ข้อแนะนำในการฉีดวัคซีน COVID-19

ข้อแนะนำในการฉีดวัคซีน COVID-19 กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง จัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีสิทธิ์จะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด 19 ล็อตแรกในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ นอกจากเรื่องลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมจะเป็นที่สนใจกันส่วนใหญ่แล้ว เพื่อตอบคำถามผู้ที่มีข้อสงสัยและความกังวล และเพื่อผลการทำงานของวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด และลดความเสี่ยง ผลข้างเคียง รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน  จึงได้สรุปคำแนะนำในการฉีดวัคซีน COVID-19 ดังนี้   ก่อนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 - 2 วันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือ ยกน้ำหนัก และ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ - กรณีเจ็บป่วย ไม่สบาย ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน ต้องรักษาตัวให้ทุเลาก่อน อย่างน้อย 2 วัน ถึงจะทำการฉีดวัคซีนได้ - วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี   - งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 1 วัน - รับประทานอาหารประจำมื้อ   ระหว่างขณะเข้ารับวัคซีนโควิด-19 - เมื่อถึงวันนัดหมายควรไปถึงสถานที่ฉีดก่อนเวลาอย่างน้อย 30 นาที เตรียมบัตรประชาชน ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลการลงทะเบียนผ่านไลน์ “หมอพร้อม” ในโทรศัพท์มือถือ - รักษามาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง พกแอลกอฮอล์เจล การแต่งกาย สวมเสื้อที่สะดวกต่อการฉีดวัคซีน -วัดอุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน - ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัดและหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก - ผู้มาฉีดควรกินยาโรคประจำตัว มาตามปกติ ถ้า กินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ให้กินยาตามปกติแต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งๆ ตรงตำแหน่งที่ฉีด 1  นาที -หากมีโรคประจำตัว หรือรับประทานยาประจำตัว โดยเฉพาะยากดภูมิหรือยาที่มีผลทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น ยารักษาโรคไมเกรน กลุ่ม ergotamine ควรปรึกษาแพทย์หรือแจ้งพยาบาลก่อนรับวัคซีน   หลังรับวัคซีนโควิด-19 - สังเกตอาการข้างเคียงที่โรงพยาบาล 30 นาที ก่อนกลับบ้าน หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ให้รีบแจ้งพยาบาลหรือแพทย์ทันที - หลังฉีด 2 วัน อย่าใช้แขนข้างที่ฉีด อย่าเกร็ง หรือยกของหนัก - ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถทานพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ด สามารถทานซ้ำได้ถ้าจำเป็นโดยเว้นระยะเวลาห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มนี้ กรณีจำเป็นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ - เมื่อกลับบ้านแล้วควรประเมินอาการตัวเองต่อเนื่องอีก 48-72 ชั่วโมง บางรายอาจพบผลข้างเคียงเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวม บริเวณที่ฉีด และผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ต่ำๆ เมื่อยล้า หรือ มีลมพิษ ซึ่งหลังจากได้รับวัคซีนครึ่งชั่วโมง - 2 ชั่วโมง อาการจะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าไข้ขึ้นสูงมาก แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ควรกลับไปโรงพยาบาล หรือโทร 1669 เพื่อประเมินอาการทันที - การฉีดวัคซีนโควิด ควรห่างจากไข้หวัดใหญ่ อย่างน้อย 1 เดือน   ข้อห้ามและข้อควรระวังในการฉีดวัคซีนโควิด 19 วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีนและเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที หากมีอาการดังต่อไปนี้ หลังได้รับวัคซีน รีบไปพบแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทร 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง เหนื่อยแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือ หายใจไม่ออก อาเจียน มากกว่า 5 ครั้ง ผื่นขึ้นทั้งตัว ผิวหนังลอก มีจุดจ้ำเลือดออกจำนวนมาก ใบหน้าเบี้ยว หรือ ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้ ต่อมน้ำเหลืองโต ชัก หรือหมดสติ โดยข้อปฏิบัติตัวถือเป็นแนวทางที่ควรทำตามอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้หลังจากได้วัคซีนเข็มแรกควรเตรียมตัวสำหรับการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ทั้งนี้ทุกคนยังคงต้องสวมหน้ากากรักษาระยะห่างและล้างมือทั้งก่อนระหว่างและหลังการฉีดวัคซีน   อ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คำแนะนำสำหรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในผู้เป็นเบาหวาน

คำแนะนำสำหรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในผู้เป็นเบาหวาน เหตุใดผู้เป็นเบาหวานควรได้รับวัคซีน ? ผู้เป็นโรคเบาหวานหากคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มีโอกาสเกิดความรุนแรงจากการติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรง และอัตราการเสียชีวิต จากโรคโควิด 19 ได้มากกว่าร้อยละ 90 ผู้ได้รับยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด สามารถได้รับวัคซีนได้ โดยกดบริเวณที่ฉีดยาให้แน่นอย่างน้อย 2 นาที และแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนได้รับการฉีดวัคซีน *ผู้ที่กินยาวาร์ฟาริน ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวัดระดับการแข็งตัวของเลือด ให้เหมาะสมก่อนรับวัคซีน วัคซีนโควิด 19 กับระดับน้ำตาลในเลือด หลังฉีดวัคซีน อาจมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ควรมีการเจาะระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอ ภายใน 48 ชั่วโมงหลังฉีดยา และหากมีน้ำตาลสูงควรฉีดยาแก้ระดับน้ำตาลที่สูงให้ลงมาเป็นปกติ หรือกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ การดูแลตนเองหลังฉีดวัคซีน แนวทางอื่นๆ ในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด 19 ในผู้ป่วยเบาหวาน ตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอและฉีดยา หรือกินยา เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ พักผ่อนและดูแลร่างกายให้แข็งแรง และผ่อนคลายจิตใจมีสุขภาวะที่ดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ก่อนบริจาคโลหิต

  ผู้บริจาคโลหิตต้องประเมินความเสี่ยงการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ก่อนบริจาคโลหิต เพื่อให้ได้โลหิตที่มีคุณภาพ   ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง คือ ผู้บริจาคโลหิต และปลายทาง คือ ผู้ป่วย 1. มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล เหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส 2. เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ภายใน 14 วัน 3. ทำงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ภายใน 14 วัน 4. ไปยังสถานบันเทิง หรือสถานที่แออัด ภายใน 14 วัน 5. สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ภายใน 14 วัน 6. เพิ่งหายจากไข้ไวรัส COVID-19 ภายใน 14 วัน หากเข้าเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งให้ งด!!! บริจาคโลหิต มั่นใจ ปลอดภัย ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ไปด้วยกัน   อ้างอิง : ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คำแนะนำ...เตรียมตัวอย่างไร ก่อน-หลัง การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19

คำแนะนำ...เตรียมตัวอย่างไร ก่อน-หลัง การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 - ต้องมั่นใจว่า ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง งดรับวัคซีน เช่น ตั้งครรภ์ อยู่ระหว่างรักษาอาการป่วยรุนแรง มีอาการป่วย มีไข้สูง ท้องเสียรุนแรงก่อนฉีด - หากมีประวัติแพ้วัคซีนหรือแพ้ยา ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนฉีดวัคซีน - พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรงดอาหารก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน - หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้นั่งรอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที - ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว ก็สามารถทานพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ด ซ้ำได้ถ้าจำเป็น ควรห่าง 6 ชั่วโมง ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มนี้ กรณีจำเป็นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ - การฉีดวัคซีน COVID-19 ควรเว้นระยะห่างกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 14-1 เดือน โดยฉีดวัคซีนCOVID-19 ให้ครบก่อน เพราะอันตรายกว่า  - ถ้าทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ สามารถทานได้ตามปกติ แต่เมื่อฉีดวัคซีน COVID-19  แล้ว ควรกดตรงตำแหน่งที่ฉีดนาน 1 นาที อ้างอิง : ศูนย์ข้อมูลCOVID-19

