การทำงานของดวงตา

การทำงานของดวงตา การทำงานของดวงตา           การที่คนเราจะมองเห็นชัดได้เกิดจากการที่แสงผ่านกระจกตาเลนส์แก้วตาแล้วหักเห ตกลงที่จอประสาทตาพอดี ถ้ามีอะไรก็ตามที่ทำให้แสงหักเหไม่ตกลงจอประสาทตาพอดี ก็ทำให้มองไม่ชัดเจนได้ เรียกว่ามีสายตาผิดปกติ (Refractive error)     สายตาปกติ    การมีสายตาผิดปกติแบ่งได้เป็น  สายตาสั้น Myopia แสงเข้าตาแล้วตกลงก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองไกลไม่ชัด     สายตาสั้น      สายตายาวแต่กำเนิด Hyperopia แสงเข้าตาแล้วตกเลยจอประสาทตา ทำให้มองเห็นชัดแต่ที่ไกลๆ   สายตายาว      สายตาเอียง Astigmatism แสงเข้าตาแล้วโฟกัสแต่ละระนาบคนละจุดกัน ทำให้มองทั้งไกลและใกล้ไม่ชัด   สายตาเอียง      สายตายาวสูงอายุ Presbyopia จริงๆแล้วภาษาไทยใช้คำนี้ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากกรณีนี้เกิดจาก การที่เลนส์แก้วตาแข็งขึ้นตามวัยและกล้มเนื้อตาที่ใช้เพ่งในการมองใกล้ล้าลง ทำให้ไม่สามารถมองใกล้ได้ดี  การแก้ไขสายตาผิดปกติ ใช้หลักการที่แก้ไขวิธีการรวมแสงให้แสงตกลงจอประสาทตาพอดีจึงจะมองเห็นชัดขึ้น   แว่นตา เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ปลอดภัยที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ที่มีสายตาผิดปกติมองชัดขึ้น แต่บางท่านมีข้อจำกัดที่ไม่สะดวกกับการใช้แว่นตา เช่น ผู้ที่มีสายตาสองข้างแตกต่างกันมากเกินไป ผู้ที่ชอบเล่นกีฬา หรือผู้ที่ประกอบอาชีพบางอย่างที่ไม่เหมาะกับการใช้แว่น คอนแทคเลนส์ ในปัจจุบันนี้ได้มีการออกแบบคอนแทคเลนส์ที่ใส่สบาย มีความคมชัดและคุณภาพดี ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ไม่ชอบใส่แว่นได้ แต่อย่างไรก็ดีการใช้คอนแทคเลนส์ต้องอาศัยการดูแลทำความสะอาดที่เหมาะสม ต้องเสียเวลาในการใส่ ถอดและล้าง นอกจากนี้บางท่านมีปัญหาจากการใช้คอนแทคเลนส์ เช่น ตาอักเสบ กระจกตาติดเชื้อ อีกทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายของตัวเลนส์น้ำยาต่างๆเอง ซึ่งถ้าคิดถึงระยะยาวแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ค่อนข้างสูงทีเดียว การผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกต ิ(Refractive Surgery) จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของท่าน การใช้แสงเลเซอร์แก้ไขสายตาผิดปกติด้วย LASIK สายตาสั้น ยาว เอียง สามารถแก้ไขได้โดย LASIK โดยอาศัยหลักการที่ไปปรับแต่งความโค้งของกระจกตาให้แสงตกกระทบแล้วโฟกัสลงจอประสาทตาพอดี เช่นสายตาสั้นที่มีกระจกตาโค้งนูนเกินไป ก็ทำให้แบนลง สายตายาวที่มีกระจกตาแบนเกินไปก็ทำให้นูนขึ้น สายตาเอียงที่มีกระจกตาเบี้ยวก็ทำให้หายเบี้ยว ส่วนสายตายาวสูงอายุอาจไม่สามารถแก้ได้โดยตรงด้วย LASIK แต่ LASIK ก็สามารถช่วยได้บ้างโดยทำให้ตานั้นมองใกล้ได้ดีขึ้นบ้าง  Basic Principle of Excimer Laser Excimer Laser เป็นแสงย่าน UV ( 193 nanometre ) โดยมีแหล่งกำนิดแสงจาก Gas Argon Fluoride แสงนี้มีความแม่นยำมากอยู่ในย่าน Micron (ดูรูปประกอบใน Basic LASIK.ppt เป็นรูปเส้นผมที่ใช้ Excimer Laser แกะสลักเป็นตัวอักษร) Excimer Laser มีวิวัฒนาการจากรุ่นแรกๆมาสู่รุ่นปัจจุบันดังนี้ First Generation: Broad Beam Laser เป็นการใช้แสงลำใหญ่ยิงลงไปทีเดียวเลย แต่พบว่ามีปํญหาความสม่ำเสมอของพลังงานในเนื้อแสง และถ้ายิงเบี้ยวไปก็จะเบี้ยว ( Decenter )ไปทั้งพื้นที่ใหญ่นั้นเลย จึงพัฒนาเป็น….. Second Generation: Slit Scanning Beam Laser ซึ่งมีขนาดลำแสงเล็กลง แต่ก็ยังไม่ละเอียดพอจึงปรับปรุงเป็น… Third Generation: Free Flying Spot Scanning Laser ซึ่งลำแสงมีขนาดเล็กลงได้ประมาณ 0.8-2.0 mm การที่ Spot size เล็กลงทำให้การควบคุมพลังงานได้ Homogenous มากขึ้น ยิงแบบ Random ทำให้ความผิดพลาดที่จะเกิด Decentration ลดลง Fourth Generation เราเริ่มจะได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น ไม่มีใครให้คำนิยามที่แน่นอนแต่โดยรวมหมายถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า…………. Wavefront System ( Customized or Wavefront guided LASIK )   ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูล http://www.wavefrontthai.com/

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะหัวใจล้มเหลว ➤ รู้ทัน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา 【อัพเดตล่าสุด 2565】

โรคหัวใจล้มเหลวคืออะไร ภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ  ของร่างกายได้เพียงพอ หรืออาจหมายถึงภาวะที่หัวใจไม่สามารถคลายตัวหรือขยายตัวเพื่อรองรับเลือดได้ปกติ ทำให้เกิดความดันเลือดในช่องปอดมากขึ้น เกิดการคลั่งของเลือดในปอดมากขึ้น ทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายและอาจก่อให้เกิดอาการบวมของร่างกาย สาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจรูมาติก หรือลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจเป็นแต่กำเนิด โรคโลหิตจาง การดื่มเหล้ามาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคติดเชื้อไวรัส ได้รับยาเคมีบำบัด หรือได้รับการฉายแสง ได้รับสารพิษบางชนิด โรคการนอนหลับบางชนิด ภาวะที่เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้มีอาการของโรคหัวใจล้มเหลวมากขึ้น เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูง การติดเชื้อบางชนิด เช่น การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ภาวะที่หัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ภาวะได้รับน้ำมากเกินความต้องการ การขาดการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารเค็มเกินไป รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด ยากลุ่มสเตียร์รอยด์ เป็นต้น อาการของโรคหัวใจล้มเหลว อาการเหนื่อยง่าย อาจเป็นได้ในขณะพัก หรือเวลาออกแรง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก นอนราบไม่ได้เวลากลางคืน อาจต้องลุกขึ้นมาเพื่อช่วยหายใจ ไอ ใจสั่น บวมที่ขา หรือในช่องท้องจนทำให้ตับและม้ามโตได้ ถ้าเป็นนานๆ อาจอ่อนเพลียไม่มีแรงผอมลงได้ การตรวจวินิจฉัย ซักประวัติ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่อาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรค และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ การตรวจพิเศษ    1. การตรวจเอกซ์เรย์ปอด ดูว่าเงาหัวใจโตหรือไม่ และดูว่าปริมาณของสารน้ำหรือเลือดคั่งในช่องปอดหรือไม่    2. การตรวจกราฟหัวใจ เพื่อดูว่ามีการบ่งชี้ถึงหัวใจโต หรือสงสัยว่ามีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ และมีลักษณะที่บ่งชี้ว่าหัวใจโต มีหัวใจเต้นเร็วหรือช้าผิดจังหวะหรือไม่    3. การตรวจด้วย ครื่องเสียงสะท้อนคลื่นความถี่หัวใจ (Echocardiography) ดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีการบีบตัว หรือคลายตัวปกติหรือไม่ มีโรคลิ้นหัวใจพิการ รวมทั้งเยื่อหุ้มหัวใจว่าปกติหรือไม่    4. การเจาะเลือด เพื่อดูระดับของเกลือแร่บางชนิดในเลือด การทำงานของไต ไทรอยด์ หรือฮอร์โมนบางชนิด ปริมาณเม็ดเลือดแดง ระดับของ BNP หรือ NT pro BNP (Brain Natriuretic Peptides) ซึ่งพบว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถใช้วินิจฉัย และใช้ติดตามการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การรักษา 1) การรักษาทั่วไป การควบคุมรักษา ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว การให้การศึกษา เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเองหลังจากกลับจากโรงพยาบาล ควบคุมการดื่มน้ำ ไม่ควรเกิน 1.5 ลิตรต่อวัน  อาหารเค็ม จำกัดเกลือ ไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน (ประมาณครึ่งช้อนชา) การชั่งน้ำหนักทุกวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อดูว่ามีภาวะน้ำในร่างกายเกินหรือไม่ถ้าหากน้ำหนักเกินมากกว่า 2 กิโลกรัม ภายใน 3 วัน อาจพิจารณาใช้ยาขับปัสสาวะเอง หรือมาพบแพทย์ การควบคุมน้ำหนัก ถ้าอ้วนเกินไปควรลดน้ำหนักตัวลง แต่ถ้าหากผอมเกินไปอาจหมายถึง การขาดสารอาหาร หรือ ภาวะหัวใจวายรุนแรงและเรื้อรังได้ การออกกำลังกาย โดยมีโปรแกรมการออกกำลังกายตามความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เช่น การยกน้ำหนัก หรือ การเล่นยกเวท ระมัดระวังไม่ให้เป็นหวัด ติดเชื้อง่าย งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ควบคุมอาหารไขมัน การมีเพศสัมพันธ์ ถ้าขึ้นบันได 1 ชั้นโดยไม่เหนื่อย ก็อาจมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ การเดินทางควรระมัดระวัง ไม่ควรไปในสถานที่สูง อากาศเบาบาง อากาศที่ร้อนชื้นเกินไป 2) การรักษาโดยการใช้ยา ยากลุ่มอื่นๆที่เป็นยาใหม่ หรือยาที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินและเฉียบพลัน ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ 3) การรักษาโดยใช้เครื่องมือพิเศษ  การฝังเครื่องช็อคหัวใจ (Implantable Cardioverter Defribrillators,ICD) เป็นเครื่องมือที่ใช้ฝังเข้าไปที่ตัวผู้ป่วยเพื่อทำการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งมักจะพบได้ในภาวะหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง โดยเครื่องจะวินิจฉัยลักษณะการเต้นของหัวใจและทำการช็อคไปเองโดยอัตโนมัติ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้ การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ CRT ( Cardiac Resynchronization Therapy) เป็นเครื่องที่ฝังเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวที่เป็นรุนแรง ที่มีลักษณะการนำไฟฟ้าผิดปกติ ทำให้การบีบตัวของหัวใจไม่สัมพันธ์กัน เพื่อทำให้มีการนำไฟฟ้าหัวใจที่ดีขึ้น เป็นผลทำให้หัวใจทำงานบีบตัวได้ดีขึ้น สามารถทำให้อาการผู้ป่วยดีขึ้นได้ นอนโรงพยาบาลน้อยลง และลดอัตราการเสียเสียชีวิตได้ อุปกรณ์ชนิดนี้อาจมีการเสริมหน้าที่เป็นแบบ ช็อคไฟฟ้าหัวใจได้ ตามข้อ 3.1 ด้วย เรียกว่า CRT-Defribrillator 4) การรักษาโดยการผ่าตัด  การรักษาโดยการผ่าตัด คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ( Cardiac Tranplantation ) ใช้ในกรณีที่ไม่มีทางรักษาโดยวิธีข้างต้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

