แนะ 3ป. แม่บ้านถุง

แนะ “3ป.” แม่บ้านถุง     แนะ “3ป.” แม่บ้านถุง             แม่บ้านสมัยนี้ส่วนใหญ่ต้องพึ่งอาหารถุงหรืออาหารสำเร็จรูป เพราะสะดวกสบาย อาจไม่คำนึกถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะอันตรายจากเชื้อโรคและสารเคมีต่างๆ ที่ปนเปื้อน             ดังนั้น การเลือกซื้ออาหารเพื่อบริโภค จึงต้องใส่ใจมากขึ้น ต้องยึดหลัก 3 ป. ได้แก่ ป. ประโยชน์ – เลือกอาหารที่สด และคุณค่าทางโภชนาการ ป. ปลอดภัย – เลือกอาหารสะอาดปลอดภัยผลิตจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่เสี่ยงปนเปื้อน เกิดโรค-สารพิษ ป. ประหยัด – เลือกอาหารที่มีในท้องถิ่น มีตามฤดูกาล เพราะจะได้อาหารสุขภาพ ราคาถูก             และควรใช้หลักการดู โดย ดูสภาพอาหารว่าเปลี่ยนไปจากปกติหรือไม่ เช่น มีฟองก๊าซ สี เปลี่ยนแปลงไป หากดมได้ควรดมกลิ่นผิดปกติจากอาหารนั้นๆ หากมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เหม็นบูด ไม่ควรซื้อ             เลือกซื้อจากร้านอาหาร แผงลอยที่สะอาด ปลอดภัย อาหารปรุงสุก และผักสดเก็บในภาชนะสะอาด             อาหารที่ปรุงสุกร้านควรอุ่นให้ร้อนเป็นระยะๆ เพื่อทำลายเชื้อโรค ไม่ใช้เขียงปะปนอาหารสุกและอาหารดิบ เครื่องปรุงรสมีเลขทะเบียนตำรับอาหาร (อย.) บรรจุในภาชนะแก้ว กระเบื้องเคลือบขาวที่สะอาด มีฝาปิด             น้ำดื่ม-เครื่องดื่ม ต้องบรรจุในภาชนะที่ปกปิด ภาชนะล้างลำคว่ำเก็บในที่สะอาดเป็นระเบียบ คนปรุง คนขาย คนเสร์ฟ แต่งกายสะอาด ไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร             ทั้งนี้ ก่อนเลือกซื้ออาหารให้สังเกตป้ายสัญลักษณ์อาหาร สะอาด รสชาติอร่อย Clean Food Good Taste             ที่สำคัญยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ กินอาหารปรุงสุกใหม่ หากเป็นอาหารค้างมื้อต้องเก็บในตู้เย็นและนำมาอุ่นความร้อนอย่างทั่งถึง โดย นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

“อาหารเป็นพิษ” (Food Poisoning):สาเหตุ อาการ วิธีรักษา & การป้องกันด้วยกฏหลัก 10 ประการ

โดย พญ.ดวงพร  โชคมงคลกิจ  อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร สาเหตุ อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือน้ำที่มีการปนเปื้อน หรือเกิดจากการปนเปื้อนของสารเคมี ส่วนใหญ่มีอาการภายหลังรับประทานอาหารทะเล ที่ปรุงไม่สุกพอหรือ  อาหารที่ปนเปื้อนอาหารทะเลหรือชะล้างด้วยน้ำทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อ อาการ ลักษณะโรค มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำและปวดมวนท้องรุนแรงเป็นส่วนใหญ่  บางครั้งมีคลื่นไส้  อาเจียน  เป็นไข้หนาวสั่นและปวดหัว  บางครั้งมีอาการคล้ายเป็นบิด  ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมูก  ไข้สูง  ตรวจเลือด พบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูง  รุนแรงแค่ไหน? เป็นโรคที่ไม่ค่อยรุนแรงจนถึงเสียชวิตได้ นอกจากกรณีที่มีการสูญเสียน้ำมาก  การติดเชื้อในระบบอื่นของร่างกายและการตายพบได้น้อยมาก กี่วันหาย? มีระยะเวลาดำเนินโรค 1-7 วัน ระยะฟักตัว ปกติ  12-24  ชั่วโมง หรือ อยู่ในช่วง  4-30  ชั่วโมง การติดต่อ โดยการรับประทานอาหารที่ถูกเก็บไว้ ณ  อุณหภูมิห้องหลังจากปรุงแล้ว  ซึ่งทำให้เชื้อโรคมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น  การระบาดที่มีอาการอาเจียน ร่วมด้วย ส่วนมากพบเกี่ยวกับข้าว (เช่น ข้าวผัดในร้านแบบบริการตนเอง) ผักและอาหาร เนื้อที่เก็บรักษาไม่ถูกต้องหลังจากปรุงแล้วก็เป็นสาเหตุได้ การรักษา รักษาตามอาการ  ทดแทนด้วยน้ำและเกลือแร่  ด้วยสารละลายเกลือแร่และน้ำตาล ทางปากสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยเกือบทุกราย การให้สารน้ำทางเส้นเลือดคงจำเป็นในผู้ป่วยที่มีการช็อค  ในรายที่มีลำไส้เน่าต้องให้ยาปฏิชีวนะ  นาน 14 วัน และพิจารณาผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ การป้องกัน โรคอาหารเป็นพิษทุกสาเหตุ มาตรการป้องกันโดยใช้กฏหลัก  10 ประการ ในการเตรียมอาหารที่ปลอดภัย ดังนี้ เลือกอาหารที่ผ่านการเตรียมเป็นอย่างดี ปรุงอาหารที่สุก ควรกินอาหารที่สุกใหม่ๆ ระมัดระวังอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่าให้มีการปนเปื้อน อาหารที่ค้างมื้อต้องทำให้สุกใหม่ก่อนรับประทาน แยกอาหารดิบและอาหารสุก ให้ระมัดระวังการปนเปื้อน ล้างมือก่อนจับต้องอาหารเข้าสู่ปาก ให้พิถีพิถันเรื่องความสะอาดของห้องครัว เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง  หนู  หรือสัตว์ อื่นๆ ใช้น้ำสะอาด