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนCOVID-19

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนCOVID-19 อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง - มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ - คลื่นไส้ อาเจียน - อ่อนเพลีย - ปวดบริเวณที่ฉีด   อาการข้างเคียงรุนแรง - ไข้สูง - มีจุดเลือดออกจำนวนมาก - ผื่นขึ้นทั้งตัว - อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง - ชัก/หมดสติ - ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง - ปวดศีรษะรุนแรง - แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก   หากมีอาการดังนี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีหรือติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน  อ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ตกขาว? อย่าตกใจ ❱ สีระดู ขาว, เหลือง, เขียว บอกสาเหตุโรคได้ ผู้หญิงเราควรรู้

ภาวะตกขาว         ภาวะตกขาว ซึ่งบางทีเรียกว่า มุตกิด หรือระดูขาวนั้น เป็นภาวะหนึ่งที่สตรีส่วนมากต้องประสบและทำให้สตรีจำนวนไม่น้อยมาพบแพทย์ และสูตินรีแพทย์ ภาวะดังกล่าวอาจเป็นอาการที่แสดงออกมาจากการตอบสนองต่อฮอร์โมนในสตรีที่ปกติ หรือจากการที่เป็นโรคที่ไม่รุนแรงเรื่อยไปจนกระทั่งถึงโรคที่รุนแรงก็ได้ ดังนั้นภาวะนี้จึงมีความสำคัญมิใช่น้อย ตกขาว คืออะไร         ตกขาว เป็นของเหลวใด ๆ ที่ไหลออกมานอกช่องคลอด แต่ไม่ใช่เลือด ของเหลวดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นจากช่องคลอด ปากมดลูก และอวัยวะข้างเคียงบริเวณปากช่องคลอด ลักษณะของตกขาว จะมีความแตกต่างกันไปขึ้นการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทั้งในขณะที่อยู่ในภาวะปกติ หรือกำลังเป็นโรคอยู่   ภาวะตกขาวที่ปกติเป็นอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร          ตามปกติแล้วในสตรีที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (อีกนัยหนึ่ง คือ สตรีที่อยู่ในช่วงอายุที่ยังมีประจำเดือน หรือมีฮอร์โมนเพศหญิงเจริญเต็มที่) จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแตกต่างกันไปตามระยะของประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีผลต่อลักษณะของๆ เหลวที่สร้างขึ้นมาจากอวัยวะต่าง ๆ ในระบบสืบพันธุ์สตรี ดังเช่น ในช่วงกึ่งกลางรอบประจำเดือนหรือระยะใกล้เคียงกับการตกไข่          ซึ่งเป็นเวลาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ทำให้ในช่วงเวลานี้ จะมีตกขาวลักษณะค่อนข้างเหลวใส ๆ ปริมาณมากกว่าระยะเวลาอื่น ส่วนตกขาวในระยะเวลาอื่นจะมีสีขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก นอกจากนั้นแล้ว ตกขาวที่ปกติควรจะไม่คัน และไม่มีกลิ่น ถ้าตกขาวของท่านมีลักษณะดังที่กล่าวมานี้ถือว่าปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา           อย่างไรก็ตาม  สตรีแต่ละท่านจะมีปริมาณตกขาวแตกต่างกันไป บางท่านอาจมีปริมาณตกขาวมากจนเปื้อนชุดชั้นในอยู่หลายวันในแต่ละเดือน แต่สำหรับบางท่านอาจมีปริมาณน้อยจนไม่รู้ว่ามีตกขาวเลย          นอกจากนี้ ฮอร์โมนในสตรีในวัยดังกล่าว ทำให้เซลล์ในช่องคลอดสมบูรณ์ และมีการสร้างสารประเภทแป้งที่เรียกว่าไกลโคเจน ซึ่งจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยแบคทีเรียชนิดหนึ่งให้เป็นกรดอ่อน ๆ  ภาวะนี้จะช่วยป้องกันการรุกรานจากเชื้อโรคชนิดอื่นที่ก่อให้เกิดความผิดปกติได้   ภาวะตกขาวที่ผิดปกติเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร ตกขาวผิดปกติจะมีลักษณะที่ต่างออกไปจากที่กล่าวมาข้างต้น จะมีสาเหตุใหญ่อยู่ 2 ประเภท คือ สาเหตุจากการติดเชื้อ และสาเหตุจากการไม่ติดเชื้อ ตกขาวที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ ตกขาวจากสาเหตุนี้ เกิดได้จากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา และพยาธิในช่องคลอด ตกขาวประเภทนี้ บางชนิดจะมีลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ดังจะกล่าวต่อไป 1. ตกขาวที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสบางชนิดเป็นเชื้อโรคที่ติดต่อมาโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ บางครั้งอาจไม่มีอาการชัดเจน ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ได้แก่ โรคเริมซึ่งเป็นโรคที่ไม่หายขาด จะมีอาการเป็นตุ่มใส ๆ ขนาดเล็ก ต่อมาจะแตกเป็นแผลแสบ มีตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นผิดปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ปรากฏอาการ 2. ตกขาวที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ตกขาวประเภทนี้มักมีสีเหลือง หรือค่อนข้างเขียว อาจมีอาการคันในบางราย เชื้อบางชนิดอาจเกิดตกขาวมีกลิ่นคาวปลาหลังการร่วมเพศ แต่ในกรณีที่มีการติดเชื้อจากโรคหนองในจะมีตกขาวสีเหลืองจัด อาจร่วมกับมีอาการปัสสาวะแสบขัดได้ 3. ตกขาวมีสาเหตุจากเชื้อรา เชื้อราในช่องคลอดมักทำให้เกิดอาการตกขาวสีขาว มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ คล้ายนมที่ทารกแหวะออกมา และมีอาการคันช่องคลอด การตกขาวชนิดนี้มักไม่ได้เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ น้ำยาสวนล้างช่องคลอดที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิต้านทาน 4. ตกขาวที่มีสาเหตุจากเชื้อพยาธิในช่องคลอด พยาธิชนิดนี้เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มักมีสีเหลือง อาจเห็นเป็นฟอง มีอาการคันช่องคลอด และอาจมีกลิ่นออกเปรี้ยวเล็กน้อย ตกขาวที่มีสาเหตุจากการไม่ติดเชื้อ         ตกขาวผิดปกติประเภทนี้ มีสาเหตุได้จาก การระคายเคืองหรือแพ้สารเคมี จากมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี (เช่น มะเร็งของปากมดลูก ช่องคลอด ท่อนำไข่) รวมทั้งเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด ท่านจะทำอย่างไรในกรณีที่เกิดปัญหาตกขาว           ท่านที่ประสบปัญหาตกขาวที่มีลักษณะปกติดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ท่านก็ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างไร เพียงแต่ควรมาพบสูตินรีแพทย์ของท่าน เพื่อตรวจภายในพร้อมทั้งตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปี แต่ถ้าหากว่าท่านมีอาการตกขาวที่มีลักษณะผิดปกติ กล่าวคือ มีสี กลิ่นผิดไปจากปกติหรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย ก็ควรจะได้รับการตรวจและรักษาให้ถูกต้องตามสาเหตุ           ทั้งนี้เนื่องมาจากการรักษาที่ตรงตามสาเหตุจะทำให้โรคหายเร็วขึ้น เช่น ในกรณีที่ตกขาวจากเชื้อรา แพทย์อาจจะให้ยาเหน็บรักษาด้วย โคลไทรมาโซล หรือถ้าเป็นจากเชื้อพยาธิในช่องคลอด ก็อาจจะต้องใช้ยารับประทาน เมโทรนิดาโซล เป็นต้น ประการที่สองสาเหตุของตกขาวที่ผิดปกติบางครั้งอาจเกิดจากมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีได้ โรคดังกล่าวนี้ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน            ส่วนประการสุดท้ายคือ ถ้าอาการตกขาวของท่านมีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ท่านควรจะได้รับการตรวจหาพร้อมกับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นที่อาจเกิดร่วมด้วย รวมทั้งต้องมีการตรวจรักษาคู่สมรสด้วย จึงจะไม่ทำให้ท่านและคู่สมรสเกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดโรคขึ้นซ้ำอีกในภายหลัง แพทย์ พ.อ.ผศ.น.พ.ธนบูรณ์   จุลยามิตรพร อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า หน่วยช่วยการเจริญพันธุ์ และต่อมไร้ท่อทางนรีเวช กองสูตินรีเวชกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า สูติแพทย์ที่ปรึกษา รพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคตาแดง

โรคตาแดง                  โรคตาแดงจากเชื้อไวรัส เกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา ตั้งแต่เริ่มเป็น ก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้ตาพิการได้   โรคตาแดงติดต่อกันได้อย่างไร                 โรคมักระบาดในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันอย่างแออัด โดยอาจแพร่ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา ของผู้ป่วย ส่วนมากมักติดทางอ้อมโดย ·       ใช้มือสกปรกที่มีเชื้อโรคขยี้ตา ·       ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา ขันน้ำ และของใช้อื่น ๆ ร่วมกับผู้ที่เป็นโรค ·       แมลงวันหรือแมลงหวี่ตอมตา   อาการของโรคตาแดงเป็นอย่างไร                 หลังจากได้รับเชื้อโรคเข้าตา ประมาณ 24-48 ชั่วโมง จะมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา มีน้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวจะอักเสบ แดง ซึ่งอาจเริ่มที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน หรือเป็นทั้ง 2 ข้างพร้อมกันก็ได้ อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือครั่นเนื้อครั่นตัว หรืออาการปวดเสียวที่แขนขาด้วย ผู้ป่วยมักจะหายได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  เมื่อเป็นโรคตาแดง ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ·       เมื่อมีอาการตามที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอด หรือป้ายตา เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย ป้ายตาติดต่อกันประมาณ 7 วัน สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีไข้ ปวดศรีษะ ก็จะใช้ยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นต้องรีบไปพบแพทย์อีกครั้ง ·       ควรพักสายตา ไม่ใช้สายตามากนัก ·       ควรหยุดเรียนหรือหยุดงานประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการตาแดงจะหายเป็นปกติ และไม่ควรไปในที่ชุมชน เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพราะอาจนำโรคไปแพร่ติดต่อให้ผู้อื่นได้ ·       แยกของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย อย่าให้ผู้อื่นใช้ร่วมด้วย ·       ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากไปถูกบริเวณตา และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ   มีวิธีการป้องกันไม่ให้ติดโรคตาแดงไหม                 โรคนี้ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่ ·       หมั่นล้างมือล้างน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้มือที่ไม่ได้ล้างให้สะอาดขยี้ตา ·       เมื่อฝุ่นละอองหรือผงเข้าตา ไม่ขยี้ตา ให้ล้างด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ·       ไม่ใช้สิ่งของ เช่น แว่นตา ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ หรือถ้วยล้างตา ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อมีโรคตาแดงระบาด ต้องระวังให้มากยิ่งขึ้น ·       ซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ฯลฯ ผึ่งแดดให้สะอาดอยู่เสมอ ·       ในสถานที่ที่คนอยู่รวมกันอย่างแออัด ควรจัดหาน้ำสะอาดให้เพียงพอสำหรับการล้างมือ ล้างหน้า และใช้อาบ                                                                                                                                    ด้วยความปรารถดี จากรพ.วิภาวดี

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ปวดศีรษะ

ปวดศีรษะ         อากาศร้อนๆ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้หลายๆท่าน เกิดอาการปวดศีรษะ ซึ่งอาจเป็นการปวดศีรษะธรรมดา หรือ จากอากาศร้อนที่ทุกคนได้ยินกันว่าเป็น Heat Stroke ปวดศีรษะจากอากาศร้อนเชื่อว่าเกี่ยวกันทั้งระบบหลอดเลือด และเส้นประสาทในศีรษะ ทำให้มีอาการปวดจากหลอดเลือดขยายตัว           สำหรับโรคปวดศีรษะที่เป็นโรคของมันเองจริงๆ นั้น มีหลายโรค แต่ที่ยอดฮิต ในกลุ่มผู้ปวดบ่อยๆ ได้แก่ ไมเกรน ซึ่งมักชอบสงสัยกันมาก ว่าจะเป็นหรือไม่  ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป            สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องให้ผู้อ่านเข้าใจคือ การวินิจฉัยสาเหตุของการปวดศีรษะนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องอาศัยการซักอาการโดยละเอียด (ไม่ต่ำกว่า 10 ข้อ) นอกจากในบางรายที่ค่อนข้างชัดเจนมากๆ อาจใช้คำถาม 3-4 ข้อก็พอบอกได้ ดังนั้นการเล่าอาการของคนไข้ทางจดหมาย หรือทางอินเตอร์เน็ตนั้น บ่อยครั้งที่ผู้ถามจะได้คำตอบที่ชวนให้หงุดหงิดว่า ' ควรพบแพทย์' หรือ ' บอกไม่ได้ ข้อมูลไม่พอ' ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ            การตอบโดยอาศัยผ่านสื่อนี้ สิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ที่สุดคือ บอกให้ผู้ถามพอเป็นแนวทางว่า อาจเป็นอะไรได้บ้าง จำเป็นต้องพบแพทย์หรือไม่ แต่สำหรับการวินิจฉัยนั้น คงหวังผล 100% คงไม่ได้ก่อนจะเข้าเรื่อง สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับปวดศีรษะคือ ปวดแบบใดบ้างที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งได้แก่ลักษณะต่อไปนี้  - ปวดกระทันหัน ทันทีทันใด - ปวดรุนแรงมาก - ปวดในลักษณะที่ไม่เหมือนที่เคยปวดมาก่อน (ปวดแบบใหม่) - อาการค่อยๆ เป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นวัน