เชื้อไวรัส อาร์เอสวี(RSV) คืออะไร?

เชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง เกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักเป็นในเด็กเล็ก ๆ อายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งเมื่อติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) ในทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว ผู้ติดเชื้อร้อยละ 70 มักเกิดอาการปอดบวม และหลอดลมฝอยอักเสบ การติดต่อของโรค เกิดได้ทั่วโลกมักระบาดในฤดูหนาวของประเทศแถวตะวันตกในประเทศไทยพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว ระหว่างเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ติดต่อได้ง่ายโดย การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ได้แก่ น้ำมูก เสมหะ น้ำลายของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสนี้ผ่านทางตาจมูกและทางการหายใจ โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) สามารถกระจายเชื้อให้ลอยปะปนอยู่ในอากาศภายในรัศมี 3 ฟุต ผ่านทางการไอหรือจาม การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นได้หลายครั้ง เนื่องจากไวรัสตัวนี้มีหลายพันธุ์ อาการของโรค ระยะฟักตัวประมาณ 5 วัน ในช่วง 2-4 วันแรก อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือ ไข้ต่ำ ๆ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกใส เด็กบางคนอาจเกิดกล่องเสียงอักเสบ เมื่อการดำเนินโรคของทางเดินหายใจส่วนล่างมีมากขึ้น ก็ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ(ไข้ ไอ หอบ) โดยเด็กจะมีไข้สูง ไอมากขึ้น ร่วมกับมีเสมหะ บางรายไอมากจนอาเจียน หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (wheezing) แบบหลอดลมฝอยอักเสบ ซึมลง ตัวเขียว ดื่มนมหรือรับประทานอาหารได้น้อย แต่ในรายที่อาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตได้ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลว การพยากรณ์โรค ยังไม่ทราบกลไกในการเกิดที่ชัดเจน อาการของโรคเกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดีชนิดไวจีอี ( IgE ) ต่อเชื้ออาร์เอสวี ( RSV ) ทำให้เกิดปฏิกิริยาเหมือนโรคภูมิแพ้ ในระบบทางเดินหายใจมีการหลั่งสารออกมา ซึ่งมีผลทำให้หายใจเสียงวี้ด (wheezing) ตามมาได้ อาการจากการติดเชื้อเกิดจากการกระตุ้นปฏิกิริยา ไวรัสอาร์เอสวี ( RSV ) เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่พบบ่อยที่สุด อักเสบต่อเนื่องในระบบการหายใจ ผลก็คือ ทำให้มีอาการเหล่านี้ แบบเรื้อรังและต่อเนื่อง เด็กที่ติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวี ( RSV ) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เมื่อโตขึ้น เด็กที่เป็นแล้วมีอาการแบบหลอดลมฝอยอักเสบรักษาหายแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีก อาจทำให้เด็กมีภาวะเกิดภูมิไวเกินที่หลอดลม แค่ติดเชื้อหวัดธรรมดาก็อาจกระตุ้นให้อาการหอบ มีเสมหะและไอมากกลับมาได้ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่รุนแรง กลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย หรือภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคไม่ดี เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่มีโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจเรื้อรัง รวมทั้งเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การรักษา ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ( RSV) โดยตรง มีแต่การรักษาแบบประคับประคองตามอาการได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม บางรายต้องให้ออกซิเจน ถ้าเสมหะมาก อาจต้องทำการเคาะปอด และดูดเสมหะออก ยาต้านการอักเสบลิวโคไตรอีน ในรูปแบบยารับประทานที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและหายใจหอบเหนื่อยลดลง การป้องกันโรค ยังไม่มีวัคซีน หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัด ไม่ให้เด็กเล่นคลุกคลีกับเด็กที่เป็นหวัด เด็กที่อยู่ในห้องแอร์ หรือในที่อากาศเย็นให้สวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ การล้างมือจะช่วยกำจัดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้กว่าร้อยละ 80 หากมีเด็กป่วยในบ้านหรือที่ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็ก ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ไม่ให้คลุกคลีกันและแยกเครื่องใช้เด็กที่ป่วยออกต่างหาก การป้องกันเด็กป่วยจากโรคทางเดินหายใจทุกชนิดโดยแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเด็กจะได้รับภูมิต้านทานจากแม่ผ่านทางนม เด็กก็จะไม่ป่วยง่าย โดย พญ.ปราณี  สิตะโปสะ  กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การผ่าตัดแปลงเพศ

ในผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งของการรับรู้เพศที่ไม่สอดคล้องกับเพศที่แท้จริง ทางการแพทย์เรียกว่าgender dysphoriaหรือgender identity disorderเป็นความผิดปกติที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันสังคมยอมรับคนเหล่านี้มากขึ้นทำให้เขากล้ามารับการรักษามากขึ้นและได้ผลดี ทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ก่อนผ่าตัด ก่อนที่จะทำการผ่าตัดแพทย์จะต้องทำการวินิจฉัยให้ได้ก่อนว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ และสามารถจะมำการผ่าตัดได้หรือไม่โดยมีขั้นตอนการพิจารณาดังนี้ ผู้ป่วยต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมในเพศที่ตรงข้ามกับเพศจริงทางร่างกายตลอดเวลาและประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย12เดือน ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจและประเมินพฤติกรรมโดยจิตแพทย์อย่างน้อย2คนและหนึ่งในสองคนต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ต้องได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเพื่อเตียมสภาพร่างกายให้อยู่ในเพศตรงข้ามเสียก่อน ก่อนผ่าตัดแปลงเพศต้องผ่าตัดส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างอวัยวะเพศเสียก่อน เป้าหมายในการสร้างอวัยวะเพศหญิงใหม่คือ การสร้างช่องคลอดเทียมที่มีขนาดและความลึกพอสมควรเพื่อสามารถใช้ในการร่วมเพศได้ในกรณีที่ต้องการแต่ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ก็อาจไม่จำเป็นต้องสร้างให้มีความลึกมากก็ได้ สร้างรูปร่างของอวัยวะเพศใหม่ให้ดูคล้ายกับอวัยวะเพศหญิงให้มากที่สุด ได้แก่ แคมนอกและแคมใน เปลี่ยนแนวของท่อปัสสาวะให้ถูกต้องโดยเวลาปัสสาวะจะต้องพุ่งลงด้านล่าง สร้างจุดรับสัมผัสหรือคลิตอริส ภาวะแทรกซ้อน แผลผ่าตัดแยกหรือหายช้าหรือช่องคลอดใหม่หลุดลอกออกพบได้บ่อยพอสมควรเนื่องจากแผลผ่าตัดมีจุดที่ต้องมีการเย็บประกอบขึ้นมาจากผิวหนังหลายส่วน รวมทั้งการดูแลหลังผ่าตัดที่ไม่เหมาะสมหรือการใช้งานอวัยวะเพศใหม่เร็วเกินไป ถ้าแผลแยกหรือหลุดลอกไม่มากอาจใช้การทำแผลไปเรื่อยๆจนแผลหายเองได้แต่ถ้าเป็นมากอาจจะต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข เลือดคั่งใต้แผลผ่าตัด ช่องคลอดตีบ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องทำการขยายช่องคลอดอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย6-12เดือน มิฉะนั้นก็อาจจะเกิดช่องคลอดตีบแคบได้ ถ้าเกิดใหม่ๆหลังการผ่าตัดก็อาจจะทำการถ่างขยายได้ แต่ถ้าทิ้งเอาไว้นานจนมีพังผืดแข็งก็อาจจำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัดแก้ไข ช่องคลอดตื้น เช่นเดียวกับช่องคลอดตีบถ้าเกิดในระยะหลังก็จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อหาเนื้อเยื่ออื่นมาเสริมเพื่อเพิ่มความลึกแทน เช่น สำไส้ใหญ่ เป็นต้น ช่องคลอดทะลุเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ต้องแก้ไขโดยการผ่าตัด ถ้าไม่รุนแรงก็อาจจะเย็บปิดได้เลย แต่ถ้าเกิดการติดเชื้อรุนแรงก็อาจจะต้องระบายอุจจาระออกทางหน้าท้องก่อนเพื่อให้แผลรอยทะลุหายสนิทดีก่อนค่อยนำลำไส้กลับเข้าที่เดิม แพทย์ นพ.นราธิป ทรงทอง แผนกศัลยกรรม (ศัลยศาสตร์ตกแต่ง)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การปฏิบัติตัว เมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก

การปฏิบัติตัว เมื่อเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก               อาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก มีดังนี้คือ   อาการปวด   มีเลือดออก   และมีมูกบริเวณทวารหนัก     ซึ่งมีหลักปฏิบัติง่าย ๆ  10 ประการจะช่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้อาการของโรคริดสีดวงทวารหนักรุนแรงขึ้น  1.   ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 6 – 8 แก้ว  2.   รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง  เช่น ข้าวกล้อง  ผัก  ผลไม้  3.   หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร  เช่น อาหารรสเผ็ดจัด   ชา   กาแฟ   เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์  4.   ดูแลสุขอนามัย และรักษาความสะอาดของเครื่องใช้ส่วนตัวอยู่เสมอ  5.   ออกกำลังการสม่ำเสมอ  เช่น เดินเร็ว  ว่ายน้ำ     แต่หลีกเลี่ยงกีฬาบางประเภท  เช่น ขี่จักรยาน   ขี่ม้า  6.   พยายามหลีกเลี่ยงการยกของหนัก  7.   ฝึกหัดการถ่ายให้เป็นเวลา     การดื่มน้ำแก้วใหญ่ทันทีหลังตื่นนอนตอนเช้า     จะช่วยการขับถ่ายได้  8.   หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่คับเกินไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกางเกงคับ ๆ   9.   ไม่ควรอยู่ที่ร้อน ๆ เป็นเวลานานเกินไป 10.  เมื่อมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น   มีเลือดออกหลังถ่ายอุจจาระ   รู้สึกไม่สบายบริเวณทวารหนัก   ควรรีบปรึกษาแพทย์   ข้อเขียนโดย นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์  ศัลยแพทย์ประจำ รพ.วิภาวดี โทร.0-2941-2800 , 0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคอุจจาระร่วงไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้าคือ ? (Rota virus) โรต้าเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อได้ง่าย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กและผู้ใหญ่ ไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้มีอาการท้องเสียรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการขาดน้ำและเกลือแร่ สุขอนามัยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้  ติดเชื้อไวรัสโรต้าได้อย่างไร ? การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เกิดจากการรับประทานสิ่งที่มีไวรัสปนเปื้อนเข้าทางปาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหารและสิ่งของ โดยไวรัสชนิดนี้อาจติดอยู่ตามสิ่งของ หรือมือที่เปื้อนเชื้อไวรัสเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อได้ จากนั้นเชื้อไวรัสเดินทางไปตามระบบทางเดินอาหาร คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ทำให้เกิดอาการอักเสบติดเชื้อขึ้น เมื่อติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้วจะแสดงอาการอย่างไร ? หลังได้รับเชื้อ 1-2 วัน  จะเริ่มอาเจียน มีไข้ (ไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส)และบางรายอาจเกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ คือ มีน้ำมูกไหล ไอ คอแดง ร่วมด้วย ต่อมาจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำอาจมากถึง 10 - 20 ครั้งต่อวัน ส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายใน 3 – 5 วัน ส่วนน้อยจะมีอาการท้องเสียยืดเยื้อเรื้อรังนาน 9 วันถึง 3 สัปดาห์ได้ หากอาการท้องเสียเกิดขึ้นเป็นเวลานานหรือมีอาการรุนแรงจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ที่สำคัญ ซึ่งจะขาดได้ในปริมาณที่มากกว่าการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆอีกหลายชนิด เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการรุนแรงควรรีบพามาพบแพทย์และจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน ทราบได้อย่างไรว่าอาการท้องเสียเกิดจากไวรัสโรต้า ?  แพทย์วินิจฉัยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ได้จากประวัติ อาการและฤดูกาลที่เป็น ร่วมกับการตรวจพบเชื้อไวรัสโรต้าในอุจจาระ (Rotavirus Ag in Stool = positive) ถ้าติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้วควรได้รับการรักษาอย่างไร ? เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยตรง การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ คือ ถ้าอาการไม่รุนแรงก็สามารถรับประทานยาที่บ้านได้ โดยดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการถ่ายอุจจาระและอาเจียน รับประทานยาแก้อาเจียนถ้ามีอาเจียนบ่อย แต่หากมีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ซึมลง ตัวเย็น ไข้สูง ชัก หายใจหอบเหนื่อย ปัสสาวะออกน้อยหรืออาเจียนมากรับประทานไม่ได้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน เราจะสามารถปกป้องจากเชื้อไวรัสโรต้าได้อย่างไร ? วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วงเบื้องต้น คือ การรักษาสุขอนามัย การดูแลความสะอาดของอาหารน้ำดื่ม และล้างมืออย่างถูกต้อง ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการกำจัดอุจจาระให้ถูกต้องด้วย หากพบผู้ป่วยต้องรีบป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังคนอื่นแนะนำให้รีบไปพบแพทย์และหยุดรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ สัญญาณเตือน ที่ไม่ควรปล่อยไว้ ควรพบแพทย์  มีอาการอาเจียนมาก / ถ่ายมากผิดปกติ ซึม ไม่มีแรง มือเท้าเย็น ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลยเกิน 6 ชม. ปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ในเด็กจะมีกระหม่อมบุ๋ม ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสที่มีความทนทานต่อภาวะแวดล้อมได้ดี ติดต่อได้ง่าย การรักษายังไม่มีวิธีที่รักษาจำเพาะ เป็นการรักษาทั่วไปตามอาการเท่านั้น การป้องกันด้วยการให้วัคซีนชนิดรับประทานยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุด   นพ.ภูษิต วชิรกิติกุล อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไข้หวัดมะเขือเทศ

ไข้หวัดมะเขือเทศ          มาจากเชื้อไวรัสคอกซากี A16 (Coxsakie A16) ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อมาจากไวรัสชิคุนกุนยา และไวรัสไข้เลือดออกในบางรายด้วย พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือหยิบจับของเล่นเข้าปาก อาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ อาการปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่นลักษณะแดงเป็นตุ่มน้ำคล้ายมะเขือเทศ บางรายจะมีอาการบวมตามข้อ การรักษา        เนื่องจากยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต และสามารถหายเองได้ส่วนใหญ่จึงรักษาตามอาการทานยาลดไข้ ยาแก้ปวด ทานอาหารอ่อนๆ และให้ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ การป้องกัน จะเหมือนกับโรคมือ เท้า ปาก โดยเน้นเรื่องสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆอย่างถูกวิธี หมั่นทำความสะอาดของเล่น และพื้นผิวบริเวณโดยรอบสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือมีอาการรุนแรงควรมาพบแพทย์ ด้วยความปรารถนาดีจากรพ.วิภาวดี พญ.ปราณี สิตะโปสะ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อรพ.วิภาวดี  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เอ็นไขว้หน้าข้อเข่าขาด และการป้องกัน

