การทํา ICSI (อิ๊ ก ซี่) คืออะไร แก้ภาวะมีลูกยากได้ยังไง?

การทำ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) เป็นการนำเทคโนโลยี ช่วยให้การเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่ช่วยให้คุณพ่อ คุณแม่ ที่มีภาวะมีบุตรยากให้สมหวังและมีบุตรยากให้สมหวังได้ตามที่ต้องการ โดยการทำ ICSI ซึ่งเป็นวิธีที่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่าการทำวิธีอื่นๆ  ICSI ต่างจาก IVF อย่างไร ซึ่งขั้นตอนการทำ ICSI นี้จะเป็นทำการปฏิสนธินอกร่างกาย ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) แต่ให้ผลลัพธ์ และเปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จได้สูงกว่ามาก  เนื่องจากการทำ ICSI จะเป็นการช่วยทำการปฏิสนธิให้เลย โดยการฉีดอสุจิ ของฝ่ายชาย เพียง 1 ตัว เข้าไปในเซลล์ไข่ 1 ใบ โดยผ่านเข็มที่มีขนาดเล็กมาก จึงเพิ่มอัตราความเป็นไปได้และผลลัพธ์ที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูงมาก แต่การทำแบบ IVF จะเป็นการนำไข่ของฝ่ายหญิงและนำน้ำเชื้ออสุจิจากฝ่ายชายมาผสมกัน แล้วปล่อยให้เกิดการปฏิสนธิกันเองตามธรรมชาติจนกลายเป็นตัวอ่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก คู่สามีภรรยาที่สมควรทำ ICSI เมื่อเกิดภาวะมีบุตรยาก ฝ่ายชายมีปัญหาในเรื่องเป็นหมัน หรือทำหมันแล้ว แต่อยากมีลูกอีก โดยการนำสเปิร์มออกมาได้โดยการผ่าตัด ฝ่ายชายมีปริมาณอสุจิค่อนข้างน้อย และไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ต้องใช้ตัวอสุจิที่นำจากการเจาะดูดออกมาจากท่อส่งอสุจิ หรือจากการนำเนื้อเยื่อของอัณฑะมาใช้ ฝ่ายหญิงมีเปลือกไข่หนา อสุจิไม่สามารถเจาะผ่านเข้าปฏิสนธิได้ ขั้นตอนการทำอิ๊กซี่ 1. ต้องมีการตรวจประเมินฝ่ายหญิงก่อนการกระตุ้นไข่ โดยต้องตรวจความพร้อมของร่างกายในช่วงวันที่ 2-3 ของรอบเดือน โดยต้องมีการตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อดูจำนวนฟองไข่ก่อนและตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกายว่าเหมาะสมในการทำ ICSI หรือเปล่า ถ้าสามารถทำได้จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป คือการกระตุ้นรังไข่ เพื่อให้ได้ฟองไข่ที่มีขนาดใหญ่และเหมาะสมและพร้อมกันหลายๆ ใบ โดยการฉีดยากระตุ้นไข่ ซึ่งการฉีดยาต้องฉีดติดต่อกันประมาณ 8 - 12 วัน   และระหว่างการฉีดยากระตุ้นไข่ จะมีการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่ โดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ ร่วมกับการตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนทุก 3 - 4 วัน เมื่อขนาดของถุงไข่โตเต็มที่แล้ว แพทย์จะฉีดยาฮอร์โมนเพื่อทำให้ไข่เจริญสมบูรณ์เต็มที่ก่อนจะมีการเก็บไข่ 2. การเจาะเก็บไข่ หลังจากฉีดยากระตุ้นไข่ ให้ได้ฟองโตสมบูรณ์แล้ว จะมีการเจาะเก็บไข่ไว้ภายใน 35 -36 ชั่วโมงผ่านทางช่องคลอด โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ในการบอกตำแหน่ง โดยทำในห้องผ่าตัด และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งฝ่ายหญิงต้อง งดน้ำ งดอาหาร ก่อนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เมื่อได้เซลล์ไข่จะนำมาเก็บไว้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปฏิสนธิกับอสุจิของฝ่ายชายในขั้นตอนต่อไป        3. การเก็บอสุจิ และคัดกรอง สำหรับฝ่ายชายจะมีการเก็บอสุจิ และคัดกรองเลือกตัวที่สมบูรณ์และแข็งแรง แล้วนำมาปฏิสนธิกับไข่ในห้องปฏิบัติการ โดยการนำสเปิร์ม 1 ตัว ฉีดเข้าไปในไข่ที่สมบูรณ์ 1 ใบ เพื่อให้ทำการปฏิสนธิเช่นนี้ในไข่ที่สมบูรณ์ที่เลือกไว้จนครบ โดยใช้เครื่องมือและกล้องภายในห้องปฏิบัติการ กรณีที่ฝ่ายชายทำหมัน หรือไม่สามารถเก็บได้ อาจจะต้องใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อนำอสุจิออกมา ทำการปฏิสนธิต่อไป 4. เพาะเลี้ยงตัวอ่อน เมื่อได้ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วต้องเพาะเลี้ยง โดยใช้เวลาประมาณ 3 - 5 วัน ในห้องปฏิบัติการเฉพาะที่ปลอดเชื้อ ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความสว่าง แสง แรงดัน และความชื้นด้วย รวมถึงความเป็นกรด ด่าง และก๊าซในปริมาณที่เหมาะสม โดยเป็นขบวนการเลี้ยงตัวอ่อนที่เลียนแบบให้ใกล้เคียงกับสภาวะภายในร่างกายคนมากที่สุด จนถึงระยะบลาสโตซีสท์ (Blastocyst) เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ตัวอ่อนแข็งแรง แล้วจึงค่อยนำกลับใส่เข้าไปที่โพรงมดลูกของฝ่ายหญิง 5. ย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก การย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกมี 2 แบบคือ รอบสด กับรอบแช่แข็ง โดยรอบสด เมื่อเลี้ยงตัวอ่อนได้ครบ 3 - 5 วันแล้ว แพทย์จะทำการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกรอบเดียวกับการกระตุ้นไข่เลย ส่วนรอบแช่แข็ง จะทำการย้ายตัวอ่อนหลังจากการกระตุ้นไข่ ที่มีการเก็บแช่แข็งไว้ (สามารถเก็บแช่แข็งได้นานมากกว่า 5 - 10 ปี) ซึ่งการเลือกว่าจะใช้แบบไหน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยดูจากความเหมาะสมจากสภาวะของฮอร์โมนและโพรงมดลูกของผู้หญิง ในตอนที่กระตุ้นไข่ว่าจะสามารถใส่ตัวอ่อนกลับไปได้เลยหรือไม่ แต่หากต้องการตรวจโครโมโซมของตัวอ่อนก่อนจะต้องใช้วิธีแช่แข็งตัวอ่อนระหว่างรอผลการตรวจโครโมโซม 6. การตรวจติดตาม หลังจากใส่ตัวอ่อนไปแล้วเป็นเวลา 7 - 10 วัน แพทย์ก็จะนัดให้มาตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ และมีการตรวจติดตาม จนตัวอ่อนมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถตรวจดูด้วยอัลตร้าซาวด์ได้เมื่ออายุของครรภ์มากขึ้น สอบถามรายละเอียด ปรึกษาคลีนิกผู้มีบุตรยาก รพ.วิภาวดี ได้ทุกวัน (08.30 – 20.00 น.)  โทร. 0-2561-1111 กด 1255  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้ว แขน ขา ขาด

สำหรับผู้ที่ทำงานโรงงาน หรือเจ้าของโรงงาน ที่มีเครื่องมืออันตราย ควรอ่านเรื่องนี้นะคะ การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้ว แขน ขา ขาด ห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด ใช้ผ้าสะอาดปิดแผล แล้วพันบริเวณเหนือแผลให้แน่นป้องกันเลือดออก ควรเป็นผ้าแผ่นกว้าง ๆ เช่น ผ้ายืด ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัด เพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ สังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ถ้าเสียเลือดมากให้นอนพัก รีบนำส่งโรงพยาบาล ควรงดอาหารทางปาก จิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน การเก็บรักษาส่วนที่ขาด เอาสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น ใส่ในกระติกน้ำแข็ง ถุงพลาสติกใหญ่ใส่น้ำแข็ง (อุณหภูมิประมาณ 4 องศา C) รีบนำส่ง รพ. อวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. เพราะกล้ามเนื้อจะตาย ถ้าทิ้งไว้นานเกิน บริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ยังสามารถต่อได้ ถ้านำส่งโรงพยาบาลได้ภายใน 2-3 ชม. สามารถรับนำส่งได้เลย ทาง รพ. สามารถจะเตรียมเก็บส่วนที่ขาด เพื่อทำการต่อได้ ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา เพื่อประโยชน์ของคนไข้ ที่สามารถต่อนิ้วแล้วนำไปใช้ได้ดีกว่าไม่มีนิ้วหรือใช้นิ้วเทียม ส่วนของที่ขาด ยังมีเส้นเลือด และเนื้อเยื่อไม่ช้ำมาก เช่น ถูกมีดฟัน, ถูกเครื่องตัด การเก็บนิ้วที่ องศา C ส่วนของแขน ขา ไม่เกิน 6 ชม., ส่วนของนิ้ว ภายใน 12-18 ชม., ส่วนของมือ ไม่เกิน 12 ชม. ถ้าไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง ต้องรีบนำส่ง รพ. ภายใน 2-3 ชม. ข้อห้ามในการผ่าตัดต่อนิ้ว แขน ขา ผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดรักษาได้ เช่น เป็นโรคหัวใจ, โรคปอด ส่วนของเนื้อเยื่อช้ำมาก เช่น ถูกเครื่องบด, ถูกเครื่องปั่น รัด ดึง ขาด ถูกทับขาด, ถูกระเบิดนิ้ว แขน ขา ขาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น ส่วนที่ขาดตกไปในน้ำครำ หรือถูกสุนัข, สัตว์กัดขาด ส่วนที่ขาดไม่ได้เก็บให้ถูกต้อง นานเกิน 6 ชม. หรือส่วนแขน ขา แม้เก็บที่ 4 องศา C แต่นานเกิน 6 ชม. การต่ออาจสำเร็จ แต่เสี่ยงต่อกล้ามเนื้อตาย ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายไหลกลับเข้ากระแสโลหิตเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ที่สูญเสียนิ้วไปแล้ว ต้อการผ่าตัดแก้ไข พิจารณาความต้องการของคนไข้และการใช้งานของมือที่เหลือ สูญเสียนิ้วหัวแม่มือ สมรรถภาพการทำงานของมือลดลง 40% การผ่าตัดสร้างนิ้วหัวแม่มือขึ้นมาใหม่ เช่น การย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนนิ้วหัวแม่มือ หรือการสร้างนิ้วหัวแม่มือ โดยต่อกระดูกให้ยาวขึ้น แล้วใช้ส่วนของผิวหนังเล็บจากนิ้วหัวแม่เท้ามาคลุมกระดูกต่อเส้นเลือด เส้นประสาท จะช่วยให้มีนิ้วหัวแม่มือที่มีรูปร่าง และความยาวใกล้เคียงกับนิ้วหัวแม่มือมาก การสูญเสียนิ้วมือทั้ง 4 นิ้ว เหลือนิ้วหัวแม่มือนิ้วเดียว สูญเสียการทำงานของมือ 60% การผ่าตัดย้ายนิ้วเท้าขึ้นมาแทนที่นิ้วที่ขาด 1-2 นิ้วจะช่วยให้การทำงานดีขึ้น การสูญเสียนิ้วเพียงนิ้วเดียว หรือบางข้อ ไม่ช่วยให้การทำงานดีขึ้นมากนัก อาจจะไม่คุ้มค่ากับการผ่าตัดย้ายนิ้ว หรือสร้างนิ้วเพิ่มขึ้น ข้อเขียนโดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กินถั่วแล้วอ้วนจริงไหม ?