เป็นเดือน จนถึงเป็นปีก็ได้ - มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้สูง ชัก เห็นภาพซ้อน อาเจียนรุนแรง แขนขาอ่อนแรงเป็นซีก    เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ขอแบ่งชนิดการปวดศีรษะเป็น 3 กลุ่มกว้างๆ ได้แก่ ปวดจากกล้ามเนื้อตึงตัว  ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือด และ  ปวดจากมีสิ่งผิดปกติในสมอง  สำหรับการปวดจากเส้นประสาทที่ศีรษะและใบหน้า ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้  ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว           เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ   ฯลฯ การปวดมีลักษณะตึงๆ ตื้อๆ บางคนอาจปวดจี๊ดๆ ร่วมด้วย ร้าวจากขมับไปกลางศีรษะ จนถึงท้ายทอย (ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้)           อาการปวดมักจะเริ่มตอนสายๆ หรือบ่าย (คือเมื่อเริ่มเคร่งเครียดกับงาน)  แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน อาจไม่รุนแรงแต่พอรำคาญ (ถ้าเป็นมากๆ ก็รุนแรง ได้เหมือนกัน)            ลักษณะสำคัญ คือ เวลาหายก็มักหายไม่สนิทเป็นปลิดทิ้ง คือจะยังตื้อๆอยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่เวลาไม่ปวดก็จะปกติ100% (เป็นปลิดทิ้ง)   การป้องกัน  ทำได้โดย  1.เลี่ยงสาเหตุทั้งหลายที่กล่าวไว้ข้างต้น ช่วงที่ปวดสามารถทานยาแก้ปวดทั่วๆไป (เช่น พาราเซตามอล)  2. ถ้ายังไม่ค่อยดี อาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วย เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาคลายเครียด 3. ซึ่งควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา   ปวดจากการขยายตัวของหลอดเลือดที่ศีรษะ           มีหลายแบบ แต่ที่พูดถึงบ่อยๆ คือ ไมเกรน ซึ่งยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคอย่างแท้จริง แต่เชื่อว่าเกี่ยวกันทั้งระบบหลอดเลือด และเส้นประสาทในศีรษะ สำหรับต้นเหตุอื่นที่ทำให้ปวดจากหลอดเลือดขยายตัว นอกจากโรคไมเกรนได้แก่ ไข้สูง ยาบางชนิด อากาศร้อน เป็นต้น           ลักษณะสำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับ ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ บางคนอาจเริ่มจากตื้อๆ จี๊ดๆ ก่อน แล้วค่อยๆ รุนแรงขึ้นจนตุ้บๆ ในที่สุด เวลาปวดจะรุนแรงมาก มักคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย แต่ช่วงที่ไม่ปวดจะหายเป็นปลิดทิ้ง บางคน (10-20%) อาจมีอาการเตือนก่อนปวด โดยจะตาพร่า เห็นแสงแว้บๆ สีเหลืองหรือเป็นเส้นหยักๆ ลอยไปมา แล้วต่อมาค่อยปวดศีรษะ   สิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ            มีหลายอย่าง เช่น อากาศร้อน ยาบางชนิด (เช่น ยาลดความดันบางชนิด ยาเม็ดคุมกำเนิด) แอลกอฮอล์ อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแล็ต เนย เบคอน ไส้กรอก แฮม ผงชูรส เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีสารบางอย่างที่กระตุ้นอาการได้            เมื่อเริ่มมีอาการ สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ พยายามอยู่ในที่เงียบๆ สงบๆ ถ้าหลับได้เลยยิ่งดี ยาที่ทานแก้ปวด มีตั้งแต่พาราเซตามอลธรรมดา จนถึงยาที่ใช้เฉพาะโรค (ซึ่งหลายตัวจะมีผลข้างเคียง จึงควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา) ซึ่งแล้วแต่ แต่ละรายว่าจำเป็นแค่ไหน ในรายที่เป็นบ่อยๆ อาจต้องใช้ยา ในกลุ่มที่ป้องกันไมเกรน ซึ่งต้องให้แพทย์สั่งให้ เนื่องจากยาแต่ละตัวมีความเหมาะสม ต่อคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน            ไมเกรน มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น หรืออาจเริ่มช่วงอายุ15-30 ปี พบในหญิงมากกว่าชาย โดยบางคนมีอาการมากช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังมีประจำเดือน ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน อาการมักห่างลงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการปวดแบบไมเกรน             คนที่คิดว่าตัวเองเป็นไมเกรน มักนิยมซื้อยา cafergot มาทานเอง ซึ่งต้องระวัง ให้มากๆ โดยเฉพาะในคนอายุ40ปีขึ้นไป เนื่องจากยาอาจมีโอกาส ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้ และที่สำคัญคือ ไม่แน่ว่า จะเป็นไมเกรนจริงหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่เพิ่งจะเริ่มเป็นตอนอายุมากๆ เนื่องจากโอกาสเป็นไมเกรน มีน้อย(ถ้าไม่เคยเป็นมาก่อน)           