โรคเก๊าต์ สาเหตุ อาการ การรักษา อาหารอะไรไม่ควรกิน

โรคเกาต์ เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ร่วมกับมีอาการที่เกิดจากการตกผลึกของกรดยูริก ในรูปแบบผลึกยูเรตในข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อหรือเนื้อเยื่อรอบข้อ หรือเกิดปุ่มก้อนของผลึกยูเรตภายในข้อและใต้ชั้นผิวหนังรอบๆ ข้อ ถ้าเป็นมากทำให้เกิดนิ่วในไตร่วมด้วย สาเหตุ โรคเกาฑ์ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการสะสมกรดยูริค (Uric acid) ในร่างกาย กรดยูริคได้จากการเผาผลาญสารพิวรีน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้และ พบได้ทั่วไปในอาหารหลายชนิด โดยปกติพิวรีนที่ร่างกายได้รับจะถูกย่อย และกลายเป็นกรดยูริค ในคนปกติไตจะทำหน้าที่ขับกรดยูริคออกให้ทันต่อการสร้างใหม่ การสะสมของกรดยูริคทำให้เกิด อาการปวดรุนแรง ในกระดูกและรอบๆ ข้อกระดูก  ในผู้ชาย Uric ไม่ควรที่จะเกิน 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในผู้หญิงยูริค ไม่ควรเกิน 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โรคนี้สามารถติดต่อได้ทางกรรมพันธุ์ อาการของโรคเกาต์ ปวด บวม แดง ร้อน โดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า ซึ่งเป็นข้อที่พบบ่อยสุด โดยมากปวดข้อเดียวแต่ก็ปวดหลายข้อได้ อาการของเกาต์ปวดเป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรัง ข้อที่ปวดเกาต์พบได้ทุกข้อ แต่พบมากข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อนิ้ว และข้อศอก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในรายที่เป็นเกาต์มานานอาจพบนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มักปวดตอนกลางคืน อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ มักจะมีปัจจัยกระตุ้นได้แก่ การรับประทานอาหารที่มียูริกสูง ดื่มสุรา หรือความเครียด ** ข้อที่พบการอักเสบของเกาต์ได้บ่อย ได้แก่ ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ และข้อศอกเรียงตามลำดับ พบว่าข้อที่เป็นจะบวม แดง กดเจ็บ ในรายที่เป็นเรื้อรังจะมีการรวมตัวของกรดยูริกเกิดเป็นก้อนที่ข้อ อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ อาหารที่รับประทานสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามปริมาณของสารพิวรีนในอาหาร 1.  อาหารที่มีสารพิวรีนมากมากกว่า 150 มิลลิกรัม ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรงดเว้นหรือหลีกเลี่ยง ตับ น้ำต้มเนื้อ น้ำเกาเหลา ไต น้ำสกัดจากเนื้อเข้มข้น ปลาไส้ตัน น้ำปลาและกะปิจากปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน ยีสต์และอาหารหมักจากยีสต์ เช่น เบียร์  หอยเซลล์ ปลาทู ปลารัง เนื้อไก่ เป็ด นก ไข่ปลา  ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เด็ดขาด เช่น เบียร์ , เหล้า เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ยูริคสูงขึ้น 2.  อาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง (พิวรีนอยู่ 50-150 มก.) ผู้ป่วยโรคเกาต์ทานได้ในปริมาณจำกัด เนื้อวัว กระเพาะ ผ้าขี้ริ้ว เอ็น เนื้อหมู เนื้อปลา ปู กุ้ง หอย ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ผัก หน่อไม้ฝรั่ง ผักขม เห็ด ดอกกะหล่ำ ชะอม กระถิน 3.    อาหารที่มีสารพิวรีนน้อย  หรือเกือบไม่มีเลย  (0-50 มิลลิกรัม) ผู้ป่วยโรคเกาต์ทานได้โดยไม่แสลง ข้าว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยวทุกชนิด วุ้นเส้น บะหมี่ เส้นหมี่ ขนมปังปอนด์ มักกะโรนี ข้าวโพด แคร็กเกอร์สีขาว ไข่ นมและผลิตผลจากนม (เนยแข็ง ไอศกรีม) น้ำมันพืช กะทิ เนย น้ำมันหมู ผัก ผลไม้ทุกชนิด เกาลัด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขนมหวานต่างๆ ทองหยิบ ทองหยอด ฝองทอง เค้ก คุกกี้ เครื่องดื่ม กาแฟ ชา โกโก้  ช็อกโกแลต การรักษาโรคเกาต์ ช่วงที่มีข้ออักเสบ ในช่วงที่มีอาการปวดอาจจะรับประทานยาแก้ปวด Paracetamol หรือยาแก้ปวดอื่นๆ ช่วงที่มีการอักเสบของข้อให้ใช้ยา Colchicine 0.6 mg. จน อาการปวดดีขึ้น และต้องหยุดยาทันทีที่ผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย ให้ยาลดอาการอักเสบ ช่วงที่ปวดให้พักและดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของกรดยุริก ให้นอนพัก ยกเท้าสูง หลีกเลี่ยงการยืนหรือการเดิน ห้ามบีบนวดข้อที่อักเสบ การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ซี่งรับประทานติดต่อกันเป็นปีๆ จนกว่าจะไม่มีการตกตะกอนของกรดยูริก หากมีอาการท้องเดินปวดท้องหรือถ่ายยา ควรรีบปรึกษาแพทย์ ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และลดความเข้มข้นของปัสสาวะ ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ “กรดยูริก” ถูกขับออกจากร่างกายไม่ได้ดี และทำให้ตับสร้าง “กรดยูริก” มากขึ้น ทำให้มีการสะสมของ “กรดยูริก” มากขึ้น งดอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ เพราะ “กรดยูริก” เป็นส่วนหนึ่งของสารพิวรีน ที่พบมากใน ตับ ไต สมอง หัวใจ และกระเพาะอาหารของสัตว์ มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ รักษาหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยความปรารถนาดีจาก หน่วยศัลยกรรมกระดูกและข้อ  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คำแนะนำการปฏิบัติตัว เมื่อแยกตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)

