รู้เท่าทันต้อหินป้องกันการตาบอด

 ต้อหินเป็นโรคที่เกิดจากการถูกทำลายของเส้นประสาทตา เนื่องจากมีแรงดันในลูกตาสูง ซึ่งเส้นประสาทตานี้จะเชื่อมต่อระหว่างตาไปยังสมอง ทำให้การมองเห็นค่อยๆลดลง และบอดในที่สุดแรงดันตาที่สูงมากขึ้น เกิดจากการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตามากขึ้น และมีการระบายน้ำออกจากทางเดินระบายน้ำลดลง โดยค่าปกติของความดันตาอยู่ที่ 5-21 มิลลิเมตรปรอท หากพบว่าความดันตามีค่ามากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้
 

การสูญเสียการมองเห็นของผู้ป่วยต้อหิน ในระยะเริ่มแรก ลานสายตาจะถูกทำลายจากด้านข้างก่อน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีการเดินชนสิ่งของดัานข้าง ผู้ป่วยที่ไม่สังเกตจึงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะการมองตรงกลางยังเห็นดีอยู่ จนระยะท้าย ลานสายตาโดนทำลายจนแคบเข้ามาเรื่อยๆ การมองเห็นภาพตรงกลางเริ่มลดลง ระยะนี้ผู้ป่วยจึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือ การมองเห็นที่เสียไปแล้ว ไม่สามารถทำให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ทำให้ตาบอดถาวร การรักษาจึงเพื่อไม่ให้ลานสายตาและการมองเห็นที่ยังดีอยู่แย่ลงไปอีก

ปัจจัยเสี่ยงของต้อหิน

-          เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาวถึง 6-8 เท่า ส่วนคนเชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิดมากกว่าชนชาติอื่น

-          อายุมากกว่า 40 ปี

-          มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นต้อหิน

-          ผู้ป่วยเบาหวาน ไมเกรน นอนกรน

-          ตรวจพบความดันตาสูง

-          เคยมีอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา

-          การใช้ยาสเตียรอยด์

-          ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง

-          โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงสมควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำ งดการซื้อยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยมาใช้เอง เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาควรรีบมาพบแพทย์ 

 

การวินิจฉัยต้อหิน 

-          การตรวจตาด้วยเครื่องตรวจตา slit-lamp microscopy

-          การตรวจวัดความดันภายในลูกตา

-          การตรวจลักษณะของขั้วประสาทตา

-          การตรวจลานสายตา

 

โรคต้อหิน 
สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด ถ้าแบ่งตามลักษณะกายวิภาคของมุมตา ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างกระจกตาและม่านตา สามารถแบ่งได้เป็นสองชนิด ด้วยกันคือ

1.ต้อหินชนิดมุมเปิด 
เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวด เพราะความดันลูกตาจะค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำให้ผู้ป่วยเคยชินกับความดันตาที่สูงขึ้น ทำให้เส้นประสาทตาถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายที่มาพบแพทย์เนื่องจากตามัวลงแล้ว ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของโรค 

2.ต้อหินชนิดมุมปิด 
จะมีลักษณะมุมตาแคบ ทำให้ขวางกั้นทางเดินระบายน้ำในตา เกิดความดันในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งถ้าเกิดแบบเฉียบพลันจะมีอาการปวดมาก และมองเห็นแสงสีรุ้ง ตามัวลงเฉียบพลัน และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ผู้ป่วยที่เป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จะมาพบแพทย์เร็วเพราะมีอาการปวดตามาก ต้อหินชนิดนี้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดได้โดยการยิงเลเซอร์ป้องกันให้มุมตาเปิดกว้างมากขึ้น แต่ถ้าเป็นต้อหินมุมปิดชนิดเรื้อรังที่ความดันตาค่อยๆเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัว จนกว่าเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว เหมือนกับต้อหินมุมเปิด 

3.การรักษาต้อหิน

เนื่องจากโรคต้อหินเส้นประสาทตาจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคองเพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้นและเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรค

·       การรักษาด้วยยา ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาหรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น จึงลดความดันตาให้อยู่ในระดับเหมาะสมไม่เกิดการทำลายของเส้นประสาทตา การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา

·       การใช้เลเซอร์ โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค

-          Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก หรือรักษาด้วยยาหยอดตาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือมีอการแพ้ยาหยอดตา และมักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ

-          Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด

-          Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล เป็นการทำลายเซลล์มีหน้าที่สร้างน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาสร้างน้อยลง 

·       การผ่าตัด ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้

-          Trabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ให้น้ำออกมานอกลูกตามากขึ้น เป็นผลให้ความดันตาลดลง

-          Aqueous shunt surgery ทำในกรณีที่การผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล เป็นการทำการผ่าตัดด้วยการใส่เครื่องมือที่เป็นท่อระบายเพื่อลดความดันตา

 

โรคต้อหิน มีความสำคัญเพราะเป็นภัยเงียบที่ทำให้ตาบอดถาวรได้ การตระหนักถึงความสำคัญ โดยการตรวจตาสม่ำเสมอจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อตรวจพบโรคได้ในระยะแรก และรับการรักษาอย่างทันท่วงที

<