ความประทับใจของผู้ป่วย

" เมื่อนักเตะคนโปรดคุณกานต์นรินทร์ ถาวรศักดิ์ เจออุบัติเหตุในการแข่งขัน ดั้งจมูกหัก มาบอกเล่าความรู้สึกตั้งแต่เริ่มจนถึงหายดี แล้วทำไมถึงดูไม่ออกว่าดั้งจมูกหัก "

" เมื่อนักเตะคนโปรดคุณกานต์นรินทร์ ถาวรศักดิ์ เจออุบัติเหตุในการแข่งขัน ดั้งจมูกหัก มาบอกเล่าความรู้สึกตั้งแต่เริ่มจนถึงหายดี แล้วทำไมถึงดูไม่ออกว่าดั้งจมูกหัก "           วันที่ 2 ต.ค. 64 มีการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 1 การท่าเรือ เอฟซี พบ เมืองทอง ยูไนเต็ด ในจังหวะนั้นได้มีการขึ้นโหม่งของผมและผู้เล่นของเมืองทอง ทำให้ศีรษะของผู้เล่นทีมเมืองทองได้กระแทกมาที่จมูกของผม หลังจากนั้นก็ล้มลงและมีเลือดไหลบริเวณจมูก อาการในตอนที่ล้มลงก็คือ รู้สึกชา ยังไม่เจ็บเท่าไร แต่รู้ว่ามีเลือดไหลออกมาเยอะมาก ลืมตาไม่ขึ้นเพราะเลือดไหลเข้าตา แต่พอสักพักเริ่มรู้สึกปวดบริเวณที่โดนกระแทกมากขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกแรกที่หมอวินิจฉัยก็แอบตกใจว่าเป็นเยอะเหมือนกันนะ แต่ก็ไม่ได้กังวลมาก เพราะทำใจมาบ้างแล้วว่าจมูกหัก ที่กังวลตอนแรกก็คือกลัวเรื่องสมองกับตาจะได้รับผลกระทบ พอหมอวินิจฉัยว่ามีแค่ส่วนจมูกที่ได้รับบาดเจ็บและมีแผลฉีกไปถึงหน้าผากนิดนึงก็รู้สึกโอเคขึ้น หลังผ่าตัดรู้สึกดีขึ้นมาก เพราะหมอแจ้งว่าการผ่าตัดเป็นไปด้วยดีไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อยากให้ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุลักษณะนี้ไม่ต้องกังวลจะรักษาที่ไหนก็ตาม ขอให้เชื่อมั่นในการรักษาของหมอนะครับและควรเป็นหมอเฉพาะทางด้วยจะดีที่สุดครับ ผมโชคดีที่ได้มาที่โรงพยาบาลวิภาวดี เพราะมีทีมแพทย์ที่เก่ง รักษาได้รวดเร็วและมีผลลัพธ์ที่ดี ประทับใจในการดูแลของคุณหมอที่ให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่กังวลกับการรักษา หมอเย็บแผลได้สวยมาก และทีมแพทย์ที่ดูแลตลอดการพักฟื้นที่โรงพยาบาลวิภาวดีดูแลเป็นอย่างดี ขอบคุณครับ 