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาหารในฤดูร้อน

อาหารในฤดูร้อน (Food For Summer Season)    อาหารในฤดูร้อน (Food For Summer Season)       บ้านเรามีอากาศร้อน ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน และสิ่งที่ตามมากับฤดูร้อนก็คือความไม่ปลอดภัยของอาหารที่เราบริโภค เพราะความเน่าเสียง่ายของอาหาร ทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ลองนำวิธีการเลือกรับประทานนี้มาใช้ดูนะคะ การเตรียมอาหารเพื่อลดความเสี่ยง ควรพิจารณาและระมัดระวัง ตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ ดังนี้ 1.      เลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด ไม่มีรอยแตกหรือรอยช้ำ 2.      ล้างทำความสะอาดอาหารด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง 3.      ปรุงอาหารโดยผ่านความร้อนในอุณหภูมิสูง และนานพอที่จะทำให้อาหารปลอดภัย 4.      เลือกใช้ภาชนะปรุงอาหารที่สะอาด โดยเฉพาะเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ ควรทำความสะอาดอยู่เสมอ 5.      หลีกเลี่ยงการจับต้องอาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรืออาหารที่พร้อมรับประทานมากที่สุด 6.      เตรียมอาหารให้เสร็จใกล้กับเวลาที่จะรับประทานมากที่สุด 7.      อาหารที่ต้องเก็บในตู้เย็น ควรนำเก็บในตู้เย็นให้เร็วที่สุดไม่ควรวางทิ้งไว้ 8.      ควรเก็บรักษาอาหารให้พ้นช่วงอุณหภูมิอันตรายคือระหว่าง 5-60 องศาเซลเซียส จึงไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง 9.      ไม่ควรเก็บอาหารสุกและอาหารดิบไว้ด้วยกันเพราะเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย 10.  ไม่ควรนำอาหารออกจากตู้เย็นก่อนเตรียมอาหารเกิน 20นาที การเลือกรับประทานอาหาร                                                   เพื่อลดความเสี่ยง อาหารทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการผิดปกติกับร่างกาย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งอาการจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ ที่ทำให้เกิดโรค คือถ้าอาหารบูดเราสามารถรู้ได้และเลี่ยงที่จะรับประทาน แต่อาหารบางอย่าง สี กลิ่น รส ลักษณะยังไม่เปลี่ยน ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะจุลินทรีย์อยู่ในระดับที่ยังไม่ทำให้อาหารเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มีปริมาณมากพอที่จะทำลายสุขภาพของเราได้ ดังนั้นเพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อ การเกิดโรคอาหารเป็นพิษ เฉพาะในช่วงหน้าร้อนจะทำให้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เรามีหลักในการเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้ 1.รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำไว้นาน                                                           2.เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านความร้อนอย่างทั่วถึง เช่น อาหารประเภทแกง ต้มจืด ต้มยำ 3.หลีกเลี่ยงอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ หรือผ่านความร้อนน้อย เช่น หอยแครงลวก 4.หลีกเลี่ยงอาหารประเภทที่ต้องผ่านการสัมผัสหลังจากการทำสุก เช่น ลาบ พล่า ยำ สลัด 5.ควรทราบว่าอาหารประเภทใดบูดง่าย อาหารที่มีเครื่องเทศมากมีรสเผ็ด ได้แก่ แกงเผ็ด ผัดเผ็ด จะบูดเสียกว่าอาหารที่มีรสจืด โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์และกะทิ 6.ไม่ควรซื้ออาหารสำเร็จมาวางทิ้งไว้นาน ถ้ายังไม่รับประทานควรเก็บไว้ในตู้เย็น 7.ควรอุ่นอาหารที่ซื้อสำเร็จก่อนรับประทาน 8.ไม่ควรเก็บอาหารที่ซื้อสำเร็จที่เหลือจากการรับประทานไว้อีกเพราจะทำให้บูดเสียง่าย ถ้าต้องการเก็บไว้ ควรอุ่นอีกครั้งก่อนนำเข้าเก็บไว้ในตู้เย็น ในการรับประทานอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะการรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และควรดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารภาชนะและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปรุงอาหาร สิ่งแวดล้อมและอย่าลืมดูแลเรื่องสุขอนามัยของตนเองด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ แล้วฤดูร้อนนี้.....คุณจะไม่มีปัญหาด้านสุขภาพมากวนใจค่ะ        ***ด้วยความปรารถนาดี จากแผนกโภชนาการ โรงพยาบาลวิภาวดี***    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ขับรถในหน้าฝนอย่างปลอดภัย

ขับรถในหน้าฝนอย่างปลอดภัย ขับรถในหน้าฝนอย่างปลอดภัย ตรวจสอบสภาพรถอย่างละเอียดก่อนออกเดินทาง เบรก พวงมาลัย ระดับของเหลวต่างๆ ปริมาณลมยาง และระบบไล่ฝ้าควรได้รับการตรวจสอบว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานสำหรับการเดินทาง ที่อาจต้องพบกับฝนที่ตกหนักระหว่างทาง เตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉินที่มีคุณภาพดีให้พร้อม การเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมายเอาไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดค่าใช้จ่าย จากการใช้บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน และช่วยลดความตึงเครียดหากรถเสียระหว่างการเดินทาง อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ควรตอบสนองต่อความต้องการของผู้ขับขี่แต่ละคน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วควรประกอบไปด้วย ยางอะไหล่ ไฟฉาย ฟิวส์ ที่สูบลม น้ำสะอาด อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และป้ายสัญญาณขอความช่วยเหลือที่มองเห็นเด่นชัด ตรวจสอบที่ปัดน้ำฝนให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งาน หากใบปัดน้ำฝนเสื่อมสภาพหรือชำรุด ควรเปลี่ยนใหม่ทันทีเพื่อทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ดีในขณะฝนตก ขับอย่างระมัดระวัง! ใส่ใจในการขับขี่และรักษาระดับความเร็วให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ การขับรถด้วยความเร็วสูงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่น้ำฝนอาจก่อตัวเป็นแผ่นน้ำบางๆ คั่นกลางระหว่างล้อและถนน ทำให้ความสามารถในการยึดเกาะถนนลดลง ผู้ขับขี่จึงควบคุมรถได้ยากขึ้น เปิดไฟหน้ารถขณะฝนตก เมื่อต้องขับรถในขณะฝนตกให้เปิดไฟหน้ารถเสมอ เพราะนอกจากจะช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ บนถนนได้ชัดเจนขึ้นแล้ว ยังช่วยให้รถคันอื่นมองเห็นรถผู้ขับได้จากระยะไกลด้วย หลีกเลี่ยงการเหยียบเบรกแรงๆ หรือการเบรกกระทันหัน การค่อยๆ ทิ้งน้ำหนักเหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็วลงนับว่าเป็นวิธีการขับขี่ที่เหมาะ สมที่สุด เพราะหากเหยียบเบรกอย่างรุนแรง รถอาจลื่นไถลได้ ขับรถอย่างมีสติและเว้นระยะห่างที่ปลอดภัยจากรถคันข้างหน้า ในยามที่ถนนเปียกจะต้องใช้เวลาและระยะทางในการเบรกเพิ่มขึ้น เมื่อประสบกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การขับรถด้วยความระมัดระวังและไม่ขับตามหลังรถโดยสารขนาดใหญ่หรือรถบรรทุกจะ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะล้อด้านหลังของรถขนาดใหญ่มักจะปัดละอองน้ำมาใส่รถคันข้างหลัง จนอาจทำให้เสียทัศนวิสัยในการขับขี่ได้ หลีกเลี่ยงแอ่งน้ำลึก ผู้ขับรถไม่มีทางทราบได้เลยว่าภายใต้ผิวน้ำนั้นมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าหากขับลงไปยังแอ่งน้ำด้วยความเร็วสูง กันชนหน้าและหม้อน้ำอาจจะถูกกระแทกจนได้รับความเสียหายร้ายแรง หรือถ้าคลื่นน้ำซัดเข้ามาในห้องเครื่องก็อาจจะทำให้เครื่องยนต์ดับได้ ตื่นตัวกับสัญญาณเตือนให้หยุดรถหรืออุปสรรคที่ขวางอยู่บนถนน หากพบว่าถนนข้างหน้ามีน้ำท่วมขัง พยายามอย่าขับรถฝ่าไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ให้มองหาเส้นทางใหม่ที่ปลอดภัยกว่า ขับช้าๆ เมื่อต้องฝ่าน้ำท่วม หากจำเป็นต้องขับฝ่าน้ำที่ท่วมขังบนพื้นถนน ให้ขับไปอย่างช้าๆ อย่าขับรถฝ่าน้ำที่กำลังไหลอยู่ หรือหากไม่ทราบว่าแอ่งน้ำนั้นลึกขนาดไหน ควรหยุดรถก่อนที่จะถึงบริเวณน้ำท่วมและตรวจสอบความลึกของน้ำ ซึ่งโดยทั่วไป ถ้าระดับน้ำสูงกว่าขอบประตูรถหรือสูงกว่า1ใน3ของล้อเมื่อวัดจากพื้นถนน ไม่ควรขับฝ่าไปอย่างเด็ดขาด เมื่อรถติดหล่ม ให้เปลี่ยนมาใช้เกียร์1หรือเกียร์2และเร่งเครื่องช้าๆ อย่าเร่งเครื่องแรงจนทำให้ล้อหมุนฟรี เพราะจะทำให้รถจมลึกลงไปกว่าเดิมอีก การเชนเกียร์ต่ำกระทันหันขณะฝนตกเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ขณะที่พื้นถนนเปียก การเปลี่ยนเกียร์อย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลกระทบต่อความเร็วของล้อและยาง อาจทำให้รถลื่นไหลและสูญเสียการควบคุมรถ ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ผู้ขับขี่ควรใช้ความระมัดเพิ่มขึ้นเมื่อต้องการเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำขณะขับ บนถนนลื่น โดยเฉพาะเมื่อต้องขับรถขึ้นเนินที่มีความลาดชัน ด้วยความปรารถนาดี รพ.วิภาวดี ขอบคุณที่มา จากเว็บไซด์ASTVผู้จัดการ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เคล็ดลับการกินให้ห่างไกลมะเร็ง