HPV Vaccine วัคซีนสำหรับคุณผู้หญิง ป้องกันมะเร็งปากมดลูก

เนื่องจากสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ oncogenic HPV ที่ปากมดลูก เชื้อ HPV สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมากที่สุดคือ เชื้อ HPV 16 และ HPV 18 ซึ่งเป็นสาเหตุประมาณร้อยละ 70 การฉีด HPV vaccine เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ HPV เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV ได้ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ HPV Vaccine ผลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ HPV 16/18 vaccine พบว่า HPV 16/18 vaccine มี - ศักยภาพสูงในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง ประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV 16/18 แบบเนิ่นนาน (persistent) และการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 ช่วงอายุที่แนะนำให้ฉีด HPV Vaccine ประสิทธิภาพของ HPV vaccine จะสูงที่สุดในสตรีที่ยังไม่ติดเชื้อ HPV ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนก่อนถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคที่จะเกิดตามมา ในปัจจุบัน HPV vaccine มีความปลอดภัย มีศักยภาพการกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูง และมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรคของอวัยวะเพศสตรี ในสตรีช่วงอายุ 9-26 ปี ส่วนสตรีที่มีอายุมากกว่า 26 ปี ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV และรอยโรค สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นซ้ำ (booster) ยังไม่มีข้อมูลว่าควรฉีดเมื่อไร ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันพบว่าระดับ antibody ยังคงป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานอย่างน้อย 5 ปี การฉีด HPV Vaccine การฉีด HPV vaccine ให้ฉีด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อจำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 : ฉีดในวันที่กำหนดเลือก ครั้งที่ 2 : ฉีดในเดือนที่ 1-2 หลังจากการฉีดครั้งแรก ครั้งที่ 3 : ฉีดในเดือนที่ 6 หลังจากการฉีดครั้งแรก ข้อบ่งชี้ในการฉีด HPV Vaccine เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับวัคซีนที่ฉีด เพื่อป้องกันรอยโรคและมะเร็งอวัยวะเพศสตรีที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์เดียวกับ วัคซีนที่ฉีด ข้อบ่งห้ามของการฉีด HPV Vaccine ผู้ที่มีภาวะ hypersensitivity ต่อสารประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์ และ adjuvants ชนิดต่าง ๆ ผู้ที่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเคยมีภาวะ hypersensitivity หลังจากการฉีด HPV vaccine ครั้งแรก คำแนะนำที่ควรแจ้งให้ทราบก่อนการฉีด HPV Vaccine ควรอธิบายให้ผู้รับการฉีดวัคซีนเข้าใจดังนี้ การฉีด HPV vaccine ไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ การฉีด HPV vaccine อาจจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV รอยโรคก่อนมะเร็ง และมะเร็งปากมดลูกได้ทุกราย การฉีด HPV vaccine ไม่สามารถใช้ป้องกันผล Pap smear ผิดปกติ และไม่สามารถใช้รักษารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกได้ การฉีด HPV 16/18 vaccine ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือรอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นนอกจาก HPV 16/18 ได้ การฉีด HPV vaccine ไม่ได้ป้องกันโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นนอกจากเชื้อ HPV เช่น ตกขาวหรือกามโรค ฯลฯ การฉีด HPV vaccine ในสตรีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ระดับของ antibody อาจจะต่ำกว่าในสตรีทั่วไป หลังจากฉีด HPV vaccine แล้ว ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์แบบสำส่อน ควรมีเพศสัมพันธ์เชิงป้องกันการติดเชื้อ HPV ด้วย  ควรฉีดวัคซีนให้ครบ 3 ครั้ง ผลข้างเคียงของการฉีด HPV Vaccine โดยทั่วไปการฉีด HPV vaccine มีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้แก่ 1. อาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดวัคซีน เช่น ปวด บวม แดง และคัน ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เป็นอยู่ชั่วคราวและหายไปเอง 2. อาการทั่วไป เช่น ไข้ พบประมาณร้อยละ 10 ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และผื่นคันตามตัว อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและหายไปได้เอง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อนและหลังการฉีด HPV Vaccine การทำ Pap smear ก่อนการฉีดวัคซีนขึ้นกับประวัติการมีเพศสัมพันธ์และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1. ถ้ายังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องทำ Pap smear ก่อนการฉีดวัคซีน 2. ถ้าเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว      2.1 ถ้าไม่เคยทำ Pap smear มาก่อนหรือทำไม่สม่ำเสมอ แนะนำให้ทำ Pap smear เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อน            - ถ้าผลปกติ สามารถฉีดวัคซีนได้ และควรมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตามคำแนะนำของแพทย์            - ถ้าผลผิดปกติ ให้ดูแลรักษาตามมาตรฐาน ถ้าหายแล้วอาจให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีด HPV vaccine ให้สตรีพิจารณา     2.2 ถ้าเคยทำ Pap smear มาแล้วอย่างสม่ำเสมอและผลปกติทุกครั้ง สามารถฉีดวัคซีนได้           หลังฉีด HPV 16/18 vaccine แล้ว ควรมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70 เท่านั้น การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV Vaccine ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ HPV (HPV test) ก่อนการฉีด HPV vaccine เนื่องจากการตรวจหาเชื้อ HPV ไม่สามารถระบุได้ว่าเคยมีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ถ้าผลการตรวจให้ผลบวกก็บอกได้เพียงว่า มีการติดเชื้อ HPV อยู่ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น การตรวจหา antibody ต่อเชื้อ HPV ยังไม่สามารถกระทำได้ในทางปฏิบัติ จึงไม่แนะนำให้ตรวจ การตรวจหาเชื้อ HPV ก่อนการฉีด HPV vaccine จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนสูงขึ้นมาก ทำให้การฉีดวัคซีนไม่คุ้มทุน สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว สามารถฉีด HPV vaccine ได้ สตรีที่มีผล Pap smear ผิดปกติหรือ HPV test ให้ผลบวก ควรได้รับการดูแลตามมาตรฐาน และสามารถฉีดวัคซีนได้ แต่ควรให้คำแนะนำว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงถ้าเคยติดเชื้อ HPV มาก่อน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องมารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอด้วย สตรีที่เคยเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกมาก่อน สตรีที่เคยเป็น CIN มาก่อน ถ้าได้รับการรักษาแล้วสามารถฉีด HPV vaccine ได้ แต่ต้องมารับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด และต้องเน้นย้ำว่าถ้าสตรีมีการติดเชื้อ HPV 16/18 แล้ว การฉีด HPV 16/18 vaccine ไม่ได้มีผลในเชิงรักษาและอาจจะได้ประโยชน์น้อยในการป้องกันการติดเชื้อ HPV 16/18 และรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18  สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนม HPV vaccine จัดอยู่ใน category B ไม่แนะนำให้ฉีดในสตรีตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าจะไม่มีรายงานการก่อทารกพิการในสัตว์ทดลอง ถ้าตั้งครรภ์ในขณะที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 3 ครั้ง ให้ฉีดเข็มถัดไปจนครบในระยะหลังคลอด ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่า antigens ของ HPV vaccine และ antibodies ที่ร่างกายสร้างขึ้นออกมากับน้ำนมหรือไม่ แต่เนื่องจาก HPV vaccine ประกอบด้วย virus-like particles ของเชื้อ HPV ซึ่งไม่ก่อการติดเชื้อ (noninfectious) จึงไม่มีผลกระทบในด้านความปลอดภัยต่อทั้งมารดาและทารก  สตรีที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การมีภูมิคุ้มกันต่ำไม่ได้เป็นข้อบ่งห้ามของการฉีด HPV vaccine แต่การตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันอาจจะน้อยกว่าสตรีที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ชมรมคอลโปสโคปีและพยาธิสภาพปากมดลูกแห่งประเทศไทย (TSCCP) บทความที่เกี่ยวข้อง 10 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีนเอชพีวี เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไขข้อข้องใจทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก?