โรคงูสวัด 【แชร์ประสบการณ์จริง】อันตรายมากในผู้สูงอายุ: อาการยังไง & รักษาวิธีไหน

โรคงูสวัด ในช่วงนี้ มีการระบาดในกลุ่มผู้สูงอายุอยู่นะคะ ทุกคนอย่าประมาท ทีมงานสื่อสารองค์กร ขอสัมภาษณ์ดิฉัน เพราะคุณแม่เป็นโรคงูสวัดบนใบหน้า และเข้าถึงตาซ้าย ซึ่งอันตรายมาก แต่ดิฉันขอขียนเรื่องเอง เพราะต้องการบันทึกเรื่องราว เก็บไว้เอง เนื่องจากเป็นคนชอบเขียน คุณแม่ดิฉัน เป็นโรคงูสวัดค่ะ บริเวณที่เป็น คือ โซน B1 ใบหน้าซีกซ้ายบน เป็นครั้งหนึ่งที่คุณแม่ป่วย แล้วลูกๆ รู้สึกผิดมากมาย..... ดิฉันจะเล่าให้ฟังค่ะ เย็นวันจันทร์ที่ 15 กพ. พี่สาว โทรมาบอกว่า แม่มีอาการตาแดง ดิฉันขอให้ถ่ายรูปให้ดูพบว่า ตาแดงจริง แต่ไม่มาก จึงส่งรูปต่อไปยังคุณหมอโรคหัวใจที่รู้จักกัน ถามว่า ตาแดงระดับนี้ ควรงดยาละลายลิ่มเลือดไหม (กลัวเลือดจะออกในลูกตามากขึ้น) คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องงด ดิฉันตั้งใจว่า พรุ่งนี้เช้า ถ้าไม่ดีขึ้น จะให้พี่สาวพามาหาหมอตา แต่ช่วงที่โทรคุยกับพี่สาวนั้น แม่แย่งโทรศัพท์มาพูดกับดิฉันว่า “ทำไมแม่ปวดหัว” ดิฉันก็บอกว่า “ไม่มีอะไรหรอกค่ะแม่ คงมาจากปวดตานั่นแหละ กินพาราไปเม็ดนึงละกัน” – แต่ก็ทราบจากพี่สาวต่อมาว่า แม่ไม่ได้กินยา เช้า อังคาร ที่ 16 กพ. อาการตาแดง ของแม่เป็นมากขึ้น พี่สาวจึงพามาหาหมอตาที่รพ.วิภาวดี หมอวินิจฉัยว่า เปลือกตาอักเสบมาก ผิวเปลือกตาที่อักเสบ เป็นขรุขระ ครูดกระจกตาเป็นรอย .... แค่นี้ดิฉันก็ใจแป้วแล้ว แม่คงเจ็บตามาก แต่หมอตาก็เอะใจ พยายามหาเม็ดและผื่น บริเวณใบหน้า ว่ามีบ้างไหม ก็ไม่มี ... ตลอดเวลา ที่อยู่ รพ. และอยู่กับหมอ แม่บ่นว่า ..ปวดหัว.... หมอตานัดแม่ วันรุ่งขึ้นเลย เพื่อติดตาม กระจกตา  และดูเชื้อในตา ว่าเป็นไวรัส หรือแบคทีเรีย กลับบ้าน แม่ยังคงบ่นปวดหัว คราวนี้ดิฉันให้กินพาราอีก แม่ก็กินไป 1 เม็ด เช้า พุธที่ 17 กพ. พาแม่หาหมอตา ดูกระจกตา พบว่า ยังไม่ดีขึ้น หมอกลัวจะเป็นโรคอื่นแล้ว เช่น เริม ดูเม็ดต่างๆ ตามใบหน้า (โดยเฉพาะซีกซ้าย) ก็ไม่พบ ...และ แม่ก็บ่นปวดหัวตลอด หมอตานัดอีก วันรุ่งขึ้นเพื่อติดตาม เช้ามืด พฤหัสที่ 18 กพ. พี่สาวส่งรูปใบหน้าแม่ ที่มีตุ่มใสๆขึ้น และผื่นแดงขึ้นที่หน้า ซีกซ้าย ให้ดู ดิฉันใจหล่นไปกองข้างล่าง  มือไม้สั่น รีบอ่านเรื่อง เริมขึ้นที่ตา พบว่า อาการนำ คือปวดหัวมาก !! และถ้ามีปัญหาถึงกระจกตา อาจถึงขั้นทำลายกระจกตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ ครั้งนี้ ดิฉันนัด 3 หมอ หมอผิวหนัง (เรื่องเริม) หมอตา (เรื่องกระจกตา) และหมอระบบประสาทวิทยา (เรื่องปวดหัว) และรีบไปรับแม่มารพ. พอหมอผิวหนัง เห็นหน้าแม่เท่านั้น หมอบอกว่า เป็นงูสวัด (ไม่ใช่เริม) เพราะแนวที่ขึ้นเม็ดและผื่น เป็นตามแนวเส้นประสาทพอดีซึ่งเส้นประสาทบริเวณใบหน้าเรา จะน่าทึ่งมาก คือแบ่งกึ่งกลางใบหน้าพอดีเป๊ะ โซนที่เป็น เรียกว่า โซน B1 (เหมือนโซนที่จอดรถเลย) คือใบหน้าซีกซ้ายบน (ใบหน้าซีกซ้ายกลาง คือ B2 และใบหน้าซีกซ้ายล่าง คือ B3) และ แม่จะต้องเจ็บปวด ทรมานมาก หมอบอกว่า ... แม่อดทนมาก ดิฉันแทบร้องไห้เลยค่ะ คำว่าปวดหัว ปวดหัว ที่ได้ยินจากแม่มา 2-3 วัน ลูกๆ กลับคิดว่า เป็นอาการปวดหัวปกติ หรือปวดหัวอันเกิดจากตาอักเสบ พอพาไปหาหมอตาต่อ หมอตาให้ นอนรักษาที่รพ. เลยค่ะ (พญ.ผกานาฏ เอี่ยมตระกูล) เพราะการรักษางูสวัด ที่จะหายโดยเร็ว คือการให้ยาทางหลอดเลือดดำ และคุณแม่ก็อายุมากแล้ว ควรรีบรักษาโดยด่วน ซึ่งก็นับว่า อยู่ในระยะเวลาที่รู้โรค และรักษาได้เร็ว คุณหมอด้านระบบประสาทวิทยา (ที่ดิฉันก็นัด นพ.พงศกร ตนายะพงศ์)  ตามไปดูแม่ให้ บนห้องที่พัก บอกว่า อาการปวดหัวของแม่ ตรงไปตรงมามาก จากโรคที่เห็น (งูสวัด) ไม่ใช่โรคที่เกิดจากภายใน (หลอดเลือดสมอง)แต่อย่างใด แต่คุณหมอก็ตรวจสอบอาการทั้งหมดด้วย เมื่อพี่ๆ รู้โรคของแม่ ต่างไลน์สำนึกผิดกันในไลน์กลุ่มพี่น้อง เพราะแม่เอง ก็ Early Detect ตัวเอง ด้วยการบอกเรื่องปวดหัว ๆ มาโดยตลอด แม่นอนโรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 18 – 22 กพ. ช่วงที่อยู่รพ.อาการของโรคงูสวัดดีขึ้นทุกวัน จากยาที่ได้รับทางหลอดเลือดดำ ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือกระจกตา ที่มีความเสียหาย แต่ร่องรอยก็ดีขึ้นเป็นลำดับ คุณหมอทุกท่านแต่ละด้าน เอาใจใส่ดีมาก ขอบคุณ คุณหมอกิตติ ตระกูลรัตนาวงศ์ เป็นเจ้าของไข้ และคุณหมอที่ปรึกษาทุกท่าน ทั้งด้านโรคไต โรคผิวหนัง ที่ อดทนตอบคำถามของแม่(และลูกๆผู้สำนึกผิด) ส่วนพยาบาล ก็ต้องเข้าห้องคุณแม่บ่อยมาก เพราะต้องให้ยา และหยอดยาตา ทุก 4 ชม. น้องๆพยาบาล พยายามพูดคุย หยอกล้อกับคุณแม่ ให้คุณแม่คลายกังวล และลืมเรื่องปวดหัวไปได้มากดิฉันและพี่ๆ ขอขอบคุณ น้องพยาบาล Ward 8 V ทุกท่าน มา ณ โอกาสนี้ด้วย ผลพวงที่ตามมา จากการได้รับยาหลายขนานในผู้สูงอายุ คือแม่จะง่วงนอนตลอดเวลา ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน บางทีก็ฝันว่าไปที่นู่นที่นี่ บางทีก็พนมมือสวดมนต์ปากขมุบขมิบ แม่ยังพูดคุยกับลูกรู้เรื่อง แต่สักพักก็ลืม พอกลับบ้าน ปัญหาใหญ่ที่พี่สาวต้องดูแล (เพราะแม่อยู่กับพี่สาว) คือแม่จะเบลอ เพราะยานี่แหละค่ะ แม่มักจะง่วงนอน จำอะไรไม่ค่อยได้ จนคุณหมอให้ลดยา หรือ เว้นทานยาบ้าง ถ้าแม่ไม่ร้องปวดหัว (หมอบอกว่า งูสวัดในผู้สูงอายุนี้ จะมีความเจ็บปวดอยู่นาน)  แม่จะเป็นปกติ สติสัมปชัญญะ คืนมา รับโทรศัพท์เองได้ ประชดประชันได้ ด่าสุนัขได้เหมือนเดิม ทุกวันนี้ พี่สาวบริหารยา โดยค่อยๆลดยา เกี่ยวกับโรคปวด ของงูสวัด ลงเรื่อยๆ ตามที่หมอบอก ส่วนหมอตา ยังคงเฝ้าติดตาม เรื่องกระจกตาทุกสัปดาห์ แม้ว่า กระจกตาที่เสียหาย จะค่อยๆสมานจากด้านลึกแล้ว แต่ตาด้านซ้ายแม่ ยังมองไม่ชัด ยังคงต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ผ่านไป แม้ว่าแม่จะค่อยๆ ฟื้นตัวแล้ว  แต่ความรู้สึกของดิฉันและพี่ๆ ยังติดตรึงกับการให้แม่ ต้องปวดหัว ทรมานอยู่ 3 วัน เพราะคิดว่าเป็นการปวดหัวธรรมดา ตอนนี้  คิดเพียงแค่ให้แม่ได้พบหมอคนไหน เวลาไหน ก็ได้ เพื่อให้แม่ ได้เป็นปกติ ในวัย 89 อย่างเร็วที่สุด สิ่งที่อยากบอกจากการถอดบทเรียนนี้ อาการนำของโรคงูสวัด อาจไม่ใช่เม็ดตุ่ม หรือผื่นแดงก่อนเสมอไป การที่ผู้สูงอายุ รีบบอกอาการที่เป็น มากกว่าเลือกที่จะอดทนและเงียบไว้  ถือเป็นเรื่องที่ดี และต้องหาหนทางค้นหาโรคให้ได้ อย่าได้เห็นการร้องขอความช่วยเหลือนั้น เป็นเรื่องปกติ ถ้ามีการบอกกันบ่อยๆ วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นเรื่องจำเป็นแล้วค่ะ ควรรีบฉีด ตั้งแต่อายุ 60 ปี เพราะการกระตุ้นภูมิจะดีกว่า การฉีดในอายุที่มากกว่านี้ การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะลดลงตามลำดับ การฉีดวัคซีน ไม่ได้ป้องกันโรค 100 %  คนที่ฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด ยังมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง ผู้สูงอายุ ที่มีอาการเบลอ อย่าให้ท่าน จมอยู่ในอาการนั้น ต้องพูดคุยกับท่าน ตลอดเวลาที่ท่านรู้ตัว เพื่อให้สมองได้ทำงาน มีความคิด รู้การโต้ตอบ หมั่นถามคำถามง่ายๆ หมั่นคุยถึงคนโน้นคนนี้ ที่ท่านรู้จัก ชวนคุย เรื่องอาหาร เรื่องท่องเที่ยว ห้ามคุยเรื่องข่าว เรื่องเครียดต่างๆ โดยเด็ดขาดค่ะ เรื่องการพูดคุย โดยลูกหลานนี้ สำคัญมากๆนะคะ คุณหมอบอกเลยค่ะ ปูผัด (นามแฝง)

