WORLD KIDNEY DAY 2018

 WORLD  KIDNEY   DAY    2018    ตรงกับวันที่ 8  มีนาคม  พ.ศ.2561 หัวข้อเรี่อง  Kidneys & Women s  Health ไตและสุขภาพของผู้หญิง            โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease :CKD) เป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก ผลที่ตามมาคือภาวะไตวายและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผู้หญิง 195 ล้านคนทั่วโลกเป็นโรคไตเรื้อรัง เป็นสาเหตุตายอันดับที่ 8 ทุกปีจะมีผู้หญิงตาย เกือบ 600,000 คนด้วยโรคไต   ความเสี่ยงของหญิงและชายเท่ากัน และอาจมากกว่าในบางแห่งผู้หญิงพบ 14% ผู้ชายพบเพียง 12% แต่ผู้หญิงจะได้รับการรักษาน้อยกว่าทั้งการฟอกเลือดและการปลูกถ่ายไต ผู้หญิงมักเป็นผู้บริจาคไตมากกว่าผู้รับไตจำเป็นที่จะต้องให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน           โรค เอส แอล อี (SLE) เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองมีโรคแทรกซ้อนทำให้ไตอักเสบและไตทำงานน้อยลงในที่สุดเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย  การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะพบบ่อยในผู้หญิงทุกวัยตั้งแต่เด็กวัยเจริญพันธุ์และวัยชรา โดยเฉพาะระหว่างตั้งครรภ์ ถ้ารักษาไม่ดีอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและหรือเสียชีวิตได้ ถ้าเป็นในเด็กหญิงบ่อยๆ จะเกิดแผลเป็นในไตกลายเป็นโรคไตเรื้อรัง การตรวจปัสสาวะจะสามารถพบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ไข่ขาวในปัสสาวะจะวินิจฉัยโรคไตได้ง่าย โรคไตและการตั้งครรภ์             ผู้หญิงที่มีโรคไตเรื้อรัง  จะมีลูกยากและผลการตั้งครรภ์ไม่ดีทั้งแม่และเด็ก  แม่มักมีความดันโลหิตสูงและหรือตั้งครรภ์เป็นพิษ  (Toxemia of Pregnancy)   ลูกมักคลอดก่อนกำหนดในผู้หญิงที่เข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาโดยการฟอกเลือดมักไม่ตั้งครรภ์หรือแท้งแต่ผู้ที่ปลูกถ่ายไตและไตทำงานปกติสามารถตั้งครรภ์ได้เด็กอาจคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อยกว่าเด็กปกติ           การตั้งครรภ์ทำให้ผู้หญิงเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต   ในภาวะพิษจากการตั้งครรภ์ (Pre -eclamsia)  มีความดันโลหิตสูงและพบไข่ขาวในปัสสาวะ  อาจทำให้แม่เสียชีวิต   หรือเป็นไตวายเฉียบพลัน  และอาจเป็นโรคไตเรื้อรังได้    ในประเทศที่กำลังพัฒนา  การดูแลรักษาระหว่างตั้งครรภ์และคลอดไม่ดี   ไม่มีการฟอกเลือดทำให้อัตราเสียชีวิตสูง   ดังนั้นการดูแลผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ให้ดี  จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคไตและการเสียชีวิตได้          โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่าในการลงทะเบียนผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย ที่รักษาโดยวิธีบำบัดทดแทนไต พ.ศ. 2557 พบว่าสาเหตุเกิดจากเบาหวาน 38.47% ความดันโลหิตสูง  30.00% ผู้ชายฟอกด้วยเครื่องไตเทียม 52.5% ผู้หญิง 47.5%  ในการรักษาโดยการล้างช่องท้องถาวร  ผู้ชาย 49.2%       ผู้หญิง50.8%   โรคเบาหวานชนิด 2 พบมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศเอเซีย ดังนั้นการค้นหาและรักษาโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคหัวใจ โรคอัมพาตอัมพฤกษ์ ตาบอด  และถูกตัดขาเป็นต้น            การค้นหาโรคเบาหวานโดยการเจาะน้ำตาลก่อนอาหารอาจไม่ไวพอ    การเจาะน้ำตาล 2 ชั่วโมงหลังอาหาร   หรือให้รับประทานกลูโคส  75 กรัมและเจาะน้ำตาล 2 ชั่วโมงต่อมา  ถ้าเกิน 200 mg/dl   แสดงว่าเป็นเบาหวาน ถ้าระหว่าง 140 - 200 mg/dl  แสดงว่ามีความโน้มเอียงที่จะเป็นเบาหวาน  ต้องตรวจบ่อยๆ  โดยเฉพาะคนที่มีพ่อและหรือแม่เป็นเบาหวาน   คนอ้วนลงพุง  เป็นต้น           โรคความดันโลหิตสูงส่วนมากเป็นโรคกรรมพันธุ์   พบในคนอายุุ 35 ปีขึ้นไป   การตรวจค้นไม่ยาก  ถ้าวัดความดันโลหิตมากกว่า 140/90  มิลลิเมตรปรอท ก็เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรต้องพบแพทย์และรับการรักษา  การไม่รักษาจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนดังกล่าวมาแล้ว  นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงอาจเกิดจากโรคไต  และเกิดร่วมกับโรคเบาหวาน  โรคเก๊าท์  เป็นต้น            การรักษาโรคทั้งสองรวมทั้งโรคเรื้อรังอื่นๆ  ผู้ป่วยต้องยอมรับการรักษาและปฏิบัติตน   รับประทานอาหาร  ยา ออกกำลังกายเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ  โดยเฉพาะโรคไต   ผู้หญิงมีโอกาสที่โรคจะเลวร้ายลงระหว่างหรือหลังตั้งครรภ์   ต้องดูแลตนเองให้ดีเพื่อจะมีชีวิตอยู่กับลูกและครอบครัวนานๆ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง             หากตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (FPG) ระดับน้ำตาลในเลือดในบุคคลปกติจะมีค่าน้อยกว่า 100 มก./ดล. ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วง 100-125 มก./ดล. จะถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานแต่ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป และเมื่อได้รับการตรวจซ้ำแล้วยังพบว่ามีค่าผิดปกติดังกล่าวอยู่อีกจะถือว่าเป็นบุคคลนั้นเป็นโรคเบาหวาน บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน อ้วน อายุมากกว่า 40 ปี มีภาวะความดันโลหิตสูง เมื่อทดสอบความทนต่อน้ำตาล (กลูโคส) ด้วยการดื่มกลูโคส 75 กรัมแล้วพบว่าระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังดื่มกลูโคสอยู่ในช่วง 140-199มก./ดล.    มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงและระดับคอเลสเตอรอลที่ดี (HDL-C) ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ มีระดับน้ำตาลขณะอดอาหาร 8 ชั่วโมงอยู่ระหว่าง 100-125 มก./ดล. มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตขึ้นกับจำนวนปัจจัยเสี่ยง เช่น ถ้าอ้วน มีอายุมากกว่า 40 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือมีระดับน้ำตาลที่มากกว่า 100 มก./ดล. จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ทำไมต้องให้การรักษาถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูง           เนื่องจากระดับน้ำตาลที่สูงมากกว่า 180 มก./ดล. อาจจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย             ระดับน้ำตาลก่อนอาหารตั้งแต่ 126 มก./ดล. จะมีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เช่น โรคตา โรคไต เส้นประสาทเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งผู้ป่วยบางท่านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การที่ควบคุมน้ำตาลไม่เกิน 180 มก./ดล. ก็เพียงพอเพราะไม่มีอาการจากโรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะเป็นจริงในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคแทรกซ้อนหรือผู้ป่วยที่มีโรคร่วมที่รุนแรง หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่น้อยและคาดว่าจะมีอายุยืนยาวควรจะควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติหรือใกล้เคียงปกติ (FPG น้อยกว่า 80-130 มก./ดล.) เพราะจะลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานในระยะยาวได้ เป้าหมายโดยรวมในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยง เป้าหมาย · ระดับน้ำตาลหลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (FPG) 80-130 มก./ดล. (ถ้าระดับที่น้อยกว่า 110 มก./ดล. จะใกล้เคียงคนปกติ) · ระดับน้ำตาลหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง น้อยกว่า 180 มก/ดล.(ถ้าระดับที่น้อยกว่า 140 มก./ดล.จะใกล้เคียงคนปกติ) · ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด 3 เดือน (HbA1c) น้อยกว่า 7% (ถ้าระดับที่น้อยกว่า 6.5% จะถือว่าดีมาก) · ความดันโลหิต น้อยกว่า 140/90 มม. ปรอท (พิจารณาระดับต่ำกว่านี้ถ้ามีโปรตีนชนิดเดียวกับไข่ขาวในปัสสาวะ) · ระดับไขมันไม่ดี (LDL-C) น้อยกว่า 100 มก./ดล. น้อยกว่า 70 มก./ดล. (ถ้ามีโรคหัวใจและหลอดเลือด) · สูบบุหรี่ งดการสูบบุหรี่ · อ้วน ควรเริ่มต้นลดน้ำหนักลง 5-7% จากน้ำหนักตัวเดิม · ผู้ป่วยและครอบครัวขาดความรู้และดูแลตนเองไม่ได้ ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้และดูแลตนเองได้   ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อและไต รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบ (รำมะนาด)

โรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบ(รำมะนาด)          จะมีเลือดออกขณะแปรงฟัน เหงือกบวมแดง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น มีหนองออกจากร่องเหงือก ฟันโยก ฟันเคลื่อนห่างออกจากกัน สาเหตุของโรคเกิดจากหินปูนหรือน้ำลายซึ่งก็คือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัว เนื่องจากมาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน แผ่นคราบจุลินทรีย์มีลักษณะเป็นคราบสีขาวขุ่นนิ่ม ที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน ขบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์ เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้ว เพียง 2-3 นาทีโดยจะมีเมือกใสของน้ำลาย มาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่ในปาก จะมาเกาะทับถมกันเข้าเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด โรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้ จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันผุ สารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบ เกิดเป็นโรคปริทันต์         โดยหินปูนที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองไม่เห็น หินปูนหรือคราบจุลินทรีย์ ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือก ไม่สามารถกำจัดออกได้ โดยวิธีการทำความสะอาดฟันด้วยตัวเอง ต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยกำจัดหินปูนให้ทันตแพทย์จะขูดหินปูนออก ทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก ทำรากฟันให้ปราศจากสารพิษใดๆ เพื่อให้เหงือกยึดแน่น รอบตัวฟันเหมือนเดิม คำแนะนำสำหรับการขูดหินปูน 1. ผู้ป่วยควรมารับบริการขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2ครั้ง และรับการตรวจฝันอย่างละเอียด 2. ภายหลังขูดหินปูนเสร็จใหม่ๆ อาจมีเลือดออกตามขอบเหงือกแต่เลือดจะค่อยๆ หยุดไหลไปเอง การบ้วนน้ำบ่อยๆ จะทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้าลง 3. หลังจากขูดหินปูดในระยะ 1-2 สัปดาห์แรก อาจมีอาการระบมของเหงือกและเสียวฟันตามมาได้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร้อนหรือเย็นจัด ให้ผู้ป่วยแปรงฟันอย่างระมัดระวังให้สะอาดและอาการเหล่านั้นจะค่อยๆหายไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

