การนวดแผนไทย ดีอย่างไร ?

  การนวด เป็นกระบวนการดูแลสุขภาพอย่างหนึ่ง โดยอาศัยการสัมผัสอย่างมีหลักการ การนวดที่ถูกสุขลักษณะจะทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดลมดีขึ้น          ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงล้า  รักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย คลายเครียด เคล็ดขัดยอก ช่วยให้สุขภาพ กระปรี้กระเปร่า จิตใจผ่อนคลาย    นวดไทยกดจุด             การนวดเพื่อบำบัดอาการปวดเมื่อยเฉพาะจุด หรือตามข้อต่อ การยึดติดของพังผืดของร่างกายให้ทุเลา   นวดน้ำมันคลายกล้ามเนื้อ               การนวดร่างกายโดยใช้น้ำมันที่สกัดจากธรรมชาติที่บริสุทธิ์ พร้อมกลิ่นหอมจากธรรมชาติ ช่วยให้สดชื่น คลายเครียดด้วยกลิ่นหอมเฉพาะทางที่ใช้ในการบำบัดอาการให้เบาบางลง เช่น อาการนอนไม่หลับ อาการเครียด หดหู่ นอกจากนี้น้ำมันบริสุทธิ์ยังช่วยบำรุงผิว และกระชับรูปร่างไม่ให้กล้ามเนื้อหย่อนยาน ช่วยสลายไขมันไม่ให้สะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และความร้อนของน้ำมันที่เกิดจากการนวดจะซึมซาบลึกเข้าไปในผิวหนัง และกล้ามเนื้อช่วยให้รู้สึกเบาสบายตัว   นวดฝ่าเท้า/นวดเท้า การนวดฝ่าเท้า นวดเท้า เป็นการปรับสมดุลในร่างกาย เนื่องจากมีจุดสะท้อนของอวัยวะภายในร่างกายที่ฝ่าเท้า และเท้า การนวดฝ่าเท้า และเท้า จึงเป็นการช่วยให้ระบบการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีการขับถ่ายของเสียออกจากเซลล์ ปรับสภาวะสมดุลของร่างกายทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น   นวดประคบสมุนไพร การนวดประคบเป็นการใช้ความร้อนและสมุนไพรช่วยในการคลายกล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด  ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นได้ดีขึ้น                                             ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์หัตถเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การฉีดสีตรวจท่อนำไข่ Hysterosalpingography (HSG)

