ลดแผลให้เล็กลงอีกนิด ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง Minimally Invasive Surger (MIS)

 ลดแผลให้เล็กลงอีกนิด ด้วยการผ่าตัดแบบส่อง Minimally Invasive Surger (MIS)    ปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องสามารถนำมาใช้ได้กับหลายโรค ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดไส้ติ่ง การผ่าตัดไส้เลื่อน การผ่าตัดลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ไทรอยด์ หรือแม้การผ่าตัดเต้านม เป็นต้น การผ่าตัดส่องกล้องช่วยให้คนไข้บาดเจ็บน้อยลง ด้วยขนาดของแผลผ่าตัดที่เล็กลง พักฟื้นเพียงไม่นานก็สามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เร็วขึ้น               การผ่าตัดส่องกล้องแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การผ่าตัดแบบเปิด (Open surgery) เป็นการผ่าตัดแบบธรรมดา การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery) เป็นการผ่าตัดแผลเล็กโดยใช้เครื่องมือเพื่อเข้าไปช่วยในการผ่าตัด ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดไส้ติ่ง ปกติแล้วหากเป็นการผ่าตัดแบบธรรมแผลผ่าตัดจะค่อนข้างกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร หรือกรณีที่เป็นเคสผ่าตัดที่มีความยาวมากขึ้น แผลผ่าตัดอาจจะกว้างขึ้น เป็น 10 เซนติเมตร ซึ่งเทียบการผ่าตัดส่องกล้องกับการผ่าตัดแบบธรรมดาแล้วให้ความปลอดภัยในเรื่องการบอบซ้ำของอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆน้อยลงในกรณีที่เมื่อกล้องส่องเข้าไปแล้วพบปัญหาอื่นๆ เช่น ซีสต์ที่รังไข่หรือมดลูก ก็สามารถที่จะทำการผ่าตัดได้เลยโดยไม่ต้องขยายแผลให้ใหญ่กว่าเดิม โดยระยะเวลาที่ทำการผ่าตัดรักษาก็แตกต่างกัน การผ่าตัดแบบส่องกล้องอาจจะใช้ระยะเวลานานขึ้นโดยมากใช้เวลาประมาณ 45 นาทีต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากการเซตอุปกรณ์เครื่องมือเพื่อการเตรียมตัวในการผ่าตัด อาจจะเพิ่มเวลาเป็น 15-30 นาทีจากการผ่าตัดปกติ แต่มีข้อดี คือ แผลผ่าตัดจะเล็กกว่า ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ระยะเวลาของการพักฟื้นในโรงพยาบาลจะสั้นกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเป็นธรรมดา ขึ้นอยู่กับโรคที่ผ่าตัด เช่น หากเป็นการผ้าตัดบริเวณลำไส้ใหญ่ จากเดิมใช้เวลาในโรงพยาบาล 7-14 วันจะลดเวลาลงเหลือเพียง 3-5 วันเท่านั้น ทำให้คนไข้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น   ข้อห้ามการผ่าแบบส่องกล้อง ควรเป็นคนไข้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่าย หรือเลือดมีการแข็งตัวไม่ดี จะทำให้คนไข้มีการเสียเลือดมากในระหว่างการผ่าตัด คนไข้ที่เคยผ่านการฉายแสงหรือเคยผ่าตัดหลายครั้ง จนมีพังผืดค่อนข้างมากเพราะทำให้ยากต่อการส่องกล้องผ่าตัด อีกทั้งจะไม่มีพื้นที่ในการเป่าลมเพื่อขยายภายในช่องท้องทำให้ไม่มีพื้นที่ในการผ่าตัดได้สะดวก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สวยแต่เสี่ยง หากพึ่งพา อาหารเสริมลดน้ำหนัก

  สวยแต่เสี่ยง หากพึ่งพา อาหารเสริมลดน้ำหนัก เคยได้ยินข่าวผลข้างเคียงของยาลดน้ำหนักกันมามากแล้วนะครับ หลายคนสังเกตเห็นจากบุคคลรอบข้าง แม้กระทั่งได้รับผลข้างเคียงจากประสบการณ์ตรงเลยทีเดียว  สารที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักเหล่านี้สามารถออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า ขาดสมาธิในการทำงาน ประสาทหลอน และแม้กระทั่งก่อให้เกิดอาการชักได้ และการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสียชีวิตได้ ยาที่มักจะผสมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้เช่น สารเฟนเทอร์มีน (phentermine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยลดความอยากอาหาร ถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ต้องมีการควบคุมการซื้อขายไว้สำหรับโรงพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น สารอื่นๆที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น Penfluramine,Dexfenfluramine,Methamphetamine, และ    Phenylpropranolamine  ส่วน sibutramine นั้นถูกถอนจากทะเบียนยาไปแล้ว แต่ถึงกระนั้น ยังสามารถตรวจพบสารเหล่านี้ได้ในผลิตภัณฑ์ลดนำหนักอยู่เสมอหรือแม้กระทั่งยาสำหรับรักษาโรค ก็ยังสามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์เหล่าน้้น เช่น ยาธัยรอยด์ฮอร์โมน และยาขับปัสสาวะ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการพึ่งยาลดน้ำหนักมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับสารที่มีโทษต่อร่างกายได้มากขนาดนี้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักจึงต้องหันกลับมาคิดให้ดีว่าจะพึ่งยาต่อไปหรือไม่ สิ่งที่เราพูดได้ง่ายๆก็คือการลดปริมาณอาหาร หรืองดอาหารมื้อเย็นลงนั้น ไม่ถูกต้องซักทีเดียว สิ่งที่น่าจะนำไปปฎิบัติให้ได้ผลก็คือการปรับสัดส่วนของอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อให้เหมาะสมมากกว่าการลดปริมาณอาหารลงในทีเดียว เนื่องจากการรับประทานอาหารเป็นนิสัย ความเคยชินที่ติดตัวมานาน การค่อยๆปรับลดปริมาณอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ความหวานลดลง แล้วเติมทดแทนด้วยอาหารที่พลังงานต่ำ เช่นผัก หรือวุ้นเส้นทดแทน จะทำให้กระเพาะ หรือความรู้สึกของผู้ลดน้ำหนักไม่หิวจนเกินไป การปรับลดน้ำหวาน น้ำอัดลม ของหวานระหว่างมื้อลง ก็จะทำให้การควบคุมหรือลดน้ำหนัก เห็นผลดี การเพิ่มการเผาผลาญพลังงานก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้การควบคุมน้ำหนักมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นยังมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอีกด้วย การลดน้ำหนักที่เหมาะสม โดยเฉลี่ยแล้ว ค่อยๆลดลง ครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งจะเห็นว่าอาจจะน้อย ไม่ทันใจสำหรับหลายคน แต่ถ้าลดลงสม่ำเสมอ เราสามารถลดน้ำหนักลงได้ ขั้นต่ำ 6 กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การกินอย่างมีสติมากขึ้น การออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพดีขึ้นชัดเจน โดยไม่ต้องพึ่งยา โดย นพ.ภาคิน โลวะสถาพร  อายุรแพทย์ทั่วไป ประจำคลินิกบริการอายุรกรรม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา วายร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา วายร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์    โรคติดเชื้อไวรัสซิกา วายร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์    ยุงร้ายกว่าเสือ...ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น              ทำไมยุงร้ายกว่าเสือ ลองมาฟังเรื่องนี้กันดีกว่า...ในช่วงนี้หลายคนคงเคยได้ยินโรคใหม่ที่ชื่อ” โรคติดเชื้อไวรัสซิกา” จริงๆโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่พบตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นปีที่ตรวจพบเชื้อไวรัสได้ครั้งแรกในลิง และที่เรียกว่า เชื้อไวรัสซิกา เพราะลิงที่ติดเชื้อเป็นลิงที่มาจากป่าซิกา ประเทศยูแกนดาแถบแอฟริกา หลังจากนั้นก็มีการระบาดไปทั่วโลก ในประเทศไทยมีรายงานยืนยันพบผู้ป่วยครั้งแรก ในพ.ศ. 2555 โดยพบผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 ราย แต่ที่สำคัญที่สุดของการติดเชื้อไวรัสซิกาคือ เมื่อพ.ศ.2558 พบว่าการติดเชื้อไวรัสซิกาในมารดาตั้งครรภ์สัมพันธ์กับภาวะทารกแรกเกิดศีรษะเล็ก....โอ น่ากลัวจริงๆ! และตั้งแต่ต้นปี 2559 จนถึงต้นเดือนกันยายนมีผู้ป่วยมากถึง279 ราย แต่ในประเทศไทยยังไม่พบว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกา มีภาวะศีรษะเล็ก เชื้อไวรัสซิกาติดได้ทางใด? เชื้อไวรัสเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส กลุ่มเดียวกับไวรัสเดงกี่(ไข้เลือดออก), ไวรัสไข้สมองอักเสบ, ไข้เหลือง, ไข้เวสไนล์ โดยมีภาหะนำโรค คือ ยุงลาย....นี่ไง ที่ว่า ยุง(ลาย)ร้ายกว่าเสือ! การติดโรคส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด(โดยยุงที่ไปกักคนที่มีเชื้อไวรัสซิกา และมากัดเราต่อ) นอกจากนี้ยังสามารถติดกันได้จากการมีเพศสัมพันธ์ พบว่าสามารถตรวจพบเชื้อในน้ำอสุจิของคนที่เป็นโรคซิกาได้นานถึง 180 วัน(หรือ 6 เดือน)ดังนั้นคนทีเป็นโรคซิกาจึงต้องงดการมีเพศสัมพันธ์นานถึง 6 เดือน...โอ! ช่างทรมานจริงๆ และติดทางการได้รับเลือดที่มีเชื้อไวรัสซิกา และที่สำคํญที่สุดก็คือ       ติดจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ได้ อาการของโรคไวรัสซิกา ส่วนมาก80%ไม่มีอาการ ส่วนอีก 20% จะมีอาการ โดยที่อาการที่พบส่วนใหญ่ประมาณ 90% คือ ผื่น(maculopapular rash) อีก45-65% มีไข้ต่ำๆ(37.8C -38.7C),ตาแดง(แบบไม่มีขี้ตา), ปวดข้อ, ปวดศีรษะ และอีกส่วนน้อยมากๆ อาจเกิดอาการทางระบบประสาทกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง ดังนั้นถ้าเกิดโรคซิกาในคนทั่วไปก็อาจไม่มีความกังวลอะไร แต่ถ้าโรคนี้เกิดในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์มีศีรษะเล็ก(microcephaly) ยิ่งติดเชื้อที่อายุครรภ์น้อยๆก็จะพบทารกศีรษะเล็กและมีความผิดปกติของสมองได้มากกว่ามารดาที่ติดเชื้อในช่วงท้ายๆของการตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ใดที่เข้าข่ายต้องตรวจการติดเชื้อไวรัสซิกา? หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการดังนี้ 1.มีผื่น(maculopaular rash) ร่วมกับมีอาการ 1ใน3ของ ไข้  ปวดข้อ  ตาแดง                   2. มีไข้ ร่วมกับมีอาการ 2 ใน 3 ข้อของ ปวดศีรษะ  ปวดข้อ    ตาแดง 3.มีผื่น(macupolapular rash) ที่อาศัยอยู่หรือมีประวัติเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันและยังอยู่ในระยะควบคุมโรค(28วัน) ซึ่งการตรวจก็จะตรวจเลือด และ/หรือปัสสาวะ ตามระยะเวลาที่แสดงอาการ โดยต้องส่งไปที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ·       โรคนี้มีการรักษาอย่างไร? ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกาโดยเฉพาะ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น มีไข้ ก็ทานยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้, เป็นผื่นก็ใช้คาลาไมด์ทา และอาการที่เกิดขึ้นจะหายได้เองใน 5-7 วัน ส่วนการรักษาในมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ก็ให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่ที่สำคัญคือ ต้องมีการอัลตร้าซาวด์ติดตามขนาดของศีรษะทารกในครรภ์ แต่แม้ว่าจะตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีขนาดศีรษะเล็ก ในปัจจุบันก็ยังไม่มียาหรือการรักษาใดๆ ในทารกที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติ ในตอนนี้ก็คงมีแต่การทำบุญและสวดภาวนาขอให้บุตรที่คลอดออกมา ไม่มีอาการทางระบบประสาท ซึ่งหลังคลอดแล้ว กุมารแพทย์ก็จะต้องตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง ·         สิ่งที่สำคัญ คือ การป้องกันโรค! เนื่องจากยังไม่มียาที่ใช้รักษาและวัคซีนป้องกันเฉพาะ ดังนั้นสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ คือ   1.กำจัดยุงลาย ด้วยมาตรการของกรมควบคุมโรค คือ 3เก็บ  เก็บบ้าน    เก็บขยะ  เก็บน้ำ                                                                      2.ป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด                ทายากันยุง ในหญิงตั้งครรภ์ เน้นยาที่ทำจากสมุนไพร เช่นตะไคร้   3.งดมีเพศสัมพันธ์ ในคนที่ติดเชื้อไวรัสซิกานาน 6 เดือน เนื่องจากสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสซิกาในน้ำอสุจิได้นาน 180 วัน (6เดือน) นั่นเอง หรือต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ สิ่งสำคัญคือ หญิงตั้งครรภ์ใดที่มี ไข้, ผื่น, ปวดข้อ, ตาแดง อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์ และในตอนนี้ ถ้ามีใครมาถามว่า ยุงร้ายกว่าเสือจริงมั้ย?...ทุกคนคงต้องยกมือเห็นด้วยเป็นแน่   ตระหนักแต่อย่าตระหนก                                                                                                                                  ด้วยความปรารถนาดี                                                                          พ.ญ. รุจิเรข        เกตุทอง   สูตินรีแพทย์      (เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไข้ทรพิษลิง..ในคน(Human Monkeypox)

