อย่าเฉย…เมื่อชา เพราะอาการชา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณอันตราย

อย่าเฉย…เมื่อชา เพราะอาการชา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณอันตราย            “ชาตามปลายมือปลายเท้า”  หลายคนเคยเกิดอาการนี้ บางคนมีอาการเพียงชั่วครู่ บางคนมีอาการนานกว่านี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ทำให้เกิดความรำคาญได้ ในระยะแรกๆ มักไม่รบกวนชีวิตมากเท่ากับอาการปวด แต่ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขอาการ ก่อนที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างอื่นตามมา      อาการชาเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาท รับความรู้สึก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่นิ้ว มือ แขน เท้าหรือขา เป็นอาการที่มีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติหรือไม่มีความรู้สึกเลย บางคนอาจรู้สึกซ่าๆ ที่ปลายมือปลายเท้าหรือบริเวณอื่นหรือมีอาการเหมือนมีอะไรยุบยิบๆ ตามปลายมือปลายเท้า แล้วก็หายไปหรือเป็นตลอด ซึ่งอาการชาจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทส่งความรู้สึกของบริเวณที่เป็น  ทำงานบกพร่องไปแล้วอย่างน้อย50% โดยถ้าเส้นประสาทส่งความรู้สึกทำงานบกพร่องไปอย่างช้าๆ อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติและมักตรวจพบได้ยาก แต่ถ้าเกิดการบกพร่องไปอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการที่ชัดเจน      อาการมือเท้าชาสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง หรืออาจมีสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท งูสวัด เบาหวาน ปวดศีรษะไมเกรน ลมชัก หลอดเลือดสมอง เป็นต้น นอกจากนี้การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็อาจเป็นสาเหตุของความเสียหายของเส้นประสาทได้เช่นกัน โดยเฉพาะการขาดวิตามินB ต่างๆ เพราะวิตามิน B เหล่านั้นมีความจำเป็นต่อเส้นประสาทที่มีสภาพสมบูรณ์ หากรู้สึกเหน็บชาหรือมีอาการปวดเสียวบริเวณมือหรือเท้า นั่นอาจแสดงว่าเส้นประสาทได้รับการบำรุงไม่เพียงพอ      การบรรเทาอาการจากโรคเส้นประสาทมีได้หลายวิธี   เริ่มแรกควรรับประทานอาหารที่ให้มีปริมาณวิตามิน B ที่เพียงพอ ซึ่ง วิตามิน B1 B6 และ B12 เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญต่อการบำรุงรักษาเส้นประสาท เราสามารถรับวิตามินเหล่านี้ได้จากอาหารหลายชนิด วิตามิน B1 พบได้ในธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี สารสกัดจากยีสต์ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว วิตามิน B6 พบได้ในอาหารจำพวกปลาทูน่า ผักโขม หรือผักตระกูลปวยเล้งและกล้วย ส่วนวิตามิน B12 ได้จากไข่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลประเภทกุ้ง ปู และผลิตภัณฑ์นม        วิตามิน B1 หรือไทอามีน (Thiamine) ทำหน้าที่สร้างชั้นที่ปกป้องเส้นประสาทขณะที่มีการรับส่งกระแสประสาทผ่านระบบสังเคราะห์สารสื่อประสาท การขาดไทอามีนจึงทำให้เกิดการทำลายเส้นประสาท สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมากและรบกวนกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท นอกจากนี้อาจส่งผลต่อระบบเมแทบอลิซึม ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติและลดการเผาผลาญกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ควบคุม และทำให้เกิดโรคเส้นประสาทในที่สุด สัญญาณเตือนว่ามีอาการขาดวิตามินบี 1 เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย เริ่มเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน สมองมึนงง ความคิดสับสนวกวนจากการเสื่อมสภาพของระบบประสาทหากขาดรุนแรงก็อาจจะทำให้เกิดอาการทางการเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน เหน็บชา (beriberi) เป็นต้น          วิตามิน B6 หรือไพริด็อกซีน (Pyridoxine) มีส่วนช่วยในการขนส่งกลูโคสในร่างกาย การขาดวิตามินนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ โดยระดับน้ำตาลในเลือดอาจทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดโรคเส้นประสาทได้ การขาดวิตามิน B6 เป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน         วิตามิน B12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบประสาท โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างและเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท เมื่อขาดวิตามิน B12 เป็นเวลานาน เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มและป้องกันเส้นประสาทเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคเส้นประสาทขึ้น        วิตามิน B ทั้งหมดเป็นวิตามินละลายน้ำ วิตามินที่เกินจำเป็นซึ่งร่างกายไม่ได้ใช้ก็จะถูกขับออกทางเหงื่อ หรือปัสสาวะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินอย่างเพียงพอ ถ้าอาหารมีปริมาณวิตามินไม่เพียงพอ อาจจะรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ได้รับวิตามิน B1 B6 B12 ให้เพียงพอต่อการบำรุงเส้นประสาท        การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเลิกสูบบุหรี่ การลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอมีส่วนช่วยได้ แม้แต่เพียงการปรับเปลี่ยนง่ายๆ เช่น การสวมรองเท้าที่สบายและเหมาะสม หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน และการแก้ไขท่าทางในชีวิตประจำวันก็ช่วยป้องกันการทำลายของประสาทได้ หากมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานการควบคุมน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคข้อเข่าเสื่อม อาการ ปัจจัยเสี่ยง วิธีรักษา ต้องผ่าไหม?