เอ็นไขว้หน้าเป็นเอ็นยึดข้อเข่าที่สำคัญภายในเข่า  ช่วยให้มีความมั่นคงของเข่า ในการบิดหรือหมุนข้อเข่า (Rotational  stability) คนที่ไม่มีเอ็นไขว้หน้า เมื่อบิดข้อเข่าจะรู้สึกเข่าอ่อนจะล้ม เกิดอาการปวดเข่า และอาจจะมีการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกข้อเข่า หรือกระดูกอ่อนผิวข้อร่วมด้วย  ถ้าเข่าเสียความมั่นคงเกิดอาการบิดเช่นนี้บ่อย ๆ จะทำให้การบาดเจ็บของหมอนรองข้อและผิวข้อมากขึ้น กลายเป็นภาวะข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย เอ็นไขว้หน้าขาดเพียงอย่างเดียวมักไม่ทำให้เกิดอาการปวด นอกจากมีอาการ 2 – 3 สัปดาห์แรก  หลังเกิดอุบัติเหตุ  ปัญหาของเอ็นไขว้หน้าขาดเกิดจากเข่าไม่มีความมั่นคง เวลารับน้ำหนักแล้วบิดเข่า (เช่น เวลาเดินจะเลี้ยว หรือเปลี่ยนทิศทาง) การวิ่งหรือขี่จักรยานยังสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหามากนักแต่กิจกรรมที่ต้องการความว่องไว และมีการบิดหมุนเข่า มักจะทำไม่ค่อยได้ถ้าไม่มีเอ็นไขว้หน้ายึดเข่าให้มั่นคง เอ็นไขว้หน้าขาดไม่สามารถต่อเองได้ ถ้าต้องการความมั่นคงของเข่าที่มีการบิดหมุนร่วมด้วย ต้องสร้างเอ็นไขว้หน้าขึ้นมาใหม่ มีเอ็นที่นำมาสร้างแทนเอ็นไขว้หน้า มาได้จาก  3  แห่ง ใช้เอ็นจากกล้ามเนื้อด้านหลังข้อเข่า (Hamstring tendons) ใช้บางส่วนของเอ็นลูกสะบ้า  (Kneecap or patellar tendon) ใช้เอ็นจากที่อื่น ที่ไม้ใช่จากตัวผู้ป่วยเอง (Allograft)   นักกีฬาอาชีพทั้งชายและหญิงจำนวนมากที่สามารถกลับมาเล่นในระดับแนวหน้าได้อีก หลังการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า  ความพยายามฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เป็นสิ่งจำเป็นมากแต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่นักกีฬาอาชีพจะไม่สามารถกลับมาเล่นในมาตรฐานเดิมเหมือนก่อนการบาดเจ็บ การบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า มักจะสัมพันธ์กับชนิดกีฬาที่เล่นมากกว่า เช่น พบบ่อยในนักกีฬาประเภท ฟุตบอล , บาสเกตบอล , วอลเลย์บอล ในการเล่นกอล์ฟ เกิดขึ้นได้น้อยกว่า นอกจากจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ที่น่าสนใจ คือมีสถิติ การบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าขวาขาด จากการเล่นบาสเกตบอล พบในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  2  เท่า   จากการเล่นฟุตบอลพบในนักกีฬาหญิงมากกว่านักกีฬาชาย  4  เท่า  หรือประมาณร้อยละ  60  ของนักกีฬาหญิงที่เล่นบาสเกตบอล เกิดขึ้นขณะกระโดดลงพื้น เอ็นไขว้หน้าคืออะไร  มีหน้าที่อะไร เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament - ACL) เป็นเอ็นที่อยู่ในข้อเข่า  ช่วยป้องกันกระดูกทีเบีย (Tibia)  เคลื่อนที่ไปข้างหน้าใต้กระดูกฟีเมอร์(Femer)  เอ็นไขว้หน้า จะตึงเวลาเหยียดเข่าแรงบิดหมุนที่รุนแรงทำให้เอ็นไขว้หน้าขาดได้ และความมั่นคงของเข่า ที่ป้องกันไม่ให้กระดูกทีเบีย(Tibia)  เลื่อนไปข้างหน้าใต้เข่า หรือบิดหมุน ก็จะเสียไปถ้าไม่ได้รับการรักษา หมอนรองข้อเข่า หรือกระดูกอ่อนผิวข้อ ก็จะได้รับแรงที่ผิดปกติมากเกิน ทำให้ข้อเสียเกิดภาวะข้อเสื่อมได้ จากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการบาดเจ็บเอ็นไขว้ในนักกีฬาหญิง ผลการศึกษาวิธีการฝึกการบริหาร สามารถช่วยลด อัตราเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าลงได้ การกระโดด พบว่านักกีฬาหญิงเวลากระโดดลงพื้นโดยไม่งอเข่ามากเท่านักกีฬาชาย  แรงกระแทกบนเข่าจะมากกว่าทำให้อัตราการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้าสูงขึ้น เวลาหมุนบิดเข่า  นักกีฬาหญิงมักจะหมุนบิดเข่าขณะที่เข่าเหยียดมากกว่านักกีฬาชาย  การงอเข่าและสะโพกจะช่วยลงแรงที่กระทำต่อเอ็นไขว้หน้า ในการเล่นกอล์ฟ ขณะที่หัวไม้กระทบลูก การรักษาเข่าซ้ายให้งอไว้เล็กน้อยจะลดแรง บนเอ็นไขว้หน้าได้มากกว่า  สะบัดเข่า สะโพกให้เหยียดขึ้นทันที  ซึ่ง Tiger  Woods  ชอบใช้มากเวลาต้องการให้ไกลขึ้นอีก 30 – 40  หลา กล้ามเนื้อที่ควบคุมเข่า  มีกล้ามเนื้อเหยียดเข่าคือ กล้ามเนื้อ Quadriceps  อยู่ด้านหน้าต้นขา และกล้ามเนื้องอเข่าคือ Hamstrings อยู่ด้านหลังต้นขา นักกีฬาหญิงส่วนใหญ่ใช้กล้ามเนื้อ Quadriceps เวลาเปลี่ยนทิศทางหมุนขา แรงของกล้ามเนื้อ ดึงกระดูกทีเบีย(Tibia)  ไปข้างหน้าและเหยียดเข่าทำให้มีการฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้าได้การบริหารกล้ามเนื้อ Hamstrings และใช้กล้ามเนื้อ Hamstrings มากขึ้น ช่วยลดการบาดเจ็บต่อเอ็นไขว้หน้าได้ การป้องกันการบาดเจ็บของเอ็นไขว้หน้า ทำได้ทั้งนักกีฬาหญิงและชายโดย ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเหยียดเข่า และงอเข่า และการบริหารยืดเหยียด รวมทั้งการสร้างสมดุลและการทรงตัวของเข่าสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักกอล์ฟด้วย นอกจากลดการบาดเจ็บแล้ว การมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง การทรงตัวที่ดี จะทำให้ตีลูกกอล์ฟได้แม่นยำขึ้น ตีไกลขึ้น และควบคุมทิศทางได้ดีขึ้น การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Quadriceps ยืนเกาะกำแพงหรือโต๊ะ งอเข่าตึง  เท้าไปด้านหลังให้รู้สึกตึงต้นขาด้านหน้าให้มากที่สุด  นาน  5 – 7 วินาที  ทำซ้ำ 6 – 10  ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ Hamstrings  ฝึกงอเข่าข้างหนึ่ง เหยียดขาอีกข้างหนึ่ง โน้มตัวไปข้างหลัง และข้างหน้า รู้สึกตึงด้านหลังต้นขาข้างที่เหยียด  นาน  5 – 7  วินาที  ทำซ้ำ  6 – 10  ครั้ง   ทำซ้ำทั้ง  2  ข้าง การบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กล้ามเนื้อ Quadriceps นั่งเก้าอี้สูง  งอเข่า ห้อยเท้า เหยียดเข่า ต้านกับแรงต้าน อาจจะใช้ถุงทราย , ยางยืด กล้ามเนื้อ Hamstrings นอนคว่ำ งอเข่า สู้กับแรงต้าน อาจใช้น้ำหนักมัดไว้กับข้อเท้า  หรือแรงต้านจากยางยืด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การตัดมดลูก

โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช มดลูกและรังไข่ เป็นอย่างไร มดลูก คือ อวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีซึ่งมีหน้าที่รับและเลี้ยงตัวอ่อน และทารกในครรภ์ โดยเยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ด้านในสุด ทำหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรอบ ๆ ถ้ารอบประจำเดือนใดไม่มีการตั้งครรภ์จะหลุดลอกออกมาทางปากมดลูกและช่องคลอด เรียกว่า เลือดประจำเดือนออกมาทางช่องคลอด ผนังของมดลูก มีหน้าที่เป็นเกราะกำบังให้เด็กในครรภ์ และบีบตัวเมื่อถึงเวลาคลอดให้เด็กคลอดออกมา มดลูกตั้งอยู่ปลายช่องคลอด โดยมีเส้นเอ็นยึดไว้บริเวณปากมดลูก ไม่ให้เลื่อนหลุดออกมา ปีกมดลูก มี 2 ข้าง ประกอบด้วย ท่อนำไข่ และ รังไข่ ท่อนำไข่ ทำหน้าที่ จับไข่ที่ตกมาจากรังไข่และเป็นทางผ่านให้เชื้ออสุจิจากช่องคลอดที่เข้ามายังมดลูก ผ่านท่อนำไข่นี้ไปผสมกับไข่ที่ปลายท่อ กลายเป็นตัวอ่อน แล้วเป็นทางให้ตัวอ่อนเดินทางมาที่มดลูกเพื่อฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูก  รังไข่ ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ทำหน้าที่สร้างไข่ออกมาและสร้างฮอร์โมนให้สตรี คือ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน  ปีกมดลูก ติดยึดอยู่กับมดลูกและอุ้งเชิงกรานด้วยแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่ขึงระหว่างมดลูกกับผนังเชิงกรานทั้ง 2 ข้าง การตัดมดลูกคืออะไร การตัดมดลูก คือ การผ่าตัดชนิดหนึ่งมีจุดประสงค์ในการเอามดลูกที่มีพยาธิสภาพออก บางครั้งก็มีการตัดเอาท่อนำไข่และรังไข่ออกไปด้วย การผ่าตัดมดลูก  มีอยู่ 4 แบบ คือ ตัดมดลูกทั้งหมดออก (Total) หมายถึง ตัดมดลูกและปากมดลูกออกไปทั้ง 2อย่าง เหลือรังไข่อย่างน้อยหนึ่งข้าง(เป็นวิธีที่นิยมทำกันมากที่สุด) ตัดมดลูกออกเหลือแต่ปากมดลูกไว้ (Partial subtotal) คือ การตัดมดลูกที่อยู่เหนือปากมดลูกออก ยังคงปากมดลูกไว้ กรณีที่ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก ตัดมดลูกและรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง ผ่าแบบถอนรากถอนโคน (Radieal)ผ่าแบบนี้คือ ตัดทั้งมดลูก ปากมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ส่วนบนของช่องคลอดและเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกไปด้วย (วิธีนี้มักทำในรายที่เป็นมะเร็ง) โดยปกติถ้ายังไม่หมดประจำเดือนก็จะไม่ตัดรังไข่ออก ถ้ารังไข่ไม่มีความผิดปกติ เพราะจะทำให้หมดฮอร์โมนของรังไข่ เข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนเร็วเกินไป มีการตัดมดลูกบ่อยแค่ไหน ว่ากันว่าการตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดมากที่สุดของนรีเวชกรรม รองจากการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องของสูติกรรม ในอเมริกามีตัวเลขทำการผ่าตัดมดลูก 600,000 รายต่อปี การตัดมดลูกทำอย่างไรและมีวิธีใดบ้าง ปัจจุบันมี 3 วิธี คือ ผ่าตัดทางหน้าท้อง คือ ทำแผลยาวตามแนวตั้งหรือแนวนอน ประมาณ 10 – 15 ซ.ม. เปิดหน้าท้อง แล้วตัดมดลูก ผ่าตัดทางช่องคลอด หมายถึง ผ่าเข้าไปตัดมดลูกผ่านทางปลายของช่องคลอด แล้วเอามดลูกออกทางช่องคลอด แล้วเย็บปิดปลายชองคลอด การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง โ ดยเจาะรูเล็ก ๆ ที่หน้าท้องแล้วใช้เครื่องมือสอดเข้าไปตัดมดลูก เอามดลูกที่ถูกตัดออกทางช่องคลอดหรือย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ออกทางหน้าท้อง วิธีนี้ทำให้เจ็บแผลน้อย โรคแทรกน้อย ฟื้นตัวเร็ว โรคที่จะต้องรักษาด้วยการตัดมดลูก เนื้องอกมดลูก (Fibroid) เป็นโรคที่มีการตัดมดลูกมากกว่าโรคอื่น ๆ มักเป็นเนื้องอกมดลูกที่โตมาก หรือทำให้ปวดหรือทำให้ประจำเดือนมามาก เนื้องอกมดลูกถ้าไม่มีอาการอะไรหรือใกล้จะหมดประจำเดือนแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องตัดมดลูก (เพราะเมื่อหมดประจำเดือนเนื้องอมดลูกจะเล็กลง) โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ (Endometriosis) คือ ภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเกิดไปเจริญอยู่นอกโพรงมดลูก ได้แก่ ในเนื้อของมดลูก หรือข้าง ๆ มดลูก ในอุ้งเชิงกราน ถ้ามีอาการปวดมาก หรือเลือดประจำเดือนมาก หรือหลังจากเมื่อรักษาทางยาไม่ได้ผล หรือ ผ่าตัดวิธีอื่นไม่ได้ผล มดลูกหย่อน เกิดจากมดลูกหย่อนออกมาทางช่องคลอดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แล้วมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปวด ถ่ายปัสสาวะ- อุจจาระผิดปกติ หรือเกิดแผลกดทับที่ปากมดลูก มะเร็ง ไม่ว่าเป็นมะเร็งที่ปากมดลูก มดลูกหรือรังไข่ ถ้าอยู่ในช่วงที่ผ่าตัดได้ มักตัดมดลูกออกไปด้วย เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่แก้ไขทางยาแล้วไม่ได้ผล (ส่วนใหญ่มักเกิดจาก Adeuomyosis, Fibroid) อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง โดยมีต้นเหตุมาจากพยาธิสภาพในมดลูก หรือเส้นเอ็นที่ยึดมดลูก ถ้าไม่ได้เกิดจากมดลูกหรือรังไข่ ก็อาจไม่ได้ผล จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหลังจากตัดมดลูก เมื่อมดลูกถูกตัดออกไปแล้ว แน่นอนที่สุด จะไม่มีประจำเดือนและจะมีลูกไม่ได้ ถ้าไม่ได้ตัดรังไข่ออก ขณะที่รังไข่ยังทำงาน คุณจะยังคงความรู้สึกเป็นปกติ เช่น คัดหน้าอกใกล้เวลาที่จะมีประจำเดือน แต่ไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด ถ้าถูกตัดรังไข่ออกไปด้วย ก็จะมีภาวะเหมือนคนหมดประจำเดือน คือ อาจมีอาการร้อนวูบวาบเนื้อตัว ใจสั่น และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดนานเท่าไร การฟื้นตัวหลังผ่าตัด ใช้เวลาพอสมควร แต่แตกต่างกันไปในชนิดและวิธีการผ่าตัด ถ้าผ่าตัดทำแผลหน้าท้องธรรมดา อยู่ในโรงพยาบาล 2-4 วัน ระยะพักฟื้น 4-8 สัปดาห์ ถ้าตัดมดลูกทางช่องคลอด หรือ โดยการส่องกล้อง อยู่ในโรงพยาบาล 1-3 วัน ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 2 สัปดาห์ ทั้ง 2 วิธีนี้ การอาบน้ำในอ่างน้ำ หรือ ว่ายน้ำ ควรให้เวลา 6 สัปดาห์ไปแล้ว รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ด้วย ถ้าตัดมดลูกแบบเหลือปากมดลูกไว้ (Subtotal Hysterectomy) จะอยู่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ใช้เวลาพักฟื้นได้เร็ว 1-2 สัปดาห์ อาบนำในอ่างหรือว่ายน้ำ และมีเพศสัมพันธ์ได้หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง การผ่าตัดมดลูกเกิดภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก ได้แก่ การเสียเลือดจนต้องให้เลือดทดแทน การบาดเจ็บที่ลำไส้ การบาดเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะและหลอดไต การอักเสบติดเชื้อ แผลหน้าท้องแยก ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ เช่น ปอดบวม, ระบบหัวใจ แต่เนื่องจากเครื่องมือ และปัจจัยการผ่าตัดพัฒนาขึ้นมาก ปัจจุบันจึงพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวน้อยมาก หลังผ่าตัดจะทำให้ความรู้สึกทางเพศเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ สตรีเมื่อถูกตัดมดลูกโดยรังไข่ยังอยู่ 1หรือ ทั้ง 2ข้าง จะยังมีความรู้สึกทางเพศเป็นปกติ และถ้าก่อนผ่าตัดเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการร่วมเพศ มักจะดีขึ้นหลังการผ่าตัด แต่ถ้าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง อาจจะมีปัญหาภาวะหมดประจำเดือนได้ ควรปรึกษาแพทย์ของท่าน มีทางเลือกอื่นนอกจากการตัดมดลูกหรือไม่ ถ้าสาเหตุการตัดมดลูกเกิดจากมะเร็ง ก็ไม่มีทางเลือกอื่น แต่ถ้าเป็นเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ มดลูกหย่อน อาจมีทางเลือกอื่นที่จะทดลองก่อนได้ คือ การให้ยา เช่น ให้ยาเพื่อระงับเลือดประจำเดือนมามาก หรือ การปรับฮอร์โมนของรังไข่ ในกรณีเลือดออกมาก หรือผิดปกติ การให้ยาบางอย่าง หรือยาคุมกำเนิด สำหรับการปวดประจำเดือนจากโรคเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่ เป็นต้น การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก ในกรณีนี้มีปัญหาเรื่องประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือมามากผิดปกติ การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยเครื่องมือบางอย่างอาจช่วยได้ การใส่วัตถุเล็กๆ ผ่านสายสอดไปในเส้นเลือด เพื่ออุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกเพื่อให้ปัญหาเลือดออกมากลดลง การตัดเฉพาะก้อนเนื้องอกออก มักจะทำในกรณีที่ต้องการมีบุตรอีก วิธีนี้เสี่ยงต่อการมีเนื้องอกมดลูกขึ้นมาใหม่บ้าง การใช้ห่วงยางเล็กๆ ดันช่องคลอด(กรณีย์ มดลูกหย่อน) กันไม่ให้มดลูกลงมาต่ำ อาจใช้ได้เป็นแบบชั่วคราว หรือใช้ตลอดไปก็ได้ มักใช้กับคนอายุมากแล้ว วิธีต่างๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัดนี้ ควรได้ปรึกษากับแพทย์ที่รักษา ในด้านข้อดีและข้อเสียของคนไข้แต่ละคนเป็นรายๆ ไป คนไข้ควรจะเตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องตัดมดลูก ควรคุยกับแพทย์ ถึงทางเลือกอื่นและข้อดีข้อเสีย โดยเฉพาะในกรณีของคุณเอง  ถามถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในกรณีของคุณ คนไข้แต่ละคนแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ ดังนั้นการผ่าตัดที่ดีกับคนหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องดีสำหรับอีกคนหนึ่ง ลองปรึกษาแพทย์คนอื่นดู เป็นการให้ความเห็นที่ 2 ถ้ายังไม่แน่ใจ (ไม่ควรคิดว่าเป็นการเสียมารยาท/ไม่ควรตำหนิผู้ใดเนื่องจากความเห็นและประสบการณ์แตกต่างกันได้) เมื่อตัดมดลูกแล้ว ควรจะทำ Pap test หรือไม่ ควรถามแพทย์ของท่านว่า สำหรับท่านควรจะทำ Pap test อีกหรือไม่ บ่อยแค่ไหน โดยทั่วไปมีคำแนะนำดังนี้ สำหรับผู้ที่ทำการตัดมดลูก แบบตัดปากมดลูกด้วยหรือเหลือปากมดลูกอยู่ก็ควรทำการตรวจ Pap smearเหมือนคนไม่ได้ตัดมดลูก (ถ้าประวัติตรวจ Pap ปกติมาตลอด โอกาสเป็นมะเร็ง 0.1 % ในเวลา 30 ปี) คนที่ถูกตัดมดลูก เพราะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือกำลังจะเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือ ผล Pap ผิดปกติ ควรจะตรวจ Pap ไปตลอดชีวิต เพราะถึงแม้โอกาสเป็นมะเร็งจะน้อยแต่ก็อาจเกิดขึ้นที่รอยเย็บช่องคลอด ไม่ว่าคุณจะมีความจำเป็นหรือควรทำ Pap หลังผ่าตัดมดลูกแล้วหรือไม่ก็ตามก็ควรตรวจภายในเป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังมีรังไข่เหลืออยู่ โดย นพ.ธีรศักดิ์ ธำรงธีระกุล และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภัยเงียบของสตรี: รังไข่ทำงานผิดปกติ แบบกลุ่มอาการ PCOS