คำแนะนำการปฏิบัติตัว เมื่อแยกตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)         สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยหรือยืนยันป่วยด้วยโควิด-19(ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2563 กรมการแพทย์) ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง  อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้นๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานพักฟื้น  ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการน้อยนี้ ส่วนใหญ่จะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายสนิท แต่ในช่วงปลายสัปดาห์แรก ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการมากขึ้นได้ ผู้ป่วยต้องคอยสังเกตอาการ เมื่อไม่แน่ใจ โทรศัพท์ปรึกษา หรือเข้าไปรับการตรวจประเมินที่โรงพยาบาลก่อน ก็จะทำให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมได้       ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรืออาการดีขึ้นแล้ว แต่เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจจะยังมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ยาวนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากเริ่มป่วย ดังนั้น ผู้ที่ป่วยจึงจำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย   เพื่อลดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เช่น เริ่มมีไข้วันที่ 1 มีนาคม เข้าโรงพยาบาล วันที่ 3 มีนาคม  ออกจากโรงพยาบาล กลับบ้านวันที่ 9 มีนาคม ควร แยกตัวอยู่บ้าน อย่างน้อยถึง 15 มีนาคม เป็นต้น  ลักษณะของบ้านพักอาศัยที่เหมาะสม         บ้านพักในช่วงที่ต้องแยกตัว ควรมีลักษณะดังนี้ มิฉะนั้น อาจต้องหาสถานที่อื่นที่เหมาะสม  -  มีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้  ไม่ต้องออกไปจัดหานอกบ้านด้วยตนเอง -  อยู่อาศัยตามลำพังหรือร่วมกับผู้อื่น  โดยมีห้องส่วนตัว -  ผู้ที่อยู่อาศัยร่วมบ้านสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสุขอนามัยและการแยกจากผู้ป่วยได้  -  สามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้ดีและเดินทางมาโรงพยาบาลได้สะดวก ผู้ป่วยโควิด-19 ควรปฏิบัติดังนี้ อย่างเคร่งครัดในระหว่างแยกตัว   1.  ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างแยกตัว   2.  ถูมือด้วยแอลกอฮอล์เจล  หรือล้างมือด้วยสบู่และน้ำ (หากมือเปรอะเปื้อน) เป็นประจำโดยเฉพาะ        2.1  ภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ       2.2  ก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับ  ตู้เย็น ฯลฯ เป็นต้น    3.  อยู่ในห้องส่วนตัวตลอดเวลา  หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต่างๆ   ขณะที่อยู่ในห้องส่วนตัวควรสวมหน้ากากอนามัยหากยังมีอาการไอ จาม เป็นระยะๆ    4.  หากจำเป็นต้องเข้าใกล้  ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หรือ ประมาณหนึ่งช่วงแขน (ยกเว้นในกรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากไม่พบเชื้อในน้ำนม แต่มารดา ควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ อย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร)  หากไอจาม ไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่นหรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร   5.  หากไอ จาม ขณะที่สวมหน้ากากอนามัยอยู่ไม่ต้องเอามือมาปิดปาก  เนื่องจากจากมืออาจเปรอะเปื้อน หากไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยให้ใช้แขนหรือศอกปิดปากจมูก   6.  ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ให้ปิดฝา ชักโครก ก่อนกดน้ำทำความสะอาดโถส้วมสุขภัณฑ์หรือพื้นที่ที่อาจเปื้อนเสมหะ น้ำมูก  อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่ง ทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 5,000 ส่วนต่อล้านส่วน(5,000 ppm)หรือ 0.5%  (ผสมน้ำยาฟอกผ้าขาว 1 ส่วน 9 ส่วน)   7.  แยกสิ่งของส่วนตัว ไม่ใช้ ร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ  ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์   ฯลฯ    8.  ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ถ้ารับอาหารจากนอกบ้านหรือเตรียมอาหารในบ้าน บริเวณที่มีผู้อื่นอยู่ ควรให้ผู้อื่นจัดหามาให้  แล้วแยกรับประทานคนเดียว   9.  ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ถ้าทำได้  ซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ  60-90 องศาเซลเซียส   10.  แยกถุงขยะของตนต่างหาก  ขยะทั่วไปให้ทิ้งลงถุงได้ทันที ขยะที่อาจปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก สารคัดหลั่งอื่นๆ เช่น  หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ฯลฯ ให้ ทิ้งในถุงพลาสติก เทน้ำยาฟอกผ้าขาว โซเดียมไฮโปคลอไรท์ เข้มข้น 500 ส่วนต่อล้านส่วนหรือ 0.05% (น้ำยาฟอกผ้าขาว 1 ส่วนต่อน้ำ  99 ส่วน) ลงในถุงเพื่อฆ่าเชื้อก่อนแล้วผูกปากถุงให้สนิทก่อนทิ้งรวมกับขยะทั่วไปหลังจากนั้นต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง   11  นอนพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศไม่เย็นเกินไปและมีอากาศถ่ายเทสะดวก ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ งดดื่มน้ำ เย็นจัด พยายามรับประทานอาหาร ให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ   12  หยุดไปสถานศึกษา หรือที่ทำงาน ไม่ไปในที่สาธารณะจนกว่าจะครบกำหนดการแยกตัวข้างต้น  หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้ สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก  หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้รีบโทรศัพท์ ติดต่อเพื่อมาโรงพยาบาลทันที เพราะโรคนี้อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของความเจ็บป่วยได้  การเดินทางมาโรงพยาบาล ไม่ใช้รถหรือเรือ สาธารณะ ให้ใช้ รถยนต์ส่วนตัวและให้เปิดหน้าต่างรถยนต์ไว้เสมอ หรือขอรถพยาบาลมารับระหว่างโทรติดต่อโรงพยาบาล   13 ระหว่างการแยกตัว ทำความสะอาดเป็นประจำบริเวณพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักหรือจับต้องและเครื่องเรือนเครื่องใช้ เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ โทรศัพท์บ้าน ฯลฯ ด้วยน้ำและผงซักฟอกอย่างเหมาะสมกับวัสดุอุปกรณ์  ภายหลังครบกำหนดการแยกตัวข้างต้น ให้ทำความสะอาดให้ทั่วถึงที่สุดเท่าทำได้ ด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เข้มข้น 0.05% ข้างต้น   หากมีข้อสงสัยใดๆ สามารถโทรสอบถามได้ที่..............โรงพยาบาลที่ท่านไปรับการรักษา หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422...   อ้างอิงจาก : ที่มากรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ว่ายน้ำในสระจะเสี่ยงติด COVID-19 หรือไม่ ?

การว่ายน้ำในสระ ไม่ทำให้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา( COVID -19) ได้ เนื่องจากสระว่ายน้ำจะมีระบบการฆ่าเชื้อเพื่อทำความสะอาดสระอยู่แล้ว เช่น ใส่คลอรีน เกลือ หรือ UV  จึงปลอดภัย แต่ควรระวัง เรื่องพื้นที่สาธารณะ ล็อกเกอร์เก็บของ พื้นที่ส่วนกลาง สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ  ที่ใช้ร่วมกัน และถ้าหากว่ายน้ำสระเดียวกันกับคนติดเชื้อ และไปอยู่ใกล้ตอนที่ไอหรือจาม ก็สามารถมีโอกาสติดเชื้อได้ ทางที่ดีผู้ที่รู้ตัวว่าตัวเองป่วยหรือมีอาการป่วยเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในสระจะดีที่สุด  หรือหากใครที่ต้องการให้ลูกหลานเล่นน้ำคลายร้อนในช่วงนี้ แนะนำซื้อสระว่ายน้ำสำเร็จรูป มาใช้ให้คลายร้อนกันไปก่อน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องออกจากบ้าน ลดความเสี่ยง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ดีกว่า       อ้างอิง  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข / องค์การอนามัยโลก

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

4 คำถามยอดฮิต กับการรับวัคซีนของลูกน้อย ช่วง COVID-19

1.จำเป็นไหมต้องมารับวัคซีนพื้นฐานเด็กในช่วงนี้ จำเป็นในด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กเล็กโดยเฉพาะแรกเกิดถึง 1ปี  เพราะนอกจากโรค COVID-19 แล้วก็ยังมีโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่เด็กมีความเสี่ยงจะป่วยและมีอาการรุนแรง ดังนั้นการเลื่อนการรับวัคซีนจะส่งผลให้เด็กพลาดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่จำเป็น รวมถึงพลาดรับวัคซีนบางชนิดที่มีระยะเวลาจำกัด 2.สถานบริการมีการเตรียมการรับมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 อย่างไร -มีการนัดหมายวันเวลาเพื่อเข้ามารับวัคซีน -มีการแยกพื้นที่โซนวัคซีนอย่างชัดเจน  -มีมาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสม อาทิ การทำความสะอาดสถานที่โดยเฉพาะพื้นผิวสัมผัสที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ 3.เตรียมตัวให้พร้อมอย่างไรเมื่อต้องเดินทางมารับวัคซีน - ทุนคนควรสวมหน้ากากอนามัย สำหรับเด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป ควรมีผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด  - สำหรับวัยทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน ไม่สนับสนุนให้มีการใส่หน้ากากอนามัย (Face Mask) หรือ Face Shield ให้ใช้ผ้าคลุมป้อนนมคลุมลูกน้อยก็เพียงพอแล้ว - สอนลูกให้ระมัดระวังตัวไม่เอามือไปสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น และไม่เอามือป้ายหน้า - พกแอลกอฮอล์เจลเพื่อล้างมือได้บ่อย ๆ เท่าที่ต้องการ   - เว้นระยะห่างทางสังคม -นำสมุดวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง 4.ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ควรฉีดเพื่อลดโอกาสการป่วยที่มีอาการและอาการแสดงคล้ายกับการติดเชื้อ SARS-CoV2 (Influenza-like illness)จะได้ไม่ถูกกักตัวและติดตาม แม้วัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการติดโรค COVID-19    สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วัคซีนเด็ก 0-2561-1111 ต่อ 4201-2         ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์กุมารเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

