ท่านนักกอล์ฟซ้อมหนักแค่ไหน

ท่านนักกอล์ฟซ้อมหนักแค่ไหน โปรอ้วน (โปรนันทวัฒน์ ศิริพร) โทรมาหาผมที่โรงพยาบาล อยากให้ช่วยเขียนเรื่อง ลงใน Galaxy Golf ถามผม ถ้าผมว่างเย็นนี้ให้ไปซ้อมกอล์ฟที่สนามรถไฟ จะช่วยดูวงสวิงให้ และคุยกันเรื่องงาน เสร็จงานผมก็รีบไปเจอโปรอ้วน ซื้อลูกกอล์ฟมา 6 ถาด ยืดเส้นยืดสายเสร็จแล้ว เริ่มซ้อมต่อเนื่องจนเหงื่อไหลท่วมตัว โปรอ้วนก็ดีมากมาคอยแนะนำตลอดบอกว่า วงใช้ได้แล้ว หลังจากหมดแรง โปรอ้วนก็ให้ผมช่วยเขียนเรื่องให้ด้วยเพื่อเป็นความรู้สำหรับนักกอล์ฟ  แหมโปรอ้วนอุตสาห์สอนให้ฟรีแถมยังชมอีก ก็ต้องรับด้วยความเต็มใจซิครับ เนื้อหาต่อไปนี้ ผมจะพาท่านนักกอล์ฟเจาะลึกเข้าไปถึงกีฬากอล์ฟ ซึ่งเป็นเกมพิศวงสงสัย ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง  เป็นการเล่นที่ดูเหมือนง่ายมาก แค่เอาไม้พัตต์เตอร์เคาะลูกไปที่หลุม ระยะเพียง 3 – 4 ฟุต แต่ก็ยังพลาดได้  นักกอล์ฟบางคนตีไกลมากเกิน 300 หลา ทำได้อย่างไร  บางคนทำโฮลอินวัน .… ฟลุคมั้ง (ไม่อยากบอก ผมทำมา 2 ครั้งแล้วครับ)   บางคนซ้อมมาก ออกรอบสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ก็ยังตีลูกตกน้ำเป็นประจำยิ่งซ้อมยิ่งแย่ ระดับโปรซ้อมอย่างไร ในหนังสือ ธงชัยใจดี บนเส้นทางสู่ดวงดาว  อายุ 13 ปี เอาไม้กอล์ฟหักที่เขาทิ้งแล้ว มาต่อกับไม้ไผ่ เล่นหลังเลิกเรียนกับเพื่อน จนถึงตี 1 ตี 2 โดยเอาไฟฉายส่องลูกตี  เมื่อเริ่มมีถุงกอล์ฟ ซ้อมทุกวัน วันเสาร์ – อาทิตย์ ซ้อมตั้งแต่เช้าจนมืด  เป็นทหารฝึกหนักวิ่งออกกำลังกายทุกวัน ทำให้มีระเบียบวินัยในการฝึก  เป็นนักกอล์ฟประเภทพรแสวง           เราจึงภูมิใจที่มีคนไทยคนแรกที่ลงเล่นเดอะมาสเตอร์ที่ออกัสตา เมื่อ 6 เมษายน 2549 และเป็นคนไทยคนแรกที่ลงเล่นรายการเมเจอร์ ครบทั้ง 4 รายการ ขอยกตัวอย่างคนไทยที่เราอยากให้เป็นคนไทยอีกคนหนึ่ง คือไทเกอร์ วู้ดส์  ในหนังสือ Tiger Woods : How I Play Golf ในการแข่งขันกอล์ฟคนอื่นอาจ เอาชนะเขาได้ แต่ไม่มีใครจะเอาชนะเขาได้เรื่องการซ้อมหนัก  ในขณะที่เป็นนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลกผู้บรรยายภาษาอังกฤษ ถามว่าเขาเก่งขนาดนี้ แล้วยังต้องซ้อมหนักอีกหรือ เขาตอบว่าเมื่อวานเขายังเป็นคนสุดท้ายที่สนามซ้อม กลับมาที่คำถามเดิม ท่านนักกอล์ฟซ้อมหนักแค่ไหน คำตอบคือ  1. ขึ้นอยู่กับท่านเริ่มต้นที่จุดไหน 2. ท่านจะไปให้ถึงจุดไหน           ถ้าท่านต้องการไปให้ถึงระดับสูงสุดที่ท่านต้องการ ท่านต้องไม่ยอมให้นักกอล์ฟ ในระดับนั้น ซ้อมหนักกว่าท่าน ผมขอฝากคำคม “ คิดให้ไกล ไปให้ถึง ” ครับ   โดย นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กระดูก................ที่นักกอล์ฟควรรู้จัก

โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี กระดูก................ที่นักกอล์ฟควรรู้จัก           สวัสดีครับ ผู้เขียนได้เคยอธิบายถึง “กระดูกมีชีวิต” ซึ่งศึกษาในระดับเซลล์ ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยในการศึกษา ตอนนี้เราจะมาเข้าใจกระดูกที่เห็นด้วยตาเปล่า และมีความสำคัญในกีฬากอล์ฟ กระดูกในร่างกายคนเรามี 206 ชิ้น แบ่งเป็นกระดูกแกนกลาง (Axial skeleton) จำนวน 80 ชิ้น กระดูกระยางค์ (Appendicular Skleton) คือกระดูกที่ประกอบเป็นแขน และขา จำนวน 126 ชิ้น            กระดูกแกนกลางที่ท่านนักกอล์ฟควรจะรู้จัก ก็คือ กระดูกสันหลัง (Spine) มีจำนวน 26 ชิ้น (กระดูกกะโหลกศรีษะ, กระดูกใบหน้า ไม่มีความสำคัญในวงสวิงของกอล์ฟ) กระดูกสันหลังส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างคล้ายๆ กัน คือ 1. ส่วน body เป็นแผ่นกลมหนาอยู่ด้านหน้า ผิวบนและผิวล่างของ body จะเป็นที่เกาะของหมอนรองกระดูกสันหลัง กระดูกส่วนนี้ทำหน้าที่รับน้ำหนัก 2. Verterbral arch เป็นแท่งกระดูกโค้งที่อยู่ติดทางด้านหลังของ body เป็นที่บรรจุไขสันหลัง 3. Process ปุ่มที่ยื่นออกมาจาก Vertebral arch จำนวน 7 อัน เป็นข้อต่อประกอบกับกระดูกสันหลังที่อยู่ติดกัน และเป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อ ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังส่วนคอ มี 7 ชิ้น            กระดูกคออันที่ 1 และอันที่ 2 จะมีลักษณะแตกต่างจากกระดูกสันหลังอันอื่นๆ คือกระดูกคออันที่ 1 เรียกว่า Attas มีรูปร่างเหมือนวงแหวน ไม่มีส่วนของ body กระดูกคออันที่ 2 เรียกว่า Axis มีปุ่มยื่นออกจากส่วนบนของ body เรียกว่า Dens คล้ายเดือยยื่นขึ้นไปในวงแหวนของกระดูกคออันที่ 1           การหมุนศรีษะ 60% จะอยู่ที่บริเวณกระดูกคออันที่ 1 และ 2 ถ้าท่านก้มคอ ท่านจะหมุนศรีษะได้ประมาณ 45 – 50 องศา โดยหมุนศรีษะบนกระดูกคออันที่ 1 และ 2 แต่ถ้าท่านยืดคอ เงยคางขึ้นท่านจะหมุนศรีษะได้ 80 – 90 องศา ให้คางไปแตะที่ไหล่แต่ละด้านได้ โดยการหมุนศรีษะอีก 40% จะหมุนบนกระดูกคออันที่ 3 ถึงอันที่ 7 รวมกัน ด้วยเหตุผลทางโครงสร้างของกระดูกคอ ในการจรดไม้กอล์ฟจึงไม่ควรก้มมองดูลูก แต่ควรจะยืดคอ เงยคางขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้คางลอดผ่านได้อย่างเดียว แต่เพราะช่วยให้หมุนคอในส่วนของกระดูกคออันที่ 3 – 7 ลงมาจะช่วยทำให้แรงบิดของลำตัวทำได้เต็มที่  กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic Verabra) 12 ชิ้น            มีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่ากระดูกสันหลังส่วนคอ แต่เนื่องจากมีกระดูกซี่โครงยึดติดกับกระดูกหน้าอก 12 คู่ ทำให้กระดูกสันหลังส่วนอกมีการเคลื่อนไหวน้อย กระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar Vertebra) 5 ชิ้น            ขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุด มีการเคลื่อนไหวมากบริเวณ 2 อันล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่าก้มและแอ่นหลัง  กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (Sacrum) 5 ชิ้น            ต่อกันรวมกันเป็นชิ้นเดียว ไม่มีการเคลื่อนไหว   กระดูกสันหลังส่วนก้นกบ (Coccyx) 4 ชิ้น           รวมกันเป็นชิ้นเดียว เวลาล้มก้นกระแทกกับพื้นแข็งๆ อาจจะมีกระดูกก้นกบหักหรืองอได้  การโค้งของกระดูกสันหลัง            กระดูกสันหลังปกติ ถ้ามองทางด้านหลังจะเห็นเป็นเส้นตรง แต่ถ้ามองทางด้านข้างจะเห็นเป็นส่วนโค้งอยู่ 4 แห่ง บริเวณคอ และเอวจะโค้งมาทางด้านหน้า ส่วนบริเวณอก และกระเบนเหน็บจะโค้งไปทางด้านหลัง ในเด็กแรกเกิดอยู่ในครรภ์มารดาตัวงอ กระดูกสันหลังจะเป็นโค้งเดียว หลังจากเด็กเริ่มเงยคอ คลานได้ กระดูกจะโค้งไปทางด้านหน้า เมื่อหัดยืนได้ กระดูกสันหลังส่วนเอวจะโค้งไปทางด้านหน้า ส่วนกระดูกสันหลังส่วนอก และกระเบนเหน็บจะโค้งไปทางด้านหลังแบบเดิม             การโค้งของกระดูกสันหลัง เพิ่มความแข็งแรง ช่วยให้เกิดความสมดุลในการทรงตัว และลดแรงกระแทกขณะเดิน หรือวิ่ง การจรดไม้กอล์ฟควรงอที่ข้อสะโพก ไม่ก้มบริเวณที่หลังจะทำให้โค้ง กระดูกสันหลังส่วนเอวผิดรูป และหมุนได้น้อยลง นอกจากนั้นทำให้แรงกดบนหมอนรองกระดูกสันหลังเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีอาการปวดหลังได้ง่าย หรือรุนแรงจนถึงหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นมากดทับเส้นประสาทได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กล้ามเนื้อทำงานอย่างไร ในวงสวิงของกอล์ฟ

กล้ามเนื้อทำงานอย่างไร ในวงสวิงของกอล์ฟ ฉบับที่ผ่านมาผมได้เน้นถึงการซ้อมกอล์ฟ จะต้องให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่านนักกอล์ฟด้วย ถ้าเกิดการบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าท่านนักกอล์ฟจะมีวงสวิงที่ดีแค่ไหน หรือซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ราคาแพงมาก ๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้ท่านเล่นกอล์ฟได้ดี เพราะการควบคุมวงสวิงอยู่ที่มือที่ท่านจับไม้กอล์ฟซึ่งเป็นส่วนต่อ ออกมาจากข้อมือ ข้อศอก ไหล่ และลำตัว   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี กล้ามเนื้อทำงานอย่างไร ในวงสวิงของกอล์ฟ           ที่ผ่านมาผมได้เน้นถึงการซ้อมกอล์ฟ จะต้องให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของท่านนักกอล์ฟด้วย ถ้ามีการเกิดบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าท่านนักกอล์ฟจะมีวงสวิงที่ดีแค่ไหน หรือซื้ออุปกรณ์ใหม่ ๆ ราคาแพงมาก ๆ ก็ไม่สามารถจะทำให้ท่านเล่นกอล์ฟได้ดี เพราะการควบคุมวงสวิงอยู่ที่มือที่ท่านจับไม้กอล์ฟ ซึ่งเป็นส่วนต่อออกมาจากข้อมือ ข้อศอก ไหล่ และลำตัว           การทำงานของร่างกายควบคุมผ่านสมอง ทั้งระบบประสาทส่วนกลาง ที่ท่านสามารถควบคุมกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ตามใจสั่ง และระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อโดยที่ท่านไม่ต้องไปสั่งและท่านก็ควบคุมไม่ได้ด้วย กล้ามเนื้อเหล่านี้ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจ(cardiac muscle) กล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle) ที่อยู่ในทางเดินอาหาร หลอดเลือด หลอดลม ท่านจะบังคับให้หัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดเต้นก็ไม่ได้ ถ้าท่านอายุถึง 70 ปี หัวใจท่านก็เต้นประมาณ 3 พันล้านครั้ง โดยไม่ได้หยุดพักเลย ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจหยุดพักเมื่อไร ก็หมายถึงท่านไม่มีโอกาสเล่นกอล์ฟอีกเลย  รูปที่ 1 กล้ามเนื้อลายของร่างกายที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ           กล้ามเนื้อที่ท่านควบคุมได้ คือ กล้ามเนื้อลาย เป็นกล้ามเนื้อแขน ขา คอ หลัง ที่ท่านบังคับได้ ถ้าไม่ฝึกให้ดี กล้ามเนื้อก็จะทำงานไม่ประสานกัน ในวงสวิงของกอล์ฟ กล้ามเนื้อหลายมัดการทำงานอย่างผสมผสานและเป็นลำดับต่อเนื่อง ไม่ได้ออกแรงหดตัวพร้อมกันทุกมัด ท่านนึกสภาพที่กล้ามเนื้อแข็งเกร็งพร้อมกันทุกมัด คือ สภาพร่างกายของคนที่ตายแล้ว 3 – 4 ชั่วโมง จนถึง 24 ชั่วโมง เส้นใยกล้ามเนื้อเล็กเกาะติดกันแน่นหลายมัด เนื่องจากไม่มีพลังงานให้กับเซลล์กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจะคลายออกไม่ได้จนโปรตีนเริ่มถูกย่อยสลายเอง เส้นใยกล้ามเนื้อจะหลุดออกจากกันได้           ถ้าท่านตื่นเต้น ตั้งใจมากเกินไปกล้ามเนื้อท่านจะเกร็งทุกมัด ทำให้ไม่สามารถควบคุมวงสวิงได้ เช่น ในการดาวน์สวิงก่อนอิมแพค ข้อศอกซ้ายท่านต้องเหยียดออก โดยใช้กล้ามเนื้อไตรเซ็ป (Triceps brachii ) ถ้าท่านเกร็งกล้ามเนื้อด้านหน้าข้อศอก กล้ามเนื้อไบเซ็ป (Biceps brachii) ข้อศอกซ้ายท่านก็จะงอทำให้ตีท้อปลูกหรือไม่โดนลูก รูปที่ 2 กล้ามเนื้องอข้อศอก (Bicep brachii) กล้ามเนื้อเหยียดข้อศอก (Triceps brachii)           วงสวิงของกอล์ฟเป็นการส่งแรงอย่างต่อเนื่องจากแขนไปที่ข้อมือไปที่หัวไม้กอล์ฟ แรงของกล้ามเนื้อต้องเริ่มออกแรงในการหมุนแขนซ้ายก่อนที่จะใช้แรงที่บังคับข้อมือ การดาวน์สวิงลงมาต้องไม่ตีลงมาจากข้างบน โดยรอให้หมุนแขนไหล่ซ้ายลงมาก่อนจนข้อศอกขวาอยู่ในระดับสะโพกจึงใช้แรงกล้ามเนื้อเหยียดข้อศอกบังคับข้อมือ เพื่อส่งแรงไปที่หัวไม้เข้าสู่จุดกระทบ (รูปที่3,4)           นักกอล์ฟสมัครเล่นส่วนใหญ่ มักจะเริ่มตีโดยใช้มือตีลงมาจากข้างบนทำให้ไม่มีแรงส่งไปที่หัวไม้และหน้าไม้จะเปิดทำให้ลูกสไลด์ รูปที่ 3 ไทเกอร์ วูดส์ ขณะทำดาวน์สวิงและส่งแรงไปที่หัวไม้ โดยเริ่มที่ใช้กล้ามเนื้อหมุนแกนลำตัวและแขนซ้าย ลงมาก่อนจึงเร่งใช้กล้ามเนื้อเหยียดข้อศอกของแขน ข้อมือขวา พร้อมถ่ายน้ำหนักตัวขณะอิมแพค รูปที่ 4 แสดงแรงของกล้ามเนื้อที่หมุนแขนซ้ายลงมาจะเริ่มต้นก่อนแล้วลดลง แรงของกล้ามเนื้อที่เร่งความเร็วหัวไม้ ผ่านข้อมือจะเริ่มทีหลังกล้ามเนื้อชุดแรก และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนผ่านจุดกระทบ           การส่งแรงจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ ท่านจะต้องใช้กล้ามเนื้อเหมือนเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ถ้าท่านเกร็งมากเกินหรือใช้กล้ามเนื้อจากความเคยชินที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน คือ การใช้มือตีลงมาจากข้างบน โดยไม่สัมพันธ์กับการทำงานของขา ลำตัวและไหล่ นอกจากจะไม่ได้เป็นการส่งแรงอย่างต่อเนื่องแล้วยังทำให้ระนาบของวงสวิงเสียไปอีกด้วย (swing plane) ข้อสรุปสำหรับท่านนักกอล์ฟ 1. ท่านควรจะจับไม้กอล์ฟให้ถูกวิธี เพราะมือของท่านเท่านั้นที่เป็นส่วนต่อไปที่ไม้กอล์ฟ ถ้าท่าน ไม่แน่ใจควรให้ครูผู้ฝึกสอนช่วยตรวจสอบ และท่านควรฝึกซ้อมด้วยตัวเองบ่อย ๆ จนมั่นใจว่าเมื่อจรดไม้กอล์ฟหน้าไม้กอล์ฟตั้งฉากกับทิศทางสู่เป้าหมาย หลังจากแบ็คสวิงแล้วเมื่อทำดาวน์สวิงกลับลงมาช้า ๆ ขณะอิมแพคหน้าไม้ยัง ตั้งฉากกับทิศทางสู่เป้าหมายเหมือนเดิม 2. ท่านฝึกวงสวิงโดยจะเริ่มเร่งความเร็วหัวไม้สู่จุดกระทบลูก เมื่อตำแหน่งของข้อศอกขวากลับมา สู่ระดับสะโพกขวา และมือพร้อมที่จะตีลูก สำหรับท่านนักกอล์ฟที่ตีลูกไม่ได้ระยะ ทิศทางไม่แน่นอน หรือนักกอล์ฟมือใหม่ควรมีครูผู้ฝึกสอนแนะนำดีกว่าฝึกด้วยตนเอง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บของนิ้วมือ