6 กลุ่มอาหารช่วยต้านโรคภูมิแพ้

6 กลุ่มอาหารช่วยต้านโรคภูมิแพ้        "โรคภูมิแพ้" เป็นโรคยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันป่วยกัน สาเหตุมาจากมลภาวะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งวิธีการรักษาและการป้องกันมีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การทานยา หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการ ออกกำลังกาย           ในวันนี้เราจึงมี 6 กลุ่มอาหารต้านโรคภูมิแพ้มานำเสนอ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของที่เหมาะสำหรับคนที่เบื่อการรักษาแบบเดิมๆ เป็นวิธีที่ทำให้ร่างกายของคุณดีจากภายใน อยากรู้ว่ามีกลุ่มอาหารอะไรบ้างรีบอ่าน แล้วหามารับประทานกันเลย รู้จักโรคภูมิแพ้         โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่มีอาการแสดงได้หลายระบบ เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการสร้างภูมิที่ไปกระตุ้นให้มีการหลั่งสารขึ้นที่เนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะ จนเกิดเป็นอาการต่างๆ ออกมา ซึ่งอาการที่เกิดก็จะแตกต่างกัน ตามระดับความแพ้ อย่างลมพิษที่ผิวหนัง คัดจมูก คันตา เจ็บคอ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้           สำหรับสาเหตุนั้นมีหลายสาเหตุ แต่สารก่อภูมิแพ้ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทำให้คนส่วนใหญ่เป็นเรื้อรัง ได้แก่ ฝุ่นละออง ละอองเกสร ควันบุหรี่ มลภาวะจากการจราจร การอยู่แต่ในห้องแอร์อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ขนสัตว์เลี้ยง รวมถึงกรรมพันธุ์ 6 อาหารต้านภูมิแพ้ 1. กลุ่มวิตามินซี : วิตามินซี มีบทบาทในการป้องกันการหลั่งฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในร่างกายที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อากาศ และการแพ้ต่างๆ อาหารเพิ่มวิตามินซี : ในผักใบเขียว เช่น ตำลึง ผักโขม บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ในผลไม้รสเปรี้ยว เช่น สับปะรด ส้ม สตรอเบอรี่ มะนาว โดยวัตถุดิบเหล่านี้สามารถดัดแปลงเมนูได้ตามที่คุณต้องการ 2. กลุ่มวิตามินเอ : ช่วยในเรื่องการสร้างเนื้อเยื่อ และช่วยเสริมสร้างเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการเมื่อได้รับสารกระตุ้นภูมิแพ้ได้ อาหารเพิ่มวิตามิน : วิตามินชนิดนี้พบมากในกลุ่มผักผลไม้ที่มีสีเขียวเข้ม สีส้ม หรือสีเหลือง เช่น ฟักทอง แครอท มะละกอสุก มะม่วงสุก แคนตาลูป มะเขือเทศ เป็นต้น 3. กลุ่มโปรตีน : โปรตีนกลุ่มนี้สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายได้ เพราะหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของโปรตีน คือกรดอะมิโน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการนำไปสร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ อาหารเพิ่มโปรตีน : อย่างที่ทราบกันดี โปรตีนเป็นหนึ่งในอาหารหลัก 5 หมู่ ซึ่งจะมีมากในเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อล้วน อย่างเนื้ออกไก่ เนื้อหมู และไข่ไก่ นอกจากนี้ก็ยังพบได้ในถั่วต่างๆ 4. กลุ่มโอเมก้า 3 : โอเมก้า 3 จะช่วยลดอาการอักเสบ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และยังสามารถต่อสู้กับกลุ่มเชื้อโรค หรือสารแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี อาหารเพิ่มโอเมก้า 3 : คุณสามารถเลือกทานได้จาก ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลากะพง ซึ่งอาหารกลุ่มนี้อาจมีส่วนไปกระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้ ดังนั้นควรตรวจสอบให้แน่นอนก่อนว่าคุณแพ้อาหารทะเลหรือไม่ ส่วนกรดไขมันโอเมก้า 3 ก็มีประโยชน์เช่นกัน พบมากในเมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง ถั่วเหลือง และผักใบสีเขียวเข้ม 5. กลุ่มซีลิเนียม : สารอาหารกลุ่มนี้จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม หรือสารกระตุ้นภูมิแพ้ได้ อาหารเพิ่มซีลิเนียม : พบมากในพืชตระกูลหอม เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแดง เป็นต้น 6. กลุ่มฟลาโวนอยด์เควอเซทิน : สารชนิดนี้เป็นสารต้านอาการแพ้และลดการอักเสบ ช่วยยับยั้งการปล่อยสารฮิสตามินซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้ อาหารเพิ่มฟลาโวนอยด์เควอเซทิน : พบมากในกระเทียม และพืชตระกูลหอม อย่างหอมหัวใหญ่ หอมหัวแดง และในแครอทผักกาดหอม แอปเปิ้ล เป็นต้น         นอกการทานอาหารต้านโรคภูมิแพ้เหล่านี้แล้ว อย่าลืมออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการ ร่วมด้วย เพื่อให้คุณมีร่างกายที่แข็งแรงและไกลโรคอย่างแท้จริง     ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคลำไส้แปรปรวน (หรือโรคไอบีเอส IBS)

