เมื่อลูกเป็นโรคหอบหืด

           เมื่อลูกเป็นโรคหอบหืด โดย ผศ.พญ.อาภัสสร วัฒนาศรมศิริ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ รพ.วิภาวดี ทราบได้อย่างไรว่าลูกมีอาการหอบหืด ลูกจะหายใจเร็วและแรงกว่าปกติ อาจได้ยินเสียงหวีดขณะหายใจ หน้าอกบุ๋ม และอาจเห็นปีกจมูกบาน เด็กที่พูดได้จะบอกว่าเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นมากลูกจะเหนื่อยจนไม่มีแรงพูด อาจพบว่าริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำได้


ทราบได้อย่างไรว่าลูกมีอาการหอบหืด
           ลูกจะหายใจเร็วและแรงกว่าปกติ อาจได้ยินเสียงหวีดขณะหายใจ หน้าอกบุ๋ม และอาจเห็นปีกจมูกบาน เด็กที่พูดได้จะบอกว่าเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นมากลูกจะเหนื่อยจนไม่มีแรงพูด อาจพบว่าริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำได้
หอบและหอบหืดต่างกันอย่างไร หอบอาจเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหลอดลม ส่วนหอบหืดเกิดจากหลอดลมที่ตีบตัวลง เมื่อได้รับสารกระตุ้น อาจจะเกิดขึ้นรวดเร็ว และเป็น ๆ หาย ๆ โดยดีขึ้นทันทีเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม แต่ในเด็กเล็กอาจเริ่มต้นจากอาการไอ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เมื่อมีอาการมากขึ้นจึงจะหอบชัดเจน


ทำไมลูกจึงป่วยเป็นหอบหืด
          มักเป็นกรรมพันธุ์ร่วมกบการขาดการป้องกัน และสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการบ่อย ๆ เช่น สารที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ ที่พบมากในเด็กไทย คือ ตัวไรฝุ่น ซึ่งอยู่ตามหมอน, ผ้านวม, ที่นอน, รังแค และน้ำลายที่อยู่ตามขนของสัตว์เลี้ยง, ละอองเกสร และแมลงสาบ เป็นต้น จากปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับภูมิแพ้ เช่น การออกกำลังกาย, การติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ และควันบุหรี่ เป็นต้น


การรักษาเมื่อลูกมีอาการหอบ
           คุณพ่อ คุณแม่ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าหอบที่ลูกเป็นอยู่เกิดจากหอบหืดใช่หรือไม่ ถ้าเป็นหอบหืด แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาขยายหลอดลม บางรายต้องให้ออกซิเจนด้วย อาการของลูกจะค่อย ๆ ดีขึ้น รวมทั้งแพทย์จะต้องตรวจหาโรคอื่นที่อาจเป็นร่วมมาในคราวเดียวกัน จากนั้นแพทย์จะแนะนำยาที่ต้องนำไปใช้ที่บ้าน ซึ่งมีทั้งยากิน และยาสูดเข้าทางปาก รวมทั้งการปฏิบัติตัวที่บ้านเมื่อลูกหอบคราวหน้า และควรพาลูกมารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง


ลูกจะมีชีวิตเหมือนเด็กปกติคนอื่น ๆ ได้หรือไม่ ต้องระวังอย่างไรบ้าง
             เด็กที่เป็นหอบหืดก็เหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่ต้องระวังตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลีกเลี่ยงสารที่แพ้หรือสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น การระวังตัวไรในฝุ่นทำได้โดย ไม่ควรมีตุ๊กตามีขนหมอนนุ่น และของที่เก็บฝุ่นในห้องนอน ซักผ้าปูที่นอนในน้ำอุ่นประมาณ 60 องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละครั้ง หรือใช้ผ้าคลุมเตียงชนิดพิเศษที่สามารถป้องกันตัวไรฝุ่น เปิดห้องนอนให้โล่ง แสงแดดส่องถึง และอากาศ่ถายเทในเวลากลางวัน หมั่นนำผ้านวม หมอน ออกตากแดด หลีกเลี่ยงการปูพรม ถ้าจำเป้นก็ต้องดูดฝุ่นบ่อย ๆ ผู้ใหญ่ควรเลิกหรือสูบบุหรี่นอกบ้าน สุนัขและแมวควรเลี้ยงไว้นอกบ้าน หรืออย่างน้อยไม่ควรให้อยู่ในห้องนอนของลูก หลีกเลี่ยงที่แออัดมีควันและเลี่ยงจากเด็กที่ป่วยมีอาการไอจาม ในบางรายแพทย์จะให้ใช้เครื่องวัดการทำงานของปอดอย่างง่าย ๆ เพื่อใช้เป็นตัวบอกว่าลูกเริ่มจะมีอาการหอบ และจะได้ให้ยาทันท่วงที  


เวลาลูกหอบอยู่ที่บ้านควรทำอย่างไร
            ให้ลูกนอนพัก อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ใช้ยาขยายหลอดลมที่คุณหมอให้พกประจำตัวอย่างถูกวิธี ไม่ต้องตกใจจนเกินไป ถ้ายังหอบให้ใช้ยาซ้ำได้อีกทุก 15 นาทีต่อมาไม่เกิน 3 ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์ใกล้ที่สุด เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
พาลูกไปออกกำลังกายจะได้ไหม  ช่วงที่ไม่มีอาการสามารถพาลูกไปออกกำลังได้ โดยเริ่มจากการออกกำลังกายน้อย ๆ พยายามอย่าหักโหมทันที ในบางรายอาจจำเป็นต้องสูดยาขยายหลอดลมก่อน และไม่ออกกำลังกายจนเหนื่อยมากเกินไป กีฬาที่เหมาะสม คือว่ายน้ำในเวลาที่อากาศอบอุ่น สำหรับการออกกำลังกายในสภาพแวดล้อมที่อากาศแห้งและเย็นเกินไปจะทำให้ลูกหอบได้ 
 


ป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหอบหืดได้หรือไม่  
          การให้ลูกกินนมแม่อย่างน้อย 4 เดือน จะทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อที่จะทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจได้ พยายามหลีกเลี่ยงจากเด็กอื่นที่ป่วยมีอาการไอหรือจาม เลี่ยงจากฝุ่น ควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และรีบพาไปพบแพทย์เมื่อมีอาการหอบ เพื่อที่จะได้รับการรักษา และทราบวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้หอบซ้ำอีก  


          เมื่อลูกเป็นหอบแล้วต้องใช้ยานาน ๆ จะมีผลเสียหรือไม่ปัจจุบันแพทย์พยายามให้ยาขยายหลอดลมในรูปพ่น ซึ่งจะเข้าสู่ปอดโดยตรงออกฤทธิ์เร็วและยาที่ใช้จะมีปริมาณน้อยกว่าการให้ยาโดยการรับประทานมาก จึงไม่ต้องกังวลกับผลตกค้างจากยา ส่วนยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งใช้ในการป้องกันนั้น ถ้าใช้ในขนาดและวิธีที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์ก็จะไม่เป็นอันตราย  

 

โดย ผศ.พญ.อาภัสสร  วัฒนาศรมศิริ  
กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ รพ.วิภาวดี

<