เคล็ดลับการกินให้ห่างไกลมะเร็ง    เคล็ดลับการกินให้ห่างไกลมะเร็ง 1.กินผักหลากสีทุกวัน สีสันของผักนอกจากจะดูสวยงามแล้ว ผักแต่ละชนิดยังมีปริมาณและชนิดของไฟโตนิวเทรียนท์แตกต่างกันออกไปตามสีของผัก ดังนั้น การกินผักให้หลากหลายหรือกินผักให้ครงทั้ง 5 สีจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพ สารสีแดง เช่น มะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า “ไลโคปีน” ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด สารสีเหลือง / ส้ม เช่น ฟักทอง แคร์รอต มีสารต้านอนุมูลอิสระ “แคโรทีนอยด์” และอุดมไปด้วยวิตามินที่สามารถต้านการเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย สารสีเขียว  เช่น คะน้า บรอกโคลี อุดมไปด้วยวิตามินซี รวมถึงผักบุ้ง กวางตุ้ง ตำลึง ซึ่งมีวิตามินเอ  สารสีม่วง  เช่น กะหล่ำสีม่วง มะเขือม่วง พืชผักสีม่วงเหล่านี้มีสารแอนโทไซยานินซึ่งจะช่วยยับยั้ง  สารก่อมะเร็ง สารสีขาว  เช่น ผักกาดขาว มะเขือเปาะ ดอกแค โดยเฉพาะยอดแค มีสารเบต้าแคโรทีนสูงซึ่งมีคุณสมบัติในการกำจัดสารอนุมูลอิสระ 2.รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ ผลไม้ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งมีเส้นใยอาหารที่ช่วยระบบย่อยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ เช่น ส้ม สับปะรด และมะม่วง ที่มีทั้งวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง หรือมะละกอที่มีทั้งวิตามินเอ บี และซี ที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานปกติลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน 3.ประกอบอาหารธัญพืชและเส้นใย  ธัญพืชเต็มเมล็ดคือธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุด ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ลูกเดือย เป็นต้น ธัญพืชประเภทนี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ไฟโตนิวเทรียนท์ เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆนอกจากนี้ใยอาหารในธัญพืชยังทำหน้าที่สำคัญในการพาสารต่างๆที่เป็นโทษต่อร่างกายซึ่งเกาะติดบริเวณลำไส้ให้ขับถ่ายออกไป จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในทางเดินอาหารและมะเร็งในลำไส้ใหญ่ 4.ใส่เครื่องเทศเสริมรสชาติอาหาร  เครื่องเทศหมายถึงส่วนต่างๆของพืชที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารหรือเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอมและยังมีสรรพคุณลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง 5.เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ โดยการดื่มเครื่องดื่มธรรมชาติซึ่งนำมาจากส่วนต่างๆของพืช เช่น ชาเขียวที่เต็มไปด้วยสาร EGGC ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็ง เป็นต้น 6.ปรุงอาหารอย่างถูกวิธี เช่น ไม่ปิ้งย่างอาหารประเภทเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียม ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือไม่ใช้น้ำมันทอดอาหารหลายครั้ง 7.ลดการบริโภคเนื้อแดง เนื่องจากเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และโรคอ้วน 8.เกลือแกง อาหารหมักดองต้องน้อยลง โซเดียมพบมากในเนื้อเค็ม ปลาเค็ม และผลไม้ดองมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการต่างๆในร่างกายแต่หากได้รับปริมาณที่มากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายได้เช่นกัน 9.หลีกหนีอาหารไขมัน โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งพบมากในอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์และน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น เนย ไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม    ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี ที่มาข้อมูล จาก จดหมายข่าว AMnews เดือนกรกฎาคม 2016

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไมเกรน (Migraine) ปวดหัวแบบไหน รักษายังไง

ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดหัวชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการปวดจะเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆ ความรุนแรงของอาการปวด มีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 ชม. อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมี ความเครียด อากาศร้อน แสงจ้า หรืออดนอน ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้นผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมืดและเงียบ เพราะจะทำให้อาการปวดดีขึ้น ชนิดของไมเกรนที่พบบ่อย Classic migrain : อาการมักเกิดในช่วงวัยรุ่น เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดศีรษะจะลดลงจนกระทั่งหายขาด แต่ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการนำมาก่อน เช่น เห็นแสงแลบ ตามองไม่เห็น ชาซีกใดซีกหนึ่งเราเรียก classic migrain Common migrain : อาการแสดงมักเกิดบริเวณหน้าผาก รอบดวงตา ขมับและขากรรไกร ปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำเรียก common migrain ไมเกรนเป็นโรครักษาไม่หายขาดแต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำสามารถทำให้ควบคุมโรคได้ สาเหตุของโรค ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆสมอง ระบบประสาทผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ ระบบประสาทจะมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการอักเสบดังกล่าวเกิดขึ้น และอาการปวดอย่างรุนแรงตามมา  ปัจจัยกระตุ้นมีดังนี้ อาหาร คือ ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือสารถนอมอาหาร สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ การนอนหลับ การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้  และยังไปกระตุ้นอาหารปวดกล้ามเนื้อด้วย ฮอร์โมน ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นไมเกรน บางคนจะมีอาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงหรือระยะเวลาในการปวดนานมากขึ้นได้ สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมาก ” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ หรือการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด อาการ แบบแรกอาการปวดตุบ ๆ แถว ๆ ขมับ หรือลึก ๆ อยู่แถวเบ้าตา เหมือนหัวใจเต้น และจะปวดในระดับกลางถึงมาก ซึ่งนี่เป็นลักษณะเด่นของการปวดไมเกรน แต่ถ้าปวดพอรำคาญ ไม่มากนัก โอกาสเป็นไมเกรนจะน้อย  นอกจากนี้ อาการปวดแบบไมเกรนนั้น เมื่อหายปวดจะหายสนิท โดยในช่วงที่ปวดนั้น อาจจะปวดได้นาน 2-3 วันตามทฤษฎี แต่โดยทั่วไป อาจจะปวดแค่ 2-3 ชั่วโมง หรืออาจจะ 4 ชั่วโมง  นอกจากนี้อาจมีอาการอาเจียน เห็นแสงแวบ ๆ เป็นสีเหลือง ๆ หรือเป็นหยัก ๆ ในช่วงก่อนปวด เรียกได้ว่าเป็นอาการนำ แต่อาการแบบนี้ไม่พบในคนไข้ทุกคน Checklist อาการไมเกรน จะต้องมีอาการปวดศีรษะ อย่างน้อย 5 ครั้ง ปวดศีรษะนาน 4-72 ชั่วโมง ลักษณะปวดศีรษะต้องประกอบด้วยลักษณะอย่างน้อย 2 ประการ ปวดข้างเดียว และมีอาการปวดตุ๊บๆๆ ปวดมากจนทำงานประจำไม่ได้ ขึ้นบันไดหรือเคลื่อนไหวทำให้ปวดมากขึ้น ขณะปวดศีรษะจะต้องมีอาการข้างล่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง  คลื่นไส้หรืออาเจียน  แสงจ้าหรือเสียงดังทำให้ปวดศีรษะ         ปวดหัวข้างเดียว ใช่ไมเกรน 100% หรือไม่ ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดข้างเดียวไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกอะไรเลยว่าเป็นไมเกรน ปวดข้างเดียวนี้ อาจะเป็นเนื้องอก หรือเกิดจากล้ามเนื้อตึงตัวก็ได้ ตกหมอน หรือได้รับอาการบอบช้ำ คนที่ปวดหัวข้างเดียวเพราะไมเกรนนั้น จริง ๆ แล้วมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของคนไข้ทั้งหมด ปวดสองข้างก็เป็นไปได้ กลุ่มเสี่ยง คนสูงอายุจะไม่ค่อยเป็นกนมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาของวัยรุ่น คนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงอายุหลายเท่า คนที่เป็นไมเกรนนั้น จะเป็นได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 7-8 ขวบ แต่ที่พบบ่อยจะเป็นช่วงวัยรุ่นอายุ 10 - 25ขึ้นไป และจะเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่พออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการจะน้อยลง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนบางอย่าง ผู้หญิงบางคนเป็นมาตลอด พอมาถึงวัยหมดประจำเดือนกลับหายจากอาการไปเลย การวินิจฉัย การวินิจฉัยไมเกรนนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง ความถี่ ระยะเวลาในการปวด และอาการอื่นที่ร่วมด้วย ประวัติโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น เช่น อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือจากภาวะเครียด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง โรคของต่อมใต้สมองหรือมีเนื้องอก เป็นต้น การรักษา ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีการช่วยให้ความถี่และความรุนแรง ของไมเกรนลดน้อยลง โดยใช้ยาเพื่อป้องกันรักษา และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ดูแลสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ ปัจจุบันจะมีการฝังเข็มเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นที่ยอมรับและในการฝังเข็มนั้นได้มีการระบุว่า เป็นการรักษาไมเกรนได้เช่นกัน ยาแก้ปวดและป้องกันไมเกรน ยาแก้ปวดไมเกรน คือ ยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด  ส่วนยาป้องกันไมเกรน ใช้เพื่อทำให้ความถี่และความรุนแรงของการปวดลดลง และจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน  ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากมาย หลายชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใด ควรได้รับคำแนะนำหรือควรปรึกษาแพทย์ การป้องกัน หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน เช่น แอลกอฮอล์โดยเฉพาะไวน์แดง ผงชูรส เนย นม ชอคโกแลต กล้วยหอม ผงชูรส ผลไม้ประเภทส้ม กาแฟและชา  การนอน ควรนอนให้เป็นเวลา  งดการใช้ฮอร์โมน เช่นยาคุมกำเนิด  ควบคุมความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ  ควบคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อากาศ แสงไฟกระพริบ กลิ่นที่ฉุนเฉียว  การทำสมาธิ  การจัดการกับความเครียด  การออกกำลังกาย FAQ คำถามที่ถามบ่อย  ถาม: เมื่อมีอาการปวดศีรษะจะปวดรุนแรง ถึงขั้นอาเจียนออกมา เวลาหายปวดจะหายสนิท และสัปดาห์หนึ่งจะเป็นถึง 5 วัน อยู่ในขั้นหน้าวิตกหรือไม่ ตอบ : ควรให้แพทย์เฉพาะทางตรวจดูอาการว่าเป็นไมเกรนแน่นอนหรือเปล่า ซึ่งจากอาการโอกาสจะเป็นไมเกรนค่อนข้างสูง สำหรับความถี่ของการการที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าค่อนข้างบ่อย เพราะควรจะปวดเดือนละ 2-3 ครั้ง กรณีที่ปวดบ่อย อาจจะต้องรับประทานยาป้องกันอาการปวด ในขณะที่ปวดไม่บ่อย อาจรับประทานยาแก้อาการปวด ถาม:  ทานยารักษาอาการเป็นประจำจะมีผลเสียหรือไม่ ตอบ : ยาไมเกรน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มป้องกัน กับกลุ่มแก้เวลาปวด การจะนำมาใช้ต้องให้แพทย์พิจารณาเป็นราย ๆ ไป และเมื่อรับประทานแล้ว จะต้องดูการตอบสนองด้วย ส่วนยา คาฟาค๊อท ที่มีจำหน่ายและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้ บางรายอาจไม่ต้องใช้ยาชนิดนี้ เพียงยาพาราเช็ตตามอล หรือแอสไพริน ก็สามารถช่วยได้ ถาม: การพิจารณาอาการในเด็ก ควรทำอย่างไร ตอบ : ถ้าพบอาการปวดศีรษะในเด็ก สิ่งแรกที่ควรเช็คคือสายตา หรืออาจจะมีปัญหากับเพื่อน เพิ่งย้ายโรงเรียน ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ อาจเกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัว จุดนี้ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในเด็ก อายุ 7-8 ปี ก็อาจพบว่าเป็นไมเกรนได้เช่นกัน ให้สังเกตดูว่าเวลาปวดจะปวดมาก อาจถึงขึ้นอาเจียน แต่เมื่อหายปวดจะหายสนิทเลยเช่นกัน ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคของเด็ก

