โรคมือเท้าปาก

 โรคมือเท้าปาก

     โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ประเทศไทยพบอยู่เสมอ ๆ ไวรัสที่พบ เป็นเชื้อค๊อกแซกกี่ A (Coxsackic Airus A) ซึ่งเชื้อนี้จะไม่รุนแรง เป็นแล้วหายเองได้ แต่ถ้าเป็นจากเชื้อค๊อกแซกกี่ B ( Coxsackic Virus B) หรือเอนเทอโรไวรัส 71 อาการจะรุนแรงกว่ามาก อาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  อัมพาต  หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ตัวอย่างที่พบในสิงคโปร์จะเป็นเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71

 

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

     โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่พบได้บ่อย เช่น คอกซากีไวรัส เอ16 (coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (enterovirus 71)  

 

 กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง

 

การติดต่อของโรคมือเท้าปาก

     สำหรับอาการของผู้ป่วยช่วงสัปดาห์แรก จะสามารถติดต่อได้โดย

1.การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ทั้งจากจมูก, ลำคอ และน้ำจากในตุ่มใส โดยเชื้อโรคอาจติดมากับสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือการไอจามรดกัน

2.อุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ โดยช่วงที่แพร่กระจายมากที่สุด คือในสัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยมีอาการ และจะยังแพร่เชื้อได้จนกว่ารอยโรคจะหายไป แต่ก็ยังพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ฉะนั้นหลังล้างก้นเด็ก ทุกครั้ง ควรล้างมือ ให้สะอาดหยุดไปเนอสเซอรี่ หรือโรงเรียนจนกว่าตุ่มแผลต่าง ๆ หายจะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้กับเด็กคนอื่นด้วย

ทั้งนี้เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน แต่โรคนี้ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คนได้

 

      โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ และสามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่น พื้นผิวสัมผัสที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ อาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล และช่วงที่มักมีการระบาดของโรคนี้คือ ช่วงฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อย่างไรก็ดี โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่สัตว์หรือสัตว์สู่คน

 

     ทั้งนี้ โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน

 

 

อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปาก

     อาการเริ่มต้นของโรคมือเท้าปากจะคล้ายไข้หวัด(เน้นว่าคล้ายไข้หวัด) คือ มีตุ่มใส หรือแผลร้อนในเกิดขึ้นหลายแผลในปาก และมีอาการเจ็บ มีผื่นแดงหรือตุ่มใส ขนาดเล็กที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือก้น และมีอาการไข้เป็นระยะเวลา 5-7 วัน ก่อนที่มีผื่นและตุ่มน้ำขึ้นประมาณ 12-24 ชั่วโมง เด็กจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ เหนื่อยอ่อน ปวดข้อ ต่อมาจะมีแผลในช่องปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เด็กจะมาด้วยอาการเจ็บในช่องปาก และไม่ยอมทานอาหาร แผลในช่องปากมักจะพบจำนวนระหว่าง 5-10 แผล โดยจุดที่พบบ่อย คือ ที่เพดานแข็ง ลิ้น และเยื่อบุช่องปาก 

       แผลในช่องปาก แรกเริ่มจะเห็นเป็นผื่นหรือตุ่มแดงเล็ก ๆ ต่อมาก็จะเห็นตุ่มน้ำสีเทาเล็ก ๆ สีออกเหลืองเท่าและมีผื่นแดงล้อมรอบ(แผบเหล่านี้มักเจ็บ ทำให้เด็กไม่ยอมทานอาหาร ยังทำให้ลิ้นแดงและบวมได้ แต่มักหายไปภายใน 5-10 วัน) พบตุ่มใส ๆ ที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มักพบที่ก้นด้วยขนาดประมาณ 3-7 มิลลิเมตร (ตุ่มเหล่านี้จะหายได้เองภายใน 7 วัน) ผิวหนังเกิดผื่นอาจเกิดพร้อม ๆ กับแผลในช่องปาก หรือ เกิดหลังแผลในช่องปากเล็กน้อย อาจมีเพียง 2-3 จุด หรือมากกว่า 100 จุด