 ไข้ทรพิษลิง..ในคน(Human Monkeypox) ในวิสคอลซิน อิลินอยส์ และอินเดียนนา ประเทศอเมริกา พบผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่มีโรคติดเชื้อไข้ทรพิษลิง โรคติดเชื้อนี้พบเชื่องโยงกับผู้ที่สัมผัสตัวแพร์รี่ดอก (Prairie dogs) ที่ติดเชื้อ ตัวแพร์รี่ดอกนี้เป็นสัตว์เลี้ยงที่ขายอยู่ในร้านขายสัตว์สองแห่งในมิววาคี ตัวแพร์รี่ดอกนี้อาจติดเชื้อมาจากหนูแกมเบี้ยนยักษ์ (Gambian giant rat) สัตว์ซึ่งมาจากต่างแดนที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์ที่อาจติดเชื้อนี้ได้ นอกจากแพร์รี่ดอกซ์ หนูแกมเบี้ยนยักษ์แล้ว ยังอาจติดเชื้อได้ในลิง กระต่าย และสัตว์กัดแทะชนิดอื่นๆได้ อะไรคือ ไข้ทรพิษลิง? ไข้ทรพิษลิงในคน (Human monkeypox) เป็นโรคที่หายาก สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีจุดกำเนิดอยู่ในประเทศที่มีป่าฝนในอาฟริกากลางและอาฟริกาตะวันตก เป็นเชื้อที่พบปกติในสัตว์ พบน้อยที่จะติดเชื้อในคน เชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่?            CDC ของอเมริกา ได้รายงานพบการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนระบาดในอาฟริกา แต่พบน้อยที่จะเสียชีวิต อาการเป็นอย่างไร? ในคน จะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น เหงื่อออก บางรายมีไอ ต่อมาผื่นจะขึ้นที่ศีรษะ ตัว และแขนขา ผื่นจะมีลักษณะแข็ง สีขาวและมีหนองในสองสัปดาห์ หลังจากนั้นจะแห้งเป็นสะเก็ต และตกสะเก็ต มีวิธีการรักษาหรือไม่?                                                                         โรคนี้ไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ แต่พบว่าในอาฟริกามีรายงานว่าวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไข้ทรพิษลิงได้ CDC เชื่อว่า วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษและยาต้านไวรัสคือ Cidofovir อาจจะใช้ในการรักษาได้ จะป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร? การติดต่อของโรคเชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับตัวแพร์รี่ดอกที่ติดเชื้อ ดังนั้น CDC ของอเมริกา จึงแนะนำวิธีป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับตัวแพร์รี่ดอก หรือ หนูแกมเบี้ยนยักษ์ ที่มีอาการป่วย ซึ่งสังเกตได้โดยมีขนร่วงเป็นหย่อม มีผื่นที่ผิวหนัง หรือมีขี้ตาและน้ำมูก ล้างมือหลังจากสัมผัสสัตว์ทุกครั้ง  โดย พญ.รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข  แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ขอบคุณที่มา Thaiclinic.com