โรคข้อเข่าเสื่อม หรือ osteoarthritis เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน (cartilage) เยื่อหุ้มข้อ (joint capsule) กับ น้ำไขข้อ (synovial fluid) ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันการเสียดสีเมื่องอหรือเหยียดหัวเข่า และช่วยหล่อลื่นข้อต่อต่างๆให้เคลื่อนไหวได้ง่าย หากมีการสึกหรอของกระดูกอ่อนที่หัวเข่าจะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกขาบนและล่างเมื่องอหรือเหยียดหัวเข่ามากขึ้นจนเกิดการอักเสบของข้อได้ อย่างไรก็ดี โรคข้อเข่าเสื่อมไม่ใช่ “โรคผู้สูงอายุ” ตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ด้วย อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม ระยะแรก ปวดข้อเรื้อรัง โดยเฉพาะเวลาที่ขยับตัวหรือลงน้ำหนักที่ขา ซึ่งผู้ป่วยอาจรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้พักแต่จะกลับมาปวดอีก มีอาการบวมที่ข้อ ขยับข้อลำบาก มีความฝืดหรือรู้สึกไม่คล่องตัวเหมือนก่อน เวลาขยับขา ข้อมีเสียงดัง ระยะรุนแรง ปวดข้อแบบรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ข้อเข่าบวมและผิดรูปหรือโก่ง อาการปวดในหัวเข่ากระจายไปยังส่วนอื่นของขา ปัจจัยเสี่ยงของโรค อายุ  ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมจากการสึกหรอของข้อตามอายุ โรคอ้วน ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวมากเกินไป ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อเข่า แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สตรี ฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรี เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคทางกระดูกมากกว่าบุรุษ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับข้อและกระดูกอ่อน เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และ เก๊าท์ การป้องกัน ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพราะข้อเข่าเป็นข้อที่รับน้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากเท่าไร ข้อเข่าก็รับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่าที่ไม่ถูกต้อง ( เช่น นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ หรือนั่งยอง ๆ ) หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่ามากเกินไป เช่น การยืนนาน ๆ การขึ้น-ลงบันได  การยกของหนัก  เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าให้แข็งแรงเพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อเข่า  แต่หากออกกำลังหนักเกินไป โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทกของข้อที่รับน้ำหนัก เช่น วิ่ง  กระโดด ก็จะสร้างภาระให้กับกระดูกอ่อนผิวข้อได้ ดังนั้นการออกกำลัง ชนิดที่ข้อไม่รับแรงกระแทกมาก จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าแข็งแรง เช่น การเล่นเวท (สร้างกล้ามเนื้อขา เข่า และต้นขา) การว่ายน้ำ (เดินในน้ำ) การขี่จักรยาน เมื่อมีความผิดปกติในเข่าต้องรักษาให้ถูกต้อง เช่น โรคเก๊าท์  โรครูมาตอยด์ หรือถ้าได้รับอุบัติเหตุในเข่า เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาด เส้นเอ็นขาด  หรือกระดูกหักต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจนเข่าปกติ แนวทางการรักษา โรคข้อเข่าเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยสามารถประคับประคองและรักษาตามอาการดังต่อไปนี้ได้ ทานยาแก้ปวด หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เมื่อมีอาการปวด ในผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วน การลดน้ำหนักจะช่วยลดแรงกดดันในข้อหัวเข่าได้ ออกกำลังกายหรือทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดและเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดแรงกระแทกในข้อเข่า เช่น เลี่ยงการนั่งไขว่ห้างหรือขัดสมาธิ การฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดในกลุ่มผู้ป่วยข้อเข้าเสื่อมระยะแรกได้ แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 4 ครั้งต่อปี ในกรณีภาวะข้อเข่าเสื่อมรุนแรงและผิดรูป ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีผ่าตัดเปลี่ยนหัวเข่า (knee replacement)  ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนข้อบางส่วน (unicompartmental knee replacement) หรือเปลี่ยนทั้งข้อ (total knee replacement) ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยการผ่าตัดจะใช้วัสดุมาตรฐานทางการแพทย์เช่นโลหะ หรือ พลาสติคมาช่วยเสริมส่วนข้อต่อที่สึกหรอได้ ซึ่งข้อเข่าเทียมเหล่านี้จะมีอายุการใช้งานที่ต่างกันไป การผ่าตัดข้อเข่าสมัยนี้ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วเพราะแผลมีขนาดเล็กและเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบเก่า การผ่าตัดจะใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง และพักฟื้นแค่ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามแพทย์จะทำการตรวจร่างกายของผู้ป่วยอย่างละเอียดก่อนทำการผ่าตัด เพื่อความปลอดภัยและความแม่นยำในการระงับการปวดระหว่างผ่าตัด ในรายที่ข้อเข่าเสื่อมมากและไม่หายด้วยวิธีการอื่น ผมแนะนำให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งผมใช้วิธีการรักษาเทคนิคใหม่ แผลผ่าตัดเล็ก ตัดกล้ามเนื้อเพียงเล็กน้อย เลือกใช้ข้อเข่าเทียมที่มีมาตรฐานสูงจากอเมริกาและเย็บแผลผ่าตัดอย่างปราณีตไม่ต้องตัดไหม แผลไม่ชอกช้ำ ดังนั้นผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว สามารถเดินได้หลังผ่าตัดเร็วขึ้น แผลสวยและลดการเกิดโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยก็สามารถมีชีวิตประจำวันที่ปกติ สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ สุขภาพกายและจิตใจดีขึ้น แล้วท่านก็จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพดี แพทย์ นพ.ทวีเกียรติ รัศมีสุนทรางกูล แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ต้อหิน - รู้เท่าทันกันตาบอด (ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม)