โรคของเด็ก    โรคของเด็ก  หมายถึง  โรคที่มักเกิดแก่เด็กในวัยทารกและวัยเด็ก  อาการของโรคที่พบบ่อยในวัยเด็ก  เช่น อาการไข้  เป็นอาการที่เด็กมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ  การที่จะทราบได้ว่าเด็กเป็นไข้อาจทราบจาการคลำตัวเด็กเป็น ใช้หลังมืออิงบนหน้าผาก  หากต้องการทราบแน่นอนต้องวัดอุณหภูมิด้วยปรอทวัดอุณหภูมิ  ซึ่งอาจวัดทางปากหรือวัดทางทวารหนัก  สาเหตุที่สำคัญของไข้ในเด็ก โรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด  ทอลซิลอักเสบ หูส่วนกลางอักเสบ  ปอดอักเสบ  วัณโรค ฯลฯ  การขาดน้ำ  ดื่มน้ำไม่พอ  หรือมีการเสียน้ำจากร่างกายมาก  เช่นอุจจาระร่วง  การระบายความร้อนของร่างกายไม่ดี  เช่น  เด็กใส่เสื้อหนา ๆ   หรือถูกห่อหุ้มด้วยผ้าห่มหนา ๆ ทำให้ระบายอากาศไม่ได้ โรคทางสมอง  เช่น ความพิการของสมอง  เลือดออกในสมอง  การแพ้ยา  พิษจากสารเคมี  อาการชัก  เด็กจะมีอาการกระตุกแขนขาน้อย ๆ หรือแรงถี่ กล้ามเนื้อเกร็ง  ตาเหลือกค้าง  กัดฟัน  หรือลิ้น  สาเหตุของอาการชักอาจได้รับอันตรายจากการคลอด  ความผิดปกติในร่างกาย  การติดเชื้อของระบบประสาท  ได้รับยาบางชนิด  หรือได้จากมารดาที่ติดยาเสพติด  อาการชักที่พบบ่อยในเด็กเล็กคือ  เวลามีไข้สูง โรคลมบ้าหมู เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของเซลล์สมอง  อาจจะชักกระตุกทั้งตัว  กระตุกบางส่วน  หรือหัวผงก  โรคติดเชื้อทางสมอง  ที่สำคัญคือ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไอ เป็นอาการที่พบได้เสมอทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ อาการไอในเด็กมักเกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ  เช่น  ไข้หวัด  กล่องเสียงอักเสบ  หลอดลมอักเสบ  ปอดอักเสบ โรคไอกรน  เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการไอได้รุนแรง  และอาจเป็นได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน  โรคนี้ป้องกันได้หากฉีดวัคซีนป้องกันโรค โรคหืด  พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุต่ำกว่า 1 ปี ทำให้เด็กมีอาการไอเรื้อรัง  การไอมักมีเสมหะมาก  ไอมากในเวลากลางคืน  อากาศเย็น  หรืออากาศเปลี่ยน อาการหอบ  เป็นอาการที่มีลักษณะของการหายใจลำบาก  อาการกระสับ-กระส่าย  ซึ่งเกิดจากโรคในระบบทางเดินหายใจ  หรือเกิดจากการติดเชื้อ  การอักเสบของหลอดคอ อาการตัวเหลือง  หรือเรียกว่าดีซ่าน  เกิดจากโรคหรือความผิดปกติที่มีสีบิลิรูบิน  การคลอดลำบาก  โรคกรรมพันธุ์ของเม็ดโลหิตแดงบางชนิดยาบางชนิด  เช่น  ยาพวกสเตรอยด์  โรคติดเชื้อจากในครรภ์มารดา  โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในวัยเด็ก โรคคอตีบ จะมีอาการเป็นไข้  เจ็บคอหายใจลำบากจนหายใจไม่ออก  ทำให้เสียชีวิตได้  อาจทำให้อันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ  ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ  มีผลต่อเส้นประสาท  สามารถป้องกันโรคได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตั้งแต่อายุได้ 2-3 เดือน ไอกรน  เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจ  มีอาการน้ำมูกไหล  ไอมาก  โรคแทรกซ้อนในโรคไอกรน  คือ โรคปอดบวม  หูน้ำหนวก  สามารถป้องกันโรคไอกรนได้โดยการฉีดวัคซีน  ตั้งแต่อายุได้ 2-3 เดือน โรคบาดทะยัก  เกิดจากเชื้อบาดทะยักทางบาดแผลแล้วแล้วปล่อยพิษออกมาทำให้มีอาการขากรรไกรแข็ง  อ้าปากไม่ขึ้น  มีการเกร็งของกล้ามเนื้อที่ใบหน้า  อาการชักแบบหลังแอ่น  เกิดจากความเจ็บปวดเวลาที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเมื่อมีอาการชักติดต่อกันนาน ๆ ทำให้หายใจไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้  การป้องกันโรคบาดทะยักทำได้  โดยการฉีดวัคซีนป้องกันพร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ  และไอกรนตั้งแต่เด็ก  ในเด็กแรกคลอดมักจะเกิดจากการตัดสายสะดือด้วยเครื่องมือสกปรก โรคไขสันหลังอักเสบ(โปลิโอ)  อาการที่พบคือมีไข้  ปวดศีรษะ  คลื่นไส้  อาเจียน  ปวดเมื่อยตามตัว  มีอาการคอแห้งและอัมพาตเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางปาก  และอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อนี้อยู่  การป้องกันโรคโปลิโอที่ดีที่สุด  คือการรับประทานวัคซีนป้องกันโปลิโอ โรคหัด  เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อโรค  ติดต่อโดยทางหายใจ ทำให้เกิดไข้  น้ำมูกไหล  ไอ  คอแดง  โรคหัดเยอรมัน  เป็นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  ในเด็กเล็กจะมีอาการผื่นตามตัว  คอ แขน ขา มีไข้ต่ำ  อาการที่พบในทารกที่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างอยู่ในครรภ์ คือ  ตัวเล็ก  เจริญเติบโตช้า  น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าปกติอาจมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด  หูหนวก  ตาอาจเป็นต้อกระจก  ต้อหิน  หรือตาเล็ก  อาจเกิดความผิดปกติทางสมองทำให้ปัญญาทึบ โรคสุกใส  เกิดจากเชื้อไวรัส  ทำให้เกิดเป็นผื่นและตุ่มใส  ๆ บนผิวหนังมีอาการไอ หรือจาม วัณโรค  เป็นโรคที่เกิดขึ้นที่ปอด  ต่อมน้ำเหลือง  เยื่อหุ้มสมอง ลำไส้ กระดูก ข้อ ตับ ไต ผิวหนัง และเยื่อหุ้มหัวใจ  การป้องกันโรคนี้ทำได้โดยสร้างภูมิคุ้มกันโดยฉีดวัคซีน บีซีจี และหลีกเลี่ยงการได้รับเชื้อ โรคไข้เลือดออก   เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยยุงลายกัดเวลากลางวัน  อาการของไข้เลือดออกคือ  มีไข้สูง  เบื่ออาหาร คลื่นไส้  อาเจียน  ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องผู้ป่วยอาจตายได้  การป้องกันคืออย่าให้ยุงลายกัดกำจัดแหล่งวางไข่ของยุงลาย  ซึ่งได้แก่น้ำสะอาดที่อยู่นิ่งฉะนั้นภาชนะที่ใส่น้ำควรมีฝาปิด  โรคต่าง ๆ ของเด็กเหล่านี้  ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันและการหมั่นสังเกตอาการของเด็ก ๆ และรีบพบกุมารแพทย์  เมื่อพบอาการต้องสงสัย ด้วยความปรารถนาดีจาก แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคที่มากับ...มือ