โรคลำไส้แปรปรวน  คือ ความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ในเรื่องการบีบตัว  โดยตรวจไม่พบพยาธิที่ลำไส้ใหญ่จากการส่องกล้องตรวจลำไส้หรือการตรวจเลือด  โรคนี้มักจะมีประวัติเป็นมานานอาจเป็นปีและมีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นโรคที่สร้างความรำคาญรบกวนกิจวัตรประจำวันให้แก่ผู้ป่วย  ผู้ป่วยมักจะวิตกกังวลว่าทำไมโรคไม่หาย  แม้ได้ยารักษา หรืออาจเข้าใจว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย   โรคลำไส้แปรปรวนมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  ในอัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายประมาณ 2:1 ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมักจะมีอาการ  ดังนี้ อาการปวดท้อง  อาจจะปวดตรงกลางหรือปวดบริเวณท้องน้อย  โดยทั่วไปจะปวดท้องน้อยด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา  ลักษณะอาการปวดมักจะปวดแบบปวดเกร็ง อาการแน่นท้อง  ท้องอืด  มักจะไม่สัมพันธ์กับอาหาร หน้าท้องโตขึ้นเหมือนมีลมในท้อง  อาจมีอาการเรอ หรือผายลมมากขึ้น การถ่ายอุจจาระไม่ปกติ  บางรายมีอาการท้องผูก  บางรายท้องเสีย  หรือในบางรายอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียก็ได้  ผู้ป่วยบางรายมีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด  บางรายปวดเบ่งแต่เมื่อถ่ายอุจจาระแล้วอาการดีขึ้น  มักจะอุจจาระเป็นมูก (Mucous)  อาการต่าง ๆ เหล่านี้มักเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการมากน้อยสลับกันไป  โดยมีกาการนานเกิน 3 เดือนในระยะเวลา 1 ปี สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน  แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มี 3 อย่างที่สำคัญได้แก่ การบีบตัวของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ  เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติบางอย่างในผนังลำไส้  ทำให้เกิดอาการปวดแน่นท้อง  ท้องผูก  หรือท้องเสียได้ ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า  หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ  ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่  อาหารเผ็ด, กาแฟ, แอลกอฮอล์ทุกชนิด, ช็อกโกแลต  เป็นต้น  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์  ได้แก่  ความเครียด  ความวิตกกังกล  เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็ทำให้ผนังลำไส้บีบตัวผิดปกติ  ทำให้เกิดอาการปวดท้อง  ท้องผูก  หรือท้องเสียได้ เป็นผลหลังมีการติดเชื้อในลำไส้  ปัจจัยนี้พบในผู้ป่วย IBS  ในเขตร้อน  เช่น ประเทศไทย  ซึ่งหลังจากทุเลาจากภาวะลำไส้อักเสบแล้ว  หนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการของลำไส้แปรปรวนกำเริบ การรักษา ยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้  เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการหลายระบบรวมกัน  ยาที่ใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อาการดีขึ้นเท่านั้น  แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยและแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อให้อาการของโรคนี้ดีขึ้นได้ การปฏิบัติตัว  ที่ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนควรปฏิบัติมีดังต่อไปนี้ ควรรับประทานอาหารช้าๆ และไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป (รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ) หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน  โดยเฉพาะมื้อเย็นและมื้อค่ำ  เนื่องจากไขมันจะเป็นตัวกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการท้องผูกร่วมด้วย  ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร  (Fiber) ให้มากขึ้น  ดื่มน้ำให้เพียงพอ  และฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการดื่มนมโยเกิร์ตในผู้ป่วยโรค IBS ชนิดท้องเสีย หลีกเลี่ยงอาหารที่จะกระตุ้นอาการของโรคให้เป็นมากขึ้น  ได้แก่  กาแฟ  อาหารรสจัด  แยม ช็อกโกแลต  ผลไม้รสเปรี้ยวบางชนิด  อาหารรสเผ็ด  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด  และน้ำอัดลม  เป็นต้น หากผู้ป่วยมีภาวะเครียดร่วมด้วย  ควรหาทางผ่อนคลายหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ  ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ  อาจจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ในบางรายที่มีปัญหาทางจิตใจค่อนข้างมาก โรคลำไส้แปรปรวนจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ โรคนี้ไม่พบว่า เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งแม้จะเป็นอาการเป็น ๆ หาย ๆ มานาน  แต่พึงระมัดระวังในผู้ป่วยสูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย  มีอาการท้องผูกมากขึ้น  หรือมีอาการท้องเสียเกิดขึ้น  จำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยละเอียด  เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