โรคต้อหินคือโรคที่เกิดจากการถูกทำลายของเส้นประสาทตา เนื่องจากมีแรงดันในลูกตาสูง ซึ่งเส้นประสาทตานี้จะเชื่อมต่อระหว่างตาไปยังสมอง ทำให้การมองเห็นค่อยๆลดลง และบอดในที่สุด แรงดันตาที่สูงมากขึ้น เกิดจากการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตามากขึ้น และมีการระบายน้ำออกจากทางเดินระบายน้ำลดลง โดยค่าปกติของความดันตาอยู่ที่ 5-21 มิลลิเมตรปรอท หากพบว่าความดันตามีค่ามากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ ในระยะเริ่มแรก ลานสายตาจะถูกทำลายจากด้านข้างก่อน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีการเดินชนสิ่งของดัานข้าง ผู้ป่วยที่ไม่สังเกตจึงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะการมองตรงกลางยังเห็นดีอยู่ จนระยะท้าย ลานสายตาโดนทำลายจนแคบเข้ามาเรื่อยๆ การมองเห็นภาพตรงกลางเริ่มลดลง ระยะนี้ผู้ป่วยจึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือ การมองเห็นที่เสียไปแล้ว ไม่สามารถทำให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ทำให้ตาบอดถาวร การรักษาจึงเพื่อไม่ให้ลานสายตาและการมองเห็นที่ยังดีอยู่แย่ลงไปอีก ชนิดของโรคต้อหิน ต้อหินมีหลายชนิด โดยแบ่งเป็นชนิดหลักๆ ได้ 2 ชนิด คือ ต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิด 1. ต้อหินมุมเปิด หมายถึง มุมระหว่างกระจกตาและม่านตาของคนไข้เป็นปกติ แต่ช่องทางที่น้ำในลูกตาไหลเวียนออกมีปัญหาไหลเวียนได้ไม่ดี น้ำจึงคั่งที่ช่องหน้าลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูง  2. ต้อหินมุมปิด หมายถึง มุมระหว่างกระจกตาและม่านตาของคนไข้แคบกว่าปกติ ทำให้ไปขัดขวางช่องทางที่น้ำในลูกตาไหลเวียนออก น้ำในลูกตาจึงไม่สามารถไหลเวียนออกได้ ทำให้คนไข้มีความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการของโรค ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการผิดปกติ  หากมีอาการตามัวหรือการมองเห็นแคบลง แสดงว่าโรคอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว ผู้ป่วยต้อหินมักจะไม่มีอาการปวดตา ยกเว้น ผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิดเฉียบพลันที่มีความดันลูกตาสูงขึ้นแบบฉับพลัน การวินิจฉัยโรค จักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโรคต้อหิน โดยจำเป็นต้องอาศัยการตรวจตาและตรวจการมองเห็น การตรวจตาโดยจักษุแพทย์ การตรวจด้วยอุปกรณ์พิเศษ เช่น เครื่องสแกนขั้วประสาทตา การตรวจตาด้วยเครื่องตรวจตา slit-lamp microscopy การตรวจลานสายตา การตรวจลักษณะของขั้วประสาทตา การตรวจวัดความดันภายในลูกตา ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หากคุณมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ 1 ข้อ หรือมากกว่าคุณควรปรึกษาจักษุแพทย์ อายุมากกว่า 40 ปี  เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาวถึง 6-8 เท่า ส่วนคนเชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิดมากกว่าชนชาติอื่น มีประวัติในครอบครัวเป็นต้อหิน สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง เคยเกิดอุบัติเหตุที่ตามาก่อน มีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ประวัติของการไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ เช่น ไมเกรน เบาหวาน ควานดันโลหิตสูง เลือดจาง หรือภาวะช็อก ตรวจพบความดันตาสูง การใช้ยาสเตียรอยด์   โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงสมควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำ งดการซื้อยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยมาใช้เอง เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาควรรีบมาพบแพทย์  การรักษาต้อหินและการป้องกันภาวะตาบอด เนื่องจากโรคต้อหินเส้นประสาทตาจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคองเพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้นและเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรค  หากคุณเป็นต้อหิน สิ่งสำคัญ คือ การควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับปกติ และหยุดการทำลายของเส้นประสาทตา การควบคุมความดันตา ทำได้โดย: 1. การใช้ยาหยอดตา เป็นวิธีขั้นพื้นฐานและได้ผลที่ดี ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาหรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น จึงลดความดันตาให้อยู่ในระดับเหมาะสมไม่เกิดการทำลายของเส้นประสาทตา การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา 2. การใช้เลเซอร์ ทำในบางกรณี ทั้งนี้อาจต้องมีการใช้ยาหยอดตาร่วมด้วย โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก หรือรักษาด้วยยาหยอดตาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือมีอการแพ้ยาหยอดตา และมักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล เป็นการทำลายเซลล์มีหน้าที่สร้างน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาสร้างน้อยลง  3. การผ่าตัด  ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ rabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ให้น้ำออกมานอกลูกตามากขึ้น เป็นผลให้ความดันตาลดลง Aqueous shunt surgery ทำในกรณีที่การผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล เป็นการทำการผ่าตัดด้วยการใส่เครื่องมือที่เป็นท่อระบายเพื่อลดความดันตา สิ่งที่สำคัญที่ควรทราบ: การใช้ยาหยอดตาไม่ได้ทำให้การมองเห็นหรือความรู้สึกในการรักษาดีขึ้น แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้การมองเห็นแย่ลง การใช้ยาหยอดทุกวันอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ การประเมินผลการรักษา จำเป็นต้องมีการตรวจตามการนัดหมายของแพทย์ เพื่อดูผลของการรักษา กรณีฉุกเฉิน!! ต้อหินอาจเกิดขึ้นได้เฉียบพลัน ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน  มองไม่เห็นอย่างฉับพลันในตาข้างใดข้างหนึ่ง