โนโรไวรัสคืออะไร?

โนโรไวรัส ติดง่าย แต่ป้องกันได้ โนโรไวรัสคืออะไร? โนโรไวรัสเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้บ่อยในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่รอดในอุจจาระและสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 2 สัปดาห์ ทำให้แพร่ระบาดได้ง่าย เชื้อยังทนต่อแอลกอฮอล์ หมายความว่าแอลกอฮอล์ทั่วไปไม่สามารถกำจัดเชื้อชนิดนี้ได้   โรคนี้ติดต่อได้อย่างไร? การรับประทานอาหาร น้ำดื่ม หรือน้ำแข็งที่ปนเปื้อนเชื้อ การหายใจเอาละอองฝอยจากอาเจียนของผู้ติดเชื้อ การสัมผัสพื้นผิว ของเล่น หรือสิ่งของที่มีเชื้อ และนำมือไปสัมผัสปาก โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ อาการอาจรุนแรงมากกว่า   อาการของโรคโนโรไวรัส คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ภาวะขาดน้ำในรายที่อาการรุนแรง หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบพักผ่อน ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือปรึกษาแพทย์ทันที   ป้องกันโนโรไวรัสได้อย่างไร? แม้โนโรไวรัสจะติดง่าย แต่ก็สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้: ล้างมือ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร กินอาหารปรุงสุก และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน รักษาความสะอาด ของพื้นที่ใช้สอย เช่น ห้องครัว พื้นผิวโต๊ะ หรือของเล่นเด็ก โนโรไวรัสเป็นโรคที่แม้จะติดง่าย แต่การป้องกันก็ไม่ยาก เริ่มจากการรักษาความสะอาด และระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณและคนที่คุณรักในช่วงฤดูหนาวนี้  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไอรุนแรง หายใจติดขัด สัญญาณเตือน! โรคไอกรน

                      โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ  ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอติดๆ กัน 5-10 ครั้งหรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน   สาเหตุ               เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis (B. pertussis) เป็นเชื้อที่เพาะขึ้นใน Bordet Gengau media ซึ่งเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นได้ยาก จะพบเชื้อได้ในลำคอ ในส่วน nasopharynx ของผู้ป่วยในระยะ 1-2 อาทิตย์แรก ก่อนมีอาการไอเป็นแบบ paroxysmal               ไอกรนเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการ ไอ จาม รดกัน โดยตรงผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกรายโรคนี้พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ (carrier) หรือมีอาการไม่มากโรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก ทั้งนี้เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมากในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูงส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกอายุถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการหรือไม่มีอาการแบบไอกรน  ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน   อาการและอาการแสดง แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้               1) ระยะมีน้ำมูก  (Catarrhal stage) เด็กจะเริ่มมีอาการ มีน้ำมูก และไอ เหมือนอาการเริ่มแรกของโรคหวัดธรรมดาอาจมีไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล ระยะนี้เรียกว่า Catarrhal stage จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าไอนานเกิน 10 วัน เป็นแบบไอแห้งๆ               2) ระยะไอรุนแรง (Paroxysmal stage) ระยะนี้มีอาการไอเป็นชุด ๆ เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ไม่มีเสมหะจะเริ่มมีลักษณะของไอกรน คือ มี อาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด 5-10 ครั้งตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียง วู๊ป (whoop) ซึ่งเป็นเสียงการดูดลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่ไอผู้ป่วยจะมีหน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพองการไอเป็นกลไกที่จะขับเสมหะที่เหนียวข้นในทางเดินหายใจออกมาผู้ป่วยจึงจะไอติดต่อกันไปเรื่อย ๆ  จนกว่าจะสามารถขับเสมหะที่เหนียวออกมาได้บางครั้งเด็กอาจจะมีหน้าเขียว เพราะหายใจไม่ทันโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหน้าเขียวได้บ่อย