Q&A สุขภาพจิตของคนกรุงเทพในตอนนี้

Q&A สุขภาพจิตของคนกรุงเทพในตอนนี้

นพ.วีรวุฒิ เอกกมลกุล จิตแพทย์ รพ.วิภาวดี

คำถามที่ 1. คนเราจะมีความเครียดได้จากเรื่องอะไรบ้าง เรื่องอะไรเป็นเรื่องที่คนเครียดที่สุด? 
     ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องความเครียดของคนไทย พบว่าคนไทยเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 1 มาโดยตลอดตั้งแต่อดีต ส่วนปัญหาการเมืองเป็นเรื่องที่เครียดสูงเป็นอันดับ 2 ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยติด 5 อันดับแรกมาก่อนในอดีต แซงหน้าปัญหาครอบครัว ปัญหาการงาน ปัญหาคู่รัก และปัญหาเรื่องเพื่อน ช่วงหลังจากเหตุการณ์ยุติการการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ปัญหาการเมืองอาจสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 หรือไม่นั้น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ เพราะยังไม่มีรายงานการวิจัยในขณะนี้

คำถามที่ 2. เมื่อคนเราเครียด จะเกิดอาการอะไรได้บ้าง? 
     อาการมีได้ 3 ทาง โดยอาจพบได้ในทางใดทางหนึ่งหรือหลายทางร่วมกันก็ได้
     - อาการทางกาย เริ่มมีได้ตั้งแต่อาการปวดเกร็งคอ บ่า ไหล่ หายใจตื้นๆไม่โล่งโปร่งสบาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือป่วยด้วยโรคระบบต่างๆร่างกาย ได้แก่ โรคไมเกรน โรคเครียดลงกระเพาะอาหาร โรคภูมิแพ้ โรคลำไส้แปรปรวน ความดันโลหิตสูง เครียดมากๆก็เป็นเหตุให้เส้นเลือดที่สมองแตกจนอาจเป็นอัมพาตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะมีหลอดเลือดที่แข็งตัวอยู่เดิมแล้ว
     - อาการทางจิตใจและอารมณ์ มีได้ตั้งแต่อาการที่ยังไม่มาก เช่น นอนไม่หลับ ตึงเครียด หงุดหงิด หดหู่ ซึมเศร้า อาการมากก็อาจถึงขั้นป่วยโรคทางจิตเวช ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคกังวล โรคจิต เป็นต้น
     - อาการทางความคิดและพฤติกรรม ได้แก่ ความคิดเชิงลบต่างๆมากขึ้นจนอาจก่อให้ปัญหาพฤติกรรมต่างๆได้แก่ การดื่มสุราหรือเสพสารเสพติด พฤติกรรมต่อต้านสังคม พฤติกรรมความรุนแรงทั้งต่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น

คำถามที่ 3. สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตคนกรุงเทพอย่างไรบ้าง? 
     ความเครียดเพิ่มขึ้น กรณีคนที่เครียดระดับต่ำๆ นับว่าเป็นประโยชน์ในการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน กรณีเครียดมากๆมักพบในประชาชน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีความเข้มจัดไม่ว่าแดงเข้ม เหลืองเข้ม กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลอย่างเข้ม กลุ่มสนใจการเมืองอย่างเข้ม เข้มจนขาดกิจกรรมส่วนอื่นๆในชีวิตจนขาดความสมดุล กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่มีความเครียดสะสมไว้มากอยู่แล้ว พอมีเรื่องวิกฤติการเมือง ระดับความเครียดจึงเพิ่มขึ้นไปอีกจนเกินระดับที่จะทนได้จึงปรากฏอาการป่วยจากความเครียด หลายรายเคยรับการรักษาจนอาการเครียดสงบ แต่พอมีเรื่องวิกฤติการเมือง ทำให้อาการป่วยเดิมกำเริบได้ จึงจำเป็นต้องรักษาเพิ่ม กลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มผู้ประสบวินาศภัย ได้แก่ ผู้ร่วมชุมนุม ชุมชนในละแวกที่เกิดเหตุ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้สูญเสียไม่ว่าชีวิต ญาติมิตร หรือทรัพย์สิน