โรคที่มากับ...มือ    นอกจาก “สมอง” แล้ว, “มือ” นับเป็นอวัยวะที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกใบนี้ เนื่องจากมนุษย์ ใช้สมองคิดค้นสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่ใช้มือในการประดิษฐ์ และทำงานที่สัตว์อื่นทำไม่ได้ เราใช้มือของเรานี้ในการจับต้องสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาตอนเช้า ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ สัมผัสผู้อื่น รวมทั้งหยิบอาหารเข้าปาก แคะจมูก ป้ายตา มือจึงอาจนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ด้วย และหากใครสักคนเป็นโรคติดเชื้อ มือนี้ก็สามารถกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น จากการสัมผัสกันโดยตรง หรือแม้กระทั่งสัมผัสผ่านตัวกลาง 1 ซึ่งตัวกลางที่พบบ่อยและผู้คนมักมองข้าม ได้แก่ ลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์ และราวบันไดเลื่อน เชื้อโรคบนมือ                                      สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อยู่บนมือของคนโดยทั่วไป แบ่งได้ 2 ประเภท 1,2 คือพวกที่พบได้ในภาวะปกติ ซึ่งมีอยู่นับสิบชนิด 3 (แม้ว่ามือนั้นจะยังดูสะอาด ไม่เปรอะเปื้อนก็ตาม) กับพวกที่พบได้ชั่วคราว ซึ่งได้รับมาจากการสัมผัส ซึ่งจะติดอยู่ที่ผิวหนังอย่างหลวม ๆ และล้างออกได้ง่าย ๆ 1 พวกแรกนี้โดยทั่วไปไม่ก่อโรค เว้นเสียแต่มีการเหนี่ยวนำเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่กระแสเลือด หรืออวัยวะภายใน เช่น ในทางการแพทย์ การใส่สายให้น้ำเกลือเข้าไปในหลอดเลือดโดยตรง อาจมีเชื้อที่ผิวหนังปนเปื้อนเข้าไปและก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมาได้ ส่วนพวกหลัง อาจเป็นเชื้อก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคติดต่อได้มากมาย บางอย่างรุนแรงถึงชีวิต โรคติดเชื้อที่ติดต่อผ่านทางมือ               โรคติดเชื้อมากมาย สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส ตัวอย่างโรคที่พบบ่อย มีดังนี้ 1.โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด หัดเยอรมัน นอกจากจะติดต่อผ่านการหายใจเอาเชื้อเข้าไปแล้ว การที่มือไปสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกับบุคคลอื่น หรือเครื่องใช้ในที่สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ราวโหนรถเมล์ หรือราวบันได แล้วมาแคะจมูก เชื้อโรคก็จะเข้าสู่โพรงจมูกส่วนหน้า เมื่อหายใจเข้าไป ก็ทำให้เกิดโรคได้ 2.โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคพยาธิชนิดต่าง ๆ ซึ่งติดต่อได้จากการที่มือปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้ แล้วหยิบจับอาหารรับประทานเข้าไป โรคติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง เช่น โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เหา โรคเริม โรคที่ติดต่อได้หลายทาง เช่น โรคอีสุกอีใส อาจติดต่อได้จากการหายใจ และการสัมผัส โรคติดเชื้อเหล่านี้ เป็นโรคที่พบบ่อย และบางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้          แนวทางรักษา วิธีการง่าย ๆ ที่ลงทุนน้อย และได้ผลตอบแทนมาก ในการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อที่ผ่านทางมือ ก็คือ “การล้างมือ” จากการวิจัยทางการแพทย์ ค้นพบมานานกว่า 150 ปีแล้วว่า การล้างมือของแพทย์จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล 2,4,5 นอกจากนี้การล้างมือบ่อย ๆ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดง ก็เป็นวิธีป้องกันการระบาดของโรคได้ 6 หรือการล้างมือของผู้ประกอบอาหาร ก็ป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินอาหารเช่นกัน 7 แต่ปัญหาก็คือ คนทั่วไปไม่ค่อยได้สนใจและไม่ระวัง เนื่องจากเชื้อก่อโรคดังกล่าวข้างต้นแม้จะมีอันตราย แต่ก็มีขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น นอกจากการไม่แคะจมูกและขยี้ตาบ่อย ๆ แล้ว การล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การล้างมือที่ถูกวิธี การล้างมือที่ถูกต้อง ต้องทำให้มือสะอาดทั้งมือ โดยมีทั้งสิ้น 6 ขั้นตอน คือ 1) ถูฝ่ามือ กับฝ่ามือ 2) ฝ่ามือถูบริเวณหลังมือสลับกันทั้งสองข้าง 3) ซอกนิ้วมือด้านฝ่ามือถูกัน 4) ถูซอกนิ้วมือด้านหลังมือ ด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างสลับกัน 5) ล้างนิ้วหัวแม่มือให้สะอาดโดยรอบทั้งสองข้าง และ 6) เอาปลายนิ้วมือ ถูฝ่ามือ สลับกันทั้งสองข้าง 8 รวมเวลาที่ใช้ล้างมือนี้ประมาณ 15-30 วินาที (อย่างน้อย 10 วินาที) นอกจากนี้ควรล้างมือด้วยน้ำที่กำลังไหลรินจากก๊อกน้ำ และควรใช้ผ้าหรือกระดาษสะอาดเช็ดมือให้แห้ง หรือทำให้แห้งด้วยเครื่องเป่าลมหลังล้างเสร็จ 5 การล้างมือนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพียงแค่ใช้สบู่กับน้ำสะอาด ล้างอย่างถูกวิธีก็จะสามารถลดการติดเชื้อได้อย่างดีมากแล้ว เมื่อไรบ้างที่ควรล้างมือ                                               ควรล้างมือในกรณีต่าง ๆ ดังนี้: ล้างมือ หลังเสร็จกิจกรรมที่ทำให้มือสกปรก เช่น ทำงาน ยกของ พรวนดิน กวาดบ้าน ล้างห้องน้ำ เป็นต้น, ล้างมือ เมื่อจะประกอบอาหาร หรือหยิบจับอาหารเข้าปาก, ล้างมือ ก่อนล้างหน้า แปรงฟัน หรือหลังเข้าห้องน้ำ, ล้างมือ เมื่อจะสัมผัสจมูก ปาก หรือตา, ล้างมือ ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย รวมทั้งในกรณีที่ป่วยเองก็ยิ่งต้องล้างมือให้บ่อย ๆ หลังเช็ดน้ำมูก ไอ จาม, ล้างมือ ก่อนสัมผัสบุตรหลาน และล้างมือ หลังจากกลับจากที่ทำงานมาถึงบ้าน การล้างมือควรกระทำบ่อย ๆ ให้เป็นนิสัย เนื่องจากการสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก หยิบจับอาหาร สามารถนำเชื้อโรคบนมือเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ การเลี้ยงดูบุตรหลาน โอบกอด ป้อนอาหาร ก็สามารถนำโรคสู่เด็กเหล่านั้นได้ด้วย รณรงค์อย่างไร แม้โรคติดเชื้อจำนวนมาก สามารถแพร่กระจายได้ง่าย ๆ ด้วยการสัมผัส การล้างมือก็เป็นวิธีการง่าย ๆ ที่จะป้องกันการแพร่กระจายของโรคเหล่านี้ แต่โดยประชาชนโดยทั่วไปอาจมองข้ามว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่ และละเลยสิ่งที่ควรปฏิบัติ เห็นได้จากการระบาดของโรคติดต่อ เช่น ตาแดง ให้เห็นอยู่เนือง ๆ การรณรงค์ในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ โดยต้องเริ่มต้นตั้งแต่ระดับบุคคลและครอบครัว การที่ผู้ใหญ่ล้างมือให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่าง จะสามารถสร้างอุปนิสัยที่ดีให้แก่เยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป                                                            จะเห็นว่าการให้ความรู้กับประชาชน แม้จะสามารถเพิ่มความตระหนักในหน้าที่การดูแลสุขภาพของตนได้ แต่จะคงการปฏิบัติและพฤติกรรมของการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องได้นานสักเท่าไร เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างจริงจัง “ถึงเวลาหรือยัง ที่ท่านจะสละเวลาที่มีค่าของท่านสักนิด ล้างมือของท่านให้สะอาด เพื่อตัวท่าน บุตรหลานของท่าน และสังคมส่วนรวม” Reference 1. Edmond MB, Wenzel RP. Isolation. In Mandell GL, Bennett JE, Dolin R (eds). Principles and practice of infectious diseases. Philadelphia: Churchill Living Stone; 2000:2991-2995. 2. Pinney E. Hand washing. Br J Perioper Nurs 2000; 10:328-331. 3. Herceg RJ, Peterson LR. Normal flora in health and disease. In Shulman ST, Phair JP, Peterson LR, Warren JR (eds). The Bilogic and Clinical Basis of Infectious Diseases. Philadelphia: W.B. Saunders Company; 1997:5-14. 4. Handwashing Liaison Group. Hand washing: A modest measure-with big effects. BMJ 1999; 318:686. 5. Wendt C. Hand hygiene--comparison of international recommendations. J Hosp Infect 2001; 48 Suppl A:S23-S28. 6. Horton JC. Disorders of the eye. In Braunwald E, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Longo DL, Jameson JL (eds). Harrison's Principles of Medicine. New York: McGraw Hill; 2001:164-178. 7. Begue RE, Gastanaduy AS. Clinical Microbiology : Acute Gastroenteritis Viruses. In Armstrong D, Cohen J (eds). Infectious Diseases. London: Harcourt Publishers; 1999:8.1.1-8.1.10. 8. Ayliffe GA, Babb JR, Quoraishi AH. A test for 'hygienic' hand disinfection. J Clin Pathol 1978; 31:923-928. ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี   ขอบคุณที่มา Thaiclinic.com

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ซีสต์ สารพันเรื่องของผู้หญิง