การมองเห็นมัวลงคล้ายเป็นหมอก  เวลามองมีแสงแฟลชหรือจุดดำ เวลามองดวงไฟจะเห็นรัศมีเป็นสีรุ้ง มีอาการปวดตา หรือปวดหัวข้างเดียวกับที่ตามัว มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สัญญาณเบื้องต้นของโรคต้อหินนั้น จริงๆ แล้ว คนไข้โรคต้อหินส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก เพราะคนไข้ 70-80% เป็นประเภทต้อหินเรื้อรัง คนไข้กลุ่มนี้จะมีความดันลูกตาเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำให้เกิดความเคยชินกับความดันลูกตาที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่เกิดอาการปวดรุนแรง แต่ว่าคนไข้มีอาการจะเริ่มตามัวลงอย่างช้าๆ โดยที่การสูญเสียการมองเห็นจะเริ่มมาจากด้านข้าง ทำให้ลานสายตาค่อยๆแคบลง จนกระทั่งมัวบริเวณตรงกลางที่มอง คนไข้ถึงจะรู้สึกตัวว่าการมองเห็นลดลง จึงมาหาหมอ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว  ดังนั้น โรคต้อหินมุมเปิดเรื้อรังจึงไม่มีอาการในระยะแรกของโรค ยกเว้นถ้าเป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จึงจะมีอาการปวดตารุนแรง ดังนั้นถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ควรมาตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคนไข้กลุ่มเสี่ยง ระยะเวลาสำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มผู้สูงมากกว่า 40 ปี อายุควรตรวจเป็นประจำทุกปี และไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรใช้ยาในความดูแลของแพทย์ ได้เพียงแค่ให้การมองเห็นที่มีอยู่ทรงตัวไม่ให้แย่ลง เพราะฉะนั้นควรตรวจพบในระยะแรกมีความสำคัญ เพื่อการรักษาที่ดี และป้องกันตาบอดให้ได้มากที่สุด แพทย์ พญ.ฤทัยรัตน์ วินิจฉัย ศูนย์จักษุและเลสิคสาขาต้อหิน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก

เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก  (Transcranial Magnetic Stimulation, TMS)   เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นเครื่องที่อาศัยหลักการเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าผ่านขดลวดเหนี่ยวนำเป็นคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งสามารถผ่านเนื้อเยื่อและกะโหลกศีรษะได้ ใช้ในการวินิจฉัยและการรักษาโรคทางสมอง ได้แก่ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน โรคเส้นประสาทส่วนปลาย โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น และใช้รักษาโรคซึมเศร้าได้   การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก สามารถทำได้ 2 วิธีคือ   1. การกระตุ้นด้วยคลื่นความถี่สูง โดยใช้ความแรงของการกระตุ้นตั้งแต่ 1 รอบต่อวินาทีขึ้นไป สำหรับรักษาโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น 2. การกระตุ้นด้วยคลื่นความถี่ต่ำ โดยใช้ความแรงของการกระตุ้นต่ำกว่า 1 รอบต่อวินาที จะยับยั้งการทำงานของสมองที่ทำงานมากเกินไป เช่น โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น ข้อบ่งใช้ในการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก โรคซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นหลังอุบัติเหตุทางสมอง อาการปวดเฉียบพลันและเรื้อรัง อาการปวดจากเส้นประสาท โรคสมอง ได้แก่ โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น   วิธีการรักษา จะทำการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กวันละ 1 ครั้งจำนวน 5-10 วัน (เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการรักษาได้เต็มที่) ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ต่อการรักษา 1 ครั้ง ทั้งนี้แพทย์จะคอยถามและสังเกตอาการตลอดระยะเวลาในการกระตุ้น   ผลการรักษา คลื่นแม่เหล็กจะส่งดีต่อการทำงานของวงจรในสมอง มีผลต่อสารสื่อประสาท หลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทเกี่ยวกับโรคไมเกรน อาการเจ็บปวด และความเครียด ลดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง และลดอาการซึมเศร้า   ข้อห้าม   ผู้ที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pace maker) ผู้ที่มีโลหะในศีรษะ เช่น เคยผ่าตัดหลอดเลือดสมองโป่งพองและใช้อุปกรณ์หนีบหลอดเลือด หรือตามร่างกาย โรคลมชัก ผลข้างเคียงที่พบ มีความร้อนบริเวณที่กระตุ้น เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กทำให้อุณหภูมิภายในสมองสูงขึ้นแต่น้อยมากจะมีปวดตึงศีรษะบริเวณที่ทำการกระตุ้น คลื่นไส้ วิงเวียน อาการชัก อารมณ์พลุ่งพล่าน สำหรับผู้ป่วยจิตเวช   ข้อแนะนำก่อนทำ 1. แพทย์จะแนะนำการรักษา ข้อบ่งชี้ และข้อห้ามในการใช้เครื่องมือดังกล่าว 2. ก่อนทำการกระตุ้นสมอง แพทย์จะกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลายก่อน เพื่อให้ร่างกายรับรู้และคุ้นเคยกับความแรงและความถี่ของการกระตุ้น 3. เมื่อท่านคุ้นเคยแล้ว แพทย์จะกระตุ้นสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เป็น เช่น อัมพาต อัมพฤกษ์ จะกระตุ้นสมองด้านตรงกันข้ามกับอาการอ่อนนแรง เป็นต้น โดยกระตุ้นซ้ำเป็นชุดๆ  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท                          โทร.0-2561-1111 ต่อ 1214

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เรื่องสั้นวันไตโรค2018 เรื่อง ไร้ไต ไม่ไร้หัวใจ

