ไวรัสโรต้า (Rotavirus infection) - โรคอุจจาระล่วงในเด็ก

ไวรัสโรต้า คืออะไร? (Rota virus)

โรต้าเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ติดต่อได้ง่าย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยพบได้มากสุดในเด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี มีรายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แทบทุกคนต้องเคยติดเชื้อไวรัสโรต้าอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ถ้าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ติดเชื้อนี้ อาจจะมีอาการรุนแรงหรือมีอาการน้อยกว่าที่พบในเด็กเล็กก็ได้

ไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กเล็กมีอาการท้องเสียรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากการขาดน้ำและเกลือแร่ เป็นไวรัสที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวางได้มากทั่วโลก

แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่มีความรู้ด้านสาธารณสุขและสุขอนามัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้

ประมาณว่าในแต่ละปีมีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน จากการติดเชื้อไวรัสโรต้า

เด็กๆ ติดเชื้อได้อย่างไร?

การติดเชื้อไวรัสโรต้าเกิดจากการรับประทานสิ่งปนเปื้อนอุจจาระที่มีเชื้อนี้เข้าทางปาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหารและสิ่งของ เช่น ของเล่นเด็ก หรือมือที่เปื้อนเชื้อไวรัสเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อได้จากนั้นเชื้อไวรัสเดินทางไปตามระบบทางเดินอาหาร คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ทำให้การดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง และเอนไซม์สำหรับย่อยคาร์โบไฮเดรตผิดปกติ

อาการของโรคเป็นอย่างไร?

 หลังได้รับเชื้อไวรัสโรต้า 1 – 3 วัน จะมีอาการ ดังนี้

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีไข้ (ไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส)
  • บางรายอาจเกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ คือ น้ำมูกไหล ไอ คอแดง ร่วมด้วย
  • ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ อาจมากถึง 10 – 20 ครั้งต่อวัน

ส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายใน 3 – 5 วัน ส่วนน้อยจะมีอาการท้องเสียยืดเยื้อเรื้อรังนาน 9 วันถึง 3 สัปดาห์ได้ หากอาการท้องเสียเกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือมีอาการรุนแรงจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ที่สำคัญ

ซึ่งจะขาดได้ในปริมาณที่มากกว่าการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อีกหลายชนิด เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ดังนั้นหากมีอาการรุนแรงควรรีบพาพบแพทย์ การรักษาที่ดีที่สุด คือ ให้น้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอและให้ทันเวลา

ทราบได้อย่างไรว่าอาการท้องเสียเกิดจากไวรัสโรต้า?

แพทย์วินิจฉัยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ได้จากประวัติอาการของเด็กและฤดูกาลที่เป็น (พบได้ทั้งปีแต่มักเป็นช่วงหน้าหนาว เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) ร่วมกับการตรวจพบเชื้อไวรัสโรต้าในอุจจาระ (Rotavirus Ag in Stool = positive)

ถ้าลูกติดเชื้อแล้วควรได้รับการรักษาอย่างไร ?

เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยตรง การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ คือ ถ้าอาการไม่รุนแรงก็สามารถรับประทานยาที่บ้านได้ โดยดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการถ่ายอุจจาระและอาเจียนรับประทานยาแก้อาเจียนถ้ามีอาเจียนบ่อย

หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน

  • เด็กมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปากแห้ง ตาโหล ซึมลง
  • ตัวเย็นหรือมีไข้สูง (อุณหภูมิมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส)
  • ชัก
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • ปัสสาวะออกน้อย สีเข้มหรือไม่ปัสสาวะเลยเกิน 6 ชั่วโมง
  • อาเจียนมากไม่สามารถรับประทานได้

เราจะสามารถปกป้องลูกจากเชื้อได้อย่างไร?

สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะ ของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วยต้องรีบป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น

แนะนำผู้ปกครองให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์และหยุดรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ

วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงเบื้องต้น

คือ การรักษาสุขอนามัย การดูแลความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ของเล่นลูกและสอนให้ล้างมืออย่างถูกต้อง วิธีป้องกันนี้เป็นเพียงการป้องกันเชื้อโรคและแบคทีเรียโดยทั่วไป แต่ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าได้เต็มที่

เนื่องจากโรต้าเป็นไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายกว่า ในอุจจาระของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรต้า 1 ซีซี มีเชื้อขับออกมา 1,000,000 ล้านตัว แต่เชื้อไวรัสโรต้าเพียง 10 ตัว ทำให้เราติดเชื้อและเกิดอาการเจ็บป่วยได้แล้ว

วิธีที่ดีที่สุด คือ วัคซีนโรต้า (Rotavirus infection)

การเสริมสร้างภูมิต้านทานด้วยวัคซีนชนิดรับประทาน เป็นวิธีที่สะดวกและได้ผลดี ทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันพอที่จะป้องกันโรคได้ จะช่วยให้อาการป่วยรุนแรงน้อยลง ช่วงที่ให้วัคซีนโรต้าครั้งแรกจะอยู่ในช่วงอายุ 6 สัปดาห์ถึง 4 เดือนและต้องให้ครบภายในอายุ 8 เดือน

จากการศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าที่รุนแรง พบว่าวัคซีนโรต้าสามารถป้องกันได้ประมาณ 80 – 90 % ในเด็กที่เคยได้รับวัคซีนครบ

หากมีการติดเชื้อตัวนี้ในครั้งต่อๆ ไป (เนื่องจากโรต้ามีหลายสายพันธุ์) อาการจะรุนแรงน้อยลง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วบางส่วน

ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสที่มีความทนทานต่อภาวะแวดล้อมได้ดี ติดต่อได้ง่ายการรักษายังไม่มีวิธีที่รักษาจำเพาะ เป็นการรักษาทั่วไปตามอาการการป้องกันด้วยการให้วัคซีนชนิดรับประทานยังคงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด

 

นพ. ภูษิต วชิรกิติกุล
ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร

<