คือ การตรวจโพรงมดลูกและปีกมดลูกทางรังสีวิทยา เป็นการตรวจพิเศษทางรังสีวิทยาเกี่ยวข้องกับการฉีดสารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบเข้าทางปากมดลูกเข้าสู่โพรงมดลูกและท่อนำไข่ทั้งสองข้างก่อนจะถ่ายภาพเอกซเรย์ การตรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดูรูปร่างโดยทั่วไปของมดลูก และตรวจหาสาเหตุการมีบุตรยาก หรือการเป็นหมัน เช่น ท่อรังไข่ตีบตัน หรือโพรงมดลูกมีลักษณะผิดปกติ เป็นต้น เตรียมตัวอย่างไรบ้าง? เนื่องจากขณะที่แพทย์ฉีดสีอาจมีอาการปวดหน่วงๆจากแรงดันภายในมดลูกได้ แนะนำให้ทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID เช่น lbuprofen (Brufen) 400-600 มิลลิกรัม ล่วงหน้าก่อนการตรวจ 1 ชั่วโมง ควรตรวจวันไหน? วันที่เหมาะสมในการตรวจ คือ วันที่ 7-12 หลังมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับ 1 วันที่ประจำเดือนมาวันแรก สิ่งสำคัญ คือ ต้องแน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ ขณะตรวจ    ควรงดการมีเพศสัมพันธ์หลังมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่ตรวจ ขั้นตอนการตรวจ แพทย์จะให้เราขึ้นขาหยั่งเหมือนอย่างตรวจภายในทั่วไป และสอดเครื่องมือเพื่อเปิดช่องคลอดแล้วทายาทำความสะอาดปากมดลูก หลังจากนั้นแพทย์จะสอดท่อเล็กๆผ่านปากมดลูกเข้าไปและถ่ายเอกซเรย์เพื่อดูการไหลของสี ถ้าผลตรวจปกติก็จะใช้เวลาไม่นานประมาณ 10 นาทีก็เสร็จ ผลข้างเคียง 1. เลือดออกกะปริดกะปรอย มักหยุดเองใน 24 ชั่วโมง 2. การติดเชื้อ จะมีไข้และตกขาวมีกลิ่นเหม็น 2-4 วันหลังตรวจแต่โอกาสเกิดน้อยเนื่องจากเครื่องมือทุกชิ้นผ่านการฆ่าเชื้อ 3. อาการปวดมักพบในคนไข้ที่มีท่อนำไข่ตัน มักปวดไม่มากและเป็นไม่นาน 4. การแพ้สารทึบรังสี ซึ่งพบน้อยมาก สารทึบรังสีมีกี่แบบ? สารทึบรังสีมี 2 แบบ คือ แบบละลายน้ำ และน้ำมัน ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้นเปรียบเทียบอัตราการตั้งครรภ์ระหว่างการฉีดสีดูท่อนำไข่โดยใช้สารทึบรังสีแบบละลายน้ำและน้ำมัน พบว่า การฉีดสีโดยใช้สารทึบรังสีแบบน้ำมัน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตั้งครรภ์ได้มากกว่าแบบละลายน้ำถึง 10 %    ทำไมการใช้สารทึบรังสีแบบน้ำมันจึงทำให้โอกาสการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น? 1.สารทึบรังสีแบบน้ำมันจะช่วยชะล้างโพรงมดลูกและท่อนำไข่ กำจัดสิ่งที่ขวางอยู่เล็กๆน้อยๆ ทำให้สภาวะในท่อนำไข่เหมาะแก่การปฏิสนธิระหว่างสเปิร์มกับไข่ 2.สารทึบรังสีแบบน้ำมันสามารถลดจำนวนของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน (Macrophages) ซึ่งสเปิร์มจะถูกทำลายโดยกลไกการป้องกันสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย (Phagocytosis) ด้วยคุณสมบัติของสารทึบรังสีแบบน้ำมันที่สามารถลดจำนวนของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันได้ จึงเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ดี 3. สารทึบรังสีแบบน้ำมันสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ที่ทำให้เกิดการเตรียมพร้อมในการตั้งครรภ์ได้ (Uterine Natural Killer)         ด้วยความปรารถนาดีจากแผนกสูติ-นรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภูมิแพ้อาหารแบบแฝง Food Intolerance

  ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงต่างจากการแพ้อาหารทั่วไปอย่างไร? – การแพ้อาหารแบบทั่วไป เมื่อร่างกายได้รับอาหารที่แพ้ จะเกิดปฎิกิริยาแบบเฉียบพลันซึ่งมีอาการค่อยข้างรุนแรง เช่น การเกิดผื่นคันตามตัว หรือเกิดอาการช๊อค หายใจติดขัด   – ภาวะภูมิแพ้อาหารแบบแฝง ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการแพ้ทันที แต่จะเกิดอาการเมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนั้นซ้ำๆ จนร่างกายไม่สามารถกำจัดส่วนประกอบของภูมิต้านทานอิสระที่มีมากเกินไปได้หมด จึงไปกระตุ้นนำระบบกลไกที่ทำให้เกิดการอักเสบให้เกิดขึ้นที่อวัยวะต่างๆของร่างกายอย่างต่อเนื่อง ภูมิแพ้ในลักษณะนี้จะทำให้มีอาการเรื้อรังโดยที่คุณไม่รู้ตัว เช่น ปวดหัว ท้องเสีย ท้องอืด ไอเรื้อรัง ผื่นคันตามตัว บวมน้ำ เป็นค้น   สาเหตุการเกิดภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง   สาเหตุในการเกิดภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงเริ่มมาจากภาวะ “ลำไส้รั่ว (leaky gut)” คือลำไส้ถูกทำลายจากอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือมีสารปนเปื้อนและปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด พยาธิ แบคทีเรียไม่ดี ตับอ่อนผลิตเอมไซด์ได้ไม่ดี ภาวะทุพโภชนาการ เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้ช่องว่างระหว่างเซลล์ผนังเยื่อบุลำไส้หลวม โมเลกุลที่ยังไม่ย่อยหรือสิ่งแปลกปลอมสามารถซึมผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์เข้าสู่กระแสเลือด   อาการที่เกิดขึ้น – กล้ามเนื้อและกระดูก ปวดข้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว รูมาตอยด์ – ผิวหนัง แผลเรื้อรัง ผิวหนังแข็ง ผื่นคัน สะเก็ดเงิน แผลพุพอง – ระบบหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด ไอเรื้อรัง ไซนัส – ระบบประสาท ADHD ไมเกรน ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า นอนไม่หลับ   การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงมีประโยชน์อย่างไร?      มนุษย์ทุกคนมีภาวะภูมิแพ้อาหารอยู่ในร่างกายอยู่แล้วเพียงแต่บางคนอาจจะแสดงอาการหรือในบางคนจะไม่แสดงอาการ ซึ่งในรายการที่ไม่แสดงอาการนั้นจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่ารายที่แสดงอาการ เนื่องมาจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเรามีภาวะภูมิแพ้อาหารชนิดใดบ้างเราจึงควรให้ความสำคัญกับสุขภาพโดยการเข้ารับ การตรวจ “ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Allergy)”  ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่าคุณมีภาวะหรือความเสี่ยงในการแพ้อาหารชนิดใด เพื่อจะได้ทำการหลีกเลี่ยงและวางแผนโภชนาการของคุณให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์มากที่สุดพร้อมทั้งป้องกันโรคร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น                 ด้วยความปรารถนาดี  แผนกเวชศาสตร์ชะลอวัย    