แพทย์หญิงอุษณา ลุวีระ อายุรแพทย์โรคไต เรื่องสั้นวันไตโรค2018 เรื่อง ไร้ไต ไม่ไร้หัวใจ วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่   ฉันชื่อเด็กหญิงสมใจ   ใจดี  อายุ  10 ปี   แม่พาไปหาหมอเพราะมีอาการบวมทั้งตัว  มา1 สัปดาห์  หมอบอกว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง  ไตทำงานเพียง  10%  เท่านั้น  พ่อและแม่ ร้องไห้ เป็นทุกข์มาก  ฉันไม่เข้าใจ  หมอบอกว่ามีทางรักษาอย่าเสียใจไปเลย   หมอให้ยาขับปัสสาวะมารับประทาน    อาการบวมยุบลง  ฉันไปโรงเรียนได้    ต่อมาก็บวมทั้งตัวอีก  คราวนี้มีหอบด้วย  หน้าตาซีด  เพื่อนๆล้อว่า  ซีดเหมือนไก่ต้ม  แม่พาไปหาหมออีก  หมอบอกว่าต้องส่งไปโรงพยาบาลจังหวัด  เพราะหมอรักษาไม่เป็น  และเขียนจดหมายให้แม่นำไปหาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัด  คนมากจัง  รอนานกว่าจะได้พบหมอ      ในที่สุดฉันก็ได้พบหมอ  หมอรับฉันเข้าโรงพยาบาล  เจาะเลือดไปตรวจ   เอ็กซเรย์  ให้อ๊อกซิเจน  และยาขับปัสสาวะ            ฉันยังคงเหนื่อยมาก  หมอจึงเจาะท้องเอาสายนิ่มๆใส่เข้าท้อง  ฉันเจ็บไม่มาก  หมอเอาน้ำยาจากถุงใส่เข้าท้องครึ่งถุง  ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วถ่ายออก  ใส่น้ำยาที่เหลือจนหมดถุง  ทำซ้ำๆกัน  ฉันเหนื่อยและบวมน้อยลง  หมอให้เลือด2ถุงและฉีดยาให้   อีก  2 สัปดาห์หมอให้กลับบ้านได้และสอนให้แม่เปลี่ยนน้ำยาที่บ้าน  โดยปล่อยน้ำยาจากถุงเข้าช่องท้องทางสายที่เจาะเข้าช่องท้องครึ่งถุงทิ้งไว้ 4  ชั่วโมง  แล้วปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องลงใส่ถุงอีกใบหนึ่ง   และปล่อยน้ำยาที่เหลือเข้าท้องจนหมดถุง ปลดถุงออก    ฉันสามารถเดิน  วิ่งได้  ไม่เหนื่อย  ไปโรงเรียนได้   เปลี่ยนน้ำยาขนาด2ลิตร วันละ  3 ถุง     ก่อนไปโรงเรียนแม่จะเปลี่ยนเอาน้ำยาเข้าท้อง  แล้วปลดถุงออก     ตอนเย็นแม่จะปล่อยน้ำยาออก  แล้วใส่น้ำยาใหม่เข้าท้องเปลี่ยนจนครบวันละ 3 ถุง  ฉันสบายดี  กินอาหารได้ดี  นอนหลับได้ ไม่เหนื่อย   หมอแนะนำให้ผ่าตัดปลูกถ่ายไต  โดยให้  พ่อ หรือ  แม่  บริจาคไตให้ฉัน   ฉันจะหายเป็นปกติ   แม่ตกลงใจยกไตให้ฉันหนึ่งข้าง  หมอตรวจเนื้อเยื่อและกลุ่มเลือดพบว่าเข้ากันได้  วันผ่าตัดฉันเจ็บแผลไม่มากแต่แม่เจ็บมากกว่าฉัน  หลังผ่าตัดมีปัสสาวะออกมากทันที   หมอพอใจมาก  ต้องรับประทานยาวันละ 2 ครั้ง  ประมาณ 2  สัปดาห์  ฉันออกจากโรงพยาบาล กลับมาเรียนหนังสือ  ต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด  พบแพทย์ทุก  2 เดีอน  ฉันสบายดี   ตัวโตขึ้น  ฉันเรียนจบปริญญาตรี  ได้ทำงานที่บริษัทใกล้บ้าน   เมื่อฉันอายุได้  25  ปี  หมอบอกว่าไตของฉันทำงานไม่ดี  หมอพยายามให้ยาหลายอย่าง  สุดท้ายฉันมีอาการตัวบวม  หอบเหนื่อย  ซีด   คลื่นไส้   อาเจียน  หมอบอกว่าไตฉันเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอีกครั้ง   ต้องฟอกเลือด   เนื่องจากฉันทำงานที่บริษัท  มีสิทธิรักษาโดยกองทุนประกันสังคม    ฉันเลือกรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม  ซึ่งกองทุนประกันสังคมออกเงินให้    ครั้งแรกฟอกเลือดที่โรงพยาบาลจังหวัด   ต่อมาย้ายมาฟอกเลือดที่หน่วยไตเทียมข้างที่ทำงานของฉัน    สัปดาห์ละ3  ครั้ง  ๆละ4 ชั่วโมง  ต้องถูกเข็มแทงที่แขนเอาเลือดออกมาฟอกทุกครั้ง  ฉันสบายดีแต่เสียเวลามานอนฟอกเลือด  ไม่มีเวลาเที่ยวเตร่  ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อชดเชยที่เสียเวลาฟอกเลือด   หมอแนะนำให้ฉันปลูกถ่ายไตอีกครั้ง  พ่ออายุมากเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง    ให้ไตไม่ได้  พี่สาวมีลูกอ่อน    น้องชายอายุ 18 ปี  หมอแนะนำให้ไปลงทะเบียนรอไตบริจาคจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ  สภากาชาดไทย  ฉันรออยู่ 5 ปี   ฉันอายุุ 30  ปี วันหนึ่งหมอเรียกให้ไปรับการปลูกถ่ายไต ซึ่งได้ไตจากผู้บริจาคสมองตาย  กลุ่มเลือดและเนื้อเยื่อเข้ากับฉันได้ดี    การผ่าตัดประสบความสำเร็จไม่มีโรคแทรกซ้อน   ปัสสาวะออกดี  ฉันรับประทานยาหลายชนิดตามแพทย์สั่ง  หลังจากออกจากโรงพยาบาล   ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและรับยาทุก 2 เดือน  ไตทำงานได้ดี   2 ปีต่อมาฉันแต่งงานกับแฟนฉัน   และอีก 1ปี ต่อมาฉันตั้งครรภ์และคลอดลูกเป็นผู้ชาย  น้ำหนัก 2800 กรัม   แข็งแรงทั้งแม่และลูก  ลูกชายฉันน่ารักมาก  เลี้ยงง่าย  ครอบครัวเรามีความสุขมาก  ฉันขอให้ทุกคนที่เป็นโรคไตเหมือนฉัน  จงมีกำลังใจ อดทนรักษาตัวเองตามหมอสั่ง  รับประทานยา  อาหารที่ถูกต้อง 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

หน้าที่ของไต และ 10นิสัยร้ายทำลาย

ไต           ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้าง อยู่ด้านหลังใต้กระดูกชายโครงบั้นเอว ซ้ายขวาข้างละ 1 อัน   หน้าที่ของไต 1.       ขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญอาหาร  2.       รักษาความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย 3.       สร้างสารควบคุมความดันโลหิต 4.       กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด 5.       กำจัดสารพิษ สารเคมี รวมทั้งขับถ่ายยาออกจากร่างกาย   10  นิสัยร้ายทำลาย “ไต” 1.       กลั้นปัสสาวะ Holding Urine 2.       ดื่มน้ำไม่เพียงพอ Do not Drinking Enoungh Water 3.       รับประทานอาหารรสเค็มมากเกินไป Excessive Salt Intake  4.       ไม่รักษาอการติดเชื้อทั่วไปอย่างถูกต้องในทันที Do Not Treat The Intection Immediately 5.       รับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไป Excessive Animal Protein Intake 6.       ใช้ยาฉีดอินซูลิน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน To Long Use Of Insulin 7.       ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป Excessive Alcohl Use 8.       พักผ่อนไม่เพียงพอ Sleep Deprivation 9.       ใช้ยาระงับความเจ็บปวดบ่อย ๆ Painkillers Abuse 10.      รับประทานอาหารไม่เพียงพอ Vitamin and Mineral Deficiency         ด้วยความปรารถนาดี รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

MRI คืออะไร

