เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือภาวะโลกร้อน

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือภาวะโลกร้อน   ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพภูมิศาสตร์คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสโลกร้อนนี้มาแรงจริงๆ เพราะชีวิตประจำวันของเรานั้น เราเป็นผู้ที่บริโภคทรัพยากรบนโลกมากที่สุด           เรื่องสุขภาพในช่วงระยะที่ผ่านมา ผมสังเกตว่า จะมีคนไข้ที่มีอาการไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ ภายใน 1-2 วัน และเพิ่มปริมาณมากขึ้น แทบจะเรียกได้ว่า 60-70 % ของคนไข้ที่มาตรวจเลยทีเดียวครับ ไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนด้วยหรือเปล่า โดยทั่วไปคนไข้ที่มีอาการ ไข้สูงมาภายใน 1-2 วันแรก ก็จะมีได้หลายสาเหตุ แล้วแต่ว่าจะมีอาการร่วมไปทางใด เช่น บางคนปัสสาวะแสบขัด ก็อาจจะเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือกรวยไตอักเสบ ก็เป็นได้ บางคน ไอ เจ็บคอ ตรวจพบต่อมทอลซินบวมแดงเป็นหนอง ก็วินิจฉัยว่าต่อมทอลซินอักเสบ หรือบางคนเพิ่งเข้าป่ามาเมื่อ 2-3 สัปดาห์มาก่อน ก็อาจเป็นไข้มาลาเรียก็เป็นได้ ในหลายๆกรณี คนไข้มาด้วยไข้เฉียบพลัน ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดเอว เบื่ออาหารและคลื่นไส้ แบบนี้ก็ยากที่จะวินิจฉัยโรคเฉพาะเจาะจงครับ ก็ต้องอาศัยข้อมูลระบาดวิทยาว่า ช่วงนี้มีโรคใดที่ระบาดกันบ้าง อย่างช่วงนี้ก็สงสัย ไข้หวัดใหญ่ มากที่สุด ซึ่งอาการก็เป็นได้ดังที่กล่าวมาแล้ว สังเกตว่าคนไข้ที่มาหาส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัยทำงาน ไม่ค่อยได้พักผ่อน นอนดึก ตื่นเช้า หลายคนมีโอกาสออกกำลังกายน้อยมาก ในเมื่อร่างกายกำลังอ่อนเพลีย ประกอบกับเชื้อโรคกำลังเจริญเติบโตดีในสภาพอากาศแบบนี้ ก็ทำให้ผู้ที่รับเชื้อเข้าไปมีโอกาส เป็นโรคได้มากหรือบ่อยขึ้น          ครั้นถ้าเราเป็นแล้วจะรักษาอย่างไร?  สิ่งสำคัญที่สุด คือ การพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นภูมิคุ้มกันโรค เพื่อต่อสู้กับโรค เป็นเพราะว่า เชื้อไข้หวัดนี้เป็นเชื้อไวรัส ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ต้องอาศัยภูมิคุ้มกันของเราและรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ การดื่มน้ำสะอาด ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมาก แนะนำให้มารักษาตัวในโรงพยาบาลต่อไป เพราะฉะนั้นหากเราไม่ต้องการให้เป็นไข้หวัด ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้ที่มีอาการ ใส่หน้ากากปิดจมูกไว้ ล้างมือสม่ำเสมอ อยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่อยู่ในที่ๆมีผู้คนแออัดมากเกินไป รวมถึงการทำให้ร่างกายเรามีสุขภาพดีอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะอนามัยครับ          ไม่ว่าจะเป็นเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือภาวะโลกร้อน เราก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ที่สำคัญอย่าลืม ช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนกันด้วยนะครับ   นพ. ภาคิน โลวะสถาพร แผนกอายุรกรรมทั่วไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