การบาดเจ็บของนิ้วมือ นักกอล์ฟอาชีพวัย 27 ปี มาพบผู้เขียนด้วยเรื่องปวดข้อนิ้วชี้ซ้ายมาก ตีกอล์ฟไม่ได้มา 2 เดือนแล้ว สาเหตุจากซ้อมกอล์ฟมาก แล้วปวดข้อกลางนิ้ว ไปพบแพทย์ 2 ครั้งแล้ว กำเหยียดนิ้วได้ปกติ แต่พอจับไม้กอล์ฟซ้อมไดร์ฟก็ปวดอีก ไม่กล้าซ้อมกลัวจะลงแข่งขันไม่ได้ไปตลอด ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่นักกอล์ฟอาชีพฝีมือดี ศิษย์เก่า คลาส เอ แห่งชาติรุ่นแรกสอบทัวริ่งโปร์ วันแรก ตี 7 เบอร์ดี้ 1 โบกี้ รวม 6 อันเดอร์พา ที่สนามสว่างรีสอร์ท สอบผ่านทัวริ่งโปร์ โดยมีคะแนน 1 อันเดอร์พาร์ สมควรที่จะได้รับการรักษาให้หาย สามารถเข้าไปแข่งขันระดับนานาชาติได้ การบาดเจ็บของนิ้วมือที่เกี่ยวกับกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเล่นกอล์ฟ ไม่ค่อยรุนแรงมากนัก ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้รับการรักษาให้เต็มที่แต่แรก หรือนักกอล์ฟบางท่าน อาจจะเห็นว่าไม่สำคัญ เนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวนิ้วมือ ทำงานได้ปกติ เล่นกอล์ฟก็พอได้บ้าง แต่จะปวดบวมได้ง่าย   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บของนิ้วมือ            การบาดเจ็บบริเวณนิ้วมือที่ มีกระดูกหัก ข้อเคลื่อนผิดปกติมาก ๆ ไม่ค่อยพบจากการเล่นกอล์ฟ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่อง การวินิจฉัย และการรักษา เพราะอาการปวดบวม การเคลื่อนไหวผิดปกติ, การตรวจทางเอ็กซเรย์จะทำให้การวินิจฉัยได้ชัดเจน ปัญหาที่มักจะมองข้ามคือการบาดเจ็บที่มองไม่เห็นความผิดปกติจากภายนอก การตรวจทางเอ็กซเรย์ ไม่พบสิ่งผิดปกติทำให้การวินิจฉัยยาก แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ต้องนึกถึงสาเหตุการบาดเจ็บที่อาจจะมองข้ามได้ ถ้าไม่รักษาให้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก จะมีผลทำให้การรักษายาก และเล่นกอล์ฟไม่ได้ดี การบาดเจ็บริเวณข้อกลางนิ้ว ( Proxipal interpholangal joint) ข้อนิ้วมือมี 3 ข้อ คือ  - ข้อโคนนิ้ว - ข้อกลางนิ้ว - และข้อปลายนิ้ว การเคลื่อนไหวของข้อกลางนิ้วจะเคลื่อนไหว              แบบบานพับ คืองอเหยียดได้อย่างเดียว ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้านข้างหรือหมุนได้ เนื่องจากลักษณะของนิ้วข้อและเอ็นยึดกระดูกด้านข้าง ( collateral ligament )จะเสริมสร้างความแข็งแรงของเยื่อหุ้มข้อให้เคลื่อนไหวในการงอเหยียดได้เท่านั้น  ในการเล่นกอล์ฟ นิ้วชี้ซ้ายที่จับด้ามไม้กอล์ฟ ขณะที่ตีกอล์ฟ ถ้ามีแรงกดจากด้ามไม้กอล์ฟมากเกินไป จะทำให้เอ็นยึดด้านข้างนิ้วฉีกขาดได้ อาจจะมีอาการปวดบวม ลักษณะผิดปกติอย่างอื่นเห็นได้ไม่ชัด ตรวจเอกซเรย์ไม่พบสิ่งผิดปกติ พัก 3-4 วัน ก็สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ ทำให้การวินิจฉัยค่อนข้างยาก และไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง ผลตามมาคือ ถ้ามีแรงกดทางด้านนิ้วชี้อีกก็จะทำให้เอ็นฉีกมากขึ้น ข้อนิ้วบวม ตีกอล์ฟไม่ได้ การวินิจฉัย 1. มีอาการปวดบวมบริเวณข้อกลางนิ้ว 2. กดเจ็บบริเวณที่เกาะของเอ็นยึดด้านข้าง (collateral ligament) 3. ตรวจความมั่นคงด้านข้างของข้อกลางนิ้ว ถ้ามีการฉีกขาดจะปวดมากขึ้น ถ้าเอ็นฉีกขาดมากข้อจะอ้าออกได้  4. ตรวจเอกซเรย์อาจจะไม่พบความผิดปกติ ถ้าสงสัยต้องตรวจในท่าจับนิ้ว ให้ข้อกลางนิ้วด้านที่สงสัยว่าอาจจะมีเอ็นขาดอ้าออก การรักษา 1. ระยะเฉียบพลัน ควรจะพัก ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวของนิ้วชี้ ถ้าบวมมาก ระยะ 4-6 ชั่วโมง แรกประคบด้วยความเย็น จนไม่มีอาการบวมเพิ่มขึ้น 2. ยึดนิ้วชี้ติดกับนิ้วกลาง ป้องกันการเคลื่อนไหวด้านข้างของข้อ ประมาณ 2 สัปดาห์ 3. ถ้ามีการฉีกขาดมาก ข้อหลวม ใส่เครื่องพยุงนิ้วไม่ให้มีการเคลื่อนไหว การป้องกันการเคลื่อนไหวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็นยึดข้อนิ้วมือ อาจใช้เวลา 1-3 สัปดาห์ ถ้ากดบริเวณที่ฉีกขาด ไม่เจ็บมาก และความมั่นคงของข้อดี ก็เริ่มเคลื่อนไหวได้ หรือพยุงนิ้วชี้ติดกับนิ้วมือให้เคลื่อนไหวไปด้วยกัน ป้องกันข้อยึดติด                ในกรณีที่เป็นเรื้อรัง นิ้วเริ่มเอียง ข้อยังหลวม ไม่ได้รับการรักษาแต่แรกนานเกิน 4-6 สัปดาห์แล้ว เช่นกรณีของนักกอล์ฟอาชีพที่มาหาผู้เขียน การรักษาค่อนข้างจะยาก การรักษาอาจจะไม่ได้ผลดี เหมือนกับการรักษาตั้งแต่แรก - ให้ใส่ แผ่นดามนิ้ว (finger splint ) ดัดให้ข้อนิ้วอยู่ท่าปกติ เฉพาะเวลากลางคืน - ในการซ้อมกอล์ฟใช้ปลาสเตอร์ยึดรั้งป้องกันไม่ให้ข้ออ้ามากขึ้น โดยใช้ปลาสเตอร์ยึดด้านข้าง ที่เอ็นฉีกไว้ - หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่มีแรงกดนิ้วชี้ทางด้านข้าง - แนะนำบริหารการงอ-เหยียดนิ้ว ป้องกันข้อยึดและบริหารให้กล้ามเนื้องอนิ้วแข็งแรงเพิ่มขึ้น - ถ้ารักษาเต็มที่ 4-6 สัปดาห์แล้ว ยังมีอาการปวดบวม และข้อไม่แข็งแรง อาจจะต้องพิจารณาผ่าตัด ซ่อมเอ็นยึดด้านข้างข้อนิ้วมือ ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ - การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณนิ้วมือ ถ้าพักรักษา 1-2 สัปดาห์ แล้วยังมีอาการปวดบวม มีจุดกดเจ็บ, งอเหยียดนิ้วไม่ปกติ หรือไม่สามารถเล่นกอล์ฟได้ตามปกติ จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาให้ถูกต้อง - การบาดเจ็บบางอย่าง อาจตรวจพบได้ยาก เช่นกระดูกหัก นักกอล์ฟ (Fracture hook of Hamate) กระดูกข้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือหัก ( Fracture scaphoid) ,เอ็นยึดข้อด้านข้างฉีก, เอ็นข้อปลายนิ้วขาดระยะแรก ๆ อาจไม่พบความผิดปกติ ถ้าท่านนักกอล์ฟยังมีอาการผิดปกติ และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์หลังการบาดเจ็บ อาจจะต้องนึกถึงภาวะบาดเจ็บที่วินิจฉัยได้ยากเหล่านี้ด้วย    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Golf Injuries

 Golf Injuries โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ           กอล์ฟ เป็นกีฬาที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น อิทธิพลจากการถ่ายทอดสดการแข่งขันสำคัญ ๆ ในรายการโทรทัศน์เกือบทุกสัปดาห์ รวมทั้งเงินรางวัลที่เพิ่มขั้น Superstar ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ๆ ก็เป็นภาพลักษณ์สำหรับเยาวชนที่ต้องการเอาเป็นแบบอย่าง เช่น Tiger Woods , Mitchel Wie ทำให้มีการส่งเสริมการเล่นกอล์ฟ ตั้งแต่เด็ก อายุน้อย ๆ รวมทั้งผู้ที่เริ่มหันมาสนใจเล่นกอล์ฟเมื่ออายุมากขึ้น หรือหลังเกษียณอายุแล้ว อันตรายหรือการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ ดูเหมือนว่าค่อนข้างปลอดภัย เมื่อเทียบกับการเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่ต้องมีการต่อสู้ปะทะกัน หรือการแข่งขันที่มีความเร็วสูง แต่การเล่นกอล์ฟมีอันตรายและการบาดเจ็บที่อาจจะมองข้าม ที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบ้านเรา และรายงานในวารสารต่างประเทศอีกมากมาย เช่น 1. การบาดเจ็บหรืออันตรายที่ไม่ได้มาจากวงสวิงของนักกอล์ฟเอง - อุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเกิดจากถูกลูกกอล์ฟ , ถูกไม้กอล์ฟตี, ไม้กอล์ฟ หักทิ่มแทงอวัยวะที่สำคัญ - ถูกฟ้าผ่าตาย - ถูกรถกอล์ฟชนตาย - ถูกผึ่งต่อย เสียชีวิตภายหลัง - อันตรายเกิดจากแสงแดด จากรายงานพบมะเร็งผิวหนัง จาก  นักกอล์ฟอาชีพหญิง 51 คน นักกอล์ฟหญิงสมัครเล่น 142 คน    นักกอล์ฟอาชีพชาย 4 คน นักกอล์ฟชายสมัครเล่น 11 คน 2. การบาดเจ็บจากการสวิงกอล์ฟ ของนักกอล์ฟมีสาเหตุหลายอย่าง - มีการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันมากเกิน - วงสวิงไม่เหมาะสม - การเตรียมสภาพร่างกายไม่พร้อม ก่อนการเล่นกอล์ฟ - สุขภาพไม่ดีมาก่อน - นักกอล์ฟที่เสียชีวิต ขณะเล่นกอล์ฟเป็นลมนำส่งโรงพยาบาลเสียชีวิต หรือเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหลายราย - การได้รับการบาดเจ็บมาก่อน รักษายังไม่หายเป็นปกติ การบาดเจ็บของนักกอล์ฟอาชีพ           ซึ่งไม่มีปัญหาที่วงสวิงที่ไม่ถูกต้อง มักเกิดจากการฝึกซ้อมหรือแข่งขันมากกินไป 80 % การบาดเจ็บอยู่ที่บริเวณหลัง และข้อมือ ส่วนอื่น ๆ ที่พบรองลงมา คือ ข้อศอกขวา, ไหล่, ข้อเข่า การบาดเจ็บของนักกอล์ฟสมัครเล่น           ได้รับการบาดเจ็บในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เกือบทั้งหมด ขึ้นอยู่กับวงสวิงที่มีการใช้ส่วนไหนมากเกินไป พบได้บ่อยที่หลัง, ข้อศอก, ข้อมือ, หัวไหล่, ข้อเข่า, คอ ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีการบาดเจ็บที่รุนแรง - มีรายงานกระดูกสันหลังยุบ ในนักกอล์ฟสตรีสูงอายุ  - นักกอล์ฟที่หัดเล่นใหม่ 18 ราย (เฉลี่ยเล่นกอล์ฟ 8 สัปดาห์) 15 รายพบ กระดูกซี่โครงหัก 3 รายกระดูกซี่โครงข้างขวาหัก ส่วนใหญ่กระดูกซี่โครงที่ 4, 5, 6 ตำแหน่งที่หักอยู่ตำแหน่งค่อนข้างไปทางด้านหลัง การป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับผู้อื่น  - เก็บรักษาไม้กอล์ฟในที่ปลอดภัย ไม่ให้เด็กเอามาเหวี่ยงเล่นเองได้ - เมื่อสอนเด็กเล่นกอล์ฟต้องให้ผู้ใหญ่แนะนำและเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย - เวลายืนต้องเว้นระหว่างจากผู้ที่กำลังสวิงกอล์ฟ อย่างน้อย 4 ช่วงไม้กอล์ฟ และไม่ล้ำหน้าไปในทิศทางของลูกกอล์ฟ ปัญหาการบาดเจ็บของนักกอล์ฟ 1. การซ้อมหรือการแข่งขันมากเกิน 2. เคยได้รับการบาดเจ็บมาก่อน ทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำ 3. ส่วนใหญ่พบที่หลัง, ข้อมือ, ข้อศอก, ไหล่, เข่า 4. การบาดเจ็บอาจไม่รุนแรง แต่ทำให้เล่นไม่ดี และอาจทำให้มีการบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น ข้อแนะนำ : - ก่อนการซ้อมและแข่งขันทุกครั้ง ต้องทำการอบอุ่นร่างกาย บริหารกล้ามเนื้อให้ ยืดเหยียดได้ดีก่อน - ควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และทนทาน เช่น การวิ่ง, ยกน้ำหนัก - แก้ไขวงสวิงให้ถูกต้องเพื่อลดการบาดเจ็บ และเล่นกอล์ฟได้ดีขึ้น จำเป็นต้องปรึกษาครูสอนกอล์ฟ - เลือกใช้ไม้กอล์ฟ, รองเท้าให้เหมาะสม  - เมื่อมีการบาดเจ็บควรหยุดเล่น ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก - ก่อนจะกลับมาเล่นใหม่ ควรหายจากการบาดเจ็บและสร้างเสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรงก่อน  การป้องกันอันตรายระหว่างการเล่นกอล์ฟ           อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากแสงแดด, การสูญเสียน้ำ, การบาดเจ็บจากการถูกลูกกอล์ฟ, อันตรายจากสัตว์ในสนามกอล์ฟ หรือจากฟ้าผ่า  ข้อแนะนำ : - ท่านนักกอล์ฟควรป้องกันอันตรายจากแสงแดด เช่น ทาครีมกันแดด ใส่หมวก เสื้อแขนยาว  - ดื่มน้ำให้มากพอก่อนและหลังการเล่น และควรดื่มน้ำระหว่างการเล่นไม่ต้องรอกระหายน้ำ  - ถ้ามีเหงื่อออกต่อเนื่องเกิน 1 ชั่วโมง ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ร่วมด้วย - ต้องรู้กฎมารยาทในการเล่นกอล์ฟ ก่อนที่จะสวิงไม้กอล์ฟ ต้องตรวจดูว่ามีผู้ใดยืน อยู่ใกล้ ๆ จนอาจเกิดอันตรายจากไม้ตีกอล์ฟ รอจนกว่าจะแน่ใจว่าผู้เล่นกลุ่มหน้าเดินพ้นระยะแล้ว - นักกอล์ฟไม่ควรจะเข้ามาในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย ต่อสัตว์ แมลงมีพิษ - เมื่อเกิดอันตรายจากฟ้าผ่าต้องหยุดเล่นกอล์ฟก่อน และรีบออกจากสนามทันที่ References M.R. Farrally and A.J. Cochran (1998). Science and Golf Ⅲ. Human Kinetics.Jobe, F.W., and Schwab, D.M. (1991). Golf for the mature athlete. Clin Sports Med,10 (2) ,269 – 282. McCarroll, J.R., and Gioe, T.J. (1982). Professional golfers and the price they pay.Physician SportsMed, 10 (7), 64 – 70. McCarroll, J.R., Retting, A., and Shelbourne, K. (1990). Injuries in the amateur golfer. Physician SportsMedm, 18(3), 122 – 126. 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์

ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์ โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี   ผิวหนังอวัยวะมหัศจรรย์           นักกอล์ฟอาชีพหลายท่านก็ประสบความสำเร็จในการแข่งขันทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศ นักกอล์ฟสมัครเล่นหลาย ๆ ท่านก็รับถ้วยอย่างต่อเนื่อง ก็ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ ท่านด้วยครับ ผู้ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ก็ขอให้พัฒนาต่อครับ “เราจะไม่ล้มเหลว ถ้าเราไม่ล้มเลิก” ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจ และสนับสนุนท่านนักกอล์ฟทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาฝีมือตัวเองอย่างต่อเนื่อง  2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้นำเสนอการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟที่พบได้บ่อย ๆ มีท่านผู้อ่าน และท่านนักกอล์ฟให้ความสนใจมาก หลาย ๆ ท่านได้มาจากต่างจังหวัดมาพบผู้เขียน ได้รับคำแนะนำ รักษาหายกลับมาเล่นกอล์ฟได้ดีแล้ว มีอันตรายอย่างหนึ่งที่เกิดจากการเล่นกอล์ฟ ในประเทศที่มีแดดจัด อากาศร้อน พบได้บ่อย ๆ คือ ปัญหาเรื่อง ผิวหนังแต่ยังไม่มีนักกอล์ฟท่านใดมาปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง ผิวหนังเลย ส่วนใหญ่จะไปหาหมอผิวหนังซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องดีที่สุด ผู้เขียนขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผิวหนัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านนักกอล์ฟ และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ผิวหนัง เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย พื้นที่ของผิวหนังประมาณ 2 ตารางเมตร หนักประมาณ 4.5 – 5 กิโลกรัม ความหนาโดยเฉลี่ย 1- 2 มิลลิเมตร ผิวหนังบางที่สุด คือที่หนังตา หนาประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หนาที่สุดที่ส้นเท้าประมาณ 4 มิลลิเมตร ผิวหนังประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น 1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นชั้นที่อยู่บนสุด 2. ชั้นหนังแท้ (Dermis) อยู่ใต้หนังกำพร้า ชั้นที่อยู่ใต้หนังแท้ (Hypodermis) ไม่ถือว่าเป็นส่วนของผิวหนัง เป็นชั้นไขมันซึ่งในชั้นนี้ ผู้หญิงจะมีความหนามากกว่าผู้ชายประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้หญิงมีผิวหนังที่นุ่มกว่าผู้ชาย และบางส่วนจะมีไขมันเกาะมากเพิ่มขึ้น เช่น บริเวณหน้าท้อง, สะโพก ต้นขา ชั้นของหนังกำพร้า 4 -5 ชั้น ในชั้นล่างสุดของผิวหนัง กำพร้าจะมีการแบ่งตัวอย่างบางต่อเนื่อง และดันเซลล์เก่าขึ้นไปด้านบนเรื่อยๆ เซลล์ผิวหนังจะสร้างเคอราตินซึ่งเป็นโปรตีนภายในเซลล์ช่วยให้เซลล์มีความเหนียวและกันน้ำได้ขณะเดียวกันเซลล์จะขาดเลือดมาเลี้ยงเป็นเซลล์ที่ตายและลอกหลุดออกไปทุกวัน ชั้นหนังกำพร้ามีเซลล์ 4 ชนิด 1. เซลล์ผิวหนัง (Keratinocyte) พบส่วนใหญ่ 90% 2. เซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocytes) พบได้ 8 % 3. เซลล์ช่วยป้องกันเชื้อโรค (Langerhans cells) 4. เซลล์ที่ส่งความรู้สึกไปยังเซลล์ประสาท (Merkel cells) หนังแท้ Dermis           ประกอบด้วย เส้นใยคอลลาเจน และเส้นใยอิลาสติค นอกจากนั้นยังมี หลอดเลือด กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ปุ่มประสาทพิเศษต่าง ๆ ที่รับความรู้สึกสัมผัส แรงกดดัน ความร้อน ความเย็นรับรู้ อาการเจ็บปวด หน้าที่ของผิวหนัง 1. ห่อหุ้มร่างกายให้คงรูปอยู่ได้ป้องกันเชื้อโรค , ป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลต (UV.light) จากแสงแดด 2. ควบคุมการเสียน้ำ เนื่องจากเซลล์ของผิวหนังชั้นบน ๆ เป็นเซลล์ที่ตายแล้ว และมีสาร ที่เคลือบบนผิวหนังป้องกันไม่ให้น้ำซึมผ่าน 3. ร่างกายควบคุมอุณหภูมิร่างกายที่ 37 องศาเซลเซียส โดยผ่านการทำงานของต่อมเหงื่อ 4. รับความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกร้อน หนาว สัมผัส ความเจ็บปวด 5. สังเคราะห์สารเมลานิน ทำให้ผิวสีคล้ำขึ้นหลังได้รับแสงแดด  6. สังเคราะห์เดอราตินในเซลล์ปกคลุมผิวหนังส่วนบน เป็นเซลล์ที่ลอกหลุดออกไปทุกวัน 7. สังเคราะห์วิตามิน D จากการได้รับ UV light ขนาดน้อย ๆ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ ตับ และไต และช่วยในการควบคุมระดับแคลเซี่ยม มีความจำเป็นสำหรับเด็ก ป้องกันเป็นโรคกระดูกอ่อน ในผู้ใหญ่ช่วยในการสร้าง และควบคุมให้กระดูกแข็งแรง 8. มีหน้าที่ในการสื่อความหมาย เวลามีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ จะทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น เวลากลัวตกใจ จะมีอาการหน้าซีด มือเย็น เวลาโกรธมีหลอดเลือดขยายตัวมีอาการหน้าแดง            การหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้าที่มายึดบริเวณผิวหนัง จะบ่งบอกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น การยิ้ม, อาการหน้านิ่วคิ้วขมวด, อาการโกรธ, ดีใจ , เสียใจ เนื่องจากผิวหนังมีหน้าที่หลายอย่างดังข้างต้น เมื่อทำงานร่วมกับส่วนที่เปลี่ยนแปลงจากผิวหนัง เช่น ผม ขน เล็บ ต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยควบคุมให้ร่างกายคงสภาพปกติ จึงนับว่าผิวหนังเป็นระบบหนึ่งของร่างกาย เรียกระบบห่อหุ้มร่างกาย (Integumentary System) การดูแลสุขภาพของผิวหนัง เป็นส่วนสำคัญมากสำหรับการมีสุขภาพที่ดี และเป็นส่วนสำคัญด้านธุรกิจที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาล ในเรื่องการรักษาความงาม การดูแลรักษาผิวพรรณให้สวยงาม หรือดูอ่อนกว่าวัย รวมทั้งการรักษา กระ สิว ไฝ ฝ้า จุดด่างดำต่าง ๆ อันตรายที่เกิดจากแสงแดด และการป้องกัน            การถูกแสงแดดมากเกินไป พบว่าเป็นมะเร็งของผิวหนังได้ มีรายงาน คนไข้มะเร็งผิวหนัง ปีละ 1 ล้านคนในประเทศอเมริกา 78% เป็น Basal cell Carcinoma มะเร็งจากเซลล์ชั้นล่างสุดของหนังกำพร้า มักไม่แพร่กระจาย 20% เป็น Squamous cell carcinoma มะเร็งจากเซลล์แบนบางของหนังกำพร้า อาจแพร่กระจายได้ 2% เป็น Malignant Melanomaมะเร็งจาก cell Melanocyte เป็นเซลล์ที่สร้างเม็ดสี (Melanin pigment ) อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากแพร่กระจายได้รวดเร็ว การรักษาที่ได้ผลดี คือการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก และผ่าตัดเอาออกให้หมด ลักษณะสำคัญของ Malignant Melanoma คือ A - Asymmetry รูปร่างไม่สมมาตร , ไม่กลม    B - Border ขอบไม่ชัดเจน เว้าๆ แหว่ง    C - Color มีสีแตกๆ ต่าง ๆ กันหลายสี ในก้อนเดียวกัน    D - Diameter เส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร ลักษณะของไฝปกติ (Normal Nevus) และ Malignant Melanoma ไฝธรรมดามีขนาดกลม สีเดียวกัน ขอบชัด ก้อนเล็กกว่า            นอกจากนั้น ยังมีรายงานในวารสารต่างประเทศ พบมะเร็งของผิวหนังทั้งในนักกอล์ฟสมัคร เล่น และนักกอล์ฟอาชีพ ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ  1. หลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตมาก ๆ คือ เวลา 10.00 - 15.00 น. หากจำเป็นควรใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม ใส่หมวกปีกกว้าง 2. ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นประจำ SPF 15-28 ในการเล่นกอล์ฟกลางแดดช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถ้าเล่นกอล์ฟมากกว่า 2 ชั่วโมง ควรใช้ SPFขนาดสูงๆ SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถในการป้องกันรังสี UV เป็นจำนวนเท่าของปกติที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด โดยวัดเป็นค่าพลังงานรังสี UV ที่ทำให้ผิวเริ่มแดง (MED – Minimum Erythema Dose)    SPF = MED ที่ทายากันแดด    MED ที่ไม่ได้ทายากันแดด 3 ถ้ามีอาการผิดปกติของผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก้อนที่มีลักษณะคล้ายไฝ โตเร็ว ขนาดใหญ่ ควรรีบพบแพทย์ 4. เรื่องการเสียน้ำ ควรดื่มน้ำก่อน ระหว่าง หรือหลังการเล่นกอล์ฟ เพื่อป้องกันการขาด น้ำ ถ้าท่านรอให้เกิดการกระหายน้ำ แสดงว่าร่างกายขาดน้ำแล้ว 5. การทำความสะอาดของผิวหนังบริเวณอับชื้น นิ้วเท้า ป้องกันเชื้อรา 6. มือเป็นบริเวณที่มีเชื้อโรคเกาะอยู่เสมอ จะเป็นอันตรายมากถ้าเชื้อโรคไปอยู่บริเวณอื่น เช่น แคะตา อาจทำให้ตาอักเสบ หรือจับของกิน ระหว่างเล่นกอล์ฟอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินอาหารได้  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

