กินเจให้สุขภาพดี

            กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีการกินเจเพื่อให้มีสุขภาพดี โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ สะอาด ถูกหลักโภชนาการ และอาหารปลอดภัย เน้นให้ผู้บริโภครับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกผักผลไม้ที่มีความหลากหลาย หรือให้ครบ 5 สี พร้อมทั้งให้ความสำคัญด้านความสะอาดล้างผักและผลไม้ทุกครั้งก่อนนำมารับประทานเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ย้ำผู้ประกอบการต้องปรุงอาหารให้ถูกหลักสุขาภิบาลเพื่อการสร้างสุขภาพที่ดี
วันที่ 4 ต.ค. 56 ที่ ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน กทม. กรมอนามัยจัดรณรงค์ “สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่...กินเจมั่นใจ ผักปลอดสาร อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” เนื่องจากเทศกาลกินเจเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ได้กุศล ตลอดจนทำให้สุขภาพดี แต่สิ่งที่ผู้บริโภคควรคำนึงถึงความสำคัญคือ การเลือกกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการและปรุงประกอบที่สะอาดถูกสุขอนามัย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน แม้ต้องละเว้นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ซึ่งให้โปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่ประชาชนสามารถกินโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง เต้าหู้ และโปรตีนเกษตร เพื่อเป็นการทดแทนได้ หรือเลือกกินข้าวกล้องแทนข้าวขาว เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร


              ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การกินเจเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคจึงขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการยึดหลัก 3 ประการ คือ 

              1) ความสะอาด ด้วยการดูแลความสะอาดตั้งแต่กระบวนการเตรียมวัตถุดิบ โดยเฉพาะการล้างผักและผลไม้เพื่อป้องกันสารเคมีและยาฆ่าแมลงตกค้างด้วยการลอกเปลือกด้านนอกออกล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลือ หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชู ทิ้งไว้นาน 10-15 นาที หรือแช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 กะละมัง หรือน้ำประมาณ 4 ลิตร
จากนั้นนำมาผักและผลไม้มาล้างน้ำสะอาดอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้สารพิษที่ตกค้างออกให้หมดช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งเต้านม สำหรับผู้ประกอบการต้องปรุงอาหารให้สุก ไม่ใช้เขียงหรือมีดร่วมกันระหว่างอาหารสดและอาหารดิบ ไม่นำอาหารหรือสิ่งของมาแช่รวมกับน้ำแข็งสำหรับบริโภค ควรสวมถุงมือหรือใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหารทุกครั้ง ใส่ผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม รวมทั้งล้างมือก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
              2) ถูกหลักโภชนาการ คือ ปรุงอาหารด้วยการยำ ต้ม นึ่ง ลดอาหารประเภทผัด ทอด และอาหารที่มีรสหวานจัด เค็มจัด เลือกรับประทานผักและผลไม้หลากสีหรือให้ครบ 5 สี ได้แก่ สีขาว จากขิง เห็ด กะกล่ำดอก ผักกาดขาว กล้วย ลูกแพร์ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง มีประโยชน์ต่อระบบหมุนเวียนโลหิตในร่างกาย สีม่วง-น้ำเงิน จากดอกอัญชัน กะหล่ำปลีสีม่วง มะเชือม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว องุ่น ลูกหม่อน ลูกพรุน แอปเปิ้ลแดง แบล็คเบอรี่ บลูเบอรี่ ช่วยขจัดสารก่อมะเร็ง
สีเขียวและเขียวอมเหลือง จากตำลึง คะน้า บล็อกโคลี่ ชะพลู บัวบก ตำลึง ตัว ผักขม ปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วลันเตากะหล่ำปลี สีเขียว อโวคาโดและแอปเปิ้ลเขียว มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงสายตา ขจัดกลิ่นตัว เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและฟัน บำรุงตับ และกระตุ้นระบบของการของเสียในร่างกาย สีเหลือง-ส้ม จากข้าวโพด มะม่วง ส้ม แคนตาลูป เสาวรส แตงโมเหลือง แครอท ฟักทอง มะละกอ ช่วยบำรุงสายตา บำรุงหัวใจ ลดระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือด ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน และสีแดง จากแตงโม แอปเปิ้ลแดง องุ่นแดง มะเขือเทศ ทับทิม พริกแดง กระเจี๊ยบ บีทรูท และแคนเบอรี่ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดปริมาณไขมันตัวร้ายในเลือด ยับยั้งหรือป้องกันการเกิดมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก งดบริโภคผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด ได้แก่ หัวหอม กระเทียม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ
            3) อาหารปลอดภัย คือ การเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรอง เช่น ตลาดสดของกรมอนามัย ร้านอาหารที่มีป้ายสัญลักษณ์ Clean Food Good Taste เครื่องปรุงรสที่มีสัญลักษณ์ อย.และ
มอก. กำกับทุกครั้ง


ขอบคุณที่มา :
-หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 
-สสส
.

<