ตาแห้ง

อาการตาแห้ง (Dry Eye) โรคตายอดฮิตที่คุณอาจเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัว สังคมปัจจุบัน คนทั่วไปใช้สายตาดูหน้าจอดิจิตอลทั้งวัน ร่วมกับอากาศที่ร้อน รังสีต่างๆจากแสงแดดรุนแรงขึ้น รวมทั้งมีมลภาวะจากฝุ่นpm2.5  ทำให้ปัจจุบันมีคนที่มีอาการตาแห้งเยอะมากยิ่งขึ้นกว่าเมื่อก่อน อาการตาแห้งคืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร สามารถรักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง มาศึกษากันค่ะ   ตาแห้งคืออะไร ตาแห้ง (Dry eye disease) คือ การที่มีน้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตาของเราไม่เพียงพอ สาเหตุหลักมาจาก 1. น้ำตาสร้างน้อยลง เช่น อายุที่มากขึ้น เพศหญิง การมีโรคประจำตัวบางชนิด การใช้ยาบางประเภท สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลดลง 2. มีการระเหยของน้ำตาง่าย เกิดจากมีการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา  ซึ่งปกติเปลือกตาจะมีต่อมไขมันเรียงตัวอยู่ โดยต่อมไขมันนี้จะมีหน้าที่ผลิตน้ำมันออกมาหล่อเลี้ยงดวงตา มีหน้าที่เคลือบน้ำตาชั้นบนสุดทำให้น้ำตาไม่ระเหยง่ายและมีความคงตัว เกิดความชุ่มชื้น ซึ่งน้ำมันจะปล่อยออกมาที่รูเปิดบริเวณขอบเปลือกตา ทั้งเปลือกตาบนและล่าง หากต่อมไขมันนี้เกิดอุดตันเรื้อรังหรือเสื่อมสภาพ จะทำให้น้ำตาขาดความคงตัว ระเหยง่ายเกิดภาวะตาแห้ง และยังทำให้เกิดการติดเชื้อกลายเป็นเปลือกตาอักเสบ (ตากุ้งยิง)ได้ง่ายอีกด้วย   ตาแห้งมีปัจจัยกระตุ้นจากหลายสาเหตุ ดังนี้ * การสร้างน้ำตาลดลงเมื่ออายุมากขึ้น * ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิง ทำให้คุณภาพของน้ำตาลดลง และสร้างน้อยลง * ใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน * ภูมิแพ้ขึ้นตา เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง * การใช้หน้าจอเป็นระยะเวลานาน * อยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้งและลมแรง * กระพริบตาน้อยลง เนื่องจากเพ่งสายตาเยอะ เช่น เวลาเล่นมือถือ * พักผ่อนไม่เพียงพอ * ทำความสะอาดเครื่องสำอางค์ไม่สะอาดทำให้มีการอุดตันของต่อมไขมันที่เปลือกตา * ทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่  * โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง * การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาสิว กลุ่ม isotretinoin ,ยาคุมกำเนิด , ยาแก้แพ้ เป็นต้น * เป็นจากการผ่าตัดตา การทำเลเซอร์กระจกตา * ต่อมไขมันอุดตันที่เปลือกตา   อาการของตาแห้ง ตาแห้ง จะมีอาการหลายรูปแบบ ดังนี้ * แสบตา เคืองตา * ตามัว เห็นภาพเบลอเป็นพักๆ * แพ้แสง ตาสู้แสงไม่ได้ * คันตา ขยี้ตาบ่อย * ตาแดง เป็นๆหายๆ * น้ำตาไหล ซึ่งน้ำตาที่ไหลเกิดจากการระคายเคือง ไม่ใช่น้ำตาที่หล่อเลี้ยงดวงตา * รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายอยู่ในตา * ปวดตา เมื่อยล้าดวงตา ปวดกระบอกตา อาจปวดศีรษะร่วมด้วย * มีขี้ตาเยอะตอนตื่นเช้า ลืมตาไม่ค่อยขึ้น * กระจกตาเกิดแผลและติดเชื้อตามมาได้   วิธีการดูแลเรื่องตาแห้ง * ใช้น้ำตาเทียมหยอดตา เพื่อหล่อเลี้ยงดวงตาเป็นประจำ * กะพริบตาบ่อยๆซึ่งแต่ละครั้งที่กระพริบตาจะมีการบีบของต่อมน้ำตาทำให้มีน้ำตามาหล่อเลี้ยงตาเรามากขึ้น * เมื่อใช้สายตานานๆ ให้พักสายตาเป็นระยะทุกๆ 20 นาที ด้วยการหลับตา 20 วินาที * สวมแว่นกันแดด หรือกันลมเป็นประจำเมื่อออกนอกบ้าน * หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เลี่ยงลมหรือแอร์เป่าหน้าโดยตรง รวมถึงฝุ่นและควัน * ใช้หน้าจอเท่าที่จำเป็น * ประคบอุ่น เพื่อให้ไขมันที่เปลือกตาอุดตันน้อยลง และตามด้วยการฟอกตาเพื่อขจัดคราบไขมันที่อุดตันรูเปิดของท่อไขมันออก ทำให้มีน้ำมันมาหล่อเลี้ยงดวงตามากขึ้น น้ำตาจะมีความคงตัว ไม่ระเหยง่าย * เมื่อมีอาการรุนแรงควรปรึกษาจักษุแพทย์  โดนการรักษา มีทั้งการใช้ยาหยอด ยากิน การอุดท่อน้ำตา การทำ eye spa และ เลเซอร์ IPL ขึ้นกับความรุนแรงของโรค   บทสรุป ตาแห้ง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก และสร้างความกวนใจในการใช้ชีวิตประจำ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น แนะนำเข้ามาปรึกษากับจักษุแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษา เพื่อไม่ให้โรคเป็นลุกลามมากขึ้น จนเกิดอันตรายกับดวงตา ทำให้มีดวงตาที่สดใส ใช้สายตาได้อีกยาวนาน ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไทรอยด์เป็นพิษ