6 เหตุผล ทำไมลูกน้อยควรได้รับ วัคซีนตรงตามเวลา

1.ช่วงเวลาการรับวัคซีนที่ตรงตามวัย  อ้างอิงจากตารางการรับวัคซีน ที่แนะนำ เช่น CDC การให้วัคซีนถูกกำหนดตามช่วงอายุ และระยะเวลาที่ร่างกายสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้อย่างเหมาะสม 2.ป้องกัน และลดโอกาสการเกิดโรค การรับวัคซีนล่าช้าอาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการเป็นโรค การรับวัคซีนตามกำหนดเวลา ช่วยปกป้องลูกน้อยจากโรค ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในเด็กเล็ก 3.เพื่อให้ภูมิคุ้มกันขั้นสูง พอที่จะป้องกันโรคได้ทัน  ลูกน้อยต้องการระยะเวลาหนึ่งที่วัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคที่อาจจะเกิดขึ้น และวัคซีนบางชนิดจำเป็นต้องได้รับหลายเข็ม ดังนั้นไม่ควรรอหรือเลื่อนการฉีดวัคซีน 4.การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ ลูกต้องได้รับวัคซีนครบทั้งปริมาณและตามเวลา วัคซีนบางชนิดต้องการการกระตุ้นหรือรับวัคซีนมากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่สูงพอที่จะปกป้องลูกน้อย เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป 5. การป้องกันในระยะยาว  แม้นมแม่ให้ภูมิคุ้มกันที่มีประโยชน์ แต่ไม่ได้ป้องกันเด็กจากโรค ฉะนั้นการฉีดวัคซีนถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันโรคต่าง ๆ ในระยะยาว จากโรคที่ป้องกันได้ 6.การแพร่กระจายของโรค  เด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลา ไม่เพียงแต่มีความเสี่ยงที่จะป่วยเอง แต่ยังสามารถแพร่กระจายความเจ็บป่วยไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้นลูกน้อยต้องควรได้รับวัคซีนตรงเวลาเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปยังผู้ป่วย   ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี ศูนย์วัคซีนเด็ก โทร 0-2561-1111 ต่อ 4201-2

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปัญหาของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะตัวเหลือง หายใจลำบาก ต้องทำอย่างไร

การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด         ทารกคลอดก่อนกำหนด คือ ทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทารกคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรน่าเป็นห่วงมากนัก  เพียงแต่ต้องดูแลใกล้ชิดและตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะทารกจะต้องปรับร่างกายสู่โลกภายนอกมากกว่าทารกที่คลอดตามกำหนดปกติ  คือทารกที่คลอดก่อนกำหนดมากหรือน้ำหนักตัวน้อยมาก เช่น ทารกคลอดอายุครรภ์ประมาณ 32-33 สัปดาห์  หรือน้ำหนักตัวตอนแรกเกิดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม  ซึ่งจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของระยะการตั้งครรภ์ที่น้อยลง      อย่างไรก็ตามทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการล่าช้าบ้าง  เพราระบบสมองของทารกจะเจริญเร็วที่สุดในช่วง 6-7 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์  แต่เมื่อทารกคลอดก่อนช่วงเวลานี้จึงทำให้สมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่มากนัก  ซึ่งแพทย์จะคอยตรวจเช็คพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอ  เช่น การได้ยินและการมองเห็น  ส่วนการส่งเสริมพัฒนาการนั้น  คุณพ่อคุณแม่อาจกระตุ้นลูกด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ การพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ การใช้สีและแสงอย่างเหมาะสมด้วย   ปัญหาของทารกที่คลอดก่อนกำหนด   - ตัวเย็น เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะตัวเล็กและตัวเย็นได้ง่าย  จึงจำเป็นต้องคอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น  โดยอาจจะใช้ตู้อบเป็นเครื่องมือหลักในการกำหนดอุณหภูมิ   - หายใจลำบาก ทารกคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักน้อย  เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักตัวแรกคลอดเพียง 1 กิโลกรัม  มักจะมีปัญหาการหายใจ  และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจช่วย  เพราะปอดยังทำงานได้ไม่เต็มที่   - ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนดทำให้ทารกตัวเย็นได้ง่าย  จึงต้องดึงเอาสารสะสมที่เก็บไว้เป็นพลังงานมาสร้างอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับ 37๐C ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงได้   - ติดเชื้อได้ง่าย ภูมิคุ้มกันของทารกนั้นมักจะได้จากแม่ในช่วงระยะท้ายของการตั้งครรภ์  ทารกคลอดก่อนกำหนดจึงมีโอกาสติเชื้อมากกว่าทารกปกติถึง 4 เท่า   - ตัวเหลือง เนื่องจากการทำงานของตับในทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่สมบูรณ์  ทำให้ทารกมีอาการตัวเหลืองนานกว่าทารกที่คลอดตามกำหนด  และอาการตัวเหลืองนี้จะพบมากโดยเฉพาะในคนเอเชีย   - การดูดกลืน ร่างกายของทารกยังทำงานประสารการดูดกลืนและการหายใจไม่ค่อยดี  ทำให้มีโอกาสสำลักนมได้บ่อย ๆ    - น้ำคั่งในสมอง ส่วนใหญ่ก็จะหายไปเองได้  แต่อาจมีทารกบางกลุ่มที่เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ หัวจะดูโตกว่าคนอื่นนิดหน่อย เพราะถุงน้ำในสมองจะใหญ่กว่าคนปกติ  แต่ไม่มีปัญหาด้านพัฒนาการ   - ลำไส้เน่าตายอย่างเฉียบพลัน ลำไส้ทารกคลอดก่อนกำหนดอาจเน่าขึ้นมาโดยไม่มีทางป้องกัน  และเกิดได้โดยไม่ทราบสาเหตุ  สามารถแสดงอาการได้หลายประเภท  เช่น  ลำไส้ขาดเลือดชั่วคราว  ลำไส้ตายแต่ไม่ทะลุ  และลำไส้ทะลุ   ข้อแนะนำในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดที่บ้าน   1. ควรจัดสถานที่สภาพแวดล้อมสะอาด  โปร่ง  ไม่อับมีอากาศถ่ายเทสะดวก  พ้นจากเสียงรบกวนต่าง ๆ    2. คุณแม่ควรให้นมลูกบ่อย ๆ เนื่องจากทารกมักมีอาการอยากนอนอยู่ตลอดเวลา  ควรปลุกให้ลูกดูดนมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมแม่ได้อย่างเต็มที่  เพื่อการพัฒนาร่างกายที่สมบูรณ์   3. ระบบการย่อยและการดูดซึมของทารกยังมีน้อยมากเมื่อรับนมแม่เสร็จ  คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยไม่ให้สำรอกนมหรือแหวะนม  หรืออาเจียน  โดยการจัดท่าให้ลูกน้อยเรอออกได้โดยง่าย  ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องอืดได้ด้วย   4. ดูแลให้ลูกอบอุ่นอยู่เสมอ  เนื่องจากเด็กจะมีภาวะตัวเย็นได้ง่าย  ซึ่งจะมีผลทำให้ลูกไม่สบายบ่อย  หากลูกมีอาการตัวร้อน  มีน้ำมูก หรือมีเสมหะ  คุณแม่ต้องรีบพาลูกน้อยไปโรงพยาบาลด่วน   5. คุณแม่อาจจะกระตุ้นพัฒนาการของลูกโดยการเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ หรือแขวนกรุ๊งกริ๊งไว้ให้ลูกน้อยมอง  หรืออยากไขว่คว้า  เนื่องจากเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดประมาณ 2-3 เดือน  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ  ด้วย   6. ไม่ควรนำทารกไปในที่ที่มีผู้คนแออัด  อากาศถ่ายเทไม่ดีก่อนสัมผัสหรืออุ้มลูกน้อย  คุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง  รวมทั้งรักษาความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก  เพราะเชื้อโรคต่าง ๆ อาจแฝงมากับของเยี่ยมที่ญาติ ๆ นำมา  คุณแม่ไม่ควรนำมาไว้ในห้องเดียวกับที่ลูกอยู่   7. หากลูกน้อยมีอาการถ่ายเหลว  ถ่ายเป็นมูก  หรือมีความผิดปกติทางด้านผิวหนัง  อาจมีตุ่มพุพองโดยไม่ทราบสาเหตุ  หรือผิวหนังแห้ง  ลูกไม่ยอมดูดนม หรือน้ำ  คุณแม่ควรพาไปโรงพยาบาลเพื่อให้กุมารแพทย์ตรวจวินิจฉัยอีกครั้ง   8. เมื่อครบกำหนดตรวจสุขภาพของลูกน้อย  คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ให้ตรงเวลา  และสม่ำเสมอ  เพื่อการติดตามที่ต่อเนื่องของคุณหมอ  ซึ่งหากมีความผิดปกใด ๆ เกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที   9. เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ  คุณแม่ควรบอกกล่าวกับญาติ ๆ หรือคนอื่น ๆ ที่จะเข้าเยี่ยมลูกน้อย  หรืออยากมาอุ้มว่าลูกของคุณแม่ไม่เหมือนกับเด็กที่คลอดตามกำหนดซึ่งลูกของคุณอาจจะได้รับเชื้อจากผู้ที่มาเยี่ยมได้ง่าย  เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดี   ซึ่งหากคุณแม่มีลูกอีกคนที่อยู่ในวัยกำลังซนด้วยแล้ว  ยิ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้เนื่องจากลูกอีกคนที่วัยกำลังซน  ยังไม่เข้าใจสภาวะที่น้องเกิดใหม่  คุณแม่ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก             ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เรื่องที่ผู้หญิงควรรู้ “มะเร็งรังไข่” หากคุณเป็นหนึ่งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อาทิ มีกรรมพันธุ์, อายุมาก, โสดหรือไม่เคยมีบุตร

 มะเร็งรังไข่   มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับห้าของมะเร็งที่พบในสุภาพสตรี และอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับสี่ เนื้องอกของรังไข่ เนื้องอกของรังไข่แบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ 2 ชนิด คือ เนื้องอกที่ธรรมดา หรือที่เรียกว่า Benign Tumor เนื้องอกชนิดนี้ จะไม่แพร่กระจาย การรักษาทำได้ง่าย ผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกก็หาย เนื้อมะเร็ง Malignant เนื้องอกชนิดนี้อาจจะเรียกเนื้อร้ายหรือมะเร็ง หากวินิจฉัยได้ช้าเนื้อร้ายจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น   ชนิดของมะเร็ง   มะเร็งรังไข่จะเกิดเซลที่เป็นส่วนประกอบของรังไข่ Epithelial Tumor เป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลผิวของรังไข่เนื้องอกส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเซลชนิดนี้ Germ Cell Tumor เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลที่ผลิตไข่ Stroma Tumor เป็นเนื้องอกที่เกิดเซลเนื้อเยื่อเกี่ยวพันซึ่งสร้างฮอร์โมนเพศ Estrogen และ Progesteron   สาเหตุของมะเร็งรังไข่   ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งรังไข่ แต่พบว่ามีความถี่ของการเกิด มะเร็งในคนที่โสดมากกว่าคนที่เคยมีบุตร และมักพบมากในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป จะเกิดตอนวัยทองคนที่มีปัจจัยเสี่ยงมา มิได้หมายความ เขาจะเป็นมะเร็ง แต่เขามีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าคนอื่น ปัจจัยเกี่ยวข้อง คือ   1.พันธุกรรม ท่านที่มีญาติเป็นมะเร็ง ก็กังวลว่าท่านจะมีพันธุกรรมของ •          มะเร็งหรือไม่ ให้ท่านไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพันธุกรรมเพื่อชักประวัติ •          เกี่ยวกับโรคมะเร็งในครอบครัว หากพบว่าท่านมีความเสี่ยง แพทย์จะแนะนำ •          ท่านตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งระยะเริ่มแรก ความเสี่ยงทางพันธุกรรมได้แก่ •          ญาติสายตรงของท่าน (แม่หรือพี่สาว หรือน้องสาว) เป็นมะเร็งรังไข่ 2 คน •          ญาติสายตรงคนหนึ่งเป็นมะเร็งรังไข่ อีกคนเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเกิดก่อน •          อายุ 50 ปี •          ญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่ และประวัติคนในครอบครัว 2 คน เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 60 ปี •          คนในครอบครัว 3 คน เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (หนึ่งคนเป็นก่อนอายุ 50 ปี)  และมีคนในครอบครัวคนหนึ่งเป็นมะเร็งรังไข่   2.อายุ อายุมากจะเสี่ยงต่อการเกิดมาก โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปี   3.ผู้หญิงที่มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 12 ปี และไม่ได้ตั้งครรภ์ และเกิดหมดประจำเดือนหลังอายุ 50 ปี จะเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง   4.การตั้งครรภ์ พบว่าผู้ที่ไม่เคยมีบุตรจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงกว่าคนที่เคยมีบุตร   5.ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่   6.ยากระตุ้นให้ไข่ตก ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค แต่ต้องกินต่อเนื่องนานเกิน 12 เดือน   7.หลายการศึกษาพบว่า การใช้แป้งบริเวณอวัยวะเพศเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ แต่แป้งสมัยก่อนอาจจะมีสารปนเปื้อน หากท่านมีประวัติเหมือนตัวอย่างข้างต้น ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อคัดกรองโรค หลายท่านที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดมะเร็งรังไข่อยากจะตัดรังไข่ทิ้ง ท่านต้อง ปรึกษาแพทย์พิจารณาถึงผลดีและผลเสียของการผ่าตัด   การค้นหามะเร็งแรกเริ่ม         โรคมะเร็งทุกชนิด จะเหมือนกันยิ่งพบเร็วการรักษาก็จะได้ผลดี มะเร็งรังไข่ก็เช่นกัน แต่มะเร็งรังไข่มักจะวินิจฉัยได้ช้าเนื่องจากอยู่ภายในช่องท้อง และมักจะไม่มีอาการในระยะแรกของโรค ผู้ป่วยร้อยละ 25 จะวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ได้ก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจาย การค้นพบแรกเริ่มจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด วิธีการค้นหามะเร็งแรกเริ่มได้แก่   -การตรวจภายในประจำปี การตรวจภายในจะค้นหามะเร็งปากมดลูก แต่ไม่สามารถตรวจมะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกได้ มักจะพบมะเร็งรังไข่ในระยะท้ายของโรค แต่การตรวจภายในก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องตรวจเป็นประจำ มีคำแนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุมากว่า 