นักกอล์ฟหายใจอย่างไร……ขณะตีกอล์ฟ

 นักกอล์ฟหายใจอย่างไร……ขณะตีกอล์ฟ ท่านลองถามนักกอล์ฟในก๊วนเดียวกัน ขณะกำลังพัตต์ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้านัก กอล์ฟท่านนั้นมัวคิดเรื่องการหายใจ อาจจะลืมพัตต์ และพัตต์ลูกกอล์ฟไม่ลงหลุม   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี นักกอล์ฟหายใจอย่างไร……ขณะตีกอล์ฟ • ท่านลองถามนักกอล์ฟในก๊วนเดียวกัน ขณะกำลังพัตต์ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้านัก กอล์ฟท่านนั้นมัวคิดเรื่องการหายใจ อาจจะลืมพัตต์ และพัตต์ลูกกอล์ฟไม่ลงหลุม • ผู้เขียนลองถามนักกอล์ฟอาชีพฝีมือดีท่านหนึ่งว่า ขณะตีกอล์ฟหายใจอย่างไร นักกอล์ฟท่าน นั้นบอกว่าผมไม่ทราบจริง ๆ ว่าหายใจอย่างไร……ครับ เป็นคำตอบที่ถูกต้องแล้ว ไม่เช่นนั้นแล้ว คงจะต้องประกอบอาชีพอื่น เพราะถ้าไม่มีสมาธิระหว่างการตีกอล์ฟแล้ว ยากที่จะควบคุมให้ลูกกอล์ฟไปตามเป้าหมายที่ต้องการได้ • นักกอล์ฟที่กำลังตีกอล์ฟได้ดี ๆ วงสวิงจะราบรื่น การหายใจจะเป็นปกติ ไม่ติดขัด โดย จะไม่ได้สังเกตหรือไม่รู้ตัวว่าหายใจอย่างไรแต่ถ้าเกิดภาวะกดดัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสร้างความกดดันให้ตัวเอง แล้วควบคุมไม่ได้ จะทำให้การหายใจไม่เป็นจังหวะ หรือกลั้นหายใจ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ไม่สามารถจะควบคุมวงสวิงได้ ตามที่ต้องการ ถ้าเราควบคุมการหายใจให้ราบรื่นได้ดี ก็จะทำให้เราสามารถควบคุมวงสวิงได้ เช่นเดียวกัน           เรามารู้จักการหายใจ ให้ละเอียดเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ การควบคุมอารมณ์ และการตีกอล์ฟให้ดีขึ้นด้วย เราหายใจเข้าออกวันละ 25,000 ครั้งต่อวันอยู่แล้ว ดูเหมือนว่าเรามีประสบการณ์อย่างสูงตลอดเวลา ไม่น่าจะมีอะไรต้องเรียนรู้อีกแล้ว แต่ความจริงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราเข้าใจฝึกหัดบ่อย ๆ ควบคุมลมหายใจได้ เราจะมีสมาธิดีสามารถทำอะไรได้ดีขึ้น มากกว่าที่เราปล่อยให้จิตใจเราถูก รบกวนต่อสิ่งภายนอก ที่เราไม่สามารถควบคุมได้           ทุกเซลล์ในร่างกายของเรา ต้องการออกซิเจน เพื่อเอาไปใช้ในการดำรงชีวิต แต่ร่างกายเราไม่สามารถสะสมออกซิเจนไว้ได้ ในอากาศตามธรรมชาติที่ไม่มีมลภาวะเป็นพิษ มีออกซิเจนประมาณ 21 % ออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านผิวหนังได้ เราต้องหายใจเข้าโดยนำเอาอากาศที่มีออกซิเจนเข้าไปในถุงลมในปอด เพื่อฟอกเลือดที่ผ่านถุงลมมากมายในปอด เลือดเมื่อผ่านถุงลมในปอดแล้ว จะแลกเปลี่ยนเอาออกซิเจนเข้าไป แล้วขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียเข้าไปในถุงลม เมื่อเราหายใจออก ก็จะขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทิ้งด้วย การหายใจปกติ มีการหายใจ 2 ชนิด ร่วมกัน 1. การหายใจโดยใช้หน้าอก (Thoracic breathing) การหายใจจะมีการเคลื่อนไหวของช่องอก ทั้งกระดูกซี่โครง และกระดูกหน้าอก แต่หน้าท้องจะแบนราบไม่เคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย 2. การหายใจโดยใช้หน้าท้อง (Abdominal breathing) การหายใจที่มีการเคลื่อนไหวของผนัง หน้าท้อง โดยขณะหายใจเข้า ผนังหน้าท้องจะป่องออกมาด้านหน้า เวลาหายใจออกผนังหน้าท้องจะแบน ชิดไปด้านหลัง การหายใจชนิดนี้ใช้กระบังลมเป็นส่วนใหญ่ กลไกการหายใจ ของร่างกาย กล้ามเนื้อในการหายใจเข้าตามปกติ  1. กระบังลม (Diaphragm) เป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญที่สุด ในการหายใจ กระบังลมเกาะตามผิว ด้านในของกระดูกซี่โครงที่ 7-12 ,กระดูกลิ้นปี่ และกระดูกสันหลังระดับเอวอันที่ 1-3 โดยกล้ามเนื้อไปเกาะกันตรงกลาง เรียง Central tendon เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวจะทำให้ Central tendon ถูกดึงต่ำลงเพิ่มเส้นผ่าศูนย์กลางในแนวดิ่ง 2. กล้ามเนื้อซี่โครงชั้นนอก (External intercostal muscle) หดตัวยกกระดูกซี่โครงขึ้น ทำให้ทรวงอกขยาย ปอดที่อยู่ภายในทรวงอกจะถูกขยายออก ทำให้ความดันในถุงลมในปอดลดลงต่ำกว่าความดันในบรรยากาศ(ปกติ 760 mmHg.) ทำให้อากาศไหลเข้าไปในถุงลมในปอด จนมีความดันในถุงลมเพิ่มขึ้นเป็น 762 mmHg.  การหายใจออกตามปกติ           เป็นการคลายตัวของกล้ามเนื้อกระบังลม และถุงลมคลายตัวกลับสู่ภาวะปกติ และความดันในถุง ลมมากกว่าในบรรยากาศจะถูกดันกลับออกมาภายนอก ทำให้ความดันในถุงลมลดลงเหลือ 756 mmHg. น้อยกว่าในบรรยากาศเล็กน้อย  การเพิ่มการหายใจเข้าให้แรงขึ้น            ใช้กล้ามเนื้อยกกระดูกไหปลาร้า กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครงอันที่ 2-5 เพิ่มขึ้นทำให้ตั้งใจหายใจเข้าได้ เพิ่มมากขึ้น การหายใจออกมากขึ้น           เวลาตั้งใจหายใจออกเร็ว ๆ หรือการออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้อกระดูกซี่โครงชั้นใน (Internal intercostal muscle)ร่วมด้วย            ในภาวะร่างกายพัก จะหายใจแบบใช้กระบังลม เวลามีภาวะกดดัน เครียด ตื่นเต้น ตกใจกลัว จะหายใจโดยใช้หน้าอก กล้ามเนื้อหน้าท้อง หลังแข็งเกร็งใช้กระบังลมน้อยมาก หลังภาวะกดดันผ่านไป กล้ามเนื้อหน้าท้องคลายตัว จะเป็นการหายใจแบบผ่อนคลาย หายใจเข้าออกได้เต็มที่ รู้สึกเหมือนโล่งอก เป็นวิธีการหายใจแบบมีคุณภาพ ท่านนักกอล์ฟหลายคนจะรู้สึกว่า เวลามีภาวะกดดันรู้สึกหายใจไม่ปกติ เกร็ง บังคับวงสวิงไม่ได้ พัตต์กระตุก ซึ่งเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ลักษณะการหายใจ กล้ามเนื้อเกร็ง , กลั้นหายใจเป็นลักษณะปฏิกิริยาที่ติดตัวในทุกคน เรียก Trauma reflex ในสัตว์ต่าง ๆ ก็จะมีลักษณะเช่นนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเอาชีวิตรอด มีการหายใจน้อย ๆ กลั้นหายใจ เพื่อไม่ให้มีเสียง หรือเกิดการเคลื่อนไหว ไม่ให้เป็นที่สังเกตของศัตรู  การฝึก การเปลี่ยนแปลงการหายใจแบบเกร็งเป็นการหายใจแบบผ่อนคลาย 1. นั่งบนเก้าอี้ หรือบนขอบเตียง เท้ายันกับพื้นให้ลำตัว แขน คอผ่อนคลาย เริ่มเอนหลัง ลำตัว คอไปด้านหลังแบบผ่อนคลาย พร้อมหายใจเข้าช้า ๆ ให้รู้สึกเหมือนมีลมเข้ามาในท้อง นับ 1 ถึง 10 แล้วค่อยโน้มตัวมาข้างหน้า ก้มคอลงให้รู้สึกลมไหลออกมา แล้วนับ 1ถึง 10 ฝึกบ่อย ๆ จะรู้สึกหายใจแบบผ่อนคลาย เป็นการหายใจโดยใช้กระบังลม และให้ปอดขยาย และคลายออกได้เอง โดยไม่ต้องเกร็ง 2. เมื่อมีเวลาภาวะกดดัน เครียด หายใจเข้าช้า ๆ ให้รู้สึกท้องและซี่โครงส่วนล่างขยาย แล้ว ปล่อยออกช้า ๆ จนควบคุมความรู้สึกได้  3. ฝึกตีกอล์ฟ - นักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟได้ดีไม่เกร็ง วงสวิงรื่นไหลเป็นธรรมชาติ จะตีกอล์ฟ ขณะหายใจออก หรือเมื่อหายใจออกสิ้นสุดแล้วตีทันที โดยที่ท่านอาจจะไม่รู้ตัว - นักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟไม่ได้จังหวะ จะมีลักษณะหายใจเหมือนดูดลมหายใจเข้า แล้วกลั้น ไว้เป็นการหายใจแบบใช้หน้าอก เป็นลักษณะ Trauma pattern ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งติดขัด ท่านลองทดสอบด้วยตัวเอง 1. ตีกอล์ฟ 2-3 ลูก ขณะหายใจเข้า แล้วกลั้นไว้ 2. ตีกอล์ฟ 2-3 ลูก ขณะหายใจออก David Leadbetter แนะนำให้ปฏิบัติวิธีนี้โดยอ้าปากหายใจเข้าขณะจรดลูก หายใจออกช้าๆ ขณะเริ่มแบ็คสวิงแล้วหายใจออกเต็มที่ขณะทำดาว์นสวิง 3. ตีกอล์ฟ หลังจากหายใจออกหมดแล้วเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องไว้ เริ่มแบ็คสวิง ดาว์นสวิง จบวงสวิง แล้วผ่อนคลายให้หายใจเข้าเอง Gay Hendricks, Director of Academy for Concious Golf and Business, California พบว่าวิธีนี้ตีกอล์ฟได้แม่นยำกว่า ทดสอบหลาย ๆ ครั้ง ท่านจะรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่า ท่านตีกอล์ฟได้ดีในวิธีที่ 2 หรือ 3 คือตีกอล์ฟขณะหายใจออก หรือหายใจออกหมดแล้ว เช่นเดียวกับกีฬาประเภทอื่น เช่น นักยกน้ำหนัก หรือนักเทนนิส เวลายกน้ำหนัก หรือ ตีเทนนิส จะได้ยินเสียงพร้อมกับการหายใจออกด้วย  ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟ 1 ท่านลองหายใจแบบผ่อนคลาย โดยใช้กระบังลม เมื่อเวลาหายใจเข้าให้ท้องป่อง หายใจออกให้ท้องแฟบได้หรือไม่ ผู้เขียนลองให้นักศึกษาทำ ปรากฏว่านักศึกษาหลายคนทำไม่ได้ เพราะเวลาตั้งใจหรือเกร็ง กล้ามเนื้อกระบังลมจะไม่ทำงาน ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหน้าอกซึ่งต้องใช้แรงมากแต่ได้อากาศน้อย ท่านลองฝึกตามแบบฝึกที่ 1 ถ้ายังไม่เข้าใจลองนอนหงาย ชันเข่า งอนิ้วมือทั้งสองข้างเกี่ยวกันไว้ หายใจออกพร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย จิกนิ้วเท้า ดึงมือ เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา หน้าท้อง คอ ตลอดจนกล้ามเนื้อบนใบหน้า ให้มากที่สุด นานที่สุดจนหมดลมหายใจออก แล้วปล่อยคลายกล้ามเนื้อทั้งหมดทันที ท่านจะรู้สึกว่ามีลมหายใจเข้าเต็มที่พร้อมทั้งท้องป่องออก ตามด้วยหายใจออกเต็มที่โดยที่ท้องแฟบลง นี่คือการหายใจโดยใช้กระบังลม ให้ท่านฝึกหายใจโดยใช้กระบังลมบ่อยๆจนเป็นปรกติ ท่านจะออกกำลังได้มากขึ้น เหนื่อยน้อยลง 2 เลือกฝึกตีกอล์ฟขณะหายใจออก หรือหลังหายใจออกทันทีทำบ่อยๆจนชำนาญ จนตีกอล์ฟได้โดยไม่รู้สึกถึงการหายใจ เมื่อมีความกดดันให้ท่านหายใจเข้าออกยาวๆ ช้าๆ จนควบคุมลมหายใจได้ แล้วตีกอล์ฟขณะหายใจออกหรือหลังหายใจออกทันทีตามที่ท่านได้ฝึกไว้แล้วท่านจะสามารถควบคุมวงสวิงได้ 3 ท่านควรออกกำลังแบบแอโรบิค สัปดาห์ละ2-3ครั้ง จะช่วยให้การทำงานของระบบหายใจ และระบบไหลเวียนดีขึ้นอย่างมาก ท่านจะเล่นกอล์ฟได้ไม่เหนื่อย 4 ท่านควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบบหายใจ เช่น การสูบบุหรี่ การอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดีหรือมีมลพิษสูง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บข้อเข่า

