โรคงูสวัด 【แชร์ประสบการณ์จริง】อันตรายมากในผู้สูงอายุ: อาการยังไง & รักษาวิธีไหน

โรคงูสวัด ในช่วงนี้ มีการระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุอยู่นะคะ ทุกคนอย่าประมาท ทีมงานสื่อสารองค์กร ขอสัมภาษณ์ดิฉัน เพราะคุณแม่เป็นโรคงูสวัดบนใบหน้า และเข้าถึงตาซ้าย ซึ่งอันตรายมาก แต่ดิฉันขอขียนเรื่องเอง เพราะต้องการบันทึกเรื่องราว เก็บไว้เอง เนื่องจากเป็นคนชอบเขียน

คุณแม่ดิฉัน เป็นโรคงูสวัดค่ะ บริเวณที่เป็น คือ โซน B1 ใบหน้าซีกซ้ายบน

เป็นครั้งหนึ่งที่คุณแม่ป่วย แล้วลูกๆ รู้สึกผิดมากมาย..... ดิฉันจะเล่าให้ฟังค่ะ

เย็นวันจันทร์ที่ 15 กพ.

พี่สาว โทรมาบอกว่า แม่มีอาการตาแดง ดิฉันขอให้ถ่ายรูปให้ดูพบว่า ตาแดงจริง แต่ไม่มาก จึงส่งรูปต่อไปยังคุณหมอโรคหัวใจที่รู้จักกัน ถามว่า ตาแดงระดับนี้ ควรงดยาละลายลิ่มเลือดไหม (กลัวเลือดจะออกในลูกตามากขึ้น)

คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องงด ดิฉันตั้งใจว่า พรุ่งนี้เช้า ถ้าไม่ดีขึ้น จะให้พี่สาวพามาหาหมอตา แต่ช่วงที่โทรคุยกับพี่สาวนั้น

แม่แย่งโทรศัพท์มาพูดกับดิฉันว่า

“ทำไมแม่ปวดหัว”

ดิฉันก็บอกว่า

“ไม่มีอะไรหรอกค่ะแม่ คงมาจากปวดตานั่นแหละ กินพาราไปเม็ดนึงละกัน” – แต่ก็ทราบจากพี่สาวต่อมาว่า แม่ไม่ได้กินยา

เช้า อังคาร ที่ 16 กพ.

อาการตาแดง ของแม่เป็นมากขึ้น พี่สาวจึงพามาหาหมอตาที่รพ.วิภาวดี หมอวินิจฉัยว่า เปลือกตาอักเสบมาก ผิวเปลือกตาที่อักเสบ เป็นขรุขระ ครูดกระจกตาเป็นรอย ....

แค่นี้ดิฉันก็ใจแป้วแล้ว แม่คงเจ็บตามาก แต่หมอตาก็เอะใจ พยายามหาเม็ดและผื่น บริเวณใบหน้า ว่ามีบ้างไหม ก็ไม่มี ... ตลอดเวลา ที่อยู่ รพ. และอยู่กับหมอ แม่บ่นว่า ..ปวดหัว....

หมอตานัดแม่ วันรุ่งขึ้นเลย เพื่อติดตาม กระจกตา  และดูเชื้อในตา ว่าเป็นไวรัส หรือแบคทีเรีย

กลับบ้าน แม่ยังคงบ่นปวดหัว คราวนี้ดิฉันให้กินพาราอีก แม่ก็กินไป 1 เม็ด

เช้า พุธที่ 17 กพ.

พาแม่หาหมอตา ดูกระจกตา พบว่า ยังไม่ดีขึ้น หมอกลัวจะเป็นโรคอื่นแล้ว เช่น เริม ดูเม็ดต่างๆ ตามใบหน้า (โดยเฉพาะซีกซ้าย) ก็ไม่พบ ...และ แม่ก็บ่นปวดหัวตลอด หมอตานัดอีก วันรุ่งขึ้นเพื่อติดตาม

เช้ามืด พฤหัสที่ 18 กพ.