กินถั่วแล้วอ้วนจริงไหม ?       “อ้วน”  “น้ำหนักเกิน”  “ไขมันสูง”   เป็นปัญหาที่หลายคนต้องเคยพบเจอกันมาบ้างใช่ไหมคะ และการเลือกอาหารรับประทานก็มีความสำคัญมาก ๆ กับปัญหาเหล่านี้ วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่า “ถั่ว” มีผลอย่างไรกับร่างกายบ้าง      ก่อนอื่นมารู้จักถั่วกันก่อนนะคะ บ้านเราจะเรียกว่าถั่วเหมือน ๆ กันหมด แต่ต่างประเทศจะมีการเรียกถั่วต่าง ๆ กัน โดยแบ่งหลัก ๆ เป็น 2 ชนิด คือ Nuts และ Legumes     Nuts เป็นถั่วที่มักเป็นผลเดี่ยว ๆ  มีเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย วอลนัท พิสทาชิโอ เฮเซลนัท มีไขมันมาก แต่เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันดี Legumes เป็นถั่วที่เจริญในฝัก มักมีหลายเมล็ดในฝัก แบ่งเป็น    Fresh beans, fresh peas เป็นเมล็ดอยู่ในฝัก  มักกินเมล็ดแบบสด ๆ  หรือกินทั้งฝัก เช่นถั่วลันเตา ถั่วแขก Pulse เป็นเมล็ดถั่วในฝักที่กินเมล็ดแบบแห้ง คือมักผ่านกระบวนการทำให้เป็นเมล็ดแห้งก่อน ค่อยมาบริโภค เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วลูกไก่ ถั่วเลนทิล มักมีไขมันน้อย Oilseed legumes เป็นเมล็ดในฝักซึ่งมักนำมากินแบบเมล็ดแห้งเช่นกัน แต่มีไขมันสูง เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง   กินถั่วแล้วอ้วนจริงไหม ? เนื่องจากว่า ถั่วเป็นแหล่งอาหารที่มีพลังงานสูง จึงมีคนสงสัยกันมากมายว่า กินถั่วจะทำให้อ้วน ทีนี้เราไปดูกันค่ะ ว่ากินถั่วแล้วทำให้อ้วนจริงไหม   ถั่ว Nut เช่น อัลมอนด์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แมคคาดาเมีย   งานวิจัยพบว่าการกินถั่วเปลือกแข็ง (Nuts) บ่อย ๆ สัมพันธ์กับน้ำหนักที่ลดลง และ ลดความเสี่ยงน้ำหนักเกิน หรือ อ้วน อย่างเช่นมีงานวิจัยที่ยุโรปในคนประมาณ3แสนกว่าคน ที่มีอายุ 25-70 ปี โดยศึกษาคนที่กินถั่วเปลือกแข็งรวมไปถึงถั่วลิสงปริมาณมากน้อยต่างกัน ติดตามไป 5 ปี พบว่าน้ำหนักเฉลี่ยของคนที่เข้าร่วมงานวิจัยทั้งหมดเพิ่มขึ้นประมาณ 2 กิโลกรัม โดยกลุ่มที่กินถั่วเปลือกแข็งมากที่สุดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด คือ น้ำหนักลดลงเล็กน้อย 0.07 กิโลกรัม และมีความเสี่ยงที่จะน้ำหนักเกินหรืออ้วนน้อยกว่าคนทั่วไปประมาณ 5%   นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในผู้หญิงสุขภาพดีประมาณ 5 หมื่นกว่าคนที่มีอายุ 20-45 ปี ติดตามไปเป็นเวลา 8 ปี พบว่ากลุ่มคนที่กินถั่วเปลือกแข็ง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคนที่ไม่ค่อยกินถั่วเปลือกแข็งเล็กน้อย คือคนกินถั่วเปลือกแข็งเยอะ น้ำหนักเพิ่มเฉลี่ย 5.04 กิโลกรัม ส่วนคนที่ไม่ค่อยกินถั่วเปลือกแข็งน้ำหนักเพิ่มเฉลี่ย 5.55 กิโลกรัม     ถั่ว Pulse เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลูกไก่   ทีนี้เรามาดูทางด้านถั่ว pulse กันบ้างค่ะ   งานวิจัยหนึ่งพบว่าการกินถั่ว pulse วันละประมาณ 1 ส่วน (serving) หรือเท่ากับ ¾ ถ้วย ต่อวัน ช่วยให้น้ำหนักของผู้เข้าร่วมลดลงเฉลี่ย 0.34 กิโลกรัม ในเวลา 6 สัปดาห์ โดยไม่ต้องพยายามไปลดอาหาร หรือ หลีกเลี่ยงอาหารใด ๆ ทั้งสิ้น และอาจช่วยลดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายอีกด้วย   การกินถั่ว pulse พวกนี้ทำให้รู้สึกอิ่มมากขึ้น ซึ่งนี่เองน่าจะเป็นผลให้ลดการกินอาหารอื่น ๆ ลงโดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังเป็นอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์ โปรตีน วิตามิน และ แร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย และยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งหมายถึงเมื่อกินเข้าไปแล้วมันจะถูกดูดซึมเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดอย่างช้า ๆ  ไม่ดูดซึมรวดเร็วเหมือนอาหารแปรรูป หรือขนมอื่น ๆ  ดังนั้นถ้าใครเป็นคนติดขนมขบเคี้ยวล่ะก็ เลือกถั่วเหล่านี้มาติดบ้านไว้ทดแทนเวลาอยากกินขึ้นมา น่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพมากขึ้นนะคะ   นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า การกินถั่ว pulse 1 ส่วน หรือ ¾ ถ้วย ต่อวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ขึ้นไป ช่วยลดไขมันไม่ดีในเลือด (LDL cholesterol) ได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย     สรุปแล้ว การกินถั่วทั้งหลาย ไม่พบว่าทำให้อ้วนขึ้นกว่าเดิม โดยอาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้อ้วนหรือน้ำหนักเกินได้เล็กน้อยด้วย นอกจากนี้ ถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ก็มีผลดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจอย่างที่เราทราบกัน อีกทั้งถั่วpulse ก็ช่วยลดไขมันไม่ดี LDL cholesterol ได้   ดังนั้นเรามาเพิ่มถั่วที่หลากหลายเข้าไปในเมนูประจำวันของเรา หรือ นำมาทดแทนขนมแปรรูปอื่น ๆ กันดีกว่าค่ะ และอย่าลืมเลือกที่ไม่ปรุงแต่งเคลือบแป้ง เคลือบน้ำตาลมากเกินไปนะคะ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคฝีดาษลิง

            เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นโรคในตระกูลเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า มีรังโรคอยู่ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกา ขณะนี้พบในผู้ติดเชื้อที่สหรัฐฯ, ยุโรป, แคนาดา, อิสราเอล และออสเตรเลีย ประมาณกว่า 300 คนแล้ว เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด กลุ่มที่ควรเฝ้าระวังให้หลีกเลี่ยงคือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ สตรีมีครรภ์และเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี             อาการ หลังได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 7 – 14 วัน จะมีไข้หนาวสั่น, ปวดหัว, มีอาการทางเดินหายใจ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, และต่อมน้ำเหลืองโต เมื่อไข้ลดจะเกิดผื่นขึ้น ผื่นพบที่ศีรษะ, ลำตัว, แขน, ขา และฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นเริ่มจากตุ่มแดงเปลี่ยนเป็นขุ่นขาว ตรงกลางมีรอยบุ๋ม ผื่นที่ขึ้นจะอยู่ในระยะเดียวกัน อาการโรคใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ อาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็กเล็ก การติดต่อ สัมผัสสารคัดหลั่ง ทางผิวหนัง, เยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก ตา ละอองฝอยทางการหายใจ ทานเนื้อสัตว์ติดเชื้อปรุงสุกไม่พอ สัมผัสที่นอนของสัตว์ที่ป่วย หรือถูกสัตว์ป่วยกัด การป้องกัน - หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า หรือผู้มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยง - หลีกเลี่ยงทานเนื้อสัตว์ปรุงสุกไม่พอ - ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ - ประชากรไทยที่เกิดก่อนปี 2517 เกือบทุกคนจะได้รับการปลูกฝี สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไขมันสะสมในตับคืออะไร?

ภาวะไขมันสะสมในตับ หมายถึง ภาวะที่มีการสะสมของไขมันโดยเฉพาะอยู่ในรูปของ Triglyceride อยู่ในเซลล์ตับ โดยที่คน ๆ นั้นไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณน้อย (ปกติคนที่ดื่มสุรามานานจะมีการ พอกของเซลล์ไขมันในตับ) ซึ่งทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) เซลล์ไขมันนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเสียหายหรืออักเสบกับตับในระยะแรก แต่ก็มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับ ในที่สุดก็จะเป็นตับแข็ง พบว่าร้อยละ 5-8 ของผู้ป่วยไขมันพอกตับจะกลายเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและอาจพัฒนาไปจนถึงขั้นเป็นมะเร็งตับในที่สุด ประชากรชาวเอเชียพบได้ร้อยละ 15 ของประชากรทั่วไป โดยมีความชุกร้อยละ 3.9-6 ในเด็กและวัยรุ่นซึ่งจะพบมากขึ้นในประชากรที่มีลักษณะทางคลินิกของกลุ่มโรคเมตาโบลิก ได้แก่ โรคอ้วน , เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ,ไขมันในเลือดสูง การดำเนินของโรค ผู้ป่วยโรคไขมันสะสมในตับ ที่มีเพียงการสะสมของไขมันในเนื้อตับเท่านั้น โดยยังไม่มีการอักเสบของตับ มีอัตราการรอดชีวิตไม่ต่างจากประชากรทั่วไปในเพศและวัยเดียวกัน แต่ในผู้ป่วยที่การอักเสบภายในตับ (NAFLD)  คือผู้ป่วยที่มีตับแข็งก็อาจตรวจเจอลักษณะของโรคตับเรื้อรังหรือ ตับแข็งร่วมด้วย การเจาะเลือดดูการทำงานของตับอาจจะพบค่า  AST กับค่า  ALT สูงกว่าปกติประมาณ 1.5-4 เท่า อาจจะมีค่า ALP สูงขึ้นเล็กน้อยส่วนค่าอื่นๆ มักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยภาวะ NASH นี้จะมีอายุสั้นกว่าผู้ป่วยที่มีไขมันสะสมในตับเท่านั้น ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบในตับ ร้อยละ 32-41 ที่มีการอักเสบ จะมีพังผืดสะสมในตับเพิ่มมากขึ้นในเวลา 4-14 ปี ร้อยละ 9 จะดำเนินเข้าสู่ตับแข็งและร้อยละ 2 ของผู้ป่วยตับแข็งจะเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อนในเวลาเฉลี่ย 14 ปี ผู้ป่วยโรคไขมันสะสมในตับ มักมีความสัมพันธ์โดยตรงกับกลุ่มโรคเมตาโบลิก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็งเป็นเหตุให้มีอุบัติการณ์การทุพพลภาพและเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองมากเป็นอันดับหนึ่ง การวินิจฉัย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการมาเจาะเลือดเช็คสุขภาพ ในบางรายอาจมีอาการปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลียง่าย จุกแน่นที่บริเวณช่องท้อง ด้านขวาส่วนบน ตรวจร่างกายพบตับโต ตรวจภาพอัลตร้าซาวด์ช่องท้องพบไขมันสะสมในตับ แต่อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันสะสมในตับ หากมีการสะสมของไขมันในเนื้อตับน้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาตรตับอาจไม่พบลักษณะดังกล่าวจากการทำอัลตร้าซาวด์ ส่วนสำคัญก่อนที่จะให้การวินิจฉัยว่าเป็นภาวะไขมันสะสมในตับ (NAFLD) แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติเพื่อประเมินว่าปัญหาไขมันสะสมในตับไม่ได้เป็นผลจากโรคบางอย่าง หรือยาบางชนิดและผู้ป่วยต้องไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากกว่า 10 กรัม ต่อวันในเพศหญิงและมากกว่า 20 กรัมต่อวันเพศชาย เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ มีลักษณะของชิ้นเนื้อตับที่คล้ายกับภาวะไขมันพอกตับ ต้องเช็คประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ในการวินิจฉัย การตรวจชิ้นในตับยังเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยค้นผู้ป่วย (NAFLD)  รายใดเป็น NASH แต่อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยโรคอ้วนและเบาหวานที่ดื่มแอลดอฮอล์ก็ส่งเสริม ให้มีไขมันภายในตับเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนั้นผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ก่อนวินิจฉัยเป็น NAFLD เนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคตับอักเสบที่พบได้บ่อยในไทย การตรวจประเมินพังผืดตับในผู้ป่วย NAFLD ในผู้ป่วยโรคไขมันเกาะตับหากมีภาวะตับอักเสบ หรือมีพังผืดในเนื้อแล้วจะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และเกิดมะเร็งตับในที่สุด วิธีมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินพังผืดตับ คือ การตรวจชิ้นตับโดยการเจาะตับ แต่เนื่องจากเป็นวิธีการตรวจที่ค่อนข้างรุนแรงและผู้ป่วยต้องเจ็บตัว จึงไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน ยกเว้น มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นในการตรวจ เช่น สงสัยตับอักเสบจากภูมิคุ้มกัน ตับอักเสบไม่ทราบสาเหตุ โรคตับคั่งน้ำดี หรือตับแข็งที่หาสาเหตุไม่พบ ปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่ไม่รุนแรง (Non Invasive) โดยการตรวจพังผืดโดยใช้เครื่อง Fibroscan หรือ Transient Elastograply ซึ่งตรวจวัดความยืดหยุ่นของเนื้อตับและสามารถประเมินความรุนแรงของพังผืดที่เกิดขึ้นในตับได้ หลักการจะใช้คลื่นที่สะท้อนกลับจากเนื้อตับ แล้วนำมาคำนวณ shock wave velocity ที่สะท้อนกลับ ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความหนาแน่นของพังผืดตับบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นสามารถวัดค่า Controlled attenuation parameter (CAP) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับไขมันคั่งในตับ โดยมีค่าการตรวจระหว่าง 100 – 400 dB/m สามารถใช้วินิจฉัยไขมันคั่งตับที่ระดับความรุนแรงต่างๆ การรักษา ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจึงแนะนำ การลดน้ำหนัก เป็นสิ่งที่สำคัญและได้ประโยชน์มากที่สุด ซึ่งควรลดน้ำหนักโดยการควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหารกล่าวคือ หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ อาหารทะเลไข่แดง และเนื่องจาก Triglyceride เป็นตัวสำคัญที่สะสมคั่งในตับก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยง  ไม่รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ทั้งนี้พึงระวังว่าไม่ควรลดน้ำหนักด้วยวิธีการงดอาหาร และไม่ควรลดน้ำหนักเร็วเกินไป โดยทั่วไปแนะนำให้ลดน้ำหนักลง ประมาณร้อยละ 7-10 จากน้ำหนักเดิมและถ้าสามารถทำให้ดัชนีมวลกายของผู้ป่วยลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติน้อยกว่า 25 กก./ม.2 ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าการรักษากลุ่มโรคเมตาโบลิกอื่นๆ ที่พบร่วมด้วยโดยการควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้ใกล้เคียงปกติ และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา สำคัญคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากลดภาวะไขมันเกาะตับและยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี 02-561-1111 ต่อ 4525

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Q&A เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Covid-19 ในสตรีตั้งครรภ์