มหัศจรรย์แฝด 5 กับบทบาทคุณแม่..มือใหม่

         เนื่องจากวารสาร Vibhavadi.com ฉบับที่แล้ว  เราได้สัมภาษณ์  ครอบครัว  ศิริบัญชาวรรณ  ที่ประสบความสำเร็จได้ทารกแฝด  5 คน  (เด็กผู้ชาย 2 คนเด็กผู้หญิง 3 คน)จากการทำเด็ก-หลอดแก้ว ที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช รพ.วิภาวดี  ตอนนี้น้องทั้ง  5 คน อายุเกือบ 3 เดือนแล้ว น่าตากำลังน่ารักน่าชังเชียว คุณปฐมพล - คุณเกี้ยวกุ้ง  ศิริบัญชาวรรณ คุณพ่อ-คุณแม่ของทารกแฝด 5 บอกกับเราว่าน้องๆ ทุกคนสุขภาพแข็งแรงดีพัฒนาการก็ดี  แล้วก็เลี้ยงง่ายกันทุกคนประกอบกับในเดือนสิงหาคม  เป็นเดือนของวันแม่เราเลยขอสัมภาษณ์คุณแม่มือใหม่อย่างคุณเกี้ยวกุ้งว่ามีวิธีการเลี้ยงลูกแฝดทั้ง 5 คน อย่างไรบ้าง พร้อมกับเก็บรูปน่ารักๆของน้องทั้ง 5 คน มาฝากด้วยค่ะ          (น้องผู้หญิงคนโตชื่อน้องเอวี่ คนที่ 2  ชื่อน้องแอลลี่ ผู้ชายคนที่ 3 ชื่อน้องแอนดรูว์ ผู้ชายคนที่ 4 ชื่อน้องแอนดริวและลูกสาวคนที่  5 ชื่อ น้องเอมม่า) ตอนนี้น้องทั้ง  5 คน  เป็นอย่างไรบ้างคะ ?           ตอนนี้น้องๆ อายุเกือบ 4 เดือนแล้วค่ะสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกคนค่ะแล้วน้องทุกคนก็ได้ทานนมทุกคนค่ะ เราจ้างพี่เลี้ยงมา 3 คน แล้วก็มีคุณยายและตัวดิฉันด้วยช่วยกันเลี้ยงลูกๆทั้ง 5 คนค่ะ คุณเกี้ยวกุ้งกล่าว    น้องแฝด  จะร้องไห้ งอแง ตอนไหนมากที่สุดคะ ?         “ น้องๆจะร้องพร้อมๆกันเลยค่ะ  เวลาที่พวกเขาหิวแล้วก็ปวดท้องค่ะซึ่งคุณพ่อของเค้ามักจะบอกว่า  เวลาที่ลูกๆร้องพร้อมกันดังเหมือนเมโลดี้เพลงเลยค่ะ” คุณแม่เริ่มวางแผนการเลี้ยงลูกๆหรือยังคะ ?        “  ที่คิดไว้ตอนนี้นะคะ  ก็คือถ้าพวกเค้าโตขึ้นอีกหน่อยต้องทำบ้านใหม่ค่ะ  และคงจะให้เรียนหนังสือในโรงเรียนแถวๆบ้านค่ะ  ดิฉันจะเลี้ยงพวกให้ดีที่สุดแล้วก็เลี้ยงแบบธรรมดาทั่วไปเหมือนที่คุณแม่เลี้ยงดิฉันมานั่นแหละค่ะแต่ว่าที่ทำแล้วตอนนี้คือ คุณพ่อเค้าซื้อรถตู้ใหม่ 1 คันค่ะเพื่อที่จะไปไหนมาไหนจะได้สะดวกมาขึ้นคะ ” คุณพ่อช่วยเลี้ยงบ้างไหมคะ ?        ปกติคุณพ่อต้องไปทำงานค่ะ  แต่ช่วงที่กลับจากทำงานก็มาช่วยเลี้ยงบ้างก็ช่วยอุ้มลูกๆทั้ง 5 คนแหละค่ะเรียกว่าช่วยเท่าที่ทำได้นั่นแหละค่ะ  คุณเกี้ยวกุ้งกล่าว วางแผนอนาคตให้ลูกอย่างไรบ้างคะ ?        “ ไม่ได้วางเลยค่ะ  โตขึ้นพวกเค้าอยากทำอะไร อยากเรียนอะไร  ก็แล้วแต่พวกเค้าไม่บังคับค่ะ  ขอแค่ให้พวกเค้าเป็นคนดีและไม่สร้างปัญหาให้กับสังคมก็เพียงพอแล้วค่ะ” ในอนาคตอยากจะมีลูกเพิ่มอีกไหมคะ ?         ดิฉันได้คุยกับสามีแล้วค่ะ  ว่าเราอยากจะมีลูกอีกค่ะอาจจะอีกซัก 1-2 คน  เพื่อที่จะให้ ลูกๆแฝด 5 ของเราได้มีน้องๆกันค่ะแต่น่าจะเว้นไปซัก  4-5 ปีค่ะ  รอให้พวกเค้าโตก่อน  คุณเกี้ยวกุ้งพูดพร้องกับอมยิ้ม ในฐานะที่เป็นคุณแม่ที่วัยรุ่นมาก แถมยังเป็นคุณแม่มือใหม่ด้วย  รู้สึกอย่างไรคะที่ต้องเลี้ยงลูกแฝดตั้ง  5 คน  ?        “ รู้สึกเหนื่อยมากค่ะแต่เป็นการเหนื่อยที่มีความสุขมากที่สุด  ยิ่งเห็นพวกเค้าโตขึ้นทุกวันก็ยิ่งมีความสุขค่ะ แต่ดิฉันอาจจะโชคดีที่มีพี่เลี้ยงและคุณยายมาช่วยเลี้ยงด้วยค่ะ  แต่เวลาที่จะพาพวกเค้าเดินทางไปไหนแต่ละครั้งก็ต้องมีการวางแผนการเดินทางก่อน  เพราะจะวุ่นวายมากอย่างกับเวลาที่ต้องพามาพบแพทย์ที่รพ.วิภาวดี  ก็ต้องพาลูกๆสลับวันกันมาค่ะ  แต่โดยภาพรวมแล้วครอบครัวเรามีความสุขมากๆค่ะ”          สำหรับครอบครัวน้องแฝด 5 นี้ ถือว่าเป็นปาฏิหาริย์มากๆ และเมื่อมีไหร่..ที่มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นปาฏิหาริย์นั้นก็ย่อมจะทำให้มีแต่ความสุข... ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากฯ รพ.วิภาวดี  รู้ลึกยินดีและภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัว ศิริบัญชาวรรณ  สมบูรณ์และมีความสุขค่ะ

“เพียงเสี้ยวนาที ก็พลิกชีวิตคุณได้ หากตัดสินใจถูกต้อง”