พี่สาวส่งรูปใบหน้าแม่ ที่มีตุ่มใสๆขึ้น และผื่นแดงขึ้นที่หน้า ซีกซ้าย ให้ดู ดิฉันใจหล่นไปกองข้างล่าง  มือไม้สั่น รีบอ่านเรื่อง เริมขึ้นที่ตา พบว่า อาการนำ คือปวดหัวมาก !! และถ้ามีปัญหาถึงกระจกตา อาจถึงขั้นทำลายกระจกตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ครั้งนี้ ดิฉันนัด 3 หมอ หมอผิวหนัง (เรื่องเริม) หมอตา (เรื่องกระจกตา) และหมอระบบประสาทวิทยา (เรื่องปวดหัว) และรีบไปรับแม่มารพ.

พอหมอผิวหนัง เห็นหน้าแม่เท่านั้น หมอบอกว่า เป็นงูสวัด (ไม่ใช่เริม) เพราะแนวที่ขึ้นเม็ดและผื่น เป็นตามแนวเส้นประสาทพอดีซึ่งเส้นประสาทบริเวณใบหน้าเรา จะน่าทึ่งมาก คือแบ่งกึ่งกลางใบหน้าพอดีเป๊ะ

โซนที่เป็น เรียกว่า โซน B1 (เหมือนโซนที่จอดรถเลย) คือใบหน้าซีกซ้ายบน (ใบหน้าซีกซ้ายกลาง คือ B2 และใบหน้าซีกซ้ายล่าง คือ B3) และ แม่จะต้องเจ็บปวด ทรมานมาก หมอบอกว่า ... แม่อดทนมาก

ดิฉันแทบร้องไห้เลยค่ะ คำว่าปวดหัว ปวดหัว ที่ได้ยินจากแม่มา 2-3 วัน ลูกๆ กลับคิดว่า เป็นอาการปวดหัวปกติ หรือปวดหัวอันเกิดจากตาอักเสบ พอพาไปหาหมอตาต่อ หมอตาให้ นอนรักษาที่รพ. เลยค่ะ (พญ.ผกานาฏ เอี่ยมตระกูล) เพราะการรักษางูสวัด ที่จะหายโดยเร็ว คือการให้ยาทางหลอดเลือดดำ และคุณแม่ก็อายุมากแล้ว ควรรีบรักษาโดยด่วน ซึ่งก็นับว่า อยู่ในระยะเวลาที่รู้โรค และรักษาได้เร็ว

คุณหมอด้านระบบประสาทวิทยา (ที่ดิฉันก็นัด นพ.พงศกร ตนายะพงศ์)  ตามไปดูแม่ให้ บนห้องที่พัก บอกว่า อาการปวดหัวของแม่ ตรงไปตรงมามาก จากโรคที่เห็น (งูสวัด) ไม่ใช่โรคที่เกิดจากภายใน (หลอดเลือดสมอง)แต่อย่างใด แต่คุณหมอก็ตรวจสอบอาการทั้งหมดด้วย

เมื่อพี่ๆ รู้โรคของแม่ ต่างไลน์สำนึกผิดกันในไลน์กลุ่มพี่น้อง เพราะแม่เอง ก็ Early Detect ตัวเอง ด้วยการบอกเรื่องปวดหัว ๆ มาโดยตลอด

แม่นอนโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 18 – 22 กพ. ช่วงที่อยู่รพ.อาการของโรคงูสวัดดีขึ้นทุกวัน จากยาที่ได้รับทางหลอดเลือดดำ ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือกระจกตา ที่มีความเสียหาย แต่ร่องรอยก็ดีขึ้นเป็นลำดับ คุณหมอทุกท่านแต่ละด้าน เอาใจใส่ดีมาก

ขอบคุณ คุณหมอกิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์ เป็นเจ้าของไข้ และคุณหมอที่ปรึกษาทุกท่าน ทั้งด้านโรคไต โรคผิวหนัง ที่ อดทนตอบคำถามของแม่(และลูกๆผู้สำนึกผิด)

ส่วนพยาบาล ก็ต้องเข้าห้องคุณแม่บ่อยมาก เพราะต้องให้ยา และหยอดยาตา ทุก 4 ชม. น้องๆพยาบาล พยายามพูดคุย หยอกล้อกับคุณแม่ ให้คุณแม่คลายกังวล และลืมเรื่องปวดหัวไปได้มากดิฉันและพี่ๆ ขอขอบคุณ น้องพยาบาล Ward 8 V ทุกท่าน มา ณ โอกาสนี้ด้วย