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) มีความชุกร้อยละ 1.2 ของประชากรทั่วไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการของไทรอยด์เป็นพิษ             อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษอาจแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาการที่พบได้ มีดังต่อไปนี้ รับประทานอาหารได้ดีแต่น้ำหนักตัวลดลง ชีพจรเต้นเร็ว จังหวะไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น อารมณ์แปรปรวน กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย มีอาการสั่น โดยเฉพาะมือ ขี้ร้อน เหงื่อออกง่าย วิตกกังวลง่าย ถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย ต่อมไทรอยด์บริเวณลำคอบวม หรือโตขึ้น นอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ประจำเดือนมาน้อยลงในเพศหญิง ในผู้สูงอายุอาจมาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AF) เหนื่อยเวลาออกแรง, ตัวบวม ขาบวม, รับประทานอาหารได้น้อยและน้ำหนักตัวลดลง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบ การรักษาอย่างถูกต้องจะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ วิธีการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค   สาเหตุของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ พยาธิกำเนิด และแนวทางการรักษา สาเหตุ พยาธิกำเนิด แนวทางการรักษา -Graves’s disease โรคเกรฟส์ เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด TSH receptor antibodies (ร่างกายมีภูมิต่อสู้เนื้อเยื่อไทรอยด์ตนเอง) - ยาต้านไทรอยด์อย่างน้อย 12 – 18 เดือน - รังสีไอโอดีน - ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ -Nodular thyroid disease (ก้อนที่ไทรอยด์แบบมีพิษ พบมากในผู้สูงอายุ) Activating somatic mutation TSH receptor gene หรือ Gs-alpha - ยาต้านไทรอยด์ตลอดชีวิต  - รังสีไอโอดีน - ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ -Thyroiditis (ต่อมไทรอยด์อักเสบ) การอักเสบของต่อมไทรอยด์ทำให้มีการปลดปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ ให้ยาลดการอักเสบ (NSAID’s glucocorticoids) -TSH producing pituitary adenoma (เนื้องอกต่อใต้สมอง) ก้อนที่ต่อมใต้สมองหลั่ง TSH มากกว่าปกติ ผ่าตัดก้อนที่ต่อมใต้สมอง -Ectopic thyroid hormone production การสร้างฮอร์โมนไทรอยด์จากอวัยวะอื่น เช่น เนื้องอกรังไข่ (struama ovarii) ผ่าตัดเนื้องอก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การแพทย์แนวใหม่ที่ทุกคนต้องใช้

เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การแพทย์แนวใหม่ที่ทุกคนต้องใช้           ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของปัญหาซึ่งเกิดจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ฯลฯ ส่งผลให้ประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ลดการมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาวะ รวมถึงสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก แนวทางจัดการปัญหากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงกรณีที่โรคเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตควบคู่กับการใช้ยาไปด้วยกัน ก็ทำให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง           ด้วยความสำคัญและประโยชน์ของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ซึ่งเป็นการแพทย์แนวใหม่ที่นำองค์ความรู้หลากหลายแขนงเช่น แพทยศาสตร์ โภชนวิทยา จิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การกีฬา ฯลฯ มาบูรณาการเชื่อมโยงกัน เพื่อช่วยให้บุคคลสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพได้อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่เปรียบเสมือนเสาหลักของการมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ 6 ด้าน ดังนี้ โภชนาการ: อาหารที่ดีเปรียบเสมือนยารักษาโรค จึงมีคำแนะนำให้รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป จำกัดปริมาณน้ำตาล ไขมัน เกลือ เน้นอาหารที่มาจากพืชผักผลไม้ กิจกรรมทางกาย: ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ออกกำลังกายให้เพียงพอ ทั้งการออกกำลังเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯลฯ และการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การนอนหลับ: นอนหลับอย่างมีคุณภาพให้เพียงพอ เป็นเวลา และต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย ส่งผลให้ระบบเผาผลาญอาหารดีขึ้น อารมณ์สดใส เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยให้การควบคุมอาหารและออกกำลังกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเลิกการใช้สารเสพติด: การใช้สารเสพติดทุกชนิดสัมพันธ์กับการเสียชีวิตและความพิการจากโรคทางกาย โรคทางจิตเวช และอุบัติเหตุ เวชศาสตร์วิถีชีวิตจะมุ่งเน้นการลด ละ เลิก สารเสพติดที่ใช้กันแพร่หลายและก่อให้เกิดปัญหามากที่สุดคือบุหรี่และแอลกอฮอล์ การจัดการกับความเครียด: มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญกับความเครียดในแต่ละวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อดีของความเครียดคือทำให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพของตนเอง แต่ข้อเสียคือทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าวิตกกังวล โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง ฯลฯ ได้ง่ายขึ้น ความเครียดจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง: การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเป็นความต้องตามธรรมชาติของมนุษย์ ความเหงาและสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้า สมองเสื่อม โรคหัวใจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นอีกหนึ่งวิถีชีวิตที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ               แม้ว่าวิถีชีวิตทั้ง 6 ด้านดังกล่าว จะได้รับการยอมรับในวงกว้างว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมหาศาล แต่อุปสรรคของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพให้สำเร็จมีหลายปัจจัย เช่น ความเคยชิน ความรอบรู้ด้านสุขภาพ ข้อจำกัดเรื่องเวลา สิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นต้น ทางองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงร่วมกันผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิต เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือให้บุคคลสามารถรับมือและจัดการกับอุปสรรคเหล่านั้นได้               บทบาทของแพทย์เวชศาสตร์วิถีชีวิตคือ ร่วมมือกับคนไข้ในการวางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นเสาหลักของสุขภาพทั้ง 6 ด้าน โดยใช้วิธีการหลากหลาย เช่น การสนทนาเพื่อสร้างแรงจูงใจ การให้คำปรึกษาตามหลักจิตวิทยา การให้สุขศึกษา การตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ร่วมกัน การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม การหาแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง รวมทั้งช่วยคนไข้ให้เข้าถึงการบริการจากสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น นักกำหนดอาหาร นักวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น เพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล นำไปสู่วิถีชีวิตใหม่ที่สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และยั่งยืน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การเตรียมพร้อมก่อนรับการฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal anesthesia)