และบางครั้งมีการหยุดหายใจร่วมด้วยอาการหน้าเขียวอาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้ส่วนใหญ่เด็กเล็กมักจะมีอาการอาเจียนตามหลังการไอเป็นชุด ๆ ระยะไอเป็นชุด ๆนี้จะเป็นอยู่นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้               3) ระยะฟื้นตัว (Convalescent stage) กินเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุด ๆ จะค่อยๆลดลงทั้งความรุนแรงของการไอและจำนวนครั้ง แต่จะยังมีอาการไอหลายสัปดาห์ระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์   โรคแทรกซ้อน  โรคแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญของโรคไอกรนในเด็กเล็กโรคในปอดที่อาจพบได้อีกจะเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม ทำให้เกิด atelectasis จากการไอมากๆทำให้มีเลือดออกในเยื่อบุตา (Subconjunctival hemorrhage) มี petechiae ที่หน้าและในสมอง  ระบบประสาทอาจมีอาการชัก พบบ่อยในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองในขณะที่ไอถี่ ๆและอาการชักอาจเกิดจากมีเลือดออกในสมอง   การให้วัคซีนป้องกัน เด็ก : ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ตั้งแต่อายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน กระตุ้นอีก 1 เข็มเมื่ออายุ 4-6 ปี สตรีตั้งครรภ์ : แนะนำฉีดช่วงอายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ เพื่อป้องกันลูกน้อยตั้งแต่เกิด ผู้ใหญ่ : ควรฉีดวัคซีนเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป และกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก 10 ปี                       *ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี การได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน 4-5 ครั้งนับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรนวัคซีนไอกรนที่มีใช้ขณะนี้เป็นวัคซีนที่เตรียมจากแบคทีเรีย B. pertussis ที่ตายแล้ว (Whole cell vaccine) รวมกับ diphtheria และ tetanus toxoids (Triple vaccine, DTP) ให้ฉีดเข้ากล้าม   เสริมเกราะปกป้องลูกน้อยจากโรคร้าย ด้วยการฉีดวัคซีนวันนี้       https://www.pidst.or.th/A299.mobile ที่มาข้อมูล: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สารต้านอนุมูลอิสระ Antioxidant

ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับสารต้านอนุมูลอิสระหรือ Anitoxidant เรามาทำความรู้จักอนุมูลอิสระ หรือ Free Radicals กันก่อนว่าคืออะไร  อนุมูลอิสระหรือ Free Radicals คือโมเลกุลหรืออะตอมที่สูญเสียอิเล็คตรอนไปทำให้เกิดความไม่เสถียรของพลังงานขึ้นในตัวมันเอง จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาแย่งชิงอิเล็คตรอนจากโมเลกุลอื่นๆส่งผลให้โครงสร้างโมเลกุลอื่นๆเปลี่ยนแปลงผิดเพี้ยนไป โดยอนุมูลอิสระนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย อนุมูลอิสระภายในร่างกาย ส่วนใหญ่มาจากกระบวนการเผาผลาญในเซลล์เพื่อสร้างพลังงาน ที่หน่วยย่อยภายในเซลล์อันมีชื่อว่า ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) ดังนั้นถ้าเรารับประทานอาหารเข้าไปมากเกินความต้องการ ร่างกายจะเกิดการเผาผลาญมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาก็คือเกิดอนุมูลอิสระที่มากขึ้น อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นภายนอกและส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระมากขึ้นในร่างกาย ได้แก่ รังสี UV ควันมลพิษ การสูบบุหรี่ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส การรับประทานอาหารประเภทผัด ทอด ปิ้งย่าง รวมถึงภาวะความเครียดทั้งทางกาย (อดนอน อดอาหารลดน้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างหนัก ) และทางใจ เป็นต้น เมื่อเกิดอนุมูลอิสระขึ้นมา ร่างกายของเราจึงมีกลไกลในการต่อสู้หรือกำจัดความเป็นพิษเหล่านี้ด้วยการสร้าง “สารต้านอนุมูลอิสระ หรือ Antioxidants” ขึ้นมาต่อต้าน  แต่เมื่อไรก็ตามที่ร่างกายมีอนุมูลอิสระมากจนเกินกว่าความสามารถของสารต้านอนุมูลอิสระจัดการได้ อนุมูลอิสระก็จะเริ่มก่อกวนทำลายเซลล์ต่างๆในร่างกายอย่างช้าๆโดยที่เราไม่รู้ตัว มีชื่อเรียกภาวะนี้ว่า “Oxidative Stress” และสิ่งที่จะตามมาก็คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สมองเสื่อม ต้อกระจก โรคอ้วนหรือแม้กระทั่งโรคมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้น เราจึงควรรีบป้องกันก่อนที่เซลล์จะถูกทำลาย โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอันก่อให้เกิดอนุมูลอิสระดังที่กล่าวข้างต้น และเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากการรับประทานผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วย วิตามิน แร่ธาตุ และไฟโตนูเทรียนท์หลากหลายชนิด สำหรับทางเลือกในการดูแลสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยจึงทำให้เราสามารถตรวจหาระดับสารต้านอนุมูลอิสระในแต่ละชนิดได้ เช่น วิตามิน A,C,E, Lycopene, Beta-Carotene และ CoenzymeQ10 เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกเสริมสารอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคได้อย่างแม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 มีประโยชน์กว่าการไม่ฉีด

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 มีประโยชน์กว่าการไม่ฉีด ดังนี้ 1. ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่าการไม่ได้ฉีดวัคซีน 2. ลดโอกาสการเกิดอาการ Long COVID 3. ลดโอกาสเกิดอาการรุนแรง 4. ลดการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด 19 ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโควิด 19 โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น   ปัจจุบันได้มีคำแนะนำการฉีดด้วยวัคซีนป้องกันโควิด 19 รุ่นล่าสุด คือ วัคซีนชนิดโมโนวาเลนต์ (monovalent) สายพันธุ์ XBB.1.5 แก่ผู้ที่มีความจำเป็นต้องดั้บการป้องกันโรค ดังนี้ 1. ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด 19 (ไม่ว่าจะเคยป่วยเป็นโควิด 19 มาแล้วหรือไม่ก็ตาม) จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 รุ่นล่าสุดอย่างน้อย 1 เข็ม 2. ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 รุ่นต้นแบบ (สายพันธุ์อู่ฮั่น) หรือวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ (bivalent: สายพันธุ์อู่ฮั่นและสายพันธุ์ BA) มาก่อน จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 รุ่นล่าสุด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยฉีดห่างจากเข็มสุดท้ายหรือการติดเชื้อครั้งล่าสุดตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนเข็มที่เคยฉีดมาก่อน ดังนี้ 2.1 ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ - ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ - ผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางโรค เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด - ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อหรือแพร่เชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเชื้อไวรัส 2.2 ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องปานกลางหรือรุนแรง ที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ที่มีภาวะดังนี้ - มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด - ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก - เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ที่มีระดับ CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อไมโครลิตร กำลังรับยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเณ้ง ยากดภูมิต้านทาน ยาคอร์ติโดสเตียรอยด์ (corticosteroids) หรือยาฉีดกลุ่มชีวภาพ 2.3 ประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18-59 ปี (ตามความสมัครใจ) หากคุณไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน เช่น เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อวัคซีนป้องกันโควิด 19 มาก่อน สามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 รุ่นล่าสุด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ได้ตามความสมัครใจ และในปัจจุบัน* พบว่า สายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลกกว่า 99% รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวมีสายพันธุ์ย่อย คือ XBB.1.5, XBB.1.16, EG.5, JN.1 โดยสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าถึง 3 เท่า สามารถลดระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อหรือรับวัคซีนลดลงภายใน 4-6 เดือน ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือเกิดการติดเชื้อแม้จะได้รับวัคซีนมาแล้ว (*ข้อมูลเดือนมีนาคม 2567)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

“DNA Testing” นวัตกรรมเพื่อการประเมินและดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล

 ร่างกายของคนเรา ประกอบไปด้วยเซลล์ประมาณ 60 ล้านล้านเซลล์ โดยทุกเซลล์ จะมีสารพันธุกรรมซึ่งเป็นสารที่ เรียกว่า DNA สำหรับเก็บรหัสที่เรียงต่อกันไปเรื่อย ๆ เพื่อใช้ในการสร้างสารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เรียกได้ว่า สาร พันธุกรรม DNA คือ "แบบพิมพ์เขียว" ของสิ่งมีชีวิต เมื่อความก้าวหน้าด้านการศึกษาพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีการหารหัส พันธุกรรมมีมากขึ้น ทำให้นักวิจัยสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ เหมาะสม ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อประกอบการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาโรค ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด และเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย รหัสพันธุกรรมหรือ DNA สามารถช่วยในการดูแลสุขภาพตามหลักการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ซึ่งมี แนวทางการมุ่งเป้าตั้งแต่การแพทย์เชิงป้องกัน (Preventive medicine) คือป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค หลักการป้องกันก่อนการ เกิดโรคนี้ พบว่ามีผลดีกว่า ค่าใช้จ่ายในการป้องกันจะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยเฉลี่ยประมาณ 10 เท่า นอกจากนี้ ยัง ลดความทุกข์ทรมานการการเกิดโรคอีกด้วย ในปัจจุบันการตรวจมีหลากหลายชุดตรวจ ทั้งด้านไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ➢ Life : ชุดตรวจทางพันธุกรรมที่จะช่วยให้คุณทราบถึงรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสมกับคุณที่ส่งผลมาจาก DNA ทำให้คุณ สามารถเข้าใจตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถใช้ผลการตรวจนี้ เพื่อวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาว เพื่อให้มีสุขภาพที่ ดีตลอดไป ผลตรวจมากกว่า 74 รายการ ➢ Health : ชุดตรวจทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ รวมทั้งการตอบสนองต่อยา ผลตรวจทาง พันธุกรรมที่เฉพาะแต่ละบุคคลนี้ ช่วยให้คุณเข้าใจถึงโอกาสในการเกิดโรคต่างๆของตัวคุณเอง ทำให้คุณสามารถวาง แผนการดูแลสุขภาพระยะยาวเพื่อห่างไกลจากโอกาสเกิดโรคมากที่สุด ผลตรวจมากกว่า 277 รายงาน ➢ Legend : ชุดตรวจหาการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคทางพันธุกรรม ที่ได้รับการถ่ายทอดทาง พันธุกรรมจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกหลาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ หรือต้องการวางแผนก่อน การมีบุตร ผลตรวจมากกว่า 60 รายการ ใครบ้างที่ควรตรวจ ✓ สำหรับบุคคลที่มีความกังวลในเรื่องของสุขภาพ อันเนื่องมาจากมี/ไม่มีประวัติครอบครัว ✓ ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อดีไซน์การออกกำลังกายให้ตรงจุด เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกายโดยไม่ เกิดการบาดเจ็บหรือการอักเสบ  ✓ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก อย่างตรงจุดและมีสุขภาพที่ดี ✓ สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนมีบุตร ✓ บุคคลทั่วไปที่ต้องการมีสุขภาพที่ดี ดีไซน์การใช้ชีวิตให้ตรงกับ DNA เพื่อความอ่อนวัย ขั้นตอนง่ายๆ ในการเตรียมตัวก่อนการตรวจ  1. ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อเลือกชุดตรวจให้เหมาะสม 2. ก่อนการเก็บตัวอย่างต้องงดน้ำ งดอาหารทุกชนิดก่อนการตรวจ 30 นาที  3. หากคนไข้พึ่งจะรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องมา ให้บ้วน ปากด้วยน้ำเปล่าเท่านั้น ห้าม!! ใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือ แปรงฟัน หลังจากบ้วนปากเสร็จให้นั่งรอ 30 นาที 4. เก็บตัวอย่าง DNA จากน้ำลาย โดยใช้ชุดเก็บน้ำลายโดยเฉพาะ  5. ชุดเก็บน้ำลายจะมีลักษณะ  6. คนไข้ต้องบ้วนน้ำลายให้ถึงขีดที่กำหนด โดยไม่รวมฟอง (ประมาณน้ำลาย 2 ml) ช่องสำหรับบ้วนน้ำลายจะมีที่เอาไว้ ประกบปาก เมื่อบ้วนน้ำลายเสร็จ ให้ปิดฝาที่บรรจุน้ำยา กดลงจนฝาที่ซีลน้ำยาขาด และให้น้ำยาไหลลงไปในหลอด ทดสอบจนหมด 7. หมุนฝาที่ใช้บ้วนน้ำลายออก และปิดฝาด้วยฝาสีน้ำเงินให้สนิท 8. พลิก tube ขึ้นลงประมาณ 10 ครั้ง 9. กรอกข้อมูลลงในใบสั่งตรวจ และส่งตัวอย่างตรวจให้ห้อง Lab 10. รอผลตรวจ และนัดพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำอย่างตรวจจุด “รู้ก่อน ปรับก่อน ลดเสี่ยง เลี่ยงป่วย”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

แน่นอก แยกให้ออก : หัวใจวาย หรือ กรดไหลย้อน?