 “เพียงเสี้ยวนาที ก็พลิกชีวิตคุณได้ หากตัดสินใจถูกต้อง”          พลเอก หม่อมหลวง กิติมาศ สุขสวัสดิ์ อายุ 67 ปี เข้าทำการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โดย นพ.จีระศักดิ์ อรุณธารี และ นพ. เสมชัย เพาะบุญ อายุรกรรมโรคหัวใจ ประจำโรงพยาบาลวิภาวดี ในขณะที่นั่งทำงานเหมือนทุกวัน ตอนเช้าทางเราได้รับโทรศัพท์ให้ขึ้นไปที่ Ward 12A มีคนไข้ต้องการให้เราขึ้นไปพบเลย เพื่อกล่าวชม รพ. โดยตอนแรกทราบเพียงเบื้องต้นว่าเป็น คนไข้ โรคหัวใจตีบตัน เมื่อเรามาถึงห้องที่คนไข้ อยู่ เราก็ต้องยิ่งประหลาดใจ เมื่อเข้ามาและพบกับรอยยิ้มของคนไข้ ไม่เหมือนคนที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดมาเลย ทำให้ทางเราอยากที่จะรู้เรื่องราวของท่านให้มากขึ้น “มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ เพียงแค่เสี้ยวนาทีจริงๆ” เป็นคำพูดของ พลเอกหม่อมหลวงกิติมาศ สุขสวัสดิ์ ที่บอกเล่าถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองบอกว่า “ผมประมาทไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวผมเอง เพราะคิดว่า ตัวผมเองแข็งแรงและรับราชการเป็นนักบิน ได้รับการตรวจ โรคทุก 6 เดือน มีเพียงต้องควบคุมเรื่องความดัน แต่ผมละเลยในเรื่องของการตรวจเช็คหัวใจ จนในวันนั้น เหตุการณ์ที่ทำให้ผมและครอบครัว ได้พอเจอกับนาทีชีวิตก็ได้เกิดขึ้น              “ ตอนนั้น เวลา 09.00 น. อยู่บ้านกับภรรยา ก็ไปช่วยกันตัดต้นไม้ ต้นไม้ก็ต้นใหญ่มาก ต้องออกแรงเยอะ โดยผมเป็นคนออกแรง ก็คิดว่าตัวเองเก่งไง แดดร้อน เหงื่อออกเต็มตัว หลังจากอาบน้ำเรียบร้อยก็มานั่งพัก และอยู่ดีๆ ก็แน่นที่หน้าอก แขนเริ่มชาจนถึงปลายนิ้ว พอเริ่มเห็นอาการตัวเองก็นึกถึงข้อความทาง Line ที่กลุ่มเพื่อนเคยส่งมาให้อ่าน ก็คิดว่าน่าจะเป็นอาการของหลอดเลือดหัวใจตีบตัน” ท่านยังบอกต่อว่า เมื่อเกิดอาการก็ได้บอกภรรยาและลูกชายให้พาไปโรงพยาบาล พอนั่งรถออกจากบ้าน เพื่อไป โรงพยาบาลที่รักษาอยู่เป็นประจำโดยลูกชายเป็นคนขับรถให้แต่รถติดมากและระยะทางไป รพ.ประจำไกลมาก บ้านผมอยู่แถวเสนา ก็คิดว่าอาจไม่ทันการได้ ซึ่งตอนนั้นผมขอบอกเลยตัวผมงอเหมือนกุ้งแล้ว จึงตัดสินใจมาที่โรงพยาบาลวิภาวดี เพราะใกล้บ้านที่สุด และลูกชายก็ได้ยินมาว่าที่นี้มีศูนย์หัวใจอยู่ และอุปกรณ์ก็ครบครัน ” ซึ่งลูกชายผมเป็นคนไข้ของ รพ.วภาวดีอญู่แล้วแต่รักษาโรคอื่น เมื่อมาถึง ความประทับใจอย่างแรกที่ท่านได้รับคือ ความพร้อมและความรวดเร็วในการรักษา “ พอมาถึงพยาบาลและหมอที่ห้องฉุกเฉิน มืออาชีพจริงๆ ต้องขอบอกห้องฉุกฉินทำงานเร็วมาก และรักษาผมทันทีไม่ต้องมามัวคอยซักประวัติโน่นนี่นั้น ทำให้ผมประทับใจมากๆ ตอนนั้นหมอบอกผมว่า ผมเส้นเลือดหัวใจตีบ ต้องทำการสวนหัวใจหรือฉีดสี[1] ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่ากลัว แต่ก็ต้องทำ เพราะเรานึกถึงครอบครัว ภรรยาและลูกว่าพวกเขาจะอยู่อย่างไร ถ้าไม่มีเรา ภรรยาผมจะทำอะไรได้บ้าง เพราะทุกทีผมเป็นคนดูแล เขา ซึ่งคุณหมอได้พูดคุย อธิบายขั้นตอน การฉีดสีว่าทำอย่างไร มีทีมแพทย์เฉพาะทางดูแลตลอด จนผมคลาย กังวล และคุณหมอให้กำลังใจดีมาก ” “พอลงไปถึงห้องสวน คุณหมอเสมชัย อายุรแพทย์โรคหัวใจ บอกก่อนผ่าตัดว่าเจ็บเท่ากับฉีดยาชา โดยที่น้ำเสียงของคุณหมอเป็นปกติมาก ทำให้ผมลดความกดดันไปได้เยอะเลย ซึ่งขณะผ่าตัดผมนั่งมองเห็นเจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความยิ้มแย้ม ปลอบผมตลอด และยังมองออกมาจากกระจกที่สามารถมองออกมาเห็นภรรยาและลูกที่เข้ามาคอยให้กำลังใจไม่ห่าง ”         ซึ่งท่านบอกกับเราว่าอยากบอกเล่าเรื่องราวของท่าน เพื่อเป็นประสบการณ์และอุทาหรณ์ สำหรับคนที่ปล่อยปะละเลยหัวใจซึ่งสำคัญที่สุดไป และพูดทิ้งท้ายว่า “ ผมเข้าใจเลยว่านาทีชีวิตมันเป็นยังไง และการตัดสินใจที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะผมละเลยในเรื่องของ การตรวจเช็คสุขภาพหัวใจ ทั้งที่หัวใจคือสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด แต่เราไม่เคยใส่ใจเขา และขอฝากแนะนำไปถึงทุกคนว่า ควรไป ตรวจเช็คสุขภาพหัวใจทุกปี และทานอาหารให้ถูกหลักอนามัย เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมากจริงๆ เงินทองมากมายก็ ไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีได้ เราต้องดูแลเอง”