4 โรคฮิต คนทำงานออฟฟิศ

4 โรคฮิต คนทำงานออฟฟิศ            แพทย์เตือนคนทำงานออฟฟิศเสี่ยง 4 โรคฮิต ปวดหลัง-เส้นเอ็นที่มือ-นิ้วล็อก-ผื่นภูมิแพ้ แนะยืดเหยียดกล้ามเนื้อ พักสายตา ออกกำลังกาย และอย่านอนดึก            นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าโรคจากการทำงานเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะการทำงานเป็นวิถีชีวิตประจำวันของคนวัยทำงาน ซึ่งการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ถ้าไม่ตระหนักอาจมีผลต่อสุขภาพ โรคฮิตที่พบบ่อยของคนทำงานในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานบริการ รวมทั้งพนักงานในออฟฟิศ เพราะจะต้องนั่งโต๊ะทำงาน ใช้คอมพิวเตอร์หรือทำงานกับตัวเลข มากกว่าการยืนทำงานบนสายพาน ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการที่ต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ทำให้ต้องนั่งเป็นเวลานาน การพิมพ์งานทำให้ต้องมีการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ต้องใช้สายตา และอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน ดังนั้น สิ่งที่คนทำงานต้องเผชิญ คือ โรคปวดหลัง โรคของเส้นเอ็นที่มือ ได้แก่ โรคประสาทอุโมงค์ข้อมือ โรคนิ้วล็อก ปวดศีรษะ ปวดตา และโรคผื่นภูมิแพ้              อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า วิธีป้องกันโรคที่เกิดจากการทำงานในออฟฟิศ คือ นั่งทำงานให้ถูกวิธีโดยนั่งเก้าอี้ควรนั่งหลังตรง มีพนักพิง แขนควรอยู่แนบข้างลำตัว ข้อศอกอยู่ในมุมตั้งฉากกับต้นแขน ข้อมือควรทอดตรงไม่ควรงอขึ้นหรือลง หรือบิดเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เท้าควรเหยียบพื้นทั้งสองข้าง ถ้าไม่เหยียบพื้นควรมีที่รองเท้าเพื่อไม่ต้องเขย่งเท้า เวลาพิมพ์คอควรตั้งตรง มองไปข้างหน้า ขอบจอคอมพิวเตอร์ด้านบนควรอยู่ในแนวสายตา เมื่อพิมพ์ได้สักพักควรมีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ วิธีที่ดีที่สุดคือการยืนขึ้นและบิดตัว หรือยืดแขนทั้งสองค้างครู่หนึ่ง หรือลุกเดิน แล้วค่อยกลับมานั่งพิมพ์ต่อ               สำหรับเรื่องสายตาการมองคอมพิวเตอร์นานๆ บางครั้งอาจจะลืมกระพริบตา ทำให้ตาแห้ง มีอาการแสบตา เคืองตาได้ จึงควรกระพริบตาบ้าง อาจจะทุก10นาที ทั้งนี้ ไม่ควรพิมพ์ในที่มืด บริเวณแสงรอบๆ จอคอมพิวเตอร์ควรมีขนาดความเข้มพอๆ กันไม่ควรมืดกว่ากัน นอกจากนี้ในห้องทำงานที่มีเครื่องถ่ายเอกสาร จะมีสารทำให้เกิดอาการระคายเคือง ผิวหนัง ตา ทางเดินหายใจได้ อาการที่พบ คือ แสบคอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอเรื้อรัง ทำให้คิดว่าเป็นหวัด และการไปพบแพทย์อาจจะได้รับยาฆ่าเชื้อมาโดยไม่จำเป็น การป้องกัน คือ หมั่นทำความสะอาดพื้น ตู้แอร์เปิดกระจกหน้าต่างระบายอากาศ ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่านอนดึก เพื่อสุขภาพที่ดีสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ                                      ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

แบบประเมินการควบคุมโรคหืด (ACTTM)