การบาดเจ็บข้อเข่า โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บข้อเข่า            ในปี 2004 มีคำถามจากผู้ที่อยู่ในวงการกอล์ฟว่า เกิดอะไรขึ้นกับ ไทเกอร์ วู้ดส์ ผู้ซึ่งชนะ จาก 1999 – 2002 ในเมเจอร์มาแล้ว 7 ครั้ง และเป็น 4 ครั้งติดต่อกันซึ่งเรียกว่า Tiger Slam แต่ ไม่สามารถชนะในการแข่งขันอีกเลยเป็นเวลา 1 ปี ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้เปลี่ยนโค้ชจาก Butch Hamon เมื่อต้นปี 2003 และปรับวงสวิงภายใต้โค้ชคนใหม่ Hank Haney ผู้คนสงสัยกันมากมายว่าไทเกอร์ วู้ดส์ จะมีโอกาสกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกหรือไม่ รวมทั้ง Butch Hamon ด้วย เหตุผลที่สำคัญอันหนึ่งที่ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้ปรับวงสวิงใหม่ เนื่องจากวงสวิงเดิมทำให้มีการปวดเจ็บที่เข่าซ้ายและหลังสิ้นสุดการแข่งขันปี 2002ไทเกอร์ วู้ดส์ ได้รับการผ่าตัดส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) พบว่ามีน้ำในข้อเข่าและมีการฉีกขาด ยืดออกของเอ็นไขว้หน้า (anterior crudite legaunt) เอ็นไขว้หน้ามีหน้าที่สำคัญที่จะรักษาไม่ให้กระดูกข้อเข่าเลื่อนออกจากกันไปในแนวหน้า - หลังและรักษาความมั่นคงของเข่าในการเคลื่อนไหวและเล่นกีฬา ไทเกอร์ วู้ดส์ เขียนในหนังสือ How I play golf เมื่อต้องการเพิ่มระยะอีก 20 หลา จะใช้วิธีสะบัดขาซ้ายให้เหยียดตรง (Snap his left leg straight) แต่การเคลื่อนไหวใช้พลังโดยการหมุนสะโพกให้เร็วและหมุนขาซ้ายขณะที่งอเข่ารับน้ำหนัก และเหยียดตรงทันทีในขณะทำดาวน์สวิง ทำให้เกิดแรงบิดข้อเข่าซ้ายอย่างมาก ในปี 2002 ไทเกอร์ วู้ดส์ ให้สัมภาษณ์ Golf Digest magazine ว่ามีอาการเจ็บข้อเข่า ต้องกินยาแก้ปวดก่อนการเล่น และเวลาทำดาวน์สวิงควรพยายามเลี่ยงไม่ให้มีแรงกดบนข้อเข่ามากเกิน เรามารู้จักเรื่องกายวิภาคของข้อเข่า ความมั่นคงของข้อเข่าและการบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ เข่าให้แข็งแรงและยืดเหยียดได้ดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ  กายวิภาคของข้อเข่า           ข้อเข่า ประกอบด้วย กระดูกฟีเมอร์ (Femur) กระดูกทิเบีย (Tibia) กระดูกสะบ้าด้านหน้าข้อเข่า (Patella) บริเวณที่กระดูกทั้ง 3 ชิ้น สัมผัสกันจะมีผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน (Articular cartilage) คลุมอยู่และภายในข้อคลุมด้วยเยื่อบุข้อ (Synovial membrane)           ระหว่างผิวข้อกระดูกฟีเมอร์ และกระดูกทิเบีย มีหมอนรองข้อเข่ารูปร่างคล้ายตัว C รองอยู่ทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดแรงกระแทรกบนผิวข้อเข่า และช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อเข่า และช่วยให้น้ำหล่อลื่นข้อเข่าไปเคลือบผิวข้อได้ดีขึ้น          ความมั่นคงของข้อเข่าขึ้นอยู่กับกระดูกฟีเมอร์และกระดูกทิเบีย ที่ประกอบเป็นข้อเข่าที่ยังมีลักษณะปกติไม่แตกไม่ทรุด หมอนรองกระดูกข้อเข่าและเอ็นที่ยึดข้อเข่า รวมทั้งกล้ามเนื้อที่อยู่รอบ ๆ ข้อเข่า  กล้ามเนื้อที่สำคัญ คือ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าที่ทำหน้าที่เหยียดข้อเข่า เรียก Quadriceps muscles และกล้ามเนื้อที่อยู่ต้นขาด้านหลัง เรียก Hamstring muscles ถ้าส่วนต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งเสียไป หรือทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติก็จะเสียความมั่นคงของข้อเข่า ความมั่นคงของข้อเข่า จากเอ็นใหญ่ 4 เส้น 1. เอ็นเข่าด้านนอก (Lateral collateral ligament) 2. เอ็นเข่าด้านใน (Medial collateral ligament) 3. เอ็นไขว้หน้า (Anterior cruciate ligament) 4. เอ็นไขว้หลัง (Posterior cruciate ligament)   เอ็นเข่าด้านนอก, ด้านใน ช่วยป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เอียงไปด้านข้าง  เอ็นไขว้หน้า ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนไปด้านหน้า  เอ็นไขว้หลัง ป้องกันไม่ให้เข่าหลวม เลื่อนตกไปด้านหลัง              ภยันตรายที่เข่าบิดอย่างรุนแรงหรือภาวะที่ทำให้เข่าเคลื่อนมากกว่าปกติ เช่น ล้ม เสียหลัก ถูกกระแทรก เข่าเหยียดจนแอ่นไปทางด้านหลังหรือด้านข้างมากเกินไป จะทำให้เอ็นใหญ่ที่ยึดข้อเข่าฉีกขาดได้ อาจจะมีการฉีกขาดเพียงอันเดียวหรือหลายอัน หรือมีการบาดเจ็บร่วมกับผิวข้อแตก, หมอนรองข้อเข่าฉีกขาดร่วมด้วยก็ได้ ความรุนแรงของการฉีกขาดของเอ็น แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 มีการฉีกขาดภายในเนื้อเยื่อของเอ็น แต่เอ็นยังไม่ยึดหรือขาดให้เห็นชัดเจน ระดับที่ 2 เอ็นฉีกขาดบางส่วน ระดับที่ 3 เอ็นฉีกขาดแยกออกจากกันทั้งหมด อาการและการตรวจพบ              โดยทั่วไปการบาดเจ็บข้อเข่าจากการเล่นกอล์ฟมักไม่ค่อยรุนแรง นอกจากจะมีการเสียหลักล้มเช่น ยืนตีในบริเวณพื้นที่ต่างระดับ มักพบมีการบาดเจ็บบริเวณเข่าซ้ายในนักกอล์ฟที่ตีด้วยมือขวา เพราะจะมีแรงบิดและรับน้ำหนักบนเข่าซ้ายค่อนข้างมาก การบาดเจ็บที่รุนแรงจะพบได้บ่อยมากในกีฬาฟุตบอล, รักบี้, เทนนิส อาการมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ เช่น   ปวดบวมบริเวณข้อเข่า  กดเจ็บบริเวณที่เอ็นฉีก, บริเวณแนวข้อ ซึ่งเป็นตำแหน่งของหมอนรองข้อเข่า  เดินลงน้ำหนักไม่ได้หรือเดินแล้วปวดเสียวมากผิดปกติ  การงอเหยียดเข่าไม่ได้ เข่าติดในท่าใดท่าหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกิดหมอนรองข้อเข่าขาดไปขวางในข้อ  รู้สึกเข่าบวมหรือเกผิดรูป อาจเกิดจากเอ็นใหญ่ขาดหรือกระดูกแตก การตรวจพบทางด้านการแพทย์ 1. ตรวจน้ำหรือเลือดออกในข้อเข่า ซึ่งจะพบภายในข้อเข่าบวมมาก 2. ตรวจความมั่นคงด้านข้างข้อเข่า 3. ตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า 4. ตรวจการเคลื่อนไหว, หมุนเข่า เพื่อดูว่าหมอนรองข้อเข่าขาดหรือไม่ รูปที่ 3 การตรวจความมั่นคงในแนวหน้า – หลังของข้อเข่า ในท่านอนหงายงอเข่า 90 องศา  ถ้าดึงกระดูกใต้เข่าเลื่อนมาข้างหน้าได้แสดงถึงเอ็นไขว้หน้าขาด  ถ้ากดกระดูกใต้เข่าเลื่อนลงไปข้างหลังได้ แสดงถึงเอ็นไขว้หลังขาด เอ๊กซเรย์ข้อเข่า       เพื่อดูว่ามีลักษณะกระดูกหัก ข้อเคลื่อนหรือไม่ การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic surgery)             เป็นการตรวจภายในข้อเข่า จะได้การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการฉีดยาเข้าในเยื่อหุ้มไขสันหลังเพื่อให้ส่วนล่างของร่างกายชา ผู้ป่วยสามารถรับการผ่าตัดรักษาได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ใช้แผ่นรัดห้ามเลือดบริเวณต้นขา เพื่อที่ไม่ให้เลือดออกมากระหว่างการผ่าตัดรักษา             เจาะรูบริเวณด้านหน้าเข่าชิดกับเอ็นลูกสะบ้า ใส่ท่อโลหะขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 มิลลิลิตร ซึ่งมีเลนส์และท่อนำแสงส่อเข้าไปในข้อเข่าสามารถเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า โดยต่อภาพเข้ากับจอทีวีได้ ซึ่งจะเห็นส่วนต่าง ๆ ภายในข้อเข่า จะเป็นภาพขยายจากของจริงประมาณ 5 ถึง 10 เท่า สามารถจะอัดเป็นภาพวีดีโอ เพื่อมาดูภายหลังการผ่าตัดได้ รูปที่ 4 การผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อตรวจดูความผิดปกติในข้อเข่า                ในการตรวจโดยวิธีส่องกล้อง จะเห็นพยาธิสภาพต่าง ๆ ในข้อเข่า เช่น ผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน, เอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลัง, หมอนรองข้อเข่า, เยื่อบุข้อ เพื่อพบพยาธิสภาพหรือการผิดปกติก็สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ เช่น การทำผิวข้อให้เรียบ การเอาส่วนของหมอนรองข้อเข่าขวาออกรวมทั้งการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลังได้ การรักษาหลังผ่าตัด              ผู้ป่วยจะได้รับการพันเข่าด้วยสำลีหนา ๆ แล้วรัดด้วยผ่ายืดให้แน่นเพื่อไม่ให้บวมประมาณ 3 – 4 วันหลังจากนั้น ให้ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อหัวเข่าได้ การบริหารกล้ามเนื้อ, การทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด 1. หลังจากแผลหายดี ผู้ป่วยเริ่มบริหารกล้ามเนื้อเหยียดหัวเข่าได้ 2. เริ่มบริหารโดยไม่รับน้ำหนักที่เข่า เช่น การวายน้ำ, การขี่จักรยาน 3. การบริหารกล้ามเนื้อโดยใช้น้ำหนัก (Weight training) การบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Quadriceps) ยืนเกาะกำแพงหรือโต๊ะ งอเข่าตึง เท้าไปด้านหลังให้รู้สึกตึงต้นขาด้านหนาให้มากที่สุดนาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง  การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ (Hamstrings)           ฝึกงอเข่าข้างหนึ่ง เหยียดขาอีกข้างหนึ่ง โน้นตัวไปข้างหลังและข้างหน้ารู้สึกตึงด้านหลังต้นขาข้างที่เหยียด นาน 5 – 7 วินาที ทำซ้ำ 6 – 10 ครั้งทำทั้ง 2 ข้าง การบริหารให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กล้ามเนื้อ Quadriceps  นั่งเก้าอี้สูง งอเข่า ห้อยเท้า เหยียดเข่า ต้านกับแรงต้าน อาจจะใช้ถุงทราย, ยางยืด กล้ามเนื้อ Hamstrings  นอนคว่ำ งอเข่า สู้กับแรงต้าน อาจใช้น้ำหนักมัดไว้กับข้อเท้า หรือแรงต้านจากยางยืด ข้อแนะนำสำหรับท่านนักกอล์ฟ • ควรออกกำลังกายเป็นการอุ่นเครื่องให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น และข้อเคลื่อนไหวคล่องตัวก่อนการเล่นกอล์ฟ • เริ่มออกกำลงกายอย่างช้า ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น • ไม่ควรออกกำลังกายจนเกินขีดความสามารถ หรือเกิดอาการบาดเจ็บ • ควรออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ • การเล่นกอล์ฟควรเล่นในขอบเขตความสามารถของตัวเอง โดยคำนึงถึงเวลา (time) จังหวะ (tempo) และความสมดุล (balance) เป็นหลัก ซึ่งจะลดการบาดเจ็บของร่างกายได้มาก • ถ้าท่านมีการบาดเจ็บในข้อเข่า ทำให้เดิน เคลื่อนไหวได้ไม่ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การบาดเจ็บเส้นประสาทส่วนปลาย