โดยพบที่มือมากกว่าที่เท้า มักพบเป็นที่หลังมือ ด้านข้างของนิ้วมือ หลังเท้า และด้านข้างของนิ้วเท้า มากกว่าที่ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า ผิวหนังเริ่มแรกจะเป็นผื่นหรือตุ่มแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มิลลิเมตร ที่ตรงกลางมีตุ่มน้ำสีเทามักเรียงตามแนวเส้นของผิวหนังและมีผื่นแดงล้อมรอบ ผื่นเหล่านี้อาจกดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ 2-3 วัน ต่อมาจะเป็นสะเก็ดจนผิวแลดูปกติ ไม่มีแผลเป็นใน 7-10 วัน

 

     อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือฝ่าเท้า ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงอาจมีแผลไม่กี่จุดในลำคอหรืออาจมีตุ่มเพียงไม่กี่ตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้าก็ได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แม้จะดูว่าผื่นและแผลในปากหายไปแล้วก็ตาม โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เช่น

"           เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม

"           บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว

"           มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลกๆ

"           ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน

"           มีอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่นๆ แขนหรือมือสั่นบ้าง

"           มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูหอบ เหนื่อยๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปากอาจแสดงอาการในหลายระบบ เช่น

           1. ระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการเหมือนไข้หวัด ไอ มีน้ำมูกใส เจ็บคอ

           2. ทางผิวหนัง

           3. ทางระบบประสาท เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ

           4. ทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำเล็กน้อย ปวดหัว อาเจียน

           5. ทางตา มักพบเยื่อบุตาอักเสบ (chemosis and conjuntivitis) และ

           6. ทางหัวใจ เช่น สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

การรักษา

รักษาตามอาการคือ ให้ยาลดไข้ เวลามีไข้ ตุ่มที่ฝ่ามือ เท้า มักไม่คันไม่เจ็บ แผลในปากมักจะเจ็บมาก ทำให้เด็ก ๆ ไม่ยอมดูดนม หรือกินอาหาร อาจให้เด็กกินนมโดยใช้ช้อนป้อน หรือใช้หลอดฉีดยาค่อย ๆ หยดนมใส่ปาก ควรทานนมที่เย็น อมน้ำแข็งก้อนเล็ก ๆ หรือรับประทานไอศกรีม จะทำให้แผลไม่ค่อยเจ็บ และเด็กยังได้น้ำและสารอาหารบ้าง ในเด็กเล็ก ๆ

การป้องกันโรคมือเท้าปาก

    คือ การมีสุขลักษณะที่ดีและการรับวัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงจากเชื้ออีวี 71 แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี 11 เดือน  โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันโรคมือเท้าปาก รวมถึงป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้โดย

-          หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย

-          รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด

-          ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม

-          เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว

-          รีบซักผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ

-          หากเด็กมีอาการของโรคมือเท้าปากให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องให้เด็กหยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย

 ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคมือเท้าปากชนิดที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะมีการเสียชีวิต เช่น เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการการป้องกันที่เข้มข้นขึ้น เช่น

-          การปิดทั้งโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ

-          การคัดแยกเด็กป่วยออกตั้งแต่เดินเข้าที่หน้าประตูโรงเรียน

-          การหมั่นล้างมือ เช็ดถูทำความสะอาดห้องเรียนและของเล่นต่างๆ

 และโรคมือ เท้า ปากเป็นโรคที่ต้องรายงาน ดังนั้นหากหน่วยงานใดพบผู้ป่วย โรคดังกล่าวต้องรายงานโดยใช้บัตรรายงาน 506


การดูแลของผู้ปกครอง

ควรดูแลบุตรหลาน และผู้เลี้ยงดูเด็ก ให้รักษาความสะอาดตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่) หลังขับถ่าย และ ก่อนรับประทานอาหาร ใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือเป็นต้น

สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล                                                                     

ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือ และส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแล รักษาสุขลักษณะของสถานที่ และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอรวมถึงการกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกต้องด้วย หากพบเด็กป่วย ต้องรีบป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ

 

ด้วยความปรารถนาดี  จากโรงพยาบาลวิภาวดี

<