ามีส่วนที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นกัน  แต่ความสำคัญน้อยกว่า คอเลสเตอรอล         อาหารไขมันต่างๆ ที่รับประทานเข้าไปไม่ว่าจะอยู่ในรูปใด เมื่อลงไปถึง ลำไส้เล็กจะถูกย่อยด้วยน้ำดี และน้ำย่อยจากตับอ่อน เป็นกรดไขมันและสารประกอบไขมันขนาดเล็กๆ จากนั้นถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กเข้าสู่ร่างกาย เข้าสู่กระแสโลหิต และเข้าไปย่อยสลาย และสร้างขึ้นใหม่ที่ตับ        ในร่างกาย ไขมันต่างๆเหล่านี้จับตัวอยู่ในรูปสารประกอบต่างๆ คือ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์  จับกับสารประกอบ ฟอสโฟไลปิด  เป็นไขมันไลโปโปรตีน 2-3 ประเภท คือชนิดความแน่นสูง  ชนิดความหนาแน่นปานกลาง  และชนิดความหนาแน่นต่ำ  ( HDL, IDL ,LDL)         ไขมันในเลือดที่เราทำการตรวจเลือดกันอยู่ ประมาณ 2/3 หรือ 60-70% มาจากไขมันที่เราสร้างขึ้น          ไขมันไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL) เป็นไขมันที่ไม่ดี  เข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อของหลอดเลือด  ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว  ที่เรียกว่า  “Atherosclerosis” ไขมันไลโปโปรตีนความหนาแน่นต่ำมีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบสำคัญ และถ้าในร่างกายมีไขมันชนิดนี้มาก เมื่อผนังของหลอดเลือดแดงที่มีแผลหรือผิดปกติ ไขมันชนิดนี้จะแทรกเข้าไปใต้ชั้นผิวในของหลอดเลือด  กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา ดึงเอาเม็ดเลือดขาว  เซลล์กล้ามเนื้อเรียบ  ไฟบรินและสารอื่น ๆ ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดมีแผลเป็นหนา ตัวนูนขึ้น (Plaque) และถ้าเป็นซ้ำ ๆ กันและเกิดหลาย ๆ ตำแหน่งจะเกิดหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ปริกริยานี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้ โดยเฉพาะ ที่หลอดเลือดหัวใจ        ไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นสูง (HDL) เป็นไขมันที่ดี  ทำหน้าที่กำจัด คอเลสเตอรอลออก ไปจากเนื้อเยื่อและหลอดเลือดต่างๆ    เมื่อใดแพทย์จะรักษาท่าน        ถ้าท่านมีไขมันคอเลสเตอรอลสูง  เช่น  มากกว่า 240 มก.% หรือค่ารวมของคอเลสเตอรอลในไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ สูงมากกว่าปกติ แพทย์จะตรวจดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าท่านมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่ มีโรคหลอดเลือดในที่อื่นๆ  สูบบุหรี่ เบาหวานความดันโลหิตสูง  มีประวัติ การเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในครอบครัว หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน  สูงอายุ ถือว่าท่านมีอัตราเสี่ยงสูง ท่านหรือผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาอย่างเต็มที่          ไขมันไตรกลีเซอไรด์มีความเกี่ยวพันกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าไขมันคอเลสเตอรอล  แต่ถ้าสูงมากๆ ก็ต้องรักษา         ถ้าท่านเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอยุ่แล้ว ต้องรักษาทั้งไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่สูง     วิธีการรักษา สำหรับไขมันในเลือดสูง เช่น คอเลสเตอรอลสูงมากกว่า 240 มก.% และไขมันไลโปโปรตีน ชนิด LDLสูงมากกว่า 160-180 มก.% รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ 1. ผู้ป่วยจะต้องควบคุมอาหารเป็นเวลาประมาณ1-3 เดือน 2. หลัง 1-3 เดือน เจาะไขมันในเลือดซ้ำ ถ้าไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ยังสูงอยู่ การใช้ยาลดไขมันในเลือดอาจจำเป็น ซึ่งปัจจุบันมียาลดไขมันในเลือดในท้องตลาดมีอยู่ 4 กลุ่ม  คือ ไฟบริกแอซิด สเตติน เรซิน และ ezetimibe  ยาในกลุ่มสเตตินมีผลการทดลองยืนยันชัดเจนว่าสามารถลดอัตราการเสีนชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ยาลดไขมันแต่ละกลุ่มมีที่ใช้ และ ข้อดีข้อเสียต่างกัน  ควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา 3.พยายามให้ค่าไขมันคอเลสเตอรอลรวมต่ำกว่า 160 มก.% และ ไขมันไม่ดี (ไขมันไลโป โปรตีนคอเลสเตอรอล) ต่ำกว่า 130 มก.% หรือลดลง 30-50% จากค่าเดิม 4. การควบคุมอาหารและการใช้ยาต้องทำควบคู่กันตลอดไป   หลักการควบคุมอาหาร อาหารควรมีไขมันน้อยกว่า 30% มีคอเลสเตอรอลอยู่ระหว่าง 200-300 มก.%         ถ้าคอเลสเตอรอลสูง 1. หลีกเลี่ยงอาหารจำพวก ไข่แดง  ไขมันสัตว์ (มันหมู มันวัว) เครื่องในสัตว์ (ตับ ไต หัวใจ ปอด ลำใส้และสมอง) น้ำมันต่างๆ จากสัตว์  เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) หนังเป็ดหนังไก่ ไข่แดง ปลาหมึกตัวใหญ่  หอยนางรม เป็นต้น 2. หลีกเลี่ยงอาหารทอด  ให้เปลี่ยนเป็น ปิ้ง ย่าง นึ่ง อบ ต้ม แทน 3. น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหารให้ใช้พวกน้ำมันที่มีกรดไขม้นชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมัน ข้าว โพด  4. ผักสีเขียวรับประทานได้ไม่จำกัด 5. ลดน้ำหนัก  ถ้าไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง 1. หลีกเลี่ยงอาหารจำพวก กะทิ ขนมหวานที่มีน้ำตาล 2. ออกกำลังกาย จะ ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ลดลง 3. ลดดื่ม สุรา เบียร์ 4. ลดน้ำหนัก   สิ่งอื่นๆ ที่ท่านควรรู้ การเจาะเลือดหาระดับไขมันรวมในเลือด เพื่อตรวจค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ร่วมด้วย ควรงด อาหารอย่างน้อย 10-12 ชม.(ไม่ใช่ 6 ซม.) แต่น้ำเปล่าสามารถดื่มได้ แต่ถ้าต้องการตรวจเฉพาะ ไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ไม่ต้องงดอาหาร  ยาลดไขมันในเลือดไม่ช่วยลดไขมันหน้าท้องไม่ช่วยลดน้ำหนักเพราะไขมันหน้าท้อง เป็นเซลล์ไขมันที่ร่างกายสะสม ซึ่งเป็นคนละตัวกับไขมันในเลือด ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว  ระดับไขมันคอเลสเตอรรอลที่ต่ำกว่า 240 มก.%   และไขมันไม่ดี (ไขมันไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอล) ต่ำกว่า 130 มก. % ก็ถือว่ายอมรับได้ น้ำมันปลามีฤทธิ์ในการลดไขมันไตรกลีเซอไรด์  และมีฤทธิ์ในการเพิ่มไขมันไลโปปรตีน ชนิด ความหนาแน่นสูง แต่ไม่ลดไขมันไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<