ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ

ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ
อายุแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงขึ้นเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง แถมมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบในผู้ป่วยอายุเพียง 29 ปี

 

 ออกกำลังกายช่วยลดเสี่ยงโรคหัวใจ

  อายุแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลวิภาวดี เผยสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจสูงขึ้นเป็นอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง แถมมีแนวโน้มพบในคนอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดพบในผู้ป่วยอายุเพียง 29 ปี

           นพ.เสมชัย เพาะบุญ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ  โรงพยาบาลวิภาวดี กล่าวว่า  โรคหัวใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการกินดีอยู่ดี และความสะดวกสบายมากขึ้น โดยที่ในอดีตมนุษย์มักเสียชีวิตส่วนใหญ่จากสงคราม และโรคติดเชื้อเท่านั้น แต่ในปัจจุบันโรคที่เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เสียชีวิต ได้แก่ โรคมะเร็ง และ โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยโรคหัวใจและหลอดเลือดจะมีปัจจัยเสี่ยงหลัก  2 ประเภท คือ ปัจจัยที่แก้ไข้ไม่ได้ เช่น เพศ ซึ่งพบในชายมากกว่าหญิง อายุ วัยเสี่ยงคือเผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป และ กรรมพันธุ์ คือ มีพ่อแม่และญาติที่เป็นสายตรงเป็นโรคหัวใจ และ ปัจจัยที่แก้ไขได้ เช่น การสูบบุหรี่

           “โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง และโรคที่กำลังมีแนวโน้มพบมากขึ้น ได้แก่ โรคอ้วนลงพุง คือภาวะที่มีรอบเอวเกินมาตรฐาน โดยในผู้ชายมากกว่า  36 นิ้ว และในผู้หญิงมากกว่า 32 นิ้วและมีความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด แนวทางในการป้องกันก็คงต้องเน้นไปที่  ปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้เป็นหลัก อันดับแรก คือ ในผู้ที่สูบบุหรี่ต้องหยุดสูบบุหรี่ ซึ่งรวมไปถึงผู้ใกล้ชิดที่มีโอกาสได้รับควันบุหรี่ด้วย ทั้งนี้ พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีอายุสั้นกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปีทีเดียว”

           แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวต่อว่า เราทุกคนควรหมั่นตรวจร่างกายว่าเรามี ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน หรือมีระดับไขมันในเลือดผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยลดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้ ในระยะแรกที่ยังเป็นไม่มากควรใช้การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายก่อน แต่ถ้าเป็นมากก็ต้องใช้ยารักษา อันดับสุดท้ายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือการออกกำลังกายให้เหมาะสมและเพียงพอ ก็จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจได้

           “การออกกำลังกายที่ดีควรทำแบบต่อเนื่อง คือมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อตอนเริ่มต้น เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บ มีการเริ่มต้นช้าๆ เพื่ออบอุ่นร่างกายและเตรียมพร้อม จากนั้นค่อยๆ เพิ่มความเร็วและเวลามากขึ้น และสุดท้ายต้องมีการค่อยๆ ลดความเร็วลงเพื่อให้ร่างกายและหัวใจกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติ

           ควรออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ  20-30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งขึ้นไป แต่กระนั้นผู้มีปัจจัยเสี่ยง อย่าวิตกจริตเกินเหตุ เพราะอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคหัวใจเสมอไป

           นอกจากนี้ นพ.เสมชัย ได้ให้คำแนะนำในการสังเกตุอาการของผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การสังเกตุตามกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยจะมีเจ็บแน่นหนักหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด ร้าวไปที่คอ, กรามล่าง, ไหล่ และแขนซ้าย นอกจากนี้อาจมีเหงื่อแตก หน้ามืด หรือเหนื่อยหอบร่วมด้วย มักเป็นขณะออกแรงหรือออกกำลังมากไป อย่าปล่อยให้เจ็บเกิน 5 นาที ควรรีบพบแพทย์

           กลุ่มโรคของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยจะเหนื่อยง่าย หอบหนักผิดปกติ แม้เวลากลางคืน นอนราบไม่ได้ กลุ่มโรคของระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย บางรายอาจมีวูบเป็นลมหมดสติได้ “ตัวผู้ป่วย ญาติ และผู้ใกล้ชิด ควรตระหนักถึงเรื่อง ‘เวลา’ เป็นสิ่งสำคัญ หากพบผู้ป่วยมีภาวะอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจให้เร็วที่สุด”    นพ. เสมชัย เพาะบุญ กล่าวทิ้งท้าย

                    LINETwitterFacebookWhatsApp

แพทย์

เสมชัย เพาะบุญ

อายุรกรรมโรคหัวใจ

ดูโปรไฟล์

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<