เช็ค สัญญาณบอกอาการโรคไต

  เช็ค สัญญาณบอกอาการโรคไต ไต (kidney) มีหน้าที่กรองของเสีย น้ำและเกลือแร่ส่วนเกินออกจากร่างกายในรูปปัสสาวะเพื่อขับทิ้งจากร่างกาย นอกจากนี้ไต ยังมีหน้าที่รักษาระดับน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมความดันโลหิตและสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง รักษาสมดุล กรด-ด่าง รักษาสมดุลกระดูก สัญญาณบอกอาการโรคไต             อาการที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ไม่มีอาการ ผู้ป่วยอาจมาด้วยสาเหตุอื่น แต่ตรวจพบสภาวะบกพร่องของไต แต่ะถ้าไตทำงานบกพร่องแล้ว ก็จะมีอาการดังต่อไปนี้ 1.บวม ที่ ตา,หน้าแข้ง,เท้า 2 ข้าง           เกิดจากการมีน้ำและเกลือคั่งในร่างกาย เริ่มจากบวมที่หนังตาและหน้า บวมที่แขนหรือขาและเท้าทั้งสองข้าง ทดสอบได้ด้วยการลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้ง 30 วินาทีแล้วปล่อย หากพบว่ามีรอยบุ๋มค้างอยู่แสดงว่าบวมน้ำ อาจมีปัญหาที่ไต,ตับ,หัวใจ,ต่อมไทรอยด์หรือหลอดเลือด 2.เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย,คัน,เบื่ออาหาร             จะมีอาการเหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย เนื่องจากมีสภาวะโลหิตจาง คันตามตัวและเบื่ออาหารร่วมด้วย เนื่องจากมีของเสียคั่งในร่างกายมาก ปวดหลัง ปวดบั้นเอว             ไต อยู่บริเวณด้านหลังส่วนล่างของซี่โครง ดังนั้น หากไตเกิดความผิดปกติขึ้น เราอาจรู้สึกปวดหลัง บั้นเอวที่บริเวณชายโครง ร้าวไปถึงท้องน้อย หัวหน่าว และที่อวัยวะเพศได้ มักเป็นเพราะมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือในท่อไตโป่งพอง ถ้ามีไข้สูงร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของกรวยไตหรือกรวยปัสสาวะอักเสบติดเชื้อได้ 3.ปัสสาวะมีลักษณะผิดปกติ             เช่นพบปัสสาวะขุ่น,มีตะกอน,มีกรวดทราย ปัสสาวะเป็นเลือด,ปัสสาวะน้อยลง,ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะเป็นฟองมาก หรือปัสสาวะติดขัด เป็นต้น 4.ความดันโลหิตสูง             ผู้ที่ตรวจพบความดันโลหิตสูงครั้งแรกต้องตรวจการทำงานของไตทุกราย 5.โลหิตจาง             เนื่องจากไขกระดูกขาดฮอร์โมนกระตุ้น 6.กระดูกผุ             เนื่องจากสมดุลเกลือแร่และวิตามินดีผิดปกติ 7.หอบเหนื่อย             เนื่องจากน้ำคั่งในปอดและเลือดเป็นกรด 8.ซึมซัก             เนื่องจากของเสียที่คั่งในเลือดทำให้สมองทำงานผิดปกติ     นายแพทย์สืบพงศ์  สังข์อารียกุล อายุรแพทย์โรคไต 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ (Vertigo)

 อาการบ้านหมุน เวียนศีรษะ (Vertigo)  เป็นอาการเวียนศีรษะประเภทหนึ่งที่มักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนไป ทั้งๆ ที่จริงแล้วตนเองอยู่กับที่และไม่มีการเคลื่อนไหว หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "อาการบ้านหมุน" สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนที่พบได้บ่อย คือ         ความผิดปกติของระบบประสาทในส่วนก้านสมองและสมองน้อย ความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน 1.โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV benign paroxysmal positional vertigo) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของอาการเวียนศีรษะ เกิดจากหินปูนขนาดเล็กหลุดไปอุดผิดที่ในท่อครึ่งวงกลม จึงทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเวลาก้มตัวลงนอนหรือจากท่านอนลุกขึ้นนั่ง หรือการก้มแล้วเงย ส่วนใหญ่อาการเป็นไม่ถึงนาทีแล้วหายและเป็นซ้ำเวลาเปลี่ยนท่าทางอีก  2.โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) พบในผู้สูงอายุ มากกว่า 45 ปี ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (ความดันโลหิตสูง,เบาหวาน,ไขมันในเลือดสูง) โดยอาการเวียนศีรษะมักเป็นอยู่นาน อาจนานหลายชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ อาการเวียนศีรษะไม่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทาง และมักพบร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆของระบบประสาท เช่น ตามองเห็นภาพซ้อน,หน้าเบี้ยว,พูดไม่ชัด,ลิ้นแข็ง,อ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก) เนื่องจากอัตราการทุพลภาพและอัตราการตายสูงจึงควรรีบพบแพทย์ 3.โรคเวียนศีรษะจากน้ำในหูชั้นในผิดปกติ (Meniere’s disease) อาการเวียนศีรษะเป็นพักๆนานหลายนาทีจนถึงเป็นชั่วโมงมักมีเสียงดังในหูข้างใดข้างหนึ่ง (บางรายเป็นทั้ง 2 ข้าง) ต่อมาอาจมีปัญหาการได้ยินลดลง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด บางรายพบร่วมกับการติดเชื้อในหูชั้นกลาง การรับประทานเค็มมากกระตุ้นให้อาการเป็นมากได้ 4.เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuritis) อาการเวียนศีรษะมักนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ อาจมีได้แต่ต้องไม่มีปัญหาการได้ยินหรือเสียงดังในหู เชื่อว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรงต่อเส้นประสาทหรือเป็นจากการแพ้ภูมิตัวเองพบในคนอายุน้อย เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย โรคนี้ทำให้ปวดศีรษะเป็นๆหายๆ ได้ 5.