แจ๊คพอตโรค แจ๊คพอตชีวิต

แจ๊คพอตโรค แจ๊คพอตชีวิต กับการผ่าตัด โรคปวดใบหน้า (TRIGEMINAL NEURALGIA) ”แจ๊คพอตโรค แจ๊คพอตชีวิต” ชื่อคนไข้ :คุณประพันธ์ พงษ์วชิรินทร์ อาการ : โรคปวดใบหน้า (TRIGEMINAL NEURALGIA) แพทย์เจ้าของไข้ :นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทวิทยา        ถ้าพูดถึง คำว่า “ แจ๊คพอต” หลายๆคน ก็คงจะนึกถึงในเรื่องที่เป็นแง่ดี ไม่ว่าจะเป็นการถูกรางวัล หรือการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ สำหรับคุณ “ประพันธ์ พงษ์วชิรินทร์ ” สิ่งที่เขาได้รับจากคำว่า “แจ๊คพอต” คือสิ่งที่เขาไม่พึงปรารถนาเลย เพราะสิ่งที่คุณประพันธ์ได้รับ คือความเจ็บปวด และทรมานจากอาการของโรคปวดใบหน้า (TRIGEMINAL NEURALGIA) ซึ่งในวันนี้ ทาง รพ. วิภาวดี ได้รับเกียรติจากคุณประพันธ์ มาบอกเล่าถึงประสบการณ์และความรู้สึกถึงการเป็นโรคปวดใบหน้า (TRIGEMINAL NEURALGIA) ให้เราฟัง “ตอนที่เป็น จะรู้สึกเจ็บแปลบๆ บนใบหน้า ลามไปจนทำให้เจ็บกระบอกตา และจะเคี้ยวข้าว แปรงฟัน หรือโดนลมไม่ได้เลยเพราะจะทำให้เจ็บมาก จนทำอะไรไม่ได้เลย ทำให้ชีวิตประจำวันของผมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ” เริ่มแรกของการรักษาอาการ ?       “ ได้ไปหาหมอมาหลายที่ครับ โดยคุณหมอท่านแรก ให้ผมทานยาครับ ผมทานยารักษาอาการถึง 4 ปี ก็ยังไม่ดีขึ้นและไปหาอีกหลายที่ก็ยังเหมือนเดิม” มารักษาที่โรงพยาบาลวิภาวดีได้อย่างไร ?       “จริงๆแล้วผมเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลวิภาวดีอยู่แล้ว เพราะใกล้บ้าน แต่ก็ยังไม่เคยรักษาโรคนี้เลย ไปมาหลายที่แล้ว ไม่หาย เลยลองเข้ามาตรวจดู โดยพบกับ พญ.กัลยา ดำรงศักดิ์ อายุรแพทย์ระบบประสาทวิทยา รพ.วิภาวดี ซึ่งคุณหมอแนะนำว่าให้ผมทำการผ่าตัดกับคุณหมอเมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทวิทยา โรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งก็ตรงกับเพื่อนผมคนนึง ผ่าตัดกับท่านมา เขาบอกว่าคุณหมอเมธี เก่งมาก โดยช่วงแรกผมยังมีความกังวลใจอยู่ เพราะผมเป็นโรคหัวใจด้วย จึงยังไม่กล้าเสี่ยง เว้นระยะเวลานานถึง 6 เดือน เหตุผลอะไรที่ทำให้ตัดสินใจทำการผ่าตัดในครั้งนี้ค่ะ ?       “เพราะมันเจ็บปวดมาก เจ็บจนทนไม่ไหว ที่จริงคุณหมอพร้อมผ่าตัดอยู่แล้ว รอแค่เพียงทางผม ต้องหยุดยาละลายลิ้มเลือด แต่มันปวดมากจนทนไม่ไหว อีกทั้งเพื่อนที่เคยมาทำการรักษาให้ความเชื่อมั่น ก็เลยตัดสินใจผ่าตัด” ความรู้สึกหลังการผ่าตัด เป็นอย่างไรบ้างค่ะ?       “ไม่มีอาการเจ็บแปลบ แบบที่เคยเป็นเหลืออยู่เลย ตอนนี้รู้สึกสบายมากเลยครับ และแผลที่เกิดจากการผ่าตัดก็ไม่ใหญ่ ขนาดแค่ 3-4 ซม. ครับ ที่สำคัญไม่ต้องโกนผม เนื่องมาจากเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้นครับ” หลังจากนี้ มีการวางแผนอย่างไร หลังจากหายจากโรคปวดใบหน้า (TRIGEMINAL NEURALGIA) แล้วบ้างค่ะ?       “ อย่างแรกผมจะกลับไปทำงานครับและพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศเพราะไม่ได้ไปมานานกว่า 4 ปี” สุดท้ายขอให้คุณประพันธ์ฝากอะไรไว้สักนิดค่ะ       “ ผมขอฝากข้อคิดเล็กๆน้อยไว้ว่า ให้กล้าตัดสินใจคิดจะทำอะไรให้รีบทำ โดยหาข้อมูลประกอบ ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลเข้าถึงง่ายมาก อย่าปล่อยให้ตัวเองทรมาน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องมี “ศรัทธา” ในตัวคุณหมอที่ทำการรักษา”     ปัญหาที่พบบ่อย คนไข้ ไม่ทราบว่า สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งผ่าตัดได้ ไม่อันตรายมาก ได้ผลดี ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้หายปวด โดยใช้เวลาในการผ่าตัด 1 ชม. และนอน รพ. 1-2 คืน แล้วสามารถที่จะกลับบ้านได้ ใช้ชีวิตตามปกติได้เลย

คิดว่า (แค่) บาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ

    คิดว่า (แค่) บาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ        อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เหมือนอย่างกับ คุณแจ็ค หรือ คุณภาวัต วราเมธพาสุข อายุ 46 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ที่ชอบเล่นกีฬากอล์ฟ และมีอาการปวดหลังมาก แต่คิดว่าอาการดังกล่าวนั้น เป็นอาการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ สุดท้ายคุณแจ็ค ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่รพ.วิภาวดี คุณแจ็คเป็นอะไร ทำไมต้องผ่าตัด เราไปถามคุณแจ็คกันดีกว่าค่ะ ช่วยเล่าอาการก่อนมารักษาตัวที่รพ.วิภาวดี ให้ฟังหน่อยค่ะ ? “ผมมีอาการปวดหลังมาเป็นปีแล้วครับ และปกติผมก็ชอบตีกอล์ฟมาก ตีเกือบทุกอาทิตย์ ผมจึงคิดว่าอาการปวดหลังที่ผมเป็นน่าจะมาจากอาการบาดเจ็บจากการเล่นกอล์ฟ จนกระทั่งวันนั้นผมเดินสะดุดบันได โดยไม่รู้ตัว เพราะผมรู้สึกชาตั้งแต่เอวไปจนถึงฝ่าเท้าและผมก็เดินไม่ได้ เลยมารักษาตัวที่รพ.วิภาวดี” เป็นคนไข้ของ รพ.วิภาวดีหรือเปล่าคะ ? “ผมเคยมาใช้บริการของศูนย์พัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟ ของรพ.วิภาวดี ก็เลยหาข้อมูลของรพ.วิภาวดีทาง website ก่อน ทั้งๆที่ผมอยู่ใกล้รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แล้วผมก็เจอ Case หลายๆ Case ที่มีสัญญาณเตือนคล้ายๆกับผม ซึ่งทำการผ่าตัดกับ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทวิทยารพ.วิภาวดี ผมจึงเช็คเวลาออกตรวจของคุณหมอเมธี และมาพบท่านในเวลาออกตรวจของรพ.วิภาวดี” จากการตรวจรักษา คุณหมอเมธี บอกว่าคุณแจ็คเป็นอะไรคะ ? ตอนแรกท่านให้ผมทำ MRI ( MRI = เครื่อง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่มีความเร็วสูง ทำให้ภาพที่มองเห็นชัดเจนมาก และสะดวกต่อการวินิจฉัยของแพทย์) จากผล MRI พบว่ามีเนื้อปลิ้นออกมาจากหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งมันกดทับเส้นประสาทอยู่ คุณหมอแนะนำการรักษาให้ผม 2 วิธี ครับ คือ การทานยา และการผ่าตัด และจากการพูดคุยกับคุณหมออย่างละเอียดทำให้ผมตัดสินใจรักษาที่ต้นเหตุด้วยการผ่าตัดครับ คุณแจ็คกล่าว (ตอนนี้) หลังจากผ่าตัดแล้ว เป็นอย่างไรบ้างคะ ? “ ตอนนี้อาการชาน้อยลงมาก อาการเจ็บแผลก็ยังมีอยู่บ้าง คุณหมอบอกว่าอาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ แผลจากการผ่าตัดก็ไม่ใหญ่ครับ ผมรู้สึกว่าตัวเองฟื้นตัวเร็วมาก อาจจะเป็นเพราะผมชอบออกกำลังกายด้วยนะครับ และคุณหมอเมธีก็อนุญาตให้ผมกลับบ้านได้ แต่ต้องงดออกกำลังกาย งดตีกอล์ฟก่อน และนัดมาพบคุณหมอเมธีเป็นระยะๆ ครับ” อยากบอกอะไรกับผู้ที่มีอาการปวดหลังบ่อยๆบ้างคะ ? “ อาการปวดหลังนี้ อาจเป็นได้หลายสาเหตุครับ บางทีอาจจะคิดว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ก็เลยไม่ค่อยใส่ใจดูแลรักษา อย่างกับตัวผมก็ทนปวดหลังมาเป็นปี รอจนชา จนเดินไม่ได้ จึงค่อยมาตรวจรักษา จนผมแอบคิดในใจว่า ผมอาจจะไม่ได้ตีกอล์ฟอีกแล้วก็ได้ ผมอยากบอกว่า การผ่าตัดในปัจจุบันนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความเชี่ยวชาญของแพทย์ เพราะฉะนั้นการผ่าตัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแล้วครับ” รพ.วิภาวดี ขอเอาใจช่วยให้คุณแจ็คหายไวๆ แล้วก็สามารถกลับมาตีกอล์ฟได้เหมือนเดิมนะคะ อย่างกับที่คุณแจ็คบอกนั่นแหละค่ะว่า ถ้าคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่มีอาการปวดหลังเป็นประจำ อย่านิ่งนอนใจนะคะ ควรที่จะมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติและเพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง และ รพ.วิภาวดี เราก็พร้อมให้บริการคุณ