การเตรียมพร้อมก่อนรับการฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal anesthesia)          การฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่  (ยาชา)   เข้าช่องน้ำไขสันหลังหรือการบล็อกหลัง   เป็นการให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนล่างของร่างกาย   โดยการใช้เข็มขนาดเล็กแทงเข้าไปบริเวณหลังส่วนล่างจนถึงช่องไขสันหลังแล้วฉีดยาชา  เพื่อให้เกิดการชาบริเวณช่วงล่างของร่างกาย เหมาะสำหรับการผ่าตัดบริเวณสวนล่างของร่างกาย เช่น เท้า  ข้อเข่า ขา  ข้อสะโพก หรือช่องท้องสวนล่าง  เช่น  ไส้ติ่ง   มดลูกรังไข่   รวมถึงการผ่าคลอดลูกด้วย โดยวิสัญญีแแพทย์มักจะเลือกใช้การบล็อกหลังเพื่อระงับความรู้สึกเพื่อทําการผ่าตัดเป็นลําดับแรก อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถทำการบล็อกหลังได้เนื่องจากมีข้อห้าม วิสัญญีแพทย์จะให้การระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวหรือดมยาสลบแทน  ข้อห้ามของการบล็อกหลัง  ได้แก่  ผู้ป่วยปฏิเสธการบล็อกหลัง ระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีการติดเชื้อบริเวณที่จะแทงเข็ม ภาวะพร่องน้ำ หรือเลือดรุนแรง ความดันในกะโหลกศีรษะสูง มีโรคทางระบบประสาทอยู่ก่อน มีลิ้นหัวใจผิดปกติ  หรือโรคหัวใจบางประเภท ข้อดีของการบล็อกหลัง  คือ ช่วยระงับปวดได้ภายใน 1-2 นาที ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัว  สามารถพูดคุย โต้ตอบ  หรือบอกอาการผิดปกติระหว่างผ่าตัดได้ ผู้ป่วยที่มีความกังวลหรืออยากหลับขณะรับการผ่าตัด  สามารถบอกวิสัญญีแพทย์เพื่อให้ยานอนหลับหลังจากบล็อกหลังและทดสอบการชาแล้วได้ สามารถบริหารยาแก้ปวดได้  โดยใช้ปริมาณยาที่ลดลง ข้อเสียของการบล็อกหลัง  คือ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการคลื่นไส้  อาเจียน  สั่น  หรือคันตามตัวได้ ไม่สามารถขยับขาได้ประมาณ 2-4 ชั่วโมง ปัสสาวะไม่ออกในช่วง 12 ชั่วโมงแรกหลังบล็อกหลัง  แก้ไขได้ด้วยการสวนปัสสาวะออก อาการปวดหลัง  ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง  และตอบสนองดีต่อยาแก้ปวด ผลของการชาอาจทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด  ผู้ป่วยจะมีความดันเลือดลดลง  หรืออาจเกิดภาวะหัวใจเต้นช้า  ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะให้การดูแลภาวะดังกล่าวอย่างเหมาะสมตลอดการผ่าตัด อาจมีอาการหายใจลำบากกว่าปกติ อาการปวดศีรษะหลังการผ่าตัด  ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะให้แจ้งพยาบาลหรือแพทย์ที่ดูแลรักษาเพื่อประเมินอาการหาสาเหตุ  และให้การรักษาที่เหมาะสม อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ  หรืออาการชาหลังยาชาหมดฤทธิ์ ( 12-24 ชั่วโมงหลังบล็อกหลัง) ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจประเมินอาการทางระบบประสาทอย่างละเอียด  เพื่อการวินิจฉัยและให้การรักษาเพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนที่รุนแรง การติดเชื้อ  อาจพบการติดเชื้อที่ผิวหนัง  หรือที่ช่องไขสันหลัง   ซึ่งพบน้อยมาก   ขั้นตอนการบล็อกหลัง ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินแล้วเตรียมความพร้อม  รวมถึงเซ็นต์ใบยินยอมทำหัตถการ กรณีที่เป็นการผ่าตัดไม่เร่งด่วน  ให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เปิดเส้นเลือดดำเพื่อให้สารน้ำ ได้รับการเฝ้าระวังเกี่ยวกับระบบการไหลเวียน  โดยการวัดความดันโลหิต  วัดชีพจร วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง  เฝ้าดูแลประเมินการหายใจและติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การจัดท่าผู้ป่วยก่อนแทงเข็มบล็อกหลัง  สามารถทำได้ทั้งท่านอนตะแคงและท่านั่ง  วิสัญญีแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงงอตัว  ก้มศีรษะ  เอาคางชิดอกให้มากที่สุด  หรือนั่งก้มตัวห้อยขา  จากนั้นจะทำความสะอาดผิวหนังบริเวณหลังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ   และปูผ้าโดยวิธีปลอดเชื้อ                                                    วิสัญญีแพทย์คลำหลังหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการแทงเข็ม   เมื่อแทงเข็มสำเร็จและปลายเข็มอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม  จะฉีดยาชาเพื่อระงับความรู้สึก  ผู้ป่วยจำเป็นต้องนิ่งให้มากที่สุด หลังฉีดยาชาเรียบร้อย  จะทำการตรวจสอบระดับการชา  เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด  ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลหลังผ่าตัดที่ห้องพักฟื้น  เพื่อเฝ้าระวังอาการหรือ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด  อย่างน้อย  1  ชั่วโมง  หรือจนกว่าความดันเลือดและชีพจรอยู่ในระดับปกติอย่างน้อย 30 นาที   แนะนำให้ผู้ป่วยนอนราบอย่างน้อย 6 ชั่วโมง   

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เรื่องน่ารู้เมื่อต้องดมยาสลบ

เรื่องน่ารู้เมื่อต้องดมยาสลบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ต้องได้รับการผ่าตัด  จะมีความกังวลในเรื่องต่างๆ มักมีตวามกังวลที่ต้องได้รับการระงับความรู้สึก และความกังวลจะลดลงเมื่อได้พูดคุยกับวิสัญญีแพทย์ และพยาบาลวิสัญญี  ซึ่งจะเป็นผู้อธิบายทางเลือกสำหรับวิธีระงับความรู้สึกที่สามารถทำได้อย่างเหมาะสม  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด และปัจจัยด้านสุขภาพของผู้ป่วย การให้ยาระงับความรู้สึกของผู้ป่วยมี 3 วิธี คือ การดมยาสลบ วิสัญญีแพทย์จะใช้วิธีการฉีดยาเข้าทางน้ำเกลือ เพื่อนำสลบ  ผู้ป่วยจะหลับ  หลังจากนั้นจะบริหารยาสลบต่อ  ผู้ป่วยจะหลับสนิทไม่รู้สึกตัวระหว่างการผ่าตัด จนกระทั่งการผ่าตัดเสร็จสิ้น  โดยมีวิสัญญีแพทย์ และ วิสัญญีพยาบาล เฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา จนถึงฟื้นจากยาสลบ  ดูแลจนผู้ป่วยสามารถย้ายออกจากห้องพักฟื้นอย่างปลอดภัย การฉีดยาชาหรือการบล็อกด้วยยาชาเฉพาะที่ การฉีดยาชาที่หลัง (Spinal block ) ผู้ป่วยต้องนอนตะแคง   และวิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาเข้าที่หลัง  หลังฉีดผู้ป่วยจะรู้สึกชา  และสามารถทำการผ่าตัดได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ  บางครั้งวิสัญญีแพทย์จะผสมยาแก้ปวดลงในยาชาด้วย  ซึ่งจะทำให้หลังผ่าตัดปวดแผลน้อย   หลังจากบล็อกหลัง  ระหว่างผ่าตัดอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทำให้รู้สึกไม่สบายตัว  สามารถสื่อสารกับวิสัญญีแพทย์ และวิสัญญีพยาบาล  ให้ดูแลตามอาการได้  หรือ สามารถขอยานอนหลับเสริมได้อย่างปลอดภัย ผู้ป่วยมักกังวลว่าการฉีดยาชาเข้าที่หลังจะทำให้ปวดหลังในอนาคต  แต่ในความเป็นจริงอาจจะปวดหลังได้เล็กน้อย 1-2 วัน เท่านั้น  หรือบางคนอาจไม่ปวดเลยก็ได้ การฉีดยาชาที่เส้นประสาท  เพื่อให้ยาชาเฉพาะที่บริเวณที่ทำการผ่าตัด  การออกฤทธิ์ของยาจะทำให้บริเวณที่ผ่าตัดชา  จนสามารถผ่าตัดได้อย่างไม่เจ็บปวด การให้ยาสลบ ยาคลายกังวล  และยาแก้ปวดทางหลอดเลือด วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาทางน้ำเกลือ  เพื่อให้ผู้ป่วยหลับลึกพอที่จะทำการผ่าตัด / ทำหัตถการได้โดยไม่เจ็บ   การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด สอบถามข้อมูล  ขอคำปรึกษา  เกี่ยวกับการระงับความรู้สึกไม่ต้องกังวล  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดน้ำ  และอาหารก่อนมารับการผ่าตัดเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง  เพื่อป้องกันการสูดสำลักขณะดมยาสลบ แจ้งข้อมูลสำคัญแก่แพทย์  เช่น ประวัติการเจ็บป่วย  โรคประจำตัว  ประวัติการผ่าตัด  ประวัติการแพ้ยา  ยาที่ใช้เป็นประจำ ตลอดจนประวัติการใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคในร่างกาย ถอดฟันปลอม  เครื่องประดับ คอนแทคเลนส์ และของมีค่าก่อนเข้าห้องผ่าตัด ในกรณีที่หลังผ่าตัดแพทย์ให้กลับบ้านได้  จะต้องมีญาติมารับ ก่อนถึงเวลาผ่าตัด  ท่านจะได้พบและพูดคุยกับวิสัญญีแพทย์  ซึ่งจะอธิบายขั้นตอนในการให้ยาระงับความรู้สึกและตอบข้อสงสัยของท่าน  โดยท่านมีส่วนร่วมในการเลือกวิธีการให้ยาระงับความรู้สึกที่เหมาะสม  โดยวิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ  ในระหว่างผ่าตัดวิสัญญีแพทย์  จะเป็นผู้ดูแลท่านตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด  จนกระทั่งการผ่าตัดเสร็จสิ้น หลังการผ่าตัดแล้ว  เจ้าหน้าที่จะนำท่านไปสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้น ประมาณ 1-2 ชั่วโมง  ก่อนส่งกลับไปพักที่ห้องพัก การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด 1.กรณีที่จะกลับบ้านภายในวันที่ทำการผ่าตัด  แนะนำให้ญาติมารับ  ไม่ควรขับรถมาเอง  เนื่องจากหลังผ่าตัดและดมยาสลบท่านอาจมีอาการมึนงงได้บ้าง 2. กรณีที่ได้รับการฉีดยาชาที่หลัง ( Spinal block)  ควรนอนราบอย่างน้อย 6 ชั่วโมง  ถ้าแพทย์อนุญาติให้รับประทานอาหารได้  ให้ดื่มน้ำมาก อย่างน้อย 2-3 ลิตร เป็นเวลา 2-3 วัน  เพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะจากการบล็อกหลัง  หากมีอาการปวดศีรษะให้แจ้งพยาบาลที่ดูแลทันที