ข้อแนะนำ  คือ ถ้าเป็นไม่มากนัก และยังไม่อยากพบแพทย์ ช่วงที่ปวด อาจลองทานพาราเซตามอลดูก่อน ถ้าหาย อาจเป็นปวดหัวธรรมดา หรืออาจเป็นไมเกรนแบบไม่รุนแรงก็ได้ถ้าไม่ดีขึ้น หรือเป็นบ่อยๆ ก็ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจนและการรักษาที่เหมาะสม  ปวดศีรษะจากสิ่งผิดปกติในสมอง           ได้แก่ เนื้องอก ฝี พยาธิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เส้นเลือดสมองแตก ฯลฯ มีลักษณะการปวดที่หลากหลาย ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของโรค ขนาดของรอยโรค ตำแหน่ง (ในสมอง) ที่เกิดโรค           อาการโดยรวมๆ คือ  มักปวดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านไปเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน (ขึ้นกับโรค) ช่วงที่เป็นมักมีอาการอาเจียนมาก หรืออาจมีอาการอื่นๆ ทางสมองร่วมด้วยเช่น ชัก เห็นภาพซ้อน สับสน  อ่อนแรงครึ่งซีก ซึมลง จนถึงเสียชีวิตได้   บทความโดย   นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี   อายุรแพทย์ประสาท ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยคลินิค ดอท คอม                                  

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไต ไตเสื่อมทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ อย่างไร รวมถึงการป้องกันและการรักษา

โรคไต ไตเสื่อมทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ อย่างไร รวมถึงการป้องกันและการรักษา โรคไต การป้องกันและการรักษา ไต ไตมี 2 ข้าง อยู่บริเวณด้านหลัง ใต้ชายโครง บริเวณบั้นเอว มีรูปร่างคล้ายถั่วเหลือง ยาวประมาณ 12เซนติเมตร ไต ประกอบด้วยหลอดเลือดฝอยมากมาย เรียกว่า “หน่วยไต” (nephron) หน่วยไตจะลดจำนวน และเสื่อมสภาพตามอายุไข ไตทำหน้าที่อะไร ? กำจัดของเสีย ดูดซึม และเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย รักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย รักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต สร้างฮอร์โมน 1.กำจัดของเสีย ได้แก่ ยูเรีย ครีเอดินิน เมื่อร่างกายได้รับสารอาหาร จะย่อยสลาย นำส่วนที่เป็นประโยชน์ไปใช้ และปล่อยของเสียออกสู่กระแสเลือด ผ่านมายังไต และถูกขับออกมากับปัสสาวะ ขับยา และสารแปลกปลอมอื่น ๆ 2.ดูดซึม และเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายไว้ สารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จะถูกดูดกลับโดยเซลล์ของหน่วยไตเช่น น้ำ ฟอสเฟด โปรตีน 3.รักษาสมดุลน้ำของร่างกาย ถ้าน้ำมีมากเกินความต้องการของร่างกาย ไตจะทำหน้าที่ขับน้ำออกมาทางปัสสาวะ ถ้าอยู่ในภาวะขาดน้ำ ไตจะพยายามสงวนน้ำไว้ให้ร่างกาย ปัสสาวะจะมีปริมาณน้อยและเข้มข้น 4.รักษาสมดุลเกลือแร่ของร่างกาย ไตที่ปกติจะขับเกลือส่วนเกินได้เสมอ แม้จะรับประทานรสเค็มจัด แต่ถ้าเสื่อมสมรรถภาพ ผู้ป่วยจะมีอาการบวมถ้ารับประทานเกลือมากเกินไป 5.รักษาสมดุลกรดด่างของร่างกาย ร่างกายจะผลิตกรดทุกวัน จากการเผาผลาญอาหารโปรตีน ถ้าไตทำหน้าที่ปกติ จะไม่มีกรดคั่ง ถ้าไตเสื่อมสมรรถภาพ ร่างกายจะมีปัสสาวะเป็นกรด 6.ควบคุมความดันโลหิต ความดันโลหิตสูง เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมสมดุลน้ำ และเกลือ รวมถึงสารบางชนิด ผู้ป่วยโรคไต จึงมักมีความดันโลหิตสูง เพราะไตถูกกระตุ้นให้สร้างสารที่ทำให้ความดันสูง ถ้าความดันโลหิตสูงมาก ทำให้หัวใจทำงานหนัก หรืออาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือ แตก เป็นอัมพฤกษ์ และอัมพาตได้ 7.สร้างฮอร์โมน ไต ปกติสามารถสร้างฮอร์โมนได้หลายชนิด ถ้าเป็นโรคไต การสร้างฮอร์โมนจะบกพร่องไป ตัวอย่างฮอร์โมนที่สร้างจากไต ฮอร์โมนเออริโธรพอยอิติน ( erythropoietin) ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง ดังนั้นผู้ป่วยจะมี อาการซีด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หัวใจทำงานหนัก วิงเวียน หน้ามืด เหนื่อย ใจสั่น เป็นลมบ่อย วิตามินดีชนิด calcitriol ทำหน้าที่ช่วยควบคุมการดูดซึมแคลเซี่ยม ซึ่งการที่วิตามีนดี และแคลเซี่ยมในเลือดต่ำ ทำให้ต่อมพาราธัยรอยด์หลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ เป็นผลเสียต่ออวัยวะหลายอย่างในร่างกาย โดยเฉพาะกระดูก ทำให้ไม่แข็งแรง ไตเสื่อมทำให้เกิดผลเสียต่ออวัยวะต่าง ๆ ใครมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค ไต อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ไต