เมื่อหมอออร์โธ เป็นอัมพฤกษ์

              นพ.วีระยุทธ เชาว์ปรีชา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ รพ.วิภาวดี ขอถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ตรง เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่ได้อ่านบทความนี้ ในการดูแลสุขภาพตัวเอง และป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พร้อมทั้งอยากให้กำลังใจสำหรับผู้ป่วยและญาติ ที่จะต่อสู้กับโรคอัมพฤกษ์อัมพาตที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด เช้าวันที่ 27 ม.ค. 2557 ผมตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะลงจากเตียงรู้สึกมึนศีรษะ เดินเซ แขนและขาซ้ายขวาอ่อนแรง แต่ยังพอเดินเกาะฝาผนังไปเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ  แปรงฟันได้ รู้สึกตัวเองแล้วว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดสมองตีบตัน จึงรีบแต่งตัวให้ภรรยาขับรถพาไปโรงพยาบาล เมื่อถึงห้องฉุกเฉิน พยาบาลได้วัดสัญญาณชีพ ความดันสูง 190/100 มม. ปรอท มีไข้สูง 38.5 c  แพทย์ห้องฉุกเฉินสั่งตรวจคลื่นแม่เหล็กสมอง และติดต่ออายุรแพทย์สมองทันที ผมได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วนอนพักในห้องไอซียู ผมได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์และพยาบาลอย่างดีที่สุด ผมมั่นใจว่าคงจะดีขึ้นในเวลาไม่กี่วัน เพราะยังเคลื่อนไหวมือแขนได้ดี ในวันต่อมาผมรู้สึกปวดชา แขน ขา ซีกขวามากขึ้นเหมือนมีอะไรมาทับ เริ่มอ่อนแรงมากขึ้นข้อเท้า นิ้วเท้าข้างขวาขยับไม่ได้ ผมเป็นอัมพฤกษ์ไปแล้ว! ผมเกิดคำถามกับตัวเอง ? ทำไมโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นกับผม / ผมจะใช้ความรู้มารักษาตัวเองร่วมกับแพทย์ที่ดูแลใกล้ชิดได้อย่างไร เพื่อที่จะกลับมาทำงานได้คือ การเป็นแพทย์ผ่าตัดจุลศัลยกรรม และที่สำคัญคือกลับมาเล่นกอล์ฟได้อีกครั้ง จากวันที่ป่วยระยะเวลาผ่านไป 3 ปี ปัญหาที่ใหญ่มากในชีวิตก็กลายเป็นบทเรียน บททดสอบ อันทรงคุณค่า ผมสามารถกลับมาทำงานได้ปกติ ผ่าตัดจุลศัลยกรรมต่อนิ้วได้เป็นผลสำเร็จ และเริ่มกลับมาแข่งกอล์ฟได้ร่วมกับการแข่งขันเดินวิ่ง 3 – 5 กม. ซึ่งได้ลงแข่งขันมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง          ผมขอสรุปเรื่องที่เกิดขึ้นกับผมให้เป็นความรู้ดังนี้          ปัจจัยเสียงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง         1.ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ -อายุมากกว่า 45 ปี -พันธุกรรม -มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ผมมีปัจจัยเสี่ยงทั้งข้อ 1 และข้อ 2        2.ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงควบคุมได้            2.1น้ำหนักตัวมากเกิน คำนวณได้จากค่า Body mass Index (BMI) ค่า BMI ที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 21 – 25 โดยใช้ นน.ตัว (กก.) เช่น 80 = 28.34 ความสูง (เมตร) ยกกำลัง 2 1.68 x 1.68          2.2อาหาร แต่เดิมชอบอาหารหวาน มัน เค็ม ปัจจุบันไม่ทานอาหารประเภทของทอดและงดอาหาร หวาน มัน เค็ม กินผัก ผลไม้ ปลา เป็นส่วนใหญ่ ไม่ทานอาหารเย็น กินผลไม้ เช่น ฝรั่ง แตงโม กล้วย แทน          2.3การออกกำลังกาย ก่อนที่จะป่วยผมเล่นกอล์ฟสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ปัจจุบันผมออกกำลังกายแบบแอโรปิค คือ ต่อเนื่อง 20 – 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง ในปีแรกที่ยังเดินและทรงตัวไม่ได้ ก็ได้หัดเดินในน้ำออกกำลังกายแขนขาในน้ำ 1 ชม. 360 วันใน 1 ปี หลังจากที่เริ่มเดินได้ ว่ายน้ำได้ ฝึกเดินสายพาน 20 นาที ว่ายน้ำเฉลี่ย 20 รอบ (ประมาณ 400 เมตร) และได้เริ่มฝึกใช้มือหัดคัดลายมือทั้งภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม จนสามารถเขียนหนังสือได้แบบเดิม ฝึกทำกิจกรรม ทำงานบ้าน ล้างจาน เช็ดโต๊ะ ช่วยทำครัว จนทำได้คล่อง ภรรยาชอบมากให้ฝึกต่อเนื่องจนทุกวันนี้ หลังจากที่ป่วย 1 ปี