18 ปี   -พบแพทย์เมื่อมีอาการ อาการที่ควรจะพบแพทย์โดยเร็วได้แก่ ท้องบวม แน่นท้อง เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ แน่นท้องน้อย ปวดหลัง ปวดขา ปวดท้อง แน่นท้องโดยที่หาสาเหตุไม่ได้   -การเจาะเลือดหรือการตรวจพิเศษ การตรวจ Ultrasound ผ่านทางช่องคลอดจะช่วยพบก้อนในช่องเชิงกรานได้เร็วขึ้น การเจาะเลือดหา CA-125 ก็ยังไม่สามารถบอกมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ จึงไม่แนะนำการตรวจพิเศษทั้งสองแก่คนทั่วไป   -เจาะเลือดตรวจหา  CA-125  ซึ่งหากเป็นมะเร็งค่านี้จะสูง แต่ก็พบว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งค่านี้สูงไม่มาก   -การทำ Ultrasound ผ่านทางช่องคลอด ซึ่งจะใช้เครื่อง Ultrasound สอดเข้าไปในช่องคลอดซึ่งจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับวัตถุ คลื่นเสียงจะสะท้อนกลับเครื่องจะแปลงคลื่นเสียงเป็นสัญญาณภาพระหว่างการตรวจไม่มีความเจ็บปวด   อาการของมะเร็งรังไข่   มะเร็งรังไข่ในระยะแรกเริ่มมักจะไม่มีอาการ แต่จะมีอาการในระยะท้ายของโรคอาการที่พบได้   -แน่นท้อง อึดอัดท้อง (บางรายสงสัยว่ามีก๊าซในท้อง) -คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย -เบื่ออาหาร -รู้สึกแน่นท้องหลังจากรับประทานอาหาร -น้ำหนักขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ -เลือดออกช่องคลอด   การรักษา โรคมะเร็งรังไข่มีหลายวิธีขึ้นกับระยะของโรค สภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบไปด้วยแพทย์หลายแผนก เช่น สูติ-นรีแพทย์ แพทย์ทางรังสีรักษา แพทย์ทางเคมีบำบัด การรักษาโดยการผ่าตัดและเหตุผลของการผ่าตัด   การผ่าตัดผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งรังไข่มีเหตุผล คือ   1.ผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัยโรค โดยแพทย์จะผ่าเข้าไปดูเนื้องอกและตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจ   2.ผ่าตัดเพื่อบอกระยะของโรคโดยแพทย์จะผ่าดูเนื้องอกลุกลามแค่ไหนและตัดต่อมน้ำเหลือง   3.ผ่าเพื่อการรักษา      แพทย์จะผ่าตัดเอา มดลูก ท่อรังไข่ รังไข่ออก เรียกการผ่าตัดว่าHysterectomy  With  Bilateral  Salpingo-Oophorectomy  และตัดต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ ระหว่างผ่าแพทย์จะส่งชิ้นเนื้อของต่อมน้ำเหลืองและน้ำในช่องท้องไปตรวจเพื่อจะได้ทราบระยะของโรค หากพบว่ามะเร็งเริ่มแพร่กระจายในท้อง แพทย์จะผ่าเอาส่วนที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งออกให้มากที่สุด เพื่อที่จะให้การรักษาด้วยรังสีหรือเคมีได้ผลดีขึ้น     ผลเสียของการรักษา โดยการผ่าตัดระยะแรก ก็อาจจะปวดแผลบ้างแต่ก็บรรเทาโดยยาแก้ปวด ในระยะต่อมาเมื่อรังไข่ถูกตัดก็ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศ (Estrogen, Progesterone) ก็ทำให้ช่องคลอดแห้ง ร้อนตามตัวเกิดอาการของคนวัยทอง   เคมีบำบัด คือการให้ยาเพื่อทำลายเซลมะเร็ง ซึ่งยานี้ก็มีผลต่อเซลปกติของร่างกายมีด้วยกัน 2 วิธี คือ   1.การให้เคมีหลังการผ่าตัดเราเรียกว่า Adjuvant Chemotherapyจะให้ยา 4-6 ครั้งใช้เวลา 3-6 เดือน แพทย์จะพิจารณาให้ในกรณีที่แพทย์คิดว่าผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกไม่หมด หรือการผ่าตัดนั้นยาก   2.ให้เคมีก่อนการผ่าตัด Neo-Adjuvant Chemotherapy แพทย์คิดว่าเนื้อร้ายก้อนใหญ่ผ่าตัดยากหรือผ่าออกไม่หมด แพทย์จะให้เคมีเพื่อก้อนเนื้อจะได้มีขนาดเล็กลง   ยาเคมีมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีดซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชนิดฉีด แต่ก็มีการให้ยาเคมีเข้าช่องท้องซึ่งอยู่ในช่วงการทดลอง หลังจากเคมีบำบัดแพทย์อาจจะผ่าเข้าช่องท้อง เพื่อดูว่ามะเร็งถูกทำลายมากน้อยแค่ไหนหากมีมะเร็งหลงเหลือแพทย์จะผ่าตัดเอามะเร็งส่วนที่เหลือออก ผลเสียของการรักษาด้วยวิธีนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยา และปริมาณยา ผลข้างเคียงที่พบได้คือ คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง เบื่ออาหาร ผมร่วง   การฉายแสง แพทย์จะใช้รังสีฉายไปยังส่วนที่เป็นมะเร็งเพื่อทำลายมะเร็ง ผลเสียคือ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ปัสสาวะลำบาก การให้รังสีรักษามีสองวิธีคือ   1.การให้รังสีจากเครื่องที่อยู่ภายนอกร่างกาย External Besm Radiation Therapy โดยจะให้รังสีสัปดาห์ละ5วัน   2.Brachytherapy คือการฝังสารที่ให้รังสีใกล้กับมะเร็งเพื่อให้รังสีทำลายเซลมะเร็ง แต่ปัจจุบัน ไม่นิยมใช้รังสีในการรักษามะเร็งรังไข่          ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ทางเลือกใหม่ของคุณผู้หญิงกับผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช แผลเล็ก พักฟื้นเร็ว