ระวังภัยเงียบของสตรีที่มีน้ำหนักมากและประจำเดือนมาไม่ปกติ โดย พล.รศ.นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุล  และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช PCOS คืออะไร PCOS ย่อมาจาก Polycystic Ovarian Syndrome (บางทีก็เรียก  PCOD  ย่อมาจาก Polycystic Ovarian Disease)  เป็นกลุ่มอาการหรือโรคที่พบบ่อยในสตรีอย่างหนึ่ง  อาการประกอบไปด้วย  ประจำเดือนมาไม่ปกติ  ขาดประจำเดือนนานๆ  เป็นอย่างแรก (เกิดจากไม่มีการตกไข่หรือตกไข่ผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ)   น้ำหนักมาก (อ้วน) เป็นอย่างที่สอง  มีขนดกกว่าปกติที่ใบหน้า ร่องอก และท้องน้อย เป็นอย่างที่สาม ที่บอกว่าพบมากเพราะพบได้ใน  5-10% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์  ที่บอกว่าเป็นภัยเงียบก็เพราะมันอาจจะทำให้เกิดโรคเรื้อรังและร้ายแรงบางอย่าง( ซึ่งาจะกล่าวต่อไป ) โรคนี้พบกันมาตั้งแต่ปี 1930 โดยสูตินรีแพทย์ชาวเยอรมัน  2 ท่าน นามสกุล Stein และ Leventhal อธิบายผู้ป่วยสตรีที่มีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อ้วน และมีขนดก พร้อมกับตรวจพบลักษณะของรังไข่มีความผิดปกติจำเพาะตัว และไข่ไม่ตกเรื้อรัง สตรีที่จะมาปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหา  2 ประการเป็นส่วนใหญ่  คือ หลังจากผ่านวัยรุ่นมานานแล้ว ประจำเดือนไม่มา  หรือหลาย ๆ เดือนมาครั้งหนึ่ง  หรือประจำเดือนมาไม่แน่นอน  หรือมาคราวละนาน ๆ และมามากจนซีดโลหิตจาง แต่งงานนานแล้วไม่ตั้งครรภ์ อาจมี หรือ ไม่มีอาการในข้อ  1 ร่วมด้วย PCOS เกิดขึ้นได้อย่างไร ตามธรรมดาสตรีวัยเจริญพันธุ์  (อายุ  18-40 ปี) ควรจะมีการตกไข่ของรังไข่สม่ำเสมอทุกเดือน (ทุก 28+ 7 วัน)  ช่วงก่อนตกไข่เป็นครึ่งแรกของรอบประจำเดือน  รังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมากระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูก (หลังจากหลุดลอกไปจากการมีประจำเดือน)  ให้เจริญงอกงามหนาตัวขึ้น  พอช่วงหลังการตกไข่ ในครึ่งหลังของรอบประจำเดือน  รังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขึ้นมาด้วย  ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญมาก่อนหน้านี้มีความสมบูรณ์พร้อมรับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์  ถ้ามีการตั้งครรภ์  รังไข่จะทำงานต่ออีกจนถึง  7-10 สัปดาห์  จากนั้นก็หยุดทำงาน  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรกทำงานต่อไป  ถ้ามีไข่ตกแต่ไม่มีการตั้งครรภ์  รังไข่จะทำงานต่อหลังไข่ตกประมาณ  10-12  วัน ก็หยุดสร้างฮอร์โมน  หลังจากนั้น  2-3  วันเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาพร้อมเลือดเป็นประจำเดือน ถ้าไม่มีการตกไข่  รังไข่จะไม่มีการสร้างโปรเจสเตอโรน  มีแต่เอสโตรเจน  เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าถุงไข่ฝ่อตัวเมื่อไรก็ทำให้เอสโตรเจนหมด  เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเหมือนกัน  แต่ถ้าถุงไข่ค่อย ๆ โตช้า ๆ ไม่เรื่อย ๆ หรือ โตอยู่กับที่นาน ๆ ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ออกมาน้อย ๆ ช้า ๆ  เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมา ก็จะไม่มีประจำเดือน  ถ้าระหว่างนั้นมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้น ๆ ลง ๆ ก็จะมีการหลุดลอกเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นช่วง ๆ ทำให้มีลักษณะเลือดออกกะปริดกะปรอยไม่แน่นอน  หรือถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกถูกกระตุ้นจนหนามากเกิน  มันก็จะหลุดลอกออกมาเองเหมือนน้ำล้นถ้วย  ลักษณะเลือดประจำเดือนก็จะออกมาแบบมากและนาน  จะเห็นว่าถ้ามีการตกไข่สม่ำเสมอ  ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอ  แต่ถ้าไม่ตกไข่ ประจำเดือนอาจจะมาเป็นแบบใดก็ได้ เรากลับมาดูโรคหรือกลุ่มอาการ PCOS เราตรวจพบว่าที่รังไข่แทนที่จะมีถุงไข่เพียง 1 ถุงโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ไข่ตกในแต่ละเดือนสลับข้างกันในรังไข่แต่ละข้าง กลับพบว่าในรังไข่แต่ละข้าง มีถุงไข่เล็ก ๆ เต็มไปหมด  ไม่มีถุงไข่ถุงไหนจะเจริญจนถึงการตกไข่  เมื่อทำ ultrasound ก็จะพบเป็นถุงเล็กๆ ใต้ผิวรังไข่  รังไข่เองก็จะโตกว่าปกติเล็กน้อย  จึงเป็นที่มาของคำว่า Polycystic (Poly =  มาก, Cyst = ถุง) เราพบอีกว่าสตรีที่เป็นโรคนี้  รังไข่และต่อมหมวกไต  จะสร้างฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติในร่างกาย  จึงทำให้มีขนบริเวณใบหน้า  ร่องอก  และท้องส่วนล่างออกมาหนากว่าปกติ และ เราพบว่าร่างกายของสตรีผู้นี้มีระดับเอนไซม์อินซูลินในกระแสเลือดมากกว่าปกติ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเซลล์ของร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินในการใช้น้ำตาลในเซลล์น้อย ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้นมาชดเชย  เมื่อน้ำตาลในเซลล์ถูกใช้น้อย ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นไขมัน  ดังนั้นความอ้วนก็เกิดขึ้นและความอ้วนนี้จะลดยากมาก  เพราะตัวช่วยที่ไม่ให้มีการสร้างไขมันจากน้ำตาล (คือ อินซูลิน) ทำงานได้ไม่ดี โดยสรุปลักษณะทั่วไปของกลุ่มอาการ PCOS หรือ PCOD ก็คือ ประจำเดือนผิดปกติ  อ้วน และมีขนดก  แต่ทุกคนที่เป็นโรคนี้  อาจมีอาการไม่ครบทั้ง 3 อย่างก็ได้  แต่ตัวยืนคือ รังไข่ทำงานผิดปกติ แพทย์จะวินิจฉัย PCOS ได้อย่างไร เนื่องจากอาการทั้ง  3 อย่างนี้  แต่ละอย่างเกิดจากโรคอื่นๆ ได้  เช่น ความผิดปกติที่ประสาทและสมอง  ความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต  ต่อมไธรอยด์  หรือที่ตับอ่อน  เนื้องอกที่รังไข่  เป็นต้น การวินิจฉัยจึงต้องดูเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน  ทำ ultrasound และการตรวจฮอร์โมนเพศ จึงจะให้การวินิจฉัยที่แน่นอน (บางทีแพทย์อาจไม่ตรวจหมดทุกอย่างก็เป็นได้) PCOS มีอันตรายอย่างไร จากการติดตามคนที่เป็นโรค PCOS พบว่า  มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่อไปนี้ ปัญหามีบุตรยาก  จากรังไข่ทำงานผิดปกติ ปัญหาการตกเลือด  โลหิตจาง  เพราะประจำเดือนมามากและนานเกินไป เป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม เพราะเยื่อบุมดลูกและเต้านมถูกกระตุ้นด้วยเอสโตรเจนจำนวนมากนานๆ เป็นเบาหวาน (เพราะอินซูลินทำงานได้ไม่ดี)  และโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน  เช่นโรคความดันโลหิตสูง  โรคทางสมอง  ไต  และหัวใจ  เป็นต้น แนวทางรักษา PCOS เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้  ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงเป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วย  วิทยาการตอนนี้เราทราบว่ากลุ่มอาการนี้มีความผิดปกติ  3  อย่างคือ  รังไข่ทำงานผิดปกติ  มีขนขึ้น