Heat Stroke (โรคลมแดด) โรคที่เกิดช่วงหน้าร้อน

ปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกคนให้ความสำคัญ เพราะนับวันอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เดิมมีฤดูร้อนเป็นหลักอยู่แล้ว เมื่อมีภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้สภาพอากาศของประเทศร้อนจัดเพิ่มขึ้น ประชาชนมีความเสี่ยงต่อโรคที่เป็นผลจากความร้อนโดยตรง นั้นก็คือ "โรคฮีทสโตรก" หรือ "โรคลมแดด" (Heat Stroke) ซึ่งมักจะพบในฤดูร้อน โดยเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ความร้อนในร่างกาย (Core Temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนออกมาทันทีได้ โรคนี้เมื่อเกิดอาการต้องรีบรักษาเนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิตสูง

อาการเบื้องต้นของโรคฮีทสโตรก

  • มีไข้สูงมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส
  • เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการทางผิวหนัง : ไม่มีเหงื่อออก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดงมากขึ้น
  • อาการทางระบบประสาท : ปวดศีรษะ สับสน ตอบสนองช้า ชัก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ
  • อาการทางระบบไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ : ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว มีการคั่งของของเหลวในปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะออกน้อยหรือสีเข้ม เพราะมีการสลายกล้ามเนื้อ นำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน

ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของการเกิดโรคฮีทสโตรก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไปส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คือ อุณหภูมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ มักเกิดในช่วงมีคลื่นความร้อนสูง ( Heat Wave) และอยู่ในบ้านที่ปิดมิดไม่มีที่ระบายอากาศ
  2. Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากต่อมาเหงื่อจะหยุดออก  นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชัด อาจมีเลือดออกทุกทวาร

สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก

        สัญญาณสำคัญของโรคฮีทสโตรก ก็คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที
 
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเจอผู้ป่วยสงสัยโรคฮีทสโตรก

  • นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก 
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ  ร่วมกับการใช้พัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ ระบายความร้อน
  •  เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล 

วิธีการป้องกันโรคฮีทสโตรก

  • หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน  เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ( Heat Acclimatization)
  • ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี 
  • ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป 
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในอากาศร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้เพียงพอระหว่างออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด 
  • ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

บทความโดย

พญ.ณัชวัลฐ์ อิสระวรวาณิช

แผนกสมองและระบบประสาท

รพ. วิภาวดี

<