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วัณโรคดื้อยา

วัณโรคดื้อยา           อ่านบทความจาก สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับวัณโรคดื้อยา ได้ที่นี่ค่ะ วัณโรคดื้อยา           วัณโรคดื้อยาในประเทศไทยเป็นปัญหาที่พบมายาวนานตั้งแต่เริ่มมีโครงการควบคุมวัณโรคมาเกือบ 50 ปี เนื่องจากประเทศไทยเราควบคุมวัณโรคไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ผู้ป่วยขาดยาบ่อยครั้งและเกิดการดื้อยาขึ้น ในอดีตก่อนปี 2528 ซึ่งเริ่มมีการใช้ระบบยาระยะสั้น 6 เดือน ในการรักษา ผู้ป่วยวัณโรค ปัญหาของวัณโรคดื้อยายังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงและการดื้อยาจะพบเพียงการดื้อต่อยา isoniazid และ streptomysin เป็นหลักเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยยังรักษาให้หายขาดโดยใช้สูตรยาที่มี rifampicin ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สถานการณ์วัณโรคดื้อยายังคงมีอยู่หลังจากเริ่มมีการใช้สูตรยาระยะสั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีรายงานถึงการดื้อยาชนิดใหม่ของวัณโรคคือ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (multidrug resistance tuberculosis, MDR-TB) ที่สูงในหลายๆสถานพยาบาล ซึ่งสาเหตุหลักของ MDR-TB เกิดจากการใช้ระบบยาระยะสั้นตามยุทธศาสตร์ DOTS ยังไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาของ MDR-TB มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและซับซ้อนเพราะระบบยาสำรองมีน้อย และบางครั้งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่มีระบบกำกับการกินยาที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยวัณโรคเองควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้อย่างดี           คำนิยามที่เกี่ยวข้อง                 Primary drug resistance หมายถึง การดื้อยาในผู้ป่วยที่ไม่เคยรักษามาก่อน, Acuquired drug resistance หมายถึงการดื้อยาในู้ป่วยที่เคยรับการรักษามาก่อนหรือกำลังรักษา, MDR-TB คือ การดื้อยาวัณโรคอย่างน้อย 2 ขนาน ที่สำคัญที่สุดคือ INH และ Rifam โดยอาจจะดื้อยาชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้, DOTS-Plus for MDR-TB คือการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคเพื่อแก้ไขและลดปัญหา MDR-TB ด้วยการใช้ 2 linedrug (Cat4)ภายใต้ระบบ DOTS ที่มีอยู่เดิมเป็นหลักโดยมีการใช้ผลการทดสอบความไวของยาประกอบการพิจารณา                 ใครบ้างที่น่าจะเป็น MDR-TB ?? หลักการค้นหาผู้ป่วยที่สงสัย MDR-TB การพิจารณาตัดสินใจว่าวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือไม่ มีความสำคัญ  ผู้ป่วยที่มีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนานได้แก่            ผู้ป่วยที่มีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนาน ก่อนการรักษา ได้แก่ 1.ผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วย , ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย MDR-TB รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ 2. กลุ่มอื่น ๆ เช่นผู้ป่วยตามแนวชายแดน ผู้ป่วยเรือนจำ ผู้ป่วยมีโอกาสดื้อยาวัณโรคหลายขนานระหว่างการรักษา ได้แก่           1.กำลังรักษา cat 1 แล้วอาการไม่ดีขึ้นร่วมกับเสมหะไม่เป็นลบเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 2 และหลังจากให้การรักษาด้วยยา 4 ชนิดต่ออีก 1 เดือน เสมหะยังเป็นบวกอยู่           2.กำลังรักษา cat 1 แล้วผลการรักษาเป็นล้มเหลว และแพทย์ผู้รักษามั่นใจว่าผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอ โดยเฉพาะได้รับการรักษาโดยวิธี DOTS กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็น MDR-TB  กำลังรักษาด้วย cat2 และผลเสมหะไม่เปลี่ยนเป็นลบ เมื่อสิ้นสุดการรักษาเดือนที่ 3  กำลังรักษาด้วย cat2 และผลเสมหะไม่เปลี่ยนเป็นลบ เมื่อสิ้นสุดการรักษาเดือนที่ 5 TAD ที่กลับมาแล้วผลเสมหะยังบวก        การวินิจฉัย MDR-TB ในการวินิจฉัยจำเป็นอย่ายิ่งที่จะต้องมีผลการตรวจเสมหะหรือสิ่งสงตรวจที่บ่งว่ามีการดื้อยา เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย มีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้ 1) การส่ง Specimen ควรหยุดยาวัณโรคก่อนส่งสิ่งสงตรวจเพื่อทดสอบความไวของยา (drug susceptibility test DST) 2 วัน 2) ส่งสิ่งสงตรวจ จาก ร.พ. ไปทำการเพาะเชื้อวัณโรค ที่ รพท. หรือสำนักงานป้องกันควบคุมโรค เพื่อทดสอบความไวของยา 2 วัน 3)การตอบผล สคร 7 จะแจ้งผลทาง website        การให้การดูแลรักษเบื้องต้นระหว่างรอ DST ในกรณีที่สงสัยว่ามีการดื้อยาวัณโรคหลายขนานเกิดขึ้น ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีโอกาสที่จะมีการดื้อยาวัณโรคหลายขนาน ควรปฏิบัติดังนี้ 1.ส่งเสมหะเพาะเชื้อเพื่อทำ DST  2.ระหว่างรอผลเพื่อทดสอบความไวของยา (drug susceptibility test DST) ควรมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้    2.1 กรณีที่กำลังรักษาด้วยระบบยา cat1 และผลการรักษาเป็น Failure มีแนวทางปฏิบัติ 2 ทางเลือกดังนี้       2.1.1 พิจารณาเปลี่ยนระบบยาเป็นระบบยาแนวที่ 2 ได้เลยคือ จะให้การรักษาด้วยระบบยา empiric cat4(1) (หัวข้อ 6.1)        2.1.2 ให้การรักษาด้วยระบบยา cat1 ซึ่งกำลังได้รับอยู่ขณะนั้น (H และ R) ไปก่อนและรอผล DST กรณีที่พบว่ามีการล้มเหลวจากการรักษาด้วยระบบยา cat1 และแน่ใจว่าผู้ป่วยรับประทานยาสม่ำเสมอด้วยระบบ DOT ที่มีคุณภาพไม่ควรเปลี่ยมมาใช้ระบบ cat 2 เนื่องจากผลการรักษาหายขาดต่ำ แนวทางในการพิจารณาเลือกว่าจะปฏิบัติ ตามข้อ 2.1.1 หรือ 2.1.2 สามารถใช้เกณฑ์ 5 ข้อ เพื่อพิจารณาโอกาสเกิดการดื้อยาวัณโรคหลายขนานดังนี้ 1.การตอบสนองทางคลีนิค (อาการไอ ไข้ การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว) 2.ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเสมหะระหว่างการรักษา (Fall and rise) 3.ประวัติการได้รับ DOT ในการรักษาครั้งก่อน 4.ภาพรังสีปอด ณ วันที่วินิจฉัยว่ามีการล้มเหลวจากการรักษาด้วยระบบยา Cat 1 5.การมีประวัติปัจจัยเสี่ยงต่อการดื้อยาหลายขนานก่อนการรักษา       2.2 กรณีกำลังรักษาด้วยระบบยา cat2 และผลการรักษาเป็น failure ระหว่างรอผล DST มีแนวทางปฏิบัติ 2 ทางเลือกคือ พิจารณาเปลี่ยนระบบยาเป็นระบบยาแนวที่ 2 ได้เลย คือจะให้การรักษาด้วยระบบยา empiric Cat4(2)(หัวข้อ 6.2) ให้ยาระบบยา cat2 (H R และ E) ไปก่อนและรอผล DST ทั้งนี้แนวทางการพิจารณา      2.3 กรณีอื่น ๆ นอกจากข้อ 2.1 และ 2.2 ควรให้ระบบยาเดิมที่ผู้ป่วยกำลังรักษาไปก่อนและรอผล DST  3.เมื่อได้รับผล DST กลับมาแล้วมีแนวทางการนำผล DST มาประกอบการปรับเปลี่ยนระบบยาดังนี้     3.1กรณีข้อ 2.1 และ 2.2 ถ้าการรักษาระหว่างรอผล DST ยังคงใช้ระบบยาเดิมอยู่ให้ปรับเปลี่ยนระบบยาตามผล DST     3.2กรณีข้อ 2.1 และ 2.2 ถ้าอยู่ระหว่างที่รอผล DST ได้มีการเริ่มระบบยา empirical Cat 4(1) หรือ empirical Cat 4(2) ไปแล้ว ให้พิจารณาปรับเปลี่ยนระบบยาตามผล DST โดยอาศัยการตอบสนองของเสมหะระหว่างการรักษาด้วยยาต้านวัณโรคแนวที่ 2 ประกอบ ซึ่งบางครั้งยังสามารถให้การรักษาด้วยระบบยาเดิมคือ empirical Cat 4(1) หรือ empirical Cat 4(2) ต่อไปได้    3.3 กรณีอื่น ๆ นอกจากข้อ 2.1 และ 2.2       3.3.1 กรณีที่รอผล DST เป็น MDR-TB ให้ใช้ผล DST ของยาทั้ง 7 ขนานหรือยาพื้นฐานที่มีเพื่อประกอบการรักษาด้วยระบบยาตามผล DST โดยใช้หลักการตามหัวข้อที่7(การรักษากรณีเป็น MDR)       3.3.2 กรณีที่ผล DST ไม่เป็น MDR-TB ให้ใช้การตอบสนองทางคลินิกและผลการตรวจเสมหะด้วยวิธี direct smear ระหว่างรอผล DST พิจารณาประกอบซึ่งบางกรณีใช้ยาระบบเดิมไปก่อนได้โดยไม่เปลี่ยนเป็นยาวัณโรคแนวที่ 2  ถ้าผล DST ที่กลับมาภายหลังและการตอบสนองทางคลินิกและผลการตรวจด้วย direct smear ระหว่างรอผล DST ไม่มีความสอดคล้องกัน ควรใช้ประวัติสม่ำเสมอของการรับประทานยา ประกอบกับการตอบสนองทางคลินิก และผลการตรวจ ด้วย direct smear เป็นหลักในการพิจารณาระบบยาที่จะใช้ ในกรณีที่จะใช้ยาวัณโรคแนวที่ 2 ควรยึดหลักข้อ 7 ให้ทำ DOT โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นพี่เลี้ยง หรืออาจจะส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ        ขอขอบคุณ        สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคมาลาเรีย

โรคมาลาเรีย   ลักษณะโรค            โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อ มียุงก้นปล่องเป็นพาหะเกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวอยู่ใน class Sporozoa มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกันคือ ระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและยุง มาลาเรียเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก ประชากรร้อยละ 36 ของประชากรจากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย สำหรับประเทศไทยมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราป่วยและอัตราตายลดลง แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา อัตราป่วยและอัตราตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  สาเหตุ           เชื้อ Plasmodium ที่ก่อโรคในคนมี 4 ชนิด ได้แก่ P.falciparum, P.vivax, P.malariae และ P.ovale ในประเทศไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นชนิด P.falciparum และ P.vivax ส่วนน้อยเป็นชนิด P.malariae, P.ovale ยุงพาหะนำโรคที่พบในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles dirus, An.minimus, An. maculatus, An. sundaicus, An. aconitus และ An. pseudowillmori  วิธีการติดต่อ            เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรีย (sporozoite) จากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดของคน จากนั้นเชื้อจะเดินทางไปที่ตับและเกิดการแบ่งเซลแบบไม่อาศัยเพศ ทำให้ได้ merozoite นับพันตัว จากนั้นเซลตับจะโตและแตกออกปล่อย merozoite ออกมาในกระแสเลือด ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ สำหรับเชื้อ P.vivax และ P.ovale เชื้อบางส่วนยังคงอยู่ในเซลตับที่เรียกว่า "hypnozoite" ทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำ (relapse) ได้            หลังจากที่ merozoite เข้าสู่กระแสเลือด เชื้อจะเดินทางต่อไปยังเม็ดเลือดแดง และเจริญเป็น trophozoite และแบ่งตัวอีกครั้งเป็น merozoite 6-30 ตัว เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก merozoite จะเดินทางไปยังเม็ดเลือดแดงอื่น แล้วเจริญแบ่งตัววนเวียนอยู่เช่นนี้ merozoite บางตัวจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศ (gametocyte) เพศผู้เพศเมีย เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดคนที่มี gametocyte ในกระแสเลือด เชื้อเหล่านี้จะผสมพันธุ์กันเป็น zygote เจริญเป็น oocyst ฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวเป็น sporozoite ไปยังต่อมน้ำลายเพื่อรอการกัดของยุงอีกครั้ง  ระยะฟักตัว P.falciparum ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน  P.vivax และ P.ovale ระยะฟักตัวประมาณ 8-14 วัน  P.malariae ระยะฟักตัวประมาณ 18-40 วัน ระยะติดต่อ            ยุงที่มากัดคนสามารถติดเชื้อได้ตลอดระยะเวลาที่คนนั้นมี gametocyte ในกระแสเลือด ในผู้ป่วย P.malariae ที่ได้รับการรักษาไม่เพียงพออาจจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้ถึง 3 ปี หรือ 1-2 ปี ใน P.vivax และไม่เกิน 1 ปี ใน P.falciparum  อาการและอาการแสดง            อาการและอาการแสดงของมาลาเรียไม่มีลักษณะพิเศษบ่งเฉพาะ โดยมากจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัด คือ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาการนี้จะเป็นเพียงระยะสั้น เป็นวัน หรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ ชนิดของเชื้อ จำนวนของ sporozoite ที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วย ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยาป้องกันมาลาเรียมาก่อน หรือได้รับยารักษามาลาเรียมาบ้างแล้ว            อาการจับไข้ ซึ่งเป็นอาการที่เด่นชัดของมาลาเรียประกอบด้วย 3 ระยะคือ ระยะสั่น ระยะร้อน และระยะเหงื่อออก ปัจจุบันจะพบลักษณะทั้ง 3 ระยะได้น้อยมาก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอยตลอดเวลา โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นมาลาเรียครั้งแรก เนื่องจากในระยะแรกๆ ของการติดเชื้อมาลาเรีย เชื้ออาจเจริญถึงระยะแก่ไม่พร้อมกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากได้รับเชื้อในเวลาต่างกัน ทำให้เกิดมีเชื้อหลายระยะ ดังนั้นการแตกของเม็ดเลือดแดงจึงไม่พร้อมกัน ทำให้ผู้ป่วยมาลาเรียในระยะแรกอาจมีไข้สูงลอยตลอดวันได้ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งแล้วการแตกของเม็ดเลือดแดงพร้อมกัน จึงเห็นผู้ป่วยมีการจับไข้หนาวสั่นเป็นเวลา  ระบาดวิทยาของโรค           มาลาเรียมีขอบเขตการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางระหว่างเส้นรุ้งที่ 640 เหนือ ถึงเส้นรุ้งที่ 320 ใต้ และครอบคลุมพื้นที่ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 400 เมตร เช่น บริเวณ Dead sea จนถึงพื้นที่ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,600 เมตร เช่น ประเทศเคนยา ปัจจุบันมีประชากรถึง 2,020 ล้านคนจากกว่า 90 ประเทศ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเป็นมาลาเรียได้  falciparum มาลาเรีย จะพบได้บ่อยในแอฟริกา อเมริกาใต้ เอเชีย พบได้ทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในเขตหนาวจะพบไม่บ่อย  vivax มาลาเรีย พบได้ทั้งเขตร้อนและเขตอบอุ่นแถบลาตินอเมริกา ตุรกี จีน และอินเดียตอนกลาง พบได้น้อยที่แอฟริกา โดยเฉพาะแถบแอฟริกาตะวันตก  ovale มาลาเรีย พบได้บ่อยในแอฟริกา โดยเฉพาะในแถบตะวันตกของทวีป  malariae มาลาเรีย พบได้ทั้งในเขตร้อนและใกล้เขตร้อน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาตะวันออกและประเทศอินเดียทางตะวันตก  ประเทศไทย แหล่งของเชื้อมาลาเรียอยู่บริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงมาโดยตลอด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สระแก้ว ตราด และจันทบุรี ในตอนกลางของประเทศ พบผู้ป่วยมาลาเรียได้น้อย และไม่พบการติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล พบผู้ป่วยกระจายทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 10-35 ปี อัตราส่วนของผู้ป่วยเพศชายจะมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 2 เท่า พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน  การรักษา            การรักษามาลาเรีย แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ การรักษาจำเพาะ            การรักษาจำเพาะ คือการให้ยา schizontocide กำจัดเชื้อมาลาเรียที่เป็น schizont ซึ่งเป็นระยะไร้เพศในเม็ดเลือดแดง การเลือกชนิดของยา schizontocide นั้น ควรพิจารณาประสิทธิภาพของยาต่อเชื้อมาลาเรีย ตามลักษณะการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ต่างๆ กัน  การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน            การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน คือ การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ผู้ป่วยยังมีเชื้อมาลาเรีย หรือภายหลังที่เชื้อมาลาเรียหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย falciparum ถ้าได้รับการรักษาช้า จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้  การป้องกันการแพร่โรค           การป้องกันการแพร่โรค คือ การใช้ยา gametocytocide ฆ่าเชื้อมาลาเรียระยะติดต่อ คือ gametocyte โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อยู่ในท้องที่ที่มียุงเป็นพาหะ  รายละเอียดของการใช้ยารักษามาลาเรีย ศึกษาได้จาก แนวทางเวชปฏิบัติโรคติดเชื้อเล่ม 1 โรคติดต่อ. กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข 2544  ประสบการณ์ด้านโรคติดเชื้อในประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย 2542 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ความจำของกล้ามเนื้อ

Muscle Memory ความจำของกล้ามเนื้อ ท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Muscle           memory ไม่ว่าจะอ่านจากนิตยสารกอล์ฟหรือตำรากอล์ฟทั่วไป มักใช้คำนี้ซึ่งหมายถึง การเรียนกอล์ฟ จะให้ได้ดี ต้องฝึกจนให้กล้ามเนื้อจำได้ โดยสามารถสั่งให้ลูกกอล์ฟไปทางไหน ได้โดยไม่ต้องคิดว่าจะ ตีอย่างไร หมุนตัว ถ่ายน้ำหนักแบบไหน           Muscle memory เป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายและ เป็นที่เข้าใจกัน ถ้าจะใช้ศัพท์ทางการแพทย์หรือทางสรีระวิทยาจะใช้คำว่า Motor memory จะถูกต้องกว่า เพราะกล้ามเนื้อไม่มีความจำ ทำหน้าที่หดตัวและคลายตัวออก เท่านั้น โดยรับคำสั่งและควบคุมจากสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) บริเวณMotor area และผสมผสานจากสมองส่วนต่าง ๆ อีกหลายส่วนเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างปราณีตและเป็นอัตโนมัติ           ทางด้านการแพทย์ สามารถผ่าตัดย้ายที่เกาะของกล้ามเนื้อเปลี่ยนหน้าที่ของกล้ามเนื้อ ได้ เช่น ผู้ป่วยที่เส้นประสาทเรเดียลเสีย (Radial nerve injury) ผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ การผ่าตัดรักษาโดยย้ายที่เกาะปลายกล้ามเนื้อที่งอข้อมือ ไปต่อกับเอ็นที่เหยียดนิ้วมือ ผู้ป่วยก็สามารถเหยียดนิ้วมือได้ ระยะแรกอาจต้องฝึกความรู้สึกว่า งอข้อมือก่อน ฝึกบ่อย ๆ ก็จะสามารถใช้กล้ามเนื้อที่งอข้อมือ ให้สามารถเหยียดนิ้วมือได้จนเป็นอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งยกกล้ามเนื้อทั้งมัดที่งอเข่าบริเวณต้นขาด้านใน (Gracilis muscle) ยกกล้ามเนื้อมัดนี้มาไว้ที่ต้นแขน (ในกรณี ผู้ป่วยที่งอข้อศอกไม่ได้และไม่สามารถแก้ไขโดยวิธีอื่นได้) ต่อที่เกาะต้นไว้ที่หัวไหล่ ที่เกาะปลายต่อกับเอ็นที่งอข้อศอก หลังจากนั้นต่อหลอดเลือด , เส้นประสาท เข้ากับกล้ามเนื้อมัดนี้ ( เรียก Free gracilis muscle transfer ) เมื่อเส้นประสาททำงานได้ดี ก็สามารถบังคับให้กล้ามเนื้อมัดนี้งอข้อศอกได้            จากตัวอย่างผู้ป่วย จะเห็นได้ชัดเจนว่า กล้ามเนื้อมีหน้าที่สำคัญคือ หดตัว จากการกระตุ้นผ่านระบบประสาท เท่านั้น เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวก็จะดึงที่เกาะต้น และที่เกาะปลายเข้าหากัน ไม่สำคัญว่า เดิมกล้ามเนื้อจะอยู่ที่ตำแหน่งไหน หรือมีหน้าที่อะไรทั้งนั้น ความจำ (memory)           ความจำเป็นความสามารถของสมอง (ไม่ใช่ของกล้ามเนื้อ) ที่จะเก็บข้อมูลไว้ และสามารถเรียกกลับมาใช้ได้ กระบวนการที่ทำเกิดความจำ           ต้องอาศัยข้อมูลที่เข้ามาที่สมอง จากตัวรับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รับภาพจากจอตา , รับเสียงผ่านอวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน (Organ of corti) รับรู้ตำแหน่งต่าง ๆ ของแขน ขา ข้อ ว่าอยู่ตำแหน่งใดผ่าน proprioceptive sense            การเก็บความจำขึ้นอยู่กับสมองหลายบริเวณ ซึ่งร่วมถึงระบบการทำงานของระบบการรู้สติ เพื่อให้สมองตื่นตัวดี จึงจะสามารเก็บความจำได้ ถ้าไม่สนใจ สมองไม่ตื่นตัว เช่น หลับหรือหมดสติ ก็ไม่สามารถเก็บความจำได้ ชนิดของความจำ 1. ความจำการรับความรู้สึก (Sensory memory) ความสามรถจำข้อมูลที่ส่งเข้ามา ที่สมองในช่วงสั้น ๆ เช่น การมองวัตถุแล้วเบนสายตาไปที่อื่น ภาพจะคงที่นานประมาณ 250 มิลลิวินาที จากนั้นจะจางหายไปในเวลาไม่ถึง 1 วินาที โดยถูกแทนที่สัญญาณภาพที่เข้ามาใหม่ การได้ยินเสียงจะจำได้ไม่ถึง 5 วินาทีถ้าไม่มีการกระตุ้นซ้ำ 2. ความจำระยะสั้น (Short-term memory ) เป็นความจำช่วงสั้น 10 วินาที จนถึง 2 – 3 นาที เช่น การจำเบอร์โทรศัพท์ อ่านทบทวน สามารถจะจำเบอร์และหมุนได้และจะสั่งใน ระยะสั้น ๆ ถ้าไม่มีการทบทวนซ้ำ 3. ความจำระยะยาวหรือความจำถาวร (Long term memory) สามารถจำได้นาน ๆ เป็นวัน เป็นปี เช่น จำชื่อตนเอง สภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย กลไกลการเกิดความจำ ความจำระยะสั้น  จากการศึกษา  1. ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเปลือกสมอง (cerebral cortex) 1 นาที พบว่าบริเวณที่ถูกกระตุ้นยังมีศักย์ไฟฟ้า ต่อไปอีก ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังหยุดกระตุ้น เรียก reverberating circuit ซึ่งเป็นรากฐานของความจำระยะสั้น ซึ่งจะหายไปหลังจากมี circuit อันใหม่เข้ามา  2. กระตุ้นสมอง 2 – 3 นาที แล้วกระตุ้นซ้ำอีก เซลล์ประสาทจะตอบสนองได้รุนแรงกว่าปกติ เรียก post titanic potentiation เข้าใจว่ามีการเปลี่ยนแปลงการประสาน (synapse) ของเซลล์ประสาทชั่วคราว ทำให้เกิดความจำระยะสั้นได้  ความจำระยะยาว 1. การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของจุดประสานประสาท (Synapse) พบว่าเส้นใย ประสาท (Terminal fibrils) ที่จุดประสานประสาท ของเซลล์สมองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นแต่บริเวณเซลล์ประสาทของสมองที่ทำงานลดลง เช่น สัตว์ทดลองที่ตาบอด จำนวน Terminal fibrils ที่มาที่จุดประสานประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็นน้อยลง จากการศึกษา เชื่อว่า กลไกลความจำถาวรเกิดจาก การเปลี่ยนรูปร่าง จำนวนของจุด ประสานประสาท อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เพิ่มการทำงานของจุดประสานประสาท ทำให้สัญญาณประสาทผ่านได้ง่ายขึ้น การทำงาน การทบทวนความจำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ จะทำให้ความจำเรื่องนั้น ๆ ดีขึ้นและลืม ได้ยาก 2. การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี  2.1 การทดลองในหนู พบว่า เซลล์ประสาทที่ทำงานมาก ๆ จะมีการสร้างโปรตีน และ RNA เพิ่มขึ้น การให้สาร Actinomycin D ที่ยับยั้งการสร้าง RNA จะลดความจำชั่วคราวในหนู 2.2 การทดลองใช้ Growth hormone เพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และมีอิทธิพล ต่อความจำถาวร 2.3 ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์มีผลต่อการเกิดความจำ เด็กที่ขาดฮอร์โมนนี้ จะทำ ให้เกิดปัญญาอ่อนได้ ความจำระยะยาวมี 2 ชนิด 1. Reflexive (Implicit) memory เป็นความจำที่เกิดโดยอัติโนมัติ ไม่ต้องการความคิด ความจำชนิดนี้เกิดจากการฝึก หรือทำซ้ำบ่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เกี่ยวข้องกับทักษะการทำงานของร่างกาย บางทีเรียกว่า muscle memory เช่น การเล่นกีฬา , การตีกอล์ฟ , การขับรถ , การทำงานในชีวิตประจำวัน 2. Declarative (Explicit) memory  เป็นความจำที่ต้องคิด มีสติ เอาใจใส่ ตั้งใจ เพื่อที่จะเรียกข้อมูลที่เก็บไว้ เอามา อธิบายเป็นคำพูด หรือการเขียนบรรยายได้ สามารถเปรียบเทียบ หรือแปรผลได้ ข้อสรุปสำหรับนักกอล์ฟ 1. ท่านจะต้องแสวงหาข้อมูล จากการอ่านตำรากอล์ฟ ดูทีวี หรือจากครูผู้ฝึกสอน กอล์ฟ เพื่อทำให้เกิดประสบการณ์และมีการเปลี่ยนแปลงสรีระวิทยาของสมอง (ไม่ใช่กล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว) 2. ฝึกการกระทำโดยใช้ความพยายาม เพื่อให้การเรียนรู้ได้ผลและมีประสิทธิภาพดีขึ้น ควรจะเรียนกับครูผู้ฝึกสอนกอล์ฟ จะได้ผลดีกว่าถ้าทำไม่ได้ ต้องเรียนรู้การปรับสภาพร่างกาย ที่สามารถจะใช้วงสวิงได้ เช่น การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ฝึกการทรงตัวของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 3. ฝึกจำการรับความรู้สึก เช่น ท่าจรดกอล์ฟ แบ็คสวิง ดาวน์สวิง อิมแพ็ค และ ฟอลโลว์ทรู ตรวจสอบแต่ละตำแหน่ง โดยดูจากกระจก หรือถ่าย VDO ฝึกหลับตาสามารถรับรู้ความรู้สึกของตำแหน่งต่าง ๆ ได้(ส่วนใหญ่เราจะรับความรู้สึกจากตา ทำให้การเรียนรู้ความรู้สึกของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีน้อย) ฝึกจัดท่าตำแหน่งต่างๆจนเกิดความเคยชิน 4. ฝึกแต่ละขั้น ทำซ้ำจนเกิดความจำระยะสั้น ซึ่งต้องฝึกซ้ำ ๆ บ่อย ๆ อย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์ แล้วจึงฝึกขั้นต่อไป ข้อเสียของผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องความจำ คือ จะฝึกที่ละหลาย ๆ อย่าง ปะปนกัน ทำให้ไม่มีความจำระยะสั้นที่ถูกต้องแม้แต่อย่างเดียว ทำให้การเล่นกอล์ฟไม่สามารถควบคุมวงสวิงได้ 5. กอล์ฟทิป บางครั้งไม่ได้ผล หรือเป็นอันตรายสำหรับวงสวิงของท่าน นักกอล์ฟที่ ขยันอ่านค้นคว้ามีทิปใหม่ ๆ ซึ่งกอล์ฟทิปบางอย่างก็แนะนำตรงข้ามกันก็มี ทำให้เกิดสับสนขาดความมั่นใจและเมื่อยังไม่ได้นำมาฝึกจนใช้ได้แน่นอนแล้ว จะทำให้ควบคุมวงสวิงไม่ได้ กอล์ฟทิปหลาย ๆ อัน ไม่เหมาะสำหรับกับนักกอล์ฟทุกคน ต้องเลือกสิ่งที่เรานำเอามาใช้ แล้วเกิดประโยชน์ได้จริง เพราะ รูปร่าง ความแข็งแรง การยืดเหยียดของนักกอล์ฟแต่ละคนแตกต่างกันออกไป 6. การซ้อมบ่อย ๆ ในวงที่ไม่ดีจนเกิดความเคยชินทำให้แก้ไขยากขึ้น เช่น นักกอล์ฟที่ เล่นมานาน ๆ แต่วงสวิงไม่ดี ตีสไลด์ ไม่ได้ระยะ การแก้ไขจะยากมากขึ้น ต้องเริ่มต้นพื้นฐานใหม่ แต่ละขั้นตอนจนเกิดความจำระยะสั้นให้ได้ก่อน การแก้ไขใหม่ ๆ อาจจะตีกอล์ฟไม่ได้ดีเท่าเดิม ถ้ามีความตั้งใจ อดทนฝึกจนมีวงที่ถูกต้องแล้วผลจะดีขึ้นมาก เช่น นิดฟัลโด ในการแก้ไขวงสวิง กว่าจะกลับมาดีได้ถึงจุดสูงสุดใช้เวลา 2 ปี  7. เมื่อฝึกวงสวิงได้ดี ก็ต้องหมั่นตรวจสอบวงสวิง และฝึกสม่ำเสมอ เพราะจะมีการ เปลี่ยนแปลงของวงสวิงได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพของร่างกายและจิตใจด้วย 8. เมื่อท่านนักกอล์ฟฝึกจนถึงขั้น Reflexive memory หรือ Muscle memory การ เล่นกอล์ฟต้องฝึกวางแผน เกมการเล่น ว่าจะเลือกไม้อะไร ตีวางลูกตำแหน่งไหน จะตีลักษณะอย่างไรลูกลอยโด่ง ลูกพุ่งต่ำ หรือเลี้ยว หลังจากนั้นก็จะใช้ Muscle memory บังคับลูก ไปตามที่วางแผน ไม่ต้องคิดถึงที่วงสวิง หรือเกร็งมากเกินไป ห้ามนึกถึงสกอร์เด็ดขาด เพราะจะทำให้ Muscle memory เสียไป ซึ่งถ้าท่านฝึกทุกครั้งในการเล็ง การจรดไม้แบบเดิมทุกครั้งที่เรียกการทำ Routine ก็จะทำให้ท่านไม่ต้องนึกถึงวงสวิง และผลออกมาจะแน่นอนกว่า การคิดถึงวงสวิงซึ่งอาจจะตีผิดพลาดได้ จากนิตยสารสมาร์ทกอล์ฟ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound)               Ultrasound เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงโดยให้ทรานส์ดิวเซอร์ ส่งคลื่น Ultrasound กระทบกับผิว ต่อมหรือเนื้อเยื่อที่มีคุณสมบัติต่างกัน จะเกิดการสะท้อนกระเจิงของคลื่น และคลื่นที่สะท้อน กระเจิงกลับเข้าสู่ทรานส์ดิวเซอร์ (echo) จะถูกบันทึก ขยายและปรับแต่งก่อนส่งไปแสดงผลทางจอภาพ (display) คลื่นเสียงความถี่สูงสามารถใช้ตรวจส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ ส่วนหัว ใช้ตรวจเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เพื่อตรวจดูความผิดปกติในกระโหลกศีรษะ โดยตรวจผ่านกระหม่อมที่ยังไม่ปิด (open fontanelles)  ส่วนคอ ใช้ตรวจหาความผิดปกติและหารอยโรคของต่อมไทรอยด์ , ต่อมน้ำลาย (salivary gland) , parotid gland , ก้อนในบริเวณคอ และใช้ตรวจเส้นเลือดแดง (carotid artery)  ส่วนอก ใช้ตรวจทรวงอก เพื่อดูน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (pleural fluid) หรือตรวจดูรอยโรค (lesions) ว่าเป็นเนื้อหรือน้ำติดกับผนังทรวงอก เช่น เนื้องอก ฯลฯ ช่องท้อง ใช้ตรวจดูความผิดปกติและหารอยโรคของอวัยวะภายในช่องท้องทั้งหมด (whole abdomen)    ส่วนอื่น ๆ  ใช้ตรวจเพื่อหาความผิดปกติและรอยโรคที่สงสัยในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissue) หรือ มีน้ำภายใน เช่น กล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเต้านม ขา เส้นเลือดขนาดใหญ่และขนาดกลาง (Doppler) เพื่อดูความผิดปกติ ของเส้นเลือด , วัดความเร็วการไหลเวียนเส้นเลือด , ดูการอุดตันของเส้นเลือด ฯลฯ  การเตรียมตัวก่อนตรวจ ส่วนหัว สามารถตรวจได้ทันที โดยไม่ต้องเตรียมตัวก่อนตรวจ แต่ในเด็กบางรายอาจต้องให้ Sedation ตามคำสั่งแพทย์ ส่วนคอและส่วนอก สามารถตรวจได้ทันที ไม่ต้องเตรียมตัวก่อนการตรวจ ส่วนท้อง Upper Abdomen งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ในเด็กให้งดอาหารหรือนม 1 มื้อ เพื่อให้อวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะถุงน้ำดี ชัดเจน Lower Abdomen ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร (เว้นแต่แพทย์สั่ง) ก่อนถึงเวลานัดตรวจ 3 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำเปล่า 4-5 แก้ว และกั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะตรวจเสร็จ (ขณะทำต้องปวดปัสสาวะเต็มที่) ซึ่งจะทำให้สามารถเห็นมดลูกและอวัยวะบริเวณท้องน้อยชัดเจน Whole Abdomen งดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนตรวจ แต่ก่อนถึงเวลานัดตรวจ 3 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำเปล่า 4-5 แก้ว หลังจากนั้นงดดื่ม และกั้นปัสสาวะไว้จนกว่าจะตรวจเสร็จ (ขณะทำต้องปวดปัสสาวะเต็มที่) ส่วนอื่น ๆ สามารถทำได้ทันที ไม่ต้องเตรียมตัวก่อนการตรวจ ข้อแนะนำ   ควรงดน้ำและอาหาร (N.P.O. = Nothing Per Oral) อย่างน้อย 6-8 ชม. ก่อนการตรวจ(สำหรับเด็กเล็ก ให้งดนมเพียง 4 ชม.)   