โรคไมเกรน (Migraine) บางรายมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย บางรายมีอาการเวียนศีรษะอย่างเดียวเป็นๆหายๆ โดยไม่มีอาการปวดศีรษะก็ได้ ปัจจัยกระตุ้นเช่น อาหาร,การดื่มกาแฟปริมาณมากหรือหยุดดื่ม,แสงจ้า,กลิ่นฉุน,การมีประจำเดือน  อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะที่ต้องปรึกษาแพทย์ อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับตาเห็นภาพซ้อน อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับอ่อนแรงแขนขา อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับชาแขนขา อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับพูดลำบาก อาการบ้านหมุนเวียนศีรษะร่วมกับมีปัญหาเรื่องการได้ยิน   การตรวจวินิจฉัยอาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ ตรวจการได้ยิน (audiogram) ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (Video electronystagmography :VNG) ตรวจวัดแรงดันของน้ำในหูชั้นใน (electrocochleography : ECOG) ตรวจการทำงานของเส้นประสาทการได้ยิน(Evoked response audiometry ) ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ( CT scan) ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมองและเส้นเลือดสมอง (MRI brain and MRA)ซึ่งสามารถถ่ายภาพบริเวณก้านสมองและสมองส่วนหลังได้ชัดเจน (brainstem and carebellum) ซึ่งเป็นส่วนที่ (CT scan)ให้รายละเอียดได้ไม่ชัดเจน การดูแลและปฏิบัติตัวเบื้องต้น ในผู้ที่มีอาการบ้านหมุนเวียนศีรษะ 1. หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะระหว่างเกิดอาการ เช่น       การเปลี่ยนแปลงท่าทางอย่างรวดเร็ว การหันศีรษะเร็วๆ หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือขณะอยู่ในยานพาหนะ 2. ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับขี่ยานพาหนะในขณะที่มีอาการ 3. รับประทานยาลดอาการเวียนศีรษะ เช่น Betahistine , Dimenhydrinate เป็นต้น 4. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ, ความเครียด, กลิ่นฉุน, สารก่อภูมิแพ้ 5. ลดปริมาณหรืองดการสูบบุหรี่/ดื่มกาแฟ 6. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบมาพบแพทย์   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.วิภาวดี โทร.02561-1111 ต่อ 1214  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไข้หวัด

โรคไข้หวัด นพ.ชิดเวทย์  วรเพียรกุล  อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี  โรคไข้หวัด  เป็นการติดเชื้อของจมูกและคอ  ส่วนใหญ่75-80% เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งรวมเรียกว่า Coryza Viruses ประกอบด้วย Rhino Viruses เป็นสำคัญ  เชื้อชนิดอื่น ๆ มี Adenoviruses, Respiratory Syncytial Virus เมื่อเชื้อเช้าสู่จมูกและคอจะทำให้เยื่อจมูกบวมและแดง  มีการหลั่งของเมือกออกมาแม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์  แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด  โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้ง ต่อไป  ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง  ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก  คนสูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง อาการ ผู้ใหญ่ มีอาการจาม  และน้ำมูกไหลจะนำมาก่อน  อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย  แต่มักไม่ค่อยมีไข้  เชื้อจะออกจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย 2-3 ชั่วโมงและหมดใน 2 สัปดาห์  บางรายอาจมีอาการปวดหู  เยื่อแก้วหูมีเลือดคั่ง  บางรายเยื่อบุตาอักเสบ  เจ็บคอ  กลืนลำบาก  โรคมักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน  แต่อาจมีน้ำมูกไหลนานถึง 2 สัปดาห์  ในเด็กอาจจะรุนแรง  และมักมีการแพร่ไปเป็นหลอดลมอักเสบ  ปวดบวม  เป็นต้น การติดต่อ โรคนี้มักจะระบาดฤดูหนาวเนื่องจากความชื้นต่ำและอากาศเย็น  เราสามารถติดต่อจากน้ำลาย  และเสมหะผู้ป่วยนอกจากนั้นมือที่เปื้อนเชื้อโรค  ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้โดยผ่านทางจมูกและตา  ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนเกิดอาการและ 1-2 วันหลังเกิดอาการ  ผู้ที่มีโอกาสเป็นไข้หวัดได้ง่ายคือ  เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี  เด็กที่ขาดอาหาร  เด็กที่เลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็ก วิธีการติดต่อ 1. มือของเด็ก  หรือผู้ใหญ่ที่สัมผัสเชื้อจากเสมหะของผู้ป่วย  หรือสิ่งแวดล้อม  แล้วขยี้ตา  หรือเอาเข้าปากหรือจมูก 2. หายใจเอาเชื้อที่ผู้ป่วยที่ไอออกมา 3. หายใจเอาเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ การรักษา - ไม่มียารักษาเฉพาะ  ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้  Paracetamol - ห้ามให้ Aspirin - ให้ยาช่วยรักษาตามอาการ  เช่น ยาลดคัดจมูก  ลดน้ำมูก  ยาแก้ไออ่อน ๆ - ให้พัก  และดื่มน้ำมาก ๆ โดยทั่วไปจะเป็นมาก 2-4 วัน  หลังจากนั้นจะดีขึ้น  ในเด็กโรคที่แทรกซ้อนที่สำคัญคือหูชั้นกลางอักเสบ  ต้องได้รับยาปฏิชีวนะรักษา   การป้องกัน - หลีกเลี่ยงที่ชุมชน  เช่น โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร  ในช่วงที่ไข้หวัดกำลังระบาด - ไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า  หรือทิชชูปิดปาก - ให้ล้างมือบ่อย ๆ - ไม่เอามือเข้าปากหรือขยี้ตาเพราอาจนำเชื้อเข้าสู่ร่างกาย - อย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหวัดเป็นเวลานาน   เป็นการยากที่จะป้องกันการติดเชื้อไข้หวัด  ดังนี้การดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

❝โรคกรดไหลย้อน❞ อาการแน่นอก แสบร้อน จุกคอ ใช่ไหม? ใช้ยาตัวไหน?