จุดสังเกตความแตกต่างอาการระหว่าง โรคหัวใจ กับ โรคกรดไหลย้อน เมื่อเกิดอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกเจ็บร้าวไปที่ลำคอ ขากรรไกร ไหล่และแขนซ้าย เจ็บเมื่อออกแรง สำหรับโรคกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอกเวลาหายใจลึกๆ หรือไอ แต่ไม่ร้าวไปบริเวณขากรรไกร ไหล่ หรือแขน มีอาการมากขึ้นหลังมื้ออาหาร   อาการของโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด หรือกดทับ เจ็บหน้าอกปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย หัวไหล่ เจ็บหน้าอกมากขึ้น เมื่อมีการออกแรง หรือ ออกกำลังกาย เหงื่อออก จะเป็นลม หน้าซีด ใจสั่น หอบเหนื่อย คลื่นไส้ มีอาการจุกบริเวณคอหอย ซึ่งบางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่   อาการของโรคกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอกเวลาหายใจลึกๆ หรือไอ แต่ไม่ร้าวไปบริเวณขากรรไกร ไหล่ หรือแขน มีอาการมากขึ้นหลังมื้ออาหาร แล้วโน้มตัวลงนอน แสบร้อนบริเวณทรวงอก คอ มีอาการปวด จุกเสียด แน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหารไหลย้อยขึ้นมา มีรสขมขึ้นคอและปาก ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เจ็บคอเรื้อรัง มีกลิ่นปาก กลืนอาหารลำบาก จุกที่คอ คล้ายมีอะไรติดขวางลำคอ   การแยกแยะระหว่างอาการของโรคหัวใจและโรคกรดไหลย้อนอาจทำได้ยาก เนื่องจากมีอาการคล้ายคลึงกันในบางแง่มุม อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างสำคัญคือ อาการของโรคหัวใจมักรุนแรงขึ้นเมื่อออกแรงและอาจร้าวไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ในขณะที่อาการของโรคกรดไหลย้อนมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารและการนอนราบ หากคุณสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง เหงื่อออก หน้ามืด หรือหายใจลำบาก อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยด่วน การวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงทีอาจช่วยชีวิตคุณได้ ดังนั้น หากมีข้อสงสัยใดๆ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องโดยเร็วที่สุด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคคาโรชิซินโดรม (Karoshi Syndrome)

เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานหนักเกินไปจนกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในสังคมที่มีการทำงานหนักมาก เช่น ญี่ปุ่น "คาโรชิ" (Karoshi) ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง "การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก" ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อคนทำงานมีภาวะความเครียดสูงจากการทำงานเป็นเวลานานโดยไม่มีการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือไม่มีการดูแลสุขภาพที่ดี ผลกระทบจากภาวะนี้สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง   สาเหตุหลักของคาโรชิซินโดรมมาจากการทำงานที่เกินกำลัง การขาดการพักผ่อน ความเครียดสะสม และการไม่มีสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว   ผู้ที่เข้าข่ายป่วยด้วยโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) นั้น มีอาการเด่น ๆ 8 อาการ ดังนี้   1. กังวลเรื่องงานอยู่ทุกขณะจิต แม้แต่ตอนนอนยังฝันว่าทำงาน เครียดเรื่องงานตลอดเวลา คิดอยู่เสมอว่าจะจัดการกับงานอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะวางแผนการทำงานอย่างไรถึงจะทำงานได้ทัน จนความคิดเรื่องงานเข้ามาแย่งพื้นที่สมองในการคิดถึงเรื่องอื่น ๆ 2. ทำงานหนักและหักโหมติดต่อกันเป็นเวลานาน  จนอดหลับอดนอน หรือโต้รุ่งข้ามวันข้ามคืนอยู่บ่อย ๆ 3. ไปทำงานไวมาก แต่เลิกงานช้ามาก ไปถึงที่ทำงานก่อนใคร ๆ และทำงานลากยาวจนมืดค่ำ หรือเช้าอีกวัน รู้สึกว่าที่ทำอยู่นั้นไม่ได้มีความสุขเลย ต้องบังคับให้ตัวเองไปทำงานทุก ๆ วัน เพราะงานที่ทำมันไม่จบ และไม่เบาลงเสียที นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตราย 4. รู้สึกผิดที่จะลา พนักงานที่ห่วงงานหนักมากจนแม้ตัวเองจะป่วยก็ไม่ยอมลา ยังคงแบกร่างพัง ๆ ไปทำงาน 5. ทำงานภายใต้ภาวะความกดดันสูง ต้องเผชิญกับความเครียด ต้องทนรับแรงกดดันสูงอยู่ทุกวัน