การบาดเจ็บเส้นประสาทส่วนปลาย           ปัญหาที่แพทย์มักจะพบบ่อย ๆ เกี่ยวกับการบาดเจ็บของมือ แขน ที่เกี่ยวกับเส้นประสาท คือ ไม่ได้บอกผู้ป่วย ว่ามีการบาดเจ็บของเส้นประสาท ซึ่งบางครั้ง อาจจะวินิจฉัยไม่ได้ หรือละเลยการตรวจอย่างละเอียด นอกจากนั้น การวางแผนในการรักษา และบอกผลการรักษา รวมทั้ง การติดตามผู้ป่วยให้คำแนะนำการปฏิบัติของผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะผลของการรักษา เส้นประสาท ใช้เวลาแตกต่างกันมากอาจจะเป็นวัน เดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ             การมีความรู้พื้นฐานที่ดีเกี่ยวกับ การบาดเจ็บเส้นประสาท การเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย อธิบายผู้ป่วยถึงผลที่คาดหวังหรือการเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงเวลา จะทำให้ผู้ป่วยมั่นใจในตัวแพทย์ และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย สามารถติดตามผลการรักษาระยะยาวได้              ระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral nervous system) เชื่อมต่อกับระบบประสาทส่วนกลางคือ สมอง และไขสันหลังไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งประกอบด้วย cranial nerves และ spinal nerves บริเวณแขนและมือ เป็น spinal nerves ที่ออกมาจากคอ C5-T1 roots Spinal nerves ประกอบด้วย  Motor fibers ไปที่ end plates ของกล้ามเนื้อ Sensory fiber จาก recepters ที่ผิวหนัง, กล้ามเนื้อ, เอ็น, ข้อ Autonomic fiber ไปที่ หลอดเลือด, ต่อมเหงื่อและปุ่มรากขน (Hair follicle) การตรวจผู้ป่วย ที่สงสัยว่าการบาดเจ็บเส้นประสาทจึงต้องตรวจทั้ง 3 อย่าง คือ การตรวจ กล้ามเนื้อ (Motor) การตรวจความรู้สึก (Sensibility) และการตรวจ Symphathetic nerve ที่ไปเลี้ยงต่อมเหงื่อ (Sudomotor) การตรวจกล้ามเนื้อ (Motor) การตรวจการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ในกลุ่มที่เส้นประสาทไปเลี้ยงที่ได้รับการบาดเจ็บ การตรวจความรู้สึก (Sensibility) หลังการบาดเจ็บเส้นประสาท บริเวณแขน และมือ ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกบริเวณผิวหนังที่เส้นประสาทไปเลี้ยง บริเวณทรวงอกจะเป็นแนวตามเส้นประสาทชัดเจนแต่ที่แขน เนื่องจากเส้นประสาทจะรวมเป็น plexus ก่อนแล้วจึงแยกเป็น Median nerve , Ulnar nerve และ Radial nerve ไปเลี้ยงแขนและมือ การตรวจ (Sudomotor) ปกติบริเวณที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่ขาด จะไม่มีเหงื่อออกภายใน 30 นาที หลังจากได้รับการบาดเจ็บ   ลักษณะของเส้นประสาทเมื่อศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์             เส้นประสาทแต่ละเส้นจะถูกล้อมรอบด้วย connective tissueเรียก Endoneurium มี collagen fiber และ หลอดเลือดรวมอยู่ด้วย เส้นประสาทหลาย ๆ เส้นรวมเป็นกลุ่ม fascicle ล้อมรอบด้วย connective tissue เรียก Perineurium ซึ่งเป็นเยื่อหุ้มที่แข็งแรงช่วยป้องกันแรงกด (compression) และแรงดึง (distension) ต่อเส้นประสาท รวมทั้งป้องกันการซึมผ่านเข้าออกของสารละลายใน Axon (diffusion barrier)            กลุ่มของเส้นประสาท (fascicles) รวมกันอยู่ภายในเส้นประสาท (nerve trunk) โดยมีเยื่อหุ้ม connective tissue ที่หนาและแข็งแรงมีปริมาณค้อนข้างมาก เรียก Epineurium ซึ่งเมื่อตัดเส้นประสาทตามขวางจะพบ Epineurium ประมาณ 60 – 85 % ของพื้นที่หน้าตัด              Epineurium ยังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนนอกที่คลุมเส้นประสาททั้งหมด เรียก External epineurium, Epineurium ส่วนที่คลุมกลุ่มของ fascicle จะอยู่ชิดแน่นกับ perineurium เรียก Internal epineurium ในการผ่าตัดต่อเส้นประสาทเย็บที่ External และ Internal epineurium             Microcirculation เส้นประสาท มีเส้นเลือดเข้าไปเลี้ยงหลายแห่ง โดยผ่านเข้าไปใน loose areolar connective livens และผ่านทะลุเข้าไปในเส้นประสาทเป็น Intrinsic epineurial, perineurial และ endoneurial plexus ทำให้เลือดที่เข้าไปเลี้ยงเส้นประสาทแต่ละเส้นเลี้ยงเส้นประสาทได้ทั่วถึงเป็นระยะยาว ช่วยให้เลาะเส้นประสาทได้ง่ายขึ้นโดยตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงออก 1 – 2 เส้น โดยไม่มีผลกระทบต่อการไหลเวียนในเส้นประสาท และสามารถทำผ่าตัด Free Vascularized nerve graft ได้โดยใช้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเส้นประสาทเพียงอย่างเดียว             การดึงรั้งเส้นประสาท (stretching) ทำให้ Intrafascialar tissue pressure สูงขึ้น มีผลกระทบต่อการไหลเวียน Lundborg ศึกษาพบว่า การยืดเส้นประสาท 8 % มีผลกระทบต่อ venules เมื่อแรงดึงเพิ่มมากขึ้นโดยยืดเส้นประสาทให้ยาวขึ้น 15 % ทำให้ blood flow ใน arterials และ capillaries หยุดไหล ดังนั้น การเย็บเส้นประสาทที่ตึงมากเกินจะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของเส้นประสาท             Nerve excursions เส้นประสาทไม่ได้ยึดติดแน่นกับเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ แต่จะเคลื่อนไปมาได้ขณะที่มีการเคลื่อนไหวของข้อมือ ข้อศอก หรือหัวไหล่ ซึ่งมีความสำคัญในการป้องกัน เส้นประสาทถูกดึงรั้ง หรือย่นเข้ามา ขณะมีการเคลื่อนไหวของมือ หรือแขน   การเคลื่อนไหวของเส้นประสาทบริเวณเหนือข้อศอก ระหว่างการงอเหยียดข้อศอก            Median nerve เคลื่อนได้ 7.3 มม. Ulnar nerve เคลื่อนได้ 9.8 มม. บริเวณเหนือข้อมือ Median nerve เคลื่อนได้ 14.5 มม Ulnar nerve เคลื่อนได้ 13.8 มม.   บริเวณโคนนิ้วมือ digital nerve เคลื่อนได้ 3.1 – 3.6 มม. ระหว่างการเคลื่อนไหวของเส้นประสาทนี้ไม่มีผลกระทบต่อ microcirculation               การศึกษานี้ ช่วยอธิบายการเกิดภาวะ nerve compression และ nerve irritation ได้ เนื่องจากการเกิด edema และ fibrosis จะทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นประสาทได้น้อยลง ทำให้เส้นประสาทถูกยึดกับเนื้อเยื่อรอบ ๆ และเกิดการดึงรั้งของเส้นประสาทและการไหลเวียนลดน้อยลง ระหว่างการเคลื่อนไหวของข้อมือ และจะเป็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ             การผ่าตัดเลาะเส้นประสาทต้องพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ เส้นประสาทช้ำมากเกินไปเพราะจะทำให้ Excursion ของเส้นประสาทลดลงได้   Interaction between Neuronal cell body and target organ              เซลล์ประสาท ประกอบด้วย cell body , dendrites และ axon ไปยัง target organs มีการติดต่อทั้ง 2 ทางระหว่าง proximal part และ distal part ของ neurone โดย Anterograde และ retrograde axonal transport mechanisms End organds ได้รับการกระตุ้นจาก เซลล์ประสาท ขณะเดียวกันเซลล์ประสาท ก็ได้รับ Nurotrophic factors จาก end organs และ Schwann cell โดยผ่าน Retrograde axonal transport Axonal transport การส่งผ่านสารต่าง ๆ ระหว่างเซลล์ กับ target organs มี 2 แบบ   Fast transport จากเซลล์ประสาท ส่ง Membrane protein , secretary proteins และ peptides ไปยัง target organ และการ transport nerve growth factor, Neurotrophins ซึ่งสร้างจาก Schwann cell, skin, target organ กลับไปที่เซลล์ซี่งมีความจำเป็นสำหรับการเจริญและรักษาเซลล์ประสาทให้ดำรงอยู่ได้การขาด Nerve growth factor และ Neurotrophins ทำให้เซลล์ประสาทตายได้พบในกรณีที่มีการบาดเจ็บใกล้ ๆ กับเซลล์ประสาท อัตราความเร็ว fast transport 200 – 400 ม.ม. / วัน Slow transport เป็นการtransport ส่วนสำคัญของ Axon ในการงอกของ Axon หลังจากมีการบาดเจ็บ Slow transport อัตราความเร็ว 1 – 4 ม.ม. / วัน ซึ่งเป็นอัตราการงอกของเส้นประสาท   การเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาทเมื่อถูกตัดขาด               ส่วนของเส้นประสาทที่ตัดออกจากนิวเคลียส จะเสื่อมสลาย (degenerate) และถูกทำลายโดย phagocytosis ขบวนการเสื่อมสลายของเส้นประสาทส่วนปลายที่ถูกตัดขาดจากนิวเคลียสเรียกว่า Wallerian degeneration หรือ Secondary degeneration มีการเปลี่ยนแปลงของส่วนที่อยู่เหนือกว่าบริเวณที่ขาดด้วยเรียกว่า Primary , traumatic หรือ retrograde degeneration               เมื่อ Axon ถูกตัดขาดจะมีการเปลี่ยนแปลงของ Axon ส่วนปลายลงมาทั้งหมด การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าจะไม่ตอบสนองหลังจากการบาดเจ็บ 18 – 72 ชั่วโมง หลังจาก 2 – 3 วัน แล้ว Axon จะเสื่อมสลายหดตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลังวันที่ 7 จะมีเซลล์ Macrophages เข้ามากินชิ้นส่วนของ Axon และหมดไปใน 15 ถึง 30 วัน Schwann cell จะแบ่งตัวมากขึ้นเข้าไปแทนที่ Axon และ Myelin sheath Primary หรือ Retrograde degeneration เกิดขึ้นที่เส้นประสาทอย่างน้อย 1 node ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรง การบาดเจ็บและการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเหมือน Wallerian degeneration               Cell ประสาทมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นชัดเจนในวันที่ 7 หลังการบาดเจ็บ มีการบวมของ Cytoplasm และ Nnucleus จะเคลื่อนมาอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง (Eccentric placement) เซลล์ประสาทอาจจะตาย หรือฟื้นเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ขาด มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน หลังการบาดเจ็บ 4 – 6 สัปดาห์ เซลล์จะยุบบวมนิวเคลียสกลับมาอยู่ตรงกลาง                บริเวณที่ขาดจะมี Axon งอกออกมาอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชม.แรกหลังการบาดเจ็บ ถ้าส่วนปลายไม่ถูกตัดขาดแยกออกไป Axon ก็จะงอกเข้าไปแทนที่ตามเดิมไปยัง target organ การที่ Axon จะงอกไปในทิศทางใดได้รับอิทธิพลจาก Neurotrophic substances ในส่วนปลายของเส้นประสาทด้วย Axonal growth and orientation                Lundborg ได้ทดลองใช้ Y chamber ใน Silicone block proximal end ต่อเข้ากับ Sciatic nerve ปลายทั้ง 2 ข้าง ต่อด้วย nerve graft และ tendon graft พบว่ามี nerve structure งอกเข้าไปยังปลาย nerve graft ขณะที่เป็นเนื้อเยื่อเส้นเล็ก ๆ เข้าไปต่อกับ tendon graft    Cellular repair vs. Cellular proliferation เส้นประสาทเมื่อถูกตัดขาดจะสูญเสีย axoplosm ส่วนปลายจากที่ถูกตัดลงไปทั้งหมด             Axon regeneration เป็นการสร้าง axoplasm งอกลงไปส่วนจากเซลล์ประสาทตัวเดิม โดยจำนวนเซลล์ประสาทไม่เพิ่มขึ้น บริเวณรอบเส้นประสาทที่ขาดจะมี connective tissue cell เพิ่มขึ้นเป็นลักษณะของ Local wound healing process Classification of nerve injuries Seddon แบ่ง nerve injury เป็น 3 ชนิด   Neurapraxia เป็น physiologic ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาท Axonotmesis ส่วนของAxon ขาดแต่เยื่อหุ้มยังไม่ขาดออกจากกันจะเกิด degeneration ทางส่วนปลายลงไปทั้งหมด Neurotmesis เส้นประสาททั้งเส้นถูกตัดขาดออกจากกัน Sunderland แบ่ง nerve injury ตามความรุนแรงของเส้นประสาทที่ได้รับบาดเจ็บเป็น Grade 1-5   การตรวจร่างกายที่สำคัญที่เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บ                การตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อจะให้แน่นใจว่าไม่มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทบางครั้งอาจทำได้ยาก ถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ หรือผู้ตรวจอาจจะมองข้ามไป บางครั้งการตรวจร่างกายประเมินผลผิดพลาดจาก Variation ของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงที่มือหรือมี trick movement เช่น ให้ผู้ป่วยเหยียดนิ้วมือ ผู้ป่วยเหยียดไม่ได้จะงอข้อมือแทนทำให้เห็นว่าสามารถเหยียดนิ้วได้               Digital nerve ขาดอาจไม่ได้รับการวินิจฉัยถ้าไม่สงสัยไว้ก่อนหรือตรวจให้ละเอียด ในกรณีที่มี flexor tendon บริเวณนิ้วมือขาด ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะมี digital nerve เส้นใดเส้นหนึ่งขาดหรือขาดทั้ง 2 เส้นได้ ต้องตรวจความรู้สึกปลายนิ้วและเมื่อผ่าตัดต่อเอ็นต้องเปิดแผลดูบริเวณเส้นประสาทด้วยว่าปกติหรือไม่   การตรวจ Radial nerve ตรวจความรู้สึก ด้านหลังมือบริเวณ Web ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ การตรวจ motar ผู้ป่วยคว่ำมือให้ผู้ป่วยกระดกนิ้วหัวแม่มือให้กางออกลอยจากพื้นถ้าผู้ป่วยทำได้จะเห็น EPL tendon ชัดเจนแสดงว่า Radial nerve ปกติ การตรวจ Median nerve  ตรวจความรู้สึกที่ปลายนิ้วชี้ซึ่งเป็น Autonomous zone ถ้ามีความรู้สึกปกติแสดงว่าเส้นประสาทไม่ขาด ตรวจกล้ามเนื้อ Abductor policis brevisโดย ให้ผู้ป่วยกางนิ้วหัวแม่มือตั้งฉากกับฝ่ามือต้านกับแรงกดจากผู้ตรวจดูการเคลื่อนไหวและคลำบริเวณกล้ามเนื้อถ้ามีการหดตัวแสดงว่า median nerve ปกติ      การตรวจ Ulnar nerve ตรวจความรู้สึก autonomous zone ที่ปลายนิ้วก้อย ตรวจ Motar Dorsal interossei โดยให้ผู้ป่วยคว่ำมือปลายนิ้วแนบชิดพื้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวนิ้วกลางไปด้านข้างทั้ง 2 ด้าน โดยไม่ยกนิ้วให้ลอยจากพื้นถ้าทำได้แสดงว่าเส้นประสาท Ulnar nerve ปกติ     การรักษาการบาดเจ็บเส้นประสาท              ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บในกลุ่ม Neurapraxia, หรือ Grade 1 และ Axonotemesis ส่วนใหญ่หรือ Grade 2,3 ผลการรักษาดีไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ในกลุ่ม Neurotemesis หรือ Grade 4,5 ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดรักษาผลไม่ดี               ดังนั้น ต้องพิจารณาว่า การบาดเจ็บรุนแรงแค่ไหนสมควรจะรีบผ่าตัดหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้มีการบาดเจ็บรุนแรงเพิ่มขึ้นอีก หรือรอนานเกินในกลุ่มที่ต้องรีบผ่าตัดทำให้กล้ามเนื้อลีบและผลการผ่าตัดไม่ดี   การรักษาโดยไม่ผ่าตัด เป็นการป้องกันไม่ให้ข้อยึด ป้องกันผิวหนังที่ไม่มีความรู้สึกไม่ให้เป็นแผลและบริหารกล้ามเนื้อที่ยังดีให้แข็งแรง ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดรักษา ในกรณีที่การบาดเจ็บเส้นประสาทเป็นชนิด Neurotemesis หรือ Neurapraxia, Axonotmesis ที่มีสาเหตุจากการกดทับเช่นการ ดึงกระดูกเข้าที่ของ fracture humerus ทำให้กดทับ radial nerve การผ่าตัดรักษาต่อเส้นประสาท หรือแก้ไขสาเหตุการบาดเจ็บที่เกิดจากการกดทับ จะช่วยให้การฟื้นของเส้นประสาทกลับคืนมาได้ ข้อบ่งชี้ที่สำคัญมีดังนี้  ถูกของมีคมบริเวณเส้นประสาทเห็นเส้นประสาทขาด บาดแผลรุนแรง เช่น ระเบิด ควรเปิดล้างแผล ตรวจเส้นประสาทวางแผนในการต่อเส้นประสาทหลังจากแผลดีไม่มีการอักเสบติดเชื้อ การบาดเจ็บชนิดไม่มีแผล หรือแผลเป็นรูลึก เช่นถูกแทง ถูกยิง รักษาบาดแผล และติดตามรอดูว่าเส้นประสาทจะฟื้นกลับคืนมาในเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ภายใน 3 – 6 สัปดาห์ ตรวจ EMG ติดตามผลการรักษาถ้าไม่มี Reinneruation ของกล้ามเนื้อ ที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทที่บาดเจ็บพิจารณาผ่าตัดรักษา การดึงกระดูกเข้าที่ใส่เฝือก แล้วมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี Oblique fracture of humerus ซึ่ง radial nerve ทอดผ่านบริเวณ fracture อาจจะถูกหนีบระหว่างกระดูกได้ควรรีบผ่าตัดรักษา   เวลาที่ทำผ่าตัดหลังการบาดเจ็บของเส้นประสาท              การทำผ่าตัดต่อเส้นประสาทภายใน 6 – 8 ชม. ในรายที่แผลสะอาดจากถูกของมีคมเรียก primary repair ซึ่งถ้ามีความพร้อมทั้งแพทย์ผ่าตัดที่มีประสบการณ์ ห้องผ่าตัด เครื่องมือ กล้องจุลทรรศน์ หรือ loupe ควรรีบทำเลย ถ้ายังไม่พร้อม ไม่มีแพทย์ที่มีประสบการณ์อาจจะเลื่อนไปก่อน ผ่าตัดภายใน 5 – 7 วัน ก็ยังเรียก primary repair ได้ เพราะการผ่าตัดต่อเส้นประสาทควรจะทำให้ดีที่สุด ในครั้งแรก (First repair must be the best repair possible)                  การผ่าตัดต่อเส้นประสาท 7 – 18 วัน เรียก Delayed primary repair เช่น อาจต้องรอให้สภาพผู้ป่วยพร้อมที่จะรับการผ่าตัด หรือบริเวณแผลที่เส้นประสาทขาดไม่มีภาวะ การติดเชื้อ การผ่าตัดหลัง 18 วัน หรือ 3 สัปดาห์ไปแล้วเรียก secondary repair มักจะต้องตัด Neuroma และ Gleioma ที่ปลายประสาทและมีปัญหาเรื่องมีช่องว่างระหว่างปลายประสาท   ขั้นตอนในการผ่าตัดต่อเส้นประสาท               หลังจากเปิดแผลหาเส้นประสาท ควรจะเริ่มจากบริเวณเส้นประสาทที่ดีใกล้กับปลายประสาทที่ขาดทั้ง 2 ข้างแล้วค่อยหาปลายประสาท (Nerve stumps) จะทำได้ง่ายกว่าและหลีกเลี่ยงการไปตัดเส้นเลือดเส้นประสาทบริเวณที่ขาดเพราะมี Scar มาก   การเตรียมปลายประสาท (preparation of nerve stumps) ต้องตัดปลายประสาทจนเห็น fascsicles ที่ดีไม่มี scar แล้วจึงเตรียมต่อเส้นประสาทได้   Identification of Motor and Sensory Fascicles               การต่อ digital nerve ซึ่งมีเฉพาะ sensory fiber หรือ เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมีเฉพาะ motor fiber อย่างเดียว ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการต่อสลับกลุ่ม เส้นประสาท ที่เป็น mixed nerve มีทั้ง motor และ sensory fibers อยู่ด้วยกันการต่อสลับกลุ่มจะไม่ได้ผลการเลือกต่อให้เส้นประสาทเข้ากลุ่มเดิมหรือกลุ่ม motor และ sensory เหมือนกันจึงจะคาดหวังผลที่ดีได้   Anatomic technique ถ้าทำ Primary repair ยังเห็นกลุ่มเส้นประสาท และแนวเส้นเลือดที่มาเลี้ยงได้ชัดเจน Electrophysiological method ต้องทำผ่าตัดภายใน 2 – 3 วัน เพราะหลังจากนั้นการกระตุ้น dirtal part จะไม่ได้ผลเพราะมี degeneration ของ nerve ไปแล้ว Histochemical parameter โดยตัดปลาย stump ทั้ง 2 ข้าง ตรวจหาAcetylcholine esterase ที่หน้าตัดของ stump เพื่อมาเปรียบเทียบจัดกลุ่ม motor fiber เข้าด้วยกัน   วิธีเย็บเส้นประสาท   Epineurial neurorrhaphy  Group fascicular neurorrhaphy                การเย็บวิธีไหน ผลการรักษาไม่ต่างกันชัดเจน ขึ้นอยู่กับลักษณะของ Nerve stump ควรใช้พิจารณาหลักการที่เย็บให้เส้นประสาทเข้ากลุ่มกันถูกต้องมากที่สุด ปลายประสาทไม่มี Scar และ เย็บไม่ให้มี tension             ถ้าทำ Primary repair เลือกทำ epineurial repair ถ้า nerve stump แยกกลุ่มกันชัดเจนเย็บเป็น group fascicular repair 3. Partial neurorrhaphy เส้นประสาทขาดบางส่วนผ่าตัดเลาะแยก Nerve fibers ที่ดีออกจาก Neuroma ตัด Neuroma ออกแล้วเย็บเฉพาะส่วนที่ขาด โดยให้ Nerve fiber ที่ดีโค้งงอ โดยไม่ต้องตัดออก     การต่อเส้นประสาทเมื่อปลายทั้ง 2 ข้างของเส้นประสาทอยู่ห่างจากกัน Mobilization การต่อเส้นประสาทหลัง 3 สัปดาห์ ต้องตัด Neuroma จนเห็น fascicles ที่ดี จะมีช่องว่างเกิดขึ้น ระหว่างปลาย nerve stumps การเลาะเส้นประสาททั้ง 2 ปลาย อาจจะตัดเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณใกล้ ๆ stump ออกได้เพื่อที่จะดึงเส้นประสาทเข้ามาหากันได้ Position of extremity การต่อ Medial nerve, Ulnar nerve ที่ขาดใกล้ ๆ ข้อมือหรือข้อศอกการงอข้อศอกไม่เกิน 90 องศา หรืองอข้อมือไม่เกิน 40 องศา จะช่วยให้ต่อเส้นประสาทได้ แต่ถ้าต้องงอข้อศอกหรือข้อมือมากเกินไป หลังการต่อจะมีปัญหาเรื่องการเหยียดข้อ เพื่อให้อยู่ในท่าที่ทำงานได้ หรืออยู่ในท่าปกติไม่ได้ เพราะจะไม่รั้งเส้นประสาท Transportation Ulnar nerve ขาดบริเวณใกล้ ๆ ข้อศอกถ้าเลาะเส้นประสาทงอข้อศอกแล้วยังต่อไม่ถึงสามารถเลาะเส้นประสาทให้มาอยู่ด้านหน้าข้อศอก จะช่วยให้ต่อเส้นประสาทได้และงอเหยียดข้อศอกได้ Bone resection เส้นประสาทขาดร่วมกับกระดูก Humerus หัก ถ้าเป็น communited fracture อาจจะตัดปลายกระดูกให้เสมอกันและสามารถต่อเส้นประสาทได้ ไม่ทำ Bone resection ในกรณีที่ไม่มีกระดูกหัก Nerve grafting การต่อเส้นประสาทที่ตึงเกินทำให้มี Microcirculation ของเส้นประสาทเสียไปควรแก้ปัญหาโดยใช้ Nerve graft ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ Sural nerve graft เพราะมี donor defect น้อย และสามารถเอา graft มาได้ยาว 30 – 40 ซม.    การประเมินหลังการผ่าต่อตัดเส้นประสาท ใช้ Medical research council system   การผ่าตัด End to side nerve suture                 เริ่มมีรายงานการผ่าตัด โดยเอาส่วน distal part ของ nerve ที่ขาดไปต่อ End to side เข้ากับ donor nerve ที่อยู่ใกล้ ๆ โดยที่ไม่มี deficit ของ donor nerve และผลการผ่าตัด end to side nerve suture อยู่ในเกณฑ์ที่เปรียบเทียบได้กับวิธีมาตรฐานทั่วไป มีข้อดีที่ผ่าตัดง่ายกว่าไม่ต้องใช้ nerve graft เวลาในการ recovery ของ nerve เร็วกว่า เป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งในกรณีที่เส้นประสาทขาดหายค่อนข้างมาก ซึ่งอาจจะต้องคิดตามผลระยะยาว และผลการรักษาจากหลาย ๆ สถาบัน     References : Birch R. Nerve repair. In : Green’s DP. Green’s Opertive Hand Surgery. Fifth ed. Vol.1 : Churchill Livingstone, 2005; 1075 - 1112  Jobe MT. Nerve Injuries. In : Terry Canal . Campbell’s Operative Orthopaedics. Volume 4 . 9th ed . St louisL Mosby, 1998: 3429 – 3444 Jobe Mt. and Wright Ⅱ.Peripheral Nerve Injuries. In : Terry Canal . Campbell’s Operative Orthopaedics. Volume 4 . 9th ed . St louis L Mosby, 1998: 3827 – 3852 Lundborg G. Nerve Injuries and Repair . Churchill Livingstone. New York, 1988:   โดย นายแพทย์วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี การบาดเจ็บเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve injury)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดหลังอย่านอนใจ ภาวะกระดูกพรุนจะมาเยือน