จัดตู้ยาเตรียม พร้อมรับมือกับโรคไข้หวัด

 ในช่วงที่อากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ หลาย ๆ บ้านเจอปัญหาไข้หวัดเล่นงานซะแล้วหละครับ ยิ่งใครที่ชอบอวดว่าตัวเองแข็งแรงหวัดเล็กหวัดใหญ่ไม่เคยมากร้ำกรายก็ยิ่งต้องระวังเอาไว้ให้มากเพราะในตู้ยาบ้านคุณอาจจะขาดอุปกรณ์รับมือกับโรคหวัดและพอมันเข้ามาจู่โจมก็แทบตั้งตัวไม่ทัน จริง ๆ แล้วในช่วงหน้าหนาว จะมีคนป่วยเป็นไข้หวัดกันเยอะครับแถมยังมีสถิติด้วยว่่า ปริมาณคนป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี ดังนั้น เราจึงควรเตรียมตู้ยาประจำบ้านของเราเอาไว้ให้พร้อมเสมอครับ และยารวมทั้งอุปกรณ์ ดูแลรักษาไข้หวัด ในต่างประเทศจะเรียกว่า Flu Survival Kit ก็ล้วนเป็นยาและอุปกรณ์ทึ่เราหาซื้อได้ไม่ยาก ยาและอุปกรณ์หลาย ๆ อย่าง เช่น ยาแก้ไข้ แก้ปวด แก้ไอ แก้เจ็บคอ หรือยาลดน้ำมูก คุณผู้อ่านก็อาจจะมีอยู่ที่บ้านแล้วก็ได้ครับ คราวนี้เรามาแจกแจงกันให้ละเอียดเสียหน่อยดีกว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรจะจัดเตรียมแล้วเสมอครับ เพื่อที่จะรับมือกับไข้หวัดได้ทันท่วงที สิ่งที่เรามักใช้กันเมื่อเราเป็นหวัด ได้แก่ ยาลดไข้ บรรเทาปวด(Fever and pain reliever) ยาแก้ไอ(Cough syrups and drop) สเปรย์พ่นจมูก(Nasal sprays) ยาลดอาการแน่นจมูก หายใจไม่ออก(Decongestants) ปรอทวัดไข้ Thermometer กระดาษทิชชู แต่มีข้อควรระวังที่ต้องบอกกันก่อนนะครับ นั่นคือ ก่อนที่คุณจะให้ยาใด ๆดังที่กล่าวไว้ข้างต้น กับเด็กต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาแก้หวัด แก้ไอบางอย่าง มีฤทธิ์กดระบบประสาท อาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กๆได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีรวมถึงผู้ใหญ่ที่มีโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ก็ต้องระวังและต้องตรวจเช็คกับแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนที่จะรับประทานยานะครับ ที่นี้มารู้จักยาที่เรามักใช้ในการรับมือกับโรคหวัดครับ ยาลดไข้ กลุ่ม Acetaminophen หรือที่เรารู้จักกันดีคือ Paracetamol ยาในกลุ่มนี้ เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ๋ ไม่ระคายกระเพาะอาหาร สามารถลดไข้ บรรเทาปวดได้ดีพอสมควร ข้อควรระวังของยาในกลุ่มนี้คือ ยามีผลข้างเคียงกับตับได้ โดยเฉพาะผู้ที่ตับไม่ปกติ หรือ รับประทานเกินขนาดมากๆ อาจทำให้ตับพังได้ อีกอันคือ พวกแพ้ยา ซึ่งก็ห้ามทานอยู่แล้วคงไม่มีใครในโลกที่ที่เกิดมาแล้วไม่เคยกินยาลดไข้ ยาลดไข้เป็นยาที่อยู่คู่กับเรามาตลอด ตั้งแต่ผมจำความได้ ยาที่เรานิยมใช้กัน มี 2 กลุ่มคือ กลุ่ม NSAID (Non-Steroid Anti-inflamatory Drug) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า มันคือยาที่ลดการอักเสบ ทีไม่ใช่ Steroid ฟังดูอาจไม่คุ้น แต่ถ้าบอกว่า Aspirin หรือ Ibuprofen หรือ ทัมใจ ฯลฯ ยาพวกนี้ สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา เป็นยาที่สามารถลดไข้ บรรเทาปวดได้ดี ดีกว่า Paracetamol ด้วยซ้ำ แต่ก็มีฤทธิ์ข้างเคียงที่มากกว่า ไม่่ว่าจะเรื่องของการระคายกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด หรือ กระเพาะทะลุไปเลยได้ครับ นอกจากนั้นยังทำให้การทำงานของเกล็ดเลือดแย่ลง ทำให้เลือดหยุดยากขึ้น ในกรณีที่เป็นโรคไข้เลือดออก การทานยากลุ่มนี้ไป อาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้ง่ายๆ เลยครับ ยังไม่นับเรื่องการแพ้ยา ฯลฯ นั่นคือ ยากลุ่มนี้ จึงไม่เหมาะที่จะซื้อทานเอง โดยเฉพาะถ้้ายังไม่แน่ใจว่า เป็นโรคอะไรแน่ ควรไปพบแพทย์ก่อนครับ นั่นคือ ดูเหมือน Paracetamol น่าจะดูใช้ง่ายกว่า อันตรายน้อยกว่าครับ เป็นยาที่สามารถซื้อติดบ้านและทานได้ ถ้ารู้สึกมีอาการดังกล่าวครับ ยาแก้ไอ ยาดังกล่าวทำอะไรได้บ้าง และใช้อย่างไร แนะนำดังนี้ครับในการดูแลอาการไอนั้น จะมียาอยู่ 3 ประเภทคือ Expectorant ที่เราเรียกกันว่า ยาขับเสมหะ , Mucolytic หรือ ยาละลายเสมหะ และ Suppressant ยากดการไอซึ่งมีส่วนผสมของ Dextromethorphan สุดท้ายคือพวกยาอมทั้งหลาย ยาขับเสมหะ ละลายเสมหะ ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย มีขายตามร้านขายยา เราจะคุ้นหูมากๆจาก โฆษณาทั้งหลาย เช่น Bisolvon , Mucosolvan , ไอโคลิด ,มิวโคลิด ฯลฯ ก็พวกๆนี้ทั้งนั้น ยาพวกนี้จะทำให้เสมหะไม่ข้น สามารถไอออกได้ง่าย ทำให้ไม่มีเสมหะค้างมาก ก็จะหายไอไปเอง เป็นยาที่สามารถซื้อเก็บไว้บ้านได้ ทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ค่อยมีแพ้ยา หรือ ฤทธิ์ข้างเคียง ทานให้ตามขนาดที่กำหนดเป็นใช้ได้ ควรทานน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้เสมหะใสขึ้น  ยากดการไอ ยาพวกนี้จะใช้ได้ผลดี เมื่อมีอาการไอแห้ง ๆ และไม่มีเสมหะ ซึ่งมันจะทำให้เราไม่ไอ ข้อดีคือ เราจะรู้สึกสบายได้อย่างรวดเร็ว ไม่ไอ แต่ก็มีอันตรายที่สูง เนื่องจาก ยาบางชนิดในกลุ่มนี้ อาจมีการกดระบบประสาท ทำให้ง่วงซึม บางชนิดทำให้เกิดการเสพติด หรือ ในกรณีที่มีเสมหะมากๆ ยาชนิดนี้ จะไปกดการไอ ทำให้เสมหะไม่ออก อาจทำให้อาการไม่สบายของเรา ยิ่งไปกันใหญ่ นั่นคือ ควรระวังในการใช้ยา ไม่แนะนำให้ซื้อทานเอง โดยเฉพาะในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ยาอม ก็เป็นยาที่มีขายกันทั่วไปตั้งแต่ร้านขายยา ยันร้านสะดวกซื้อ ส่วนใหญ่ก็จะมีสรรพคุณ ส่วนประกอบคล้ายๆกันคือ มียาชา ทำให้เราไม่เจ็บคอ มี Menthol ทำให้เย็น โล่งคอ จมูก บางตัวก็อาจมียาฆ่าเชื้อนิดๆ หน่อยๆผสมลงไปให้ดูดี บางเจ้าก็เอาVitamin C ใส่ลงไปทำให้ อร่อย ช่วยแก้หวัด(หรือเปล่า) ยิ่งบางเจ้ามีการ Differentiated Product ให้หลากหลายทั้ง Sugar Free , เม็ดใส สวย ทำเป็นน้ำยาบ้านปาก กลั้วคอก็ยังมี ( แพงด้วยอีกต่างหาก)ฯลฯ พวกนี้ ก็เป็นยาที่ไม่ค่อยมีพิษภัยเท่าไหร่ สรรพคุณไม่ชัดเจน เหมือนยาผีบอก แต่ทานแล้ว มันก็ทำให้สบาย ชาที่คอ ไม่เจ็บคอ ถ้าไม่แพ้ หรือ ไม่ทานเกินขนาด ไม่น่ามีปัญหา ยาแก้น้ำมูก คัดจมูก แน่นจมูก ยาแก้ภูมิแพ้ บางทีเราก็เรียกว่า ยาแก้แพ้ ยานี้ ก็มีขายกันทั่วบ้านทั่วเมือง ที่เรารู้จักกันดีคือ ยา Chlorpheniramine เป็นยาเก่าแก่ กินกันมานาน ออกฤทธิ์ได้ดี (บางที ดีเกิน คือ ทั้งน้ำมูก น้ำลายแห้งไปหมด คอแห้งไปเลย) ราคาถูกมาก มากๆ ไปซื้อ 1 เม็ดคนขายอาจไม่พูดด้วย เพราะเขาขายกันเป็นร้อยเม็ดครับ ยานี้ ก็สามารถซื้อเก็บไว้บ้านได้ ทานได้ ช่วยลดอาการแพ้อากาศ หรือ น้ำมูกได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้ร่วมด้วยจะได้ผลดี ฤทธิ์ข้างเคียงคือ ยาทำให้ง่วงครับ บางคนอาจยิ่งชอบ กินแล้วจะได้นอนๆ ไปซะ ปัจจุบัน ก็มียาใหม่ออกมามากมาย คือ ทำให้ไม่ง่วง คอไม่แห้ง กินวันละครั้ง ออกฤทธิ์ยาว ยาพวกนี้ แนะนำให้ไปหาหมอดีกว่า เพราะราคาแพง การไปซื้อทานเองอาจไม่คุ้ม ถ้าแพทย์ดูแล้วไม่จำเป็น เพราะบางชนิด ยิ่งตัวที่ออกมาใหม่ๆ เม็ดเดียวซื้อ Chlorpheniramine ได้สัก300 เม็ดเลย ( นี่พูดจริงนะครับ) นั่นคือ ไปหาหมอดีกว่า ถ้าอยากกินยาแบบนั้น อาการคัดจมูก แน่นจมูก เป็นอาการที่ให้เรารู้สึกป่วยได้มากๆ เช่นเดียวกัน ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้มีหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน เช่น ยากินแก้แน่นจมูก พวกนี้ ได้แก่ยากลุ่ม Pseudoephredineที่เราคุ้นๆ กันในชื่อ Maxiphed , Actifed( อันนี้มียาแก้แพ้ผสมด้วย)เป็นยาที่ใช้ได้ดี มีทั้งแบบเม็ด และแบบน้ำสำหรับเด็กเป็นยาที่่หาซื้อได้ง่าย ส่วนตัวผมเอง ไม่แนะนำให้ไปซื้อยาทานเองครับ ยาพวกนี้ มีฤทธิ์ข้างเคียง เช่นทำให้ใจสั่น ปวดหัว เวียนหัวได้ ในเด็กอาจทำให้ฝันร้าย ร้องกวนได้  สเปรย์พ่นจมูก เป็นทางเลือกหนึ่งที่บางท่านชอบ โดยจะมีชนิดที่เรียกว่าSaline nasal sprays ครับการใช้ Saline nasal sprays จะช่วยทำความสะอาดจมูก และลดอาการแน่นเนื่องจากไข้หวัด ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น อีกทั้งสเปรย์ชนิดนี้ไม่มีตัวยาผสมอยู่ จึงสามารถใช้ได้หลายครั้ง อาจจะสัก 2ครั้ง ต่อชั่วโมงก็ยังได้ ส่วนชนิดที่เป็นยา ทั้งยาแก้แน่น หรือ Steroid พวกนี้ ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อมาพ่นเอง เพราะอันตราย บางตัวอาจทำให้ จมูกแน่นขึ้นหลังใช้ไปนานๆ จริงๆ ยังมียาอีกกลุ่ม ที่ปกติ แพทย์ไม่ค่อยได้ใช้ แต่ ชาวบ้านจะรู้จักมากกว่า คือ ยาที่นำยาที่กล่าว ๆมา มาผสมกัน All in One เลย ส่วนใหญ่จะเอา ยาลดไข้ ผสมยาลดน้ำมูก คือ เอา Paracetamol ผสมกับ Chlorpheniramine ครับ กินแล้วก็ลดได้ทั้งไข้ ทั้งน้ำมูก ที่เรารู้จักกันดี ก็พวก Tiffy , Decolgen ฯลฯ เวลาทีวี จะมีโฆษณาของยาทำนองนี้บ่อย โรงหนังก็ไม่เว้น ( แสดงว่ามันคงขายดีมากๆ) ส่วน Tylenol ซึ่งเป็น Brand ที่ดังมาก ก็ยังทำออกมาเลย ชื่อว่า Tylenol Cold พวกเราอาจไม่เคยได้ยิน (เพราะมันไม่ Sponsor เวลาถ่ายทอดกีฬาหนะ) จริงๆ มันก็ใช้ได้ดีนะครับ ก็ไม่ต่างจากการกินแบบแยกกัน แต่สิ่งที่ควรระวัง คือ เรื่องของขนาดยา ว่า แต่ละเม็ดมันมี ยาอะไร เท่าไหร่กี ่ มิลลิกรัม เพราะส่วนใหญ่ เนื่องจากยาหาง่าย คนก็กินเยอะ บางครั้งไปกินปนกับยาปกติอีก เพราะไม่ทราบว่ามันตัวเดียวกัน เช่นกินทั้ง Tiffy ทั้ง tylenol ซึ่งทั้ง2 ตัวก็มี Paracetamol เป็นส่วนประกอบทั้งคู่ บางครั้งอาจทำให้เกินขนาด หรือ บางทีไม่ได้ มีน้ำมูก แต่่พอกินยาแบบนี้ ก็ได้ยาลดน้ำมูกไปโดยไม่จำเป็นครับ ยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะ,ยาฆ่าเชื้อ หรือ Antibiotic หรือที่พวกเราๆ ชอบเรียกกันว่า ยาแก้อักเสบ (ไม่รู้ไปเอามาจากไหน แต่ก็เรียกกันแบบนี้ทั้งประเทศ)เป็นยาเอาไว้สำหรับฆ่าเชื้อโรค ซึ่งการใช้ยาในกลุ่มนี้ ่จริงๆแล้วควรได้รับการดูแลจากแพทย์ ไม่ควรซื้อยาเอง ยิ่งไปกวานั้นจริงๆ แล้ว โรคไขหวัด มากกว่า 80% เกิดจากเชื้อ Virus ครับ ซึ่งไม่ต้องทานยาแก้อักเสบ กินยาตามอาการ กินน้ำเยอะๆ นอนเยอะๆมันก็หายเองได้ครับ การทานยาแก้อักเสบพร่ำเพร่อ จะทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย ซึ่งทำให้รักษาได้ยากขึ้นอีกทั้งบางชนิดยังส่งผลถึงการดื้อยาโดยรวมของระบบเลยครับ นั่นคือ ไม่ควรกินเอง ควรไปพบแพทย์ครับ เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ เครื่องวัดไข้ก็มีหลายชนิดครับอุปกรณ์อีกชนิดที่ควรมีติดตู้ยาที่บ้านไว้ก็คือ ที่วัดไข้ ที่เราชอบเรียกกันแต่โบราณว่า ปรอทวัดไข้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่งเลยครับ เพื่อที่คุณจะได้วัดอุณภูมิร่างกาย และรับประทานยาลดไข้ เมื่อมีอาการไข้ เพราะบ่อยครั้งที่เราทานยาลดไข้ ไปโดยไม่มีไข้ หรือ บางทีก็คิดว่าคนใกล้ตัวมีไข้ เพราะเอามือที่ออกจากห้องแอร์ ไปจับหน้าผากเด็ก แล้วร้อนก็คิดว่า มีไข้ ปรอทแก้ว แบบที่ข้างในเป็นปรอทเลยที่แม่นยำมาก ตามหลักวิชาการเลย คือ ใช้อมใต้ลิ้น ข้อดีคือ ไม่ต้องใส่ถ่าน ไม่มีพัง ถ้ามันไม่แตกซะก่อน ราคาถูก ข้อไม่ดีของมันคือ มันดูยาก ต้องคนใช้เป็นเป็นไม่งั้น ดูไม่่ออก , ต้องใช้เวลาในการอม แล้ว รอ ถ้าเอาออกเร็วค่าอาจไม่ถูกต้อง ,ในเด็กจะใช้ยาก เด็กไม่อม กัด เอามาเหน็บรักแร้ ก็ไม่แม่นยำ ปัจจุบัน ปรอทแบบอมที่ทำออกมาเป็น Digital เช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องใช้เวลาในการอมเหมือนปรอทจริงๆ ที่วัดแบบแปะหน้าผาก ก็ราคาไม่แพง ใช้ง่าย แต่ ก็พังง่าย ไม่แม่นยำมากนัก แบบวัดที่หูโดยใช้Infrared ก็เป็นนิยมใช้กันมากขึ้น ทั้งที่บ้าน และ ตามรพ.ข้อดี คือ ใช้ง่าย ไม่ต้องรอนาน ข้อเสีย คือ ราคาสูง มีอายุการใช้งาน ต้องใส่ Battery, การวัดต้องวัดเป็น คือ ต้องให้แสงไปตกกระทบเยื่อแก้วหู ต้องมีการดึงใบหูร่วมด้วยอยากถูกต้องมิฉะนั้น ค่าจะผิดพลาด ในการวัดไข้นั้น มีข้อแนะนำอย่างหนึ่งคือ ถ้าวัดทางปาก ไม่ควรวัดทันทีหลังจากดื่มน้ำร้อน หรือน้ำเย็นนะครับ เพราะค่าอาจไม่ถูกต้องได้ ดื่มน้ำมากๆ ดื่มน้ำอะไรดี?เวลาไม่สบาย คนโบราณ ผู้หลักผู้ใหญ่ ก็มักจะบอกให้กินน้ำเยอะๆ ไม่ผิดหรอกครับ เพราะการดื่มน้ำเยอะ จะทำให้ระบบไหลเวียนทำงานได้ดี ลดความร้อน ช่วยให้เสมหะ ไม่เหนียว ไอออกได้่ง่าย น้ำที่ทาน เอา ง่ายสุดก็"น้ำเปล่า"นี่แหละครับ จะร้อนจะอุ่นจะเย็น ก็ได้ทั้งนั้น สมัยก่อนเขาชอบให้กินน้ำอุ่น เพราะมันไม่ระคายคอ ไม่ทำให้น้ำมูกไหลถ้าเราพวกแพ้อากาศเย็น แต่จริงๆก็ไม่ได้บังคับ ทานน้ำเย็นก็ได้ น้ำอื่นที่ทานได้ ก็อาจ"น้ำผลไม้" เพราะอาจได้วิตามินไปเสริม(อันนี้ก็ผีบอก อย่าไปจริงจังมาก คิดว่ากินแล้วอร่อยก็ OK แล้ว) แต่ถ้าหวานไป อาจทำให้อ้วนได้ครับ พวกน้ำเกลือแร่ถ้าเราไม่ได้มีอาเจียนหรือท้องเสียมากๆ ก็ไม่จำเป็นครับ น้ำที่ไม่ควรกินได้แก่น้ำอัดลม อันนี้แน่นอน ไม่มีประโยชน์ อาจทำให้แน่นท้อง ระคายกระเพาะ ทำให้อ้วน กินข้าวไม่ลง กินน้ำได้น้อยลง นม นี่บางคนเขาว่า อาจทำให้คลื่นไส้ แน่นท้อง แต่ถ้าเราไม่ได้เป็นก็น่าจะทานได้ครับ ปริมาณของน้ำที่ทาน บางคนก็ว่า 2 ลิตร 3ลิตร ต่อวัน จริงๆแล้วมันขึ้นกับกิจกรรมของแต่ละคน อากาศ แต่เอาง่ายว่าน้ำพอมั้ยคือ ดูน้ำที่ออกจากตัวเรา ไม่ต้องไปดูที่อื่นเลย มันคือ ปัสสาวะนั่นเอง ถ้าปัสสาวะเราสีใสดี แปลว่าเราทานน้ำได้เพียงพอครับ ก็ทานแบบที่ทำอยู่ต่อไป เพียงพอแล้ว แต่เราดูสีปัสสาวะแล้วสีเข้มมากแบบนี้แปลว่าทานน้ำไม่พอ จะกี่ิลิตรกี่แก้วต่อวันก็ไม่สนหละครับ ต้องทานให้มากกว่านั้น ยกตัวอย่าง คุณตำรวจจราจรยืนโบกรถทั้งวัน ทานน้ำวันละ3 ลิตร ก็อาจไม่พอ เพราะมันเสียไปทางอื่นหมด เทียบกับหนุ่ม Office เปิดแอร์นั่งโต๊ะมีคนชงกาแฟให้กิน กินน้ำวันละ 1.5 ลิตร ก็บ่นแล้วว่าปัสสาวะทั้งวัน อันนี้สามารถใช้ได้กับคนที่ไตทำงานปกติ สุดท้าย ที่ขาดไม่ได้ ก็ต้องพักผ่อนให้เพียงพอครับ นอนเยอะๆครับ นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์ทั่วไป  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง นพ. ธัญธรรศ  โสเจยยะ  อายุแพทย์โรคผิวหนัง รพ.วิภาวดี โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic  Dermatitis) และอาการของโรค         ท่านทราบหรือไม่ว่า  มีเด็กไทยที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี จำนวน 9-16 คนในทุก ๆ  100 คน  เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่เรียกว่า  Atopic  Dermatitis ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายในปีแรก และประมาณ 80-90% ของผู้ป่วยจะมีอาการเห่อครั้งแรกภายใน  5 ขวบปีแรก  โชคดีที่ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ จะดีขึ้นเมื่อเด็กเติบโตขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการของโรคต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่  สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่เชื่อว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังประมาณ 50 % มีโอกาสที่จะเป็นโรคหอบหืดต่อไป (โดยเฉพาะเด็กที่มีอาการของโรครุนแรง ) และประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น         ผื่นของโรคนี้มักจะขึ้นอย่างสมดุลซ้าย - ขวา ในเด็กทารกจะพบผื่นอักเสบบริเวณแก้ม  ลำคอ  บริเวณด้านนอกของแขนและขาทั้ง 2 ข้าง  ในเด็กอายุหลัง 2-3 ขวบขึ้นไป จะพบผื่นอักเสบกระจายบริเวณลำตัวข้อพับแขน  ข้อพับขาทั้ง 2 ข้าง  ส่วนในผู้ใหญ่จะพบผื่นอักเสบบริเวณมือและเท้า  และผื่นมักไม่รุนแรงเท่าในเด็ก การรักษาและการบรรเทาอาการ         เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค  รวมทั้งโรคนี้เป็นโรคผิวหนังอักเสบแบบเรื้อรัง  ปัจจุบันจึงยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้  แนวทางการรักษาจึงเป็นการรักษาผิวหนังที่อักเสบให้กลับมาเป็นผิวหนังที่ปกติ  และป้องกันการเห่อช้ำของผื่น  ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ  หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน  เพราะจะทำให้ผิวยิ่งแห้งและยิ่งคันใช้สบู่อ่อนๆ  หรือเลือกสบู่ที่มีส่วนผสมของไขมันมากหน่อย  หลังอาบน้ำควรใช้โลชั่นบำรุงผิวทาภายใน 3 นาที  และต้องใช้เป็นประจำ  ส่วนเสื้อผ้าควรเลือกที่ทำจากใยฝ้าย  ไม่ควรใช้ใยสังเคราะห์หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการเห่อของผื่น  เช่น  ความเครียด  ความร้อนหรือความเย็นมากเกินไป  ไรฝุ่น  อาหารบางชนิด  เช่น นม  ไข่  ถั่วลิสง  หากสังเกตว่าปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผื่นเป็นมากขึ้น         หากมีอาการของผื่นอย่างรุนแรงอาจใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนาน ๆ  เพราะอาจมีผลข้างเคียง  เช่น  ผิวบาง  ผิวแตกลายงา  หรือมีผลต่อระบบต่างๆ  ในร่างกายได้เมื่อยาถูกดูดซึมเข้าไปมากๆ  เช่นกดการเจริญเติบโตของเด็ก  เมื่ออาการของผื่นทุเลาลง  ควรเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์  เช่น Calcineurin  Inhibitors แทน  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการผื่นระดับน้อยถึงปานกลางแต่ถ้ามีการติดเชื้อมีตุ่มหนองคราบน้ำเหลือง  ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ  ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ  อาจใช้ยาแก้ชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการคันร่วมด้วย การป้องกันการกำเริบของผื่นอักเสบ (เห่อ)          ในรายที่เป็นเรื้อรังและมีการเห่อซ้ำบ่อย ๆ อาจทายากลุ่ม Calcineurin  Inhibitors   เมื่อเริ่มมีอาการและอาการแสดงของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังปรากฏขึ้น  เช่น  ผิวหนังแห้งตึงคันยุบ ๆ ยิบๆ มีอาการแสบ ๆ คันๆ ซึ่งจะช่วยหยุดหรือทำให้ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังลามช้าลง  และลดหรือป้องกันการกำเริบของผื่น (อาการเห่อ)  ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระยะยาวดีขึ้น        ปัจจุบัน  ทางเลือกใหม่ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่ไม่ใช่ยาทาสเตียรอยด์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม  โปรดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคภูมิแพ้  โรคผิวหนัง  หรือกุมารแพทย์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เส้นเลือดขอด(Varicose Vein)