เหตุที่ต้องงดน้ำ ก็เพราะว่าถ้าไม่มีอะไรถูกกลืนลงสู่หลอดอาหารแล้ว โอกาสที่อากาศจะผ่านสู่กระเพาะอาหารก็น้อยด้วย ซึ่งอากาศมีอิทธิพลต่อภาพอัลตราซาวด์ ไม่ว่าจะมีอากาศอยู่ในส่วนใดของ Gastro-intestinal tract ก็ตาม ก็จะทำให้ขาดข้อมูลที่ต้องการบนภาพได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยมี Bowel gas มาก วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ให้รอไปก่อน 2-3 ชม.   เหตุที่ต้องงดอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาพลวงจากอาหารที่รับประทาน และอาหารที่มัน ๆ ยังทำให้ Gall bladder บีบตัวจนการตรวจ Gall bladder ทำได้ยาก  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density)        แผนกรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลวิภาวดี ให้บริการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกทุกวัน โดยเครื่องวัดความหนาแน่นกระดูกที่ทันสมัยของ HOLOGIC ซึ่งเป็นชนิดใช้พลังรังสีเอกซ์ 2 ค่าพลังงาน (DEXA) ทำให้สามารถตรวจกระดูกส่วนที่หนาๆได้ เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกข้อสะโพก ทำไมเราจึงต้องวัดความหนาแน่นของกระดูก การตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก  (Bone Mineral Density)            เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะสร้างแคลเซียม (Ca) ได้น้อยลง เป็นเหตุให้กระดูกขาดความแข็งแรง เปราะบาง จนกลายเป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูกสามารถตรวจเช็คปริมาณความหนาแน่นของกระดูกได้ และทำให้สามารถวางแผนป้องกันและสามารถรักษาโรคกระดูกพรุนได้อย่างถูกต้อง กระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ อะไร คือภาวะที่กระดูกมีเนื้อกระดูกที่มีความหนาแน่นน้อย ทำให้มีโอกาสกระดูกแตกหัก หรือยุบตัวได้ กระดูกปกติจะมีโครงสร้างเส้นใย ที่มีโพรงเป็นตาข่ายในเนื้อกระดูก เมื่อเกิดกระดูกโพรงระหว่างเส้นใยจะใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดการแตกของกระดูกได้ง่าย กระดูกจะไม่สามารถตั้งตรงได้ เช่น กระดูกสันหลัง เมื่อเกิดเป็นโรคกระดูกพรุนจะยุบตัวทำให้หลังงอผิดปกติ เสียบุคลิกภาพไป โรคกระดูกพรุนโดยทั่วไปมักพบในคนอายุมากประมาณ 50 ปีขึ้นไป และในสตรีวัยหมดประจำเดือน สาเหตุโรคกระดูกพรุน • อายุมาก  • วัยหมดประจำเดือน  • ขาดแคลเซียม (Ca)  • การรักษาโรคบางชนิดด้วยฮอร์โมน หรือ Steroid  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน            มีหลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ใช้เครื่องวัดความหนาแน่นกระดูก สามารถทราบผลได้ทันที เครื่องมือตรวจวัดความหนาแน่นกระดูกที่ทันสมัย มีรายละเอียดของเครื่องดังนี้  • สามารถตรวจ ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เกือบทั้งหมด  • ใช้เวลาตรวจน้อย  • ภาพคมชัดและถูกต้องแม่นยำ  • ปริมาณรังสีต่ำ เพียงเท่ากับ เมื่อได้รับขณะอยู่บนเครื่องบินใครต้องตรวจบ้าง  • เมื่อคุณรู้สึกว่ากระดูกสันหลังผิดปกติ  • มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroid)  • ผู้หญิงที่มีระดับเอสโตรเจน (Estrogen) ต่ำ และวัยหมดประจำเดือน  • คนผอมมาก ๆ  • คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน  • คนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย  • คนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มี Alcohol เป็นประจำทำอย่างไรบ้าง ถ้าคุณเป็นโรคกระดูกพรุน  • แพทย์จะอธิบายวิธีการป้องกันและการรักษาที่ถูกต้อง  • การออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายจะสร้างแคลเซียม และเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มี Alcohol และงดการสูบบุหรี่ จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคกระดูกพรุน การเตรียมตัวเพื่อตรวจ  • ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร รับประทานอาหารได้ตามปกติ  • ถ้ากำลังให้ยา Thyroid โปรดแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทราบ  • กำลังกินแคลเซียม โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ  • ถ้ามีการตรวจทางรังสีด้วยแบเรียมมาก่อน ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อนัดตรวจ  • การตรวจระบบไตด้วยสารทึบรังสี ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อนัดตรวจ  • การตรวจร่างกายด้วยสารกัมมันตรังสี บริเวณใกล้กับกระดูกสันหลังส่วนเอว ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อนัด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มาตรฐานการป้องกันอันตรายจากรังสีแผนกรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลวิภาวดี

มาตรฐานการป้องกันอันตรายจากรังสีแผนกรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลวิภาวดี การป้องกันอันตรายจากรังสี มาตรฐานการป้องกันอันตรายจากรังสี แผนกรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลวิภาวดี 1. สำหรับเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิค รังสีแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ใช้หลักการป้องกันอันตรายจากรังสีทั้ง 3 ข้อ อย่างเคร่งครัด ได้แก่ เวลา ระยะทาง และเครื่องกำบัง  อยู่ในที่กำบังรังสีทุกครั้งที่ทำการถ่ายภาพรังสีให้กับผู้รับบริการ  หากจำเป็นต้องช่วยจับผู้รับบริการ (ในกรณีที่ผู้รับบริการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) ให้สวมเสื้อตะกั่วทุกครั้ง  ปิดประตูห้องเอกซเรย์และเปิดสัญญาณไฟทุกครั้งก่อนทำการเอกซเรย์  ให้เจ้าหน้าที่ติด film badge ทุกครั้งที่ทำการปฏิบัติงาน  2. สำหรับผู้รับบริการและญาติของผู้รับบริการ   ให้เจ้าหน้าที่ตระหนักไว้เสมอว่าการถ่ายเอกซเรย์ซ้ำจะทำให้ผู้รับบริการได้รับปริมาณรังสีมากขึ้นเป็น 2 เท่า ดังนั้นจึงควรปฏิบัติงานด้วยความละเอียด รอบคอบ  ในกรณีที่ผู้รับบริการตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ให้เจ้าหน้าที่ shielding ให้กับผู้รับบริการทุกครั้ง  ให้เจ้าหน้าที่ shielding ให้กับผู้รับบริการที่เป็นเด็กเล็กทุกครั้ง  ญาติของผู้รับบริการหากไม่มีกิจอันจำเป็นห้ามเข้าไปในห้องเอกซเรย์ หากจำเป็นที่จะต้องไปช่วยจับผู้รับบริการ จะต้องสวมเสื้อตะกั่วทุกครั้ง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การป้องกันอันตรายจากรังสี

การป้องกันอันตรายจากรังสี           ในปัจจุบันนี้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามี บทบาทต่อชีวิตประจำวันและการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน แต่ในแง่หนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือ ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ทำให้การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ขาดการควบคุมดูแลให้ถูกต้องและเหมาะสม จึงเป็นผลให้เกิดอันตรายได้ เช่นเดียวกันกับการนำเอาสารกัมมันตรังสีมาใช้ก็เช่นกันเพราะสารกัมมันตรังสีนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่โทษที่อาจเกิดขึ้นจากรังสีนั้นก็มีมากและหลายระดับทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ ชนิดและระยะเวลาที่ได้รับรังสี เช่น ถ้าได้รับรังสีปริมาณสูงแบบเฉียบพลันอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หรือการรับรังสีที่อวัยวะสืบพันธ์แล้วทำให้เป็นหมัน ก็ยังไม่น่ากลัวเท่ากับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลให้ลูกหลานที่เกิดมาผิดปกติ            ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทางด้านรังสีจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันอันตรายจากรังสีเป็นอย่างดี จึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากรังสีได้อย่างคุ้มค่าและปลอดภัยที่สุด  ที่มาของรังสี สารกัมมันตรังสี คือสารที่สลายตัวปลดปล่อยรังสีออกมา รังสี คืออนุภาคหรือคลื่นที่ปลดปล่อยออกมาจากอะตอมของกัมมันตรังสี สารกัมมันตรังสี จำแนกตามลักษณะการเกิดได้จาก 2 แหล่ง คือ    1. จากธรรมชาติ โดยสารกัมมันตรังสีจากธรรมชาติ เช่น ยูเรเนียม 235 , ยูเรเนียม 238,คาร์บอน 14 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของโลก     2. จากมนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู (Nuclear reactor) หรือในเครื่องเร่งอนุภาค เช่น เครื่องเร่งอนุภาคนิวตรอน (Neutron generator) และซิลโครตรอน( Cyclotron generator) เป็นต้น สารกัมมันตรังสีที่ได้จากการผลิต เช่น โคบอลต์ 60, ไอโอดีน 131 , ซีเซียม 137, นิวตรอน สารกัมมันตรังสีทั้ง 2 กลุ่ม จะให้รังสีออกมา ได้แก่ รังสีแอลฟ่า , รังสีเบต้า , รังสีแกมมา นิวตรอน นอกจากนี้รังสีที่เป็นที่รู้จักกันดีและใช้กันอย่างกว้างขวางมีประโยชน์มากมาย ได้แก่ รังสีเอกซ์(X-ray) ซึ่งเกิดจากเครื่องกำเนิดรังสีเอกซ์ ซึ่งใช้ระบบไฟฟ้าแรงสูงเร่งให้อิเลกตรอนวิ่งด้วยความเร็วสูงเข้าชนเป้าที่ทำด้วยโลหะหนักและเกิดเป็นรังสีขึ้น มีความสามารถทะลุทะลวงผ่านวัตถุต่าง ๆ ได้มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของวัตถุนั้น ๆ  ประโยชน์ของรังสี            รังสีที่กล่าวมาข้างต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตรและงานวิจัยต่าง ๆ ดังนี้  รังสีแอลฟ่า ใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์สายล่อฟ้า (Am-241 , Ra-226) ,อุปกรณ์กำจัดฝุ่นละอองในผลิตภัณฑ์ (Po-210) , เป็นส่วน ประกอบของอุปกรณ์ตรวจสอบควันไฟ (Am-241)  รังสีเบต้า ใช้รักษาโรคต้อเนื้อ (Sr-90) , สารพรายน้ำ (H-3) , สารสะท้อนแสง/เรืองแสง (Pm-147) , ใช้ระงับอาการปวดของมะเร็งที่ลามไปกระดูก(Sm-153)  รังสีแกมมา ใช้รักษาโรคมะเร็ง (Co-60) , การฆ่าเชื้อโรคในเวชภัณฑ์ (Co-60) ,การวินิจฉัยโรคและรักษาโรคต่อมไทรอยด์ (Co-60)(I-125 , I-131) , ตรวจสอบการทำงานของไต (I-131) , การตรวจสอบการทำงานของตับ/ทางเดินน้ำดี/ กล้ามเนื้อหัวใจ (Tc-99m) , ศึกษาการไหลเวียนของเลือดที่ปอด/สมอง (Tc-99m)  รังสีเอกซ์ ใช้ในการถ่ายภาพอวัยวะต่าง ๆ , ตรวจจับวัตถุแปลกปลอม และสารกัมมันตรังสีที่มีบทบาทสำคัญตัวหนึ่งที่จะกล่าวถึงก็คือ โคบอลต์-60 ซึ่งเมื่อกุมภาพันธ์ 2543 ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดกรณีตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นโทษมหันต์ของรังสีที่เราไม่ควรมองข้ามเลย โคบอลต์-60 (Co-60) เป็นสารกัมมันตรังสีชนิดหนึ่งที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ เกิดขึ้นได้จาการนำโคบอลต์-59 ซึ่งเป็นโลหะในธรรมชาติอาบอนุภาคนิวตรอน ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเกิดเป็นโคบอลต์-60 ซึ่งมีค่าครึ่งชีวิต 5.26 ปี และสลายตัวให้รังสีแกมมาและเบต้า แต่รังสีที่นำมาใช้ประโยชน์มาก คือ รังสีแกมมา ซึ่งใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้     1. ทางการเกษตร        1.1 การปรับปรุงพันธุ์พืช (Mutation Breeding) เช่น พันธุ์ข้าว กข 6 , กข 10 , กข 15 , ถั่วเหลืองพันธ์ดอยคำ , กล้วยหอมทอง KU1       1.2 การกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยการทำหมัน (Sterile Insect technique) เช่น กำจัดแมลงวันผลไม้บนดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่        1.3 การถนอมอาหาร (Food Preservation) โดยศูนย์ฉายรังสีอาหารและผลิตผลการเกษตรของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ให้บริการ ดังนี้           ก. ยับยั้งการงอก : มันฝรั่ง , หอมใหญ่ , กระเทียม , ขิง           ข. ชะลอการสุก : มะม่วง , มะละกอ           ค. ชะลอการบาน : เห็ด           ง. ทำลายพยาธิ : เนื้อหมู , แหนม           จ. ลดแบคทีเรียและเชื้อรา : ปลาสด ,เนื้อสด , กุ้งแช่แข็ง , เครื่องเทศ           ฉ. ควบคุมแมลง : ข้าว,ถั่วเขียว ,ผลไม้แห้ง ,ปลาแห้ง ,มะขามหวาน  ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผ่านการฉายรังสีมาแล้วนั้นจะไม่มีรังสีตกค้างอยู่เลย ทั้งนี้เนื่องจากรังสีแกมมาที่นำมาใช้ จะไม่แตกตัวและไม่ทำให้ตัวกลางกลายเป็นรังสีแต่อย่างใด ดังนั้นอาหารที่ผ่านการฉายรังสี จึงปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค     2. ทางอุตสาหกรรม ในประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 165 แห่ง ทีนำสารกัมมันตรังสี โคบอลต์-60 มาใช้ ดังนี้       2.1 การวัดระดับ เช่น โรงงานทอผ้า , โรงงานพลาสติก       2.2 การวัดความหนา เช่น โรงงานโลหะ       2.3 การวัดความหนาแน่น เช่น โรงงานพลาสติก , โรงงานกระเบื้อง       2.4 การสำรวจหลุมเจาะ เพื่อเสาะหาแหล่งแร่       2.5 การฉายรังสีเวชภัณฑ์ เช่น เข็มฉีดยา , ถุงมือ , มีดผ่าตัด และยารักษาโรค    3. ทางการแพทย์  ในประเทศไทยมีสถาบันทางการแพทย์และโรงพยาบาลทีมีเครื่องโคบอลต์-60 อยู่ 39 เครื่อง ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและในการตรวจต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  การจัดเก็บต้นกำเนิดรังสี         ในทางปฏิบัติคนทั่วไปมักไม่ได้รับรังสีมากเกินไปจนเป็นอันตรายเพราะเนื่องจากในการปฏิบัติงานทางรังสีนั้นจำเป็นต้องใช้วัสดุมาหุ้มหรือกั้น เช่น คอนกรีต , โลหะหรือตะกั่ว เพื่อกำบังรังสีในทิศทางที่ไม่ได้ใช้งาน หรือในการเก็บรักษา เพื่อทำให้อัตราของรังสีลดลง และป้องกันการรั่วไหลของรังสี สารกัมมันตรังสี โคบอลต์-60 ที่ใช้อยู่ทั่วไปเป็นแบบปิดผนึก (Sealed Source) เมื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ต้นกำเนิดรังสีจะอยู่ในวัสดุกำบังรังสี เช่น ยูเรเนียม , ตะกั่ว เวลาใช้งานต้นกำเนิดรังสีจะถูกเคลื่อนออกมาทางช่องฉายรังสีด้วยระบบลม (Pneumatic) รังสีจะถูกฉายไปยังอวัยวะเป้าหมาย          สำหรับในทางอุตสาหกรรมหรือการถ่ายภาพด้วยรังสี สารกัมมันตรังสีจะบรรจุอยู่ในโปรเจคเตอร์ ตัวต้นกำเนิดรังสีจะถูกขับเคลื่อนไปยังจุดที่ต้องการ ด้วยอุปกรณ์ควบคุมระยะไกลเพื่อฉายรังสี หน่วยวัดปริมาณรังสี ปริมาณรังสีมีหน่วยวัดเป็น เกร์ย ( Gray ), แรด( Rad ), ซีเวิร์ต ( Sievert ), แรม( Rem) โดย ปริมาณรังสี 1 เกร์ย = 1 ซีเวิร์ต = 100 แรด และ 1 แรด = 1 แรม  อันตรายหรือโทษจากรังสี          จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่ารังสี คือ อนุภาคหรือคลื่นที่ปลดปล่อยออกมาจากอะตอมจึงไม่มีสี กลิ่น หรือสิ่งที่ทำให้สังเกตเห็นได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับไม่ทราบว่าตนเองได้รับรังสี ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องวัดรังสีที่ได้รับจากภายนอก มีประจำติดตัวไว้ทั้งนี้เพื่อวัดรังสีที่ได้รับว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด และในการตรวจวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยด้วยรังสีเอกซ์ ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทางรังสี จะได้รับรังสีได้ ดังนี้ - จากลำแสงเอกซเรย์จากหลอดเอกซเรย์โดยตรง - จากรังสีที่รั่ว ( leakage ) จากหลอด - จากรังสีกระเจิง ( scatter radiation ) ที่ไปกระทบผู้ป่วยนอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับรังสีเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น ประกอบด้วย - การส่งตรวจทางรังสีโดยไม่จำเป็น - การถ่ายภาพรังสีซ้ำ - ใช้เทคนิคการถ่ายภาพที่ไม่เหมาะสม - เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ หรือไม่ตระหนักถึงหลักการป้องกันอันตรายจากรังสีและองค์ประกอบต่างๆ ที่สามารถลดปริมาณรังสีได้     การเกิดอันตรายจากรังสีต่อมนุษย์ อาจแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ        1. การได้รับรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีจากภายนอก ( External exposure ) ความรุนแรงของการบาดเจ็บ ขึ้นอยู่กับความแรงของแหล่งกำเนิดและระยะเวลาที่ได้รับรังสี แต่ตัวผู้ที่ได้รับอันตรายไม่ได้สารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย จึงไม่มีการแผ่รังสีไปทำอันตรายผู้อื่น       2. การได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ( Internal exposure ) มักพบในกรณีมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่เป็นก๊าซ ของเหลว หรือฝุ่นละอองจากแหล่งเก็บสารกัมมันตรังสี หรือที่เก็บกากสารกัมมันตรังสีจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น ที่เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ประทศญี่ปุ่น การกระจายของสารกัมมันตรังสีจะฟุ้งไปในอากาศ น้ำ มนุษย์อาจได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกาย ทางการหายใจฝุ่นละอองของรังสีเข้าไป , กินของที่เปรอะเปื้อนเข้าไป หรือการกิน, การฝั่งสารกัมมันตรังสีเพื่อการรักษา สารกัมมันตรังสีที่อยู่ในร่างกายจะแผ่รังสีออกมา ทำอันตรายต่อร่างกายเป็นระยะเวลานาน จนกว่าจะถูกกำจัดออกไปจากร่างกายจนหมด และยังสามารถแผ่รังสีไปทำอันตรายคนที่อยู่ใกล้เคียงได้ การได้รับรังสีอาจมีผลต่อร่างกายได้เป็น 2 แบบ คือ           1. เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีอาการป่วยทางรังสี ( Acute หรือ Deterministic Effect) เมื่อได้รับรังสีเป็นปริมาณมาก( สูงกว่า 10 แรด ในครั้งเดียว ) ทำให้เซลล์จำนวนมากบาดเจ็บ เสียหาย หรือตาย จะมีผลให้อวัยวะต่าง ๆที่ได้รับรังสี ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ อวัยวะสำคัญของร่างกายที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อได้รับรังสี คือ              • ไขกระดูก เป็นอวัยวะที่ไวที่สุดและเปลี่ยนแปลงให้เห็นเร็วที่สุด เพราะเป็นอวัยวะที่มีการสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา              • ทางเดินอาหาร นับเป็นอวัยวะที่มีความไวต่อรังสีรองลงมาจากไขกระดูก              • ผิวหนัง ซึ่งจะพบได้ตั้งแต่ไม่มีแผล แต่รู้สึกแสบร้อน ผิวดำคล้ำ เหมือนตากแดด หรือได้รับปริมาณมาก ผิวหนังจะค่อย ๆ แดงขึ้น ต่อมาพองออกเป็นถุงน้ำใส เมื่อถุงน้ำแตกออกจะเห็นเป็นเนื้อแดงเหมือนถูกไฟไหม้              • อวัยวะสืบพันธ์              • ระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เนื่องจากเซลล์ของระบบประสาทค่อนข้างดื้อต่อรังสี