ปวดท้อง

  ปวดท้อง   เป็นอาการนำที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งมีสาเหตุได้หลากหลาย ความสำคัญอยู่ที่อาการปวดท้องเป็นเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เพราะหากเป็นเฉียบพลัน บางโรคอาจเป็นสาเหตุที่อันตรายถึงชีวิตได้อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องรีบมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นโรคทางศัลยกรรมและทางสูตินรี

สาเหตุของอาการปวดท้องเฉียบพลัน ตามตำแหน่งการปวดที่หน้าท้อง

  • โดยหากปวดบริเวณท้องด้านขวาบน  อาจเป็นจากโรคถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วถุงน้ำดี ตับอักเสบ กรวยไตอักเสบ งูสวัด ปอดอักเสบ ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
  • หากปวดบริเวณท้องด้านขวาล่าง อาจเป็นจาก ไส้ติ่งอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องอักเสบ ท้องนอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุผนังมดลูกเจริญผิดที่ นิ่วในท่อไตและไต กรวยไตอักเสบ ไส้เลื่อน กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ เส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง มีการรั่วซึม
  • ถ้าปวดบริเวณท้องด้านซ้ายบน อาจมีสาเหตุจาก กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ม้ามโต / แตก กรวยไตอักเสบ นิ่วไต งูสวัด กล้ามเนื้อหัวใจตาย ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ
  • ถ้าปวดบริเวณท้องด้านซ้ายล่าง เป็นได้จาก กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ ลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบ เส้นเลือดโป่งพองในช่องท้องมีการรั่วซึม ท้องนอกมดลูก ปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุผนังมดลูกเจริญผิดที่ กรวยไตอักเสบ นิ่วในท่อไตและไต
  • ปวดบริเวณลิ้นปี่ อาจเป็นเพราะแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้เล็กส่วนต้นอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบระยะแรก เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง ถุงน้ำดีอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ปวดรอบสะดือ อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบระยะแรก กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตัน เส้นเลือดในช่องท้องอุดตัน เส้นเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง
  • ปวดบริเวณท้องน้อย สาเหตุที่พบได้แก่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กะเปาะที่ผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ โรคของต่อมลูกหมาก ปีกมดลูกอักเสบ ไส้เลื่อน ช่องเชิงกรานอักเสบ (PID) ท้องนอกมดลูก ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน

          อาการปวดท้องอาจมีสาเหตุจากโรคนอกช่องท้องก็ได้ เช่น โรคของกระดูกสันหลัง ปอดอักเสบ งูสวัด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็น DKA ไตวายที่มีของเสียในเลือดคั่งมาก (uremia) โรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ไข้ไทฟอยด์ โรคพอร์ฟัยเรีย พิษจากตะกั่ว ต่อมหมวกไตบกพร่อง โรคทางจิตเวช

        สาเหตุของอาการปวดท้องเรื้อรัง  ถ้าเป็นโรคที่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ ลำไส้อักเสบชนิด Inflammatory bowel disease ลำไส้ขาดเลือด เบาหวานลงเส้นประสาท (Diabetic neuropathy) แผลในกระเพาะอาหาร พังผืดในช่องท้อง เนื้องอกในช่องท้อง ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นิ่วในถุงน้ำดี ไส้เลื่อน ลำไส้อุดตัน กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ช่องเชิงกรานอักเสบถ้าเป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ ลำไส้แปรปรวน

การตรวจหาสาเหตุ

          แพทย์จะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายของผู้ป่วยในการพิจารณาเลือกวิธีการตรวจเพิ่มเติมหรือในรายที่อาการปวดท้องไม่ชัดเจนหรือเป็นเรื้อรัง โดยอาการไม่เปลี่ยนแปลงอาจให้การวินิจฉัย โดยให้การรักษาและติดตามอาการ หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดี อาจให้การวินิจฉัยในขั้นต้นได้ แต่หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรืออาการมีการเปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมนี้ขึ้นกับสาเหตุของอาการปวดท้องที่แพทย์สันนิษฐาน ได้แก่ การตรวจเลือด ปัสสาวะ อุจจาระ การตรวจทางรังสี การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น

การรักษา

          แพทย์จะให้การรักษาครอบคลุมสาเหตุที่สงสัยและรักษาตามอาการระหว่างรอผลตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน

 

ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์ระบบทางเดินอาหาร

<