จะเริ่มเสื่อม ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ โรคไตอักเสบชนิดต่าง ๆ เช่น โรคไตอักเสบตั้งแต่วัยเด็ก ไตอักเสบ เอส-แอล –อี โรคไตเป็นถุงน้ำ นิ่ว เนื้องอก หลอดเลือดฝอยอักเสบ มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบจากการติดเชื้อ ใช้ยาแก้ปวด หรือสัมผัสสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไต อาการแสดง การสืบค้น อาการแสดงเมื่อเป็นโรคไต หนังตา ใบหน้า เท้า ขา และลำตัวบวม ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ขุ่น เป็นฟอง เป็นเลือด สีชาแก่ / น้ำล้างเนื้อ การถ่ายปัสสาวะผิดปกติเช่น บ่อย แสบ ขัด ปริมาณน้อย ปวดหลัง คลำได้ก้อน บริเวณไต ความดันโลหิตสูง ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ไม่กระฉับกระเฉง ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร การรับรสอาหารเปลี่ยนไป ปวดศีรษะ นอนหลับไม่สนิท อาการสังเกตเมื่อไตเสื่อม ไตเริ่มเสื่อม อาการบวม ซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง ซีดมากขึ้น เบื่ออาหาร คันตามตัว อาการสังเกตเมื่อไตเสื่อม อาการบวมที่หน้า และหนังตา อาการบวมที่ขา อาการบวมที่เท้า ปัสสาวะเป็นเลือด โรคไตวาย ไตวายเฉียบพลัน ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเป็นวัน หรือสับดาห์ มักมีอาการมากกว่าแบบเรื้อรัง อัตราการเสียชีวิตสูง ถ้าพ้นอันตราย ไตมักจะเป็นปกติได้ โรคไตวายเรื้อรัง เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง แม้อาการจะสงบ แต่ไตจะค่อย ๆ เสื่อม และเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคไต เข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีสาเหตุจาก อันดับหนึ่ง โรคเบาหวาน อันดับสอง ความดันโลหิตสูง และ โรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบ เช่น โรค เอส- แอล – อี สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ โรคนิ่วในไต โรคไตอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อ โรคเก๊าท์ โรคไตจากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ โรคถุงน้ำในไตที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ มักทำให้เกิดโรคกับไตทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆ กัน     ข้อเขียนโดย ศจ.พญ.ลีนา องอาจยุทธ สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายกสมาคมโรคไต แห่งประเทศไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โรคไตวาย

โรคไตวาย         ไตวายมีกี่แบบ แต่ละแบบเกิดขึ้นได้อย่างไร อ่านได้ที่นี่ค่ะ โรคไตวาย มี 2 แบบคือ ไตวายเฉียบพลัน                ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว   ภายในเวลาเป็นวันหรือสับดาห์     มักมีอาการมากกว่าแบบเรื้อรัง    อัตราการเสียชีวิตสูง   ถ้าพ้นอันตราย ไตมักจะเป็นปกติได้ โรคไตวายเรื้อรัง             เนื้อไตถูกทำลายอย่างถาวร   ทำให้ไตค่อย ๆ ฝ่อเล็กลง     แม้อาการจะสงบ  แต่ไตจะค่อย ๆ เสื่อม     และเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง                  ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคไต เข้าสู่โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย  มีสาเหตุจาก                  1.   อันดับหนึ่ง   โรคเบาหวาน                  2.   อันดับสอง   ความดันโลหิตสูง  และ โรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบ  เช่น  โรค เอส- แอล – อี                 3.   สาเหตุอื่น ๆ  ได้แก่                                -   โรคนิ่วในไต                                -  โรคไตอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อ                                -   โรคเก๊าส์                                -   โรคไตจากการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ                                 -   โรคถุงน้ำในไตที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์              สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้   มักทำให้เกิดโรคกับไตทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆ กัน ข้อเขียนโดย ศจ.พญ.ลีนา    องอาจยุทธ    สาขาวิชาวักกะวิทยา    ภาควิชาอายุรศาสตร์   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  นายกสมาคมโรคไต แห่งประเทศไทย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
<