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช Laparoscopic Surgery in Gynecology   เป็นการผ่าตัดที่มุ่งรักษาความผิดปกติของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี ไม่ว่าจะเป็นมดลูก ท่อนำไข่หรือรังไข่ รวมทั้งอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น โดยการใช้กล้องที่มีกำลังขยายภาพประมาณ 10-20 เท่า ใส่ผ่านเข้าไปในช่องท้อง ทำให้แพทย์ผู้ผ่าตัดเห็นรอยโรคและอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจนมากขึ้น และใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ5 มิลลิเมตร เข้าไปทำการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องขนาด 5-10 มิลลิเมตร ประมาณ 3-4 แผล   ภาวะที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช   1.ผู้ป่วยที่มีประจำเดือนผิดปกติ ที่เกิดจากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกมีการหนาตัว   2.ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยจากถุงน้ำรังไข่ พังผืดในช่องท้อง   3.ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือนจากช๊อกโกแลตซีสต์   4.การตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก   5.อื่นๆ เช่น การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก การทำหมัน การฉีดสีตรวจดูท่อนำไข่   ข้อห้ามสำหรับการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช 1.ผู้ป่วยมีภาวะโรคหัวใจหรือโรคปอดชนิดรุนแรง   2.ผู้ป่วยมีภาวะไส้เลือนกระบังลม   สภาพหลังผ่าตัด สภาพผู้ป่วยหลังผ่าตัด จะมีสายน้ำเกลือที่แขนใดข้างหนึ่ง มีแผลผ่าตัดเล็กๆ 3-4 แผลอาจมีอาการเจ็บหรือระคายคอ เนื่องจากใส่ท่อช่วยหายใจในช่วงดมยาสลบได้   การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด 1.หลังผ่าตัดควรพลิกตะแคงตัว และเคลื่อนไหวร่างกายบนเตียง ภายหลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง ควรลุกนั่ง และเดินโดยเร็ว เพื่อให้ฟื้นตัวไว ลดการเกิดอาการท้องอืด หรือภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เช่น การเกิดพังผืดในช่องท้อง   2. ถ้ามีอาการปวดแผลผ่าตัด ควรแจ้งให้พยาบาลทราบ เพื่อให้ยาบรรเทาอาการปวด   3.ถ้ามีอาการจุกเสียดแน่นบริเวณลิ้นปี่ร้าวไปที่ไหล่ ให้นอนพักบนเตียง อาการจะค่อยๆทุเลาลง   4.ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน (จากผลข้างเคียงของยาสลบ) ควรแจ้งพยาบาลทราบ เพื่อให้ยาแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน   5. อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้ไม่มาก ควรใส่ผ้าอนามัยไว้   6. หลังผ่าตัดควรปัสสาวะเอง ถ้าปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะไม่สะดวกควรแจ้งพยาบาล   การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน   1.ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงร่างกาย ควรรับประทานผักและผลไม้ เพื่อช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก   2. การอาบน้ำสามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรสังเกตหลังอาบน้ำ ว่าพลาสเตอร์ปิดแผลมีการลอกหรือน้ำซึมเข้าแผลผ่าตัดหรือไม่   3.งดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการตรวจจากแพทย์ว่าแผลหายเรียบร้อยดี   4. ในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัดควรงดยกของหนักหรือออกแรงเบ่งมากๆ งดออกกำลังกาย แต่สามารถเดินขึ้นลงบันไดได้ ระยะหลังผ่าตัด 7-10 วัน ถ้าไม่มีอาการปวดแผลสามารถทำงานและออกกำลังได้ตามปกติ   5. ถ้ามีอาการผิดปกติต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด   อาการผิดปกติที่ควรกลับมาพบแพทย์ 1.แผลผ่าตัดอักเสบ บวมแดง มีหนอง   2. มีไข้สูงติดต่อกัน 2-3 วัน   3. ปวดท้องมาก หลังรับประทานอาหารแล้วอาเจียนทุกครั้ง   4. มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก กรณีผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ออกผ่านทางกล้องอาจมีอาการของคนที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงได้ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ใจสั่น หงุดหงิด ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อได้ ควรแจ้งแพทย์ทราบเพื่อพิจารณาการให้ฮอร์โมนทดแทน+              ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