เส้นเลือดขอด(Varicose Vein) โรคเส้นเลือดขอด เป็น โรคของหลอดเลือดที่พบบ่อยที่สุด           คำว่า เส้นเลือดขอด หรือ Varicose vein นั้น หมายถึง การที่หลอดเลือดดำในบริเวณใต้ผิวหนังชั้นตื้น (Superficial veins) มีการโต ขยายขนาด คดเคี้ยว ซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่าในขณะที่เรายืน อุบัติการณ์ของโรค           โรคนี้ มักพบใน สตรี อุบัติการณ์ เพิ่มขึ้นตาม อายุ น้ำหนักตัว จำนวนบุตร ความสัมพันธ์ กับ อาชีพที่ต้องยืนนั้น พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ ที่แน่นอน เช่น ยืนน้อย           อาจเป็นได้ ยืนมากๆ อาจเป็นน้อยกว่า อย่างไรก็ตามพบว่า การยืน หรือนั่งนานๆ ก็ มีส่วนที่ทำเกิด  สาเหตุ           ปัจจุบัน ยังไม่มีการระบุ แน่ชัดว่า สาเหตุที่แท้จริงนั้นเกิดจากอะไร มีสมมุติฐานมากมาย          สมมุติฐานที่เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ เกิดจากความผิดปกติ (Weakness) ของ ลิ้น(Valve) และผนังหลอดเลือด ซึ่งลิ้นในหลอดเลือดดำนั้น เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันเลือดไหลย้อนกลับ โดยปกติ ในหลอดเลือดดำจะมีลิ้นภายในเพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับ นั่นคือเมื่อเรายืน ลิ้นก็จะเป็นตัวป้องกันเลือดไหลย้อนลงมา ดังภาพซ้ายมือ เมื่อมีความผิดปกติ ของ ลิ้นและ ผนังหลอดเลือด เลือดไม่สามารถผ่านไปได้หมดทำให้เลือด ไหลย้อนกลับทำให้ เกิด การขยายตัวของเส้นเลือด เกิดการเสื่อมของความแข็งแรงของผนังหลอดเลือด จนกลายเป็นเส้นเลือดขอดตามมา  อาการ      • อาจจะมีอาการปวดแบบไม่มีแบบแผนที่แน่ชัด(Non-specific),รู้สึกว่าขาหนักๆเป็นผล มาจากการที่มีเลือดมา pool ที่ขา ทำให้เส้นเลือดที่ขาโป่งออก      • อาการจะแย่ลง เมื่อยืน หรือ นั่งนานๆ จะดีขึ้นเมื่อยกขาสูงกว่าหัวใจ      • ปกติ จะไม่มีบวม อาการบวมอาจเกิดจากมีความผิดปกติ ของหลอดเลือดชั้นลึกด้วย      • อาการปวดกล้ามเนื้อเวลานอนมักไม่ค่อยมีถ้ามีอาจต้องสืบค้นเพิ่มเติมอาจมีเรื่อง ของหลอดเลือดแดงร่วมด้วยได้  การรักษา          การรักษา แบ่งเป็น 2 อย่าง      1.การรักษาแบบ ประคับประคอง(Conservative treatment) โดยทั่วไป จะใช้วิธีนี้ ซึ่งจะเน้นหนักไปทางการป้องกัน และรักษาตามอาการมากกว่า ซึ่งสามารถทำได้โดย สวมถุงน่อง ชนิดพิเศษ ซึ่งจะมีความหนา และแน่น กว่าถุงน่องทั่วไป โดยทั่วไป จะมี ความดัน อยู่ในช่วง 20-30 mmHg การสวมจะต้องสวมตั้งแต่ โคนขา ถึง ข้อเท้า สวมน้อยกว่านี้ เช่น เฉพาะตรงเส้นเลือด ไม่ได้ผล      2.การรักษาแบบเฉพาะ (Specific treatment) ซึ่ง จะทำการรักษา แบบนี้ เมื่อ มีอาการมากขึ้น มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น รวมทั้ง ในแง่ความสวยงาม ภาวะแทรกซ้อนของโรคเส้นเลือดขอด มีดังนี้       -เลือดออก      -มีแผลเรื้อรัง ไม่หาย      -มีผิวหนังอักเสบ      -มีภาวะเส้นเลือดอุดตัน  การรักษา แบบนี้ มี 2 อย่างคือ      1. การฉีดสาร Sclerosing เข้าไปในหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้ เส้นเลือดนั้น ฝ่อ แล้วยุบตัวไป นิยมทำกันในเส้นเลือด ขนาดเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก หรือ ใช้กับ เส้นเลือดที่หลงเหลือ หรือเป็นซ้ำ หลังจากการผ่าตัด  ข้อดี คือ      - ไม่ต้องผ่า ไม่ต้องนอน รพ. ภาวะแทรกซ้อนจากการฉีด       - แพ้สารที่ฉีดได้      - อาจเกิด เส้นเลือดอุดตันได้      - มีผิวหนังอักเสบ ถ้ายาที่ฉีด มีการซึมออกนอกเส้นเลือด      2. การผ่าตัด               เหมาะกับ หลอดเลือด เป็นยาวเกือบทั้งขา ขนาดใหญ่ ไม่สามารถฉีด Scerosing Agent ได้ ไม่ว่าจะรักษา ด้วยวิธีใด หลังจากนั้น ควรสวมถุงน่อง เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ สวมเวลาที่ต้องทำงาน ที่ยืน หรือเดิน  โดย นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์ ศัลยแพทย์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ออกกำลังกาย-กินผักผลไม้ ป้องกันหวัด!