การทดสอบต่อไปนี้ช่วยให้คนที่เป็นโรคหืด (ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป)  ประเมินความสามารถในการควบคุมโรคหืดของตนเองได้    คำถามมีทั้งหมด 5 ข้อ  กรุณาตอบคำถามแต่ละข้อโดยวงกลมตัวเลขคำตอบที่ตรงกับความจริงที่สุดเพียงคำตอบเดียว คะแนนการควบคุมโรคหืดของคุณ ขั้นที่ 1: กรุณาตอบคำถามแต่ละข้อ  โดยวงกลมตัวเลขในตำอบที่คุณเลือก  และนำตัวเลขนั้นไปเขียนในช่องสี่เหลี่ยมขวามือ  กรุณาตอบตรงกับความเป็นจริงให้มากที่สุด  เพื่อช่วยให้ทั้งตัวท่านและแพทย์  สามารถเข้าใจได้ถูกต้องว่าโรคหอบหืดของท่านเป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้   ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  บ่อยแค่ไหนที่โรคหืดทำให้คุณไม่สามารถทำงานได้  ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน  ที่โรงเรียน  หรือที่บ้าน? 1. ตลอดเวลา 2. บ่อยมาก 3. บางครั้ง 4. น้อยมาก 5. ไม่เคยเลย   ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  บ่อยแค่ไหนที่คุณรู้สึกหายใจไม่อิ่ม? 1. มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน 2. วันละครั้ง 3. 3-6 ครั้งต่อสัปดาห์ 4. 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ 5. ไม่เคยเลย   ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  บ่อยแค่ไหนที่คุณมีอาการของโรคหืด (หายใจมีเสียงวี๊ดๆ ไป  หายใจไม่อิ่ม  แน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก)  จนทำให้ต้องตื่นขึ้นกลางดึก  หรือตื่นเช้ากว่าปกติ 1. 4 คืน หรือมากกว่าต่อสัปดาห์ 2. 2-3 คืน ต่อสัปดาห์ 3. 1 คืน ต่อสัปดาห์ 4. 1-2 คืน 5. ไม่เคยเลย   ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  คุณต้องใช้ยาสูดพ่นขยาดหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว  หรือยาเม็ดขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว  บ่อยแค่ไหน  เพื่อช่วยให้คุรหายใจได้ดีขึ้น 1. 3 ครั้ง หรือมากกว่านั้น 2. 1-2 ครั้ง ต่อวัน 3. 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ 4. 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ 5. ไม่เคยเลย   ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  คุณคิดว่าสามารถควบคุมโรคหืดของคุณได้มากน้อยแค่ไหน? 1.ควบคุมไม่ได้เลย 2.ควบคุมได้ไม่ค่อยดี 3.ควบคุมได้บ้าง 4.ควบคุมได้ดี 5.ควบคุมได้สมบูรณ์   ขั้นที่ 2 : นำคะแนนแต่ละข้อมาบวอกกันเป็นคะแนนรวม มาดูคะแนนการควบคุมโรคหืดของคุณ   คะแนน : 25  - ขอแสดงความยินดี คุณสามารถควบคุมโรคหืดได้อย่างสมบูรณ์  ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  คุณไม่มีอาการหอบหืดที่เป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของคุณ   ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่นี้  ขอให้ไปพบหมอหรือพยาบาลของคุณ คะแนน : 20 ถึง 24  -  คุณทำได้แล้ว คุณอาจจะควบคุมโรคหืดได้ดีแล้ว  ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  แต่ยังทำได้ไม่สมบูรณ์  หมอหรือพยาบาลของคุณจะให้คำแนะนำได้ว่าคุณจะควบคุมโรคหืดให้ได้สมบูรณ์อย่างไร คะแนน : น้อยกว่า 20  -  คุณยังทำได้ไม่ดีนัก คุณอาจจะยัง ควบคุมโรคหืดได้ไม่ดีนัก  ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา  หมอหรือพยาบาลของคุณสามารถช่วยแนะนำเพื่อปรับปรุงวิธีการควบคุมโรคหืดของคุณให้ได้ผลดีขึ้น  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

บอกลาโรคปริทันต์กันเถอะ

โรคปริทันต์ เป็นโรคที่มีการทำลายอวัยวะรอบตัวฟันได้แก่ เหงือก กระดูกรองรับรากฟัน เคลือบรากฟัน และเอ็นยึดรากฟันกับกระดูกเบ้าฟัน โรคปริทันต์(รำมะนาด)            โรคปริทันต์ เป็นโรคที่มีการทำลายอวัยวะรอบตัวฟันได้แก่ เหงือก กระดูกรองรับรากฟัน เคลือบรากฟัน และเอ็นยึดรากฟันกับกระดูกเบ้าฟัน การทำลายอวัยวะรอบตัวฟันดังกล่าว หากมีการสูญเสียไปแล้วจะเป็นการสูญเสียที่ถาวรไม่สามารถกลับคืนมาได้ ฟันนั้นก็จะไม่สามารถอยู่ในช่องปากได้อย่างแข็งแรงหรือต้องถอนฟันออกทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีอาการปวดเลย อาการของเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์            เหงือกมีสีแดง บวม เหงือกไม่รัดแน่นคอฟันและเลือดออกง่าย อาจเห็นตัวฟันยาวมากกว่าเดิม เพราะมีเหงือกร่น มีฟันโยก มีกลิ่นปาก มีอาการไม่สบายปาก ระคายเคืองเหงือก หรือมีอาการปวดรำคาญ หากเป็นมากมีร่องเหงือกลึก อาจมีหนองที่เหงือกเป็นๆ หายๆ ได้ - เหงือกที่แข็งแรง คือ เหงือกที่ยึดแน่นกับฟันและไม่มีเลือดออก - เหงือกอักเสบขั้นรุนแรงกระดูกและเนื้อเยื่อถูกทำลาย ฟันจะโยกหลวมและต้องถูกถอน ขั้นตอนการรักษาโรคเหงือก            การรักษาจะต้องมีการขูดหินปูน และเกลารากฟัน (Root planning) ร่วมด้วย โดยจะขูดหินปูนทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บนผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ ส่วนการเกลารากฟัน คือ การทำให้ผิวรากฟันเรียบเพื่อให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถกลับมายึดติดแน่นกับผิวฟันได้เหมือนเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องทำหลายครั้ง และควรทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางโรคเหงือก           หลังรักษาเสร็จแล้วประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะเรียกกลับมาดูอาการอีกครั้งว่าหายดีหรือไม่ ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่หรือมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเหงือก (ศัลย์ปริทันต์ : Periodontal Surgery) ร่วมด้วย การดูแลรักษาช่องปากของผู้ป่วย           ท่านจะต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอด้วยตนเอง อย่างน้อยจะต้องใช้แปรงและไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อที่จะกำจัดคราบจุลินทรีย์ให้หมด ไปพบทันตแพทย์ทุก 3 - 6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนหลงเหลือจาการทำความสะอาดเองหรือไม่เพื่อที่จะได้รับการรักษาในระยะแรก                         ข้อปฏิบัติหลังการผ่าตัดเหงือก 1. หลังการผ่าตัดจะมีเลือดซึมออกมีแผลเล็กน้อย ห้ามบ้วนน้ำลายหรือบ้วนน้ำ เพราะจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด 2. ในกรณีที่เลือดไม่หยุดไหล ควรใช้น้ำแข็งห่อประคบข้างแก้มบริเวณที่ทำการผ่าตัด 3. หลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณที่ทำการผ่าตัด ส่วนบริเวณอื่นสามารถแปรงฟันได้ตามปกติ และใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อทำความสะอาดแผล 4. ห้ามแคะหรือเขี่ยบริเวณที่ทำการผ่าตัด 5. ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินควร 6. ห้ามดื่มสุรา ของมึนเมา หรือรับประทานอาหารเผ็ดจัด ร้อนจัด 7. ถ้ามีอาการบวมหรือรู้สึกผิดปกติ ควรกลับไปพบทันตแพทย์ทันที  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

