จะออกกำลังกายอย่างไรดี ?

จะออกกำลังกายอย่างไรดี ?

นพ.วรงค์  ลาภานันต์  
กองอายุรกรรม รพ.ภูมิพล และแพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี

 

              ถ้าลองถามแพทย์แต่ละคนอาจได้คำตอบแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำกันคือ ออกกำลังหนักพอประมาณอย่างต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 4 ครั้ง อย่างน้อย  โดยทั่วไปเชื่อว่าคนที่ชอบออกกำลังจะไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจ ด้วยเหตุผลง่ายๆคือ ก็เพราะหัวใจเขาผู้นั้นน่าจะแข็งแรงกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย

 

                 แต่เหตุผลที่ลึกไปกว่านั้น ก็คือการออกกำลังกายจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ลดความดันโลหิตซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจลง ยังช่วยเพิ่มระดับของไขมันดี   HDL ด้วย และที่น่าทึ่งคือการออกกำลัง จะกระตุ้นให้มีการสร้างเซลใหม่ เพื่อทดแทนเซลที่เสื่อมสภาพโดยเฉพาะที่หัวใจ

                ทีนี้ ก็มักจะเกิดปัญหากับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลัง อาจเนื่องจากไม่มีเวลาหรือสถานที่ไม่อำนวย     ก็ลองมาฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคและสมาคมเวชศาสตร์การกีฬาของสหรัฐอเมริกาดูบ้าง  เขาแนะนำว่า การออกกำลังหนักปานกลางซึ่งก็คือ การทำกิจวัตรประจำวัน อาทิ การล้างรถ ถูบ้าน ประมาณ 1 ชั่วโมง   หรือการทำสวนประมาณ   45   นาที อาทิตย์ละ 3-4 วัน ก็มีผลดีต่อหัวใจ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นอีกคือ ไม่จำเป็นจะต้องทำงานรวดเดียว อาจทำๆ หยุดๆ ก็ได้  อย่างนี้ก็จะได้เลิกคิดกันเสียทีว่า ไม่มีเวลาออกกำลัง ดังนั้นการเดิน เดิน และเดิน น่าจะเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกอายุ ส่วนที่ไม่ค่อยจะดีก็คือ การออกกำลังประเภทที่ต้องมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนักเป็นต้น

 

แพทย์

วรงค์ ลาภานันต์

อายุรกรรมโรคหัวใจ

ดูโปรไฟล์

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<