ซีสต์ สารพันเรื่องของผู้หญิง    ซีสต์ สารพันเรื่องของผู้หญิง ซีสต์ เกิดจากเนื้องอกของผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นถุง ซึ่งมีไขมัน เซลหนังกำพร้า เส้นผมหรือต่อมเหงื่อ หรือสารคัดหลั่งของร่างกายบรรจุอยู่ภายในโครงสร้างที่เป็นผนังของซีสต์ก็คือ ส่วนประกอบของผิวหนัง เช่น รูขุมขน ท่อของต่อมไขมัน หรือต่อมเหงื่อ ซึ่งพองตัวเป็นถุง เนื่องจากมีการอุดตันของรูเปิดของต่อมต่างๆเหล่านี้ หรือ การฝังตัวของเซลล์ผิวหนังเข้าไปในชั้นหนังแท้ ซึ่งเกิดขึ้นตามหลังจากที่ผิวหนังถูกทิ่มแทง เป็นแผล หรือเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยซีสต์ที่เกิดจากกลไกประการหลังนี้ จะเป็นซีสต์ที่เป็นตั้งแต่กำเนิด ซีสต์มีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะต่างกันอย่างไร สามารถจำแนกซีสต์ที่เกิดขึ้น บนผิวหนังตามลักษณะตำแหน่งที่เกิด และส่วนประกอบของซีสต์ ออกเป็นชนิดต่างๆ ซีสต์ที่มีผนังซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายผิวหนัง ได้แก่ Epidermal Cyst, Milium, Steatocystoma Multiplex, Vellus Hair Cyst และ Dermoid Cyst ซีสต์ที่มีผิวหนังเป็นท่อของต่อมเหงื่อ ได้แก่ Apocrine และ Eccrine Hidrocystoma Epidermal Cyst เป็นซีสต์ที่พบบ่อยที่สุด โดยเป็นซีสต์ ที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง ที่เป็นส่วนประกอบของรูขุมขน โดยมี Keratin ซึ่งมีส่วนประกอบเหมือนขี้ไคลบรรจุอยู่ภายในซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะ เป็นก้อนกลมๆ ขนาดแตกต่างกัน สีเดียวกับผิวหนังซึ่งยึดติดอยู่กับผิวหนังด้านบน แต่ไม่ติดกับเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ซีสต์และอาจมีรูเปิดที่ผิวหนังในส่วนที่ซีสต์ยึดติดอยู่ ซึ่งเมื่อเราดึงผิวหนังให้ตึงจะพบรอยบุ๋มเกิดขึ้นบนซีสต์ในตำแหน่งนี้ และพบสารสีขาวๆ คล้ายสังขยาไหลออกมาเมื่อเราบีบซีสต์ แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยซีสต์ เนื่องจากการบีบซีสต์อาจทำให้ซีสต์มีการอักเสบ เจ็บและบวมแดงขึ้นได้ Epidermal Cyst จะมีขนาดแตกต่างกันไป เป็นกันได้ในทุกเพศทุกวัยและทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยคือ ที่ใบหน้า คอ หน้าอก และหลังส่วนบน Milium หรือสิวข้าวสาร เป็นซีสต์ที่มีผนังและส่วนประกอบเหมือน Epidermal Cyst แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวคล้ายสิว ซึ่งอยู่ตื้นและมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ1-2  ม.ม. ซีสต์ชนิดนี้ พบได้ทุกอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงวัยชรา เป็นได้เท่าเทียมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ทั่วทั้งตัว แต่จะพบบ่อยที่บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จมูกในทารกแรกเกิด และที่หนังตาและแก้มในเด็ก นอกจากนี้ Milium ยังมักเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังเคยถูกทำลายมาก่อน เช่นในบริเวณที่ ผิวหนังเคยเป็นแผลถลอก หรือเกิดขึ้นหลังการขัดหน้า เกิดขึ้นหลังจากได้รับการฉายรังสีหรือตากแดดจนไหม้ หรือหลังจากเป็นโรคผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำพองใส หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่เคยทายาสเตียรอยด์อยู่นานๆ ส่วนใหญ่เมื่อผิวหนังมีการสมานแผลภายหลังการที่ผิวถูกทำลายด้วยลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจมี สิวข้าวสารเกิดขึ้นได้ Steatocystoma Multiplex เป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นที่ท่อของต่อมไขมัน (Sebaceous Duct) ผนังของซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับซีสต์ชนิดแรกคือ Epidermal Cyst แต่สารที่บรรจุภายในซีสต์ไม่ใช่ Keratin แต่เป็นไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน ซีสต์ชนิดนี้มักจะพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย มีลักษณะเป็นตุ่มใต้ผิวหนังขนาดแตกต่างกันแต่มักไม่เกิน 5 ซ.ม.  ซึ่งพบได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยบริเวณกลางหน้าอก ต้นแขนและต้นขา ถ้าซีสต์ประเภทนี้อยู่ตื้นจะมองเห็นเป็นตุ่มสีเหลืองๆ แต่ถ้าซีสต์อยู่ลึกจะเห็นเป็นตุ่มสีเดียวกับผิวหนัง ลักษณะสำคัญของซีสต์ประเภทนี้ก็คือ ถ้าใช้เข็มเจาะซีสต์จะมีน้ำมันสีเหลืองคล้ายเนยเหลวๆ ไหลออกมา ซีสต์ประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันหลายๆตุ่ม Vellus Hair Cyst เป็นซีสต์ขนาดเล็กซึ่งมีผนังและสารที่บรรจุอยู่ในซีสต์คล้ายกับ Epidermal Cyst และ Steatocystoma Multiplex แต่มีเส้นผมขนาดเล็ก (Vellus Hair) บรรจุอยู่ภายในซีสต์ด้วย ทำให้ซีสต์มีลักษณะเป็นตุ่มสีคล้ำ ซีสต์ชนิดนี้มักเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ ตุ่มทั่วร่างกาย Dermoid Cyst เป็นซีสต์ที่พบไม่บ่อย ซีสต์ชนิดนี้มักเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือวัยเด็ก และเป็นซีสต์ที่มีส่วนประกอบเหมือนผิวหนังมากที่สุด โดยผนังของซีสต์ประกอบด้วยเซลผิวหนัง เส้นผม ต่อมเหงื่อและต่อมไขมัน ลักษณะของซีสต์เป็นก้อนกลมใต้ผิวหนัง ขนาดประมาณ1-4 ซ.ม. ซึ่งอาจมีปอยผมงอกออกมาจากซีสต์ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณหางคิ้ว จมูก และหนังศีรษะ ซีสต์ชนิดนี้ถ้าเป็นบริเวณกึ่งกลางของร่างกาย เช่น จมูก และศีรษะบริเวณท้ายทอยอาจมีทางเปิดติดต่อกับสมอง เนื่องจากผนังของซีสต์ประกอบด้วยเซลผิวหนัง จึงมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เช่นเดียวกับผิวหนังทั่วๆไป แต่อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็ง จากซีสต์ต่ำมาก จนไม่จำเป็นต้องกังวลจนกลัดกลุ้ม โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากซีสต์ ส่วนใหญ่จึงเป็นการอักเสบและการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่ซีสต์แตก จากการถูกเจาะหรือบีบซีสต์ หรือการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกเสียดสีบ่อยๆ ทำให้สารที่บรรจุอยู่ในซีสต์เล็ดลอดออกมากระตุ้นให้ร่างกายเกิดขบวนการอักเสบ และเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนัง แทรกซึมเข้าไปเจริญเติบโตในซีสต์ ทำให้ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น แดงและเจ็บ สำหรับ Dermoid Cyst นั้นนอกจากจะมีโอกาสเกิดการอักเสบและติดเชื้อ เช่นเดียวกับซีสต์ชนิดอื่นๆ แล้ว ในกรณีที่ซีสต์มีทางเปิดติดต่อกับสมอง การติดเชื้อที่ซีสต์จึงอาจลุกลามเข้าไปในสมอง เกิดเป็นฝีในสมองได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหนไม่ควร เจาะ แคะ แกะ เกาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว การรักษา เนื่องจากซีสต์เป็นเนื้องอกที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อย จึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดออก แต่ควรผ่าตัดเอาซีสต์ออกในกรณีที่ซีสต์นั้นมีการอักเสบติดเชื้อบ่อยๆ หรือมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบติดเชื้อ จากการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการเสียดสีบ่อยๆ สำหรับซีสต์ที่มีขนาดเล็กและอยู่ตื้น เช่น Milium อาจให้การรักษาด้วยการเจาะและใช้เครื่องมือสำหรับกดสิว กดเอาสารที่บรรจุอยู่ในซีสต์ออก ส่วนการรักษา ซีสต์ชนิดอื่นก็ทำได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนซีสต์ออกส่วน Steatocystoma นั้น เนื่องจากสารที่อยู่ในซีสต์เป็นน้ำมัน จึงอาจรักษาได้ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำมันที่บรรจุอยู่ในซีสต์ และลอกเอาผนังของซีสต์ออก ในกรณีที่ซีสต์มีการอักเสบติดเชื้อ ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าซีสต์เพื่อระบายหนองออก สำหรับ Dermoid Cyst ที่อยู่ในตำแหน่งที่อาจมีทางเปิดติดต่อกับสมองนั้น ก่อนให้การรักษาแพทย์จะต้องทำการตรวจอย่างละเอียดร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนไว้ล่วงหน้า ซีสต์ เป็นเรื่องไม่น่าต้องกังวลมากนัก เพราะโอกาสกลายเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหน หรือถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป็นซีสต์ ก็ลองไปให้แพทย์ผิวหนังช่วยวินิจฉัยดูได้ เพื่อความสบายใจ สิ่งที่ต้องดูแลตัวเองให้ดีคืออย่ามือซนไปบีบ เจาะซีสต์เองเพราะสามารถทำให้ติดเชื้อ และเป็นแผลขึ้นมาได้                 ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