ผลพวงที่ตามมา จากการได้รับยาหลายขนานในผู้สูงอายุ คือแม่จะง่วงนอนตลอดเวลา ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน บางทีก็ฝันว่าไปที่นู่นที่นี่ บางทีก็พนมมือสวดมนต์ปากขมุบขมิบ แม่ยังพูดคุยกับลูกรู้เรื่อง แต่สักพักก็ลืม

พอกลับบ้าน ปัญหาใหญ่ที่พี่สาวต้องดูแล (เพราะแม่อยู่กับพี่สาว) คือแม่จะเบลอ เพราะยานี่แหละค่ะ แม่มักจะง่วงนอน จำอะไรไม่ค่อยได้ จนคุณหมอให้ลดยา หรือ เว้นทานยาบ้าง ถ้าแม่ไม่ร้องปวดหัว (หมอบอกว่า งูสวัดในผู้สูงอายุนี้ จะมีความเจ็บปวดอยู่นาน)  แม่จะเป็นปกติ สติสัมปชัญญะ คืนมา รับโทรศัพท์เองได้ ประชดประชันได้ ด่าสุนัขได้เหมือนเดิม

ทุกวันนี้ พี่สาวบริหารยา โดยค่อยๆลดยา เกี่ยวกับโรคปวด ของงูสวัด ลงเรื่อยๆ ตามที่หมอบอก ส่วนหมอตา ยังคงเฝ้าติดตาม เรื่องกระจกตาทุกสัปดาห์ แม้ว่า กระจกตาที่เสียหาย จะค่อยๆสมานจากด้านลึกแล้ว แต่ตาด้านซ้ายแม่ ยังมองไม่ชัด ยังคงต้องใช้เวลา

2 สัปดาห์ผ่านไป แม้ว่าแม่จะค่อยๆ ฟื้นตัวแล้ว  แต่ความรู้สึกของดิฉันและพี่ๆ ยังติดตรึงกับการให้แม่ ต้องปวดหัว ทรมานอยู่ 3 วัน เพราะคิดว่าเป็นการปวดหัวธรรมดา ตอนนี้  คิดเพียงแค่ให้แม่ได้พบหมอคนไหน เวลาไหน ก็ได้ เพื่อให้แม่ ได้เป็นปกติ ในวัย 89 อย่างเร็วที่สุด

สิ่งที่อยากบอกจากการถอดบทเรียนนี้

  1. อาการนำของโรคงูสวัด อาจไม่ใช่เม็ดตุ่ม หรือผื่นแดงก่อนเสมอไป การที่ผู้สูงอายุ รีบบอกอาการที่เป็น มากกว่าเลือกที่จะอดทนและเงียบไว้  ถือเป็นเรื่องที่ดี และต้องหาหนทางค้นหาโรคให้ได้ อย่าได้เห็นการร้องขอความช่วยเหลือนั้น เป็นเรื่องปกติ ถ้ามีการบอกกันบ่อยๆ
  2. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นเรื่องจำเป็นแล้วค่ะ ควรรีบฉีด ตั้งแต่อายุ 60 ปี เพราะการกระตุ้นภูมิจะดีกว่า การฉีดในอายุที่มากกว่านี้ การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะลดลงตามลำดับ การฉีดวัคซีน ไม่ได้ป้องกันโรค 100 %  คนที่ฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด ยังมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง
  3. ผู้สูงอายุ ที่มีอาการเบลอ อย่าให้ท่าน จมอยู่ในอาการนั้น ต้องพูดคุยกับท่าน ตลอดเวลาที่ท่านรู้ตัว เพื่อให้สมองได้ทำงาน มีความคิด รู้การโต้ตอบ หมั่นถามคำถามง่ายๆ หมั่นคุยถึงคนโน้นคนนี้ ที่ท่านรู้จัก ชวนคุย เรื่องอาหาร เรื่องท่องเที่ยว ห้ามคุยเรื่องข่าว เรื่องเครียดต่างๆ โดยเด็ดขาดค่ะ เรื่องการพูดคุย โดยลูกหลานนี้ สำคัญมากๆนะคะ คุณหมอบอกเลยค่ะ

ปูผัด (นามแฝง)

<