โรคกรดไหลย้อนเข้าหลอดคอ คืออะไร (Gastroesophageal Reflux Disease : GERD)  ภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารจะถูกหลั่งออกมาเพื่อการย่อยอาหาร  กรดในกระเพาะนั้นไม่มีการไหลย้อนขึ้นสู่หลอดอาหารส่วนบน  แต่ในภาวะผิดปกติอาจไหลย้อนผ่านกล้ามเนื้อหูรูดส่วนบนของหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ และมีแผล (erosive esophagitis) หรือหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล (non-erosive esophagitis) นอกจากนี้กรดนี้อาจไหลย้อนผ่านหลอดอาหารเข้าสู่หลอดคอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux : LPR) เกิดพยาธิสภาพต่าง ๆ เพราะเยื่อบุกล่องเสียง  และหลอดคอบอบบางทนสภาวะกรดได้ไม่ดี  รวมทั้งอาจก่อปัญหาด้านระบบการหายใจและปอด ปัจจัยหรือพฤติกรรมบางอย่าง  เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการไหลย้อนกลับ  ของกรดหรือน้ำย่อยจากหลอดอาหารภาวะนี้เกิดได้ตลอดเวลา  และไม่ว่ากำลังรับประทานอาหารหรือไม่ก็ตามพบอาการนี้ได้ตั้งแต่ทารกจนถึงผู้ใหญ่ สาเหตุ Hlatus Hernia (โรคที่เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้น  เข้าไปในกำบังลม  หูรูด  อาหารปิดไม่สนิท  ทำให้กรดอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปทางหลอดอาหารได้) การดื่มสุรา  สูบบุหรี่ อ้วน ตั้งครรภ์  ทานยาบางชนิด  เช่น แอสไพริน ทานอาหารรสเปรี้ยว เผ็ด ช็อกโกแลต  กาแฟ  รวมทั้งชนิดที่ไม่มีคาเฟอีนด้วย อาหารมัน  ของทอด หอม  กระเทียม มะเขือเทศ  หรือซอสมะเขือเทศ Peppermint อาการ 1. อาการทางเดินอาหาร อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ที่เรียกว่าร้อนใน (Heart Burn)  บางครั้งอาจจะร้าวไปที่คอและไหล่ได้ รู้สึกมีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบาก ติดขัด  คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ หรือกลืนแล้วเจ็บ เจ็บคอหรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี  หรือมีรสเปรี้ยวของกรดในลำคอหรือปาก มีเสมหะอยู่ในคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย  คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร  หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก  หรือคอ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก  คล้ายอาหารไม่ยอ่ย 2. อาการทางกล่องเสียงและปอด เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะในตอนเช้าหรือมีเสียงผิดปกติจากเดิม ไอเรื้อรัง  ไอ หรือ รู้สึกลำลักในเวลากลางคืน กระแอมไอบ่อย อาการหอบหืดแย่ลง อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่(ถ้ามี)  แย่ลง  หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก (non-cardiac chest pain) คล้ายโรคหัวใจ  คล้ายมีก้อนจุก ๆ ที่คอ เป็นโรคปอดอักเสบเป็น ๆ หาย ๆ อาการที่กล่าวข้างต้น  อาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นตลอดให้ปรึกษาแพทย์  หู คอ จมูก  ซึ่งแพทย์จะตรวจทาง  หู  คอ  จมูก  เพื่อดูว่ามีความผิดปกติบริเวณกล่องเสียง  และคอหรือไม่  เพื่อแนะนำการรักษาและปฏิบัติตัวต่อไป การรักษา ภาวะกรดไหลย้อนรักษาอย่างไรขึ้นอยู่กับอาการ และสุขภาพของแต่ละคน  โดยทั่วไปหลักการรักษามี 3 ประการ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอุปนิสัย และงดเว้นอาหารบางอย่างเพื่อลดภาวะกรดไหลย้อน การใช้ยาลดกรดที่ถูกต้อง มักจำเป็นต้องใช้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ร่วมกับปฏิบัติในข้อ 1. การผ่าตัดรัดหูรูดกระเพาะอาหาร จำทำให้รายที่เป็นรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อยา 1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน  เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูง  ทำให้กรดไหลย้อนได้มาก งดบุหรี่  เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดกรดมาก ใส่เสื้อหลวม ๆ                                              ไม่ควรนอนออกกำลังกาย  หรือยกของหนักหลังออกกำลังกาย งดอาหารก่อนนอน 3 ชั่วโมง งดอาหารมัน ๆ ทอด  อาหารที่ปรุงด้วยหัวหอม  กระเทียม  มะเขือเทศ  ช็อกโกแลต  ถั่ว ลูกอม เนย ไข่  เผ็ด  เปรี้ยว  เค็มจัด รับประทานอาหารพออิ่ม  ทานทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยง  ชา  กาแฟ น้ำอัดลม  เบียร์  สุรา นอนหัวให้สูงประมาณ 6-10 นิ้ว  โดยหนุนที่ขาเตียง  ไม่ควรใช้หมอนหนุนที่ศีรษะเพราะทำให้ความดันในช่องท้องสูง 2. การรักษาด้วยยา Antacids เป็นยาตัวแรกที่ใช้  สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก ใช้ยา Proton Pump Inhibitor ซึ่งเป็นยาที่ลดกรดได้เป็นอย่างดี  อาจจะใช้เวลารักษา 1-3 เดือน ยาที่นำยมใช้ ได้แก่  Omeprazole, Lansoprazole, Pantoprazole, Rabeprazole, และ Esomeprazole หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้กระเพาะหลั่งกรดมาก  หรือทำให้หูรูดหย่อน  เช่น  ยาแก้ปวด  Aspirin NSAID  VITAMIN C หากให้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น  ควรจะต้องตรวจเพิ่มเติมดังนี้ การกลืนแป้งตรวจกระเพาะอาหาร การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร 3. การรักษาโดยการผ่าตัด จะผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เทคนิคในการลดภาวะกรดไหลย้อน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นเป้าหมายสำคัญของการรักษา  เพื่อให้อาการหายขาด  และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค  โดยปฏิบัติดังนี้    กินอย่างถูกสุขลักษณะ - ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง และอย่าให้แต่ละมื้อผ่านไปอย่างเร่งรีบ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการลุกเดินหลังมื้ออาหาร นั่งนิ่งๆ หลีกเลี่ยงการนอนราบทันที เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารย่อยช้า โดยเฉพาะมื้อเย็นและทิ้งเวลาให้ย่อยอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะหากอาหารไม่ย่อยแล้วนอน เป็นผลให้กระเพาะกับหลอดอาหารอยู่ในแนวราบเดียวกัน กรดในกระเพาะจะไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้ หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่ม  ได้แก่  ชา  กาแฟ  น้ำอัดลม  อาหารทอด  อาหารรสจัด  อาหารมัน ๆ ช็อคโกแลต  ผักผลไม้บางชนิด  เช่น  ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว  สะระแหน่  หอมหัวใหญ่  ถั่ว  นม  (ดื่มนมพร่องมันเนยได้) ควบคุมน้ำหนัก - ไขมันใต้ผิวหนังรอบหน้าท้องและไขมันในช่องท้องมีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้องให้มากขึ้น จนบีบกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย ยิ่งน้ำหนักมากยิ่งมีโอกาสเลี่ยงสูง ดังนั้นควบคุมน้ำหนักให้มาตรฐาน และบริหารรอบเอวเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ลดไขมันสะสม งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ - ทั้งสารนิโคตินในบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบของและกระเพาะอาหาร อย่านอนราบหลังจากเพิ่มรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน 3 ชั่วโมงแรก สวมใส่เสื้อผ้าให้สบาย - การใส่เสื้อผ้าคับมีผลให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้นและดันให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร ดังนั้นพยายามสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมเล็กน้อย ป้องกันอาหารแน่นท้องหลังมื้ออาหาร หมุนหัวเตียงให้สูง  อย่างน้อย 6 นิ้ว ออกกำลังกายเป็นประจำ - การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ระบบทางเดินอาหารจึงทำงานได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารทันที เพราะกระเพาะอาหารอาจย่อยไม่เป็นปกติ ควรเว้นระยะให้อาหารย่อยอย่างน้อย 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้สบาย  แจ่มใส - ความเครียดอาจไม่ได้มีผลโดยตรงต่อโรคกรดไหลย้อน แต่ถ้ามีอาการอยู่แล้ว ความเครียดจะทำให้อาการกำเริบได้ง่ายขึ้น ช่วงระยะเวลาของการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยต้องรักษาค่อนข้างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 6 อาทิตย์  ถึง  6 เดือน  บางคนอาการจะหายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจหยุดยาได้หลายเดือนหรือหลายปี ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนนิสัยหรือสภาพแวดล้อม พยาธิสภาพของแต่ละบุคคล และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า โรคนี้อาจหายขาดไปเลยหรืออาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก โรคแทรกซ้อน หลอดอาหารที่อักเสบอาจจะทำให้เกิดแผล  และมีเลือดออก  หรือหลอดอาหารตีบ  ทำให้กลืนอาหารลำบาก อาจจะทำให้โรคปอดแย่ลง  เช่น  โรคหอบหืดเป็นมากขึ้น  ไอเรื้อรัง  ปอดอักเสบ แพทย์ พญ. ดวงพร โชคมงคลกิจ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus)

เชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเป็นในเด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเมื่อติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) ในทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว ผู้ติดเชื้อร้อยละ 70 มักเกิดอาการปอดบวม และหลอดลมฝอยอักเสบ การติดต่อของโรค เกิดได้ทั่วโลกมักระบาดในฤดูหนาวของประเทศแถวตะวันตกในประเทศไทยพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ติดต่อได้ง่ายโดย การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก เสมหะ น้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสนี้ผ่านทางตาจมูกและทางการหายใจ โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) สามารถกระจายเชื้อให้ลอยปะปนอยู่ในอากาศภายในรัศมี 3 ฟุต ผ่านทางการไอหรือจาม การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นได้หลายครั้ง เนื่องจากไวรัสตัวนี้มีหลายพันธุ์ อาการของโรค ระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน ในช่วง 2-4 วันแรก อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือ ไข้ต่ำ ๆ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกใส เด็กบางคนอาจเกิดกล่องเสียงอักเสบ เมื่อการดำเนินโรคของทางเดินหายใจส่วนล่างมีมากขึ้น