คำถามที่ 4. มีวิธีรับข่าวสารอย่างไรให้ไม่เครียด? 
     - ควรเปิดใจกว้าง และพยายามรับฟังข้อมูลทุกด้านทั้งจากแหล่งข่าวภายในประเทศและต่างประเทศซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้สามารถเข้าถึงได้แม้ถูกปิดกั้นก็ตาม ไม่ควรรีบสรุปข้อมูลที่ได้รับทันที และควรเข้าใจคนที่คิดต่างจากเราด้วย
     - เปิดรับข่าวสารให้เหมาะกับตนเอง ถ้าสังเกตพบว่ามีอารมณ์ร่วมกับข่าวสารนั้นมากไป ก็ควรหลีกเลี่ยงโดยทำกิจกรรมอื่นๆแทน ได้ ฟังเพลง ทำสวน ทำครัว ออกกำลังกาย เป็นต้น กรณีที่ใช้เวลารับข่าวสารนานไปจนเครียด ก็สมควรจำกัดเวลาลงและคงกิจกรรมอื่นๆในชีวิตเพื่อรักษาสมดุลของวิถีชีวิต
     - กรณีเครียดง่ายแต่จำเป็นต้องติดตามข่าว ขณะรับข่าวสารควรฝึกผ่อนคลายความเครียดโดยฝึกหายใจเข้าลึกๆ และหายใจออกยาวๆ หรือฝึกชี่กงซึ่งเป็นกายบริหารที่มุ่งปรับให้ลมหายใจโล่งโปร่งสบาย 

คำถามที่ 5. ความคิดเห็นที่แตกต่างที่กระจายสู่ในบ้านเดียวกัน จะมีวิธีจัดการอย่างไรให้สภาพครอบครัวไม่เกิดการทะเลาะ? 
     ไม่ใช้ทัศนคติของการเอาชนะทางความคิด คิดแต่ว่าเหตุผลของเราถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่สนทนาเพื่อช่วยเหลือให้เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้นด้วยวิถีแห่งความเมตตาและเกื้อกูล กรณีที่เกินความสามารถหรืออีกฝ่ายไม่เปิดใจ ก็ไม่ควรถือโกรธแต่ควรตั้งจิตเป็นอุเบกขา วิจัยในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในยุคที่มีการเมืองขัดแย้งมากๆ ผู้ที่มีความฝักใฝ่พรรคการเมืองมากๆ ไม่ว่าพรรคใด ตรวจพบว่าสมองส่วนอารมณ์ที่อยู่ภายในจะทำงานมากกว่าสมองส่วนเหตุผล และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นสมองที่มีขนาดใหญ่ห่อหุ้มอยู่เปลือกนอกของสมอง จึงทำให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลได้ ต่างจากช่วงสถานการณ์การเมืองปกติที่พบว่าสมองส่วนนอกจะทำงานมากกว่า จึงมีเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้สามารถรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้ 

คำถามที่ 6. การปฏิบัติตัวของคนกรุงเทพตอนนี้ควรทำตัวอย่างไรต่อสังคม? 
     - ควรทำตัวกลางๆหรือลดความเข้มลง เช่น แดงอ่อน เหลืองอ่อน โดยไม่เข้มจัด ทำให้สมองส่วนเหตุผลทำงานดีขึ้น และใช้อารมณ์ลดลง
     - ควรใช้หลักศาสนาช่วยให้จิตใจสงบลง และทำให้สามารถทำหน้าที่การงานของตนได้ดีขึ้น 

คำถามที่ 7. คำแนะนำต่อคนกรุงเทพในยามนี้ ? 
     - ควรพยายามทำใจให้เป็นปกติด้วยวิธีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
     - ควรพยายามเข้าใจคนที่คิดต่างจากเรา
     - การช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับที่ผู้เครียดเรื่องการเมือง เริ่มจากรับฟังอย่างเข้าใจโดยไม่ขัดจังหวะจากนั้นก็แสดงความชื่นชมในความตื่นตัวทางการเมืองของเขา กรณีที่เครียดจากการเมืองก็อาจโน้มน้าวให้เขาลดความเข้มลง ไม่ว่าแดงเข้ม เหลืองเข้ม หรือ อื่นๆที่สุดโต่งเพื่อคืนความเป็นปกติสุขให้กับตนเอง ไม่ควรทะเลาะกันเพื่อเอาชนะทางความคิด ทำให้เสียความสัมพันธ์ที่ดี

 

<