ปวดหลังอย่านอนใจ ภาวะกระดูกพรุนจะมาเยือน พ.อ.นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา แพทย์ผู้ชำนาญการกระดูกและข้อ โรงพยาบาลวิภาวดี ให้สัมภาษณ์ ลง นสพ.ไทยรัฐ เตือนปวดหลังอย่านอนใจ ภาวะ กระดูกพรุน จะมาเยือน             จริงอยู่ที่ว่า การไม่มีโรคถือเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ใช่ว่าสังขารของคนเราจะควบคุมกันได้ดั่งใจนึก พ.อ.นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา เตือนว่า ปัญหาโรคกระดูกพรุน กำลังเป็นภัยร้ายที่คุกคามผู้คนทั่วโลก ภายใน 50 ปี คาดว่าจะมีผู้ป่วยกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนถึงนาทีละ 2 คน             คุณหมอวีระยุทธแจกแจงให้ฟังว่า ปัญหาใหญ่ของโรคกระดูกในปัจจุบัน คือ ภาวะกระดูกพรุนและหักง่าย ซึ่งมีคนไข้มารักษาที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน หลายๆคนต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น กระดูกสะโพกหัก บางคนมาหาหมอเพราะปวดหลัง หลังโก่ง หรือปวดกระดูกมากจนเดินไม่ได้ ซึ่งพวกนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะกระดูกพรุนทั้งนั้น โรคนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ขนาดองค์การอนามัยโลก ยังส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องโรคกระดูกพรุนแก่ประชาชนทั่วไป โดยเชื่อว่าภายใน 50 ปี จะมีผู้ป่วยกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนทั่วโลกถึงนาทีละ 2 คน              สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน คุณหมอบอกว่า มีสาเหตุได้จากหลายๆ กรณีแต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและหักง่าย คือ คนที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคไทรอยด์ และผู้ป่วยเรื้อรังที่ขาดสารอาหาร หรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังรวมถึงกลุ่มคนที่ขาดการออกกำลังกาย กินยาสเตียรอยด์ต่อเนื่อง ผู้สูงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือตัดรังไข่ทิ้งแล้ว คนที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่เป็นประจำ ก็ล้วนแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งนั้น              อย่างไรก็ดี คุณหมอกล่าวย้ำว่า คนส่วนใหญ่ยังคงมองข้ามความสำคัญของโรคกระดูกพรุน และมักปล่อยทิ้งไว้จนสายเกินแก้ จึงค่อยมาหาหมอ หลายๆคนมีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่รู้ตัวไม่ได้รักษา อย่างเช่น ได้รับอุบัติเหตุเล็กน้อย นั่งรถกระแทก พวกนี้ก็อาจทำให้กระดูกหักได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหัก อาจรุนแรงถึงขั้นพิการ เดินไม่ได้ด้วยซ้ำ              ถ้าจะให้ดีอย่าปล่อยให้ “โรคกระดูกพรุน” เป็นระเบิดเวลาที่ซุกซ่อนอยู่ในตัว สังเกตร่างกายตัวเองดีๆ หากมีสัญญาณบ่งชี้แม้เพียงเล็กน้อย ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกทันที ที่ “ศูนย์กระดูกและข้อ” โรงพยาบาลวิภาวดี โทร 0-2561-1111  กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) ภัยร้ายของหญิงไทย

โรคมะเร็งเต้านมถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของโลกที่ทำให้สูญเสียชีวิตของประชากรและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก พบมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในหญิงไทยรองจากโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดี มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เหมือนมะเร็งทั่วไป เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ เรื่องของยีน ซึ่งในคนที่มียีนที่เป็นมะเร็งเต้านมก็อาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนอื่น ลักษณะของกรรมพันธุ์ ประวัติของคนในครอบครัว หรือไม่ก็มีญาติเป็น ซึ่งญาติที่ดูว่าเราจะมีความเสี่ยง ในปัจจุบันเราสามารถที่จะตรวจสอบยีนได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีใครทำ สาเหตุของโรค สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ที่มีมากเกินไป เช่น มีประจำเดือนเร็ว หรือหมดประจำเดือนช้า คนที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก็จะมีความเสี่ยงเรื่องมะเร็งเต้านม หรือกินฮอร์โมนเสริมบางอย่าง เช่น กินยาคุมมา 10 หรือ 20 ปี หรือมีประวัติทำเด็กหลอดแก้ว ใช้ฮอร์โมนมากๆ ก็จะเสี่ยงมากขึ้น หรือการใช้ฮอร์โมนในวัยทอง หมดประจำเดือนไปแล้ว แต่เราก็ยังใช้ฮอร์โมนอยู่    อีกอย่างหนึ่งก็คือ หญิงสาวที่ไม่มีลูก ไม่เคยตั้งครรภ์ ก็เหมือนกับว่าร่างกายได้รับเอสโตรเจน รอบเดือน ได้รับตลอดตั้งแต่อายุสิบกว่า ถึงห้าสิบ ไม่เคยหยุด ฮอร์โมนก็ออกมาจากรังไข่ของเราเอง ซึ่งการตั้งครรภ์จะทำให้มีการพักของฮอร์โมน เพราะฉะนั้น คนที่เคยตั้งครรภ์ คนที่เคยให้นมลูก ก็จะลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ โดยเฉพาะมีลูกในอายุที่ไม่มากนัก เช่น ก่อน 35 ปี แต่ถ้ามีตอนอายุมากๆ ก็ไม่ต่างกัน    สาเหตุอื่นๆ เช่น โดนรังสี เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งป้องกันได้ไม่มากนัก อย่างเคยฉายแสงที่เต้านมมาก่อน  หรือฉายแสงที่อื่นแต่โดนเต้านมด้วย เช่น ฉายปอด ก็อาจจะมีความเสี่ยงมากขึ้นนิดหนึ่ง นอกจากนี้ อาจจะมีเรื่องของการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ก็อาจจะเป็นได้ อาการ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะมีอาการและอาการแสดงอย่างไรขึ้นกับระยะของโรค คือถ้าเป็นระยะเริ่มต้นมากๆ จะไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะตรวจค้นหาได้จากการทำเอกซเรย์เต้านม ซึ่งต่อมาก็จะเกิดก้อนแข็งที่เต้านมแต่ไม่เจ็บในบางรายอาจเห็นรอยบุ๋มของผิวหนัง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของหัวนมจากปกติมาเป็นหัวนมบอด เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นตามกาลเวลาก็จะลุกลามกินทะลุผิวหนัง แตกเป็นแผลหรือมีการอักเสบของผิวหนัง อาจเห็นเป็นลักษณะเหมือนเปลือกผิวส้ม และอาจมีก้อนที่รักแร้โตในข้างเดียวกับก้อนมะเร็ง ในบางรายอาจมีเลือดออกที่หัวนมซึ่งสาเหตุของเลือดออกที่หัวนมส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกในท่อน้ำนมที่ไม่ร้ายแรง และจะมีอีกส่วนน้อยที่มาด้วยแผลถลอกอักเสบเรื้อรังที่หัวนม ส่วนการเจ็บเต้านมเกือบทั้งหมดไม่ใช่จากมะเร็งเต้านม Checklist อาการของมะเร็งเต้านม มีก้อนที่เต้านม ( แค่ 15-20 % ของก้อนที่คลำได้เท่านั้นที่เป็นมะเร็ง) มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัวหนาผิดปกติ บางส่วนเป็นสะเก็ด หัวนมมีการหดตัวนม คัน หรือแดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม ( 20 %ของการมีเลือดออกเป็นมะเร็ง) เจ็บเต้านม ( มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่เจ็บ นอกจากก้อนโตมากแล้ว) การบวมของรักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต โดยทั่วไปมักมาโรงพยาบาลด้วยก้อนในเต้านม ก้อนในเต้านมที่มีลักษณะบ่งชี้  ไปในทางไม่ดีจะมีลักษณะดังนี้ โตเร็ว  แข็งขอบไม่ชัด  ติดแน่นกับเนื้อเยื่อรอบข้าง  ที่ใกล้เต้านมบริเวณดังกล่าวบุ๋มลงไป หรือผิวหนังมีลักษณะคล้ายผิวส้ม  มีหัวนมบุ๋มลงไป มีเลือดออกทางหัวนม  มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โตร่วมด้วย กลุ่มเสี่ยง มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยกว่า 12 ปี หมดประจำเดือนช้ากว่า 50 ปี ไม่มีประวัติการตั้งครรภ์ มีประวัติการใช้ฮอร์โมนเพศทดแทนเป็นเวลามากกว่า 5 ปี คนอ้วน เคยได้รับการฉายแสงที่หน้าอก ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การตรวจมะเร็งเต้านม คุณทราบหรือไม่ว่า “ มะเร็งเต้านม “ เป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับที่สองรองจากมะเร็งปากมดลูก โรคร้ายนี้อาจเกิดขึ้นกับคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว ดังนั้นการตรวจเต้านมเป็นประจำสามารถช่วยชีวิตคุณได้  การตรวจมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ก็จะเน้นตรวจ 2 อย่าง คือ ตรวจด้วยมือ และตรวจด้วยเครื่อง คนอาจจะเข้าใจผิดว่า ตรวจด้วยเครื่องอย่างเดียวพอ ซึ่งจริงๆ แล้วการคลำโดยศัลยแพทย์ หรือโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะได้ประโยชน์ เพราะใช้เครื่องอย่างเดียว บางทีในคนที่เต้านมเล็กๆ ซึ่งมันเป็นเครื่องหนีบ เหมือนทำกล้วยปิ้ง ซึ่งในคนที่เต้านมเล็กๆ นมจะไม่ค่อยเข้าเครื่อง เข้าแต่ตรงหัวนม จะหวังพึ่งเครื่องมากในคนที่เต้านมเล็กๆ ก็จะไม่ค่อยได้ผล การใช้มือช่วยด้วย คลำที่ขอบ คือตัวมะเร็งจะมีลักษณะของมัน เช่น มันแข็ง มันติด เป็นก้อนบุ๋ม ซึ่งการใช้มือตรวจก็จะช่วยในการแยกแยะพวกนี้   เครื่องก็เป็นองค์ประกอบไว้ดู หรือไว้เพื่อยืนยันการวินิจฉัย สำหรับเครื่องเราก็จะมีดิจิตอลแมมโมแกรม การอัลตราซาวด์ แมมโมแกรมก็จะดูหินปูน ส่วนอัลตาซาวด์ก็จะดูลักษณะว่าวัดเซนติเมตรได้ แล้วก็ดูว่าถุงน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ใช้คู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสุด การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast Self – Examination) 1. ยืนหน้ากระจก ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบายเปรียบเทียบเต้านมทั้งสองข้าง มีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ ประสานมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วกลับมาอยู่ในท่าเท้าสะเอวพร้อมสำรวจหาสิ่งผิดปกติ ให้โค้งตัวมาข้างหน้าโดยใช้มือทั้งสองข้างวางบนเข่า หรือเก้าอี้ในท่านี้ เต้านมจะห้อยลง ไปตรงๆ หากมีสิ่งผิดปกติก็จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น 2. นอนราบ  นอนในท่าสบายแล้วสอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ซ้าย ยกแขนซ้ายเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำพบก้อนเนื้อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอก ซึ่งมีเนื้อมากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งมากที่สุด ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางคลำทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ที่สำคัญคือ ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ วิธีคลำ ใช้มือซ้ายคลำเต้านมขวา มือขวาคลำเต้านมซ้าย ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง รวม 3 นิ้ว ในการคลำ กดเบาๆ และหนักพอประมาณเพื่อที่จะรับรู้ ว่ามีก้อนหรือไม่ การคลำในแนวก้นหอย โดยเริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่ง ถึงฐานเต้านมบริเวณรอบรักแร้ หรือเริ่มต้นที่บริเวณหัวนม วนเป็นวงกลมไปรอบๆ จนรอบ เต้านม การคลำในแนวขึ้นลง เริ่มคลำจากใต้เต้านมถึงรักแร้ แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำขึ้นและลง สลับกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทั่วทั้งเต้านม การคลำในแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐานแล้วกลับเข้าขึ้นสู่ยอดอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ให้ทำวิธีเดียวกันกับเต้านมด้านขวา ควรทำในทุกวัยเพื่อค้นพบสิ่งผิดปกติ อายุ 20 ปี ขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง ในช่วงอายุนี้ไม่จำเป็นต้องทำแมมโมแกรม อายุ 35 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมเป็นพื้นฐานและควรตรวจทุกๆ 2 ปี อายุ 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม ทุกปี อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี สำหรับผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจต้องตรวจแมมโมแกรมเร็วกว่าปกติ การป้องกัน การป้องกัน สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่ทราบแน่นอน การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ค้นพบให้เร็วที่สุด ดังนั้นจึงควร ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ เดือนละครั้ง ( Breast Self-Examination ) ตรวจเอกซเรย์เต้านม ( Mammography ) พบแพทย์ ( Physical Examination ) การรักษา ขั้นตอนการรักษานั้น คล้ายกับการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ อย่างแรกคือเราต้องเอาเซลล์นั้นออกไปก่อน ซึ่งการเอาออกก็ไม่ได้หมายถึงการเอาเต้านมออกทั้งเต้า คือหมายถึงเอามะเร็งออก ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายวิธีมากแต่วิธีมาตรฐานก็ยังคงเป็นแบบเดิมก็คือว่าเราต้องรู้ผลชิ้นเนื้อก่อน ไม่ว่าจะใช้เข็มเจาะ ดูดหรือตัดชิ้นเล็กๆ มาตรวจ ซึ่งถ้าเป็นมะเร็งจริงๆ มันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น ขึ้นอยู่กับอายุ ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อน ซึ่งถ้ายังเป็นไม่มาก เป็นน้อยๆ เป็นอยู่ห่างๆ และเต้านมยังดูดีอยู่ บางทีเราอาจจะไม่ต้องเอาเต้านมออกก็ได้ สามารถผ่าเอาแต่ตัวมะเร็งออกให้เกลี้ยง ร่วมกับการเช็คต่อมน้ำเหลือง และฉายแสงเต้านมที่เหลือ แต่วิธีมาตรฐานคือ ถ้าเราไม่ได้สนใจมากนักหรือมะเร็งก้อนใหญ่หรือไม่อยากฉายแสง การเอาเต้านมออกก็ยังเป็นวิธีที่มาตรฐาน แต่บางคนก็ไม่อยากเสียเต้านม หรือปัจจุบันเราก็มีการศัลยกรรมที่เสริมสวยเต้านมขึ้นมา อาจจะใช้เนื้อเยื่อตัวเอง หรือใช้ถุงซิลิโคนเข้ามาช่วย ก็สามารถทำได้ ก็ต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่ยังไงก็ต้องเอาเซลล์มะเร็งออกไปก่อน ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับเซลล์มะเร็งแล้วว่า จะใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย แล้วก็เรื่องของการใช้ฮอร์โมน ขึ้นอยู่กับชิ้นเนื้อที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักการก็คือ อันไหนใช้ได้และมีประโยชน์ต้องทำหมด ไม่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็ตาม สำหรับคนที่ตรวจเจอมะเร็งเต้านมเพียง 1 ข้าง และรักษาตามขั้นตอนแล้ว ต้องเช็คแมมโมแกรมเหมือนกัน เพราะว่ามีโอกาสเป็นซ้ำขึ้นมาได้ ก็เหมือนคนที่เคยเป็นก็อาจจะเป็นอีกได้ แต่ว่าถ้าเป็นก้อนเล็กๆ เซลล์คงตายไปตั้งแต่เคมีบำบัดแล้ว แต่เราก็ต้องเช็คอีกข้าง เพราะมีโอกาสเป็น 20-30% เหมือนกัน ต้องเช็คแมมโมแกรมทุกปีเหมือนเดิม ข้างเดิมเราก็ดูแลไป อาจจะเอกซเรย์ ทำอัลตราซาวด์ซ้ำ เหมือนตรวจมะเร็งทั่วไป ติดตามไปเรื่อยๆ ระยะเวลาหลังจากผ่าตัด และทำเคมีบำบัด ส่วนใหญ่ทั้งหมดจะจบภายใน 6 เดือน เริ่มผ่าตัดเสร็จแล้ว ถ้าไม่ดีจริงๆ ต้องให้เคมีบำบัด บางคนก็ให้ทุก 3 อาทิตย์ 6 ครั้ง หลังจากนั้นก็ดูชิ้นเนื้อว่ามีตัวรับฮอร์โมนไหม ถ้ามี ก็เป็นเรื่องของฮอร์โมนที่เป็นยาเม็ด อีก 5 ปี หรือบางคนมีเรื่องของยีนก็จะมีตัวที่เกี่ยวกับ gene turn tool ที่เป็นตัวยีนอยู่บนเนื้องอก อันนี้อาจจะมีการฉีดยาเดือนละครั้ง 1 ปี ก็แล้วแต่ชนิดของเนื้องอก แต่ทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นเรื่องหลัง หลักๆ แล้วก็อยากจะให้เน้นเรื่องการตรวจเช็คประจำปี เพราะการพบในระยะแรกๆ จะสำคัญที่สุด เพราะการรักษาอาจมีเปลี่ยนทุกปี เดี๋ยวก็จะมียาใหม่มาเรื่อยๆ มีเคมีบำบัดตัวใหม่ๆ มีฮอร์โมนตัวใหม่ๆ รวมถึงตารางการรักษาก็ยังเปลี่ยนเรื่อยๆ ต้องบอกก่อนว่า มะเร็งเต้านมอยู่ข้างนอก สามารถตัดออกไปได้ ทำให้เราตรวจง่าย เห็นชัด เมื่อเทียบกับมะเร็งตับ มะเร็งปอด ซึ่งอยู่ข้างในและไม่ค่อยมีอาการ ถ้ามีบางทีก็ลุกลามไประยะสุดท้าย มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ถ้าคุณผู้หญิงใส่ใจ คลำๆ ละเอียดๆ เดือนละครั้ง เห็นอะไรแปลกๆ รีบมาโรงพยาบาล จะสามารถทำนายโรคได้หลายๆ อย่าง ในระยะแรกๆ จะไม่เหมือนมะเร็งปากมดลูก และอีกส่วนหนึ่งก็คือ มะเร็งเต้านมการลุกลามมันก็จะเข้าต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มักจะเป็นทางของตัวมะเร็งเอง นั่นคือเวลาผ่า ก็จะผ่ามะเร็งเต้านมก่อน แล้วก็จะดูต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ว่าลุกลามไหม ไม่เหมือนมะเร็งตับ มะเร็งปอด พวกนั้นจะมีหลอดเลือดเยอะ  การลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงทำได้ง่ายมาก เช่น มะเร็งปอดอยู่ใกล้ขั้วต่อมน้ำเหลือง ใกล้ขั้วเส้นเลือดใหญ่ ใกล้หัวใจ เวลามันลามก็จะติดตรงนั้น แล้วก็จะลุกลามเร็วมาก มะเร็งเต้านมถ้าตรวจเจอในระยะแรกๆ แทบจะบอกได้เลยว่า หาย 100% ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการคลำเต้านมทุกเดือน ตอนอาบน้ำ หรือไม่ก็นอนคลำ โดยใช้มือฝั่งตรงข้ามคลำ ถ้าคลำแล้วเจออะไรแปลกๆ ก็ปรึกษาแพทย์ ควรเริ่มคลำตั้งแต่อายุ 20 กว่าก็ได้ ซึ่งก้อนส่วนใหญ่จะเป็นถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดา เหล่านี้ก็จะไม่มีความแข็ง กลิ้งไปกลิ้งมา มีโตๆ ยุบๆ ได้ นี่คือลักษณะของเนื้อปกติ หรือเนื้อดี แต่ถ้าเป็นเนื้อร้ายก็จะโตอย่างเดียว ไม่มียุบ แล้วก็แข็ง ขอบจะไม่ค่อยชัด จะติดๆ ไม่ค่อยกลิ้ง พวกนี้จะเป็นระยะเริ่มแรก แต่ถ้าเป็นท้ายๆ หนักเข้าก็จะเริ่มมีรอยบุ๋ม และแข็งไม่เคลื่อนที่ไปตามเต้านม สรุป หากพบว่าผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉันแต่เนิ่นๆ ตรวจร่างกาย รวมทั้งทำ mammogram เป็นการ x-ray เพื่อ check เต้านม ทำปีละครั้ง ไปเรื่อยๆทุกปี ด้วยความปรารถนาดี - คลินิกศัลยกรรม รพ.วิภาวดี  แพทย์ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ แผนกศัลยกรรม  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เตรียมสุขภาพรับมือกับฤดูหนาว