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Heat Stroke (โรคลมแดด) โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน

ปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะนับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เดิมมีฤดูร้อนเป็นหลักอยู่แล้ว เมื่อมีภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้สภาพอากาศของประเทศร้อนจัดเพิ่มขึ้น ประชาชนมีความเสี่ยงต่อโรคที่เป็นผลจากความร้อนโดยตรง นั้นก็คือ "โรคฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke) ซึ่งมักจะพบในฤดูร้อน โดยเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความร้อนในร่างกาย (Core Temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทันทีได้ โรคนี้เมื่อเกิดอาการต้องรีบรักษาเนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตสูง อาการเบื้องต้นของโรคฮีทสโตรก มีไข้สูงมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อาการทางผิวหนัง : ไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น อาการทางระบบประสาท : ปวดศีรษะ สับสน ตอบสนองช้า ชัก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ : ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว มีการคั่งของของเหลวในปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะออกน้อยหรือสีเข้ม เพราะมีการสลายกล้ามเนื้อ นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ สาเหตุของการเกิดโรคฮีทสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไปส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คือ อุณหภูมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ มักเกิดในช่วงมีคลื่นความร้อนสูง ( Heat Wave) และอยู่ในบ้านที่ปิดมิดไม่มีที่ระบายอากาศ Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากต่อมาเหงื่อจะหยุดออก  นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชัด อาจมีเลือดออกทุกทวาร สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก         สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที   การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเจอผู้ป่วยสงสัยโรคฮีทสโตรก นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก  ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ  ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน  เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล  วิธีการป้องกันโรคฮีทสโตรก หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน  เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ( Heat Acclimatization) ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว  สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี  ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป  หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด  ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง บทความโดย พญ.ณัชวัลฐ์ อิสระวรวาณิช แผนกสมองและระบบประสาท รพ. วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก           ในปัจจุบันอุบัติการณ์ประชากรเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยพบอัตราการเสียชีวิต 14 คน ต่อวัน และพบอัตราการเกิดโรค 28 คน ต่อวัน ซึ่งตอนนี้มีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก มะเร็งองคชาติ มะเร็งช่องคลอด มะเร็งแคมอวัยวะเพศหญิง มะเร็งช่องปากช่องคอและศีรษะที่เกิดจากไวรัสเฮชพีวี (Human Papilloma Virus) (HPV) ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันมะเร็งจากไวรัส HPV 2 แบบ ได้แก่             1. แบบ 4 สายพันธุ์ (ป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูก 70% และเพิ่มการป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 6,11 เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่) โดยรวมป้องกันมะเร็งจากไวรัส HPV ได้70% รวมถึงป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้             2. แบบ 9 สายพันธุ์ ป้องกันได้ 90%-94% (ป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูก 70% และเพิ่มการป้องกันไวรัส HPV สายพันธุ์ 6,11 เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และเพิ่มการป้องกันเชื้อไวรัส HPV ความเสี่ยงสูงอีกห้าสายพันธุ์ ได้แก่ 31, 33, 45, 52, 58) โดยรวมป้องกันมะเร็งจากไวรัส HPV ได้90%รวมถึงป้องกันโรคหูดหงอนไก่ได้               เริ่มฉีดวัคซีนที่ต้นแขนข้างที่ไม่ถนัดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี โดยอายุ 9-15 ปี ฉีดวัคซีน 2 เข็ม คือวันแรกที่ฉีดและอีก 6-12 เดือน ถัดจากเข็มแรก แล้วอยู่ได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม ถ้าอายุตั้งแต่ 15 ปี เป็นต้นไป ฉีดทั้งหมด 3 เข็มแล้วอยู่ได้ตลอดชีวิต คือฉีดเข็มแรก แล้วเข็มที่ 2 2 เดือนจากเข็มแรก ส่วนเข็มที่สาม ห่างจากเข็มที่ 2 4 เดือน แล้วอยู่ได้ตลอดชีวิต