ก็ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ(ไข้ ไอ หอบ) โดยเด็กจะมีไข้สูง ไอมากขึ้น ร่วมกับมีเสมหะ บางรายไอมากจนอาเจียน หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (wheezing) แบบหลอดลมฝอยอักเสบ ซึมลง ตัวเขียว ดื่มนมหรือรับประทานอาหารได้น้อย แต่ในรายที่อาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตได้ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว การพยากรณ์โรค ยังไม่ทราบกลไกในการเกิดที่ชัดเจน อาการของโรคเกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดีชนิดไวจีอี ( IgE ) ต่อเชื้ออาร์เอสวี ( RSV ) ทำให้เกิดปฏิกิริยาเหมือนโรคภูมิแพ้ ในระบบทางเดินหายใจมีการหลั่งสารออกมา ซึ่งมีผลทำให้หายใจเสียงวี้ด (wheezing) ตามมาได้ อาการจากการติดเชื้อเกิดจากการกระตุ้นปฏิกิริยา ไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่พบบ่อยที่สุด อักเสบต่อเนื่องในระบบการหายใจ ผลก็คือ ทำให้มีอาการเหล่านี้ แบบเรื้อรังและต่อเนื่อง เด็กที่ติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวี ( RSV ) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เมื่อโตขึ้น เด็กที่เป็นแล้วมีอาการแบบหลอดลมฝอยอักเสบรักษาหายแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีก อาจทำให้เด็กมีภาวะเกิดภูมิไวเกินที่หลอดลม แค่ติดเชื้อหวัดธรรมดาก็อาจกระตุ้นให้อาการหอบ มีเสมหะและไอมากกลับมาได้ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่รุนแรง กลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย หรือภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคไม่ดี เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจเรื้อรัง รวมทั้งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การรักษา ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV) โดยตรง มีแต่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม บางรายต้องให้ออกซิเจน ถ้าเสมหะมาก อาจต้องทำการเคาะปอด และดูดเสมหะออก ยาต้านการอักเสบลิวโคไตรอีน ในรูปแบบยารับประทานที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและหายใจหอบเหนื่อยลดลง การป้องกันโรค ยังไม่มีวัคซีน หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด ไม่ให้เด็กเล่นคลุกคลีกับเด็กที่เป็นหวัด เด็กที่อยู่ในห้องแอร์ หรือในที่อากาศเย็นให้สวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ การล้างมือจะช่วยกำจัดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้กว่าร้อยละ 80 หากมีเด็กป่วยในบ้านหรือที่ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็ก ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ให้คลุกคลีกันและแยกเครื่องใช้เด็กที่ป่วยออกต่างหาก การป้องกันเด็กป่วยจากโรคทางเดินหายใจทุกชนิดโดยแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเด็กจะได้รับภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางนม เด็กก็จะไม่ป่วยง่าย โดย พญ.ปราณี  สิตะโปสะ  กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สมาร์ทโฟน ทำร้ายสายตา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไขข้อข้องใจทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ?

“เรื่องน่ารู้ที่จะช่วยให้สาว ๆ หายสงสัยว่าทำไมควรป้องกันเชื้อ HPV สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก”   หนูยังหาแฟนไม่ได้เลยแล้วจะรีบฉีดทำไมแต่งงานแล้วค่อยฉีดดีกว่าไหมคะ ?    มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งติดต่อได้ง่ายมากจากการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัสทางผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ เพศสัมพันธ์แม้เพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ติดเชื้อ HPV ได้    เพราะส่วนใหญ่เพศสัมพันธ์ครั้งแรกเกิดจากความไม่ตั้งใจ เราคงคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีเมื่อไรถึงตอนนั้นจะป้องกันก็คงไม่ทันแล้ว     การฉีดวัคซีนตั้งแต่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์หรือยังไม่ติดเชื้อ จะทำให้ได้ประโยชน์มากกว่า ข้อมูลทางการแพทย์ล่าสุดพบว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกบางชนิดสามารถป้องกันได้มากกว่า 90% ผู้หญิงที่ยังไม่เคยติดเชื้อและการฉีดตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าและอยู่ได้นานกว่าฉีดตอนที่มีอายุมากขึ้น ดังนั้นการฉีดเมื่ออายุน้อยและยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ดิฉันมีแฟนคนเดียวค่ะ เขารับประกันว่าชัวร์มั่นใจไม่นอกใจแน่นอนค่ะ? จะแน่ใจได้อย่างไร? เพราะผู้ชายอาจติดเชื้อมาก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กับเรา และแม้เราจะมีแฟนคนเดียวแต่แฟนอาจไม่ได้มีเราเป็นคนแรกหรือคนเดียว เขาอาจติดเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวเพราะเชื้อโรคนี้เป็นไวรัสที่ติดต่อง่าย   ต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกก่อนฉีดหรือไม่กลัวฉีดไปแล้วไม่ได้ช่วยอะไรเลย?   โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องตรวจภายในเพื่อหาเชลล์มะเร็งปากมดลูกก่อนเพราะการฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันการติดเชื้อในอนาคตส่วนการตรวจภายในเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อนทำได้ควบคู่กันไปก็จะดีที่สุด    ฉันอายุมากแล้ว จะฉีดไปทำไมให้เด็ก ๆ สาว ๆ เขาฉีดน่าจะดีกว่า?   “ฉีดช้า ยังดีกว่าไม่ได้ฉีด” เพราะมะเร็งเกิดได้ทุกวันและทุกช่วงวัย การศึกษาทางการแพทย์พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันได้แม้ในผู้หญิงอายุมาก นอกจากนี้วัคซีนยังมีความปลอดภัย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งไว้ล่วงหน้า     วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฉีดที่ตรงไหนกลัวเจ็บจนทนไม่ไหวค่ะ?   ฉีดบริเวณต้นแขนข้างใดข้างหนึ่งเหมือนการฉีดวัคซีนทั่ว ๆ ไป ไม่ได้ฉีดบริเวณปากมดลูกหรืออวัยวะอื่นใดเลย วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจำนวน  3  เข็ม  เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่สุดท้ายห่างจากเข็มแรก  6  เดือน ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอันตรายไหม มีผลข้างเคียงหรือไม่คะ? องค์การอนามัยโลก( WHO ) ได้รับรองวัคซีนนี้แล้วว่าปลอดภัยทั่วโลกมีการฉีดไปแล้วกว่า 50 ล้านโด๊ส อาทิ อเมริกา ยุโรป กลุ่มสแกนดิเนเวีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ ดิฉันกำลังจะแต่งงานคิดว่าจะมีลูกเลยฉีดได้หรือไม่คะ? ฉีดได้ค่ะ ไม่ต้องคุมกำเนิดหลังฉีดเพราะวัคซีนไม่ได้สังเคราะห์จากเชื้อไวรัสโดยตรงถ้าตั้งครรภ์แล้วยังฉีดไม่ครบ  3 เข็ม ก็แนะนำให้ฉีดเข็มที่เหลือหลังคลอดได้   รักตัวเอง ก่อนจะสายเกินไป ชวนผู้หญิงไทยตรวจคัดกรองเป็นประจำพร้อมทั้งฉีดวัคซีน HPV   ข้อมูลโดย : พญ.สุนีย์  ศักดิ์ศรี สูตินรีแพทย์ประจำ รพ.วิภาวดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไต

หน้าที่ของโรคไต  1.กำจัดของเสียออกจากร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของเสียที่เกิดจากโปรตีน 2.รักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ 3.รักษาสมดุล กรด-ด่าง   4.สร้างฮอร์โมน ได้แก่ อิริโธรปัวอิติน,วิตามิน D โรคไตเรื้อรัง คือ              ภาวะที่มีการทำงานของไตลดลงและ/หรือไตมีความเสียหาย ทำให้มีความผิดปกติของโครงสร้างไต มานานมากกว่า  3  เดือน              โรคไตเรื้อรัง มี  5  ระยะ ตั้งแต่ ระยะที่ 1 มีความผิดปกติของโครงสร้างแต่การทำงานของไตยังไม่ลดลง  จนถึงระยะที่ 5 คือ ไตวายเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต   ดัชนีบ่งชี้โรคไตเรื้อรัง             1.ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ            2.ภาวะมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ    การประเมินระดับการทำงานของไต            ทำได้โดยการตรวจเลือดหาระดับ ครีอาติน และนำมาคำนวณหาระดับ GFR ( Glomerular Filtration Rate )  ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรัง            1. ปัจจัยทำให้เสี่ยง เช่น อายุมาก มีประวัติโรคไตในครอบครัว              2. ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค/เป็นสาเหตุทำลายไต เช่น เบาหวาน,ความดันโลหิตสูง,โรคจากภูมิคุ้มกันตัวเอง,การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ,การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ,การได้รับสารพิษต่อไต           3. ปัจจัยทำให้โรคลุกลามทำให้ไตมี่มีความผิดปกติเสี่อมหน้าที่มากขึ้น เช่น ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ไม่ดี เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี  การสูบบุหรี่ การตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง            1. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเพื่อที่จะรักษาโรคไตที่อาจสามารถหายขาดได้หรือป้องกันไม่ให้โรคไตนั้นเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว           2. ผู้ที่ควรตรวจคัดกรอง ได้แก่ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น              3.  วิธีการตรวจได้แก่ ตรวจวัดความดันโลหิต,ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเลือดหาค่าครีอะตินินและปัสสาวะ  และการทำอัลตร้าซาวนด์ของไตหากมีข้อบ่งชี้ แนวทางการดูแลรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไต           1.การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ได้แก่ การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่น้ำหนักเกิน การหยุดสูบบุหรี่ งดอหารเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เป็นต้น              2.การควบคุมความดันโลหิตสูง ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม            3.การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม            4.การลดการมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะด้วยยา             5.การจำกัดอาหารโปรตีน              6.การลดระดับไขมันในเลือด             7.หลีกเลี่ยงสารหรือยาที่อาจมีผลเสียต่อไต โดยเฉพาะยากลุ่มแก้ปวด ข้อปวดกระดูก ( NSAIDS) ข้อมูลโดย : นพ.ธัชชัย  วุฒิจำนง  อายุรแพทย์โรคไต