บัญญัติ 10 ประการในการดูแลเท้า

บัญญัติ 10 ประการในการดูแลเท้า   1. ทำความสะอาดเท้า - หมั่นล้างเท้าให้สะอาดทุกวันด้วยสบู่อ่อนๆ  - เช็ดเท้าให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาดและนุ่ม  โดยเฉพาะบริเวณตามซอกนิ้วเท้า  เพื่อป้องกันการอับชื้น  ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเป็นเชื้อราที่เท้า 2. ตรวจดูเท้าทุกวันเพื่อค้นหาความผิดปกติ - ควรตรวจเท้าทุกวัน  เพื่อค้นหาความผิดปกติ  เช่น  ตาปลา  หนังหนาๆ  ตุ่มพุพอง  รอยแตกของผิวหนัง  แผลอักเสบ  ปวด  บวม  แดง  จับดูรู้สึกร้อนๆ ผิวคล้ำหรือซีดผิดปกติ  เล็บขบ - ส่วนบริเวณที่ยากต่อการมองเห็น  อาจใช้กระจกช่วยได้ 3. ทาโลชั่นที่เท้าทุกวัน - ในกรณีที่ผิวแห้งอาจทำให้มีรอยแตก  และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย  ควรทาโลชั่นเพื่อให้ผิวชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้า-เย็น - การทาโลชั่น ควรหยดบนมือ  เกลี่ยบางๆ แล้วจึงลูบที่เท้าให้ทั่ว - หลีกเลี่ยงการทาโลชั่นบริเวณซอกนิ้วเท้า เพื่อป้องกันการหมักหมม  ซึ่งอาจทำให้เกิดเชื้อราได้ - ถ้าผิวแห้งชื้นมีเหงื่อออกง่ายควรหมั่นเช็ดเท้าให้แห้ง และทาแป้งให้ทั่วจะช่วยลดการอับชื้นได้ 4. เลือกสวมถุงเท้าที่เหมาะสม - ควรสวมถุงเท้าหรือถุงน่องทุกครั้งเมื่อสวมรองเท้า - ถุงเท้าที่เลือกควรทำจากใยฝ้ายที่หนาพอควร  เนื้อนิ่ม  เนื่องจากใยฝ้ายจะช่วยให้การระบายอากาศดีขึ้น  ลดการอับชื้นของเท้าได้ - ควรเปลี่ยนถุงเท้าหรือถุงน่องทุกวัน  ไม่ควรใส่ซ้ำ  เพื่อไม่ให้หมักหมมเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค 5. เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม - ควรสวมรองเท้าตลอดเวลาทั้งใน - นอกบ้าน  ห้ามเดินเท้าเปล่า - สวมรองเท้าที่ไม่คับหรือหลวมจนเกินไปจะช่วยลดแรงกดใต้ฝ่าเท้าได้ดี  โดยเฉพาะรองเท้าที่มีแผ่นรองรับแรงกระแทกภายใน  เช่น รองเท้ากีฬาต่างๆ 6. ห้ามประคบร้อนหรือแช่เท้าในน้ำ - หลีกเลี่ยงการแช่เท้า  เพื่อไม่ให้หนังเปื่อยง่าย - พึงระวังในรายที่มีมือและเท้าชา  การแช่น้ำอุ่นหรือร้อนจัดเกินไปและประคบร้อนที่เท้า  อาจทำให้เกิดการพุพองและติดเชื้อได้ง่าย 7. เมื่อมีบาดแผลให้รีบดูแลรักษา - ถ้ามีแผลอักเสบ  คือ ปวด บวม แดง  จับดูร้อนๆ หรือมีหนองควรปรึกษาแพทย์ทันที  เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก  ไม่ควรรักษาเอง - ถ้าแผลยังไม่หายดี  อย่าเดินลงน้ำหนักเท้าข้างที่เป็นแผลนั้นไปมา  เพราะการเดินจะทำให้เท้ารับน้ำหนักตัวทำให้ปากแผลเปิด  แผลจะหายช้า  ให้นอนพัก  หรือนั่งเก้าอี้รถเข็น  หรือใช้ไม้พยุงตัว  ในกรณีที่ต้องการออกกำลังกาย  ใช้การออกกำลังกายด้วยแขน 8. ตัดเล็บอย่างถูกวิธี - การตัดเล็บที่ถูกวิธีร่วมกับการใส่รองเท้าให้เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดเล็บขบ  และแผลที่เท้าได้ - ควรตัดเล็บหลังจากอาบน้ำเสร็จ เพราะน้ำช่วยทำให้เล็บนิ่มขึ้นทำให้ตัดง่าย - กรณีที่มีเล็บขบ  ตาปลา หรือหนังเท้าหนาๆ ควรหลีกเลี่ยงการตัดหรือซื้อยามาทาเอง  ควรปรึกษาแพทย์ก่อน - ถ้าไม่สามารถตัดเล็บตนเองได้  เช่น อาจมีปัญหาทางสายตา  มองไม่ชัด  ควรให้ญาติช่วยตัดให้  เพื่อป้องกันการเกิดแผลหรือปรึกษาแพทย์  พยาบาล  เพื่อรับคำแนะนำ 9. บริหารเท้าทุกวัน - การบริหารเท้าเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ  จะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไปที่เท้าได้ดี - ออกกำลังกาย  โดยการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ วันละ 20 - 30 นาที 10. งดการสูบบุหรี่   การป้องกัน 1. ดูแลรักษาเท้า  ตามบัญญัติ 10 ประการ 2. ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี 3. เลือกรองเท้า  และอุปกรณ์เสริมที่เหมาะสม   หมั่นบริหารเท้าดังนี้ 1. กระดกปลายนิ้วเท้า ขึ้นลง 10 ครั้ง 2. นวดฝ่าเท้า 10 ครั้ง 3. หมุนฝ่าเท้า 10 ครั้ง 4. หมุนส้นเท้า 10 ครั้ง 5. ยืดปลายเท้าขวาชี้ออก 10 ครั้ง 6. ยืดปลายเท้าขวาเข้าหาตัว 7. ยืดปลายนิ้ว 10 นิ้วเข้าหาตัว 8. ยืดปลายเท้า 2 ข้างสลับกัน 9. หมุนเท้าแต่ละข้าง 10. พักบริเวณเท้าโดยใช้อุ้งเท้าขยำกระดาษเป็นก้อนกลม