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

2 กลุ่มวิตามิน ➕ แร่ธาตุ ตัวไหนจำเป็น กินตอนไหนให้ร่างกายแข็งแรง

วิตามิน (Vitamin) คืออะไร? วิตามิน คือสารอินทรีย์ที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่น้อย ต่อวันแต่มีความจำเป็นขาดไม่ได้ เพราะจะช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์ทุกเซลล์ให้ทำงานปกติ วิตามินจึงมีความสำคัญอย่างมาก  แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินขึ้นเองได้ จึงต้องทานอาหารและอาหารเสริม 2 กลุ่มวิตามิน กินตอนไหนให้ประโยชน์สูงสุด วิตามินทานเวลาไหนดี? ก่อนที่เราจะทานวิตามินตอนไหนดี ที่ได้ประโยชน์สูงสุด มาทราบกันก่อนว่า วิตามินแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มที่ละลายในน้ำ วิตามินกลุ่มละลายไขมัน 1. วิตามินกลุ่มที่ละลายน้ำ ( Water Soluble)  วิตามินกลุ่มที่ละลายน้ำเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้และไม่สะสมในร่างกาย ปริมาณที่เหลือใช้จะถูกขับออกทางปัสสาวะ  ได้แก่  วิตามินบีรวม (B-complex vitamins) หรือ วิตามินบีรวมต่าง ๆ (บี 1, 2, 3, 5, 6, 9 และ 12)  เป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างพลังงาน เผาผลาญสารอาหารต่าง ๆ ทั้งคาร์โบไอเดรต โปรตีน ไขมัน ควรทานหลังอาหารเช้า หรือ ระหว่างวัน ทานก่อนนอนอาจทำให้นอนไม่หลับ  วิตามินซี (Vitamin C)  ทานหลังอาหารเช้า หรือ ระหว่างวันและดื่มน้ำตามมาก ๆ เพราะวิตามินซีจะละลายได้ดีในน้ำ  แต่ดูดซึมได้ปริมาณจำกัด จึงควรแบ่งขนาดทาน เช่น ครั้งละ 500 mg 2 ครั้ง/วัน  วิตามินบี12 (Vitamin B12) ทานช่วงท้องว่างจะทำให้ดูดซึมได้ดี และทานร่วมกับโฟลิก  (Folic acid) จะทำให้ได้รับประโยชน์มากในการบำรุงเม็ดเลือด การสร้างพลังงาน การลดระดับ Homocysteine (หากมีค่าสูง จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด) ธาตุเหล็ก (Iron)   ทานขณะท้องว่างจะดูดซึมได้ดีที่สุด หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอาจทานหลังอาหารได้ และ ไม่ควรทานพร้อมกับแคลเซี่ยมและสังกะสี เพราะจะรบกวนการดูดซึมของธาตุเหล็กได้ และทานอาหารที่มีวิตามินซีร่วมด้วยจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น สังกะสี (Zinc)   ดูดซึมได้ดีตอนท้องว่างเช่นกัน (1 ชม. ก่อนอาหาร หรือ 2 ชม.หลังอาหาร) หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน อาจทานหลังอาหารได้และไม่ควรทานสังกะสีพร้อมกับแคลเซี่ยมและเหล็ก  แคลเซี่ยม (Calcium)  ต้องดูว่าเป็นแคลเซี่ยมชนิดไหนก่อน                                แคลเซี่ยมคาร์บอเนต (Calcium carbonate): ควรทานหลังอาหารทันที  เพราะต้องใช้กรดในกระเพาะอาหารช่วยในการแตกตัว แต่ร่างกายดูดซึมได้น้อยและอาจมีอาการไม่สบายท้อง ท้องอืดได้ แคลเซี่ยมซิเทรท (Calcium citrate): ทานตอนท้องว่างได้และดูดซึมได้ดีกว่า (ปริมาณแคลเซี่ยมจะน้อยกว่าชนิดคาร์บอเนต) แต่ราคาก็จะสูงกว่า  และควรเลี่ยงทานพร้อมยาอื่น ๆ เพราะจะไปลดฤทธิ์ของยา   เลี่ยงหลังการทานผักมาก ๆ และควรทานคู่กับวิตามินดี (Vitamin D) เนื่องจากจะช่วยในการดูดซึมและการนำแคลเซี่ยมไปใช้ได้ แต่ควรตรวจระดับ Vitamin D ในเลือดก่อนเสมอหากไม่ต่ำก็ไม่ต้องทาน(แต่คนไทยส่วนใหญ่ระดับวิตามิน D จะต่ำ)   2. วิตามินกลุ่มที่ละลายได้ดีในไขมัน (Fat Soluble)   วิตามินกลุ่มนี้สะสมที่ตับและไขมันทั่วร่างกาย ควรทานในปริมาณที่พอเหมาะ ได้แก่ วิตามิน เอ,ดี,อี และ เค รวมถึงกลุ่มน้ำมันต่าง ๆ เช่น น้ำมันปลา (Fish oil) น้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส (EPO) , Co-enzyme Q10  อาจรวมไปถึงวิตามิน แร่ธาตุรวม (Multivitamins ; MTV) อีกด้วย ควรทานหลังอาหาร เนื่องจากอาหารในกลุ่มไขมันที่เราทานเข้าไปจะช่วยเพิ่มการดูดซึมวิตามินหรือสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ได้มากขึ้น (โดยทั่วไปการดูดซึมอยู่ที่ประมาณ 20-30 นาทีหลังมื้ออาหาร) แต่ก่อนที่จะรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมตัวไหนควรหาข้อมูลให้ดีก่อน หรือปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย    ด้วยความปรารถนาดี จากแผนกเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

สุขภาพดีได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ชีวิตตามหลัก 6 อ.

       แนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยใช้หลัก 6 อ. ตามศาสตร์ชะลอวัย มาส่งเสริม และดูแลให้มีสุขภาพที่ดี          อ.  ที่  1  อาหาร   อาหารดี สุขภาพดี เคล็ดลับง่าย ๆ  คือ รับประทานให้ครบ 3 มื้อ หนักมื้อเช้า เบามื้อเที่ยง เลี่ยงแป้งมื้อเย็น ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่  เพิ่มการกินผักมากขึ้น ไม่ควรตัดอาหารประเภทไขมันออกจากมื้ออาหาร เลือกรับประทานไขมันดี ใช้หลัก Caloric restriction  และควรรับประทานอาหารเสริมที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย           อ. ที่  2  อาศัยแบบไลฟ์สไตล์สุขภาพดี ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินชีวิตมีแต่ความเร่งรีบ ทำให้เราไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย และนอนดึก พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายให้มีความผิดเพี้ยนทุกระบบ ทางแก้คือการกลับคืนสู่วิถีทางธรรมชาติ ทำได้โดยการมีวินัยในการดำรงชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภพ หรือใช้ชีวิตตาม Biological Clock          อ. ที่  3  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงแค่สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที  ซึ่งต้องออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ หรือการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ สร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน และการสร้างความสมดุลในการทรงตัว ปิดท้ายด้วยการยืดเหยียด เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายด้วย           อ. ที่  4  เอนกายนอน การนอนเป็นส่วนหนึ่งของการชะลอความแก่  เรามาอดอาหารเช้า ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างมีคุณภาพ เข้านอนเร็วขึ้นตั้งแต่เวลา 21.00 น. ปิดแสงไฟ ปิดม่านให้มืดสนิท ไม่มีเสียงและคลื่นความถี่ต่าง ๆ รบกวน เพื่อการหลับที่สนิทในช่วงเวลาที่ Growth Hormone  หลั่งในช่วง 24.00-01.00 น. ฮอร์โมนเหล่านี้จะไปซ่อมแซมเซลล์ในร่างกายที่เสื่อมให้กลับมาดีขึ้น           อ. ที่ 5  เอาน้ำหนักส่วนเกินออก คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ สูงกว่าผู้ที่มีน้ำหนักในระดับมาตรฐาน การลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ           อ. ที่ 6  อ่อนเยาว์ด้วยฮอร์โมนที่สมดุล ฮอร์โมนต่าง ๆในร่างกายเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อระบบการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น Growth Hormone ที่ช่วยกระตุ้นความอ่อนเยาว์และชะลอความเสื่อมของร่างกาย  ถ้าเราต้องการชะลอความเสื่อม รักษาความอ่อนเยาว์ของเราไว้ ต้องมีการปรับความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายที่ดี เพื่อความอ่อนเยาว์ที่ยาวนาน           แค่เราปฏิบัติตามทั้งหมด 6 อ. นี้ เราก็จะสามารถชะลอความเสื่อมของร่างกาย  คงไว้ในความอ่อนเยาว์ และมีสุขภาพที่ดี สามารถลดภาระค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวได้ด้วย            ด้วยความปรารถนาดี จากแผนกเวชศาสตร์ชะลอวัย  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

กลิ่นปาก

เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประเภท คือ สาเหตุจากในช่องปาก และสาเหตุภายนอกช่องปาก สาเหตุจากในช่องปาก ได้แก่ มีแผลในช่องปาก ฟันผุ เหงือกอักเสบ และกลุ่มคนที่ใส่เครื่องมือภายในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน ฟันปลอม หากดูแลความสะอาดไม่ดี ก็อาจเกิดกลิ่นได้เช่นกัน นอกจากนั้นน้ำลายซึ่งคอยช่วยชะล้างสิ่งสกปรกออกจากภายในปาก หากหลั่งออกมาน้อยก็อาจทำให้สิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ภายในปากเกิดการบูดเน่า และเกิดกลิ่นปากได้ สาเหตุภายนอกช่องปาก ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การรับประทานอาหารบางชนิดที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม เครื่องเทศ นอกจากนี้โรคระบบทางเดินหายใจก็เป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคทอนซิลอักเสบ โรคมะเร็งโพรงกระดูก กรดไหลย้อน โรคปอดเรื้อรัง วัณโรค มะเร็งปอด เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดี ดังนั้นหากรู้ตัวว่าตัวเองเริ่มมีกลิ่นปากหรือมีกลิ่นแปลกๆเกิดขึ้นเป็นเวลานานและเรื้อรังให้ไปพบแพทย์ ทันตแพทย์ เพื่อตรวจสอบและหาสาเหตุเพื่อแก้ไขต่อไป ซึ่งสาเหตุหลักประมาณร้อยละ 90 มาจากในช่องปาก แนวทางการรักษา การดูแลสุขอนามัยช่องปากโดยเน้นการทำความสะอาดฟันและลิ้นรวมถึงการกำจัดและรักษาปัญหาพยาธิสภาพในช่องปาก เช่น ฟันผุ วัสดุอุดฟันสภาพไม่ดี เหงือกอักเสบ เป็นต้น รวมถึงการดื่มน้ำเปล่าอย่างพอเพียง และการดูแลสุขภาพร่างกายโดยรวม ไม่เครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Disorder)