และระดับอินซูลินสูงเนื่องจากเซลล์ตอบสนองไม่ดี เพื่อป้องกันผลร้ายจากสิ่งดังกล่าว  จึงแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 พวก  คร่าว ๆ คือ  รายที่ไม่ต้องการมีบุตร ไม่ว่าปัจจุบันหรือตลอดไป หลักการรักษาคือ ทำให้มีประจำเดือนเพื่อป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไป  เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อเลือดออกมากและความเสี่ยงต่อมะเร็งในอนาคต  ด้วยการให้ฮอร์โมนเลียนแบบการมีไข่ตก  ที่สะดวกที่สุดคือการได้รับยาคุมกำเนิด  ซึ่งจะช่วยให้มีประจำเดือนปกติ  และคุมกำเนิดไปในคราวเดียวกัน (คนเป็นโรคนี้อาจมีไข่ตกบ้างบางเวลา)   ถ้าไม่ต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดก็ให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรับประทานเป็นรอบ ๆ ไป  ถ้ามีขนดกด้วย  ก็ให้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนลดการสร้างแอนโดรเจน  ถ้ามีปัญหาเรื่องอ้วนก็ให้ยาที่กระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลิน  เพื่อให้การใช้น้ำตาลในเซลล์ดีขึ้น ในทางกลับกันถ้าต้องการมีบุตร ก็ต้องกระตุ้นให้มีการตกไข่ หรือการใช้ยากระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลินของร่างกายหรือทั้ง 2 อย่างแล้วแต่กรณี  ถ้ายังไม่ได้ผล (หรือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง) คือ ใช้การผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้องโดยใช้ไฟฟ้าไปทำลายเนื้อเยื่อของรังไข่ส่วนที่สร้างแอนโดรเจนมากเกินไป  ซึ่งช่วยทำให้การตกไข่เองได้  และตั้งครรภ์ 50-60 % สรุป  PCOS เป็นกลุ่มโรคที่เรายังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน  แต่พอจะรักษาเยียวยาได้ตามแต่ปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย  หวังว่าการแพทย์คงทราบสาเหตุและการรักษาที่ได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆตามวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ข่าวดีของหญิง”โสด” ฝากไข่ใน “ธนาคารไข่” จริง หรือ มั่วนิ่ม

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้หญิง ทุกคน ก็ต้องมีสัญชาตญาณความเป็นเพศแม่ในตัว เมื่อเติบโตขึ้น แก่ตัวลง ก็อยากจะสัมผัสความรู้สึกของการเป็นแม่ อยากมีคนให้รักได้ทั้งชีวิต อยากมีคนที่รักเราได้อย่างจริงใจ นั่นก็คือการมีลูกซักคนไว้เลี้ยงดู ดูแลกันตลอดทั้งชีวิต แต่ถ้าเป็นสาวโสดจะทำยังไงดีล่ะ จะมีลูกได้ยังไงดี หรืออนาคตเผื่อบุญพาวาสนาส่งให้เจอเนื้อคู่เมื่อแก่แล้ว ไข่หมดประสิทธิภาพแล้วก็อดมีลูกกันสินะ ถ้าเราสามารถคงสภาพไข่เราเพื่อรอวันพบเจอเนื้อคู่ได้คงดี นั่นไง......ความคิดหรือไอเดียเรื่อง ฝากไข่ หรือ ธนาคารไข่ จึงเกิดขึ้น มีข่าวบันเทิงหลายสำนัก อ้างว่า ดาราสาวโสดพากันเฮโลไปฝากไข่ไว้รอสามีในอนาคตบ้างล่ะ ดาราที่เป็นแฟนกัน ยังไม่พร้อมแต่งงานแต่จูงมือกันไปฝากไข่ฝากสเปริมไว้ก่อนบ้างล่ะ มันทำได้จริงเหรอ มาฟังข้อเท็จจริงกันตรงนี้ แฉกันให้ถึงพริกถึงขิง ล้วงลึกเบื้องลึกวงการแพทย์กันเลยค่ะ “ไข่” ของผู้หญิง สร้างมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ คือยังไม่คลอดออกมาก็จะมีกระบวนการสร้างเซลล์ไข่เตรียมพร้อมแล้วประมาณ 7 ล้านใบ แต่เมื่อคลอดออกมา ไข่จะสามารถเริ่มทำงานได้เมื่อเข้าสู่วัยสาวหรือเริ่มมีประจำเดือน ไข่จะมีการเลือกขึ้นมาทุกเดือนประมาณ 10-20 ใบ เพื่อตกไข่ได้ใบเดียว ใบที่ดีที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถตกไข่ออกมาได้ ดังนั้นทั้งชีวิตของผู้หญิงอาจเกิดการตกไข่ได้เต็มที่แค่ประมาณ 400 รอบ หรือ 400 ใบ โดยที่ไข่ก็จะแก่ไปตามอายุ ยิ่งอายุมากไข่ก็จะแก่มาก และอาจไม่สามารถปฏิสนธิกับสเปริมจนเป็นตัวอ่อนได้ อายุที่เหมาะสมสำหรับไข่ที่ดีที่สุด และพร้อมตั้งครรภ์คือ 24-30 ปี ดังนั้นความคิดที่ว่า ถ้าเราสามารถดึงไข่ในช่วงที่ดีที่สุดออกมารอสเปริมล่วงหน้า น่าจะทำให้เราได้บุตรที่ดีที่สุด เทคนิคการเก็บไข่ออกมา คือการใช้เข็มเจาะดูดไข่ผ่านทางช่องคลอด โดยการเจาะเข้าไปในฟองไข่โดยตรงเพื่อดูดไข่แดง คิดง่ายๆถ้าเปรียบเทียบกับไข่ไก่ ไข่ที่เราต้องการนำมาผสมคือไข่แดงด้านในเท่านั้น ไข่ขาวกับเปลือกไข่เราไม่ต้องการ ดังนั้นเราก็จะเจาะผ่านเปลือกไข่และดูดเอาไข่แดงออกมาจากร่างกาย แน่นอน!!! เราไม่สามารถใช้เข็มเจาะสดๆผ่านเนื้อช่องคลอดเข้าไปง่ายๆได้ เราต้องทำให้ห้องปราศจากเชื้อหรือห้องผ่าตัด ดมยาสลบให้หลับสนิท มียาแก้ปวดให้ทางกระแสเลือด แล้วจึงจะเจาะเข็มเก็บไข่ออกมาได้ แต่ถ้าเราลงทุนดมยาสลบ ลงทุนโดนเจาะขนาดนั้น ถ้าเก็บมาเพียงใบเดียวคงไม่คุ้มค่าความเจ็บตัว ไม่คุ้มค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่าบริการสถานพยาบาล เราจึงต้องผ่านขั้นตอนการกระตุ้นไข่ให้ได้ไข่มากกว่า 1 ใบ จะได้กี่ใบ 5-20 ใบก็แล้วแต่ว่าร่างกายในช่วงนั้นเรามีการดึงไข่ขึ้นมารอการกระตุ้นจากแพทย์มากน้อยแค่ไหน ขั้นตอนการกระตุ้นไข่ ก็คือการฉีดยาที่หน้าท้อง ประมาณ 8-10 วัน โดยต้องฉีดทุกวัน เพื่อทำให้ไข่ทุกใบโตได้พร้อมเพรียงกัน และคุณภาพดีพร้อมสำหรับการเก็บไข่ จากนั้นเมื่อเราเก็บไข่ได้แล้ว เราก็จะนำมาตรวจสอบคุณภาพไข่ในห้องปฏิบัติการ ไข่ที่ตรวจสอบแล้วพร้อมสำหรับการแช่แข็งจะถูกนำเข้ากระบวนการแช่แข็ง (egg freezing หรือ oocyte cryopreservation) ด้วยไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ –196องศา ด้วยเทคนิคการแช่แข็งแบบใหม่เรียกว่า Vitrification  ไข่ที่แช่แข็งด้วยเทคนิคแข็งตัวอย่างรวดเร็วในไนโตรเจนเหลวนี้ จะช่วยลดความเสียหายให้กับไข่ได้มากที่สุด สามารถคงความสมบูรณ์ และนำมาใช้หลังการละลายไข่ที่แช่แข็งเพื่อปฏิสนธิเมื่อพร้อมที่จะมีบุตรต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเซลล์ไข่เป็นเซลล์ที่ค่อนข้างใหญ่และมีความซับซ้อนของเซลล์มากเมื่อเทียบกับเซลล์สเปริม หรือเซลล์ตัวอ่อนซึ่งเกิดจากการผสมแล้วระหว่างไข่และสเปริม การแช่แข็งที่จะคงสภาพเซลล์ทั้งหมดของไข่ฝ่ายหญิง ยังสู้ความสมบรูณ์ของเซลล์สเปริมหรือตัวอ่อนไม่ได้ ยังไม่มีการยืนยันชัดเจนในงานวิจัยทั่วโลกว่าคงสภาพได้ดีทั้งในไทยเอเชีย ยุโรปหรืออเมริกา ดังนั้นในทางการแพทย์ หากแต่งงาน สมรสแล้ว มีสเปริมเป็นของตัวเองแล้วก็ควรทำการผสมเป็นตัวอ่อนเลย หรือเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้วเพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์ก่อน แล้วจึงทำการแช่แข็งตัวอ่อน ที่เรียกว่า embryo freezing หรือ embryo cryopreservation เมื่อพร้อมมีบุตร ก็ละลายตัวอ่อนออกมาฝังตัวในมดลูกได้เลย อ้าว....แล้วคนโสดล่ะคะ ตกลงว่า ธนาคารไข่ ก็ มั่วนิ่ม ใช่มั๊ยคะ ไม่มั่วค่ะ ทำได้จริง แต่ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่รับประกันว่า ไข่ที่แช่แข็งแล้ว เมื่อละลายออกมาจะสามารถปฏิสนธิกับสเปริมได้ 100% ไม่รับประกันว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนโครโมโซมและเจริญเป็นตัวอ่อนที่สมบูรณ์ได้เต็มที่ ดังนั้นในสถานพยาบาลบางแห่งก็รับทำ อาจมีการโฆษณาชวนเชื่อให้เข้ามารับบริการได้ ก็ไม่ใช่เรื่องโกหก ก็ทำได้จริง แต่ผู้รับบริการก็ต้องมีการทำความเข้าใจก่อนว่ามีโอกาสที่จะไม่สำเร็จ หรือในบางสถานพยาบาลก็ไม่รับทำเลย เพราะคิดว่าไม่อยากให้ผู้รับบริการมีความหวังที่ไม่ชัดเจน ดังนั้นหากหญิงโสดท่านใดตัดสินใจแล้ว ยังไงก็ยืนยันที่จะฝากไข่ ก็ลองโทรสอบถามสถานพยาบาล รพ.แต่ละแห่งที่มีศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก นัดคุยกับแพทย์โดยตรงได้เลย ว่ากรณีของเราฝากได้มั๊ย เหมาะสมหรือไม่ ราคาเท่าไหร่ เลือกสถานบริการตามสะดวกได้เลยนะคะ ใน รร.แพทย์ มีการฝากไข่กันจริง ทำกันเป็นเรื่องปกติ แต่ทำในกรณีคนไข้มะเร็งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และยาเคมีบำบัดจะเกิดการทำลายเซลล์ไข่ให้หมดประสิทธิภาพลงด้วย ดังนั้นทางเลือกเดียวที่จะคงสภาพการเจริญพันธ์ให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถมีบุตรได้ในอนาคต นั่นคือการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่พึงมีบุตรได้ของเพศแม่ไว้ให้เต็มที่ที่สุด จึงมีธนาคารไข่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะค่ะ สุดท้าย ท้ายสุดของบทความนี้ หมอขอเอาใจช่วยสาวโสดทุกคนให้พบเจอรักแท้ พบเจอสเปริมที่เหมาะสมกับไข่ของเราโดยเร็ว ไม่ต้องมานั่งปวดหัวว่างานนี้ฝากได้จริงหรือมั่วนิ่มนะคะ โดย พญ. อัญชุลี พฤฒิวรนันทน์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การผ่าตัดไขมันหน้าท้อง (Abdominal Lipectomy and Abdominoplasty;Tummy Tuck Surgery)