ซึ่งความกดดันนี่เองจะเป็นสาเหตุของโรคคาโรชิ ซินโดรม 6. คุณภาพการนอนแย่ลงมาก หากรู้สึกว่านอนยาก นอนลำบาก ประสาทตึงเครียดและตื่นตัวตลอดเวลา เมื่อนอนหลับก็หลับไม่สนิท ฝันร้าย พอตื่นมาก็รู้สึกปวดหัว รู้สึกนอนไม่พอ แล้วเราก็จะหงุดหงิด หรือรู้สึกไม่สดชื่นไปตลอดทั้งวัน พอถึงเวลานอนก็วนลูปใหม่อีกครั้ง เป็นวงจรอุบาทว์ (vicious circle) ที่หลายคนพบเจอ 7. เหนื่อยตลอดเวลา การทำงานเป็นการใช้พลังงานสมองและร่างกายสูงมาก แต่ถ้าในวันหยุดพักผ่อนก็ยังรู้สึกเหนื่อย รู้สึกอ่อนล้า อ่อนเพลีย และยังมีความเครียดสุงอยู่ โดยเฉพาะในคืนวันอาทิตย์ที่คุณรู้สึกกังวลใจ และไม่อยากให้ถึงวันจันทร์เพราะไม่อยากไปทำงาน อาการเช่นนี้นอกจากจะเป็นสัญญาณของโรคคาโรชิ ซินโดรมแล้ว ยังบอกว่าเข้าข่าย Sunday night syndromeด้วย 8. รู้สึกว่าไม่มีเวลาพอที่จะทำอะไรที่ใจอยากทำ นำเวลาแทบทั้งหมดของชีวิตไปทุ่มเทกับการทำงาน จนลืมไปว่าความฝันตัวเอง ความปารถนา (Passion) ของตัวเอง ลืมเป้าหมายชีวิตของตนเอง    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุต่างจากไข้หวัดในคนทั่วไปอย่างไร

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่พบบ่อยและมักจะมีการระบาดช่วงฤดูฝน อาการโดยทั่วไปอาจจะทำให้เป็นไข้, ไอ, ปวดเมื่อยตามตัว ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาการจะหายเองในเวลา 3-5 วัน แต่ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน มักมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล จากข้อมูลในประเทศไทยพบว่ากลุ่มที่มีอัตราการต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลสูงที่สุดจากโรคไข้หวัดใหญ่คือในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ1   “ไข้หวัดใหญ่” ร้ายกว่าที่คิดในผู้สูงอายุอย่างไร การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายนอกเหนือจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองตีบมากกว่าคนทั่วไป 8เท่า2 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดเลือดตีบที่หัวใจมากกว่าคนทั่วไป 10 เท่า2 23% จะสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองหลังจากเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่3 ในคนไข้เบาหวาน 75% จะมีปัญหาต่อระดับน้ำตาลที่ผิดปกติ4 และโรคหัวใจ อย่าเสี่ยงดีกว่า กับไวรัสไข้หวัดใหญ่ 4 ใน 10 ของ ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะเพิ่มความเสี่ยงให้โรคหัวใจกำเริบ12 การติดเชื้อทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดฉับพลัน12 การติดเชื้อกระตุ้นให้ไขมันมันที่สะสมในผนังหลอดเลือดปริแตก ทำให้เก,ดเลือดเกาะตัวและอุดตัน13 ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนำไปสู่การเสียชีวิต13   สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย (Immunosenescence)5  ทำให้เกิดการตอบสนองต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันลดลงดังจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุจะตอบสนองต่อวัคซีนได้น้อยกว่าในวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โรคที่ติดตัวอยู่เป็นประจำรักษาไม่หายขาด (Underlying disease) การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคปอดเรื้อรัง จะเพิ่มการเสียชีวิตได้หากมีโรคทั้งสองร่วมกัน6 ภาวะเปราะบาง (Frailty) ในผู้สูงอายุ นอกจากจะทำให้การตอบสนองต่อการได้รับภูมิคุ้มกันแย่ลงแล้ว การมีภาวะเปราะบางร่วมกับความเจ็บป่วยอื่นๆ ยังทำให้เกิดความพิการ7 ซึ่งมีโอกาสต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นอีกด้วยเช่น ภาวะเปราะบางกับโรคไข้หวัดใหญ่ โดยพบว่าหากเกิดร่วมกันจะทำให้ความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคลดลง ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหรือโรคประจำตัวหลายอย่างการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะส่งผลให้เกิดภาวะเปราบางเพิ่มขึ้น นำไปสู่การได้รับผลกระทบจากตัวโรคที่เพิ่มขึ้นและการตอบสนองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ลดลงในผู้ป่วยกลุ่มนี้   ไข้หวัดใหญ่ป้องกันได้หรือไม่ โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี เพราะในแต่ละปีเชื้อโรคมีการเปลี่ยนแปลง และพบการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดเชื้อตัวใหม่ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในแต่ละปีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเชื้อที่ระบาดในช่วงเวลานั้น โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาด ใน การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์อย่างไรบ้างนอกจากป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ พบว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่6 ลดอัตราการเกิดmajor adverse cardiovascular event ลดได้ 34% ลดอัตราการเกิดacute coronary syndrome  ลดได้ 45% ลดอัตราการเกิด cardiovascular death ลดได้ 56%   ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) สำหรับผู้สูงอายุซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น8  และยังสามารถลดอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ลดการนอนโรงพยาบาลจากจากปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่  ลดการนอนโรงพยาบาลจากระบบทางเดินหายใจ และลดการนอนโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย9 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง (high dose) สำหรับผู้สูงอายุ มั่นใจได้ในประสิทธิภาพและความปลอดภัย จากประสบการณ์ กว่า 10 ปี ใช้มาแล้วมากกว่า 202 ล้านโด้ส ในกว่า 35 ประเทศ ทั่วโลก10  วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงเป็นหนึ่งในวัคซีนที่แนะนำในผู้สูงอายุโดยอาจพิจารณาเลือกวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ขนาดสูง (high dose) ในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการศึกษาที่แสดงว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ขนาดสูง (high dose) สามารถลดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้มากกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ขนาดมาตรฐาน (standard dose) ล่าสุดมีการศึกษาในผู้สูงอายุเพิ่มเติม  ช่วยลดอัตราการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบ ได้ถึง 64.4% และลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 48.9% ในผู้สูงอายุ11   เอกสารอ้างอิง Baggett HC. et al. PLoS One. 2012;7(11): e48609 Warren-Gash C, et al. Eur respir J. 2018 Andrew MK, et al. J Am Geriatr Soc. 2021. Samson SI, et al. J Diabetes Sci Technol. 2019 Oh SJ, Lee JK, Shin OS. Aging and the Immune System: the Impact of Immunosenescence on Viral Infection, Immunity and Vaccine Immunogenicity. Immune Netw. 2019 Nov 14;19(6):e37. doi: 10.4110/in.2019.19.e37. PMID: 31921467; PMCID: PMC694317  Schanzer DL, Langley JM, Tam TW. Co-morbidities associated with influenza-attributed mortality, 1994-2000, Canada. Vaccine. Dent E, Morley JE, Cruz-Jentoft AJ, Woodhouse L, Rodríguez-Mañas L, Fried LP, et al. Physical Frailty: ICFSR International Clinical Practice Guidelines for Identification and Management. J Nutr Health Aging. 2019;23(9):771-87.2008;26(36):4697-703.                DiazGranados CA, et al. N Engl J Med. 2014;371:635-645. Lee J, et al. Vaccine. 2021 Quadrivalent Influenza Vaccine (Split Virion, Inactivated), 60 mcg HA/strain SMPC & Internal data Niklas Dyrby Johansen et al., NEJM Evid 2023; 2 (2), DOI: 10.1056/EVIDoa2200206 Charlotte Warren-Gash,et al. Lancet,2009;9:601-610 Phrommintikul A,et al. Eur Heart J.2011;32:1730-5

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภัยจากน้ำท่วม โรคติดต่อและสุขภาพที่ควรระวัง