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคท้องเสีย

โรคท้องเสีย      ท้องเสีย การที่ร่างกายมีการถ่ายอุจจาระมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ลักษณะอุจจาระผิดปกติ มีปริมาณน้ำมากหรือบางครั้งถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน ดังนั้นอาการที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเมื่อเกิดอาการท้องเสียคือ การที่ร่างกายเกิดสภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ สาเหตุมี 3 ประเภท อาการท้องเสียเนื่องจากรับสารพิษจากเชื้อ อาการท้องเสียเนื่องจากการติดเชื้อ ท้องเสียซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อหรือสารพิษจากเชื้อ เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด, แพ้อาหาร อาการท้องเสีย ทั้ง 3 ประเภทนี้จะมีลักษณะอาการ วิธีการรักษา และปฏิบัติตนที่แตกต่างกันซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรจะทราบเนื่องจากว่าถ้าปฏิบัติตนไม่ถูกต้องแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าเป็นการท้องเสียจากการได้รับสารพิษจากเชื้อ อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษที่มาจากเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนถ่ายเหลวหลังจากรับประทานอาหาร ประมาณ 2-4 ชั่วโมง เรียกว่า ทานเข้าไปไม่นานก็เริ่มมีอาการแล้ว ชนิดของถ่ายเหลว - ท้องเสีย เนื่องจากร่างกายขาดน้ำย่อยบางชนิด ดังเช่น ในคนเอเชียจำนวนไม่น้อย ที่เกิดมาขาดสารเอนไซม์ที่จะต้องใช้ย่อยน้ำตาลในนมวัว รับประทานนมวัวที่ไรก็ท้องเสียทุกที หรือเด็กที่หายจากอาการท้องเสียใหม่ๆ ร่างกายยังไม่ฟื้นพอที่จะสร้างเอนไซม์ตัวนี้ เด็กก็จะท้องเสียเมื่อรับประทานนมวัวเข้าไป ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนรับประทานได้ - ท้องเสียบางครั้งเกิดมาจากลำไส้อักเสบ เพราะเกิดจากการได้รับสารพิษ เช่น สารบอแรกซ์ - กลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อาหารเป็นพิษ เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน อย่างเฉียบพลันและมักรุนแรง มักเกิดภายหลังรับประทานอาหารได้สัก 1-2 ชั่วโมง อันตรายจากการท้องเสีย อันตรายจากการท้องเสียที่สำคัญที่สุด คือ การที่ร่างกายเสียสารน้ำและเกลือแร่ ซึ่งมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน กรณีสูญเสียน้ำและเกลือแร่อยู่ในขั้นรุนแรงจะเป็นอันตรายมาก ถ้าได้รับการแก้ไขไม่ทันท่วงที การรักษา ตามอาการ เมื่อมีอาการใน 4-6 ชั่วโมงแรก อาจซื้อผงเกลือแร่สำเร็จรูปจากร้านขายยามาลองรับประทานดูก่อน หรืออาจเตรียมเองที่บ้านได้โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือแร่ ½ ชิ้นชา เติมน้ำสะอาด 1 ขวดกลมปริมาณ 750 ซีซี การรักษาที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคือการได้รับน้ำ และเกลือแร่ทดแทน ในช่วงที่มีอาการท้องเสียควรรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ไม่ควรงดรับประทานอาหารเพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ถ้าเป็นไม่มากหลังดื่มน้ำเกลือแร่แล้วผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่ถ้าดื่นน้ำเกลือแร่ไม่ได้ ยังคงอาเจียนมีไข้สูง วิงเวียน เพลีย ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ วิธีดูง่ายๆ คือดูจากปริมาณและสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะสีเข้มมากแสดงว่ายังดื่มน้ำไม่พอ ถ้าลักษณะสีเหลือจางๆ หรือเกือบไม่มีสีและปัสสาวะทุก 3-5 ชม. แสดงว่าดื่มน้ำได้เพียงพอหลังถ่ายเหลว 2-3 วัน บางรายจะมีอาการท้องอืดๆ ได้ การใช้ยา ยาที่ช่วยให้หยุดถ่ายหรือมักจะเรียกว่ายาแก้ท้องเสีย เช่น Dphenoxylate, Loperamide สามารถใช้ได้เฉพาะผู้ที่ท้องเสียธรรมดาเท่านั้น ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่สงสัยว่าเกิดอาการท้องเสียเนื่องจากติดเชื้อ หรือได้รับสารพิษจากเชื้อ เนื่องจากยาที่ทำให้หยุดถ่ายจะทำให้ลำไส้บีบตัวได้น้อยลงทำให้ความถี่ของการถ่ายลดลง และผู้ป่วยอาจคิดว่าอาการดีขึ้น แต่ความจริงแล้วเชื้อหรือสารพิษจากเชื้อจะอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ทำให้หายจากการท้องเสียได้ช้าลง หากสงสัยว่าท้องเสียแบบติดเชื้อหรือได้รับสารพิษจากเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อจะได้รับยาฆ่าเชื้อหรือยาดูดซับสารพิษที่เหมาะสม การป้องกัน ล้างมือให้สะอาดการปรุงอาหาร และล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าหรือออกจากห้องน้ำ ดื่มน้ำสะอาด รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ๆ เมื่อเกิดท้องเสียให้ดื่มน้ำอุ่นรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามดื่มนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค ดูแลสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar Cancer)

มะเร็งปากช่องคลอดอุบัติการณ์พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของมะเร็งทางนรีเวชวิทยาและประมาณร้อยละ 0.6 ของโรคมะเร็งที่พบในสตรี (1,2) และมักพบมากในสตรีหมดประจําเดือน สาเหตุของโรคมะเร็งปากช่องคลอดเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสเฮชพีวี (HPV) การมีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งของปากช่องคลอด (Vulvar intraepithelial neoplasia) มีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก (Cervical intraepithelial neoplasia) โรค Lichen sclerosus สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อ้วน ภูมิคุ้มกันตํ่า เคยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมาก่อน (3,4) มะเร็งปากช่องคลอดมีสองชนิด (5) ชนิดที่ 1 ชนิด Basaloid หรือ Warty ชนิดที่ 2 ชนิด Keratinizing   ชนิดที่ 1  ชนิดที่ 2  อายุ  อายุช่วง 35-65 ปี  อายุช่วง 55-85 ปี  รอยโรค  หลายๆจุด  จุดเดียว  ปัจจัยเสี่ยง  ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง  เซลล์ผิดปกติขอปากช่องคลอด ที่เรียกว่า Vulvar Atypia  พยาธิวิทยา  ชนิด Basaloid หรือ Warty  ชนิด Keratinizing  การติดเชื้อไวรัสเฮชพีวี  เฮชพีวีชนิด 16,33  ไม่สัมพันธ์กัน  ประวัติโรคหูดหงอนไก่  พบบ่อย  ไม่สัมพันธ์กัน ประวัติโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์  พบบ่อย  ไม่สัมพันธ์กัน   การวินิจฉัย โดยการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาชนิดของมะเร็งปากช่องคลอดร้อยละ 90 เป็นชนิด Squamous Cell Carcinoma รองมาคือ Melanoma ซึ่งพบประมาณร้อยละ 2-4 ถัดลงมาคือ Basalcell Carcinoma พบได้ร้อยละ 2-3   การแบ่งระยะของมะเร็งปากช่องคลอด (6) ระยะที่ 1 โรคจำกัดอยู่ที่ปากช่องคลอด -ระยะ 1A รอยโรคขนาด ≤ 2 เซนติเมตร และมีการลุกลามไปในชั้นสโตรมา ≤ 1 มิลลิเมตร -ระยะ 1B รอยโรคขนาด > 2 เซนติเมตร และมีการลุกลามไปในชั้นสโตรมา > 1 มิลลิเมตร   ระยะที่ 2 รอยโรคไม่จำกัดขนาดและมีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะข้างเคียง (หนึ่งในสามส่วนล่างของท่อปัสสาวะ และ/หรือหนึ่งในสามของช่องคลอดส่วนล่าง และ/หรือทวารหนัก)   ระยะที่ 3 รอยโรคไม่จำกัดขนาดและมีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะข้างเคียง (หนึ่งในสามส่วนล่างของท่อปัสสาวะ และ/หรือหนึ่งในสามของช่องคลอดส่วนล่าง และ/หรือทวารหนัก) ร่วมกับมีการแพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลือง -ระยะ 3A แพร่กระจายไปที่ต่อมนํ้าเหลืองขาหนีบ 1ต่อม โดยมีขนาด ≥ 5 มิลลิเมตร หรือแพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองขาหนีบ 1-2 ต่อมโดยมีขนาด < 5 มิลลิเมตร -ระยะ3B แพร่กระจายไปที่ต่อมนํ้าเหลืองขาหนีบ ≥ 2ต่อม โดยมีขนาด ≥ 5 มิลลิเมตร หรือแพร่กระจายไปยังต่อมนํ้าเหลืองขาหนีบ ≥ 3 ต่อม โดยมีขนาด < 5 มิลลิเมตร -ระยะ3C แพร่กระจายไปที่ต่อมนํ้าเหลืองขาหนีบและมีการกระจายไป Extra Capsule   ระยะที่ 4 -ระยะ4A รอยโรคแพร่กระจายไปที่ส่วนบนของท่อปัสสาวะและ/หรือ ส่วนบนของช่องคลอด เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะเยื่อบุลำไส้ตรง กระดูกเชิงกรานระยะ 4B แพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ   References 1. Siegel RL, Miller KD, Jemal A. Cancer Statistics, 2017. CA Cancer J Clin 2017;67:7-30 2. U.S. Cancer Statistics Working Group. United States Cancer Statistics 3. Madsen BS, Jensen HL, et al. Risk factors for invasive squamous cell carcinoma of the vulva and vagina—population-based study in Denmark. Int J Cancer 2008;122:2827-2834 4. Brinton LA, Thistle JE, et al. Epidemiology of vulvar neoplasia in the NIH-AARP study. Gynecol Oncol 2017;145:298-304 5. Crum CP. Carcinoma of the vulva: epidermiology and pathogenesis. Obstet Gynecol 1992; 79:448-54 6. Pecorelli S. Revised FIGO staging for carcinoma of the vulva, cervix, and endometrium. Int J Gynecol Obstet 2009;105:103-4__   สามารถสอบถามเพิ่มเติมและรับบริการตรวจได้ที่แผนกสูติ-นรีเวช ชั้น 2 อาคาร 2 คลิก https://www.vibhavadi.com/Center/Clinics/id/02  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การส่องกล้องขยายปากมดลูก (Colposcopy)