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไขมันดีที่เป็นมิตรกับสุขภาพ

 ไขมันดีที่เป็นมิตรกับสุขภาพ       ไขมันที่มีอยู่ในอาหารมีส่วนประกอบของกรดไขมัน (fatty acid) มีธาตุคาร์บอน ธาตุไฮโดรเจน และธาตุออกซิเจน เรียงจับกันในลักษณะต่างๆ สามารถแบ่งตามโครงสร้างทางเคมี ได้ดังนี้      1. ไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) คือไขมันที่มีโครงสร้างคาร์บอนเรียงจับกันครบ ไขมันชนิดนี้ร่างกายสามารถสร้างได้เอง       ถ้ารับประทานมากเกินไป จะทำให้เกิดคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง เกิดการอุดตันของเส้นเลือด เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด      2. ไขมันไม่อิ่มตัว (Unsatuarated fatty acid) คือไขมันที่ธาตุคาร์บอนยังมีเหลือสามารถจับกับธาตุไฮโดรเจนได้ แบ่งออกเป็น ก. กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated fatty acid) ได้แก่ กรดโอเลอิก (Oleic acid) เป็นกรดไขมันที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง แต่ถ้ารับประทานเข้าไปมาก ก็ไม่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และมีแนวโน้มที่จะช่วยลดไขมันในเลือดด้วย ข. กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหลายตำแหน่ง (Polyunsaturated fatty acid) เป็นกรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง จำเป็นต้องรับจากอาหาร ไขมันที่สำคัญคือ Omega-3 (Alpha-linolenic acid) และ Omega-6 (linolenic acid) ในหมู่ไขมันในอาหาร มีไขมันที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ จะเป็นไขมันที่อยู่ในกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันเหล่านี้อยู่ในอาหารอะไรบ้าง เรามาดูกัน น้ำมันมะกอก olive oil เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของกรดโอลิอิก (Oleic acid) ซึ่งจะไม่เพิ่มระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด และเป็นแหล่งที่ดีของวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต่อต้านอนุมูล (Antioxidants) ช่วยลดการเกิดมะเร็ง และช่วยลดการทำลายหลอดเลือด ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตัน น้ำมันจากเมล็ดพืช น้ำมันคาโนลา (Canola oil) เป็นน้ำมันที่มีส่วนผสมของ กรดโอลิอิก (Oleic acid) ซึ่งช่วยลดไขมันในเลือดชนิด LDL ที่เป็นคลอเรสเตอรอลที่ไม่ดีให้ลดลง และมีส่วนประกอบของOmega-3 และ Omega-6 ซึ่ง Omega-3 มีส่วนช่วยลดไขมันไตรกรีเซอไรด์ และลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ที่เป็นต้นเหตุให้เส้นเลือดหัวใจอุดตัน จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ แต่นับว่าเป็นข่าวร้ายที่นักวิจัยพบว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นที่เราใช้อยู่ปัจจุบันคือ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย มีส่วนของ omega-6 มากกว่า omega-3 ซึ่ง omega-6 นี้แม้จะมีความจำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็เป็นต้นเหตุให้ความดันเลือดสูง ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดง่ายขึ้น ทำให้เกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ง่าย และทำให้ร่างกายบวมน้ำ ดังนั้นถึงแม้เราจะใช้ไขมันเหล่านี้ปรุงอาหาร ก็ควรหลีกเลี่ยงอย่าใช้มากเกินจำเป็น และหลีกเลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันมาก เช่น ของทอด หรือผัด ควรทานอาหารประเภทต้ม หรือนึ่งมากกว่า น้ำมันปลา fish oil น้ำมันปลา (อย่าสับสนกับน้ำมันตับปลา) ในปลาทะเลได้แก่แซลมอน ทูน่า ซาดีน เฮอร์ริ่ง เป็นปลาที่มีกรดไขมัน omega-3 จากการศึกษาพบว่าการทานปลาเหล่านี้ สองครั้งต่อสับดาห์ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นและอารมณ์ดีขึ้น ถั่วนัท (nut) ได้แก่ ถั่วแอลมอนด์ วอลนัท พีนัท พีแคน จะมีไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Monounsaturated fatty acid ช่วยลดปริมาณไขมัน LDL ได้ และในวอลนัท จะมีปริมาณ Omega-3 สูงด้วย แต่ในการทานถั่วนี้ ไม่ควรทานในรูปของ ถั่วคั่วใส่เกลือ เพราะมีพลังงานสูงและเกลือมากเกินไป ถึงแม้ไขมันเหล่านี้ จะเป็นมิตรต่อสุขภาพ แต่ก็เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง ดังนั้นการทานอาหารที่มีไขมันสูง ก็ต้องระวังเรื่องความอ้วนด้วย จึงไม่ควรทานมากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย SOURCES: Good Fats, Bad Fats, by Rosemary Stanton, PhD, Marlowe & Co. * The PDR Family Guide to Nutrition and Health, Medical Economics Co. 2003 WebMD Inc. All rights reserved.                              โดย พญ.รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข  แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป        ขอบคุณที่มา Thaiclinic.com LINETwitterFacebook

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไข้เลือดออกระบาด - สาเหตุ อาการ ระวัง ป้องกัน รู้ทันยุงลาย

เกร็ดความรู้เรื่องไข้เลือดออก โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่แพร่ระบาดในฤดูฝนพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสกัดคน จะถ่ายทอดเชื้อให้คนทำให้เกิดอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการช็อค ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลาอาจเสียชีวิตได้ โดยมีอาการเลือดออกตามมา เป็นโรคอันตรายที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขในพื้นที่ประเทศเขต ร้อนชื้น โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เพื่อให้เกิดความ“ตระหนัก” ถึงความสำคัญของโรค การให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกและผู้ดูแลรู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้นที่บ้าน รู้สัญญาณอันตราย ซึ่งต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ ตลอดจนรู้แนวทาง และช่วยเหลือกันในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ข้อมูลจากระบบรายงานการเฝ้าระวังโรค 506 สำนักระบาดวิทยา รายงานถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ.2559 ณ วันที่20 ธันวาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (Dengue fever: DF, Dengue haemorrhagic fever: DHF, Dengue shock syndrome: DSS) สะสมรวม 60,964 ราย อัตราป่วย 93.18 : แสนคน  จำนวนผู้ป่วยลดร้อยละ 57.36 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2558 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ป่วยเสียชีวิต 60 ราย อัตราป่วยตาย เท่ากับ ร้อยละ 0.10 จะเห็นได้ว่าคนมีการระวังและป้องกันอันตรายจากยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกกันมากขึ้น แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด เพราะไข้เลือดออกไม่มีทางรักษา และทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่รู้จักวิธีการดูแลรักษาเบื้องต้น   สาเหตุ เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสเดงกี่  โดยมี 4 ชนิดคือ เดงกี่-1, เดงกี่-2, เดงกี่-3 และเดงกี่-4 ทําให้คนเรามีโอกาสที่จะป่วยจากโรคไข้เลือดออกได้หลายครั้ง มีพาหะนำโรคที่สำคัญคือ ยุงลาย เมื่อยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่ กัด จะส่งเชื้อให้คน ทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ยุงลายมักออกหากินตอนกลางวัน  และวางไข่ในน้ำสะอาดที่ขังนิ่ง   อาการ แบ่งเป็น  3 ระยะได้แก่ ระยะไข้ ระยะวิกฤต และระยะพักฟื้น อาการที่สำคัญในระยะไข้ 1. ระยะไข้  คือ อาการไข้สูงลอยประมาณ 39 - 40°C นาน 2-7 วัน มักมีหน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง และอาจมีภาวะเลือดออกร่วมด้วย โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกส่วนใหญ่ จะไม่ปรากฏพร้อมๆ กัน จึงต้องเฝ้าติดตามเป็นระยะๆ  2. ระยะวิกฤต  เมื่อผู้ป่วย มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  มีอาการเพลีย ซึม ไม่ดื่มนํ้า ไม่รับประทานอาหาร ไม่มีกิจกรรมตามปกติ เมื่อไข้ลง (บางรายจะกระหายนํ้ามาก) อาเจียน ปวดท้องมาก เลือดออกผิดปกติ มีอาการช็อก (IMPENDING SHOCK) คือมือเท้าเย็นกระสับกระส่าย ร้องกวนมากในเด็กเล็ก ตัวเย็น เหงื่อออก ตัวลาย สีผิวคลํ้าลง ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะ 4-6 ชม. ความประพฤติเปลี่ยนแปลง เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เพ้อ เอะอะโวยวายเป็นระยะอันตรายของโรค เข้าสู่ระยะช็อก แม้อยู่ในภาวะช็อก ผู้ป่วยจะมีสติดี พูดจารู้เรื่อง ต้องรีบนําส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที และกระตุ้นให้ผู้ป่วยดื่มนํ้าเกลือแร่หรือนํ้าผลไม้ใส่เกลือเล็กน้อย โดยให้จิบครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ควรดื่มแต่นํ้าเปล่าอย่างเดียว   ภาวะช็อกส่วนใหญ่เกิดจากมีการรั่วของพลาสม่าออกนอกหลอดเลือด ทําให้ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น และบางรายอาจถึงขั้นมีความดันโลหิตตํ่าหรือที่เรียกว่าช็อกตามมา นอกจากนั้นภาวะช็อกอาจเกิดจากการที่เลือดออกในอวัยวะสําคัญได้แก่ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ประจําเดือนมามากกว่าปกติ และเลือดออกจากแผลผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ภาวะช็อก อาจทําให้เกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะไตและตับ ซึ่งส่งผลรุนแรงถึงขั้นทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ง 3. ระยะพักฟื้น  กรณีผู้ป่วยรับการรักษาแล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปคือไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทําให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังภาวะเลือดออกต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูก การแปรงฟัน การออกกําลังกายหรือเล่นกีฬาที่มีความรุนแรงหากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันทีให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทําให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้ แนะนำให้    การรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไข้เลือดออก มีเพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ดังนั้นการป้องกัน กําจัดลูกนํ้า ภาชนะใส่นํ้าภายในบ้านควรปิดฝาให้มิดชิด  และอีกวิธีหนึ่งคือ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งในตอนนี้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตัวแรกของโลก ได้เข้าสู่ประเทศไทยแล้วซึ่งวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีถึง 45 ปี  และพบว่านอกจะสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้แล้วยังสามารถลดการเกิดไข้เลือดออกชนิดรุนแรงได้ถึง 93.2%  และสามารถลดการนอนโรงพยาบาลโรคไข้เลือดออกได้ 80.8% ยังไม่มียาต้านไวรัส เป็นการรักษาตามอาการ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาเวลามีไข้ เช็ดนาน 10-15 นาที  กินยาลดไข้พาราเซตามอลได้ เมื่อมีไข้ โดยให้ยาห่างกัน ไม่น้อยกว่า 4-6 ช.ม. งดแอสไพรินเด็ดขาด ดื่มน้ำมากๆ  ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย งดอาหารที่มีสีแดง ดำ และน้ำตาล ติดตามอาการอันตราย และไปพบแพทย์ตามนัด โดยเฉพาะในระยะไข้ลงที่ผู้ป่วยยังไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติได้ หรืออาการยังไม่ดีเหมือนปกติ กรณีผู้ป่วยรับการรักษาแล้วแพทย์ให้กลับบ้านได้ ควรดูแลและปฏิบัติตนต่อไปนี้ ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกไม่ควรให้ถูกยุงกัดภายใน 5 วันแรกของโรค เพราะผู้ป่วยยังมีไวรัสอยู่ในเลือดทำให้แพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้ หากมีคนในบ้านมีไข้สูง ให้พามาตรวจ ควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์ทันที ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน หรือ ยากลุ่ม NSAID เช่น ไอบูโปรเฟน เนื่องจากทำให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารมากขึ้น หรือมีผลต่อตับได้ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่โรงเรียน   การป้องกัน ควรนอนในมุ้ง หรือในห้องติดมุ้งลวดที่ปลอดยุงลาย ม่เล่นในมุมมืด หรือบริเวณที่ไม่มีลมพัดผ่าน ห้องเรียน หรือห้องทำงานควรมีแสงสว่างทั่วถึง มีลมพัดผ่าน ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น แจกันดอกไม้ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน พลูด่างควรปลูกในดิน กำจัดยุงในบริเวณมุมอับภายในบ้าน ตู้เสื้อผ้า บริเวณรอบ ๆ บ้าน ทุกสัปดาห์ กำจัดลูกน้ำ ภาชนะใส่น้ำภายในบ้านปิดฝาให้มิดชิด ถ้าไม่สามารถปิดได้ ให้ใส่ทรายอะเบทหรือใส่ปลาหางนกยูง จานรองขาตู้กับข้าว จานรองกระถางต้นไม้ ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูหรือผงซักฟอก สัปดาห์ละครั้ง วัสดุที่เหลือใช้รอบ ๆ บ้าน เช่น กระป๋อง กะลา ยางรถยนต์เก่า ฯลฯ ให้คว่ำหรือทำลายเสีย   วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ปัจจุบันมีวัคซีนโรคไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์(DEN 1-4) แนะนำให้ฉีดในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ฉีด 3 เข็ม ( เดือนที่ 0,6 และ 12 เดือน) ในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน ไม่แนะนำให้ฉีดในผู้ที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน จากงานวิจัยทวีปเอเชียแปซิฟิกและแถบละตินอเมริกาในอาสาสมัครอายุ 9-16 ปี พบว่า วัคซีน CYD-TDV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไข้เลือดออกเดงกี้ ดังนี้ สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีทุกสายพันธุ์ได้ 65% ลดการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 80.8% ป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกีได้ถึง 92.9% ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี ได้แก่ ผู้ที่แพ้หรือไวต่อการแพ้ต่อสารออกฤทธิ์หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ผู้ที่เกิดการแพ้หลังได้รับวัคซีนไข้เลือดออกเข็มแรก โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นคัน หายใจถี่หอบ หน้าและลิ้นบวม ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคใดก็ตามที่ทำให้มีไข้ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงไข้สูง หรือกำลังเจ็บป่วยแบบเฉียบพลัน แพทย์จะทำการเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายเป็นปกติ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อเอดส์(HIV) หรือรับยากดภูมิคุ้มกันเช่น ยา Prednisone หรือเทียบเท่า 20 มก.หรือ :2 มก/กก. ของน้ำหนักตัวเป็นเวลา ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปเป็นต้น สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างช่วงให้นมบุตร   5ป ปราบยุงลาย ป้องกันไข้เลือดออก   ป1 ปิด ภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด ป2 เปลี่ยน น้ำในภาชนะต่าง ๆ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำ ป3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ป4 ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมให้โปร่งลมพัดผ่านได้ไม่ให้ยุงมาเกาะพัก ป5 ปฏิบัติ ตามทั้ง 4ป ข้างตนเป็นประจำจนเป็นนิสัย ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้พาไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ระวังไม่ให้ยุงกัดในเวลากลางวัน และ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด กางมุ้ง ทายากันยุง  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกกุมารเวช โทร. 0-2561-1111  กด 1 แพทย์ พญ.ปราณี สิตะโปสะ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