MRI (Magnetic Resonance Imaging) คือ เครื่องตรวจร่างกายโดยการสร้างภาพเหมือนจริง ของส่วนต่างๆของร่างกาย โดยใช้สนามแม่เหล็กความเข้มสูง และคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ (Radio Frequency) ด้วยการส่งคลื่นความถี่เข้าสู่ร่างกาย และรับคลื่นสะท้อนกลับ นำมาประมวลผลและสร้างเป็นภาพ ด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถให้รายละเอียดและความคมชัดเสมือนการตัดร่างกายออกเป็นแผ่นๆ ทำให้แพทย์สามารถมองจุดที่ผิดปกติในร่างกายคนเราได้อย่างละเอียด โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆต่อผู้รับการตรวจ     ข้อบ่งชี้และข้อดีในการใช้ MRI 1. MRI สามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ชัดเจน ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถทำการตรวจได้ในทุกๆระนาบ ไม่ใช่เฉพาะแนวขวางอย่างเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 2. ใช้ได้ดีกับส่วนที่ไม่ใช่กระดูก (non bony parts) คือเนื้อเยื่อ (soft tissues) โดยเฉพาะ สมอง เส้นประสาทไขสันหลัง และเส้นประสาทในร่างกาย ( CT scan ดูภาพกระดูกได้ดีกว่า ) 3. ใช้ได้ดีกับ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดกระดูกและกล้ามเนื้อ 4.สามารถตรวจเส้นเลือดได้โดย ไม่ต้องเสี่ยงกับการฉีดสารทึบรังสี และการสวนสายยางเพื่อฉีดสี ซึ่งมีประโยชน์ต่อวงการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะมีความปลอดภัยสูงและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ยังสะดวกสบายกว่าเพราะไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆทั้งก่อนและหลังการตรวจ คนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันทีที่ตรวจเสร็จ 5.  ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อเหมือนใน CT scan เพราะไม่ใช้คลื่นรังสี ระบบ หรือ อวัยวะควรได้รับการตรวจ ด้วย MRI 1.MRI of Nervous System ใช้ได้ดีในการตรวจสมอง ไขสันหลังและเส้นประสาทในร่างกาย สามารถมองเห็นรอยโรคได้อย่างชัดเจน เช่น ภาวะสมองขาดเลือดโดยเฉพาะในช่วงแรก และความผิดปกติบริเวณก้านสมอง (สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ดีกว่าการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) โรคเนื้องอกของสมอง และโรคลมชัก  2.MRI  of Musculoskeleton Systemใช้ได้ดีในการตรวจกระดูกสันหลังและระบบกล้ามเนื้อและข้อ ช่วยในการวินิจฉัยรอยโรคต่างๆ เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหรือการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็นบริเวณข้อต่างๆ  ปัจจุบันได้มีการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคของกระดูกและข้อเป็นจำนวนมาก การตรวจ MRI จะเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในโพรงกระดูก หรือไขกระดูกได้อย่างชัดเจน เช่น เนื้องอกภายในกระดูก MRI จะสามารถบอกขอบเขตของโรคได้ถูกต้องแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการรักษา โรคของกระดูกบางอย่างเช่น การขาดเลือดไปเลี้ยงที่หัวของกระดูกต้นขา MRI เป็นการตรวจที่ไวที่สุด สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ แม้ภาพเอ็กซ์เรย์ธรรมดายังปกติอยู่ ข้อที่มีการตรวจ MRI มากที่สุด คือ ข้อเข่า รองลงมา คือ ข้อไหล่ เมื่อสงสัยว่าจะมีการฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกระดูกอ่อนภายในข้อ การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ธรรมดา อาจเห็นเพียงเงาของน้ำในข้อ แต่ MRI จะเห็นส่วนประกอบต่างๆภายในข้อได้อย่างชัดเจน และบอกได้อย่างแม่นยำว่ามีการบาดเจ็บต่อส่วนประกอบเหล่านั ้นอย่างไรบ้าง 3.MRI of Blood Vessels สามารถตรวจหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆได้ดี (Magnetic Resonance Angiography,MRA) เช่น ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองหรือ การตีบตันของหลอดเลือดไต โดยไม่ต้องเจาะใส่สายสวนเพื่อฉีดสี มีความปลอดภัยสูงสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆทั้งก่อนและหลังการตรวจ และสามารถกลับบ้านได้ทันที  4.MRI of Abdomen สามารถตรวจช่องท้อง ท่อทางเดินน้ำดี และถุงน้ำดี (Magnetic Resonance Cholangiopancreatography,MRCP) ซึ่งให้ภาพที่ชัดเจนและเหมาะสำหรับการตรวจหาโรค เช่น นิ่วในทางเดินน้ำดี เนื้องอก หรือมะเร็งในท่อน้ำดีและบริเวณโดยรอบซึ่งทำให้เกิดการอุดตัน ตลอดจนสามารถแยกแยะเนื้องอกในช่องท้องได้ดี ข้อพึงระวังก่อนเข้ารับการตรวจ MRI นับตั้งแต่ที่มีการใช้ MRI ไม่พบ รายงานถึงผลข้างเคียง แต่การใช้ MRI ก็มีข้อควรระวัง ดังนี้     ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่กลัวที่จะอยู่ในที่แคบๆ ไม่สามารถนอนในอุโมงค์ตรวจได้ (claustrophobic) เพราะ MRI มีลักษณะเป็นโพรง     ควรหลีกเลี่ยงในรายที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น         ผู้ที่ผ่าตัดติดคลิปอุดหลอดเลือดในโรคเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurism Clips ) (คลิปรุ่นใหม่มักเป็นรุ่น MRI compatible สามารถตรวจ MRIได้)         metal plates ในคนที่ดามกระดูก         คนที่เปลี่ยนข้อเทียม         คนที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม (Artificial Cardiac valve)         ผู้ที่ผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้เป็นจังหวะ         ผู้ที่ผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมภายในหู         ผู้ป่วยที่ใส่ Stent ที่หลอดเลือดหัวใจต้องสอบถามจากแพทย์ที่ใส่ Stent ว่าเป็น Stent ชนิดใดจะทำ MRI ได้หรือไม่หรือต้องรอกี่สัปดาห์ค่อยทำ ปัจจุบัน Stent ที่หลอดเลือดหัวใจถ้าเป็นรุ่น MRI compatible สามารถทำได้ทันทีไม่มีผลเสียใดๆ     ควรหลีกเลี่ยงในคนที่ เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัด สมอง ตา หรือ หู ซึ่งจะต้องฝัง เครื่องมือทางการแพทย์ไว้ (medical devices)     ใส่เหล็กดัดฟัน ถ้าต้องทำ MRI ตรวจในช่วงบริเวณ สมองถึงกระดูกคอควรต้องถอดเอาเหล็กดัดฟันออกก่อน เพราะจะมีผลต่อความชัดของภาพ     ผู้ที่ รับการตรวจร่างกายด้วย MRI จะต้องนำโลหะต่างๆออกจากตัว เช่น กิ๊ฟหนีบผม ฟันปลอม ต่างหู เครื่องประดับ ATM บัตรเครดิต นาฬิกา thumbdrive Pocket PC ปากกา ไม่เช่นนั้น อาจจะทำให้ สิ่งของได้รับความเสียหาย และอาจถูกฉุดกระชาก นอกจากนี้ยังทำให้ภาพที่อยู่บริเวณโลหะไม่ชัด     ไม่ควรใช้อายชาโดว์ และมาสคาร่า เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดเป็นสิ่งแปลกปลอมในภาพได้     จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่พบว่าการตรวจ MRI มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆไม่ควรตรวจในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์     ห้องตรวจ MRI มีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา มีผลต่อการทำงานของเครื่องมือที่ไวต่อแม่เหล็ก เช่น เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้เป็นจังหวะ ดึงดูดวัตถุที่เป็นโลหะทุกชนิดที่เหนี่ยวนำแม่เหล็ก เช่น เหล็กโลหะอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบของเหล็ก ลบข้อมูลจากเทปแม่เหล็ก การ์ดที่ใช้แถบแม่เหล็ก เช่น ATM , บัตรเครดิต , นาฬิกา , thumbdrive หรือ พวกเครื่อง Pocket PC ขั้นตอนการเข้ารับการตรวจ MRI 1.   หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดเพื่อที่พร้อมสำหรับการตรวจ ผู้รับการตรวจจะได้รับการพาเข้าสู่ห้องตรวจ 2.   ผู้รับการตรวจจะนอนบนเตียงตรวจ และมีการทำเครื่องจับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กมาวางบนร่างกาย โดยน้ำหนักโดยรวมของเครื่องจับสัญญาณนี้ประมาณ 1 กิโลกรัม 3.  ผู้รับการตรวจนอนสบายๆ นิ่งๆ บนเตียงตรวจ และทำตามเสียงที่บอก เช่น ให้หายใจเข้าแล้วกลั้นใจ หรือว่าอย่ากลืนน้ำลาย 4.  ตัวเราจะเคลื่อนไปยังศูนย์กลางของสนามแม่เหล็ก เราอาจจะรู้สึกสั่นสะเทือนและไถลเล็กน้อยระหว่างที่มีการถ่ายภาพ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เครื่อง Pristine ใช้เทคโนโลยีการผลัดเซลล์ผิวที่เรียกว่า Diamond – peel Microdermabrasion โดยใช้ Laser – cut Diamond –tip

Pristine  Diamond – Peel  Microdermabrasion  A  Skincare  Treatment  Like No  Other Pristine by Viora            เครื่อง Pristine ใช้เทคโนโลยีการผลัดเซลล์ผิวที่เรียกว่า Diamond – peel Microdermabrasion โดยใช้ Laser – cut Diamond –tip ร่วมกับการใช้ระบบดูดแบบสูญญากาศ (Vacuum) ทำให้สามารถผลัดเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้าและสิ่งอุดตันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและนุ่มนวลกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจน (Collagen) อีลาสติน (Elastin) อีกทั้งยังกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด หลังเข้ารับการรักษาเพียงครั้งแรกสัมผัสได้ถึงผิวที่สดชื่น สะอาด และดูอ่อนเยาว์  • ช่วยรักษาเรื่องใดบ้าง                       - Exfoliation ผลัดเซลล์ผิว                       - Fine lines ลดเลือนริ้วรอยเล็กๆ                       - Acne scars หลุมสิว                       - Sunspots รอยหมองคล้ำ                       - Uneven skin texture  ผิวไม่เรียบเนียน • การทำงานของเครื่อง ใช้เทคโนโลยีอะไร             Diamond – peel Microdermabrasion โดยเครื่อง Pristine เป็นกระบวนการผลัดเซลล์ผิวที่มีความปลอดภัยไม่มีบาดแผลขัดผิวอย่างนุ่มนวล กระตุ้นการสร้างผิวใหม่ โดยใช้หัวทิปชนิดพิเศษที่เรียกว่า Laser – cut Diamond –tip มีให้เลือกใช้ถึง 10 แบบ ทำงานประสานกันกับระบบดูดแบบสูญญากาศ (Vacuum) โดยสามารถเลือกหัว Diamond –tip และระดับแรงดูดสูญญากาศให้เหมาะสมกับสภาพผิวของผู้เข้ารับการรักษา • ผู้ที่เหมาะสมต่อการเข้ารับการรักษา            เครื่อง Pristine สามารถให้การรักษาได้อย่างปลอดภัยในทุกสภาพผิว  งดเว้นในผู้ที่มีอาการผิวแห้ง ลอก หรือมีการอักเสบของผิว • บริเวณที่ทำการรักษาได้           เครื่อง Pristine มี Diamond Tips หลากหลายขนาดให้เลือกใช้สามารถทำการรักษาได้ครอบคลุม อีกทั้งสามารถทำการรักษาได้ในผู้ที่มีผิวบอบบาง ผิวแพ้ง่าย ผิวไม่เรียบเนียน หรือบริเวณที่เข้าถึงยาก เช่น รอบดวงตา เป็นต้น • ต้องเข้ารับการรักษาบ่อยแค่ไหน            สามารถเห็นผลการรักษาได้ทันทีหลังการรักษาในครั้งแรกแนะนำให้ทำการรักษา 6 – 8 ครั้ง ห่างกันทุก 2 สัปดาห์ • ความรู้สึกระหว่างรับการรักษาด้วยเครื่อง Pristine            ขณะทำการรักษารู้สึกได้ถึงแรงดูดสูญญากาศที่เคลื่อนบนผิวอย่างนุ่มนวล ไม่เจ็บ ระยะเวลาในการทำการรักษาขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ทำการรักษา หากทำการรักษาทั่วหน้าใช้ระยะเวลาประมาณ 10 – 15 นาที • การรักษาด้วยเครื่อง Pristine มีความปลอดภัยหรือไม่           เครื่อง Pristine มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ไม่เจ็บ ไม่มี Downtime  คุณสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ารับการรักษาด้วยเครื่อง Pristine • การดูแลหลังรับการรักษาด้วยเครื่อง Pristine           หลังทำการรักษาจะเห็นผิวบริเวณที่ทำการรักษามีสีชมพูระเรื่อผิวหน้าอาจแห้งลง 1 – 2 วัน ควรเน้นทาครีมที่ให้ความชุ่มชื้นและครีมกันแดดหลังทำการรักษา                            ศูนย์ผิวหนังและเลเซอร์ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Cardiac Catheterization Laboratory (ห้องสวนหัวใจ)

  เป็นหัตถการของศูนย์หัวใจซึ่งการตรวจในห้องสวนหัวใจ ส่วนใหญ่ไม่ต้องดมยาสลบ  อุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วย เช่น สายสวน บอลลูน หรือขดลวด มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับไส้ดินสอหรือไส้ปากกาหมึกแห้ง ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใช้วิธีการฉีดยาชาและสอดสายสวนแก้ไขและไม่ต้องกังวลต่อการเกิดแผล เป็นหัตถการส่วนใหญ่ในห้องสวนหัวใจ ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ถ้าผู้ป่วยมาเพื่อการวินิจฉัยโรค จะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 1 คืน สำหรับผู้ป่วยที่มารับการซ่อมแซมหลอดเลือด หรือใส่อุปกรณ์เพื่อการรักษา จะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-3 คืน แพทย์จะให้คำปรึกษาและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยซักถามอย่างละเอียด รวมถึงความเสี่ยงและทางเลือก ก่อนการทำหัตถการทุกครั้ง การบริการห้องสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Laboratory) ได้แก่ 1.