โรคไมเกรน

โรคไมเกรน

พญ.รัชนี ชาญสุไชย 
อายุรแพทย์ประสาทวิทยา แพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี

     ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการปวดจะเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆ ความรุนแรงของอาการปวด มีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 ชม. อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมี ความเครียด อากาศร้อน แสงจ้า หรืออดนอน ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้นผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมืดและเงียบ เพราะจะทำให้อาการปวดดีขึ้น

สาเหตุของไมเกรน
     ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆสมอง ระบบประสาทผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ ระบบประสาทจะมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการอักเสบดังกล่าวเกิดขึ้น และอาการปวดอย่างรุนแรงตามมา ปัจจัยกระตุ้นมีดังนี้
     - อาหาร คือ ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือสารถนอมอาหาร สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
     - การนอนหลับ การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้ 
     - ฮอร์โมน ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นไมเกรน บางคนจะมีอาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงหรือระยะเวลาในการปวดนานมากขึ้นได้
     - สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมาก ” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ หรือการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
     - ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด

การวินิจฉัย
     การวินิจฉัยไมเกรนนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง ความถี่ ระยะเวลาในการปวด และอาการอื่นที่ร่วมด้วย ประวัติโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น เช่น อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือจากภาวะเครียด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง โรคของต่อมใต้สมองหรือมีเนื้องอก เป็นต้น

การรักษา 
     ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีการช่วยให้ความถี่และความรุนแรง ของไมเกรนลดน้อยลง โดยใช้ยาเพื่อป้องกันรักษา และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ดูแลสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ
ยาแก้ปวดไมเกรนและยาป้องกันไมเกรน 
ยาแก้ปวดไมเกรน คือ ยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด ส่วนยาป้องกันไมเกรน ใช้เพื่อทำให้ความถี่และความรุนแรงของการปวดลดลง และจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากมาย หลายชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใด ควรได้รับคำแนะนำหรือควรปรึกษาแพทย์

<