ออกกำลังกาย-กินผักผลไม้ ป้องกันหวัด! นพ.ชิดเวทย์ วรเพียรกุล อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี           ในช่วงฤดูฝนแบบนี้ ทำให้หลายท่านสุขภาพแย่ ทุกท่านควรออกกำลังกายควบคู่กับกินผักผลไม้ วิตามินซีสูง และรับประทานอาหารร้อนๆ ช่วยสร้างความอบอุ่นร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้หวัด           ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยแบบนี้ คงทำให้เราควรที่จะหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอ่อน เด็กเล็ก และกลุ่มผู้สูงอายุ นับเป็นกลุ่มที่มักได้รับผลกระทบต่อสุขภาพได้ง่าย พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้สูงอายุจึงต้องมีความเข้าใจ และรู้จักการดูแลสุขภาพตนเองและลูกหลานอย่างปลอดภัยในช่วงหน้าฝน เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัด เพราะหากป่วยเป็นไข้หวัดและไม่มีการดูแลสุขภาพที่ดี อาจส่งผลให้กลายเป็นโรคหลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม ได้ในที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุจึงต้องสร้างความอบอุ่นร่างกายให้กับตนเอง และควรมีการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี           การออกกำลังกาย สามารถช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายได้ และที่สำคัญยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดได้ด้วย ซึ่งการออกกำลังกาย ควรเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็วๆ การวิ่งเหยาะ การขี่จักรยาน การเล่นกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องการรำมวยจีน เป็นต้น การออกกำลังกายดังกล่าว จะช่วยทำให้รู้สึกหายใจเร็วขึ้น ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เป็นเวลาอย่างน้อยก็เพียงพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันในบริเวณทางเดินหายใจ เพราะการออกกำลังกายหนักมากเกินไป กลับไม่ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน ในการเริ่มต้นของการออกกำลังกาย ควรเริ่มจากเบาๆ ระยะเวลาน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว จากนั้นจึงเพิ่มความแรง หรือความหนัก แต่ขอย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเหนื่อยมากๆ           สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากการออกกำลังกายเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย คือ การกินอาหาร เน้นกินผักหลากหลาย ทั้งผักสดหรือลวก ต้ม ผัด และผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะกอก องุ่น สับปะรด เป็นต้น เพราะจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อีกทั้ง ยังช่วยเพิ่มอุณหภูมิความร้อนให้กับร่างกาย ดังนั้น หากคุณดูแลสุขภาพตนเองได้ตามข้อปฏิบัติดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยให้มีสุขภาพดีในช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลต่อการมีสุขภาพดีในระยะยาวอีก  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ไข้หวัด โรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด

ไข้หวัด โรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด            โรคไข้หวัด เป็นการติดเชื้อของจมูก และคอ ส่วนใหญ่ 75-80 % เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งรวมเรียกว่า Coryza viruses ประกอบด้วย Rhino-viruses เป็นสำคัญ เชื้อชนิดอื่นๆมี Adenoviruses, Respiratory syncytial virus เมื่อเชื้อเข้าสู่จมูก และคอจะทำให้เยื่อจมูกบวม และแดง มีการหลังของเมือกออกมาแม้ว่าจะเป็นโรคที่หายเองใน 1 สัปดาห์ แต่เป็นโรคที่นำผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้ง ผู้หญิงเป็นบ่อยกว่าผู้ชายเนื่องจากใกล้ชิดกับเด็ก คนสูงอายุอาจจะเป็นปีละครั้ง อาการ           ผู้ใหญ่ มีอาการจาม และน้ำมูกไหลจะนำมาก่อน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย แต่มักไม่ค่อยมีไข้ เชื้อจะออกจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย 2-3 ชั่วโมงและหมดใน 2 สัปดาห์ บางรายอาจมีอาการปวดหู เยื่อแก้วหูมีเลือดคั่ง บางรายเยื่อบุตาอักเสบ เจ็บคอกลืนลำบาก โรคมักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนานถึง 2 สัปดาห์ ในเด็กอาจจะรุนแรง และมักมีการแพร่ไปเป็นหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เป็นต้น    การติดต่อ            โรคนี้มักจะระบาดฤดูหนาวเนื่องจากความชื้นต่ำและอากาศเย็น เราสามารถติดต่อจากน้ำลาย และเสมหะผู้ป่วย นอกจากนั้นมือที่เปื้อนเชื้อโรคก็สามารถทำให้เกิดโรคได้โดยผ่านทางจมูกและตา ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนเกิดอาการและ 1-2 วันหลังเกิดอาการ ผู้ที่มีโอกาสเป็นไข้หวัดง่ายคือ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีเด็กที่ขาดอาหาร เด็กที่เลี้ยงในสถานเลี้ยงเด็ก   วิธีการติดต่อ มือของเด็ก หรือผู้ใหญ่ที่สัมผัสเชื้อจากเสมหะของผู้ป่วย หรือสิ่งแวดล้อม แล้วขยี้ตา หรือเอาเข้าปากหรือจมูก  หายใจเอาเชื้อ ที่ผู้ป่วยที่ไอออกมา  หายใจเอาเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ    การรักษา ไม่มียารักษาเฉพาะ ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ Paracetamol ห้ามให้ Aspirin  ให้ยาช่วยรักษาตามอาการ เช่น ยาลดคัดจมูก ลดน้ำมูก ยาแก้ไออ่อนๆ ให้พัก และดื่มน้ำมากๆ โดยทั่วไปจะเป็นมาก 2-4 วัน หลังจากนั้นจะดีขึ้น ในเด็กโรคแทรกซ้อนที่สำคัญคือหูชั้นกลางอักเสบ ต้องได้รับยาปฏิชีวนะรักษา การป้องกัน หลีกเลี่ยงที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนต์ ภัตราคาร ในช่วงที่ไข้หวัดกำลังระบาด  ไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือ ทิสชูปิดปาก  ให้ล้างมือบ่อยๆ  ไม่เอามือเข้าปากหรือขยี้ตาเพราะอาจนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้  อย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นหวัดเป็นเวลานาน               เป็นการยาก ที่จะป้องกันการติดเชื้อไข้หวัด และยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันไข้หวัด ดังนั้นการดูแลสุขภาพตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด   นพ.ชิดเวทย์ วรเพียรกุล อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับหน้าหนาว

การดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับหน้าหนาว  นพ.ชิดเวทย์ วรเพียรกุล อายุรแพทย์ รพ.วิภาวดี           เข้าสู่ฤดูหนาวแล้วนะครับ ในช่วงฤดูหนาวอาจทำให้หลายท่านป่วยเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แต่สำหรับบางคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อเจออากาศเย็นๆ คงทำให้มีอาการมีแพ้มากขึ้น เช่น จาม น้ำมูกไหล หรือบางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว ก็อาจมีอาการหอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะยิ่งถ้าติด ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย คงแย่แน่เลยครับ เพราะฉะนั้น การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าสุขภาพดี จะลดโอกาสการเจ็บป่วยลง ลองปฏิบัติตาม 8 วิธี ในการดูแลสุขภาพ เพื่อรับมือกับช่วงหน้าหนาวกันดูนะครับ      1. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่            ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ      2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และไม่ควรใช้ของ           ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เป็นต้น      3. อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่เข้าไปในที่แออัด      4. หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรมีผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม และไม่คลุกคลี กับผู้อื่นและหมั่นล้างมือบ่อย ๆ      5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติดต่าง ๆ เนื่องจากอาจทำให้สุขภาพร่างกาย           เสื่อมโทรม มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย      6. ล้างมือบ่อย ๆ เนื่องจากเราอาจไปสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ตามสิ่งของต่าง ๆ เช่น ราวบันได            ลูกบิด ประตู แก้วน้ำ เป็นต้น โดยล้างมือด้วยสบู่ธรรมดา 15-20 วินาที หรือใช้น้ำยา ล้างมืออื่น ๆ       7. รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ในที่ที่หนาวมาก           ควรสวมหมวกเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย      8. ดูแลเรื่องผิวหนัง โดยการทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ถ้าอากาศ           หนาวมาก ไม่อาบน้ำนาน ๆ ในที่ที่หนาวมาก หลังอาบน้ำควรทาโลชั่นหรือน้ำมันทาผิว            ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ควรทาด้วยลิปสติกมันและไม่ควรเลียริมฝีปากบ่อย ๆ          เราควรหมั่นคอยดูแลสุขภาพตลอดเวลา เพราะจะเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด และไม่มีใครรู้ว่าความเจ็บป่วยจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ การที่เราสุขภาพที่ดี อาจทำให้เราเจ็บป่วยน้อยลง          อย่าลืมนะครับว่า “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเซ็บเดิม โรคผิวหนัง ที่มาพร้อมกับหน้าหนาว