โรคปวดหน้า โรคไม่ร้ายแต่ทำลายความสุข

           โรคปวดหน้า โรคไม่ร้ายแต่ทำลายความสุข ช่วงชีวิตของทุกคน ย่อมคาดหวังเพียงว่า ขอให้มีทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ เพื่อชีวิตที่สุขสบายไม่ต้องดิ้นรนทำงานประจำ แต่ใครจะคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าทรัพย์สินเงินทอง คือ สุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บที่มาบันทอนการใช้ชีวิตประจำวัน  ได้สัมภาษณ์คุณอำพล วรรณี ซึ่งทรมานจากอาการปวดหน้ามาเป็นเวลา 7 ปี เป็นอีกท่านหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น            คุณอำพล วรรณี ปัจจุบันอายุ 56 ปี ประสบกับปัญหาด้านสุขภาพ มีอาการปวดใบหน้ามายาวนานกว่า7ปี อาการปวด เป็น ๆ หาย ๆ บางเดือนก็ไม่มีอาการเลย สามารถออกกำลังกายไดร์กอล์ฟได้ แต่ก็ไม่สามารถวางแผนชีวิตไปท่องเที่ยวนาน ๆ ได้เพราะไม่รู้ว่าจะปวดเมื่อไร คุณอำพล เป็นคนจังหวัดชลบุรีประกอบอาชีพธุรกิจเป็นของตัวเองด้านอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 7 ปีนี้ได้ไปพบแพทย์ที่ชลบุรีอย่างต่อเนื่อง รับยามารับประทานอยู่ แต่ยาที่ทานทำให้เกิดอาการมึน ๆ เมา ๆ ไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการปวดของใบหน้าเลย เมื่อมีอาการจะ ปวดทรมานมาก แม้กระทั่งแค่โดนลมพัดผ่าน จะรู้สึกแปลบ ๆ เหมือนไฟช็อตที่บริเวณใบหน้าด้านซีกขวา หน้าผาก ตาจะเจ็บมากจนน้ำตาไหล และก็ลืมตาไม่ขึ้นปวดบริเวณเบ้าตา จนกระทั่งริมฝีปาก ทานอะไรไม่ได้ขนาดดื่มน้ำยังไม่ได้เลย ปวดมาก การใช้ชีวิตประจำวันมีปัญหามากจนลูก ๆ ต่างก็ช่วยกันหาทางรักษาโรคดังกล่าว           จนได้ข้อมูลจาก google คือ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาท รพ.วิภาวดี ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทำผ่าตัดคนไข้อาการแบบนี้มาเป็นจำนวนมาก ลูกจึงได้นัดตรวจ นพ.เมธี ให้คุณพ่อทันที นพ.เมธี ได้อธิบายเกี่ยวกับโรค ว่าโรคนี้ คือโรคปวดหน้าเกิดจากเส้นประสาทคู่ที่ 5 โรคนี้ไม่ถึงกับชีวิต แต่จะรู้สึกทรมานด้วยอาการปวดแปลบ ๆ เหมือนไฟช็อตที่บริเวณใบหน้า หน้าผาก ตา ไม่มียารักษาต้องทำการผ่าตัดอย่างเดียว จึงทำให้คุณอำพลตัดสินใจผ่าตัด ทั้งที่คุณหมอได้อธิบายว่าหลังผ่าตัดจะไม่หายขาด100% อาจจะมีบางอาการคงเหลืออยู่และจะค่อยๆ ดีขึ้น           ก่อนผ่าตัดได้สอบถามคุณอำพลว่า “กลัวหรือไหม” คุณอำพลตอบ ด้วยอาการปวดที่ทรมานและใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้เลยนั้น ทำให้ตัดสินใจอยากผ่าตัดให้เร็วที่สุด จนไม่ได้กลัวและกังวลอะไรเลย ประกอบกับประสบการณ์ที่คุณหมอได้เล่าให้ฟังถึงคนไข้อื่น ๆ ที่ผ่าตัดไปแล้วถึงแม้ไม่หายขาด 100% ก็ตาม และเมื่อผ่าตัดแล้วความรู้สึกหลังการผ่าตัดนั้น คุณอำพลบอกว่าจากอาการปวดของผมตอนผมออกมาจากห้องผ่าตัดวันแรกผมหายขาดเลยครับ ไม่ปวดเลย จากความเจ็บปวดก่อนผ่าตัดตั้งScore ความเจ็บปวดของโรคนี้ ไว้ที่ Score10 นั้น ออกมาจากห้องผ่าตัดอาการปวดเหล่านั้นหายหมด คงเหลือ Score เป็น 0 ไม่พบปัญหาเรื่องปวดเลย พอวันที่ 2 จะมีก็ขณะทานข้าวหรือหันหน้ามองเอียงจะรู้สึกสะกิดแป๊บ ๆ นิดหนึ่ง สุดท้ายนี้ คุณอำพล ได้ฝากข้อคิดให้กับทุกท่านที่กำลังเจอปัญหาโรคนี้ว่าในปัจจุบันหมอเก่งและมีฝีมือด้านการผ่าตัด รวมถึงเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงไม่ควรรอช้า ทนทรมานอยู่ แนะนำให้รับการผ่าตัดดีที่สุด เพราะโรคนี้ไม่สามารถทานยารักษาได้ แล้วชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเหมือนผมแน่นอน