Q&A เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Covid-19 ในสตรีตั้งครรภ์ ระยะฝากครรภ์ 1.การตั้งครรภ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ ตอบ การตั้งครรภ์ ไม่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 2.อาการของสตรีตั้งครรภ์ที่เป็น COVID-19 แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์หรือไม่ ตอบ ไม่แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ อาการที่พบ ได้แก่ ไข้ ไอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำมูก จมูกไม่ได้รับกลิ่น  เป็นต้น   พบว่าประมาณร้อยละ 90 หายได้ โดยไม่ต้องรับไว้รักษาใน รพ.  แต่อาจมีอาการของโรครุนแรงกว่าสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ >= 35 ปี อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 3.สตรีที่ติดเชื้อ COVID-19 ระหว่างการตั้งครรภ์ จะมีภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นหรือไม่ ตอบ สตรีตั้งครรภ์ จะมีภาวะแทรกซ้อนต่อไปนี้เพิ่มขึ้น การคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะในรายที่มีปอดอักเสบหรือป่วยรุนแรง การผ่าตัดคลอด ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารก ไม่พบความพิการของทารก หรือ ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เพิ่มขึ้น 4.ทารกที่คลอดจากมารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 มีความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยหรือไม่ ตอบ ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเชื้อ COVID-19 ผ่านรก และทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อ          อย่างไรก็ตาม มีรายงานจำนวนไม่มาก ที่พบว่าทารกซึ่งคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อในไตรมาสที่ 3 ติดเชื้อ COVID-19 (ประมาณร้อยละ 2) 5.ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของ COVID-19 มาก จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการฝากครรภ์อย่างไรบ้าง ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติด COVID-19 ของสตรีที่มาฝากครรภ์ ตอบ แพทย์จะปรับการดูแลให้เหมาะสม ตามความเสี่ยงของสตรีที่มาฝากครรภ์แต่ละราย โดยขั้นตอนที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่ การให้คำปรึกษาทางไกล (telehealth) การลดจำนวนครั้งของการฝากครรภ์ การลดระยะเวลาของการตรวจในแต่ละครั้งที่มา รพ. การจำกัดจำนวนคนที่มารอรับการตรวจครรภ์และการตรวจทางห้องปฏิบัตการ และจัดให้อยู่ห่างกัน การรวมการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้อยู่ในคราวเดียวกัน การตรวจอัลตราซาวด์เฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ ปรับระยะเวลาและความถี่ของการตรวจประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ ระยะคลอด 1.สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่ไม่มีอาการ ควรเลื่อนการชักนำการคลอดหรือผ่าตัดคลอด ที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกเติบโตช้าในครรภ์ ออกไปก่อนหรือไม่ ตอบ ไม่ควร เพราะอาจมีอันตรายต่อมารดาหรือทารกในครรภ์มากกว่า 2.วิธีการระงับความปวดในระหว่างการรอคลอด ที่เหมาะสมสำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 คือวิธีใด ตอบ การให้ยาชาทางไขสันหลัง  มีข้อดีคือ... ช่วยลด ภาวะเครียดต่อระบบการทำงานของหัวใจและปอด ที่เกิดจากความปวดและความกังวล ทำให้ไม่ต้องดมยาสลบ ในกรณีต้องผ่าตัดคลอดฉุกเฉิน ไม่ควรใช้ Nitrous oxide ซึ่งเป็นยาลดความเจ็บปวดชนิดสูดดมในขณะรอคลอด เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในเรื่องการทำความสะอาด (cleaning) การกรอง (filtering) และโอกาสทำให้เกิดละออง (aerosolization)   3.ควรตรวจกรอง COVID-19 บุคคลที่อยู่กับสตรีตั้งครรภ์ระหว่างการรอคลอดหรือไม่ ตอบ คนที่อยู่ในห้องรอคลอดควรได้รับการตรวจกรอง COVID-19 (ทั้งนี้ ข้อกำหนดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่) ไม่ควรให้บุคคลต่อไปนี้อยู่ในห้องรอคลอด คู่สมรสที่ตรวจพบ COVID-19 แต่ไม่มีอาการ ผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้ที่เป็นโรค COVID-19 ภายใน 14 วัน                4.สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 จำเป็นต้องคลอดโดยการผ่าตัดคลอดหรือไม่ ตอบ ไม่จำเป็น เพราะการผ่าตัดคลอดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางด้านมารดาและไม่ทำให้ผลลัพธ์ทางด้านทารกดีขึ้นแต่อาจมีความจำเป็นในรายที่มารดามีอาการเหนื่อยหอบ มีอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมที่ควรให้คลอดโดยการผ่าตัดคลอด ระยะหลังคลอด 1.ทารกซึ่งคลอดจากมารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 จะได้รับการดูแลในโรงพยาบาลอย่างไร ตอบ ให้การดูแลตามแนวทางควบคุมการติดเชื้อ (infection control precautions)          ให้การดูแลแยกออกจากทารกคนอื่น  เก็บสารคัดหลั่งภายในจมูกและคอ (nasopharyngeral swab) เพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 และให้การดูแลต่อตามผลตรวจที่ได้ 2.มารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 ควรให้การดูแลทารกอย่างไร ตอบ สามารถให้ทารกอยู่ในห้องเดียวกับมารดาได้ โดยควรวางทารกห่างจากมารดามากกว่า 6 ฟุต    มารดาต้องสวมหน้ากากอนามัย (face mask) และ ทำความสะอาดมือก่อนสัมผัสทารกทุกครั้ง 3.มารดาทีติดเชื้อ COVID-19 ควรมีการรักษาระยะห่างกับทารกแรกเกิด (isolation) และปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้อ (infection precaution) เป็นระยะเวลานานเท่าใด ตอบ ในมารดาที่มีอาการ..... อย่างน้อย 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ อย่างน้อย 20 วัน ในกรณีมีอาการรุนแรงหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีไข้ โดยที่ไม่ได้ใช้ยาลดไข้ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง อาการอื่น ๆ ดีขึ้น          ในมารดาที่ไม่มีอาการ อย่างน้อย 10 วัน หลังตรวจพบเชื้อ (test positive) 4.ทารกสามารถรับน้ำนมจากมารดาที่ติดเชื้อ COVID-19 ได้หรือไม่ ตอบ แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อ COVID-19 สามารถถ่ายทอดผ่านน้ำนมมารดาได้หรือไม่  เมื่อเทียบประโยชน์ที่ได้จากน้ำนมมารดาแล้ว แนะนำให้ทารกดื่มนมมารดาได้ 5.มารดาที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 ควรปฏิบัติอย่างไรในการให้นมทารกแรกเกิด ตอบ ทำความสะอาดมือ เต้านม และสวมหน้ากากอนามัย (face mask) ขณะให้นมบุตรเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ (droplet transmission) หรือ ทำความสะอาดมือ เต้านม และสวมหน้ากากอนามัย (face mask) แล้วปั๊มนมให้คนอื่นนำไปเลี้ยงทารกก็ได้     วัคซีนโควิด สำหรับสตรีตั้งครรภ์และสตรีให้นมบุตร 1.มีข้อแนะนำอย่างไรเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน COVID-19 สำหรับสตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ตอบ เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าการระบาดของโรค ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์สูงขึ้น จึงไม่ได้แนะนำให้เลื่อนการตั้งครรภ์ออกไป แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ ถ้าทำได้ ทั้งนี้ วัคซีนไม่มีผลทำให้มีบุตรยาก และ หลังจากฉีดวัคซีนแล้วไม่จำเป็นต้องเว้นช่วงการตั้งครรภ์ 2.วัคซีนมีความปลอดภัย สำหรับสตรีตั้งครรภ์ หรือไม่ ตอบ วัคซีนไม่ได้มีส่วนประกอบของเชื้อที่สามารถแบ่งเพิ่มจำนวนได้ จึงไม่ได้ทำให้เกิดโรค Adjuvant (aluminium salts) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัคซีน มีความปลอดภัย และมีการฉีดในสตรีตั้งครรภ์อย่างกว้างขวาง เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (TdaP)           อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ไปแล้ว  ในกรณีที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วตั้งครรภ์ ให้ฉีดเข็มที่ 2 ตามเวลาเดิมเหมือนสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ 3.การฉีดวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์ จะมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์หรือไม่ ตอบ มีผลข้างเคียงจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันเหมือนที่พบได้ในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยมีผลข้างเคียงแตกต่างกันไปตามชนิดของวัคซีนที่ฉีด 4.วัคซีนมีผลต่อทารกในครรภ์อย่างไร ตอบ ข้อมูลที่มีพบว่าอัตราการแท้ง ความพิการของทารก การเติบโตช้าของทารกในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และการตายปริกำเนิด ไม่เพิ่มขึ้น ในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 5.ประสิทธิภาพของวัคซีนที่เกิดขึ้นในสตรีตั้งครรภ์เป็นอย่างไร ตอบ วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรค ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อ COVID-19  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าวัคซีนบางชนิดที่ฉีด ทำให้สตรีตั้งครรภ์ เกิดภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์ได้ (cross-reactive immune responses) นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบภูมิคุ้มกัน (antibodies) ในสายสะดือ ในสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงอาจช่วยให้ทารกแรกเกิดได้รับภูมิคุ้มกันจากมารดาด้วย 6.สตรีตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีน COVID-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นที่แนะนำให้ฉีดในระยะฝากครรภ์ได้หรือไม่                                                                                                                                                                                                                          ตอบ สามารถให้พร้อมวัคซีนอื่น เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (TdaP), ไข้หวัดใหญ่ (influenza) ได้ 7.สตรีที่ให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่ ตอบ ภูมิต้านทาน (antibodies) ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในมารดา สามารถออกมาทางน้ำนมได้ และอาจจะมีผลป้องกันการติดเชื้อในทารกได้   บทความโดย พ.อ.พญ. พีระพรรณ พันธุ์ภักดีคุณ สูตินรีแพทย์ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี ประธาน PCT สูติ-นรีเวชกรรม สอบถามข้อมูลได้ที่ แผนกสูติ-นรีเวช 02-561-1111 / 02-058-1111 ต่อ 2219-20  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง

การผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้อง          พูดถึงไส้ติ่ง คงไม่มีใครไม่รู้จัก ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อย มันก็คือ ส่วนของลำไส้ใหญ่ ที่ยื่นออกมาเป็นติ่งเหมือนนิ้วก้อยอยู่ทางด้านขวา ว่าไปแล้วประโยชน์ของมันไม่ได้ชัดเจน ไม่รู้เอาไว้ทำอะไรเหมือนกัน พระเจ้าอาจให้เกินมา แต่ที่แน่ๆ มันก็สร้างปัญหาให้กับคนเราอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการติดเชื้อ อักเสบ หรือ เป็นเนื้องอก          ในส่วนของโรคของไส้ติ่ง ที่เรารู้จักกันดี คือ การอักเสบเฉียบพลัน ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคปวดท้องแบบเฉียบพลันที่พบมากที่สุด ซึ่งมักจะพบมากในช่วงอายุ 15-45 ปี ทั้งชายและหญิง สาเหตุเกิดจากการอุดตันของไส้ติ่ง ซึ่งอาจเกิดได้จาก อาหารอะไรก็ได้ที่ตกลงไป ไม่จำเป็นต้องเป็น เม็ดฝรั่งแบบที่คนโบราณบอก ( แต่เม็ดฝรั่งก็มีส่วนถูกนะ) หรือจะเกิดจากมีการบวมของต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น หรืออาจเกิดจากพยาธิหล่นลงไปอุด มีเนื้องอกแถวนั้นโตไปอุด จะอะไรไปอุดก็ตาม เมื่อเกิดการอุดรูของไส้ติ่ง ของเหลว สารคัดหลั่งจะไม่สามารถผ่านเข้าออกได้ ทำให้เกิดอักเสบ มีการติดเชื้อเกิดขึ้น          อาการของไส้ติ่งอักเสบก็คือมีการปวดท้อง ส่วนใหญ่ก็จะปวดทั่วๆ ไป อาจปวดรอบสะดือก่อน จากนั้นอีก 6-12 ชม.ต่อมา อาการปวดจะเริ่มย้ายไปที่ด้านขวาล่าง อาจมีไข้ต่ำ แต่ไข้มักไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส อาการแบบนี้ คือ อาการที่มาตรฐาน Super Classic ซึ่งอาการแบบนี้ จริงแล้วพบได้เพียง 25% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออาจไม่เป็นไปตามนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับตำแหน่งของไส้ติ่ง อาจมีปวดด้านขวาบนได้ หรือ ตรงกลางได้ ถ้าปลายของไส้ติ่งยาวไปถึงบริเวณนั้น หรือ อาการนำอาจไม่ได้ชัดเจนแบบที่บอก แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร กินข้าวไม่ลง บางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อาจมีถ่ายเหลว ถ้ายังไม่ได้รับการรักษา อาการอาจเพิ่มมากขึ้น ไข้อาจสูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส อาการปวดอาจปวดทั้งซ้ายและขวา ซึ่งนั่นหมายถึงไส้ติ่งเริ่มติดเชื้อ รุนแรง เน่า และ แตกหรือกลายเป็นฝี ซึ่งระยะเวลาทั้งหมดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น คนไข้ อายุ ขนาดของไส้ติ่ง การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปบางส่วน แต่โดยทั่วไประยะตั้งแต่เริ่มปวดจนแตก มักไม่เกิน 3 วัน           การรักษาไส้ติ่ง แน่นอนที่สุด อย่างที่เราทราบๆ กันดี คือ การผ่าตัด ซึ่ง การผ่าตัดอาจทำได้ทั้งการดมยาสลบ หรือ การฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลัง ที่เรามักคุ้นกับคำว่า บล๊อกหลัง ซึ่งหลังจากนั้น ศัลยแพทย์ ก็จะทำการผ่าตัด โดยเปิดแผลขนาด 3-4 cm ที่ หน้าท้องด้านขวาล่าง ตัดไส้ติ่งออก เย็บปิดแผล นั่น คือสิ่งที่ศัลยแพทย์ทำกันมาช้านาน ตั้งแต่ผมยังจำความไม่ได้           ปัจจุบันแนวโน้มของการผ่าตัดพยายามลดความเจ็บปวด หรือ ความรุนแรงของการผ่าตัดลง เหมือนที่เราเคยได้ยินคำว่า Minimal Invasive Surgery ซึ่งสิ่งหนึ่งนิยมใช้กันในความหมายของ Minimal Invasive Surgery อย่างหนึ่งก็คือ การผ่าตัดด้วยกล้อง สำหรับในช่องท้องการผ่าตัดด้วยกล้อง ที่เรียกว่า Laparoscopic Surgery หรือ Keyhole Surgery ในภาษาชาวบ้าน ก็คือการผ่าตัดอย่างหนึ่ง ที่เราจะสอดกล้องเข้าไปในท้อง เพื่อสำรวจช่องท้อง และ ใช้เครื่องมือพิเศษทำการผ่าตัดแทนมือ ซึ่งปัจจุบัน เราก็ได้นำมาผ่าตัดหลายโรค ทั้ง นิ่วในถุงน้ำดี , ฝีในตับ , ผ่าตัดลำไส้ ,เลาะพังผืด , ฯลฯ รวมทั้งโรคทางนรีเวช           ไส้ติ่งอักเสบ ก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบัน สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยกล้องได้ ในมือของศัลยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรม และ มีประสบการณ์ โดยการผ่าตัด หลังจากดมยาสลบ ศัลยแพทย์จะใช้กล้องเข้าทางแผลเล็กๆ ใต้สะดือ และ แผลเล็กๆ ประมาณ 5mm อีก 2 แผล ในบริเวณใต้ร่มผ้า เพื่อปกปิดรอยแผลผ่าตัด การผ่าตัดภายใน จริงๆแล้วก็ไม่ได้ต่างจากการผ่าตัดแบบปกติ คือมีการตัดเส้นเลือดที่เลี้ยงไส้ติ่ง รวมทั้งตัดไส้ติ่งออก ใส่ถุงปราศจากเชื้อเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสู่ผิวหนัง ก่อนนำไส้ติ่งออกมานอกร่างกาย           ข้อดีของการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยกล้อง คือ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ถึงแม้ระยะเวลาในการนอน รพ. อาจไม่ต่างกับการผ่าปกติมากนัก แต่การฟื้นตัวจะเร็วกว่า ปวดแผลน้อยกว่า สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่า          อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยกล้องก็มีข้อจำกัดบ้าง คือ ในกรณีถ้าไส้ติ่งมีการอักเสบที่รุนแรง หรือ มีการติดกันของเนื้อเยื่อข้างเคียง การส่องกล้องผ่าตัด อาจไม่สามารถทำได้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา          ในต่างประเทศ การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยกล้อง ถือเป็นการผ่าตัดที่ทำกันเป็นมาตรฐาน แต่ในประเทศไทยนั้น จะสามารถทำการผ่าตัดแบบนี้ได้ เฉพาะในโรงพยาบาลชั้นนำบางแห่งเท่านั้น เพราะต้องมีเครื่องมือพิเศษ อีกทั้งศัลยแพทย์ผู้ที่จะทำการผ่าตัดให้ จะต้องมีความชำนาญ และได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทาง ค่าใช้จ่ายสำหรับการทำผ่าตัดแบบนี้ จึงสูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องบ้าง แต่นั่นก็นำมาซึ่งผลที่น่าพอใจ ทั้งในเรื่องของความสวยงามของแผลผ่าตัด การลดความเจ็บปวดและลดระยะพักฟื้นหลังการผ่าตัด           ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลวิภาวดี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีบริการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการส่องกล้อง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผนกศัลยกรรม โทร. 02-941-2800 ต่อ 2137, 2138  นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ พบ., วว.ศัลยศาสตร์ , บธ.ม.     -Certificate Fellowship of Endoscopic and Laparoscopic Surgery , Imperial College ,London ,UK.     - แพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล     - วุฒิบัตรสาขา ศัลยศาสตร์ทั่วไป     - อนุมัติบัตร สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ดูแลผิวสวยใสในช่วง…หน้าร้อน