8 ขั้น การเตรียมการเลิกบุหรี่

ในวันที่ 31 พฤษภาคม กำหนดให้เป็นวันงดบุหรี่โลก ในวันนี้เองที่ผู้สูบบุหรี่จำนวนหนึ่ง ถือเป็นวันดีเดย์ สำหรับการเลิกบุหรี่อย่างถาวร ใครที่กำลังคิดเช่นนั้น  รพ.วิภาวดี มีข้อแนะนำในการเตรียมตัวสำหรับวันนั้นครับ แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ และการเลิกบุหรี่กันก่อนครับ  ทำไมการเลิกบุหรี่ถึงเป็นเรื่องยาก เหตุที่ทำให้การเลิกบุหรี่เป็นเรื่องยากนั้น มีสาเหตุที่สำคัญ 2 อย่างคือ การติดเพราะร่างกายต้องการ หรือ Psysical Addiction การติดเพราะสูบจนเป็นนิสัย หรือ Psychological Addiction หรือเรียกง่าย ๆว่าเป็น Habit                    จริง ๆ แล้ว การติดบุหรี่ของคนเรา มักจะประกอบไปด้วยทั้ง 2 องค์ประกอบข้างต้น ดังนั้นการเลิกบุหรี่ จึงจำเป็นต้องกำจัดสาเหตุทั้งสองอย่างออกไปให้ได้พร้อม ๆ กัน   ข้อเท็จจริงของการติดที่เรียกว่า Psysical Addiction ภายในเวลาเพียงแค่ 7 ถึง 10 วินาที ที่เราสูบบุหรี่ สาร Nicotine ก็จะเริ่มส่งผลกระทบต่อสมองของเราโดยทันที ทำให้เราเกิดความรู้สึกพึงพอใจ กระฉับกระเฉง ขึ้นมาทันที แต่อย่างก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป 30 นาที Nicotine ก็จะสลายออกไปจากร่างกายเราหมด และเมื่อนั้น ความรู้สึกเหนื่อย กระสับกระสาย และ เครียดก็จะเข้ามาแทนที่ จนต้องสูบมวนใหม่ และความต้องการนั้นก็จะเพิ่มปริมาณ และความถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอาการติดไปในที่สุด   ข้อเท็จจริงของการติดที่เรียกว่า Psychological Addiction หรือ Habit ข้อนี้ ลองถามตัวเองดูว่า บุหรี่ มีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของคุณมากแค่ไหน สาเหตุของการติดในลักษณะนี้ อธิบายง่าย ๆ ตามหลักการของ Ivan Pavlov ในทฤษฎีที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “หมาได้ยินเสียงกระดิ่งแล้วน้ำลายไหล เพราะคิดว่าจะได้อาหาร” กล่าวคือ ได้มีการทดลอง นำกระดิ่งมาสั่น ทุกครั้งก่อนที่จะให้อาหารสุนัข สุนัขก็จะรับรู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเสียงกระดิ่ง จะได้อาหารและเมื่อกระดิ่งดังขึ้น สุนัขก็จะน้ำลายไหล แม้ว่าการสั่นกระดิ่งในครั้งนั้น จะไม่มีอาหารให้ก็ตาม เพราะสุนัขเรียนรู้ว่า “เอาหละ เมื่อเสียงกระดิ่งดังขึ้น ฉันจะได้อาหารแล้ว” ทีนี้มาลองเปรียบเทียบกับคนติดบุหรี่ เราจะเห็นได้ว่า คนติดบุหรี่นั้น มักจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่มาควบคู่ไปกับการสูบบุหรี่ เช่น เมื่อขับรถจะสูบบุหรี่ทุกครั้งเมื่อตื่นนอนขึ้นมาจะต้องหยิบบุหรี่สูบ ทีนี้ทุกครั้งที่ขึ้นนั่งบนรถ สมองก็จะสั่งว่า “เอาหละ ฉันขึ้นนั่งบนรถแล้ว ไหนล่ะบุหรี่” แบบนี้เป็นต้น   การเลิกบุหรี่ การเลิกบุหรี่ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือด้วยกระบวนการทางการแพทย์ สามารถช่วยอาการติดแบบ Psysical Addiction ได้ แต่สำหรับ Habit แล้ว ต้องอาศัยกำลังใจความเข้มแข็ง และความตั้งใจจริง ถ้าหากคุณเป็นผู้หนึ่ง ที่คิดจะเลิกบุหรี่ในวันพรุ่งนี้ วันงดบุหรี่โลก หรือวันไหนก็แล้วแต่ ที่ถือเป็นวันดีสำหรับคุณ   ลองมาปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้ เพราะมันจะช่วยให้คุณ ไม่หวนกลับมาหาบุหรี่อีกเลย ทิ้งบุหรี่ที่คุณมีอยู่ให้หมด หาให้ทั่วว่าคุณอาจจะซุกซ่อนบุหรี่ของคุณเอาไว้ที่ไหน ในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง เสื้อแจ็คเก็ต ลินชักโต๊ะทำงาน โยนทิ้งไม่ให้เหลือแม้กระทั่งมวนเดียว ไม่ว่ามันจะมีราคาแพงแค่ไหนก็อย่าเสียดายเป็นอันขาด   ที่เขี่ยบุหรี่ก็ทิ้งไปเสียด้วย กรณีที่เสียดายเพราะมันเป็นเครื่องตกแต่งราคาแพง อาจจะยกให้คนอื่นไปเสีย หรือนำไปเก็บไว้ในที่ ๆ คุณแน่ใจว่า จะไม่มองเห็นหรือหยิบออกมาได้โดยง่าย   เปลี่ยนทรงผม จะได้ดูว่า เรากำลังจะเป็นคนใหม่   ทำความสะอาดบ้านและเครื่องเรือนทั้งหมด รวมทั้งเสื้อผ้าก็นำมาซักให้สะอาด ให้กลิ่นบุหรี่หมดไป จริงอยู่คนสูบบุหรี่จะไม่ได้กลิ่นเหล่านี้หรอก เพราะความเคยชิน แต่เมื่อเลิกแล้ว คุณจะได้กลิ่นของมัน   ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพราะมันจะช่วยชำระล้าง Nocotine ออกจากร่างกาย และยังช่วยบรรเทาอาการอยากบุหรี่ได้ด้วย   ลดปริมาณสาร Caffeine ที่รับประทานในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นชาหรือกาแฟก็ตาม โดยก่อนการเลิกบุหรี่ ควรจะพยายามลดปริมาณสารนี้ให้ได้ประมาณครึ่งหนึ่งของที่เคยรับประทานในแต่ละวัน เพราะ Nicotine ทำให้ caffeine ซึมเข้าร่างกายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ถ้าหากคุณรับประทาน Caffeine ในปริมาณเท่าเดิม ขณะที่สูบบุหรี่ อาจจะนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า Caffeine Toxicity โดยมีอาการ กระวนกระวายและเครียดได้ แลtนั่นอาจจะทำให้คุณหันกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง   ออกกำลังกาย เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้เราเอาใจออกห่างจากบุหรี่ได้ด้วย   หาเพื่อนที่มีความต้องการจะเลิกบุหรี่ด้วยกันสักคน แล้วเลิกพร้อมกันเพื่อที่จะได้เป็นที่ปรึกษา คอยเตือนและคอยให้กำลังใจกัน หรืออาจจะเป็นการหาแรงบันดาลใจอื่น เช่น เลิกเพื่อลูก เลิกเพื่อบิดามารดา หรือคนรักก็ได้   หวังว่าทุกท่าน ที่ตั้งใจแน่วแน่ คงเลิกบุหรี่ได้นะครับ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ทั่วไป ขอบคุณที่มา Thaiclinic.com  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์อย่างไรให้ปลอดภัย

โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล ศนูย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.วิภาวดี          การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายฟิต  มีสุขภาพดีและทำให้มีคณุภาพชีวิตที่ดี ในขณะที่ตงั้ครรภ์ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามที่จะต้องหยุดการออกกำลังกาย โดยหลักการทั่วไปแล้ว คนที่เคยออกกำลังกายสม่ำเสมอก่อนการตั้งครรภ์ก็ควรออกกำลังกายต่อไป คนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ควรมี การออกกำลังกาย เมื่อมีการตั้งครรภ์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายไปเรื่อยจนคลอด และมีอาการ ไม่พึ่งประสงค์บางอย่าง ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์จึงควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ที่เราฝากครรภ์หรือผู้มีความรู้ก่อนการวางแผนการออกกำลังกาย        ผลจากการออกกำลังกายนอกจากทำให้สุขภาพดีแล้ว  อาจลดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ได้ด้วย เช่น ภาวะเบาหวาน ภาวะครรภ์เป็นพิษ ประเภทของการออกกำลังกาย เมื่อตั้งครรภ์ระยะแรกๆ ร่างกายยังเปลี่ยนแปลงไม่มาก มักจะไม่ค่อยมีข้อจำกัดของการออกกำลังกาย แต่เมื่ออายครรภ์มากขึ้นร่างกายเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ศูนย์ถ่วงของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ความคล่องแคล่วของการเคลื่อนไหวลดลง และการทรงตัวลำบากขึ้น โอกาสเกิดอุบัติเหตุหกล้มมากขึ้น ก็มีข้อจำกัดของการออกกำลังกายมากขึ้นบ้าง สตรีตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ทั้งแบบแอโรบิค ได้แก่ การเต้นแอโรบิค, วิ่งจ๊อกกิ้ง, การเดินเร็ว, ว่ายน้ำ , Squash (ยืน-ย่อเข่า), เต้นรำ, ปั่นจักรยานอยู่กับที่ การออกกำลังกล้ามเนื้อ เข่น ยกน้ำหนัก, การทำแพลงกิ้ง (planking) ฝึกท่ากายบริหาร เหยียดยืดกล้ามเนื้อ การทำโยคะ และการขมิบก้นบ่อย ๆ เพื่อบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เป็นต้น ควรออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน ให้ถือหลักสายกลาง คือ ออกกำลังแค่ระดับปานกลางพอเหนื่อยปานกลาง ไม่ต้องให้ถึงกับเหนื่อยเต็มที่ อย่าเน้นเรื่องการลดน้ำหนัก เพราะเมื่อตั้งครรภ์ น้ำหนักต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้วเลือกประเภทการออกกำลังที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่รวดเร็ว ไม่มีเปลี่ยนท่ารุนแรงฉับพลัน หลีกเลี่ยงการไป กระแทกชนคนอื่นหรือสิ่งอื่น หรือการมีสิ่งอื่นมากระแทกตัวเรา หลีกเลี่ยงประเภทที่จะทำให้มีการหกล้มง่าย เช่น การเล่นวอลเล่ย์บอล การเล่นสกี สเก็ต เป็นต้น ทำครั้งหนึ่งประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง ข้อสำคัญคือ ควรทำสม่ำเสมอทุกวัน หรือ เกือบทุกวัน ภาวะใดที่สตรีตั้งครรภ์ไม่ควรออกกำลังกาย มีบางภาวะที่ไม่ควรออกกำลังกาย หรือควรอยู่ในการควบคุมใกล้ชิด ได้แก่ - มีประวัติแท้งและคลอดก่อนกำหนดบ่อย - มีโรคหัวใจและโรคปอดอยู่ก่อน - มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์บ่อยๆ - ภาวะรกเกาะต่ำเมื่อครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ขึ้นไป – ภาวะปากมดลูกอ่อนแรง (ปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด) เสี่ยงต่อการแท้ง หรือ คลอดก่อนกำหนด - ภาวะครรภ์เป็นพิษ - เลือดออกทางช่องคลอด - น้ำไหลจากช่องคลอด - เหนื่อยมาก - หายใจลำบาก - วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน - เป็นลม - ปวดท้อง ท้องแข็ง เมื่อมีภาวะต่อไปนี้ขณะออกกำลังกาย ควรหยุดทันทีแล้วรีบปรึกษาแพทย์ การแต่งตัว ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป ควรใส่ยกทรงสำหรับการออกกำลังกาย ควรสวม รองเท้าที่เหมาะกับชนิดของการออกกำลังกาย ตัวอย่างการออกกำลังกายที่ดีขณะตั้งครรภ์  1. การเดินเร็ว เป็นวิธีหนึ่งที่ง่าย ได้ผลดี โอกาสเกิดการหกล้มน้อย ทำได้ตลอดการตั้งครรภ์  2. การว่ายน้ำ เป็นวิธีที่ดีมากสำหรับคนที่ว่ายน้ำเป็น หาสระว่ายน้ำได้ไม่ยาก เพราะเป็นการออกำลังกายทุกส่วนของร่างกาย ไม่กระแทกกระทันกับข้อต่อต่างๆ มีน้ำพยุงร่างกายอยู่แล้ว โอกาสเกิดการหกล้มในน้ำไม่มี  3. การจ็อกกิ้ง สำหรับคนที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว เหมาะสำหรับการตั้งครรภ์ 3 - 4 เดือนแรก  4. การเต้นรำ ชนิดที่มีการเคลื่อนไหวไม่รวดเร็วมาก ท่าทางที่ทำให้ไม่ล้มง่าย ไม่ควรใส่รองเท้า ส้นสูง  5. การทำ Squash (ยืน-ย่อเข่า) กางเท้ากว้างเท่าไหล่ ใช้มือยันที่เข่า หรือ มีที่เกาะ ย่อให้ข่างประมาณ 90 องศา ประมาณ 5 วินาที แล้วยืนค่อยๆ ทำจากน้อยไปมาก  6. การทำแพลงกิ้ง (planking) นอนคว่ำยกตัวโดยข้อศอกและปลายเท้ายันพื้น ทำครั้งละ 1 - 3 นาที วันละ 3 - 4 ครั้ง ท่านี้ออกกำลังทั้งแขน ขา ท้อง หลัง ไหล่ และลำตัวส่วนอื่น ๆ  7. การยกน้ำหนัก ยกดัมเบล เพิ่มกล้ามเนื้อ  8. การขี่จักรยานอยู่กับที่ วิธีนี้ได้ออกกำลังกายแบบแอโรบิค โดยโอกาสเกิดอุบัติเหตุการหกล้มน้อย  9. โยคะ ในท่าที่ไม่บิดกดทับหน้าท้องมาก โดยเฉพาะก่อนท้องแก่  10. การบริหารยืดเหยียดร่างกายต่างๆ สรุป การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ทำได้และควรทำเพื่อสุขภาพทั้งขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด ควรทำสม่ำเสมอ ไม่ควรทำหนักเกินไป เลือกทำชนิดที่ไม่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว รุนแรง และชนิดที่ไม่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม ควรรับประทานอาหารให้เพียงพอ ออกกำลังกายหลังทานอาหารแล้วไม่ น้อยกว่า1 ชั่วโมง และปรึกษาแพทย์ก่อนการวางแผนออกกำลังกาย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะของ ไฝ อย่างไรที่ควรต้องเฝ้าระวัง