การส่องกล้องขยายปากมดลูก (Colposcopy) แพทย์หญิง อุษณีย์ ฉัตรโชติกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งนรีเวชวิทยา         ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกทุกปี โดยหญิงไทยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับที่สองรองจากโรคมะเร็งเต้านม หญิงไทยที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเสียชีวิตวันละ 14 ราย (1) ถ้าผลการตรวจพบว่าเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกอันแสดงให้เห็นถึงข้อบ่งชี้ว่าควรจะมีการตรวจโดยการส่องกล้องขยายปากมดลูกต่อไป แพทย์ผู้ตรวจรักษาก็จะนัดหมายคนไข้มาตรวจโดยการส่องกล้องขยายปากมดลูก การส่องกล้องขยายปากมดลูก คือ การส่องกล้องที่มีกำลังขยายที่มากขึ้นในระดับต่างๆเพื่อให้เห็นภาพขยายปากมดลูกเพื่อประเมินรอยโรคของปากมดลูกในกรณีที่มีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ การส่องกล้องขยายปากมดลูกเป็นวิธีมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือการตรวจพบเชื้อไวรัสเฮชพีวีความเสี่ยงสูงสายพันธุ์ 16, 18 โดยการส่องกล้องขยายปากมดลูกหลังย้อมปากมดลูกด้วยกรดนํ้าส้มสายชู (acetic acid) ใช้หลักการที่ว่าเซลล์ถ้าโดนกรดที่มีความเข้มข้นมากกว่า สารประกอบในเซลล์ (cytoplasm) เซลล์จะถูกดูดนํ้าออก และจะเห็นตัวนิวเคลียสชัดเจนขึ้น โดยถ้าเซลล์ผิดปกติตัวนิวเคลียสจะใหญ่ทำให้พอนํ้าในเซลล์ถูกดูดออกโดยกรดจะเห็นเป็นปื้นขาวขึ้นมาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกที่มีข้อบ่งชี้ต้องมาส่องกล้องขยายปากมดลูก มีดังนี้ Low grade squamous intraepithelial  lesion (LSIL), High grade squamous intraepithelial lesion (HSIL), Atypical squamous cells, cannot exclude HSIL (ASC-H), Atypical Glandular Cells (AGC) (2) หรือพบเชื้อไวรัสเฮชพีวีที่มีความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 วิธีส่องกล้องขยายปากมดลูก - ให้คนไข้ขึ้นขาหยั่งเหมือนตรวจภายใน - ใส่เครื่องมือถ่างช่องคลอด (speculum) เพื่อประเมินปากมดลูก - ย้อมนํ้าส้มสายชู (acetic acid) ถ้าแบบความเข้มข้น 1% จะทิ้งไว้หนึ่งนาที ถ้า 3% จะทิ้งไว้ครึ่งนาที (30 วินาที) - ประเมินรอยโรคที่ปากมดลูกผ่านกล้อง - ขลิบปากมดลูกตรวจ ถ้าเห็นรอบวงรอยtransformation zone ของปากมดลูกไม่ครบวงก็จะขูดในคอปากมดลูกมาตรวจเพิ่มเติมด้วยคนไข้อาจมีการหน่วงๆเล็กน้อย - หยุดเลือดโดยป้ายยา Monsel หลังทำการส่องกล้องขยายปากมดลูกและขลิบเนื้อไปตรวจ - งดเพศสัมพันธ์สองสัปดาห์ - งดแช่นํ้าหรือว่ายนํ้าหรือยกของหนักสองสัปดาห์ -อาจมีเลือดออกเล็กน้อยหลังทำหัตถการแต่ถ้าออกปริมาณมากให้รีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล -แพทย์นัดหลังทำหัตถการประมาณเจ็ดวันเพื่อฟังผลเนื้อที่ขลิบไปตรวจ References   1. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ (www.nci.go.th) 2. The American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) http://www.acog.org สามารถสอบถามเพิ่มเติมและรับบริการตรวจได้ที่แผนกสูติ-นรีเวช ชั้น 2 อาคาร 2 คลิก https://www.vibhavadi.com/Center/Clinics/id/02