โรคเซ็บเดิม โรคผิวหนัง ที่มาพร้อมกับหน้าหนาว นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ อายุรแพทย์โรคผิวหนัง รพ. วิภาวดี           เมื่อลมหนาวพัดมา ปัญหาที่คุณสาวๆ หรือแม้แต่คุณคุณผู้ชายต้องประสบ ก็คือ ปัญหาผิวหน้า และผิวหนังแห้ง ซึ่งเราจะเห็นว่าเมื่อลมหนาวโชยมา บวกกับความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ มักจะส่งผลให้เกิดปัญหาผิวหนังแห้งและคัน หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า อาการคันเหล่านี้เกิดจากผิวแห้ง หรือไม่ก็เกิดจากความสกปรก จึงใช้สบู่กระหน่ำฟอกถูทาๆบริเวณนั้นมากขึ้น จนอาการก็หนักขึ้นเคยได้ยิน “โรคเซ็บเดิม” หรือรังแคของผิวหน้าบ้างไหมครับ โรคนี้ที่พบมากขึ้นในคนไทยโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว            ขณะนี้ พบโรคเซ็บเดิมในคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว สาเหตุคือการที่เรามีความเครียด และการอยู่ห้องแอร์ เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ เนื่องจาก โรคเซ็บเดิม เป็นโรคในกลุ่มเดียวกับรังแคและโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ โดยที่โรคเซ็บเดิม จะแสดงอาการเป็นผื่นแดงตามหน้าผาก ข้างแก้ม คิ้ว หรือเป็นผื่นมีขุยที่เหนือคิ้ว ร่องจมูก และแนวไรผม สำหรับผู้ที่เป็นรุนแรงมาก แผลจะเห็นได้ชัดเจนมาก ซึ่งดูแล้วไม่ต่างไปจากโรคสะเก็ดเงิน นอกจาก จะพบผื่นที่ใบหน้าแล้ว ยังอาจพบผื่นที่หนังศีรษะคล้ายรังแค แต่หนังศีรษะจะมีผื่นแดง และยังพบตามตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีต่อมไขมันมาก ได้แก่ ในรูหู หลังหู ในสะดือ และหัวเหน่า เป็นต้น            ในอดีต โรคเซ็บเดิม นี้พบบ่อยในฝรั่งแต่ปัจจุบันคนไทยมีสภาพความเป็นอยู่คล้ายชาวตะวันตก รวมถึงมีความเครียดสูงขึ้นด้วย ปัจจัยที่ทำให้โรคเซ็บเดิม หรือรังแคของผิวหน้ากำเริบ ได้แก่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ผิวหน้าแห้ง ล้างหน้าบ่อยครั้งเกินไป การโดนแสงแดดจัด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ร้อนจัด สิ่งเหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดรังแคของผิวหน้ากำเริบได้            การรักษาโรคนี้ คือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น และหากเป็นมากควรพบอายุรแพทย์โรคผิวหนัง เนื่องจากโรคนี้มักเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะจะทำให้เครียด และโรคยิ่งกำเริบมากขึ้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) นพ. อนวรรถ ซื่อสุวรรณ  อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม แพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร?      โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบพร้อมกันหลายๆ ข้อ เมื่อข้ออักเสบเป็นเวลานานข้อจะถูกทำลาย ทำให้ข้อผิดรูป และเกิดความพิการตามมาได้ นอกจากอาการทางข้อแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงในอวัยวะอื่นๆ นอกจากข้อได้ด้วย  สาเหตุการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร?      สาเหตุของการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยัง ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางการติดเชื้อ ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนเพศ และปัจจัยทางระบบภูมิต้านทาน ปัจจุบันเชื่อว่า การเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายประการ คือ ผู้ป่วยมีปัจจัยทางพันธุกรรมซึ่งเอื้อต่อการเกิดโรค และได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ อาการที่สำคัญในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอะไรบ้าง?      อาการที่สำคัญ ได้แก่ ข้ออักเสบจำนวนหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้อมือและข้อนิ้วมือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อตลอดเวลาไม่ว่าจะใช้ข้อทำงานหรือไม่ก็ตาม และมีอาการข้อฝืดขัดหลังการตื่นนอนตอนเช้า นอกจากอาการที่ข้อแล้ว อาการในระบบอื่นที่อาจพบได้ เช่น ไข้ต่ำๆ อาการอ่อนเพลีย ปุ่มรูมาตอยด์ อาการปากแห้งตาแห้ง เป็นต้น เมื่อมีข้ออักเสบ ข้อจะสูญเสียหน้าที่การทำงาน ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อลดลง เมื่อข้อมีการอักเสบเป็นระยะเวลานานข้อจะถูกทำลาย และผิดรูป ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เมื่อมีอาการเต็มที่แล้วการให้การวินิจฉัยทำได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบหลายข้อ ส่วนใหญ่ในข้อเล็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มือและเท้า มีการกระจายของข้อที่อักเสบแบบเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับพบลักษณะข้อผิดรูป แต่ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการนำได้หลายแบบซึ่งในบางครั้งทำให้ยากในการวินิจฉัย  โรคที่มีอาการเลียนแบบหรือคล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีอะไรบ้าง?      โรคข้ออักเสบที่คล้ายโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ได้แก่ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคข้ออักเสบ SNSA โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบติดเชื้อ โรคข้ออักเสบที่พบร่วมกับโรคมะเร็ง เป็นต้น  ทำไมจึงต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์บ่อยๆ?        การตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีความจำเป็น เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค ใช้ประเมินความรุนแรงของโรค ใช้ในการประเมินผู้ป่วยก่อนพิจารณาเลือกใช้ยา ใช้ในการติดตามการตอบสนองต่อการรักษา และการติดตามผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการรักษา รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้อย่างไร?        การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการร่วมกัน ได้แก่ การรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด  1. การรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ยา        ผู้ป่วยควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การปฏิบัติตัว และการใช้ยา ผู้ป่วยไม่ควรใช้ข้อทำงานหนักมากเกินไป ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้วิธีการทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูมีส่วนสนับสนุนสำคัญ ในการช่วยรักษาและฟื้นฟูสภาพ ทำให้ผู้ป่วยปวดข้อน้อยลงและช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านอาจมีความจำเป็น เช่น การปรับก๊อกน้ำเป็นชนิดใช้มือปัดแทนชนิดใช้มือหมุน การอาบน้ำด้วยฝักบัวแทนการใช้ขัน เป็นต้น 2. การรักษาด้วยวิธีการใช้ยา        ปัจจุบันความรู้ความเข้าใจในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้น มีการพัฒนาวิธีการรักษาโดยการใช้ยาหลายขนานร่วมกัน ทำให้ควบคุมข้ออักเสบได้ดีขึ้น ลดการทำลายข้อ โอกาสที่จะเกิดความพิการเมื่อเทียบกับในอดีตพบว่าลดลงอย่างชัดเจน ยาที่ใช้ในการรักษาประกอบด้วยยาหลายกลุ่ม ดังนี้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ibuprofen, naproxen, indomethacin และ diclofenac เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติบรรเทาปวดและลดการอักเสบ แต่มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การระคายเคืองกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ อาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง และเลือดออกแล้วหยุดยาก เป็นต้น การรับประทานยาในกลุ่มนี้ควรรับประทานหลังอาหารทันที ในปัจจุบันมีการพัฒนายากลุ่มใหม่ซึ่งมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่ายาต้านการอักเสบเดิม แต่ประสิทธิภาพบรรเทาปวดและลดการอักเสบเท่าเดิม ยากลุ่มนี้ เช่น meloxicam, celecoxib และ etoricoxib เป็นต้น        ยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ยาในกลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดโดยตรง แต่จะออกฤทธิ์ทำให้เซลล์ก่อการอักเสบหลั่งสารก่อการอักเสบลดลง ทำให้ข้ออักเสบลดลง ควบคุมโรคได้ดีขึ้น เนื่องจากยาไม่ได้ออกฤทธิ์บรรเทาปวดโดยตรงจึงต้องรอเวลายาออกฤทธิ์หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้วแต่ชนิดของยา ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด เช่น chloroquine, sulfasalazine, methotrexate, gold salt, และ leflunomide เป็นต้น ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่อาจพบได้แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของยา เช่น ผลข้างเคียงต่อจอประสาทตา ตับอักเสบ กดไขกระดูก และพังผืดปอด เป็นต้น ดังนั้นการใช้ยาเหล่านี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด        ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยาสเตียรอยด์ เป็นยาที่ระงับการอักเสบได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพดี แต่ผลข้างเคียงมาก เช่น ผิวหนังบาง น้ำหนักขึ้น ภาวะกระดูกบาง ต้อกระจก กระดูกขาดเลือด เป็นต้น ปัจจุบันแพทย์พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ อาจใช้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือเพื่อควบคุมโรคในการรักษาช่วงแรกซึ่งยาในกลุ่มต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรคยังไม่ออกฤทธิ์ เมื่อควบคุมโรคได้ดีแล้วก็จะลดขนาดยาและหยุดยาให้ได้เร็วที่สุด        ยาต้านสารซัยโตไคน์ ในปัจจุบันพบว่าสารก่อการอักเสบที่สำคัญในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คือสารซัยโตไคน์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นกระบวนการอักเสบต่างๆ จึงมีการพัฒนายาต้านสารซัยโตไคน์ขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น infliximab, etanercept และ adalimumab เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ดีมาก ลดการอักเสบได้รวดเร็ว และยับยั้งการทำลายข้อได้ สามารถใช้ในผู้ป่วยซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาต้านรูมาติสซั่มที่ปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค ผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อวัณโรคแทรกซ้อนได้ การรักษาด้วยยาในกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายสูง 3. การรักษาด้วยการผ่าตัด         การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นการรักษาที่สำคัญอีกวิธีหนี่งในการรักษาผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มีส่วนช่วยแพทย์ให้ดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขี้น การผ่าตัดในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น การผ่าตัดลอกเยื่อบุข้อ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม การผ่าตัดซ่อมแซมกรณีข้อผิดรูป เป็นต้น         ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้น ทำให้ผลการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยลดความทุกข์ทรมาน ลดความพิการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องอาศัยการ วินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรค ความเข้าใจโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคหัวใจวาย (Heart Failure) ? คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง? เช็คอาการ สาเหตุ & วิธีป้องกัน

หัวใจวายคืออะไร? หัวใจวาย หมายถึง ภาวะซึ่งหัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง หัวใจวาย ไม่ใช่หัวใจหยุดเต้น เราเรียกหัวใจวายว่า Congestive Heart Failure คือหัวใจทำงานล้มเหลวทำให้เนื้อเยื่อต่างๆขาดออกซิเจน หากหัวใจห้องซ้ายวายก็จะมีการคั่งของน้ำที่ปอดทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าน้ำท่วมปอด Pulmonary Edema หากหัวใจห้องขวาวายจะเกิดการคั่งของน้ำที่ขาทำให้บวมที่เท้า โดยที่อาการหัวใจวายอาจจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่นเกิดภายหลังจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาจจะค่อยๆเกิดเช่นโรคของลิ้นหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจ สาเหตุของหัวใจวาย เมื่ออายุมากขึ้นการบีบตัวของหัวใจก็จะลดลง หากมีภาวะที่ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นหรือมีการสูญเสียความสามารถในการบีบตัวของหัวใจก็จะเกิดโรคหัวใจวาย นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเช่น การสูบบุหรี่ อ้วน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดโรคหัวใจวายได้ หัวใจวายมีด้วยกันหลายสาเหตุ บางครั้งอาจจะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด สาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่ หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ (Coronary Heart Disease) ผู้ป่วยมักจะมีประวัติเจ็บแน่นหน้าอกมาก่อน เมื่อเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอกล้ามเนื้อหัวใจก็ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันอย่างเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายไป หากบริเวณที่ตายกินบริเวณกว้างก็อาจจะเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน  โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสบางชนิด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเกิดหัวใจวาย  ความดันโลหิตสูง (Hypertension)เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหนาตัวและต้องทำงานมากขึ้น เกิดหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจ เช่น โรคหัวใจ รูมาติก Rheumatic Heart Disease ทำให้ลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่วโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด  โรคปอด เช่นโรคถุงลมโป่งพอง ก็สามารถทำให้หัวใจห้องขวาวาย  หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia) หรือเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia) ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ  สารพิษ เช่น สุรา หรือยาเสพติด ซึ่งทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น  ไทรอยด์เป็นพิษ  อาการของโรคหัวใจวาย ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเล็กน้อยจึงไม่ได้ใส่ใจ มีจำนวนไม่น้อยที่มาพบแพทย์เมื่ออาการหนักมาก ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจวายควรที่จะรู้ว่ามีอาการอะไรบ้างและควรที่จะติดตามอาการเหล่านั้น หากอาการแย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์อาการต่างๆที่พบได้ คือ เหนื่อยง่าย หากโรคหัวใจเป็นไม่มากจะเหนื่อยเฉพาะเวลาทำงานหนัก (Dyspnea on Exertion) ถ้าโรคหัวใจเป็นมากขึ้นความรุนแรงของอาการเหนื่อยจะมากขึ้น งานปกติที่เคยทำได้ก็จะเหนื่อย แม้แต่เวลาพักก็ยังรู้สึกเหนื่อย หากอาการเหนื่อยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงต้องปรึกษาแพทย์  นอนแล้วจะมีอาการเหนื่อย หลังจากนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทำให้ต้องลุกขึ้นมานั่งอาการถึงจะดีขึ้น บางรายนอนราบไม่ได้เลย Orthopnea  อ่อนเพลียง่าย  เท้าบวม หรือท้องมาน เนื่องจากมีการคั่งของน้ำ น้ำหนักเพิ่มอย่างเร็ว  ไอเรื้อรังโดยเฉพาะหากเสมหะมีสีแดงหรือชมพู ปนออกมาต้องรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด  มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากระบบย่อยอาหารได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง  ความจำเสื่อม มีการสับสน  ใจสั่นหัวใจเต้นเร็ว  การรักษา โรคหัวใจวาย เป็นโรคที่มีการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอาการของหัวใจวาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องร่วมมือในการรักษาโดยมี หลักการรักษา ดังนี้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  การใช้ยารักษา  การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่นการทำ Ballon หลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ  การใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ  การป้องกัน การป้องกันก่อนการเกิดโรค เรียก Primary Prevention เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารมีคุณภาพหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็มจัด ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เครียด งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในปริมาณที่จำกัด  รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น การรักษาโรคความดันโลหิต การรักษาโรคเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ  ตรวจร่างกายประจำปีก่อนการเกิดโรคหัวใจ  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี โทร. 0-2561-1111 กด 1

