สวยแต่เสี่ยง หากพึ่งพา อาหารเสริมลดน้ำหนัก

  สวยแต่เสี่ยง หากพึ่งพา อาหารเสริมลดน้ำหนัก เคยได้ยินข่าวผลข้างเคียงของยาลดน้ำหนักกันมามากแล้วนะครับ หลายคนสังเกตเห็นจากบุคคลรอบข้าง แม้กระทั่งได้รับผลข้างเคียงจากประสบการณ์ตรงเลยทีเดียว  สารที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเหล่านี้สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ขาดสมาธิในการทำงาน ประสาทหลอน และแม้กระทั่งก่อให้เกิดอาการชักได้ และการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตได้ ยาที่มักจะผสมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้เช่น สารเฟนเทอร์มีน (phentermine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยลดความอยากอาหาร ถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ต้องมีการควบคุมการซื้อขายไว้สำหรับโรงพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น สารอื่นๆที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น Penfluramine,Dexfenfluramine,Methamphetamine, และ    Phenylpropranolamine  ส่วน sibutramine นั้นถูกถอนจากทะเบียนยาไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น ยังสามารถตรวจพบสารเหล่านี้ได้ในผลิตภัณฑ์ลดนำหนักอยู่เสมอหรือแม้กระทั่งยาสำหรับรักษาโรค ก็ยังสามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์เหล่าน้้น เช่น ยาธัยรอยด์ฮอร์โมน และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการพึ่งยาลดน้ำหนักมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสารที่มีโทษต่อร่างกายได้มากขนาดนี้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจึงต้องหันกลับมาคิดให้ดีว่าจะพึ่งยาต่อไปหรือไม่ สิ่งที่เราพูดได้ง่ายๆก็คือการลดปริมาณอาหาร หรืองดอาหารมื้อเย็นลงนั้น ไม่ถูกต้องซักทีเดียว สิ่งที่น่าจะนำไปปฎิบัติให้ได้ผลก็คือการปรับสัดส่วนของอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อให้เหมาะสมมากกว่าการลดปริมาณอาหารลงในทีเดียว เนื่องจากการรับประทานอาหารเป็นนิสัย ความเคยชินที่ติดตัวมานาน การค่อยๆปรับลดปริมาณอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ความหวานลดลง แล้วเติมทดแทนด้วยอาหารที่พลังงานต่ำ เช่นผัก หรือวุ้นเส้นทดแทน จะทำให้กระเพาะ หรือความรู้สึกของผู้ลดน้ำหนักไม่หิวจนเกินไป การปรับลดน้ำหวาน น้ำอัดลม ของหวานระหว่างมื้อลง ก็จะทำให้การควบคุมหรือลดน้ำหนัก เห็นผลดี การเพิ่มการเผาผลาญพลังงานก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้การควบคุมน้ำหนักมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นยังมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย การลดน้ำหนักที่เหมาะสม โดยเฉลี่ยแล้ว ค่อยๆลดลง ครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งจะเห็นว่าอาจจะน้อย ไม่ทันใจสำหรับหลายคน แต่ถ้าลดลงสม่ำเสมอ เราสามารถลดน้ำหนักลงได้ ขั้นต่ำ 6 กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การกินอย่างมีสติมากขึ้น การออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพดีขึ้นชัดเจน โดยไม่ต้องพึ่งยา โดย นพ.ภาคิน โลวะสถาพร  อายุรแพทย์ทั่วไป ประจำคลินิกบริการอายุรกรรม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัด นพ.ชิดเวทย์  วรเพียรกุล  อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี  โรคไข้หวัด  เป็นการติดเชื้อของจมูกและคอ  ส่วนใหญ่75-80% เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งรวมเรียกว่า Coryza Viruses ประกอบด้วย Rhino Viruses เป็นสำคัญ  เชื้อชนิดอื่น ๆ มี Adenoviruses, Respiratory Syncytial Virus เมื่อเชื้อเช้าสู่จมูกและคอจะทำให้เยื่อจมูกบวมและแดง  มีการหลั่งของเมือกออกมาแม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์  แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด  โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้ง ต่อไป  ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง  ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก  คนสูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง อาการ ผู้ใหญ่ มีอาการจาม  และน้ำมูกไหลจะนำมาก่อน  อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย  แต่มักไม่ค่อยมีไข้  เชื้อจะออกจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย 2-3 ชั่วโมงและหมดใน 2 สัปดาห์  บางรายอาจมีอาการปวดหู  เยื่อแก้วหูมีเลือดคั่ง  บางรายเยื่อบุตาอักเสบ  เจ็บคอ  กลืนลำบาก  โรคมักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน  แต่อาจมีน้ำมูกไหลนานถึง 2 สัปดาห์  ในเด็กอาจจะรุนแรง  และมักมีการแพร่ไปเป็นหลอดลมอักเสบ  ปวดบวม  เป็นต้น การติดต่อ โรคนี้มักจะระบาดฤดูหนาวเนื่องจากความชื้นต่ำและอากาศเย็น  เราสามารถติดต่อจากน้ำลาย  และเสมหะผู้ป่วยนอกจากนั้นมือที่เปื้อนเชื้อโรค  ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้โดยผ่านทางจมูกและตา  ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนเกิดอาการและ 1-2 วันหลังเกิดอาการ  ผู้ที่มีโอกาสเป็นไข้หวัดได้ง่ายคือ  เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี  เด็กที่ขาดอาหาร  เด็กที่เลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็ก วิธีการติดต่อ 1. มือของเด็ก  หรือผู้ใหญ่ที่สัมผัสเชื้อจากเสมหะของผู้ป่วย  หรือสิ่งแวดล้อม  แล้วขยี้ตา  หรือเอาเข้าปากหรือจมูก 2. หายใจเอาเชื้อที่ผู้ป่วยที่ไอออกมา 3. หายใจเอาเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ การรักษา - ไม่มียารักษาเฉพาะ  ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้  Paracetamol - ห้ามให้ Aspirin - ให้ยาช่วยรักษาตามอาการ  เช่น ยาลดคัดจมูก  ลดน้ำมูก  ยาแก้ไออ่อน ๆ - ให้พัก  และดื่มน้ำมาก ๆ โดยทั่วไปจะเป็นมาก 2-4 วัน  หลังจากนั้นจะดีขึ้น  ในเด็กโรคที่แทรกซ้อนที่สำคัญคือหูชั้นกลางอักเสบ  ต้องได้รับยาปฏิชีวนะรักษา   การป้องกัน - หลีกเลี่ยงที่ชุมชน  เช่น โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร  ในช่วงที่ไข้หวัดกำลังระบาด - ไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า  หรือทิชชูปิดปาก - ให้ล้างมือบ่อย ๆ - ไม่เอามือเข้าปากหรือขยี้ตาเพราอาจนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย - อย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหวัดเป็นเวลานาน   เป็นการยากที่จะป้องกันการติดเชื้อไข้หวัด  ดังนี้การดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<