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มะเร็งโพรงมดลูก

มะเร็งโพรงมดลูก สาเหตุที่พบเป็นปัจจัยเสี่ยงมากสุดของการเกิดโรคมะเร็งโพรงมดลูก ได้แก่ การได้รับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวยาวนานเกินไป (1) ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งโพรงมดลูก (1) ปัจจัยเสี่ยง โอกาสเกิดโรคมากกว่าคนทั่วไป (เท่า) ไม่มีบุตร 2-3 หมดประจำเดือนช้า 2.4 ภาวะอ้วน 3-10 โรคเบาหวาน 2.8 การได้รับการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวยาวนานเกินไป 4-8 รับประทานยาTamoxifen 2-3 ผลเนื้อโพรงมดลูกผิดปกติเล็กน้อย (Atypical endometrial hyperplasia) 8-29 โรค Lynch II syndrome 20     อาการของคนไข้โรคมะเร็งโพรงมดลูก ส่วนใหญ่มาด้วย เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด (1) การวินิจฉัยโรค โดยการนำเนื้อในโพรงมดลูกมาตรวจ เช่น การที่แพทย์ใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายหลอดดูดเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อนำเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา หรือการขูดมดลูกเพื่อนำเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา (1) ภาวะแทรกซ้อน ของหัตถการที่แพทย์ใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายหลอดดูดเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อนำเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยาเกิดน้อยมาก เช่น มดลูกทะลุพบได้ 1-2 คน ใน 1,000 คนที่ได้รับการทำหัตถการนี้ (1)  สำหรับการตรวจป้ายเซลล์ปากมดลูก (Pap test) ไม่มีความน่าเชื่อถือในการตรวจพบโรคมะเร็งโพรงมดลูก เพราะ 30 - 50% ในคนไข้โรคมะเร็งโพรงมดลูกพบเซลล์ผิดปกติที่หลุดออกมาแล้วตรวจได้จากการตรวจป้ายเซลล์ปากมดลูก (2) ความแม่นยำของการนำเนื้อในโพรงมดลูกมาตรวจ โดยการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายหลอดดูดเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อนำเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา 90 -98% เมื่อเทียบกับการขูดมดลูกหรือการตัดมดลูกไปตรวจทางพยาธิวิทยาในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน (3) การส่องกล้องตรวจแบบเห็นภาพสีสามมิติในโพรงมดลูกร่วมกับการใส่ของเหลวเข้าไปในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) และการขูดมดลูกควรทำในคนไข้ที่มีปากมดลูกตีบ หรือคนไข้ที่ทนต่อความเจ็บปวดไม่ไหวในการทำหัตถการนี้หรือการได้เนื้อมาจากการดูดเนื้อในโพรงมดลูก มาตรวจแต่ได้เนื้อไม่พอสำหรับการตรวจทางพยาธิวิทยา (1) การรักษาหลักที่เป็นมาตรฐานของโรคมะเร็งโพรงมดลูก คือ การผ่าตัดเพื่อประเมินระยะของโรค ได้แก่ การตัดมดลูก ปากมดลูก รังไข่ทั้งสองข้าง เลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน เลาะต่อมน้ำเหลืองข้างเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้องไปส่งตรวจผลเนื้อทางพยาธิวิทยา (1) ระยะของโรคมะเร็งโพรงมดลูก (4) ระยะที่หนึ่ง มะเร็งอยู่ในมดลูก แบ่งเป็น ระยะที่หนึ่งเอ มะเร็งไม่ลามไปที่กล้ามเนื้อมดลูกหรือลามไปแต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกล้ามเนื้อมดลูก ระยะที่หนึ่งบี มะเร็งลามไปที่เท่ากับครึ่งหนึ่งของกล้ามเนื้อมดลูกหรือลามไปเกินครึ่งหนึ่งของกล้ามเนื้อมดลูก ระยะที่สอง มะเร็งลามมาที่เนื้อของปากมดลูก ที่เรียกว่า stroma ระยะที่สาม แบ่งเป็น ระยะสามเอ มะเร็งลามไปที่เยื่อบุของตัวมดลูกด้านนอกที่เรียกว่า serosa และ/หรือปีกมดลูก ระยะสามบี มะเร็งลามไปที่ช่องคลอดและ/หรือบริเวณเนื้อเยื่อด้านข้างออกมาจากตัวปากมดลูก (parametrium) ระยะสามซี แบ่งเป็นระยะ ดังนี้ มะเร็งระยะสามซีหนึ่ง มะเร็งลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง (pelvic nodes) มะเร็งระยะสามซีสอง มะเร็งลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง (para-aortic lymph nodes) ระยะที่สี่ แบ่งเป็น ระยะสี่เอ มะเร็งลามไปกระเพาะปัสสาวะหรือผนังลำไส้ส่วนmucosa ระยะสี่บี มะเร็งลามไปที่อวัยวะอื่นๆ นอกจากที่กล่าวไปด้านบนในช่องท้อง หรืออวัยวะนอกช่องท้อง หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ การรักษาโรคมะเร็งโพรงมดลูกเป็นไปตามระยะของโรคและชนิดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแพทย์จะแนะนำต่อไปเมื่อฟังผลเนื้อทางพยาธิวิทยาและประเมินระยะของโรคแล้ว References Berek and Novak's gynecology 16th edition Zucker PK, Kasdon EJ, Feldstein ML. The Validity of Pap smear parameters as predictors of endometrial pathology in menopausal women. Cancer 1985;56:2256-2263 Van Hanegem N, Prins MM, Bongers MY, et al. The accuracy of endometrial sampling in women with postmenopausal bleeding: A systematic review and meta-analysis. Eur J Obstet Gynecol Reprod Biol 2016; 197:147-155. FIGO Committee on Gynecologic Oncology. Revised FIGO staging for carcinoma of the vulva, cervix, and endometrium. Int J Gynecol Obst 2009;105:103-104.   สามารถสอบถามเพิ่มเติมและรับบริการตรวจได้ที่แผนกสูติ-นรีเวช ชั้น 2 อาคาร 2 คลิก https://www.vibhavadi.com/Center/Clinics/id/02  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่

โรคมะเร็งรังไข่อุบัติการณ์ในประเทศไทยพบได้ 6.6 คนต่อประชากรหญิง 100,000 คน มะเร็งรังไข่พบได้ในสตรี 1 ใน 70 คน และเป็นมะเร็งอันดับที่ 6 ของสตรีไทย (1) การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่ คือ การตรวจภายในและอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดหรือทางหน้าท้องร่วมกับการตรวจค่ามะเร็งรังไข่ ได้แก่ ค่า CA-125, CA19-9, HE-4 ควรตรวจทุกปี   ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ ได้แก่ อายุที่เพิ่มมากขึ้น เป็นโรคมะเร็งเต้านม สูบบุหรี่ ไม่มีบุตร เป็นหมัน มีโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ปวดประจำเดือน เริ่มมีประจำเดือนในอายุน้อยกว่าปกติ หมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก ประวัติครอบครัวมีโรคมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม บุคคลที่มียีนที่เปลี่ยนแปลงไปของ BRCA1, BRCA2 (2) เนื่องจากอาการของโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งรังไข่โดยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการเริ่มแน่นท้องจากน้ำในท้องที่ออกมาจากโรคมะเร็งรังไข่มักตรวจพบเป็นระยะสุดท้ายของโรคนี้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งรังไข่จึงเป็นสิ่งสำคัญ   โรคมะเร็งรังไข่มี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่เฉพาะที่รังไข่โดยยังไม่พบการกระจายออกมาที่ช่องท้องส่วนท้องน้อย ระยะที่ 2 มะเร็งได้มีการกระจายมาที่บริเวณปีกมดลูกและอวัยวะในช่องท้องน้อย ระยะที่ 3 มะเร็งได้มีการกระจายมาบริเวณในท้อง ผิวเยื่อบุช่องท้อง ผิวนอกของลำไส้เล็ก ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน และต่อมน้ำเหลืองที่ล้อมรอบเส้นเลือดใหญ่ในช่องท้อง ระยะที่ 4 มะเร็งกระจายไปอวัยวะไกลนอกช่องท้อง เช่น ปอด สมอง เนื้อตับ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ การรักษาโรคมะเร็งรังไข่ ได้แก่ การผ่าตัด การรักษาด้วยยาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy) ให้ยาเคมีบำบัด โดยยิ่งพบโรคเร็วระยะต้นยิ่งมีโอกาสรักษาหายง่ายกว่าการพบโรคระยะหลัง   สามารถสอบถามเพิ่มเติมและรับบริการตรวจได้ที่แผนกสูติ-นรีเวช ชั้น 2 อาคาร 2 คลิก https://www.vibhavadi.com/Center/Clinics/id/02  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD)