น้ำลูกยอ ดีจริงหรือ

น้ำลูกยอ ดีจริงหรือ    น้ำลูกยอ ดีจริงหรือ ลูกยอ ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia Lin ชื่อวงศ์ Rubiaceae ชื่อท้องถิ่น มะตาเสือ, ยอบ้าน, แยใหญ่ ลูกยอที่มีในบ้านเรา เป็นจีนัส สปีชี่เดียวกับของตาฮีติ ที่มีขายทั่วโลก คือถือเป็นพันธ์เดียวกัน อาจแตกต่างกันบ้างเช่นทุเรียน หมอนทองกับก้านยาว ไม่สามารถบอกได้ว่าของใครจะดีกว่ากัน ลูกยอ มีประโยชน์ ทางด้านคุณค่าของอาหารที่มี วิตามิน ซี วิตามิน A และ ธาตุโปตัสเซียมสูง นอกจากนั้นจะมีลักษณะเหมือนพืชผักผลไม้จำนวนมากตรงที่มีสาร แอนตี้ออกซิแดนท์ ซึ่งถือว่าชะลอการแก่ของเซลล์ และต้านมะเร็งได้ รักษาสารพัดโรคได้จริงหรือ งานวิจัยลูกยอมีไม่มากนัก ที่มีการวิจัยมากที่สุดเป็นที่คณะแพทย์ในเกาะตาฮีติเอง แต่การวิจัยเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ เพราะถือว่าอาจมีอคติได้ เพราะเป็นการสนับสนุนธุรกิจของประเทศตน จะยอมรับต่อเมื่อมีการออกแบบที่ดี และได้รับการตีพิมพ์ทางวารสารการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และมีคนทำการทดลองซ้ำและได้ผลเช่นนั้นจริง ถ้าไปค้นในเวบไซด์จะมีรายงานเป็นรายบุคคลว่าทานแล้วสามารถลด ความดันโลหิตสูงได้ เพิ่มพลังงาน สดชื่น ลดการอักเสบ ช่วยรักษาหวัด ระงับปวด รักษามะเร็ง โรคเอดส์ ลดไขมันในเลือด รายงานเหล่านี้เป็นรายบุคคลประปราย จากแพทย์บางท่าน หรือนักโภชนาการ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ เพราะยังไม่มีการวิจัยทดลองที่แน่นอนแต่อย่างใด แต่มีการลงเวบไซด์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะเป็นเวบไซด์ประกอบกับการขายผลิตภัณฑ์ งานวิจัยเท่าที่มี  รายงานที่ตีพิมพ์อย่างแท้จริง เมื่อค้นในห้องสมุดแพทย์ และจาก Medline search มีเพียงประมาณ 20 รายงานทั่วโลก มีสามรายงานที่มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ ในลูกยอมีสาร Polysaccharide ( noni PPt ) มีผลต่อเซลล์ของมะเร็งคือ ต้านมะเร็ง Lewis lung carcinoma ได้จริง และยืดอายุของหนูที่เป็นมะเร็งนี้ได้จริง แต่ยังไม่มีการวิจัยในคน ( Phyto ther Resp 1999 ) อาจมีผลป้องกันมะเร็งได้ จากการที่มีสาร Anti oxidant โดยดูการลด DMBA-DNA adduct formation และด้วยกลไกอื่นๆอย่างไรก็ตามไม่มีรายงานในคนว่าผู้ที่ทานลูกยอ จะเป็นมะเร็งน้อยกว่าผู้ที่ไม่ทาน หรือรักษามะเร็งได้ ซึ่งต่างจากกระเทียมที่มีรายงานทางระบาดวิทยาว่าผู้ที่ทานกระเทียมจะเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้ใหญ่น้อยกว่าผู้ที่ไม่ทาน และสารสกักระเทียมยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิดกว่า ข้อควรระวัง                                                                                         น้ำลูกยอมีธาตุโปแตสเซียมสูงมากประมาณ 56 meq/L พอๆกับน้ำส้ม และน้ำมะเขือเทศ และมีรายงานว่าผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังทานน้ำลูกยอแล้วมีโปตัสเซียมสูงมากจนเป็นอันตราย จึงไม่ควรทานในโรคไต ในประเทศไทย มีรายงานผลการรักษาคนไข้ที่มีอาการและอาเจียน หลังจากฟื้นจากโรคมาลาเรีย โดยเทียบกับ metoclopamide และชาจีน พบว่าต้านการอาเจียนไม่ดีเท่า metoclopamide แต่ให้ผลดีกว่าในกลุ่มควบคุม แต่เป็นการตากแห้งชงน้ำไม่ใช่ทานน้ำคั้นสด สรุป โดยสรุป ลูกยอ เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ มีวิตามินซี โปตัสเซียม วิตามิน เอ สูง มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ช่วยชะลอการแก่และต้านมะเร็ง โดยหลักการแล้วน่าจะป้องกันมะเร็งได้บ้าง เหมือนกับการทานผักผลไม้สดทั้งหลาย ตัวน้ำลูกยอมีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งชนิด Lewis lung carcinoma แต่มะเร็งชนิดนี้พบได้น้อยมาก การทานน้ำลูกยอไม่มีอันตรายเว้นผู้ป่วยโรคไต และเป็นไปได้ว่าลูกยอไทย อาจจะไม่ต่างหรืออาจะดีกว่าหรือด้อยกว่าของต่างประเทศก็ได้ แต่เป็นพันธ์เดียวกัน ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี   ขอบคุณที่มา Thaiclinic.com     LINETwitterFacebook

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<