ดูแลผิวสวยใสในช่วง…หน้าร้อน นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ  อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง        สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน วันนี้ผมมีวิธีดูแลผิวในช่วงหน้าร้อนมาฝากกันครับ ปัญหาที่เจอเป็นประจำทุกปี ก็คงเป็นเรื่อง ผิวดำ คล้ำ เกรียมไหม้ ลอก ฝ้า-กระเข้มขึ้น บางคนก็ถึงขั้น ผิวเหี่ยวแห้งไปเลย อากาศยิ่งร้อนขึ้นทุกวัน หลายท่านก็หนีร้อนไปตากอากาศและที่นิยมมากที่สุดก็คงเป็น ทะเล ผมว่าเรามารู้จักกับแสงแดดกันดีกว่า เพื่อเตรียมตัวรับมือเผชิญกับแสงแดดโดยเฉพาะแดดหน้าร้อน ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูตัวร้ายต่อผิวพรรณแล้วคุณจะผ่านหน้าร้อนนี้ไปได้ โดยยังคงผิวสดใสชุ่มชื้น         ก่อนอื่นมารู้จักกับแสงแดดก่อนนะครับ แสงแดดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) ประกอบด้วย คลื่นที่มีความยาวต่างๆ กันไป เรียงลำดับจากยาวไปสั้น คือ รังสีแกมมา , รังสีเอกซ์ , รังสีเหนือม่วง C,B,A (Ultraviolet C,A,B) แสงที่มองเห็น (Visible Lights) ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสดและแดงและรังสี โดยปกติชั้นบรรยากาศสามารถดูดซับและกรองรังสีบางส่วน เหลือแค่ อุลตร้าไวโอเลต A,B Visble Light และ Infrared ที่ลงมาถึงพื้นโลก และในช่วงฤดูร้อนพระอาทิตย์จะอยู่ใกล้ผิวโลก จึงทำให้ปริมาณรังสีพวกนี้ลงมาถึงพื้นโลกมากขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ แต่จำไว้นะครับว่า ไม่ว่าฤดูไหน ฝนตกไม่เห็นแดด ก็มีรังสีทั้งนั้น รังสีพวกนี้เป็นเหมือนดาบสองคม คือประโยชน์มากมายคณานับ เช่น ให้ความอบอุ่น แก่สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ฆ่าเชื้อโรค เช่นแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ,ทำให้เรามองเห็น,รักษาโรคได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน ด่างขาว ช่วยสังเคราะห์ ไวตามิน D แต่โทษมหันต์ เช่นกัน โดยเฉพาะต่อสุขภาพผิว โดย (Ultraviclet) และ (Infra-red) จะทำให้ผิวคล้ำ, ดำ, ไหม้เกรียมลอก บางครั้งพองตุ่มน้ำ เกิดกระ เกิดฝ้า ยิ่งกว่านั้น (Ultraviclet) ยังทำลายเนื้อเยื่อเดียวกัน Collafen ,Elastin เป็นโครงสร้าง กักเก็บน้ำให้ผิวหนัง ถ้าถูกทำลาย ผิวก็จะเหี่ยวแห้งขาดความชุ่มชื้น จนกลายเป็นผิวแก่ก่อนวัย ( Photoagihy ) ยิ่งร้ายกว่านั้น ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติ , สารพันธุกรรมเปลี่ยนแปลง เกิดก้อนผิวหนังแปลกๆ ซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต         แต่อย่างไรก็ตามร่างกายของคนเราก็แสนจะวิเศษ มีกลไก ป้องกันและแก้ไขพิษภัยของแสงแดดได้แก่ ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า หนาขึ้น, เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanoarte ) จะทำงานมากเพื่อจะผลิตเซลล์เม็ดสี melanm และกระจายออกไปบนชั้นผิวหนัง มีความสามารถ ดูดซับรังสีอุลตราไวโอเลต ไม่ให้ลงมาในชั้นผิวหนังล่างๆ ซึ่งมีอวัยวะสำคัญอยู่ เลยเป็นความโชคดีของคนผิวคล้ำสีเข้มๆ ที่เหมือนมียากันแดดประจำตัว นอกจากนั้น ร่างกายยังมี สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) คอยต้านอนุมูลอิสระ ( Free radicals ) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากรังสีอุลตาไวโอเลต สุดท้ายยังมีขบวนการซ่อมแซมพันธุกรรม (DNA Repair) เมื่อมีเซลล์ที่ผิดปกติก่อตัวขึ้น กลไกลทั้งหมดนี้อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าเราไปสัมผัสรังสีเหล่านี้ปริมาณมากๆ และสะสมเป็นเวลานานๆ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องช่วยเหลือโดยการ เลี่ยงแดดในช่วงที่มีรังสีเยอะ คือ 10.00 น.- 15.00 น. การแต่งกายเลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น กีฬากลางแจ้ง, นักกอล์ฟ นอกจากเสื้อแขนยาว, อาจต้องมีหมวกปีก, ร่ม และแว่นตา จะลดปริมาณรังสีที่มากระทบยังเราได้ แต่บางคนที่ต้องไปทะเลเสื้อผ้าคงจะต้องมีน้อยชิ้น ดังนั้น ยากันแดด ซึ่งมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ  ปัญหาที่ตามมาก็คือ ท้องตลาดมีไม่น้อยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ จะเลือกอย่างไร จึงจะเหมาะกับเรา ก่อนอื่นมาดู ชนิด ประเภทกันแดดก่อน ชนิดแรกคือสะท้อน (Physical Sunscuee) ได้แก่ ไททาเนียม,สังกะสีออกไซด์ แม้แต่การพอกดินสอพอง ก็สามารถสะท้อนรังสีได้ ยากันแดดประเภทนี้ ทาแล้วจะดูขาว,สะท้อนเป็นวาวๆ และอีกประเภทคือ ดูดซับ+กรองรังสี ( Chemical Sunscene ) จะดูดซับรังสีไม่ให้ลงไปในผิวหนัง            ซึ่งปัจจุบันยากันแดดส่วนใหญ่ มักจะผสมกันทั้ง 2 ประเภท ต้องเลือกชนิดที่สามารถป้องกันได้กว้าง คือ ได้ทั้ง (Ultraviclet A/B ) และ(Infra-red ) โดยดูที่ฉลากข้างผลิตภัณฑ์ SPF เป็นค่าประเมินอาการแดงใหม่ จาก UVB เปรียบเทียบก่อนและหลังทา แต่สำคัญ UVA ยังไม่มีค่ามาตรฐาน แน่นอน นิยมใช้ (Profelhon for UVA (PA) โดย PA ให้มี +++ และคนผิวขาว SPF ยิ่งสูงจะดี ถ้าเป็นคนคล้ำง่าย SPF ก็จะต่ำลงมาได้ หลังจากดูค่า SPF และ PA แล้ว ยังต้องดูเรื่องกันน้ำ(Water Prsof หรือ Water Resistaue) ซึ่งจำเป็นถ้าต้องลงว่ายน้ำ และกีฬาที่มีเหงื่อ หรือโดนลมมากๆ           ปริมาณที่ใช้ก็สำคัญ ไม่น้อยจนเกินไป และต้องทาเป็นประจำทุกวัน และก่อนออกแดดประมาณ 30 นาที ทาซ้ำบ่อยๆ หรือ ทุก 2-3 ชั่วโมง ที่สำคัญคือคนผิวขาวๆ ต้องต้องระวังเป็นพิเศษมากกว่าคนผิวคล้ำ ดำง่าย เพราะ (Melanin) จะกระจายตัวได้ดีกว่า และดูดรังสีได้ดีกว่า และที่กำลังฮอต คนให้ความสนใจ คือ ไวตามิน อาหารเสริม ต่างๆ ซี่งออกมาโฆษณาว่ามีคุณสมบัติเป็น (Anlioxident) หรือเป็นยากันแดดได้ เช่น(Ultamie A,C,E,Co-Anzye Q10) ไม่ว่าทาหรือทาน           แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ยังไม่สรุปแน่นอน เป็นแค่การศึกษาค้นคว้าจากสถาบันต่างๆ ดังนั้นจึงควรศึกษาและพิจารณา ไว้ด้วยวิจารณญาณของแต่ละคนครับ สุดท้าย ถ้าทุกท่านทำได้ ก็หมายความว่า ท่านได้ช่วยเหลือปกป้องผิวหนังของท่านให้ผ่านพ้นฤดูร้อน หรือพิษภัยของแสงแดด แต่ถ้าปัญหาเกิดกับท่านแล้วก็ไม่ต้องสิ้นหวังนะครับ เรามีทางแก้ไข เข้ามาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแพทย์ผิวหนังเพื่อจะได้ช่วยท่านให้ตรงกับปัญหาและตรงจุด มากที่สุดครับ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

จะออกกำลังกายอย่างไรดี ?

จะออกกำลังกายอย่างไรดี ? นพ.วรงค์  ลาภานันต์   กองอายุรกรรม รพ.ภูมิพล และแพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี                 ถ้าลองถามแพทย์แต่ละคนอาจได้คำตอบแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำกันคือ ออกกำลังหนักพอประมาณอย่างต่อเนื่องครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 4 ครั้ง อย่างน้อย  โดยทั่วไปเชื่อว่าคนที่ชอบออกกำลังจะไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจ ด้วยเหตุผลง่ายๆคือ ก็เพราะหัวใจเขาผู้นั้นน่าจะแข็งแรงกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย                    แต่เหตุผลที่ลึกไปกว่านั้น ก็คือการออกกำลังกายจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ลดความดันโลหิตซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจลง ยังช่วยเพิ่มระดับของไขมันดี   HDL ด้วย และที่น่าทึ่งคือการออกกำลัง จะกระตุ้นให้มีการสร้างเซลใหม่ เพื่อทดแทนเซลที่เสื่อมสภาพโดยเฉพาะที่หัวใจ                 ทีนี้ ก็มักจะเกิดปัญหากับคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลัง อาจเนื่องจากไม่มีเวลาหรือสถานที่ไม่อำนวย     ก็ลองมาฟังความคิดเห็นและคำแนะนำจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคและสมาคมเวชศาสตร์การกีฬาของสหรัฐอเมริกาดูบ้าง  เขาแนะนำว่า การออกกำลังหนักปานกลางซึ่งก็คือ การทำกิจวัตรประจำวัน อาทิ การล้างรถ ถูบ้าน ประมาณ 1 ชั่วโมง   หรือการทำสวนประมาณ   45   นาที อาทิตย์ละ 3-4 วัน ก็มีผลดีต่อหัวใจ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นอีกคือ ไม่จำเป็นจะต้องทำงานรวดเดียว อาจทำๆ หยุดๆ ก็ได้  อย่างนี้ก็จะได้เลิกคิดกันเสียทีว่า ไม่มีเวลาออกกำลัง ดังนั้นการเดิน เดิน และเดิน น่าจะเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกอายุ ส่วนที่ไม่ค่อยจะดีก็คือ การออกกำลังประเภทที่ต้องมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนักเป็นต้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

บุหรี่กับสุขภาพ

แม้จะมีคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ติดไว้บนซองบุหรี่ อาทิ บุหรี่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง อัมพาต เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ         โรคที่เกิดจากบุหรี่ ก็ยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่แต่ละปี ต้องสูญเสียเงินมหาศาลเพื่อเยียวยา ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1990 พบว่าในจำนวนผู้ที่เสียชีวิตทุก 5 คน 1 คนในจำนวนนั้นเกิดจากบุหรี่ สังคมอเมริกันเอง มีการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่กันอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลว่า เมื่อปี ค.ศ. 1965 คนอเมริกันสูบบุหรี่กันถึง 40 % แต่เมื่อปี ค.ศ. 1995 ปริมาณลดลงเหลือ 24.7 % บริษัทจำหน่ายบุหรี่รายใหญ่ของอเมริกาเห็นว่า แนวโน้มถ้าจะแย่แถมยังถูกอเมริกันฟ้องร้องว่า เป็นตัวการให้รัฐต้องเสียเงินเพื่อบำบัดเยียวยาโรคที่มีสาเหตุเกิดจากบุหรี่ปีๆ หนึ่ง เป็นพันๆล้านดอลลาร์ บริษัทผู้ผลิตจึงพยายามหาทางออก คือ เอาบุหรี่อเมริกันไปขายให้คนชาติอื่น ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนให้คนชาติอื่น หันมานิยมผ่อนส่งความตายกันเพิ่มมากขึ้น เพื่อโฆษณานี้ปีๆ หนึ่งหลายร้อยล้านดอลลาร์ทีเดียว คนที่มีรสนิยม และพอจะมีทุนทรัพย์ก็พยายามหามาเพื่อบริโภค ถึงรัฐบาลขึ้นภาษีสรรพสามิตเท่าใดก็ไม่พ้นบุหรี่หนีภาษีอยู่ดี ไม่ว่าจะบุหรี่ไทยหรือบุหรี่นอก ขึ้นชื่อว่าควันบุหรี่แล้วก็น่ากลัวพอกัน เพราะมีสารต่างๆถึง 4,700 ชนิด มีทั้งที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบสารพัด แต่ที่สำคัญก็คือ สารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ สารไฮโดรคาร์บอน   นิโคติน เมื่อถูกสูดเข้าในถุงลมปอดจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะมีฤทธิ์คล้ายสารประสาทมีชื่อ Adrenaline ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ สารคาร์บอนมอนนอคไซด์ ซึ่งจับกับโมเลกุลของฮีโมโกบิน ทำให้เม็ดเลือดไม่สามารถนำออกซิเจนได้ จึงก่อให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในระดับเซล ในควันบุหรี่มีสารที่ทำลายเซลเยื่อบุผนังหลอดเลือด (Endothelium) ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว หดตัว ทำให้ระดับ HDL ลดลง กระตุ้นการแข็งตัวของเม็ดเลือดทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตันได้โดยง่าย       บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งกว่า 10 ชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งของทางเดินหายใจและช่องปาก มะเร็งของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน เป็นต้น เพราะมีสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) อยู่เกือบ 50 ชนิด บุหรี่กระตุ้นให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง เปรียบเหมือนทำให้ฟองน้ำซึ่งมีช่องอากาศเล็กๆ ถูกทำลาย ทำให้กลายเป็นรวงผึ้งใหญ่ๆ พื้นผิวของการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ถุงลมลดลง ลงท้ายออกซิเจนในอากาศไม่เพียงพอ ต้องนอนกอดถังออกซิเจนไปตลอด ขยับตัวออกกำลังเล็กน้อยก็เหนื่อย วันร้ายคืนร้ายก็เกิดปอดอักเสบหรือปอดแตกไปเลยก็มี       สำหรับคุณผู้หญิงที่คิดจะมีลูกควรฟังตรงนี้ให้ดี! จากการศึกษาพบว่า ทารกที่เกิดจากมารดาที่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ไม่เพียงแต่ จะเป็นเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยเมื่อแรกคลอดเท่านั้น พบว่าเมื่อโตขึ้นไป เด็กผู้ชายจะมีโอกาสเป็นเด็กที่มีนิสัยก้าวร้าวชอบลักขโมยมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 4 เท่า เช่นกันในเด็กเพศหญิง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อกันคือ สารนิโคตินในบุหรี่ อาจกระทบกระเทือนกับการพัฒนาการของสมองของทารกในครรภ์ มารดาที่ไม่ได้สูบบุหรี่แต่ต้องอยู่กับบิดาที่ชอบสูบบุหรี่ในห้องนอน ในบ้าน ก็ไม่น่าจะปลอดภัยเช่นกัน        มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ 90% เริ่มสูบก่อนอายุ 20 ปี ก็ควรเป็นข้อเตือนใจที่ดีในการรณรงค์ป้องกันโทษภัยของบุหรี่กันให้เข้มข้นตั้งแต่วัยเด็ก จะได้ไม่ต้องมากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ติดบุหรี่ในอนาคต และที่สำคัญจากการวิจัยพบว่า ยาเสพติดทุกประเภทไม่ว่า กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน ฯลฯ ล้วนมีจุดเริ่มต้นที่บุหรี่ทั้งสิ้น คนที่ติดบุหรี่แล้วก็อย่าพึ่งเสียอกเสียใจ ถ้าคิดอยากจะเลิกลองมาฟังการศึกษานี้ดู เขาพบว่าถ้าหยุดบุหรี่วันนี้อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะลดลงถึง 50 % ภายในระยะเวลา 1-2 ปี แต่ถ้าจะให้อัตราเสี่ยงเท่าปกติเลย จะต้องใช้เวลานานกว่านั้น คือ ประมาณ 10-15 ปี ทีเดียว เอาเถอะ ถึงจะนานเท่าใดก็คุ้มค่า เพราะไม่เฉพาะแต่โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ก็จะพลอยเบาลงไปด้วยจะได้มีชีวิตอยู่ดูโลกอย่างสดใส ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บที่ป้องกันได้   สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจวิภาวดี โทร.0-2561-1111 ต่อ 1322  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด

วิธีเลือกซื้อครีมกันแดด           ในแสงแดดมีรังสีอยู่หลายชนิดนะครับ ที่รู้จักกันดีก็คือ อุลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งรังสีนี้จะถูกดูดซับโดยชั้นโอโซน มีแค่ UVAและ UVB ที่ลงมาถึงพื้นโลก ซึ่งรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้มีผลต่อผิวหนังโดยเฉพาะ UVA มีผลทำให้เกิด กระ ฝ้า เหี่ยว แก่ก่อนวัย UVB มีผลทำให้เกิดการ แดง แสบ ไหม้ ของผิวหนัง และรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้ยังทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำลายโปรตีนพันธุกรรมทำให้เกิดเนื้องอกผิวหนังได้ครับ แต่ไม่ต้องตกใจนะครับเพราะว่า... วันนี้ผมมีวิธีเลือกซื้อครีมกันแดดมาฝากกันครับ    1.         SPF (Sun Protective Factor) ซึ่งเป็นตัวบอกว่า ป้องกัน UVB ได้กี่เท่าส่วน UVA ยังไม่มีค่ามาตรฐาน ปัจจุบันนิยมใช้ PA และเครื่องหมาย + ปกติคนไทยมีผิวคล้ำซึ่งเม็ดสีสามารถป้องกัน UVB ได้บ้างแล้ว ดังนั้น SPF มากกว่า 15 และ PA++ ขึ้นไป ก็เพียงพอ  2.         ดูที่กิจกรรม ถ้าออกกำลังกลางแจ้ง มีเหงื่อ ว่ายน้ำ ทำงานกลางแดด ต้องใช้ SPF ที่สูงขึ้นและเลือกประเภทที่กันน้ำได้ (Water Proof หรือ Water Resistance) 3.         ปริมาณ ควรใช้ปริมานที่ไม่น้อยเกินไป เพราะสารเคมีอาจทำปฏิกิริยากันทำให้ลดคุณภาพลงไป 4.         จำนวนครั้งที่ทาต่อวัน ก็สำคัญ ถ้าอยู่ในออฟฟิศ ห้องแอร์ วันละครั้งก็เพียงพอ แต่ถ้าต้องทำงานกลางแดด โดนลม อาจจะทาเติม ถ้าว่ายน้ำต้องทาทุก 2-3 ชั่วโมง 5.         ทาแล้วก็ต้องเลี่ยงแดดด้วย ใส่แว่น ใส่หมวก เนื่องจากครีมกันแดดไม่ได้กันได้ 100 % 6.         ยี่ห้อ ราคา ไม่สำคัญ ขอให้มีคุณสมบัติครบ ไม่มีปฏิกิริยาต่อผิวหนัง เช่น คัน ผื่น 7.         อาหาร อย่าลืมทานอาหารที่มีความสามารถ กำจัดอนุมูลอิสระ เช่น วิตามิน เกลือแร่ ในผักทุกชนิด และผลไม้ด้วย             ถ้าคุณ..รู้จักเลือกใช้ครีมกันแดดให้เหมาะสมกับกิจกรรมชีวิตประจำวันของคุณแล้ว ... คุณก็จะสามารถปกป้องผิวสวยของคุณ..จากแสงแดดได้สบายเลยครับ   นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ  อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

วัณโรค

วัณโรค           วัณโรค ที่กลับมาระบาดใหม่ ทำให้หลายๆท่านกังวลใจ ลองอ่านถึงอาการของวัณโรค ผู้ที่เสี่ยงกับวัณโรค รวมถึงวิธีป้องกันดูนะครับ อาการของโรควัณโรค  มีมากมาย แบ่งเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้  1. ไข้เรื้อรัง, ผอมลง, เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย  2. ไอ, เสมหะ, หอบเหนื่อย, เจ็บอก  3. ไอเป็นเลือด  4. ต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ก้อนบริเวณรักแร้และคอ  5. ตับ ม้าม โต, คลำก้อนได้ในท้อง  6. ปวดศีรษะ, หมดสติ ชักเกร็ง ประวัติที่เสี่ยงต่อการเป็นวัณโรค (risk factors)  1. สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค (อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน)  2. ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เบาหวาน, ติดเชื้อ HIV, หรือ ได้รับยา กดภูมิต้านทาน เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง หรือ ยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของ steriods วิธีป้องกัน  - อยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก  - ไม่คลุกคลี สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ  - ฉีดวัคซีน BCG ตั้งแต่แรกคลอด  - ไม่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น เช่น        * ไม่ไอ จาม รดผู้อื่น        * ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว ได้แก่ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น        * ไม่บ้วนเสมหะลงพื้นในที่แสงแดดส่องไม่ถึง - เคยมีรายงานผู้ป่วยเป็นวัณโรคในระยะติดต่อ สามารถแพร่เชื้อวัณโรคกับผู้ร่วม โดยสารเครื่องบิน flight เดียวกันได้จำนวนหลายคน - ถ้ามีอาการน่าสงสัย หรือผิดปกติ หรือสัมผัสใกล้ชิด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณารับยาป้องกันวัณโรค    บทความโดย นพ. ณฐพงศ์กร  ภวนะวิเชียร      อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บบริเวณข้อมือและกระดูกหักนักกอล์ฟ