เตรียมสุขภาพรับมือกับฤดูหนาว นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี      คงจะเริ่มสัมผัสอากาศเย็นๆ แห้งๆ กันบ้างแล้วนะครับ แต่ละคนจะมีประสบการณ์กับฤดุหนาวที่แตกต่างกัน บางคนก็ชอบ เพราะรู้สึกสดชื่น เย็นสบาย แห้ง ไม่เหนอะหนะ แต่บางคนกลับไม่ชอบ บางครั้งกลัวหน้าหนาวไปเลยก็มี เพราะปัญหาบางอย่างมักที่เกิดตอนหน้าหนาว ยกตัวอย่าง เช่น พออากาศเริ่มเปลี่ยน โรคภูมิแพ้จะกำเริบ ตาและจมูก จะคันแห้งบวม จาม น้ำมูกไหล บางครั้งถึงกับเป็นไซนัสอักเสบ สาเหตุก็เนื่องมาจาก ภูมิแพ้ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และมีตัวกระตุ้น คืออากาศที่เปลี่ยนแปลง ความแห้ง ฝุ่น ละอองเกสร แม้แต่ความเครียด หรือการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ แต่พอเลยหน้าหนาว ตัวกระตุ้นหมดไป อาการเหล่านี้ก็ดีขึ้น โรคบางอย่างก็มักจะมาช่วงหน้าหนาว เช่น โรคติดต่อทางเดินหายใจ ไข้หวัด หัด สุกใส เป็นการระบาดของเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันทางลมหายใจ       ดังนั้นเราควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอ เน้นรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ ซึ่งมีวิตามินและเกลือแร่ เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมรับมือกับหน้าหนาว นอกจากนี้โรคผิวหนังบางชนิดก็จะกำเริบในช่วงที่อากาศหนาว อากาศแห้ง เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง ผิวจะแห้งมาก คัน เกาจนถลอกติดเชื้อ บางคนผิวแห้งแตกลายเป็นเกล็ดงูเกล็ดปลา โรคสะเก็ดเงิน หรือ เรื้อนกวาง ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่มักจะกำเริบในช่วงหน้าหนาว แต่ไม่ต้องตกใจนะครับ เพียงแค่เราต้องบำรุงรักษา ผิวหนังอย่าให้แห้งโดยเด็ดขาด อย่าอาบน้ำร้อน หมั่นทาโลชั่น หรือน้ำมันหลังอาบน้ำ จะเป็นการทดแทนหรือเคลือบน้ำไว้กับผิวหนัง และใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด เพื่อลดการระเหยของน้ำจากผิวสู่บรรยากาศ      ที่สำคัญนะครับ ต้องทำตัวเองให้สดชื่น ขจัดความขี้เกียจ ทำสมองให้แจ่มใส โดยการทานอาหารเช้าทุกวัน ครบหมวดหมู่ ทานอาหารที่ให้พลังงาน มีประโยชน์ต่อสมอง เช่น โอเมกา 3 จากปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน และ ทูน่า และ โอเมกา 6 จากน้ำมันงา น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน หลีกเลี่ยงอาหารหวาน หรือที่มีน้ำตาลมาก เลี่ยง ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่เป็น แอลกอออล์ และน้ำอัดลม ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีควันบุหรี่ หรือ มลพิษ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าทำตามนี้ได้ ผมเชื่อว่า ทุกท่าน จะไม่กลัวฤดูหนาว และจะเปลี่ยนใจมาชอบหน้าหนาวมากขึ้นด้วยครับ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

7 วิธี ดูแลผิวสวยใสในหน้าหนาว

7 วิธี ดูแลผิวสวยใสในหน้าหนาว นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี      เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิจะลดลง ความชื้นในอากาศจะลดลง ทำให้อากาศรอบๆตัวเราแห้ง น้ำในผิวหนังจะระเหยผ่านผิวหนังออกมาสู่บรรยากาศ ดังนั้น คนที่ไม่ดูแลผิวหนัง ปล่อยปะละเลย จะเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติเร็วมากกว่าคนที่มีสุขภาพผิวสมบูรณ์ ที่เห็นชัดๆ ก็คือผมจะหวียาก คันหนังศีรษะ แห้ง กระด้าง ริมฝีปากจะแห้งเป็นร่อง เป็นขุย เจ็บ ผิวหนังก็จะแห้งเป็นขุย คัน มีผื่น บางคนเกาเป็นแผลมีสะเก็ด ใส่เสื้อผ้าแล้วเจ็บ มีไฟฟ้าสถิตดูดเสื้อผ้า แต่ยังไม่สาย เพราะเรามี 7 วิธี ที่จะทำให้คุณมีผิวสวยใส ในฤดูหนาวมาฝากกัน 1. อย่าทำให้ผิวแห้งมากขึ้น อย่าทำลายสารเคลือบผิวธรรมชาติของเรา ได้แก่ อย่าอาบน้ำร้อน อย่าใช้สบู่แรง ควรเลือกใช้สบู่ที่เป็นกรดอ่อน ไม่อาบน้ำบ่อยเกินไป เลี่ยงการขัดผิว พยายามใช้โลชั่น ครีมหรือออยทาหลังอาบน้ำเสร็จทุกครั้งและระหว่างวัน 2. เลือกแชมพูสระผมอ่อนๆ และควรใช้คอนดิชันเนอร์ทุกครั้งหลังสระ เพื่อปรับสภาพปะจุไฟฟ้า ผมไม่ชี้ฟู หวีง่าย 3. ทาวาสลินริมผีปาก เท้า มือ บ่อยๆ 4. ใส่เสื้อผ้าปกปิดมิดชิด เพื่อลดการสัมผัสกับความแห้ง เป็นการลดการเสียน้ำจากผิวหนัง 5. หลีกเลี่ยงแดด ลมแรง ใช้โลชั่นหรือครีมกันแดดสม่ำเสมอ 6. การใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง เช่น ยารักษาสิว ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น ความดัน ไขมัน และทานยาลดไขมัน ยาขับปัสสาวะ ทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้ จำเป็นต้องดูแลมากกว่าปกติ เช่นเดียวกับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีผิวแห้งอยู่แล้ว ถ้าดูแลแล้วยังเอาไม่อยู่ เกิดอาการคัน มีผื่น รีบพบแพทย์ผิวหนังรักษาแต่เนิ่นๆ 7. ทานผักผลไม้ทานน้ำให้มากๆ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ  ... แล้วฤดูหนาว จะเป็นฤดูกาลที่มีความสุข ถ้าคุณดูแลสุขภาพผิวพรรณ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คืนความสดใส... ให้กระดูก ง่ายๆ กับ รพ.วิภาวดี

คืนความสดใส... ให้กระดูก ง่ายๆ กับ รพ.วิภาวดี “ คืนความสดใส... ให้กระดูก” ง่ายๆ กับ รพ.วิภาวดี      อยากมีชีวิตยืนยาว.. นอกจากต้องรู้เท่าทันทุกโรคภัย อย่าลืมหันมาให้ความสำคัญกับการดูแล “กระดูก” ด้วย เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไร หากมีชีวิตยืนยาวแต่ต้องนั่งเท้าคางอยู่บนรถเข็น!! ในงาน “คืนความสดใส .. ให้กระดูกคุณ” ที่ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.วิภาวดี จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีเคล็ดลับดีๆ เรื่องกระดูกมาเล่าสู่กันฟัง      เริ่มจากการป้องกันกระดูกไม่ให้ผุก่อนวัยอันควร นพ.ปิยะพันธ์ ธาราณัติ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ รพ.วิภาวดี อธิบายให้เห็นภาพว่า ผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุ 45 ปี ขึ้นไป กระดูกจะปิดตัว และรอวันเสื่อม เพราะร่างกายจะดูดแคลเซียมไปใช้งานทุกวัน การป้องกันที่ง่ายที่สุดคือการรับแคลเซียมอย่างเพียงพอตลอดอายุขัย ซึ่งปกติอาหารไทยต่อมื้อ มีแคลเซียม 400-500 มิลลิกรัม แต่ร่างกายคนเราต้องการ 1,200-1,500 มิลลิกรัม จึงควรเสริมด้วยแคลเซียม เม็ดและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเล่นเวท เพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ แอโรบิก เพิ่มความความแข็งแรงของระบบหัวใจ-หลอดเลือด จ๊อกกิ้งหรือวิ่งมาราธอน เพิ่มความคงทนต่อการใช้งาน โยคะ ไทเก็ก เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ ลีลาศ เพื่อการผ่อนคลาย ฯลฯ ทั้งนี้ ต้องดูให้เหมาะกับวัยและสุขภาพร่างกายของแต่ละคนเป็นสำคัญ      แค่ฟังเฉยๆ อาจไม่เห็นภาพ กูรูด้านโยคะ ป้าจิ๊-อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ เลยสาธิตโยคะท่าเด็ด “Half Moon” พิชิตอาการปวดหลัง และ Awkward Pose ป้องกันอาการปวดเข่าเอาไว้ ทำกันแบบง่ายที่บ้าน ขณะที่ ผศ.ดร.ราตรี เรืองไทย ผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกายในน้ำ เชียร์อัพการออกกำลังกายในน้ำว่า ช่างดีจริงๆ เพราะในน้ำมีแรงดัน เลยมีข้อดีช่วยลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ พัฒนาระบบไหลเวียนของเลือดและหัวใจ และทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ โดยสามารถทำเองได้ง่ายๆ ด้วยการเดินช้าๆในน้ำ แบะขา 45 องศา และใช้มือวักน้ำดันไปข้างหน้า เดินไปกลับวันละ 2 รอบ คราวนี้มาถึงเรื่องอาหารการกิน พญ.อัจจิมา สุวรรณจินดา แนะว่าการทานอาหารไม่ใช่แค่ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ แต่ต้องรับประทานสารอาหารให้ครบถ้วนด้วย ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งต้องเพิ่มสารอาหารที่เสริมสร้างความหนาแน่นให้กระดูก อาทิ แคลเซียมมีมากในงาดำและพริกไทยดำ ควรทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ แมงกานีส- แมกนีเซียม-ฟอสฟอรัส พบในน้ำสับปะรด ดื่มวันละ 1แก้ว ช่วยป้องกันการสลายของกระดูก โบรอน พบมากในกระหล่ำปลี ช่วยเพิ่มเอสโตรเจน ฯลฯ      นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยง ชา กาแฟ และอาหารรสเค็ม เพราะมีส่วนทำให้กระดูกเปราะง่าย ... แค่ขยันนำทิปเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าวข้างต้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน “กระดูก” คงไม่ผุ ไม่พรุน ง่ายๆ แน่นอน  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<