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่พบได้ในเด็กวัยเรียน มีสาเหตุจากความบกพร่องของสารเคมีในสมองที่ใช้ในการควบคุมสมาธิ มักแสดงอาการในช่วงวัย 4-5 ขวบขึ้นไป อาการสามารถพบได้ทั้งปัญหาการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานไม่เสร็จ จดการบ้านไม่ทัน หรือปัญหาทางพฤติกรรม เช่น เล่นรุนแรงโลดโผน พูดแทรกผู้ใหญ่บ่อย ๆ หุนหันพันแล่น ทั้งนี้ผู้ใหญ่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กเรียนไม่เก่งหรือเป็นเด็กซนตามวัย ซึ่งเมื่ออาการเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดเป็นปัญหาในหลาย ๆ ด้านต่อมาโดยเฉพาะปัญหาครอบครัวเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วัยรุ่น                                            ดังนั้นโรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคใหม่แต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันมีการพูดถึงโรคสมาธิสั้นมากขึ้นเนื่องจาก ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ดีขึ้น และมีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคที่ชัดเจนมากขึ้น โรคสมาธิสั้นพบได้บ่อยถึงร้อยละ 8-12 ในเด็กวัยเรียน  มักพบในเด็กผู้ชาย  อาการแสดงประกอบด้วย 3 อาการหลัก ได้แก่ 1.อาการขาดสมาธิ (Inattention) เช่น วอกแวกง่าย เหม่อลอย ทำงานไม่เสร็จ ขี้ลืม 2.อาการซน/ หุนหันพันแล่น  (Hyperactivity/Impulsivity)  เช่น อยู่ไม่นิ่ง  ซน  ยุกยิก มืออยู่ไม่สุก  อยู่นิ่งไม่ได้  ต้องขยับตลอด นั่งไม่ติดที่ชอบเดินไปมา  พูดเก่ง  พูดไม่หยุด  รอคอยอะไรไม่ได้ คิดอะไรจะทำทันที 3.เป็นทั้งสองอย่างควบคู่กัน (Combine Type) การวินิจฉัยทำได้อย่างไร -โรคสมาธิสั้นสามารถวินิจฉัยได้ง่าย เพียงแค่พามาตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น การวินิจฉัยโดยอาศัยประวัติและอาการทางคลินิก ไม่จำเป็นต้องใช้การตรวจอื่น ๆ ที่ยุ่งยาก อาจมีการขอประวัติจากทางโรงเรียนเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย นอกจากนี้อาจต้องส่งตรวจประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) หรือส่งประเมินทักษะการอ่าน-เขียน-คำนวณเพิ่มเติมในแต่ละรายไป -นอกจากโรคสมาธิสั้นแล้ว โรคอื่น ๆ ที่สามารถพบร่วมกัน ได้แก่โรคปัญหาการเรียนรู้บกพร่อง (Learning Disorder : LD) และโรคดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder : ODD) ซึ่งทำให้โรคสมาธิสั้นมีความรุนแรงมากขึ้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาควบคู่กันไป     การรักษาโรคสมาธิสั้น  เด็กสมาธิสั้นทุกคนจำเป็นต้องกินยาหรือไม่ -การรักษาสมาธิสั้นโดยทั่วไปแพทย์จะให้คำปรึกษากับพ่อแม่ในการปรับพฤติกรรมเบื้องต้นก่อนที่จะเริ่มใช้ยา พ่อแม่สามารถเริ่มปรับพฤติกรรมโดยให้คำชมเวลาที่เด็กมีพฤติกรรมดี สามารถนั่งนิ่ง ๆ ได้ นอกจากนี้การทำข้อตกลงกับเด็กก่อนจะทำให้เด็กสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ดีขึ้น -เมื่อแพทย์ได้ประเมินเด็กอย่างละเอียด  และเห็นว่ายามีความจำเป็น เช่น ในกรณีที่เด็กไม่ร่วมมือในการปรับพฤติกรรม แพทย์จะให้คำแนะนำถึงประโยชน์และผลข้างเคียงจากการใช้ยาร่วมกับการติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อวางแผนในการใช้ยารักษาสทาธิสั้นอย่างครอบคลุม ยาสมาธิสั้นมีประโยชน์และผลข้างเคียงอย่างไร ยาสมาธิสั้นมีประโยชน์อย่างมากในการควบคุมสมาธิและลดปัญหาพฤติกรรมในห้องเรียนนำมาสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ดีขึ้น โดยที่ยาไม่ได้ไป “กด” สมองแต่อย่างใด ยาจะช่วยให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะกลัวผลข้างเคียงของยา เช่น เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดท้อง ซึ่งผลข้างเคียงนี้สามารถเกิดได้ในเด็กบางรายและเกิดจากยาบางชนิดเท่านั้น นอกจากนี้ผลข้างเคียงจากยาจะค่อย ๆ หายไปเองเมื่อเด็กรับประทานยาติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้แพทย์จะใช้ยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง เมื่อแพทย์เห็นว่าเด็กมีอาการดีขึ้นจะค่อย ๆ ลดขนาดยาลงจนสามารถหยุดยาได้        

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และการตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score)

           โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery disease) หมายถึง ภาวะที่หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ (coronary artery) ตีบ                                                                                                                                                  โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  อาจเกิดจากไขมันหรือหินปูนสะสมในผนังหลอดเลือด  ทำให้บริเวณหลอดเลือดมีการตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดนำออกซิเจนไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยและไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งสังเกตได้จากการที่มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจวายซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง           การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Score) การตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ เป็นการตรวจปริมาณแคลเซียมที่เกาะผนังของหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และคำนวณหาปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง โดยสามารถบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ แม้จะมีปริมาณน้อยก็ตาม การตรวจ Calcium Score  เป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (CAD) ในผู้ที่ยังไม่มีอาการ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่รวดเร็ว ไม่เจ็บ ไม่ต้องฉีดสี ใช้ปริมาณรังสีต่ำ   ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีโรคไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มีประวัติสูบบุหรี่ ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ผู้ที่มีอายุ มากกว่า 55 ปี สตรีวัยหมดประจำเดือน การแปลความหมายของแคลเซียม   คะแนนแคลเซียม ความเสี่ยง                          โอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 0 ความเสี่ยงต่ำมาก โอกาสเกิดภาวะหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระดับสูงในอนาคตมีน้อย 1-100 ความเสี่ยงต่ำ โอกาสในการพัฒนาภาวะหลอดเลือดหัวใจนั้นไม่น่าเป็นไปได้หรือต่ำมาก  101-400 ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีการอุดตันในระดับสูง  >400 ความเสี่ยงระดับสูง ความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในระดับสูง ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ตาม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<