การบาดเจ็บบริเวณข้อมือและกระดูกหักนักกอล์ฟ           นักกอล์ฟถนัดมือขวา ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บบริเวณมือซ้าย (มือที่อยู่ใกล้เป้าหมาย) ระหว่างการทำวงสวิง มือซ้ายจะมีอาการเคลื่อนไหวในแนวเอียงมาทางนิ้วหัวแม่มือ (radial deviation) หรือภาษากอล์ฟเรียก ค๊อกกิ้ง (cocking) และเอียงกลับมาทางนิ้วก้อย (Ulnar deviation) หรือเรียก Uncocking มากกว่าการเคลื่อนไหวกระดกข้อมือและงอมือ การเคลื่อนไหวจากวงสวิงที่ไม่ดีหรือการซ้อมมากเกินไปทำให้มีการบาดเจ็บของเอ็นบริเวณข้อมือได้ การบาดเจ็บที่รุนแรงถึงขั้นกระดูกหักพบไม่บ่อยนักแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับการเล่นกอล์ฟซึ่งบางคนเรียกว่า กระดูกหักนักกอล์ฟ (Golfer’s fracture) เนื่องจากด้ามไม้กอล์ฟไปกระแทรกบริเวณกระดูกข้อมือขณะที่โดนพื้นหรือตีออกจากรัฟ กระดูกข้อมือชิ้นนี้ เรียกว่า กระดูก Hamate ซึ่งมีส่วนยื่นคล้ายตะขอมาทางด้านฝ่ามือ เรียก Hook of Hamate อยู่ใกล้กับด้ามไม้กอล์ฟมาก รูปที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของตำแหน่งกระดูก Hamate เอ็นที่งอนิ้วมือ (Flexor tendons) เส้น เลือดเส้นประสาท (Ulnar artery and nerve) รูปที่ 2 การจับกริปที่ไม่ดีหรือวงสวิงที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ด้ามไม้กอล์ฟเสียดสีกับถุงมือซึ่งเป็น บริเวณตำแหน่งใกล้กับกระดูก Hamate ถ้ารุนแรงอาจทำให้กระดูก Hamate หักได้           ความสำคัญของกระดูกหักชนิดนี้ คือ มักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก ๆ เนื่องจากอาการที่ได้รับหลังการบาดเจ็บไม่มากและไม่ค่อยชัดเจน ดูภายนอกอาจจะมองไม่เห็นความผิดปกติ นักกอล์ฟบางท่านที่กระดูกหักอาจรู้สึกเพียงเจ็บเล็กน้อย ไม่ค่อยมีแรง ตีไม่ได้ระยะ นักกอล์ฟหลายท่านรักษาเอง ไม่ได้ไปพบแพทย์ บางท่านอาจไปพบแพทย์ แต่ไม่พบว่ามีกระดูกหัก และไม่ได้ติดตามผลการรักษาต่อเนื่อง ทิ้งไว้นานเกินไปเป็นเดือนหรือหลายเดือน จนกระดูกเคลื่อนหรือไม่ติดแล้ว บางรายมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเนื่องจากบริเวณที่กระดูกหักไปกดเส้นประสาทหรือเส้นเอ็น ทำให้นิ้วก้อยชาหรือเอ็นที่งอกระดูกนิ้วก้อยขาดได้ รูปที่ 3 ภาพ CT scan แสดงรอยหักของกระดูก Hamate (ลูกศรชี้) การป้องกัน • ด้ามไม้กอล์ฟควรมีขนาดที่เหมาะสมกับมือ และจับให้ด้ามไม้กอล์ฟพ้นออก มาจากฝ่ามือซ้ายเล็กน้อย • การจับกริปให้ถูกต้องและศึกษาวงสวิงที่ถูกวิธี เพื่อป้องกันการตีโดนพื้น • ควรบริหารนิ้วมือให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการบีบสปริงมือหรือลูกเทนนิสบ่อย ๆ • บริหารยืดเหยียดข้อมือให้เคลื่อนไหวในแนวเอียงไปทางนิ้วหัวแม่มือ – นิ้วก้อย (Cocking - Uncocking) • บริหารข้อมือโดยใช้ตุ้มน้ำหนัก รูปที่ 4 การบริหารกล้ามเนื้อแขนด้านหน้าโดยใช้ยกน้ำหนัก งอข้อมือ กระดกข้อมือ และหมุนข้อมือ ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ • เมื่อมีการบาดเจ็บควรหยุดการเล่นกอล์ฟ ถ้ามีบริเวณที่กดเจ็บ จับกริป เคลื่อนไหวแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น จับไม่ได้แน่นหรือตีกอล์ฟไม่มีแรงควรพบแพทย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ควรกลับมาพบแพทย์ใหม่เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง เพราะการวินิจฉัยโดยการตรวจ X – ray ท่าปกติมักไม่เห็นรอยกระดูกหักอาจจะต้องพิจารณา X – ray ท่าพิเศษ เรียก Carpal tunnel view หรือ ตรวจด้วย CT Scan จึงจะเห็นรอยกระดูกหักได้ • การรักษากระดูกหักตั้งแต่แรก คือ การใส่เฝือก 6 – 8 สัปดาห์ • ถ้าทิ้งไว้นานเกิน 1 เดือน หรือกระดูกเคลื่อนแล้วใส่เฝือกรักษาไม่ได้ผลมักจะ ต้องรับการผ่าตัดรักษาเอาส่วนกระดูกที่หักออก โดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำรพ.วิภาวดี จาก Golf lover’s Magazine Healthy tips  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ท่านนักกอล์ฟซ้อมอย่างไรจึงจะแกร่งขึ้น และไม่เกิดการบาดเจ็บ

ท่านนักกอล์ฟซ้อมอย่างไรจึงจะแกร่งขึ้น และไม่เกิดการบาดเจ็บ ในการเล่นกอล์ฟให้ดีขึ้น ท่านนักกอล์ฟสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 3 อย่าง คือ เปลี่ยนไม้กอล์ฟ ปรับเปลี่ยนวงสวิง ปรับปรุงสมรรถภาพร่างกายของท่านนักกอล์ฟเอง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ อุปกรณ์เกี่ยวกับกอล์ฟดีขึ้นมาก นักกอล์ฟโดยทั่วไปสามารถตีไกลขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน การศึกษาวงสวิง การใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การกีฬา ด้านการแพทย์ รวมทั้งการถ่ายภาพวีดีทัศน์ความเร็วสูง การประมวลข้อมูลโดยใช้คอมพิวเตอร์ ทำให้เข้าใจและพัฒนาวงสวิงของกอล์ฟได้มากขึ้น รวมทั้งการป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บได้มากขึ้น ผมอยากจะเน้นให้ท่านนักกอล์ฟ เข้าใจถึงการซ้อมกอล์ฟว่าควรจะซ้อมมากน้อยแค่ไหน ถึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและไม่เกิดการบาดเจ็บ การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในร่างกาย            เนื้อเยื่อในร่างกายสามารถปรับตัวเข้ากับแรงที่มากระทำต่อเนื้อเยื่อนั้น เมื่อปี 1982 นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Julius Wolff ได้ศึกษากระดูกที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการได้รับแรงที่มากระทำกับกระดูก จะมีความแข็งแรงและมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นที่รู้จักกันดีของแพทย์ปัจจุบัน เรียก Wolff’s Law แต่ถ้ากระดูกไม่ได้รับแรงมากระทำ จะลดความแข็งแรงและความหนาแน่นกระดูกลดน้อยลงในการศึกษาต่อมา รายหลังพบว่าเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดอื่นมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ด้วย เช่น เอ็น (tendon), เอ็นยึดกระดูกและข้อ (ligament) และกล้ามเนื้อ รูปที่ 1 การเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเมื่อมีแรงมากระทำ           แรงที่มากระทำต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างก่าย เช่น กล้ามเนื้อเอ็น, เอ็นยึดกระดูกและข้อเปลี่ยนแปลงตามการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน จากน้อยมาก ปานกลาง จนถึงระดับสูงมาก เช่น แรงกระทำที่มีต่อกระดูกน้อยมากในผู้นอนพัก และมีแรงกระทำอย่างมากในผู้ที่วิ่งกระโดด จากรูป แสดงขนาดของแรงที่มากระทำ ถ้าต่ำเกินไปจะเกิดภาวะกล้ามเนื้อลีบ เอ็นไม่แข็งแรง กระดูกบางหักง่าย ในผู้ที่ค่อนข้างจะทำงานเคลื่อนไหวสม่ำเสมอกระดูกกล้ามเนื้อเอ็นจะอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ ไม่อ่อนแอแต่ก็ไม่แข็งแรงขึ้น  ในการเพิ่มแรงกระทำ ที่ใช้ในการฝึกเพิ่มขึ้นกว่าการใช้ชีวิตประจำวัน เนื้อเยื่อจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีการบาดเจ็บในระดับเซลล์ เรียก Microdamage ร่างกายตอบสนองโดยมีการปรับตัว (remodeling) สร้างเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น มี Microdamage มาก จะมีการปรับตัวมาก และใช้เวลาในการปรับตัวและพักนานมากขึ้น ผลของการปรับตัวจะทำให้กระดูกเอ็นกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นและแข็งแรงขึ้น ถ้ามีแรงกระทำมากเกิน จะทำให้เกิดการฉีกขาด การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ (มากกว่าการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์) ทำให้เกิดผลเสียต่อเนื้อเยื่อนั้น เช่น กระดูกหักร้าว เอ็นฉีก กล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ขนาดของแรงและความถี่ รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของแรง และความถี่ที่มากระทำเป็นผลทำให้เกิดการบาดเจ็บ            แรงที่มากระทำบางครั้งไม่ได้เกิดจากความรุนแรงหรืออุบัติเหตุ แต่เกิดจากแรงกระทำ ขนาดน้อย ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่ว่ามีการทำซ้ำบ่อย ๆ ต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ การบาดเจ็บลักษณะที่แรงขนาดน้อยกระทำต่อส่วนของเนื้อเยื่อ แต่ทำซ้ำที่เดิมบ่อย ทำให้เกิดการบาดเจ็บเรียก Overuse injury ซึ่งเป็นผลมาจาก 3 อย่าง คือขนาดของแรง จำนวนครั้งที่ทำซ้ำและระยะเวลาที่พักเพื่อให้เนื้อเยื่อมีการปรับตัว การบาดเจ็บชนิดนี้พบได้บ่อยในนักกอล์ฟฝีมือดี เช่น บาดเจ็บเอ็นหัวไหล่ เอ็นข้อศอก ข้อสรุปสำหรับท่านนักกอล์ฟ 1. ท่านนักกอล์ฟควรหาโอกาสออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่ว่าในที่ทำงาน หรือสนาม กอล์ฟ ขึ้นลงบันได 1 – 2 ขั้น ไม่ควรใช้ลิฟต์ ถ้าท่านเดินไหวไม่ควรใช้รถกอล์ฟ เพื่อรักษากระดูก เอ็นกล้ามเนื้อ ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ 2. การฝึกออกกำลังกายเพิ่มขึ้นที่ละน้อย และสม่ำเสมอจะทำให้ร่างกายท่านแข็งแรงขึ้น 3. ถ้าท่านมีอาการปวด เมื่อย ท่านควรจะพัก ถ้าอาการหายได้ปกติ ภายใน 1 – 2 วัน ท่านจะแข็งแรงขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติมากขึ้น ท่านควรพบแพทย์เพื่อการรักษา 4. ในการซ้อมกอล์ฟถ้าท่านซ้อมไดร์ฟด้วยหัวไม้เต็มที่ จำนวนครั้งท่านจะต้องไม่มาก เกินจนถึงกับมีอาการปวด ควรสลับกับการซ้อมลูกสั้นต่ำกว่า 100 หลาลงมา 5. การซ้อมหนักเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการสู่ความเป็นเลิศ แต่ท่านต้องซ้อม ให้ถูกวิธี และค่อย ๆ ฝึกสร้างกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับวงสวิงให้แข็งแรงร่วมด้วย และรู้วิธีป้องกันการบาดเจ็บด้วยครับ   โดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<