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเลือดออกในสมอง

โรคเลือดออกในสมอง   นพ.พร้อมพงษ์ พีระบูล ศัลยแพทย์ประสาทวิทยา รพ.วิภาวดี           ภาวะหลอดเลือดในสมองแตก หรือภาวะเลือดออกในสมอง เป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดความพิการหรือบางครั้งร้ายแรงได้ถึงชีวิต ภาวะเลือดออกในสมองส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก3สาเหตุหลัก คือ 1.มีการแตกของเส้นเลือดในสมองขนาดเล็ก เนื่องจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด,ความดันโลหิตสูง,เบาหวาน 2.มีการเปลี่ยนสภาพของภาวะสมองขาดเลือดและทำให้มีเลือดออก 3.เกิดจากพยาธิสภาพที่ผิดปกติ เช่น ภาวะเส้นเลือดขอดในสมอง (AVM)เนื้องอกในสมองบางชนิด เป็นต้น แนวทางการรักษา           โดยปกติแล้ว เมื่อเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตกส่วนใหญ่จะให้การรักษาโดยการใช้ยาเป็นเบื้องต้น แต่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนไม่น้อย ที่จำเป็นต้องรับการรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดมีหลายวิธีแต่ที่ทำกันบ่อยมี2วิธี ดังนี้ 1.การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เพื่อผ่าตัดเอาก้อนเลือดในสมองออก 2.วิธีการเจาะดูก้อนเลือดในสมองด้วยเทคนิคนำวิถี โดยใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย (Stereotactic - Aspiration)ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้บาดแผลของผู้ป่วยมีขนาดเล็ก และทำให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด ผู้ป่วยก็มักมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำกายภาพบำบัดในการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาแข็งแรงดังปกติ ซึ่งปกติแล้วขั้นตอนการฟื้นฟูและทำกายภาพบำบัดนั้น จะต้องใช้ระยะเวลานาน รวมทั้งต้องอาศัยความอดทนและความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง 1.โรคความดันโลหิตสูง 2.โรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด จากการกินยาที่ช่วยไม่ให้เลือดแข็งตัว 3.ไม่ควบคุมโรคเบาหวาน 4.โรคไขมันในเส้นเลือดสูง           เราจะเห็นได้ว่า โรคดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย ฉะนั้นการตรวจร่างกายเป็นประจำ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมอง การรักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะลดภาวะเลือดออกในสมองแล้ว ยังลดข้อแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไมเกรน

โรคไมเกรน พญ.รัชนี ชาญสุไชย  อายุรแพทย์ประสาทวิทยา แพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี      ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการปวดจะเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆ ความรุนแรงของอาการปวด มีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 ชม. อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมี ความเครียด อากาศร้อน แสงจ้า หรืออดนอน ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้นผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมืดและเงียบ เพราะจะทำให้อาการปวดดีขึ้น สาเหตุของไมเกรน      ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆสมอง ระบบประสาทผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ ระบบประสาทจะมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการอักเสบดังกล่าวเกิดขึ้น และอาการปวดอย่างรุนแรงตามมา ปัจจัยกระตุ้นมีดังนี้      - อาหาร คือ ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือสารถนอมอาหาร สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้      - การนอนหลับ การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้       - ฮอร์โมน ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นไมเกรน บางคนจะมีอาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงหรือระยะเวลาในการปวดนานมากขึ้นได้      - สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมาก ” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ หรือการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ      - ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด การวินิจฉัย      การวินิจฉัยไมเกรนนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง ความถี่ ระยะเวลาในการปวด และอาการอื่นที่ร่วมด้วย ประวัติโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น เช่น อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือจากภาวะเครียด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง โรคของต่อมใต้สมองหรือมีเนื้องอก เป็นต้น การรักษา       ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีการช่วยให้ความถี่และความรุนแรง ของไมเกรนลดน้อยลง โดยใช้ยาเพื่อป้องกันรักษา และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ดูแลสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ ยาแก้ปวดไมเกรนและยาป้องกันไมเกรน  ยาแก้ปวดไมเกรน คือ ยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด ส่วนยาป้องกันไมเกรน ใช้เพื่อทำให้ความถี่และความรุนแรงของการปวดลดลง และจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากมาย หลายชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใด ควรได้รับคำแนะนำหรือควรปรึกษาแพทย์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

แสงแดดภัยร้าย..กับดวงตาของคุณ

แสงแดดภัยร้าย..กับดวงตาของคุณ แสงแดดภัยร้าย..กับดวงตาของคุณ พญ.ชารีนันท์ จิรภาไพศาล จักษุแพทย์ รพ.วิภาวดี           อย่างที่ทราบกันดีว่าแสงแดดเป็นตัวการสำคัญ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกายหลายอย่างก่อนวัยอันควร ไม่เว้นแม้แต่ดวงตาคู่สวยของคุณค่ะ      • ต้อลม รังสี UV จากแสงแดด กระตุ้นให้เกิดการแตกหักของเนื้อเยื่อคอลลาเจนของเยื่อบุตา เป็นเหตุให้เยื่อบุตาเสื่อมสภาพและหนาตัวขึ้น อย่างที่เราเห็นเป็นวุ้น ๆ ข้าว ๆ ตาดำ ก่อให้เกิดการระคายเคืองตา ตาแดงซ้ายสู้แสงไม่ได้      • ต้อเนื้อ จัดอยู่ในกลุ่มของเยื่อบุตาเสื่อมสภาพเช่นกัน มีการหนาตัวขึ้น และมีเนื้อเยื่อรวมถึงเส้นเลือดมามากขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าพัฒนาต่อมาจากต้อลมอีกที กลายเป็นเนื้อเยื่อแดง ๆ แปะอยู่บนตาดำ ซึ่งถ้าเป็นมากก็จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดรักษา      • ต้อกระจก รังสี UV ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุล ทำให้เลนส์แก้วตาเสียสภาพความใสไป กลายเป็นเลนส์ขุ่น มีผลทำให้การมองเห็นลดลง      • จอประสาทตาเสื่อม จากการศึกษาพบว่า รังสี UV มีผลโดยตรงต่อการเสื่อมของจุดศูนย์กลางภาพขยายจอประสาทตา           Tips : การใช้แว่นกันแดดเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่ช่วยปกป้องดวงตาจากแสงแดดและ UV เพื่อช่วยถนอมดวงตาเราให้มองเห็นได้ไปนาน ๆ      • ภาวะตาแห้ง ก็พบบ่อยในช่วงหน้าร้อน พอ ๆ กับหน้าหนาว           Tips : การพักสายตาบ่อย ๆ ขณะทำงาน ไม่เปิดแอร์ / พัดลมเป่าเข้าหน้าโดยตรง และใช้น้ำตาเทียมช่วยกรณีรู้สึกตาแห้งก็จะช่วยได้ การดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานผักผลไม้เยอะ ๆ สิ่งสำคัญในกลุ่มวัยทองจะพบปัญหาตาแห้งในฤดูร้อนบ่อยขึ้นด้วยค่ะ      • ภูมิแพ้ กลุ่มคนที่เป็นภูมิแพ้ชนิดตามฤดูกาล (seasonal allergy) ในช่วงปลายฤดูร้อนติดกับต้นฤดูฝน ก็จะเป็นช่วงที่มีอาการคันเคืองตากำเริบขึ้นได้           Tips : พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือไปในที่ที่มีฝุ่นละอองเกสรดอกไม้ ต้นหญ้า ที่อาจเป็นสาเหตุของการแพ้ได้ 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เกลือ เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร

เกลือ เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร            จากการสัมภาษณ์นพ.บรรหาร  กออนันตกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี ในเรื่อง "เกลือ  เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร" ในรายการ Happy & Healthy ทางสถานีวิทยุ ขสทบ. FM 102 9.30 – 10.00 น.เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 พค.52  เราได้ถอดคำสัมภาษณ์ออกมาเป็นความรู้สุขภาพ ให้ทุกท่านได้อ่านกัน เพราะเห็นว่ามีประโยชน์มากค่ะ อ่านได้เลยค่ะ   เกลือเกินกับความดันโลหิตสูง  พล อ. ต. นพ.บรรหาร  กออนันตกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ ที่ปรึกษาศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี Happy&Healthy เสาร์ 23 พค.52 FM 102 9.00 – 10.00 น.   DJ: เกลือมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงอย่างไร ?             อาจารย์บรรหาร: ก่อนอื่นก็คงจะต้องทราบถึงคุณลักษณะของเกลือว่ามี สีขาว รสเค็ม เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ละลายในน้ำแตกตัวเป็นโลหะโซเดียมสีเงินเป็นประจุบวกกับคลอรีนที่เป็นแก๊สพิษสีเขียวเป็นประจุลบ เกลือก็คือการรวมของธาตุทั้ง  2 นี้ แล้วตกผลึก เกลือเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและมีความสำคัญมากมายกว่าที่คิดในการนำไปใช้ประโยชน์ในปัจจุบันนี้ด้วยปริมาณถึง  300  ล้านตันต่อปี  เช่น นำมาทำสบู่  ยาย้อมสี  ฟอกหนังสัตว์หรือฟอกกระดาษ     เก็บรักษาอาหาร  อุปกรณ์ทำความเย็น ละลายหิมะตามถนนเป็นต้น ร่างกายของคนเรานอกจากประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนมาก ถึงประมาณ  60%  ส่วนประกอบที่สำคัญรองจากน้ำก็คือเกลือที่มีปริมาณมากถึง15%ของร่างกายเพราะว่าโซเดียมมีหน้าที่ควบคุมอัตราการถ่ายเทของน้ำในเซลล์แล้วยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ประสาทควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อแล้วยังช่วยเผาผลาญโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตในร่างกายด้วย  ดังนั้นเกลือจึงมีความสำคัญในการดำรงชีวิต  และถ้าขาดเกลือก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะเสื่อมลง  คนปกติต้องการเกลือประมาณวันละ  400  มิลลิกรัมหมุนเวียนชดเชยเกลือในร่างกายผ่านทางหลอดเลือด  แต่ถ้าบริโภคเกลือเกินความต้องการก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือถ้ามีความดันโลหิตสูงอยู่แล้วก็ต้องลดปริมาณของเกลือให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ    DJ :  ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นได้อย่างไร ?            อาจารย์บรรหาร : ความดันโลหิตหรือแรงดันเลือด เป็นองค์ประกอบทำให้ระบบไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือดดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง  การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจทำให้เกิดแรงดันให้ปริมาณเลือดจำนวนหนึ่งที่อยู่ในหัวใจด้านซ้ายล่างให้เคลื่อนไปตามหลอดเลือดแดงใหญ่ต่อจากนั้นก็จะต้องมีแรงดันเลือดให้เคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องด้วยคุณสมบัติพิเศษของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่สามารถยืดหยุ่นหลอดเลือดแดงในช่วงที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว  ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่จะพองออกเพื่อรองรับปริมาณเลือดที่มาจากแรงหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่วนในช่วงกล้ามเนื้อหัวใจคลายตัวกล้ามเนื้อของหลอดเลือดแดงใหญ่ก็หดกลับสู่สภาพเดิมทำให้เกิดแรงดันส่งต่อเลือดให้เคลื่อนไปตามหลอดเลือดแดงที่เล็กลงในทุกส่วนของร่างกายไปเลี้ยงเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายด้วยอ๊อกซิเจนที่มาจากเม็ดเลือดแดง เพราะอ๊อกซิเจนเป็นสิ่งที่เซลล์ต่าง ๆ ขาดไม่ได้ ถ้าเซลล์ต่าง ๆ ขาดอ๊อกซิเจนก็จะทำให้สูญเสียอวัยวะจนถึงชีวิตได้    ค่าปกติของความดันโลหิตในช่วงที่หัวใจบีบตัว/คลายตัว เหมาะสมที่สุดอยู่ที่  120/80  มิลลิเมตรปรอท การวินิจฉัยความดันโลหิตสูง  ต้องวัดความดันโลหิตถ้าความดันโลหิตเท่ากับหรือสูงกว่า   140/90  มิลลิเมตรปรอทขึ้นไปก็จะเข้าเกณฑ์ความดันโลหิตสูง    สาเหตุของความดันโลหิตสูง  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ   ความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ อันเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะ  เช่น ไต  ต่อมหมวกไต หรือจากระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น  อีกประเภทหนึ่ง คือความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุอย่างแท้จริง  ซึ่งมีอยู่ประมาณ  90%  และมักจะเกิดร่วมกับปัจจัยเสี่ยงและสิ่งแวดล้อม  ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง  คือ  เกลือ  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสารสีขาวแต่จะรวมไปถึงของที่มีรสเค็มทั้งหมด  ในทุกสภาพ  เช่น  เนื้อเค็ม  ปลาเค็ม  น้ำปลา   ซีอิ้ว และน้ำจิ้มต่าง ๆ ที่มีเกลือผสมอยู่  ปัจจุบันนี้พบโรคอ้วนที่ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลีน เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและเบาหวานได้อีกด้วย  และถ้ารวมการสูบบุหรี่และไขมันผิดปกติก็จะ กลุ่ม ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด DJ: โรคความดันโลหิตสูงอันตรายอย่างไร             อาจารย์บรรหาร: ความดันโลหิตสูง ซึ่งเมื่อก่อนนี้เราเชื่อกันว่าเป็นเพียงสภาวะของระบบไหลเวียน แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโมเลกุลของพันธุกรรมแต่ที่แตกต่างไปจากโรคอื่นก็คือ โรค ความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับทุกอวัยวะในร่างกายที่ต้องการอ๊อกซิเจน จึงเป็นโรคที่เกิดได้ทุกที่ จึงเรียกว่า โรคแทรกซ้อน เช่น  กรณีหลอดเลือดแดงตีบตันหรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายแตกที่สมองก็จะเกิดเป็นอัมพฤตอัมพาต หรือถ้าหลอดเลือดแดงของหัวใจในตีบตันก็จะทำให้เกิดหัวใจวายแบบเฉียบพลัน  เช่นเดียวกัน ถ้าไปเกิดที่หลอดเลือดแดงของไตก็ทำให้ไตวาย หรือถ้าหลอดเลือดแดงส่วนปลายบริเวณขาและเท้าก็จะสูญเสียอวัยวะส่วนนั้นไป โดยทั่วไปอาการความดันโลหิตสูงมักจะเริ่มต้นจากไม่มีอาการอะไรเลย  หรือค่อย ๆ มีอาการ  มึน  ปวดศีรษะ   สมาธิลดลง  หรือหงุดหงิดง่าย  เครียด  และถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะลุกลามไปจนถึงเกิดโรคแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาแล้ว  นับว่าเป็นการศูนย์เสียชีวิตหรือคุณภาพชีวิตก่อนวัยอันควร  ทั้ง ๆ ที่ความดันโลหิตสูงนั้นรักษาและป้องกันได้  โดยจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมงดและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่ได้กล่าวมาแล้ว  เพิ่มการออกกำลังกายและเรื่องการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะด้วยการรู้จักเลือกชนิดของอาหารที่มีโคอเรสเตอรอลต่ำ  และลดอาหารที่มีกรดไขมันชนิดอิ่มตัว  หรือของทอด ส่วนในปริมาณอาหารที่รับประทาน(แคลลอรี่)ต้องไม่มากเกินไปให้พอเพียงกับพลังงานที่ต้องใช้ต่อวันจะไม่ทำให้อ้วน   ทั้งนี้จำเป็นที่จะต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์  โดยการใช้หลักง่าย ๆ ส่วนสูงเป็นเซ็นติเมตร  ลบด้วยหนึ่งร้อย ก็จะเป็นน้ำหนักที่ไม่ควรจะเกินของเพศชาย    ส่วนของเพศหญิงให้ลดลงอีก 10%   หลักการที่ถูกต้องของการออกกำลังกายคือ 1. ต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องไม่หยุดพักให้ได้เป็นเวลา  30  นาทีขึ้นไป  2. จะต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันหรืออย่างน้อย สัปดาห์ละ  4  วัน  3. การออกกำลังกายมี  2  รูปแบบ  เรียกว่า แบบแอโรบิก  ที่เน้นการเคลื่อนไหวอวัยวะทุกส่วนอย่างต่อเนื่อง  ที่เพิ่มระดับแรงออกกำลังกายไปจนถึงระดับความแรงคงตัว ( Steady state)  ส่วนการออกกำลังกายอีกแบบหนึ่งซึ่งจะต้องมีการสร้างพลังด้วยเกร็งกล้ามเนื้อให้เกิดพลังมารองรับการออกกำลัง เช่น  การยกน้ำหนัก  มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งประกอบไปด้วยข้อทั้งหมด  34  ข้อ  เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานทุกรูปแบบและได้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหว เกิดความคล่องตัวที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน  ฉะนั้นการดูแลข้อกระดูกทั้งหลายนี้ไม่ให้เกิดโรคข้อเสื่อม ต้องปฏิบัติด้วยการออกกำลังกายเท่านั้น เพื่อหล่อเลี้ยงและฝึกฝนให้ข้อต่อเคลื่อนไหวอย่างไม่มีอุปสรรคจะทำให้ดำรงไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตในปั่นปลาย  สุดท้ายนี้ : ความสำคัญของเกลือ พบว่าถ้าสามารถลดการบริโภคเกลือลงได้ครึ่งหนึ่ง จะช่วยลดการเสียชีวิตจากอัมพาตและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันทั่วโลกได้ประมาณ 2.5 ล้านคนต่อปี  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการเลือกรับประทานอาหารรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และโปรดอย่าลืมงดสูบบหรี่ก็จะทำให้ท่านปลอดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ยืนยาว “เกลือคือส่วนหนึ่งของชีวิต ฉะนั้นถ้าท่านดูแลการบริโภคเกลือชีวิตก็จะสดใส”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<