ทำให้การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองถูกทำลายมากกว่าเกิดการตายของเซลล์สมอง              • ปอด     อาการของผู้ป่วยที่ได้รับรังสี จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ        ระยะที่ 1 ( Initial Syndrome) เกิดตั้งแต่เริ่มได้รับรังสีหรือหลังได้รับเป็นชั่วโมง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ มีอาการทางผิวหนัง อาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจนานหลายวัน        ระยะที่ 2 (Remission phase) เป็นช่วงที่อาการของระยะที่ 1 หายไป        ระยะที่ 3 (Established acute radiation Syndrome) จะมีอาการและตรวจพบเนื่องจากอวัยวะนั้น ๆ ถูกทำลาย คือ           • ไขกระดูก : เม็ดเลือดขาวค่อย ๆ ต่ำลง ทำให้ภูมิต้านทานลดลง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย , เกล็ดเลือดลดลงทำให้มีเลือดออกง่ายและหยุดยาก           • ทางเดินอาหาร : คลื่นไส้ , อาเจียน , ท้องเสีย           • ระบบประสาทส่วนกลางและสมอง : สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อของร่างกาย , หายใจลำบาก ซึ่งถ้ามีอาการของระบบนี้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิต 100 % • อาการทางปอด : เนื้อปอดบวม มักจะเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยในสัปดาห์ที่ 3 – 4 และถ้าได้รับรังสีตลอดทั่วร่างกาย (Whole Body Exposure) จะทำให้เกิดอาการดังนี้              1. ได้รับรังสี 3 – 5 เกรย์ ไขกระดูกไม่มีการสร้างเม็ดเลือดอาจเสียชีวิตถึง 50 % โดยอาจเสียชีวิตภายใน 30 – 60 วัน              2. ได้รับรังสี 5 – 15 เกรย์ มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจเสียชีวิตภายใน 10 –20 วัน              3. ได้รับรังสีมากกว่า 15 เกรย์ มีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้เสียชีวิตภายใน 1–5 วัน        2. มีผลระยะยาว ( Delayed หรือ Stochastic Effect) การที่ร่างกายได้รับรังสีปริมาณน้อย ๆ ถ้าเซลล์ตายร่างกายจะไม่เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ถ้าเซลล์ไม่ตายก็อาจเกิดความผิดปกติของเซลล์นั้น ๆผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากได้รับรังสี คือ การเป็นโรคมะเร็งและผลกระทบต่อพันธุกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับรังสี และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งนั้นเกี่ยวข้องกับลักษณะการได้รับรังสีและปริมาณของรังสี ส่วนผลกระทบต่อพันธุกรรมของมนุษย์นั้น สรุปได้ดังนี้           (1) การก่อกลายพันธุ์ (Mutation) ที่เกิดจากรังสีมักจะเป็นอันตราย           (2) ปริมาณรังสีใด ๆ ก็ตาม (ถึงแม้จะปริมาณน้อย) ก็มีบทบาททำให้เกิดความเสี่ยงทางพันธุกรรมในเซลล์สืบพันธุ์           (3) ความถี่ของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากรังสี เป็นสัดส่วนโดยตรงกับปริมาณรังสี           (4) ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรังสีขึ้นกับอัตราการได้รับรังสีและระยะเวลาที่ได้รับรังสี           (5) ลักษณะกลายพันธุ์ที่เกิดจากรังสีส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะด้อย ดังนั้นจะยังไม่มีการแสดงออกในหลายชั่วคน ทำให้มีประเด็นที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อกล่าวถึงอันตรายจากรังสี คือ              - ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์และทารกในครรภ์ อาจทำให้เป็นหมัน หรือส่งผลถึงทารก ทำให้แท้ง , มีความพิการแต่กำเนิดและมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ตาราง แสดงผลกระทบของรังสีต่อการเป็นหมัน ตาราง แสดงผลกระทบของรังสีต่อทารกในครรภ์ ผลผลต่อการเกิดมะเร็ง ซึ่งต้องได้รับรังสีปริมาณมากในครั้งเดียว หรือหลาย ๆ ครั้ง ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยจะแสดงผลเมื่อระยะเวลาผ่านไปหลายปี  ตารางแสดงผลกระทบจากรังสีต่อร่างกาย โดย International Commission on Radiological Protection (ICRP) ซึ่งเป็นองค์การสากลในการป้องกันอันตรายจากรังสี ได้รวบรวมผลกระทบจากรังสีต่อร่างกายไว้ดังนี้  ตาราง แสดง ปริมาณรังสีที่จำกัดให้ประชาชนทั่วไปและผู้ปฏิบัติงานทางรังสีได้รับ ต่อปีตามเกณฑ์ ของ ICRP หมายเหตุ มิลลิซีเวิร์ตเป็นหน่วยวัดปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับ และโดยปกติใน 1 ปี แต่ละคนจะได้รับรังสีจากธรรมชาติประมาณ 2.23 มิลลิซีเวิร์ต ดังนี้ การป้องกันอันตรายจากรังสี สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางรังสี ควรปฏิบัติดังนี้     1. ใช้เวลาปฏิบัติงานให้สั้นที่สุด เนื่องจากปริมาณรังสีที่ได้รับนั้นจะขึ้นกับเวลาของการได้รับรังสี และควรหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น     2. รักษาระยะทางให้ห่างจากต้นกำเนิดรังสีให้มากที่สุด การอยู่ห่างเท่ากับเป็นการอาศัยอากาศ เป็นกำแพงกำบังรังสีได้ ถ้าอยู่ที่ห่างจากเดิม 2 เท่า ปริมาณรังสีจะลดลงเหลือ 1 ใน 4     3. จัดให้มีเครื่องกำบังรังสี ให้เหมาะสมตามคุณสมบัติของรังสีแต่ละชนิด ได้แก่        - รังสีแอลฟ่าสามารถกั้นได้ด้วยแผ่นกระดาษแข็ง        - รังสีเบต้าสามารถกั้นได้ด้วยวัสดุที่มีเลขมวลต่ำ เช่น แผ่นพลาสติกหนาๆ        - รังสีแกมม่าหรือรังสีเอกซ์สามารถกั้นได้ด้วยวัสดุที่มีเลขมวลสูง เช่น ตะกั่ว , เหล็ก        - รังสีนิวตรอน สามารถกั้นได้ด้วย คอนกรีต , ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน     4. การจำกัดขอบเขตของลำรังสีจะมีประโยชน์มากในการป้องกันการได้รับรังสีมากเกินความจำเป็น นั้นคือการเปิดขนาดของขอบเขตของลำรังสีตามขนาดของอวัยวะที่ต้องการตรวจ ที่ทำให้ได้รับรังสีน้อยที่สุดและภาพออกมากชัดเจน    5.ขณะถ่ายภาพรังสี เจ้าหน้าที่จะต้องมีฉากกั้นรังสีทุกครั้ง และไม่ยื่นส่วนใดออกมานอกฉาก โดยไม่จำเป็น     6. ถ้ามีความจำเป็นต้องจับตัวผู้ป่วยขณะถ่ายภาพรังสี ควรให้ญาติหรือผู้อื่นที่ไม่ได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีเป็นผู้จับ และต้องสวมเสื้อและใส่ถุงมือกั้นรังสีทุกครั้ง     7. สภาพเครื่องมือ เครื่องใช้เกี่ยวกับรังสี ต้องได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยและใช้งานได้ตลอดเวลา     8. ควรติดเครื่องมือวัดรังสีไว้ติดตัวตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน เพื่อตรวจสอบปริมาณ รังสีที่เราได้รับ     9. ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีควรระมัดระวังการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางการหายใจ การกิน หรือการสัมผัสทางผิวหนังหรือแผล     10. สารกัมมันตรังสีควรมีป้ายบอกชัดเจน ทั้งในเรื่องของ ชนิด ประเภท วันที่ ความแรงของสารกัมมันตรังสี  สำหรับประชาชนทั่วไป     1. ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณที่มีสารกัมมันตรังสี หรือในบริเวณที่มีการปฏิบัติงานทางรังสี ซึ่งโดยทั่วไปจะมีป้ายเตือนเป็นรูปใบพัดสามแฉกติดอยู่     2. สตรีมีครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการตรวจหรือการรักษาที่ต้องใช้รังสี แต่หากมีความจำเป็น ควรปรึกษาแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด     3. หลีกเลี่ยงการถ่ายเอกซเรย์หลายครั้ง หรือถ่ายซ้ำโดยไม่จำเป็น     4. สำหรับผู้ป่วยเด็กที่จำเป็นต้องถ่ายเอกซเรย์ ควรมีเครื่องกำบังรังสีให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธ์     5. ห้ามสตรีมีครรภ์และเด็ก เข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่ได้รับการฝังหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสี     6. ผู้ป่วยที่ได้รับการฝังหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสี ไม่ควรกลับบ้าน ก่อนได้รับความยินยอมจากแพทย์     เครื่องวัดรังสีประจำตัวบุคคล คือ อุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูล ปริมาณรังสีจากภายนอกร่างกายที่บุคคลนั้นได้รับ เพื่อใช้ในการประเมินระดับอันตรายจากการได้รับรังสี มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ       1. Pocket dosimeter : ใช้กับผู้ที่ต้องเข้าไปในบริเวณที่มีรังสีค่อนข้างสูงในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อออกจากบริเวณนั้นก็อ่านค่าปริมาณรังสีที่ได้รับได้ทันที        2. Film Badge : เป็นฟิล์มที่อยู่ในตลับ วัดได้ทั้งรังสีเอกซ์ , รังสีแกมม่า , เบต้าและนิวตรอน วัดปริมาณรังสีในช่วงกว้างและสามารถแยกได้ว่า ได้รับจากรังสีชนิดใดเป็นปริมาณเท่าไหร่ ส่วนด้านนอกของกระดาษห่อฟิล์ม จะมีชื่อ วันที่ที่เริ่มใช้และเลขประจำตัวของผู้ใช้พิมพ์ไว้        3. TLD ( Thermolumine scene dosimeter ) : มีหลายชนิด ช่วงของการใช้งานต่างกัน สามารถวัดปริมาณรังสีที่น้อยกว่าและมีความแน่นอนกว่าฟิล์ม นอกจากนี้แล้วยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่มีราคาแพงกว่าฟิล์มและเก็บข้อมูลถาวรอย่างฟิล์มไม่ได้  ข้อควรระวังในการใช้เครื่องวัดรังสีประจำตัว    1. ห้ามยืมหรือแลกเปลี่ยนกันใช้งาน     2. ระวังไม่ให้เปียกน้ำ หรือได้รับความชื้น หรือแตกหัก เสียหาย     3. ระวังไม่ให้อยู่ใกล้ความร้อน หรือที่ที่ได้รับแสงแดดโดยตรง เช่น ในรถยนต์     4. ใช้เครื่องวัดรังสีให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์     5. ส่งคืนเมื่อครบกำหนด เพื่อการประเมินผลการรับรังสี ( ฟิล์มและ TLD นำมาประเมิน ทุก 1-3 เดือน )  ที่มา รุ่งทิพย์ อุดมวิเศษสันต์ หน่วยรังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<