คือ ภาวะที่ข้อต่อระหว่างขากรรไกรบนและล่างไม่สามารถทำงานอย่างที่ควร มีผลต่อการเคลื่อนขากรรไกรล่างไปในทิศทางข้างหน้า ข้างหลัง หรือด้านข้างได้ สาเหตุอาจเกิดจาก             - แผ่นหมอนรองกระดูกสึกกร่อน หรือเคลื่อนตัวออกนอกตำแหน่ง      - กระดูกอ่อนของข้อต่อถูกทำลายจากภาวะข้อเสื่อม      - ข้อต่อถูกกระทบกระเทือนจากปัจจัยภายนอกหรืออาจจะหาสาเหตุไม่ได้ก็เป็นไปได้เช่นกัน อาการที่พบได้บ่อย           - ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดบริเวณหลังตา     - เสียงคลิกเวลาอ้างปากหรือหุบปาก     - ปวดจากการหาว อ้าปากกว้าง เคี้ยวอาหาร     - ขากรรไกรค้าง     - เจ็บกล้ามเนื้อขากรรไกร วิธีการรักษา           ยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่นอน แต่มีวิธีบรรเทาอาการได้หลายวิธีดังนี้              - การรับประทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ เพื่อลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ            - การใส่อุปกรณ์ป้องกันการกระทบของฟันบนและล่าง            - การผ่อนคลาย เพื่อควบคุมความตึงเครียดของกล้ามเนื้อขากรรไกร เช่น ระมัดระวังพฤติกรรมการกัดเค้นฟัน การกัดของแข็ง           -  หากการรักษาแบบประคับประคองไม่ได้ผล อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่นๆแทน เช่น การฉีดยาเข้าข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ พวกยาสเตียรอยด์ สาร Botulinum toxin หรือการผ่าตัดข้อต่อขากรรไกรแบบส่องกล้องขนาดเล็ก หรือการผ่าตัดเปิดข้อต่อขากรรไกร  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคเบาหวาน

"เบาหวาน" โรคที่พบได้ในทุกกลุ่มช่วงอายุ มาสังเกตตัวเองกันดีกว่าว่าเรานั้นจะมีอาการของโรคเบาหวานหรือไม่?     โรคเบาหวาน   -โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อปริมาณอินซูลินในเลือดไม่เพียงพอต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ลงไปอยู่ในระดับปกติ  -อาการจะรวมถึงความเหนื่อยล้า กระหายน้ำและหิวเพิ่มขึ้นและการปัสสาวะบ่อยขึ้น -การจัดการโรคเบาหวานถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันความเสียหายถาวรที่อาจเกิดกับอวัยวะของคุณเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง   การทดสอบเบาหวาน   -การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (FPG) ≥126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร -การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังอาหาร (OGTT) ≥200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร -การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c ≥ 6.5%   อาการของโรคเบาหวาน   -ถ่ายปัสสาวะบ่อย -กระหายน้ำมาก -หิวมากแม้ระหว่างกำลังรับประทาน -ตาพร่ามัว -อ่อนเพลียมาก -มีแผลหายช้า -รู้สึกคล้ายเข็มทิ่ม ปวด หรือชาที่มือหรือเท้า   เมื่อไรที่คุณต้องเริ่มการใช้ยาในการป้องกันการเกิดเบาหวาน  หากคุณมีอย่างน้อย 1 ใน 3 ข้อด้านล่าง คุณควรปรึกษาแพทย์เรื่องแผนการรักษาด้วยยาต่อไป   1.ระดับน้ำตาลยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคราวที่แล้ว และ/หรือน้ำหนักไม่ลดลงมากกว่า 5-7% 2.ไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เช่น วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ 3.มีข้อห้ามในการออกกำลังกาย         ด้วยความปรารถนาดี จาก แผนกเบาหวานระบบต่อมไร้ท่อ   อ้างอิง: American Diabetes Association (ADA)2019