ลักษณะของ ไฝ อย่างไรที่ควรต้องเฝ้าระวัง  ไฝ คือ          ภาวะหนึ่งของร่างกายที่บริเวณนั้นๆมีการรวมกลุ่มกันของเซลล์สร้างเม็ดสีหรือเซลล์ไฝ (Nevus cell) ทำให้เห็นไฝเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล อาจเป็นจุดเรียบหรือตุ่มนูน ไฝแบ่งตามชนิดที่เป็นได้ 2 ประเภท 1.                   ไฝตั้งแต่แรกเกิด มักมีขนาดโตตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรขึ้นไป เป็นก้อนนูน อาจมีขนขึ้นบริเวณไฝด้วย 2.                ไฝที่เกิดขึ้นภายหลัง มักเป็นบริเวณที่โดนแสงแดด มักมีขนาดเล็ก เรียบ ถ้าเป็นไฝที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ผิวเรียบและไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเรียกว่า ขี้แมลงวัน ถ้าไฝมีลักษณะนูน โตเร็ว แตกเป็นแผล ควรมาพบแพทย์            ไฝบางประเภทอาจกลายเป็นมะเร็งของผิวหนังได้  สาเหตุที่แน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผิวหนังถูกกับสิ่งกระตุ้นเป็นเวลานานๆ เช่นถูกแสงแดดจัดๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี ถูกถูไถจนเป็นแผลเป็นเวลานาน หรือ ถูกสารเคมี เป็นต้น ลักษณะไฝที่ต้องเฝ้าระวังคือ 1.      Asymmetry       เมื่อแบ่งครึ่งจะไม่สมมาตร ครึ่งหนึ่งของไฝจะแตกต่างจากอีกด้านหนึ่ง 2.      Border             ขอบเขตของไฝไม่สม่ำเสมอ ขอบเขตไม่ชัดเจน 3.      Color                มีหลากหลายสีหรือสีไม่สม่ำเสมอ 4.      Diameter          ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร 5.      Evolving            ไฝที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี รูปร่าง ขนาด โตเร็วผิดปกติ หรือ มีเลือดออก วิธีการรักษา 1.      กรณีไฝอันตราย ควรพบแพทย์เพื่อเก็บตัวอย่างผิวหนัง ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา 2.      กรณีไฝธรรมดาหรือขี้แมลงวัน สามารถกำจัดออกได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 Laser) เป็นการใช้ความร้อนจี้เซลล์ไฝออกไป หลังการรักษาแผลจะเป็นสเก็ดอยู่ประมาณ 5-7 วัน             การดูแลผิวหลังทำเลเซอร์หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสการเกิดรอยคล้ำ     ข้อมูลโดย: พญ.ชนาทิพย์  ญาณอุบล อายุรศาสตร์  สาขา ตจวิทยา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีดูแลลูกน้อยในช่วง COVID-19