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การสวนปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราว

                การสวนปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราว CLEAN INTERMITTENT CATHETERIZATION คนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ อาทิ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไหลออกโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น บ่อยครั้งที่การรักษาโดยใช้ยาหรือทำการผ่าตัด ไม่สามารถช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นเลยและต้องลงท้ายด้วยการคาสายยางทิ้งไว้ตลอดเวลา ในบางรายอาจต้องทำกระเพาะปัสสาวะเทียม โดยเปิดออกทางหน้าท้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการเก็บปัสสาวะและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก   การสวนปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราว (CLEAN INTERMITTENT CATHETERIZATION)                  คนไข้จำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ อาทิ ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไหลออกโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น บ่อยครั้งที่การรักษาโดยใช้ยาหรือทำการผ่าตัด ไม่สามารถช่วยให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นเลยและต้องลงท้ายด้วยการคาสายยางทิ้งไว้ตลอดเวลา ในบางรายอาจต้องทำกระเพาะปัสสาวะเทียม โดยเปิดออกทางหน้าท้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการเก็บปัสสาวะและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นอย่างมาก    ทำไมจึงเกิดการติดเชื้อ โรคที่ทำให้การขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติและต้องพึ่งการสวนปัสสาวะ 1. โรคสมอง อาทิเช่น อุบัติเหตุต่อเนื้อสมอง เนื้องอกในสมอง เนื้อสมองฝ่อ สมองอักเสบ ฯลฯ 2. โรคของไขสันหลัง อาทิเช่น อุบัติเหตุต่อไขสันหลัง เนื้องอกไขสันหลังอักเสบ พยาธิเข้าไขสันหลัง ซิฟิลิส ฯลฯ 3. โรคของเส้นประสาทส่วนปลายที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะ เช่น เบาหวาน ฯลฯ 4. ปลายประสาทที่มาควบคุมกระเพาะปัสสาวะบางส่วนถูกทำลายจากการผ่ตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน 5. โรคของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะยืดมากเกินไปจนไม่มีแรงขับปัสสาวะ   การหลีกเลี่ยงการคาสายยางทิ้งไว้นาน             การคาสายยางทิ้งไว้ในท่อปัสสาวะหรือคาสายยางไว้ในกระเพาะโดยผ่านทางหน้าท้องเป็นระยะเวลานานๆ เปรียบเทียบดาบสองคมในแง่ของประโยชน์นั้นคงจะแก้ปัญหาเรื่องการขับถ่ายปัสสาวะได้   ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาที่จะตามมาอาทิ เช่น คนไข้จะต้องมาเปลี่ยนสายยางทุกๆ 1 เดือน หรือมาก่อนถ้าสายยางตัน ในบางรายอาจจะมีอาการเจ็บมีนิ่วหรือมีเลือดออก และมีอาการอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในผู้ชาย อาจมีหนองออกจากท่อปัสสาวะ อัณฑะบวมหรือมีรูทะลุจากท่อปัสสาวะออกมาได้และยังก่อให้เกิดความรำคาญหรือความยุ่งยากในการที่จะต้องหิ้วสายและถุงเก็บปัสสาวะจะไปไหนมาไหนอีกด้วย           ดังนั้นผลเสียมีมากทีเดียว ในปัจจุบันนี้เรามักจะหลีกเลี่ยงการคาสายยางทิ้งไว้ในกระเพาะปัสสาวะนานๆ นอกจากไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราว(Clean Intermittent Catheterization) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาคนไข้เหนือกว่าการคาดสายยางทิ้งไว้นาน ๆ การสวนปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราว แบ่งเป็น 2 แบบคือ 1. การสวนปัสสาวะด้วยตนเอง 2. ให้ผู้อื่นสวนปัสสาวะให้กรณีไม่สามารถทำเองได้   ประโยชน์ของการสวนปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราว   1. ช่วยลดปัญหาการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะและการเสื่อมสภาพของ ไตได้ดีกว่า 2. ในบางกรณีอาจจะทำให้การทำงานของกระเพาะปัสสาวะกลับเข้าสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น 3. หลีกเลี่ยงปัญหาแทรกซ้อนและสิ่งไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นแบบการคาสายยางทิ้งไว้ได้ 4. ทำให้คุณภาพของชีวิตดีขึ้น คนไข้สามารถเข้าสู่สังคมและไม่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น  5. ทำให้คนไข้เป็นตัวของตัวเองและเป็นภาระต่อผู้อื่นน้อยที่สุด   อุปสรรคของการสวนปัสสาวะแบบสะอาดเป็นครั้งคราว 1. สำหรับผู้ที่สวนปัสสาวะด้วยตนเอง โดยเฉพาะผู้หญิงอาจจะมีความลำบากในตอนเริ่มต้นทำใหม่ๆ    2. สำหรับผู้ที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ต้องให้ผู้อื่นสวนให้ ถ้าเป็นเด็กพ่อแม่หรือญาติจะเป็นผู้ทำให้จนกระทั่งเด็กโตทำการสวนเองได้ แต่กรณีที่เป็นผู้ใหญ่จะสวนให้ได้ยาก ควรจะต้องปรึกษาแพทย์   3. คนไข้ที่มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ทำให้สวนได้ลำบาก   อุปกรณ์การสวนปัสสาวะ 1. สายยางสำหรับสวนปัสสาวะ   2. น้ำยาฆ่าเชื้อโรคแซฟลอน (savlon – สีเหลือง) หรือสบู่ (วิธีผสม น้ำยาฆ่าเชื้อโรค 5 ซีซี : น้ำต้มสุก 500 มิลลิลิตร(ซีซี)) 3. น้ำต้มสุก 1 ขวด 4. สำลีสะอาด 5. เยลลี่สำหรับหล่อลื่นสายสวนปัสสาวะก่อนที่จะสวนปัสสาวะ 6. ภาชนะ 2 ใบ (ใบเล็กใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรค ใบใหญ่ใส่น้ำปัสสาวะที่สวนออกมาจากตัวผู้ป่วย) 7. กระจกเงา(ก่อนจะสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยใช้กระจกเงาส่องดูท่อปัสสาวะเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้นแต่ถ้าป่วยสวนปัสสาวะชำนาญแล้วไม่จำเป็นต้องใช้กระจกเงา)   การเตรียมตัวและของใช้ในการสวนปัสสาวะครั้งต่อไป 1. ล้างอุปกรณ์การสวนปัสสาวะทั้งหมดด้วยน้ำสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดเช็ดให้แห้ง 2. นำสายสวนที่ล้างสะอาดแล้วมาแช่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคในหลอดพลาสติก โดยเทน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในหลอดพลาสติกให้เต็มหลอด นำสายสวนปัสสาวะใส่ลงในหลอดพลาสติกให้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคไหลเข้าไปอยู่ภายในสายสวนปัสสาวะด้วย แล้วจึงเอาฝาจุกเปิดปลายสายสวนปัสสาวะและปิดหลอดท่อพลาสติกไว้       ทุกครั้งที่นำสายสวนแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ต้องเอาฝาจุกปิดปลายสายสวนปัสสาวะไว้ทุกครั้งเพื่อความสะดวกในการนำสายสวนออกมาจากหลอดพลาสติกในการใช้ครั้งต่อไป   วิธีการสวนปัสสาวะ 1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ 2 ครั้ง (ควรตัดเล็บให้สั้นและไม่สวมเครื่องประดับ) 2. เตรียมอุปกรณ์การสวนให้พร้อมที่จะสวนปัสสาวะและสายสวนปัสสาวะที่นำออกมาจากการแช่น้ำ     แซฟลอนแล้วให้ล้างด้วยน้ำต้มสุกก่อนที่จะนำมาสวนปัสสาวะ 3. ท่าสวนปัสสาวะ สวนด้วยตนเองหรือผู้อื่นสวนให้               ผู้หญิง : นั่งยองๆ แยกขาหรือนอนแยกขาออก 2 ข้าง หรือยืนโดยให้เท้าข้างหนึ่งเหยียบบนเก้าอี้  เอากระจกส่องดูท่อปัสสาวะหรือใช้นิ้วมือคลำก็ได้          ผู้ชาย : ยืน, นอนหรือนั่ง 4. ทำความสะอาดบริเวณปากท่อปัสสาวะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค กรณีที่ต้องไปทำนอกบ้าน สามารถใช้สบู่ล้างอวัยวะสืบพันธุ์ และท่อปัสสาวะได้ 5. จับสายสวนโดยห่างจากปลายด้านสายสวนปัสสาวะ ประมาณ 1 นิ้ว ทาเยลลี่หล่อลื่นปลายสายสวนเข้าท่อปัสสาวะเพื่อลดความระคายเคืองแล้วจึงใส่สายสวนเข้าท่อปัสสาวะในผู้หญิงใส่สายสวนเข้าไปลึกประมาณ 3 นิ้ว ส่วนผู้ชายใส่ลึกจนสุดสายสวนปล่อยให้น้ำปัสสาวะไหลลงภาชนะรองรับหรือโถส้วม 6. เมื่อน้ำปัสสาวะจากสายหยุดไหล ใช้มือข้างหนึ่งจับสายสวนได้ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งกดเหนือหัวเหน่า ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ของกระเพาะปัสสาวะจะมีน้ำปัสสาวะไหลออกมาอีก เมื่อน้ำปัสสาวะจากสายสวนหยุดไหลให้ดึงสายสวนออกทีละนิดพร้อมกับกดเหนือหัวเหน่าทำซ้ำจนแน่ใจว่าน้ำปัสสาวะไหลออกหมดแล้วจึงดึงสายสวนออกจากท่อปัสสาวะ 7. ล้างบริเวณอวัยวะสืบพันธ์และท่อปัสสาวะด้วยน้ำสะอาดหรือใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดบริเวณดังกล่าวให้แห้งเมื่อสวนปัสสาวะเสร็จแล้วทุกครั้ง.   ข้อควรจำ 1. จำนวนการสวนในแต่ละวันควรเป็นแพทย์ เป็นผู้กำหนด 2. ควรสวนให้ตรงกับเวลาที่กำหนดเสมอโดยไม่ต้องคำนึงถึงความสะอาดหรือสิ่งแวดล้อม การสวนปัสสาวะเมื่อเลยเวลา ปล่อยให้ปัสสาวะคั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานๆ อาจยิ่งทำให้มีการอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น 3. การสวนปัสสาวะแบบนี้ทำด้วยความสะอาดเท่านั้น ไม่ใช่ทำแบบปราศจากเชื้อ เหมือนในโรงพยาบาล ดังนั้น ไม่ต้องนำมาเป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจเป็นอันขาด 4. อย่าเลิกการสวนเอง ต้องปรึกษาแพทย์และหากมีปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสวนให้รีบมาพบแพทย์ทันที 5. การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการสวนปัสสาวะแบบสะอาดจะเป็นเหตุให้เกิดแรงจูงใจในการทำที่ถูกต้องและสม่ำเสมออันจะทำให้คนไข้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ   ข้อมูลโดย : นพ.ไชยสิทธิ์  มัจฉริยกุล ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับแก๊สน้ำตา

 วิธีปฏิบัติตนเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับแก๊สน้ำตา 1.ออกจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด และไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก 2.ล้างตาด้วยน้ำเกลือ Normal Saline หรือน้ำธรรมดา นาน10-15 นาที 3.ถ้ามีคอนแทคเลนส์ให้ถอดทันที 4.ล้างหน้า ล้างตาและผม รวมทั้งเปลี่ยนเสื้อผ้า เนื่องจากแก๊สน้ำตาเป็นสารเคมี เสื้อผ้าที่ถอดเปลี่ยนแล้วให้ใส่ถุงพลาสติกแยกไว้  5.ในผู้ป่วยที่ได้รับการสัมผัสอย่างรุนแรงและนาน ให้รับส่ง รพ.เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น กระจกตาอักเสบหรือปัญหาในระบบทางเดินหายใจ                                พญ.เมธินี  จงเจริญ                  จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<