มารู้จักการจัดฟันกันเถอะ

การจัดฟัน คืออะไร
การจัดฟัน (Orthodontic Treatment) เป็นการเคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม

การจัดฟัน คืออะไร

การจัดฟัน (Orthodontic Treatment) เป็นการเคลื่อนฟันไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม โดยอาศัยเครื่องมือบางชนิดซึ่งมีทั้งแบบถอดได้และแบบที่ยึดติดอยู่กับตัวฟัน แบบที่อยู่ในช่องปากและแบบที่อยู่นอกช่องปาก นอกจากนี้ การจัดฟัน ยังรวมไปถึง การแก้ไขลักษณะนิสัยที่ผิดปกติในการบดเคี้ยว การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของขากรรไกรอีกด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านความสวยงาม และการทำหน้าที่

ข้อดีและข้อเสียของการจัดฟัน

ข้อดีของการจัดฟัน

1. การบดเคี้ยวอาหาร การจัดฟันจะทำให้บดเคี้ยวอาหารได้ดียิ่งขึ้น และย่อยอาหารได้ดียิ่งขึ้น กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป เนื่องจากการบดเคี้ยวเป็นขั้นแรกในการย่อยอาหาร

2. ทำให้ปัญหาต่างๆ ทางทันตกรรมลดลง

- ฟันซ้อนเกจะทำให้เราทำความสะอาดหรือแปรงฟันได้ยาก และไม่ทั่วถึง ส่งผลให้มีคราบอาหารและคราบจุลินทรีย์รวมทั้งหินปูนมาเกาะจับที่ตัวฟันอยู่เยอะ ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุและโรคเหงือกได้

- ฟันซ้อนเกจะทำให้เมื่อเราใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหารประจำวัน จะเกิดการสึกของฟันในตำแหน่งที่ไม่ควรจะเกิด ทำให้การสบฟันผิดจากตำแหน่งปกติที่ควรจะเป็น จึงส่งผลให้ยิ่งนานไป ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อตัวฟัน เหงือกและข้อต่อขากรรไกร

3. ความสวยงาม การจัดฟันจะทำให้ฟันเรียงตัวสวยงาม เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพและเพิ่มความมั่นใจแก่ตัวเองอีกด้วย

ข้อเสียของการจัดฟัน                                     

1. ฟันผุ เหงือกอักเสบ เนื่องจากการที่เรามีเครื่องมือจัดฟันอยู่ในช่องปาก จะทำให้การทำความสะอาดเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบได้ง่าย ผู้ที่จัดฟันจึงควรแปรงฟันอย่างสะอาดทั่วถึงหลังจากมื้ออาหารทุกมื้อ

2. อาการแพ้สาร ที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือจัดฟัน บางคนแพ้สารนิเกิลที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องมือจัดฟัน แต่พบได้น้อยมาก

3. อาการเจ็บ พบได้เกือบทุกคนที่จัดฟัน อาการเจ็บนี้มักเกิดจากการเคลื่อนตัวของฟัน หรือเกิดจากเครื่องมือจัดฟันไปทิ่มกับเนื้อเยื่อภายในช่องปาก อาการเจ็บจะเป็นในบางช่วงของการจัดฟันเท่านั้น

4. อาการปวดข้อต่อขากรรไกร อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการจัดฟัน เนื่องจากฟันเคลื่อนตัวไปในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมต่อการบดเคี้ยว

5. ฟันตายหรือรากฟันมีการละลายตัว พบได้ไม่บ่อยนักในผู้ที่มีการจัดฟัน อย่างไรก็ตามเราพบว่าในระหว่างการจัดฟันนั้น ฟันที่ตายไปแล้ว อาจจะย้อนกลับมามีชีวิตดังเดิมได้ และในคนปกติที่ไม่ได้จัดฟันรากฟันก็จะมีการละลายตัวได้เองอยู่แล้ว

ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟัน                 

ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟันนั้น จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉลี่ยการจัดฟันแบบติดแน่นนั้นใช้เวลาประมาณ 1.5 - 2.5 ปี แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดฟันแตกต่างกันไป ดังนี้

1. ผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า มักจะใช้ระยะเวลาในการจัดฟันมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า

2. การจัดฟันที่มีการถอนฟันร่วมด้วย มักจะใช้เวลาในการจัดฟันมากกว่าการจัดฟันที่ไม่มีการถอนฟันร่วมด้วย

3. การจัดฟันที่มีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย มักจะใช้เวลามากกว่าการจัดฟันที่ไม่มีการผ่าตัดขากรรไกร

4. การผิดนัดบ่อยๆ ย่อมทำให้เวลาในการจัดฟันนานขึ้น        

5. การไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง เช่น การใส่ยางหรือการใส่เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้ ย่อมทำให้เวลาในการจัดฟันมากขึ้น

6. การรับประทานอาหารโดยการไม่ระมัดระวัง จะทำให้เหล็ก ยางหรือลวดจัดฟันหลุด หรือเสียหาย ย่อมทำให้ระยะเวลาในการจัดฟันมากขึ้น