วิธีดูแลลูกน้อยในช่วง COVID-19           จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVIB-19) มีรายงานผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวันทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวล ยิ่งในครอบครัวที่มีเด็ก ก็ยิ่งเพิ่มความกังวลของคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองมากขึ้นไปอีก แม้ว่าจำนวนเด็กที่ติดเชื้อยังมีไม่มาก เพราะเด็กไม่ได้เดินทางหรือพบปะผู้คนมากเท่าผู้ใหญ่  ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม มีการงดจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกัน  ทำให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่เด็กมักได้รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดภายในครอบครัวหรือติดจากเพื่อนร่วมโรงเรียนมากกว่า ดังนั้นการเฝ้าระวังโรคทั้งตัวเด็กเองและคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงเป็นมาตรการที่สำคัญที่ควรทราบและปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อให้ห่างไกลจากไวรัสโควิด-19    วิธีแนะนำในการเลี้ยงดูเด็กในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด   -สอนลูกว่า ช่วงนี้มีเชื้อไวรัสตัวใหม่ระบาด  สามารถติดต่อได้ง่ายจากการไอ  จาม  และสัมผัสสิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น  ต้องระมัดระวังตนเองมากขึ้น  หลีกเลี่ยงไมให้เด็กสัมผัสสิ่งของต่างๆโดยไม่จำเป็น  ไม่เอามือป้ายหน้าป้ายตาเพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้   -สร้างสุขอนามัยที่ดีให้ลูก  เช่น ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น  รับประทานอาหารปรุงสุก  ใช้ช้อนกลางไม่ดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ อย่างถูกวิธี คุณพ่อคุณแม่และทุกคนในบ้านต้องล้างมือและทำความสะอาดตัวเองทุกครั้งก่อนสัมผัสลูก  ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในเรื่องการระวังการติดเชื้อ   -วัยทารกแรกเกิด (เด็กแรกเกิดถึงอายุ 1 เดือน) ทางชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนให้มีการใส่หน้ากากอนามัย (Face mask) หรือ Face shield เนื่องจากทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก  ยังไม่มีความสามารถหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้เมื่อมีการขาดอากาศหรือออกซิเจน  ถ้าวัสดุที่นำมาผลิตมีแรงต้านการไหลของอากาศเข้า-ออก อาจทำให้ทารกหายใจได้ไม่เพียงพอและโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้  เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารกและวัสดุพลาสติกที่ใช้บังหน้าทารกอาจมีความคมบาดใบหน้า  ดวงตา  ทารกได้   -เด็กอายุ 1 เดือนถึง 1 ปี หากใส่หน้ากากอนามัยต้องมีผู้ใหญ่คอยดูแล เนื่องจากเด็กอาจมีปัญหาหายใจลำบากเนื่องจากกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงและไม่แข็งแรงและไม่สามารถบอกผู้ใหญ่มีภาวะใจลำบากเกิดขึ้น   -เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปสามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยได้อย่างปลอดภัย   -ดูแลสุขอนามัยของบ้านและจัดสิ่งแวดล้อมให้ดี มีอากาศถ่ายเทสะดวก  หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็กและที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ   -หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปสถานที่ที่มีผู้คนแออัด  เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร   -หากเด็กมีโรคประจำตัวควรรับประทานยาสม่ำเสมอและดูแลปฏิบัติตนตามแพทย์สั่ง -สร้างเสริมภูมิต้านทานโรคโดยพาเด็กไปรับวัคซีนตามแพทย์นัด  หากมีปัญหาใดๆให้โทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ก่อนมาโรงพยาบาล               คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองและเราทุกคนมีส่วนร่วมช่วยกันลดการระบาดโรคติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 ได้ เช่น ทำร่างกายให้แข็งแรง  นอนหลับให้เพียงพอ  รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลอยู่เสมอ  การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ อยู่บ้าน  ไม่สังสรรค์ ไม่จัดงานเลี้ยง  งดร่วมกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด  ทำงานอยู่บ้าน  ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น  เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ลดการเดินทางให้น้อยที่สุดทั้งในและนอกประเทศ  ลดโอกาสที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทุกกรณีติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การระบาดของโรคเป็นระยะๆ มีวินัยและปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบที่ทางรัฐบาลหรือหน่วยงานทางสาธารณสุขประกาศ  สังเกตอาการเจ็บป่วยของคนในบ้าน  เช่น ไข้  เจ็บคอ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาเพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดการแพร่กระจายเชื่อไปให้ผู้อื่น                               แพทย์หญิงปราณี  สิตะโปสะ              กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ  โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ถอดจากการสัมภาษณ์ ในรายการ Happy&Healthy ช่วง Health Talk FM.102 ทุกวันเสาร์ 09.00 -10.00 น. ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ             การนอนกรน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย และยังเป็นอาการแรกที่ควรตระหนักถึงอันตราย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะตอนเช้า ง่วงมากในเวลากลางวัน หากเป็นมากจะส่งผลไปยังสมองและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้             โรคภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจากทางเดินหายใจอุดกั้น เป็นสภาวะที่ท่อทางเดินหายใจแคบลง ทำให้หายใจติดๆ ขัดๆ หรือหายใจลดลง จนต้องมีความพยายามหายใจมากขึ้น หรือถึงขั้นหยุดหายใจไปได้เลย ที่สำคัญเมื่อหยุดหายใจแล้วจะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ทั้งยังส่งผลไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายด้วยเช่นกัน             ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ พบได้ในผู้ที่มีเนื้อเยื่อในช่องคอมากกว่าปกติหรือมีเนื้อเยื่อหย่อนตัว ทำให้ท่อทางเดินหายใจแคบลง หรือบางครั้งรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีปัญหาโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ เช่น กรามเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มที่มีโรคทางสมอง หรือโรคกล้าเนื้ออ่อนแรง กลุ่มคนที่ดื่มแอลกอฮลล์ กลุ่มคนที่ใช้ยานอนหลับประเภท Benzodiazepine (เบนโซไดอะซีปีน) และพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวมากกว่า ฉะนั้นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงกลับมาเท่าผู้ชายอีกครั้ง นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้กล้ามเนื้อที่คอหอยหย่อนโดยตรง หรือบางคนเป็นโรคหัวใจ ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายมากขึ้น เนื้อเยื่อบริเวณคอก็จะหนาตัวขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงได้เช่นกัน             อาการที่บ่งบอกถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ได้แก่ 1.กรนเสียงดัง 2.มีผู้อื่นสังเกตเวลานอนจากเสียงกรนที่มีมาก่อนหน้าแล้วเงียบไปเลย หรือบางครั้งมีการสะดุ้งตื่นระหว่างหลับ กระหายอากาศหรือสำลักอากาศ 3.ปวดศีรษะเป็นประจำหลังตื่นนอน 4.ตื่นนอนแล้วรู้สึกไม่สดชื่น เหมือนนอนหลับไม่เต็มอิ่ม 5.รู้สึกเจ็บคอ คอแห้ง 6.ในช่วงกลางวันอาจจะมีอาการง่วงตลอดเวลา เผลอหลับในที่ๆ ไม่ควรหลับ เช่น หลับขณะกำลังขับรถอยู่ 7.บางคนที่มีโรคประจำตัวแล้วควบคุมไม่ดี เช่น มีความดันโลหิตสูง และมีความจำเป็นต้องใช้ยาความดันอย่างน้อย 3 ชนิด             หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาจะส่งผลต่อระบบสมองและหัวใจโดยตรง ผลต่อสำหรับสมอง ในช่วงแรกๆ จะง่วงตลอดเวลา ทำให้สมาธิในการทำงานลดลง อารมณ์เปลี่ยน หงุดหงิดง่าย หรือเป็นโรคซึมเศร้า ถ้าอายุมากจะกลายเป็นโรคสมองเสื่อมได้ สำหรับผลเสียต่อหัวใจและหลอดเลือดในช่วงที่หยุดหายใจ ร่างกายจะขาดอากาศ หัวใจจะทำงานหนักขึ้น บีบตัวเร็วขึ้น แรงขึ้นเพื่อชดเชยอากาศหรืออกซิเจนลดลงไป  ส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจต่างๆ เช่น    หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย หลอดเลือดแดงแข็งตัว ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคทางหลอดเลือดหัวใจเอง อย่าง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคของหลอดเลือดทางสมอง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ด้วย             การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ นอกจากอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) หรือ Sleep Test เป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัย เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรค พิจารณาแนวทางในการรักษา การตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test โดยติดอุปกรณ์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างหลับ ได้แก่ คลื่นสมอง ระดับออกซิเจน คลื่นหัวใจ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เป็นต้น โดยก่อนเข้ารับการตรวจ คนไข้ต้องงดดื่มชา กาแฟ โกโก้ หรือสารกระตุ้นให้ตื่นตัวเกินไป และยาบางชนิดที่รบกวนการนอน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอีกครั้ง           ระยะของโรค แบ่งตามความรุนแรง โดยนับเป็นจำนวนครั้งต่อชั่วโมงเรียกว่า Apnea Hypopnea Index หรือการหาค่า AHI ถ้าอยู่ในช่วงประมาณ 5-15 ครั้ง ถือว่าอยู่ในระดับน้อย อาจจะต้องดูอาการอื่นร่วมด้วย ช่วงประมาณ 15-30 ครั้ง เรียกว่า ระดับกลาง และเกิน 30 ครั้ง เรียกว่า ระดับรุนแรง โดยระดับกลางและรุนแรง ต้องเข้ารับการรักษาทันที เพราะจะเกิดผลเสียต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต   วิธีการรักษา 1.ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกต่อเนื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ขณะนอนหลับ โดยเครื่องจะทำหน้าที่อัดอากาศเข้าไปผ่านจมูก(และ/หรือปาก) เพื่อเปิดท่อทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น เมื่อท่อทางเดินหายใจเปิดออก การหยุดหายใจ การหายใจแผ่ว และเสียงกรนก็จะหายไปด้วย วิธีนี้เป็นวิธีการรักษาหลักและได้ผลดีที่สุด 2.อุปกรณ์ทันตกรรม ทันตแพทย์จะเป็นผู้ใส่เครื่องมือในช่องปาก โดยจะตรวจก่อนว่ามีข้อห้ามหรือไม่ เช่น มีโรคข้อต่อกราม หรือมีฟันเพียงพอที่จะใช้อุปกรณ์นี้หรือไม่ เพื่อให้ท่อทางเดินหายใจเปิด ซึ่งจะใช้เฉพาะตอนนอนเท่านั้น 3.วิธีการผ่าตัด เมื่อใช้ 2 วิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล แพทย์หูคอจมูก ที่ชำนาญการด้านการตรวจการนอนหลับ จะเป็นผู้ประเมินว่า สาเหตุหลักอยู่ที่บริเวณไหนของท่อทางเดินหายใจตีบแคบ เช่น บางคนทอนซิลโตก็ไปผ่าออก บางคนเนื้อเยื่อบริเวณหลังลิ้นไก่ เพดานอ่อนค่อนข้างหนาก็ซ่อมลิ้นไก่ ซึ่งวิธีนี้จะดูเป็นรายบุคคล             การป้องกันไม่ให้เกิดโรค คือ พยายามไม่ให้น้ำหนักเกิน คนที่มีโรคทางจมูก เช่น โรคภูมิแพ้จมูก ริดสีดวงจมูก ผนังจมูกคดต้องรักษา เพื่อไม่ให้ท่อทางเดินหายใจเกิดการตีบตันในอนาคต หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหย่อน ผู้ที่สูบบุหรี่จะทำให้เยื่อบุจมูกบวม บุคคลที่ใช้ยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepine เกินความจำเป็นก็ต้องปรึกษาแพทย์ด้านการนอนหลับ เพื่อปรับยา นอกจากนี้การปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป จะเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับแล้ว ยังเกิดโรคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากท่านหรือคู่สมรส และบุตรหลานของท่านนอนกรนดังมากเป็นประจำ อาจจะต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม   โดย นพ.พงศกร ตนายะพงศ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คุณรู้จัก Folic Acid ดีหรือยัง?

คุณรู้จัก Folic Acid ดีหรือยัง? Folic acid          Folic acid เป็น B vitamin ชนิดหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้าง cells ใหม่ในร่างกาย คำว่า “Folic Acid” เป็นชื่อเรียกสารที่สังเคราะห์ขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ เป็นรูปแบบหนึ่งของ “Folate” บ่อยครั้งมีการใช้สองคำนี้แทนกันได้ folate ในธรรมชาติสามารถพบได้มากในอาหารบางประเภท เช่น ผักใบเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว ถั่ว ฯลฯ ในบางประเทศมีการเติม folic acid ลงไปในอาหารบางประเภท เช่น ข้าว ขนมปัง pasta cereals ฯลฯ การได้รับ folate อย่างเพียงพอตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงช่วงแรกของการตั้งครรภ์ช่วยป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defects) ในทารกได้   ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defects) ในทารกคืออะไร?           ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ หลอดประสาทจะม้วนตัวปิดตามแนวยาวและพัฒนากลายเป็นสมองและไขสันหลังของทารก ซึ่งช่วงเวลานี้สตรีอาจยังไม่ทราบว่าตนเองเริ่มตั้งครรภ์แล้ว ภาวะหลอดประสาทไม่ปิดจึงเป็นพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่มีความรุนแรงเกี่ยวเนื่องกับสมองและไขสันหลัง ภาวะนี้มีหลายชนิดแต่ที่พบบ่อยที่สุดคือภาวะ Spina Bifida (หลอดประสาทไม่ปิดบริเวณไขสันหลัง) และ Anencephaly (หลอดประสาทไม่ปิดที่สมองและกระโหลกศีรษะ)   ภาวะหลอดประสาทไม่ปิดป้องกันได้อย่างไร?           Folic acid มีบทบาทช่วยในการเจริญของหลอดประสาททารก อย่างไรก็ตามการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการวางแผนมาก่อนและภาวะหลอดประสาทไม่ปิดเกิดขึ้นในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังปฏิสนธิซึ่งสตรีอาจยังไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ดังนั้นการรับประทาน folic acid เสริมอย่างเพียงพอทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญในการช่วยลดโอกาสการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดชนิดนี้ แม้ folate จะมีอยู่ในอาหารหลายประเภทแต่สตรีมักได้รับ folate ในระดับที่ไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร ต้องอาศัยการรับประทาน folic acid เสริมด้วย ปริมาณ folic acid เสริมที่แนะนำต่อวันคือ 400 micrograms ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มี folate อยู่ด้วย การรอจนกระทั่งมาตรวจฝากครรภ์ครั้งแรก (ทั่วไปมักเป็นในช่วงอายุครรภ์ 6-12 สัปดาห์) แล้วจึงเริ่มรับประทาน folic acid อาจไม่ได้ประโยชน์ในการป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิด           สตรีที่มีประวัติภาวะหลอดประสาทไม่ปิดในครรภ์ก่อนควรเริ่มรับประทาน folic acid 400 micrograms วันละครั้งตั้งแต่ยังไม่ได้วางแผนมีบุตร เมื่อวางแผนจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและรับประทาน folic acid 4,000 micrograms วันละครั้ง 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์เป็นอย่างน้อยตลอดจนสิ้นสุดไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์           อย่างไรก็ตามการรับประทาน folic acid ในช่วงเวลาและปริมาณที่เหมาะสม ไม่ได้เป็นการป้องกันภาวะหลอดประสาทไม่ปิดได้ 100% เนื่องจากภาวะหลอดประสาทไม่ปิดอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นอีกมาก   โดย นพ.พริษฐ์ วาจาสิทธิศิลป์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