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

Fibro Scan ตรวจตับแบบไม่ต้องเจ็บตัว

ไฟโบรสแกน (Fibro scan) คืออะไร? เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยไม่เกิดความเจ็บปวดใดๆ กับร่างกาย และลดอัตราความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เมื่อเทียบจากการเจาะตับ (liver biopsy) ผู้ที่ควรจะได้รับการตรวจ Fibro scan ค่าการทำงานตับผิดปกติ อ่อนเพลียอาหารไม่ย่อย มีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ มีประวัติว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับ เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัส ตับอักเสบ B และไวรัสตับอักเสบ C มีประวัติ ไขมันเกาะตับ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือมีภาวะอ้วน ข้อดีของการตรวจไฟโบรสแกน (Fibro scan)    การตรวจไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ตรวจได้ทันที และทราบผลที่รวดเร็ว การเตรียมตัวตรวจไม่ยุ่งยาก ให้งดอาหาร 3 ชั่วโมงก่อนได้รับการตรวจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร.  096-964 6465 ช่องทาง Line: @vprecision  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คู่มือการเข้าเฝือก

“อย่าปล่อยให้อาการ ปวด เป็นปัญหาอีกต่อไป”          ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ รพ.วิภาวดี ให้บริการตรวจวินิจฉัยรักษาเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยทีมศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ที่มีประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมให้บริการ เฝือก         คือเครื่องดามที่ใช้ดามกระดูกและข้อ ส่วนที่ถูกหุ้มด้วยเฝือกนั้นอยู่นิ่งๆ โดยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนอื่นๆที่อยู่นอกเฝือกได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ปกป้องเนื้อเยื่ออื่นๆที่ได้รับบาดเจ็บ ลดความเจ็บปวด บวม และส่งเสริมให้กระดูกหักนั้นติดกันดังเดิม การปฏิบัติตนในระยะ 3 วันแรกหลังใส่เฝือก         หลังจากที่แพทย์ใส่เฝือกให้ แต่เฝือกก็ยังมีสภาพเปียกชื้นและบุง่ายอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1- 2 วัน จึงจะแห้งสนิท         1. ป้องกันเฝือกแตก หักหรือบุบในระหว่างที่เปียกชื้น หรือแห้งไม่สนิท วางเฝือกบนวัสดุนุ่มนิ่ม เช่น หมอนหรือฟองน้ำ หลีกเลี่ยงการวางเฝือกบนวัสดุแข็ง เช่น วางส่วนของส้นเท้าบนพื้นปูน หรือใช้ส่วนของข้อศอกเท้าพนักเก้าอี้ ควรประคองเฝือกในระหว่างเคลื่อนย้าย หรือลุกออกจากเตียงอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการใช้ปลายนิ้วกดหรือบีบเฝือกเล่น         2. ดูแลให้เฝือกแห้งเร็ว วางเฝือกในที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น ไม่ใช้ผ้าห่มหรือสิ่งใดๆคลุมบนเฝือก การใช้พัดลมเป่าจะช่วยให้เฝือกแห้งเร็วขึ้น แต่ห้ามนำเฝือกไปผิงกับไฟ   การปฏิบัติเมื่อเฝือกแห้งดีแล้ว        1. ดูแลไม่ให้เฝือกเปียกชื้นหรือสกปรก เช่น การเดินในสนามหญ้าตอนเช้าๆ หรือถูกน้ำจนเปียก เวลาอาบน้ำควรใช้ถุงพลาสติกหุ้มเฝือกไว้ อาจใช้ถุงสวมทับหลายๆชั้น โดยการมัดปากถุง ที่คนละระดับจะช่วยกันน้ำได้ดียิ่งขึ้น        2. ไม่ควรให้เฝือกเป็นตัวรับน้ำหนักอย่างเต็มที่ ยกเว้น มีส้นยางเป็นตัวรับน้ำหนัก        3. ไม่ควรลงน้ำหนักหรือเดินบนเฝือก ถ้าแพทย์ยังไม่อนุญาต   ปัญหาที่อาจเกิดจากการเข้าเฝือก        1. เฝือกหลวม              เนื่องจากอวัยวะภายในเฝือก ยุบบวมลง หรือเข้าเฝือกไม่กระชับตั้งแต่แรก        2. เฝือกคับหรือแน่นเกินไป              จากการบวมที่เกิดหลังการเข้าเฝือก        3. การเข้าเฝือกนานเกินไป              ทำให้ข้อติดยึด        4. การถอดเฝือกนานเกินไป              โดยที่กระดูกยังไม่ติดกันดี ทำให้เกิดการเคลื่อนหลุดของปลายกระดูก        