เป็นการผ่าตัดเพื่อกำจัดไขมัน ผิวหนังส่วนเกิน และแก้ไขผนังหน้าท้องที่หย่อนยาน ซึ่งเกิดหลังจากการตั้งครรภ์หรือการลดน้ำหนัก การผ่าตัดจะทำให้หน้าท้องดูเรียบและตึงขึ้นและยังสามารถกำจัดผิวหนังที่แตกลายบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าสะดือได้อีกด้วย การผ่าตัดนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่อ้วนมากๆซึ่งควรจะลดน้ำหนักจนคงที่ก่อนที่จะทำการผ่าตัด การผ่าตัด การผ่าตัดจะทำในโรงพยาบาลโดยการวางยาสลบ แผลผ่าตัดจะอยู่เหนือหัวเหน่าและยาวไปทางด้านข้างถึงสะโพกทั้งสองข้าง ซึ่งแผลจะซ่อนอยู่ในขอบกางเกงชั้นใน การผ่าตัดใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงโดยอาจจะมีการย้ายสะดือด้วยถ้ามีผิวหนังและไขมันส่วนเกินมาก หลังการผ่าตัดจะมีสายระบายเลือดและน้ำเหลืองออกบริเวณหัวเหน่าซึ่งจะทิ้งเอาไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์เพื่อป้องกันน้ำเหลืองคั่งใต้แผลหลังผ่าตัด หลังผ่าตัดอาจจะต้องนอนหรือยืนตัวงอเนื่องจากมีความตึงบริเวณแผลผ่าตัดซึ่งจะค่อยๆดีขึ้นในเจ็ดถึงสิบวัน  ความรู้สึกชาบริเวณหน้าท้องก็จะค่อยๆดีขึ้นเช่นกันในเวลาประมาณสามถึงหกเดือน หลังผ่าตัดไม่ควรทำงานหนักหรือยกของหนักหรือออกกำลังกายหนักๆ ประมาณหกสัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ค่อยเป็นอันตราย สามารถแก้ไขได้โดยการรักษาแผลหรือการผ่าตัดเล็กเท่านั้น เลือดหรือน้ำเหลืองคั่ง แผลผ่าตัดติดเชื้อ แผลแยก ผิวหนังตายบางส่วน แผลเป็นนูน ข้อเขียนโดย นพ.นราธิป ทรงทอง ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การดูดไขมัน (Liposuction)

การดูดไขมัน (Liposuction) เป็นการใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายท่อขนาดห 3-6 มิลลิเมตร สอดผ่านแผลขนาดเล็กเข้าใต้ผิวหนังเพื่อดูดไขมันส่วนที่ไม่ต้องการออก การดูดไขมันไม่ใช่วิธีลดความอ้วนแต่สามารถกำจัดไขมันเฉพาะส่วนได้ดี ผู้ที่จะรับการผ่าตัดดูดไขมันควรจะมีสุขภาพแข็งแรงดี มีผิวหนังที่มีความยืดยุ่นดี และมีความคาดหวังที่เป็นปกติ (realistic expectation) การผ่าตัด การดูดไขมันในปัจจุบันมีเทคนิคที่ทำให้มีการเสียเลือดน้อยมากโดยที่ถ้าไขมันและน้ำที่ถูกดูดออกมามีปริมาณไม่เกิน 6,000 มิลลิลิตร ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด การผ่าตัดอาจจะทำโดยการดมยาสลบหรือการฉีดยาชาเฉพาะที่ก็ได้ขึ้นอย่กับปริมาณและบริเวณที่จะที่การดูดไขมัน ก่อนที่การผ่าตัดแพทย์จะทำการวาดตำแหน่งที่มีความต้องการดูดไขมันเสียก่อนที่จะวางยาสลบหรือฉีดยาชา หลังจากนั้นจะทำการเจาะแผลขนาดเล็กที่ผิวหนังขนาดเท่ากับขนาดของท่อที่จะทำการดูดไขมันอย่างน้อยตำแหน่งละสองรูเพื่อให้การดูดไขมันเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกันอาจจะใช้รูแผลร่วมกันได้ หลังผ่าตัดแพทย์จะสวมผ้ายืดหรือพันผ้าไว้ประมาณสองเดือน บริเวณที่ทำการดูดไขมันอาจจะมีรอยเขียวช้ำได้ซึ่งจะหายไปเองภายในระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ ภาวะแทรกซ้อน เลือดออก การติดเชื้อ สีผิวเข้มผิดปกติ (hyperpigmentation) บริเวณที่ดูดไขมัน ผิวขรุขระ ไขมันถูกดูดออกมากเกินไป (overcorrection) ไขมันถูกดูดออกน้อยเกินไป (undercorrection) แผลเป็นบริเวณตำแหน่งที่เป็นทางเข้าของท่อดูดไขมัน ข้อเขียนโดย นพ.นราธิป ทรงทอง ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมความงาม ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เชื่อหรือไม่ว่า... กาแฟทำให้อายุยืนขึ้น?

เป็นเวลาหลายร้อยปี การแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม 2-3 อันดับต้นๆ แต่กาแฟ มีผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร เราเพิ่งมารู้กันในระยะหลัง เมื่อมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง ได้มีการศึกษาระบาดวิทยาขนาดใหญ่จากสถาบัน NIH ของอเมริกา โดยได้วิเคราะห์ข้อมูลทางสุขภาพจากอาสาสมัครจำนวน 400,000 คน อายุ ในช่วง 50-70 ปี เป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคใดๆ  ณ จุดเริ่มต้นของการศึกษาในปี 1995 แต่เมื่อถึงปี 2008 ประชากรกลุ่มดังกล่าว จำนวน 50,000 คน ได้เสียชีวิต เป็นที่น่าแปลกใจว่าผู้ชายที่ได้ดื่มกาแฟปริมาณ 2-3 แก้วในแต่ละวัน มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม10% ในกรณีของผู้หญิงที่ดื่มกาแฟในปริมาณเท่ากัน อัตราการเสียชีวิตยิ่งน้อยไปอีกกล่าวคือ 13% เรายังไม่แน่ใจว่ากาแฟส่งผลกระทบอย่างไรกันแน่กับภาวะอายุยืน แต่ความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง การวิจัยอื่นๆ เกี่ยวกับกาแฟ เมื่อเร็วๆ นี้พบความเชื่อมโยงของการดื่มกาแฟปริมาณปานกลาง คือ 4 แก้วต่อวัน (แก้วละ 150 cc.) บังเกิดผลดีต่อสุขภาพอย่างชัดเจน กล่างวคือช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานชนิดที่ 2, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งต่อมลูกหมาก และการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ (หลังการรักษาแล้ว) นอกจากนี้ยังพบประเด็นสำคัญจากการศึกษากาแฟในสัตว์ทดลอง คือกาแฟสามารถปรับสภาวะชีวิเครมีภายในสมองที่สามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ ในปี 2012 ที่มหาวิทยาลัย illinois ได้ทำการวิจัย โดยการทดลองนำเอาหนูมาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม หนูทุกตัวถูกทำให้เกิดสภาวะขาดออกซิเจนในสมองในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ส่งผลให้สมองหนูเหล่านั้นไม่สามารถสร้างความจำใหม่ได้ แล้วให้หนูอีกกลุ่มได้รับกาแฟปริมาณเทียบเท่ากันมนุษย์ที่ดื่มกาแฟปริมาณปานกลาง ส่วนอีกกลุ่มไม่ได้รับกาแฟ จากนั้นให้หนูทุกตัวกลับมารับออกซิเจน  พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับกาแฟสามารถสร้างความจำใหม่ได้เร็วกว่า 33% เทียบกับหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับกาแฟ และเมื่อตรวจละเอียดที่สมอง พบว่าสารคาเฟอีนไปขัดขวางฤทธิ์ของสาร adenosine ซึ่งเป็นสารชีวะเคมีภาวยในเซบล็ที่ปกติแล้วสารนี้จะเป็นตัวให้พลังงานแก่เซลล์ แต่เมื่อสารนี้รั่วจากเซลล์ที่ได้รับอันตราย หรือขาดออกซิเจน สารนี้จะไปจุดติดกระบวนการชีวะเคมี และนำสู่ภาะการอักเสบ แล้วในที่สุดจะไปขัดขวางการทำหน้าที่ของเซลล์สมอง และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการเสื่อมของสมอง หรือภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง ในปี 2012 ได้มีการศึกษากาแฟในมนุษย์ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลับ South Florida และมหาวิทยาลับ Miami ได้ตรวจสอบระดับคาเฟอีนในผู้ใหญ่เป็นโรคความจำเสื่อมในระยะเริ่มแรก และได้ประเมินซ้ำอีก พบว่ากลุ่มคนที่ในเลือดไม่มีสารคาเฟอีนเกิดภาวะสมองเสื่อมเต็มรูปแบบมากกว่ากลุ่มคนที่มีสารคาเฟอีนในเลือด เรายังมีเรื่องต้องศึกษาเกี่ยวกับกาแฟอีกมาก  "เราไม่แน่ใจว่าลำพังการต้านฤทธิ์ของสาร Adenosine ตัวเดียว เพียงพอที่จะป้องกันหรือบรรเท่าสมองเสื่อมได้" เป็นคำกล่าวของคุณ Gregory (ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย illinois) ในปี 2011 การศึกษามหาวิทยาลัย Southern Florid ใช้หนูที่ตัดต่อพันธุ์กรรมทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม Alzheimer เหมือนที่เกิดในคน เมื่อให้หนูเหล่านั้นมารับสารคาเฟอีนอย่างเดียวกลับไม่มีผลดี ป้องกันสมองเสื่อมได้ดีเท่ากับให้หนูที่กินกาแฟ ส่วนกาแฟที่ผสมน้ำตาลมากๆ (เหมือนในกาแฟชูกำลัง) ก็พบว่าไม่ช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้ดีแต่อย่างได้ ฉะนั้นที่เราดื่มกาแฟวันละ 1-3 แก้ว ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่อาจหวังผลป้องกัน ภาวะสมองเสื่อมได้ โดย นพ.กิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์  อายุรแพทย์โรคหัวใจ (แปลจากหนังสือพิมพ์ New York Time "This is your brain on coffee" 6 June 2013)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะรังไข่หยุดการทำงาน ก่อนวัยอันควร

รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร เป็นกลุ่มอาการที่รังไข่หยุดทำงานก่อนอายุ 40 ปี โดยจะมีอาการซึ่งประกอบด้วย การขาดระดู  การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ในระดับต่ำ และมีฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน (gonadotropin) อยู่ในระดับที่พบในสตรีวัยหมดระดู พบภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร ประมาณ 1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 40 ปี, 0.1% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และ 0.01% ในสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี สาเหตุของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร สาเหตุจากความผิดปกติของโครโมโซม และพันธุกรรม  ประมาณ 20-30% ของสตรีเป็นภาวะนี้ จะมีญาติเป็นด้วย  สาเหตุตามพันธุกรรมที่พบบ่อยสุดของภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร คือ Turner syndrome ซึ่งจะมีการพัฒนาของรังไข่เป็นปกติ ขณะเป็นทารกในครรภ์ แต่จะมีการฝ่อของฟองไข่อย่างรวดเร็ว ทำให้หยุดทำงานเร็วกว่าคนทั่วไป (ตั้งแต่เป็นเด็ก) สาเหตุจากการมีภูมิต้านทานของตนเอง  เช่น โรคภูมิต้านทานตนเองของต่อมไทรอยด์ (autoimmune thyroid disorder) SLE   เบาหวาน  พบได้ประมาณ 10-30%  ภาวะนี้บางรายสามารถกลับมาปกติได้ สาเหตุรังไข่หยุดทำงานภายหลังการผ่าตัด  การผ่าตัดบริเวณรังไข่หลายครั้ง อาจทำให้จำนวนฟองไข่ลดลงจากการตัดเนื้อรังไข่เอง หรือ การอุดตันเส้นเลือดฝอยรอบ ๆ ที่มาเลี้ยงรังไข่ หรือ การอักเสบบริเวณดังกล่าว ก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้ รังสีรักษา, เคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา เป็นสาเหตุของภาวะ POF ได้ โดยผลของรังสีขึ้นกับขนาดของรังสีที่ได้รับ  อายุผู้ป่วย  บริเวณที่ได้รับรังสี การให้ยาเคมีบำบัด ก็มีผลต่อ การทำงานของรังไข่ โดยขึ้นกับชนิดของยา, ขนาดของยาที่ได้รับ และอายุของผู้ป่วย ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม  ได้แก่ การสูบบุหรี่ จะมีผลทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง และยังเป็นพิษต่อเซลล์ต้นกำเนิดของรังไข่ด้วย  ยาฆ่าแมลง, สารละลาย และโลหะหนักบางชนิด ก็ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด POF การติดเชื้อ  เช่น  คางทูม, วัณโรค, มาเลเรีย  พบว่ามีรายงานการเกิดภาวะรังไข่ หยุดทำงานก่อนวัยอันควรได้ ไม่ทราบสาเหตุ อาการ จะมีอาการขาดระดู และมีอาการของวัยหมดระดูในบางราย เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน เมื่อยล้า  อารมณ์แปรปรวน เป็นต้น การรักษา การให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจและคำปรึกษา (Emotional support and counseling) ผู้ป่วยภาวะนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจสูง เสียความมั่นใจตนเอง และจะมีผลต่ออารมณ์ทางเพศ และการดำเนินชีวิต และจะมีผลในแง่การเสียโอกาสในการมีบุตร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้า และหดหู่มากขึ้น ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือให้กำลังใจ จึงมีความสำคัญมาก การให้ฮอร์โมนทดแทน  ในสตรีที่อายุน้อย จำเป็นต้องให้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยเหลือเรื่องของอาการวัยทอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ  ภาวะกระดูกพรุน  ระยะเวลาการให้ จะให้จนถึงอายุเฉลี่ยของสตรีที่หมดระดูตามปกติ ในบางรายที่มีปัญหาเรื่องการไม่มีความต้องการทางเพศ อาจจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศชาย Testosterone ด้วย การรักษาเกี่ยวกับปัญหาการมีบุตร  ผู้ป่วยภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร  จะมีประมาณ 5-10%  สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยการใช้ยา กระตุ้นไข่ ด้วยสเตียรอยด์ ร่วมกับ โกนาโดโทรปิน (gonadotropin)  และบางรายยังสามารถตั้งครรภ์ได้ จากการตกไข่เองซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในบางครั้ง ถ้าไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นไข่  อาจใช้ไข่บริจาคเป็นทางเลือกในการช่วยมีบุตร โดย  นพ.ชัยสึก  จิวะธนะพร   และ ทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและ ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช  โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การฉีดเชื้อผสมเทียมในโพรงมดลูก (Intrauterine Insemination-IUI)

การฉีดเชื้อผสมเทียมในโพรงมดลูก (IUI) คือ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง โดยใช้ท่อพลาสติกเล็กๆ สอดผ่านปากมดลูกแล้วฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในช่วงที่มีหรือใกล้กับเวลาที่มีไข่ตก  วิธีนี้มักทำกับคู่ที่ฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิผิดปกติ  คือจำนวนน้อยเกินไปหรือเชื้ออสุจิแข็งแรงน้อยเกินไป  หรือมีปัญหามีปฏิกิริยากับปากมดลูกได้ง่าย  เข้าไปในโพรงมดลูกไม่ได้  นอกจากนี้ยังทำในกรณีที่ฝ่ายชายไม่สามารถปล่อยน้ำอสุจิในช่องคลอดฝ่ายหญิงได้ เช่น อวัยวะเพศมีปัญหาเรื่องการแข็งตัว, หลั่งเร็วเกินไป หรือมีโรคอื่น ๆ  การทำ IUI ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากกว่าวิธีตามธรรมชาติ  เพราะจะได้จำนวนเชื้ออสุจิที่แข็งแรงจำนวนมากกว่าที่เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ (จำนวนยิ่งมากยิ่งมีโอกาสอสุจิตัวหนึ่งปฏิสนธิกับไข่ได้มากขึ้น)  ในรายที่มีภาวะมีบุตรยากที่หาสาเหตุไม่ได้  พบว่า การทำ IUI มีผลการตั้งครรภ์มากกว่าปกติเป็น 2 เท่า ถ้าทำร่วมกับกระตุ้นการตกไข่ด้วยยารับประทาน  โอกาสมากขึ้นเป็น 3 เท่า และถ้ากระตุ้นด้วยยาฉีด (control hyperstimulation) โอกาสมากขึ้นเป็น 4-6 เท่า การทำ IUI อาจใช้เชื้ออสุจิของสามีหรือ เชื้ออสุจิของผู้บริจาค  ถ้าใช้เชื้อจากสามีงดเว้นมีเพศสัมพันธ์ 2-4 วันก่อนวันทำการฉีด (วันตกไข่)  วิธีการคือเมื่อฝ่ายชายเก็บน้ำเชื้อมาได้จากการช่วยตัวเองแล้ว  เชื้ออสุจิจะถูกล้างด้วยน้ำยาให้แยกออกมาจากน้ำอสุจิแล้วเลือกเฉพาะตัวที่แข็งแรง ดูดออกมาใส่สายพลาสติกเล็ก ๆ สอดผ่านปากมดลูกฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง ปล่อยให้เชื้ออสุจิว่ายไปหาไข่เอง  เวลาที่ใช้เตรียมอสุจิประมาณ 1-2 ช.ม. เวลาที่ใช้ฉีดไม่กี่นาที ค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก (เป็นหลักพันบาทต้น ๆ ) ไม่เจ็บ ทำเสร็จแล้วปฏิบัติตัวได้ตามปกติ ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาล ไม่ต้องพักฟื้นใด ๆ ถ้าไม่ตั้งครรภ์ในการใส่ครั้งหนึ่ง อาจทำซ้ำในรายต่อไปได้อีก โดย นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุลและทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<