รู้เท่าทันต้อหินป้องกันการตาบอด

รู้เท่าทันต้อหินป้องกันการตาบอด  ข้อมูลโดย : พญ.ฤทัยรัตน์ วินิจฉัย จักษุแพทย์ รพ.วิภาวดี             ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากการถูกทำลายของเส้นประสาทตา เนื่องจากมีแรงดันในลูกตาสูง ซึ่งเส้นประสาทตานี้จะเชื่อมต่อระหว่างตาไปยังสมอง ทำให้การมองเห็นค่อยๆลดลง และบอดในที่สุดแรงดันตาที่สูงมากขึ้น เกิดจากการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตามากขึ้น และมีการระบายน้ำออกจากทางเดินระบายน้ำลดลง โดยค่าปกติของความดันตาอยู่ที่ 5-21 มิลลิเมตรปรอท หากพบว่าความดันตามีค่ามากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้ การสูญเสียการมองเห็นของผู้ป่วยต้อหิน ในระยะเริ่มแรก ลานสายตาจะถูกทำลายจากด้านข้างก่อน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีการเดินชนสิ่งของดัานข้าง ผู้ป่วยที่ไม่สังเกตจึงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะการมองตรงกลางยังเห็นดีอยู่ จนระยะท้าย ลานสายตาโดนทำลายจนแคบเข้ามาเรื่อยๆ การมองเห็นภาพตรงกลางเริ่มลดลง ระยะนี้ผู้ป่วยจึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือ การมองเห็นที่เสียไปแล้ว ไม่สามารถทำให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ทำให้ตาบอดถาวร การรักษาจึงเพื่อไม่ให้ลานสายตาและการมองเห็นที่ยังดีอยู่แย่ลงไปอีก ปัจจัยเสี่ยงของต้อหิน -          เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาวถึง 6-8 เท่า ส่วนคนเชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิดมากกว่าชนชาติอื่น -          อายุมากกว่า 40 ปี -          มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นต้อหิน -          ผู้ป่วยเบาหวาน ไมเกรน นอนกรน -          ตรวจพบความดันตาสูง -          เคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา -          การใช้ยาสเตียรอยด์ -          ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง -          โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงสมควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำ งดการซื้อยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยมาใช้เอง เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาควรรีบมาพบแพทย์  การวินิจฉัยต้อหิน  -          การตรวจตาด้วยเครื่องตรวจตา slit-lamp microscopy -          การตรวจวัดความดันภายในลูกตา -          การตรวจลักษณะของขั้วประสาทตา -          การตรวจลานสายตา โรคต้อหิน  สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด ถ้าแบ่งตามลักษณะกายวิภาคของมุมตา ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระจกตาและม่านตา สามารถแบ่งได้เป็นสองชนิด ด้วยกันคือ 1.ต้อหินชนิดมุมเปิด  เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวด เพราะความดันลูกตาจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำให้ผู้ป่วยเคยชินกับความดันตาที่สูงขึ้น ทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายที่มาพบแพทย์เนื่องจากตามัวลงแลัว ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของโรค  2.ต้อหินชนิดมุมปิด  จะมีลักษณะมุมตาแคบ ทำให้ขวางกั้นทางเดินระบายน้ำในตา เกิดความดันในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งถ้าเกิดแบบเฉียบพลันจะมีอาการปวดมาก และมองเห็นแสงสีรุ้ง ตามัวลงเฉียบพลัน และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จะมาพบแพทย์เร็วเพราะมีอาการปวดตามาก ต้อหินชนิดนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้โดยการยิงเลเซอร์ป้องกันให้มุมตาเปิดกว้างมากขึ้น แต่ถ้าเป็นต้อหินมุมปิดชนิดเรื้อรังที่ความดันตาค่อยๆเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว จนกว่าเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว เหมือนกับต้อหินมุมเปิด  3.การรักษาต้อหิน เนื่องจากโรคต้อหินเส้นประสาทตาจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคองเพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้นและเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรค      การรักษาด้วยยา ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาหรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น จึงลดความดันตาให้อยู่ในระดับเหมาะสมไม่เกิดการทำลายของเส้นประสาทตา การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา  การใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค -          Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก หรือรักษาด้วยยาหยอดตาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือมีอการแพ้ยาหยอดตา และมักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ -          Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด -          Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล เป็นการทำลายเซลล์มีหน้าที่สร้างน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาสร้างน้อยลง  ·       การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้ -          Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ให้น้ำออกมานอกลูกตามากขึ้น เป็นผลให้ความดันตาลดลง -          Aqueous shunt surgery ทำในกรณีที่การผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล เป็นการทำการผ่าตัดด้วยการใส่เครื่องมือที่เป็นท่อระบายเพื่อลดความดันตา โรคต้อหิน มีความสำคัญเพราะเป็นภัยเงียบที่ทำให้ตาบอดถาวรได้ การตระหนักถึงความสำคัญ โดยการตรวจตาสม่ำเสมอจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อตรวจพบโรคได้ในระยะแรก และรับการรักษาอย่างทันท่วงที ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ป้องกันพฤติกรรม... “Bully” ด้วย 4 วิธี

  คำจำกัดความของ Bully               Bully เป็นการแสดงความก้าวร้าวรุนแรง   กลั่นแกล้ง   รังแกผู้อื่นทั้งทางวาจาและร่างกาย เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ที่พบบ่อยมักเป็นการล้อเลียน รูปร่าง   หน้าตา   สถานะทางสังคม   รวมถึงการประจานกันทางโซเชียลมีเดีย   สาเหตุของการข่มเหงรักแก (Bully)               จากการศึกษาพบว่าผู้กระทำการเพราะความไม่พอใจ  ถูกทำให้ขายหน้า โกรธหรือต้องการแสดงตัวตนในสังคม  การศึกษาหลายสิบปีที่ผ่านมา พบว่าการรับสื่อที่มีความรุนแรง เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น  ในระยะยาวการได้รับสื่อที่มีความรุนแรงซ้ำๆ จะทำให้ซึมซับความรุนแรงและยอมรับว่าพฤติกรรมรุนแรง เป็นเรื่องปกติธรรมดา   Cyber bullying                 ปัญหาการข่มเหงรังแกทางอินเตอร์เน็ต  กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ลักษณะเฉพาะของ Cyber bullying ผู้กระทำอาจเป็นบุคคลนิรนาม   อาจใช้ชื่อปลอมหรือใช้ชื่อบุคคลอื่นแทน มีความสามารถในการแพร่กระจายให้คนรู้ได้ในวงกว้าง แรงจูงใจในการทำ Cyber bullying  ได้แก่  การขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  ความต้องการให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น อาจจะทำเพื่อความสนุกสนานรวมทั้งเพื่อแก้แค้น เหยื่อของ Cyber bullying มักจะขาความมั่นในในตนเอง  มีภาวะซึมเศร้าสูง มีปัญหาพฤติกรรม  และส่งผลถึงพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย   คำแนะนำสำหรับการป้องกันการข่มเหงรังแก (Bully)           1. เด็กที่ถูกข่มเหงรังแก (Bully)  มักเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจในตนเอง  ผู้ปกครองอาจแสดงให้เด็กเห็นถึงการสร้างความมั่นใจ ลดการพาตนเองเข้าไปในสิ่งแวดล้อมข่มเหงรังแก  การนิ่งเฉยต่อการ bully จะช่วยให้เรื่องราวหายไปอย่างรวดเร็ว  ผู้ลงมือ  อาจจะรู้สึกเบื่อไปเองในที่สุด         2. การจัดการเมื่อต้องเผชิญหน้า - เดินหนีออกจากสถานการณ์ - พูดด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็งและท่าทีที่มั่นคง  ว่าไม่ชอบการกระทำ รวมถึงวาจาต่างๆที่ถูกกล่าวถึง - แจ้งครูหรือผู้ใหญ่ 3.    ครอบครัวและครู  ควรประสานงานกัน เพื่อรายงานความเปลี่ยนแปลง ของพฤติกรรมเด็ก   4.  นักจิตวิทยา  ควรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นรายบุคคล  ซึ่งจะเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว    พญ.พนิตษา  ยุกตะนันทน์  แพทย์ชำนาญการด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<