อีก 1 ประสบการณ์ตรง เรื่องหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

             อีก 1 ประสบการณ์ตรง เรื่องหลอดเลือดหัวใจอุดตัน คุณปิยะวาท เกษมสุวรรณ อายุ 58 ปี ผู้บริหาร ระดับกลางของบริษัท ฯ แห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้ทำการผ่าตัด By Pass หัวใจมาแล้ว เมื่อช่วงต้นปี 2560 จากคนทำงานปกติและดูแลสุขภาพตัวเองมาโดยตลอด รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะชอบทานผักใบเขียว และตรวจสุขภาพประจำปีๆ ละ 2 ครั้ง ไม่เคยพบความผิดปกติอะไรเลยไม่ว่าจะเป็น ระดับไขมัน / น้ำตาล ในเลือด ความดันโลหิต ก็เป็นปกติทุกอย่าง แล้วอะไรคือความเสี่ยงของคุณปิยะวาท ??           คุณปิยะวาทเล่าว่า “ ผมแต่งงานช้าสมัยโสดก็กินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวกลางคืนเป็นประจำ ใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวังเลยครับ เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 15 ปี เริ่มกินเหล้าตั้งแต่อายุ 18 ปี สูบบุหรี่ 10 มวนต่อวัน แต่วันไหน ไปสังสรรค์ เที่ยวดึก จะสูบถึง 20 มวนต่อวัน กว่าผมจะแต่งงานมีครอบครัวอายุก็ปาไป 50 กว่าแล้ว แต่ก็ทำให้ผม ลดสิ่งอบายมุขเหล่านี้ แล้วสาเหตุ ... คืออะไร ?           ประมาณเดือนสิงหาคม 2559 ผมมีอาการเหมือนมีเข็มมาจิ้มบริเวณใต้ท้องแขนด้านซ้าย การจิ้มจะเป็นจังหวะทำให้เกิดความรำคาญ ผมก็ ใช้มือขยี้บริเวณที่เป็น อาการก็จะหายไป แล้ว 3 – 4 ชั่วโมงก็กลับมาอีก เป็นอย่างนี้อยู่ 2 เดือน ก็มีอาการเพิ่มขึ้นอีกคือ อาการกล้ามเนื้อกระตุก(คล้ายเปลือกตากระตุก)บริเวณใต้ราวนมด้านซ้าย ผมก็ทำเหมือนเดิม คือขยี้บริเวณนั้น บางครั้งเกิด 2 ที่พร้อมกันหรือบางครั้งก็เกิดสลับกัน แต่บริเวณใต้ราวนมด้านซ้ายจะมีอาการมากกว่า  ผมคิดว่าไม่ปกติแล้ว จึงไปปรึกษาคุณหมอที่ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี ท่านก็ซักประวัติเบื้องต้น เช่น รู้สึกเจ็บหน้าอกเหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับที่หน้าอกหรือไม่? เดินขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยผิดปกติไหมเช่น ปกติเดินขึ้น 2 ชั้นไม่รู้สึกเหนื่อย แต่ปัจจุบันกลับรู้สึกเหนื่อย? คุณหมอให้ผมตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ผลการตรวจก็ปกติ แต่เมื่อตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) เป็นการให้ออกกำลังกายโดยการเดินเร็วบนสายพานตามโปรแกรมที่กำหนด ให้ได้ประมาณ 85% แต่ผมเดินไปได้เกือบ70% ก็เกิดตะคริวที่น่องทั้ง 2 ข้าง เดินต่อไม่ไหว แต่ก็ไม่พบอาการผิดปกติอื่นๆ คุณหมออธิบายว่า หลอดเลือดของคนปกติจะมีลักษณะเหมือนสายยาง หรือท่อประปา ถ้ามีไขมันในเลือดหรือแคลเซียมเข้าไปเกาะผนังเส้นเลือด 50% ลักษณะก็เหมือนจะมีอะไรมากั้นทางเดินของเลือดไว้ครึ่งหนึ่ง ถ้า 75% ลักษณะการปิดกั้นก็เพิ่มขึ้น และ ถ้ามากถึง 95% ก็จะเหลือพื้นที่ในการผ่านของเลือดน้อยลงมากๆ แต่เลือดก็ยังสามารถผ่านได้และใช้ชีวิตได้ตามปกติโดย ผมไม่สามารถรู้ตัวได้ว่า อาการจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ยกตัวอย่าง คนที่ออกกำลังกาย แล้วอยู่ๆ ก็เกิดหัวใจวายขึ้นมา ช่วยไม่ทันก็เสียชีวิต อย่างนี้เป็นต้น               เมื่อผลการตรวจเป็นปกติ ผมก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่โชคดีที่ในอีก 2 เดือนต่อมา ผมได้มีโอกาสทำการตรวจหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเครื่อง CT SCAN 128 Slide ผลที่ออกมา เส้นเลือดใหญ่ 3 เส้นที่ไปเลี้ยงหัวใจ ตัน มีแคลเซียมขาว ๆ ไปเกาะอยู่นักรังสีเทคนิค ที่ดูแลขณะตรวจนั้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคหัวใจทันที ความที่วางใจว่าได้ตรวจไปแล้ว ผมก็กลับบ้าน ใช้ชีวิตปกติ แต่ก็ฝากให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านผล CT Scan ดูผลตรวจให้ เมื่อคุณหมอเห็นภาพ CT คุณหมอ (ที่ดูผลให้) ก็รีบโทรมาบอกผมให้รีบไปหาหมอผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคหัวใจให้เร็วที่สุด เพราะ “มีระเบิดเวลาอยู่ที่ตัว พร้อมที่จะระเบิดได้ทันที” ผมตกใจมากเลยรีบไปพบนพ.เสมชัย เพาะบุญ อายุรแพทย์โรคหัวใจ รพ.วิภาวดี คุณหมอเห็นผล CT Scan แล้วคุณหมอเลยนัดทำการฉีดสี และขยายหลอดเลือดหัวใจ (บอลลูน) ด่วน ขณะที่ทำมีการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ( Coronary Angiogram) พบว่าไม่สามารถทำต่อได้ เพราะสิ่งที่พบ เป็นแคลเซียมไปเกาะข้างในเส้นเลือด ไม่สามารถใสขดลวด ขยายหลอดเลือด ให้ทะลุแคลเซี่ยมนี้ไปได้ คุณหมอได้อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่าถ้าเป็นไขมันไปเกาะที่เส้นเลือดนั้นสามารถทำใส่ขดลวด ขยายหลอดเลือดได้ แต่เป็นแคลเซียมจะทำไม่ได้ ถ้าฝืนทำ ต้องทำ 4-5 ครั้ง แต่ละครั้งเว้นห่าง 2-3 สัปดาห์ สิ่งที่ตามมา อาจจะทำให้ไตวาย เพราะต้องฉีดสีบ่อยมากอาจต้องฟอกเลือดตลอดชีวิต คุณหมอบอกว่า มีอีก 1 วิธี คือ ต้องทำ By Pass คือ การผ่าตัดเบี่ยงเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ และเสริมหลอดเลือดบริเวณที่ตัน เพื่อทำให้เลือดผ่านส่วนที่ตันได้ดีขึ้น ให้ออกซิเจนผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดี ผมตัดสินใจ เลือกวิธีนี้ทันที ต่อจากนั้นมาอีก 4 วัน นพ.เสมชัย เพาะบุญ ได้เชิญทีมแพทย์โดยมี นพ.ชัยวุฒิ ยศถาสโรดม ศัลยแพทย์ทรวงอก และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัด By Pass โดยผมต้องผ่าตัด เส้นเลือดจากหลอดเลือดดำที่ขาข้างขวามาทำ ใช้เวลาอยู่ในห้องผ่าตัด 4-5 ชั่วโมง จึงออกจากห้องผ่าตัดมาพักฟื้นต่อที่แผนกผู้ป่วยวิกฤต ICU และขึ้นไปพักฟื้นต่อที่ห้องพักผู้ป่วยใน รวมเวลาอยู่ใน รพ.ทั้งหมด 13 วัน              คุณหมอแจ้งว่าเส้นเลือดใหญ่ที่ไปเลี้ยงหัวใจของผมตัน 3 เส้น เปอร์เซ็นการตันแต่ละเส้น คือ 75% 85% และ 95% และเปลี่ยนเส้นเลือดแดงหลังหัวใจให้อีก 1 เส้น รวมเป็น 4 เส้น ผมถามสาเหตุว่า การที่หลอดเลือดหัวใจ ผมตันขนาดนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร ?? คุณหมออธิบายว่า มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ 2 ข้อ คือ              1. คนที่เป็นโรคเบาหวานได้รับอินซูลินสูงแคลเซียมจะไปเกาะผนังด้านในเส้นเลือด              2. การสูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งผมสูบมาตั้งแต่อายุ 15 ปี วันละ 10 – 20 มวน คุณหมอค่อนข้างมั่นใจว่า ความเสี่ยงของผมคือ บุหรี่แน่นอน ผมตัดสินใจเลิกบุหรี่ ตั้งแต่หลังผ่าตัดถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 9 เดือน หลังผ่าตัดผมชีวิตปกติ ออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเดิน ผมจึงเดินในหมู่บ้านวันละ 5 กิโลเมตร หลังภาวะเฉียดความตาย คุณปิยะวาทให้ข้อคิดว่า            นอกเหนือจาก บุหรี่ ที่เป็นสาเหตุหลัก ที่ทุกคนไม่ควรสูบ ให้บุหรี่ไปทำร้ายหลอดเลือด สะสมมาเป็นเวลานานแล้ว ให้ระวังความประมาทด้วย ความประมาท ที่คิดว่าตัวเอง คงไม่เป็นอะไร จะทำให้ชีวิตเสี่ยงยิ่งขึ้น ทุกคนควรให้เวลากับตัวเองสำรวจความเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดโรคโดยการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อย่านิ่งเฉยเพราะโชคชะตาอาจไม่ช่วย เหมือนกับคุณปิยะวาท ที่มีโอกาสได้ตรวจพบว่าหลอดเลือดหัวใจ ตีบเกือบสนิท ถึง 3 เส้น และทำการรักษาได้ทัน

<