5. อาจเกิดจากอาการคันและระคายเคืองจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราที่                   ผิวหนังใต้เฝือกรวมทั้งความอับชื้นที่ผิวหนังใต้เฝือก        6. อาจเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ (Compartment Syndrome)        7. อาจเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และลิ่มเลือดได้ (Deep Vein                           Thrombosis Pulmonary Edema)   คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยใส่เฝือก        • ควรเกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้เฝือกบ่อยๆ และเคลื่อนไหวส่วนที่อยู่ภายนอกเฝือกหรือข้อต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ใส่เฝือกขาควรเคลื่อนไหวนิ้วเท้า และเกร็งกล้ามเนื้อน่อง        • ห้ามตัดเฝือก หรือวัสดุรองรับเฝือกออกเอง        • อย่าให้เฝือกกระทบของแข็งบ่อยๆ อย่าให้ได้รับแรงกดจนแตกหรือยุบ เช่น เหยียบหรือวางบนพื้นแข็งโดยตรง        • ห้ามทำให้พื้นเฝือกเปียกหรือถูกน้ำหรือลนด้วยความร้อนเพื่อให้แห้งเร็ว        • ห้ามใช้วัสดุแหย่เข้าไปในเฝือก เพื่อแก้อาการคันเพราะอาจทำให้ผิวหนังมีบาดแผลได้        • ควรยกส่วนแขนหรือขาที่เข้าเฝือก ให้อยู่เหนือระดับหัวใจเสมอ เพื่อช่วยให้เกิดการไหลเวียนที่ดี   คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยใส่เฝือก        มาพบแพทย์ตามนัดเสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติต่อไปนี้ ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีก่อนวันนัด        • เมื่อมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น        • เมื่อนิ้วมือหรือนิ้วเท้าข้างที่เข้าเฝือก มีสีเขียวคล้ำหรือซีดขาวบวมมากขึ้นหรือมีอาการชา        • เมื่อไม่สามารถขยับเขยื้อนนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าข้างที่ใส่เฝือกได้        • เมื่อมีวัตถุแปลกปลอม หลุดเข้าไปในเฝือก        • เมื่อพบว่าเฝือกหลวม บุบสลายหรือแตกหัก        • มีเลือด น้ำเหลืองหรือหนองไหลซึมออกมาจากเฝือกหรือมีกลิ่นเหม็น   เวลานั่ง/นอน        -ให้ใช้หมอนหนุนแขนหรือขาที่เข้าเฝือก เวลาเดิน/ยืน        -ให้ใช้ผ้าคล้องคอสำหรับ ผู้ที่ใช้เฝือกแขน            ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคันระคายเคือง จากการใส่เฝือกแนะนำให้ใช้สเปรย์แป้งที่มีส่วนผสมของ Triclosan, Tea tree oil, Mentol และ Alcohol เพื่อช่วย          • ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของอาการคัน          • ลดความอับชื้นและอาการระคายเคืองภายในเฝือก          • ทำให้แผลสมานและหายเร็วขึ้น          • ระงับกลิ่นอับที่ไม่พึงประสงค์   เทคโนโลยีก้าวไกล ไปกับรพ.วิภาวดี          เครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก (Dexa Bone Densitometer) เป็นวิธีมาตรฐานสูงสุดของรพ.ชั้นนำ โดยการใช้รังสีเอกซเรย์ 2 พลังฉาย ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยที่พลังงานสูงใช้ตรวจกระดูกส่วนพลังงานต่ำใช้ตรวจเนื้อเยื่อและไขมัน และนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบมาตรฐานความแข็งแรงกระดูก ผลตรวจที่ได้จะเป็นแนวทางในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน                                                                                                                                                                                                                          ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ                                                                                                                                                                                                                               โรงพยาบาลวิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<