11 เรื่องของซีสต์กับผู้หญิงที่ควรรู้

 ซีสต์ สารพันเรื่องของผู้หญิง         ซีสต์ เกิดจากเนื้องอกของผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นถุง ซึ่งมีไขมัน เซลหนังกำพร้า เส้นผมหรือต่อมเหงื่อ หรือสารคัดหลั่งของร่างกายบรรจุอยู่ภายในโครงสร้างที่เป็นผนังของซีสต์ก็คือ ส่วนประกอบของผิวหนัง เช่น รูขุมขน ท่อของต่อมไขมัน หรือต่อมเหงื่อ ซึ่งพองตัวเป็นถุง เนื่องจากมีการอุดตันของรูเปิดของต่อมต่างๆเหล่านี้ หรือ การฝังตัวของเซลล์ผิวหนังเข้าไปในชั้นหนังแท้ ซึ่งเกิดขึ้นตามหลังจากที่ผิวหนังถูกทิ่มแทง เป็นแผล หรือเกิดขึ้นในระหว่างขั้นตอนการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยซีสต์ที่เกิดจากกลไกประการหลังนี้ จะป็นซีสต์ที่เป็นตั้งแต่กำเนิด   ซีสต์มีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะต่างกันอย่างไร   สามารถจำแจกซีสต์ที่เกิดขึ้น บนผิวหนังตามลักษณะตำแหน่งที่เกิด และส่วนประกอบของซีสต์ ออกเป็นชนิดต่างๆ ซีสต์ที่มีผนังซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายผิวหนัง ได้แก่ Epidermal Cyst, Milium, Steatocystoma Multiplex, Vellus Hair Cyst และ Dermoid Cyst ซีสต์ที่มีผิวหนังเป็นต่อมเหงื่อ ได้แก่ Apocrine และ Eccrine Hidrocystoma   Epidermal Cyst    เป็นซีสต์ที่พบบ่อยที่สุด โดยเป็นซีสต์ ที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง ที่เป็นส่วนประกอบของรูขุมขน โดยมี Keratin ซึ่งมีส่วนประกอบเหมือนขี้ไคลบรรจุอยู่ภายในซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะ เป็นก้อนกลมๆ ขนาดแตกต่างกัน สีเดียวกับผิวหนังซึ่งยึดติดอยู่กับผิวหนังด้านบน แต่ไม่ติดกับเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ซีสต์และอาจมีรูเปิดที่ผิวหนังในส่วนที่ซีสต์ยึดติดอยู่ ซึ่งเมื่อเราดึงผิวหนังให้ตึงจะพบรอยบุ๋มเกิดขึ้นบนซีสต์ในตำแหน่งนี้ และพบสารสีขาวๆ คล้ายสังขยาไหลออกมาเมื่อเราบีบซีสต์ แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยซีสต์ เนื่องจากการบีบซีสต์อาจทำให้ซีสต์มีการอักเสบ เจ็บและบวมแดงขึ้นได้ Epidermal Cyst จะมีขนาดแตกต่างกันไป เป็นกันได้ในทุกเพศทุกวัยและทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยคือ ที่ใบหน้า คอ หน้าอก และหลังส่วนบน   Milium   หรือสิวข้าวสาร เป็นซีสต์ที่มีผนังและส่วนประกอบเหมือน Epidermal Cyst แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวคล้ายสิว ซึ่งอยู่ตื้นและมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ1-2  มม. ซีสต์ชนิดนี้ พบได้ทุกอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงวัยชรา เป็นได้เท่าเทียมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ทั่วทั้งตัว แต่จะพบบ่อยบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จมูกในทารกแรกเกิด และที่หนังตาและแก้มในเด็ก นอกจากนี้ Milium ยังมักเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังเคยถูกทำลายมาก่อน เช่นในบริเวณที่ ผิวหนังเคยเป็นแผลถลอก หรือเกิดขึ้นหลังการขัดหน้า เกิดขึ้นหลังจากได้รับการฉายรังสีหรือตากแดดจนไหม้ หรือหลังจากเป็นโรคผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำพองใส หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่เคยทายาสเตียรอยด์อยู่นานๆ ส่วนใหญ่เมื่อผิวหนังมีการสมานแผลภายหลังการที่ผิวถูกทำลายด้วยลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจมี สิวข้าวสารขึ้นได้ Steatocystoma Multiplex   เป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นที่ท่อของต่อมไขมัน (Sebaceous Duct) ผนังของซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับซีสต์ชนิดแรกคือ Epidermal Cyst แต่สารที่บรรจุภายในซีสต์ไม่ใช่ Keratin แต่เป็นไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน ซีสต์ชนิดนี้มักจะพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย มีลักษณะเป็นตุ่มใต้ผิวหนังขนาดแตกต่างกันแต่มักไม่เกิน 5 ซม.  ซึ่งพบได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยบริเวณกลางหน้าอก ต้นแขนและต้นขา ถ้าซีสต์ประเภทนี้อยู่ตื้นจะมองเห็นเป็นตุ่มสีเหลืองๆ แต่ถ้าซีสต์อยู่ลึกจะเห็นเป็นตุ่มสีเดียวกับผิวหนัง ลักษณะสำคัญของซีสต์ประเภทนี้ก็คือ ถ้าใช้เข็มเจาะซีสต์จะมีน้ำมันสีเหลืองคล้ายเนยเหลวๆ ไหลออกมา ซีสต์ประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันหลายๆตุ่ม   Vellus Hair Cyst   เป็นซีสต์ขนาดเล็กซึ่งมีผนังและสารที่บรรจุอยู่ในซีสต์คล้ายกับ Epidermal Cyst และ Steatocystoma Multiplex แต่มีเส้นผมขนาดเล็ก (Vellus Hair) บรรจุอยู่ภายในซีสต์ด้วย ทำให้        ซีสต์มีลักษณะเป็นตุ่มสีคล้ำ ซีสต์ชนิดนี้มักเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ ตุ่มทั่วร่างกายและ    Dermoid Cyst   เป็นซีสต์ที่พบไม่บ่อย ซีสต์ชนิดนี้มักเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือวัยเด็ก และเป็นซีสต์ที่มีส่วนประกอบเหมือนผิวหนังมากที่สุด โดยผนังของซีสต์ประกอบด้วยเซลผิวหนัง เส้นผม ต่อมเหงื่อและต่อมไขมัน ลักษณะของซีสต์เป็นก้อนกลมใต้ผิวหนัง ขนาดประมาณ1-4 ซม. ซึ่งอาจมีปอยผมงอกออกมาจากซีสต์ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณหางคิ้ว จมูก และหนังศีรษะ ซีสต์ชนิดนี้ถ้าเป็นบริเวณกึ่งกลางของร่างกาย เช่น จมูก และศีรษะบริเวณท้ายทอยอาจมีทางเปิดติดต่อกับสมอง เนื่องจากผนังของซีสตืประกอบด้วยเซลผิวหนัง จึงมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เช่นเดียวกับผิวหนังทั่วๆไป แต่อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็ง จากซีสต์ต่ำมาก จนไม่จำเป็นต้องกังวลจนกลัดกลุ้ม โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากซีสต์ ส่วนใหญ่จึวเป็นการอักเสบและการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่ซีสต์แตก จากการถูกเจาะหรือบีบซีสต์ หรือการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกเสียดสีบ่อยๆ ทำให้สารที่บรรจุอยู่ในซีสต์เล็ดลอดออกมากระตุ้นให้ร่างกายเกิดขบวนการอักเสบ และเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนัง แทรกซึมเข้าไปเจริญเติบโตในซีสต์ ทำให้ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น แดงและเจ็บ สำหรับ Dermoid Cyst นั้นนอกจากจะมีโอกาสเกิดการอักเสบและติดเชื้อ เช่นเดียวกับซีสต์ชนิดอื่นๆ แล้ว ในกรณีที่ซีสต์มีทางเปิดติดต่อกับสมอง การติดเชื้อที่ซีสต์จึงอาจลุกลามเข้าไปในสมอง เกิดเป็นฝีในสมองได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหนไม่ควร เจาะ แคะ แกะ เกาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว   การรักษา   เนื่องจากซีสต์เป็นเนื้องอกที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อย จึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดออก แต่ควรผ่าตัดเอาซีสต์ออกในกรณีที่ซีสต์นั้นมีการอักเสบติดเชื้อบ่อยๆ หรือมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบติดเชื้อ จากการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการเสียดสีบ่อยๆ สำหรับซีสต์ที่มีขนาดเล็กและอยู่ตื้น เช่น Milium อาจให้การรักษาด้วยการเจาะและใช้เครื่องมือสำหรับกดสิว กดเอาสารที่บรรจุอยู่ใรซีสต์ออก ส่วนการรักษา ซีสต์ชนิดอื่นก็ทำได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนซีสต์ออกส่วน Steatocystoma นั้น เนื่องจากสารที่อยู่ในซีสต์เป็นน้ำมัน จึงอาจรักษาได้ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำมันที่บรรจุอยู่ในซีสต์ และลอกเอาผนังของซีสต์ออก ในกรณีที่ซีสต์มีการอักเสบติดเชื้อ ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าซีสต์เพื่อระบายหนองออก สำหรับ Dermoid Cyst ที่อยู่ในตำแหน่งที่อาจมีทางเปิดติดต่อกับสมองนั้น ก่อนให้การรักษาแพทย์จะต้องทำการตรวจอย่างละเอียดร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนไว้ล่วงหน้า ซีสต์ เป็นเรื่องไม่น่าต้องกังวลมากนัก เพราะโอกาสกลายเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหน หรือถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป็นซีสต์ ก็ลองไปให้แพทย์ผิวหนังช่วยวินิจฉัยดูได้ เพื่อความสบายใจ สิ่งที่ต้องดูแลตัวเองให้ดีคืออย่ามือซนไปบีบ เจาะซีสต์เองเพราะสามารถทำให้ติดเชื้อ และเป็นแผลขึ้นมาได้                     ด้วยความปรารถนาดี ศูนย์สูตินรีเวช รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

การนอนสำคัญต่อสุขภาพ เพราะคิดเป็น 1 ใน 3 ของ 1 วัน เพื่อให้ร่างกายเร่งซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด

การนอนสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร  การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรา ร่างกายเรายอมสละเวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอน โดยในช่วงที่เราหลับนั้นร่างกายจะเข้าสู่สภาวะที่การรับรู้ของร่างกายแยกตัวออก และลดการตอบสนองจากสิ่งแวดล้อมชั่วคราว และในช่วงนี้เองหลาย ๆ ระบบในร่างกายจะมีการพักผ่อนเกิดขึ้น แต่บางระบบของร่างกายโดยเฉพาะสมองจะยังคงทำงานต่อเนื่อง โดยอาศัยการควบคุมจากสมดุลของสารสื่อประสาท ทำให้เกิดการหลับในระยะต่าง ๆ ได้แก่ หลับเงียบ (Non-rapid eye movement sleep; NREM) และ หลับฝัน (Rapid eye movement sleep; REM) นอกจากนี้ช่วงที่หลับยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่แตกต่างไปจากขณะตื่น ได้แก่ 1.เร่งซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุดและเร่งสร้างโปรตีนสำหรับนำไปใช้ในวันต่อไป (Restoration of tissue) 2.ควบคุมฮอร์โมนในร่างกายให้เป็นปกติ (Hormonal control) 3.พัฒนาระบบประสาท อารมณ์ ความจำ (Neural maturation, regulation of emotions and memory) 4.กำจัดโปรตีนผิดปกติออกจากสมอง (Protein misfolding clearance)    ปัญหาเกี่ยวกับการนอน ที่พบบ่อย 1.หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea) มี 2 ชนิด ได้แก่ หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive sleep apnea; OSA) และ หยุดหายใจขณะหลับจากระบบประสาทส่วนกลาง (Central sleep apnea; CSA) สำหรับ OSA คือภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ คอหอย โดยเฉพาะโคนลิ้นหย่อนไปปิดกั้นทางเดินหายใจในขณะหลับ ผู้ป่วยจะไม่สามารถหายใจได้ แม้จะพยายามหายใจก็ตาม ถ้ายังสามารถมีอากาศผ่านเข้าไปได้บ้าง เราอาจจะได้ยินเสียงกรน เมื่อขาดอากาศนานพอสมควร สมองจะสั่งให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ถึงขนาดรู้ตัว (Arousal) ส่วน CSA จะเกิดจากการที่สมองไม่สั่งการให้หายใจ เพราะฉะนั้นในช่วงที่หยุดหายใจจะไม่พบการขยับตัวเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจ การที่ผู้ป่วยต้องตื่นหลาย ๆ ครั้งเพื่อหายใจเช่นนี้ จะส่งผลให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม นอกจากนี้การที่สมองต้องตื่นตัวอยู่บ่อย ๆ ยังส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้ อันเนื่องมาจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ไม่ได้พักผ่อน และการที่มีช่วงพร่องออกซิเจนสลับกับช่วงได้รับออกซิเจน (Deoxygenation-reoxygenation) ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (oxygen free radical) จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบต่อไป   2.การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติขณะหลับ (Sleep related abnormal movement) และ นอนละเมอ (Parasomnia) ได้แก่ อาการขาอยู่ไม่สุก (Restless leg syndrome) ขากระตุกขณะหลับ (Periodic limb movement in sleep) นอนกัดฟัน (Bruxism) และ นอนละเมอ อาการขาอยู่ไม่สุก เป็นภาวะที่สร้างความทุกข์ให้กับผู้ป่วยค่อนข้างมาก โดยหลาย ๆ คนอาจบรรยายความรู้สึกนี้ลำบาก เช่น รู้สึกคันยุบยิบอยู่ข้างในขาแต่เกาแล้วไม่หาย รู้สึกชา ๆ อยากจะขยับขา หลังจากขยับขาจะรู้สึกดีขึ้นชั่วคราว มักเป็นช่วงขณะกำลังอยู่นิ่ง ๆ และก่อนนอน อาการนี้จึงมักรบกวนการนอนของผู้ป่วยอย่างมาก ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิด ส่งผลเสียต่อจิตใจอย่างมาก ภาวะนี้มักสัมพันธ์กับการพร่องธาตุเหล็กในสมอง ขากระตุกขณะหลับ เป็นภาวะที่พบว่าผู้ป่วยมีขากระตุกเป็นช่วง ๆ ขณะหลับไปแล้ว โดยผู้ป่วยมักไม่ทราบมาก่อน แต่การกระตุกของขาที่มากผิดปกติอาจรบกวนการนอนให้หลับไม่ลึกหรือไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ตื่นเช้าเหมือนนอนไม่พอ หากไม่ตรวจด้วยวิธีที่ถูกต้องก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีภาวะนี้ซ่อนอยู่ นอนกัดฟัน หลาย ๆ ครั้ง เวลาตื่นขึ้นมาตอนเช้า ผู้ที่มีภาวะนอนกัดฟันอาจมีอาการปวดกรามหรือขมับ หรือขากรรไกรค้าง นอกจากนี้คู่นอนอาจได้ยินเสียงกัดเน้นฟัน หรือเสียงถูฟันในขณะหลับ นอนละเมอ เช่น ละเมอเดิน (sleep walking) มักพบในช่วงวัยเด็ก แต่หากพบพ้นจากวัยเด็ก อาจต้องหาสาเหตุกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนั้น นอกจากนี้อาการละเมอที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายรุนแรง มีเนื้อหาตามความฝัน ทำให้ตัวผู้ป่วยหรือคนรอบข้างได้รับบาดเจ็บ (REM sleep behavior disorder; RBD) อาจเป็นอาการนำก่อนเป็นโรคความเสื่อมของสมอง เช่น พาร์กินสัน   3.ความผิดปกติของนาฬิกาชีวิต (Circadian rhythm disorder) นอกเหนือไปจากการนอนหลับที่เพียงพอและคุณภาพการนอนที่ดีแล้ว การนอนหลับตรงตามเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานมีประสิทธิภาพด้วย  อาการต้องสงสัยโรคจากการหลับ 1.นอนกรน 2.ตื่นไม่สดชื่นเหมือนนอนไม่พอ 3.ปวดศีรษะตอนเช้า 4.ขาดสมาธิ 5.ง่วงนอนระหว่างวันมาก หลับในที่สาธารณะ ที่ประชุม หรือระหว่างรอรถประจำทาง และที่ต้องระวังที่สุดคือขณะขับรถ 6.ต้องพึ่งกาแฟตลอดเวลาให้ตื่นตัว 7.นอนไม่หลับ หรือตื่นระหว่างคืนบ่อย   การตรวจวินิจฉัยโรคจากการหลับ การวินิจฉัยโรคจากการหลับ จะสามารถตรวจได้โดยวิธีมาตรฐานเรียกว่า Polysomnography เป็นการติดตั้งตัววัดการเปลี่ยนแปลงทางชีวสรีรวิทยาหลายอย่างไว้ตามร่างกายเพื่อติดตามการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างละเอียดตลอดเวลาในขณะที่นอนหลับ ประกอบด้วย คลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของลูกตา คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การตรวจการหายใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ท่านอน และบันทึกวิดีโอ (VDO) โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจการนอนหลับเฝ้าสังเกต ซึ่งจัดเป็นวิธีการตรวจมาตรฐาน นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องต่อไป    10 วิธีที่ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น (Sleep hygiene) 1.ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน ทั้งวันทำงานปกติและวันหยุด 2.ห้องนอนควรเงียบสงบ สบาย อุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มีเสียงหรือแสงรบกวนขณะหลับ 3.เตียงนอนมีไว้สำหรับนอน ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียง เช่น โทรศัพท์ กินอาหาร อ่านหนังสือ เป็นต้น (เป็นการฝึกให้ร่างกายสัมพันธ์กับเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ พอร่างกายอยู่บนเตียงนอนจะสามารถหลับได้อย่างรวดเร็ว) 4.หลีกเลี่ยงการงีบหลับตอนกลางวัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรงีบกลางวันเกิน 30 นาทีและหลังบ่าย 3 โมง 5.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต) แอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอาหารมื้อหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน 6.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน 7.หลีกเลี่ยงการมองแสงจ้า ๆ เช่น การเล่น smartphone หรือ tablet ก่อนเข้านอน (แสงโดยเฉพาะแสงสีน้ำเงินจะกดฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำให้หลับยาก) 8.หลีกเลี่ยงการมีอารมณ์ขุ่นเคือง ตื่นเต้นสนุกสนาน หวาดกลัว เช่น การโต้เถียง การดูภาพยนตร์ตื่นเต้นสยองขวัญก่อนเข้านอน 9.หากนอนไม่หลับภายใน 20 นาที ไม่ควรกังวล ไม่ควรมองนาฬิกา ควรลุกจากที่นอนเพื่อทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเตียงนอน เช่น นั่งอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือสวดมนต์ แล้วกลับมาที่เตียงนอนอีกครั้งเมื่อเริ่มง่วงนอนเท่านั้น 10.รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อยวันละ 30 นาที เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวควบคุมนาฬิกาชีวิตที่สำคัญ     ด้วยความปรารถนาดีจาก แผนกอายุรกรรม รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<