        น้ำท่วมไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน แต่ยังแฝงไปด้วยภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพและชีวิต ตั้งแต่โรคระบาดร้ายแรง ทั้งทางผิวหนัง อาหารที่รับประทาน กระแสไฟฟ้ารั่วไหลและลัดวงจร กระแสน้ำพัดพาอันตราย ไปจนถึงสัตว์มีพิษและสัตว์ร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในน้ำ เรียนรู้ถึงวิธีปกป้องตัวเองและครอบครัวที่มากับน้ำท่วม เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างปลอดภัยและมีสุขภาพแข็งแรง  โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร โรคอุจจาระร่วง สาเหตุ: เชื้อแบคทีเรียในน้ำและอาหารปนเปื้อน อาการ: ถ่ายเหลว ปวดท้อง คลื่นไส้ การป้องกัน: ดื่มน้ำต้มสุก รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ล้างมือบ่อยๆ โรคที่มียุงเป็นพาหะ - ไข้เลือดออก - ไข้มาลาเรีย - โรคไข้สมองอักเสบ โรคผิวหนัง โรคน้ำกัดเท้า, โรคเชื้อราที่ผิวหนัง สาเหตุ: เชื้อราและแบคทีเรียในน้ำ อาการ: ผิวหนังเท้าอักเสบ คัน แตกเป็นแผล การป้องกัน: สวมรองเท้ากันน้ำ เช็ดเท้าให้แห้ง ทาครีมป้องกันเชื้อรา   โรคฉี่หนู (Leptospirosis) สาเหตุ: เชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะสัตว์ อาการ: ไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ตัวเหลือง การป้องกัน: สวมรองเท้าบูทยาง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำนาน ล้างมือบ่อยๆ   โรคตาแดง สาเหตุ: เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในน้ำ อาการ: ตาแดง คัน มีขี้ตา การป้องกัน: หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกกับตา ล้างมือก่อนสัมผัสตา   โรคไข้หวัดใหญ่ สาเหตุ: เชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในที่แออัด อาการ: ไข้ ปวดเมื่อยตัว ไอ น้ำมูก การป้องกัน: สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ อันตรายจากสัตว์มีพิษ - งู - แมงป่อง - ตะขาบ อันตรายจากไฟฟ้า - ไฟฟ้าดูด - ไฟฟ้าลัดวงจร อันตรายจากโครงสร้างพังทลาย - อาคารถล่ม - ถนนทรุด การบาดเจ็บจากสิ่งของลอยมากับน้ำ - เศษไม้ - เศษแก้ว   การป้องกันทั่วไป: รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือ ล้างเท้าให้สะอาดหลังไปพื้นที่น้ำท่วม และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือสัมผัสร่างกาย สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ถุงมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขังโดยตรง ทำความสะอาดบ้านและสิ่งของหลังน้ำลด รับวัคซีนป้องกันโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ติดตามข่าวสารและคำแนะนำจากหน่วยงานสาธารณสุข   

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox

     โรคฝีดาษลิง ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะบนทวีปแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ ซึ่งการรายงานที่พบโรคนี้ครั้งแรกเกิดจากลิงในห้องทดลอง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร การระบาดที่พบในตอนนี้ เกิดในประเทศบนทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปเป็นส่วนใหญ่        ปีนี้ได้เกิดการระบาดใหญ่ ในทวีปแอฟริกา ผู้ป่วยเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 3.4 โดยพบว่าเป็นไวรัสในกลุ่ม Clade 1b ซึ่งต่างกับการระบาดก่อนหน้านี้ การเฝ้าระวังตรวจสายพันธุ์ ฝีดาษวานร ในประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเป็น Clade 1b  หรือสายพันธุ์ที่มาจากแอฟริกา จะเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวังติดตามไม่ให้แพร่กระจายได้   อาการที่ควรเฝ้าระวังของโรคฝีดาษลิง อาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน  มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย  ต่อมน้ำเหลืองโต  หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้ มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออกและแห้งไปเอง อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย  บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้   การป้องกัน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งต่าง ๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้   ข้อมูลอ้างอิง 1. กรมควบคุมโรค. กรมควบคุมโรค เผยโรคฝีดาษลิงติดจากสัตว์สู่คนได้ แม้มีโอกาสติดน้อยแต่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมแนะวิธีการป้องกัน . 2565, แหล่งที่มา : หน้าแรก | กรมควบคุมโรค (moph.go.th)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<