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ฟันคุด คืออะไร

ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่   ฟันคุดคืออะไร           ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18 - 25 ปี อาจขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรงหรือเอียงบางส่วน นอกจากนี้ฟันซี่อื่นๆ ก็อาจเป็นฟันคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย แต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย เหตุใดจึงจำเป็นต้องผ่าฟันคุด? 1. ป้องกันการอักเสบของเหงือกที่คลุมฟัน แบคทีเรียและเศษอาหารที่สะสมอยู่อาจทำให้เหงือกอักเสบปวดและบวมเป็นหนองได้ 2. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ 3. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูกของฟันข้างเคียงเนื่องจากเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดยาก ทำให้เกิดการสะสมของหินปูนและการละลายของกระดูกได้ง่าย 4. เพื่อลดอาการปวดจากแรงดันของฟันคุด 5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำ          ขั้นตอนการรักษา 1. ตรวจเบื้องต้น 2. X-RAY ตรวจเช็คเบื้องต้น 3. แจ้งผลแทรกซ้อน (ถ้าหากมี) 4. รับการรักษาผ่าตัดฟันคุด 5. ตัดไหมและดูอาการ        อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น? โดยปกติภายหลังการผ่าฟันคุดคนไข้จะมีอาการปวดบวมประมาณ 5 - 7 วัน ขึ้นอยู่กับความยากของหัตถการ 1. อาการติดเชื้อหลังผ่าตัด 2. อาการแพ้ยาแก้ปวด แก้อักเสบ หรือลดบวม 3. เลือดออกมากผิดปกติ 4. อาการชาริมฝีปากหลังผ่าตัด เพราะฟันคุดอยู่ใกล้หรือเกี่ยวอยู่กับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงฟัน การเตรี่ยมตัวก่อนการผ่าฟันคุดหรือการถอนฟัน          ควรรับประทานอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอก่อนเข้ารับการรักษา หากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนการรักษา โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด อาการที่มักพบหลังผ่าตัดฟันคุด 1. ปวดและมีอาการบวม ประมาณ 3 - 5 วัน 2. อาจจะมีเลือดซึมจากแผลหลังผ่าตัดฟันคุด ภายใน 24 ชั่วโมง คำแนะนำหลังผ่าฟันคุดหรือถอนฟัน 1. กัดผ้าให้แน่นพอสมควรไว้ 1 - 2 ชั่วโมง หลังจากการถอนฟันหรือผ่าตัด แล้วคายผ้าทิ้ง หากยังมีเลือดไหลอยู่อีก ให้กัดผ้าที่สะอาดใหม่ต่ออีก1 ชั่วโมง 2. ขณะกัดผ้าควรทำให้ภายในช่องปากแห้งด้วยการกลืนน้ำลาย ห้ามอมหรือบ้วนเลือดและน้ำลายออก 3. ห้ามบ้วนน้ำแรงๆ ใช้น้ำยาบ้วนปาก และห้ามอมน้ำแข็งในวันแรก 4. แปรงฟันทำความสะอาดตามปกติ เพียงแต่ระวังบริเวณแผล        5. รับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง 6. ห้ามแคะเขี่ยบริเวณแผลและห้ามดูดแผลเล่น 7. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารร้อนจัด 8. หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดไหลไม่หยุด หรืออาการชาไม่หายหลังการผ่าในวันรุ่งขึ้น ควรกลับมาพบทันตแพทย์ทันที 9. ในกรณีที่เป็นแผลผ่าตัดหรือแผลผ่าฟันคุด ควรประคบด้วยน้ำแข็งห่อผ้าภายนอกช่องปากในวันผ่าตัด และประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ภายหลังจากผ่าตัด 1 วัน จะทำให้อาการบวมยุบเร็วขึ้น และกลับมาตัดไหมภายหลัง ประมาณ 5 - 7 วัน

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<