การฉีดสีตรวจวินิจฉัยและการรักษาซ่อมแซมหลอดเลือดทุกตำแหน่งโดยใช้บอลลูน ขดลวด การขยายหลอดเลือด การดูดลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือด ตัวอย่าง  หลอดเลือดที่สามารถซ่อมแซมได้ด้วยวิธีเหล่านี้ คือ             -หลอดเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน             -หลอดเลือดสมอง (Carotid Artery หรือ Vertebral Artery) ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต             -หลอดเลือดไต ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หรือไตเสื่อม จากหลอดเลือดไตตีบ             -หลอดเลือดแขน ขาที่มีโรคหลอดเลือด เช่น ในผู้ป่วยที่ปวดขาเวลาเดิน หรือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีแผลเรื้อรัง   2.การตรวจและรักษาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ได้แก่             -การสร้างแผนภูมิของสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจระบบ 3 มิติ (Advance 3-D Mapping System)             -การจี้แก้ไขบริเวณที่เต้นผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุ (Rediofrequency Ablation)             -การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ(Pacemaker)             -การฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ(Implantable Cardioverter Defibrillator)             -การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจสองห้องในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว(Cardiac Resynchronization Therapy)    ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง คืออะไร

 เครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง คืออะไร               เป็นเครื่องมือสำหรับการตรวจทางรังสีวินิจฉัยหลอดเลือด (Angiography) ถือเป็นหัตถการทางรังสีวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานในการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือด ซึ่งให้ความถูกต้องและแม่นยำมากกว่าการตรวจหลอดเลือดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นหัตถการอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและทางรังสีในการวินิจฉัยและรักษา รวมทั้งในผู้ป่วยบางรายที่พบรอยโรคและไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด หรือมีความเสี่ยงสูงหากทำการผ่าตัด                                                           การรักษาด้วยหัตถการทางรังสีร่วมรักษา(Intervention) ซึ่งเป็นหัตถการต่อยอดของทางรังสีวิทยาหลอดเลือดจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคเหล่านั้น โดยทางรังสีร่วมรักษามีชนิดของหัตถการจำนวนมาก ซึ่งมีข้อดีคือทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย และการพักฟื้นหลังหัตถการน้อย บางหัตถการทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านในวันเดียวได้              อาการที่มีความเสี่ยงของโรคหัวใจ      1.ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในส่วนของหัวใจที่ต่างกัน ทำให้โรคหัวใจมีอาการต่างกันไปในแต่ละชนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ  มักเจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง อาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติได้     2.โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ  อาการผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจ อาจเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้รู้สึกใจสั่นเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมได้เช่นกัน   3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจ เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อาการจะมากขึ้นเมื่อต้องออกแรงหนัก ๆ หากรุนแรงมากขึ้นจะเหนื่อยแม้ขณะนั่งอยู่เฉย ๆ มีอาการบวมตามแขน ขา หนังตา ร่วมกับอ่อนเพลีย นอนราบไม่ได้ และตื่นขึ้นมาไอในเวลากลางคืน        4. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด  เกิดขึ้นเมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา อาจแสดงอาการทันทีเมื่อแรกคลอด หรือภายหลัง เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน กลุ่มที่มีอาการมากจะทำให้เลี้ยงไม่โต  ในทารกมีอาการเหนื่อยขณะให้นมหรือติดเชื้อทางเดินหายใจบ่อย ๆ เป็นต้น       5.โรคลิ้นหัวใจ อาการขึ้นอยู่กับความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดขึ้น อาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจได้ยินเสียงผิดปกติจากการตรวจร่างกายเท่านั้น แต่หากมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจมากก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจวายหรือน้ำท่วมปอดได้     6.โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ  มักจะเป็นไข้เรื้อรัง  อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย ไอเรื้อรังแห้ง ๆ ขาหรือช่องท้องบวม รวมถึงมีผื่นหรือจุดขึ้นตามผิวหนัง      นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหลอดเลือดสมองและทำการรักษาทางรังสี แก้ไขปัญหาที่เกิดจากหลอดเลือดสมอง   อาการที่ผิดปกติและเป็นสัญญาณเตือนว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ 1.         แขน ขา อ่อนแรงครึ่งตัว (Hemiparesis) 2.         แขน ขา ชาครึ่งซีก (Hemianesthesia) 3.         พูดไม่ชัดลิ้นแข็ง (Dysarthria) 4.         พูดไม่ออกฟังไม่เข้าใจ (Aphasia) 5.         ลานสายตาผิดปกติครึ่งซีก (Homonymous  Hemianopsia) 6.         มองเห็นภาพซ้อน (Binocular Diplopia) 7.         เดินเซ (Ataxia or Incoordination) 8.         ซึมลง (Impaired Consciousness) 9.         เวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo)   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี โทร 02-561-1111 ต่อ 1322,1323

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<