ต้อหิน - รู้เท่าทันกันตาบอด (ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม)

โรคต้อหินคือโรคที่เกิดจากการถูกทำลายของเส้นประสาทตา เนื่องจากมีแรงดันในลูกตาสูง ซึ่งเส้นประสาทตานี้จะเชื่อมต่อระหว่างตาไปยังสมอง ทำให้การมองเห็นค่อยๆลดลง และบอดในที่สุด

แรงดันตาที่สูงมากขึ้น เกิดจากการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตามากขึ้น และมีการระบายน้ำออกจากทางเดินระบายน้ำลดลง โดยค่าปกติของความดันตาอยู่ที่ 5-21 มิลลิเมตรปรอท หากพบว่าความดันตามีค่ามากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้

  • ในระยะเริ่มแรก ลานสายตาจะถูกทำลายจากด้านข้างก่อน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีการเดินชนสิ่งของดัานข้าง ผู้ป่วยที่ไม่สังเกตจึงไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะการมองตรงกลางยังเห็นดีอยู่
  • จนระยะท้าย ลานสายตาโดนทำลายจนแคบเข้ามาเรื่อยๆ การมองเห็นภาพตรงกลางเริ่มลดลง ระยะนี้ผู้ป่วยจึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว

สิ่งที่น่ากลัวคือ การมองเห็นที่เสียไปแล้ว ไม่สามารถทำให้กลับมาดีเหมือนเดิมได้ ทำให้ตาบอดถาวร การรักษาจึงเพื่อไม่ให้ลานสายตาและการมองเห็นที่ยังดีอยู่แย่ลงไปอีก

ชนิดของโรคต้อหิน

ต้อหินมีหลายชนิด โดยแบ่งเป็นชนิดหลักๆ ได้ 2 ชนิด คือ ต้อหินมุมเปิดและต้อหินมุมปิด

1. ต้อหินมุมเปิด

หมายถึง มุมระหว่างกระจกตาและม่านตาของคนไข้เป็นปกติ แต่ช่องทางที่น้ำในลูกตาไหลเวียนออกมีปัญหาไหลเวียนได้ไม่ดี น้ำจึงคั่งที่ช่องหน้าลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูง 

2. ต้อหินมุมปิด

หมายถึง มุมระหว่างกระจกตาและม่านตาของคนไข้แคบกว่าปกติ ทำให้ไปขัดขวางช่องทางที่น้ำในลูกตาไหลเวียนออก น้ำในลูกตาจึงไม่สามารถไหลเวียนออกได้ ทำให้คนไข้มีความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

อาการของโรค

  • ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการผิดปกติ 
  • หากมีอาการตามัวหรือการมองเห็นแคบลง แสดงว่าโรคอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว
  • ผู้ป่วยต้อหินมักจะไม่มีอาการปวดตา ยกเว้น ผู้ป่วยโรคต้อหินมุมปิดเฉียบพลันที่มีความดันลูกตาสูงขึ้นแบบฉับพลัน

การวินิจฉัยโรค

จักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโรคต้อหิน โดยจำเป็นต้องอาศัยการตรวจตาและตรวจการมองเห็น

  • การตรวจตาโดยจักษุแพทย์
  • การตรวจด้วยอุปกรณ์พิเศษ เช่น เครื่องสแกนขั้วประสาทตา
  • การตรวจตาด้วยเครื่องตรวจตา slit-lamp microscopy
  • การตรวจลานสายตา
  • การตรวจลักษณะของขั้วประสาทตา
  • การตรวจวัดความดันภายในลูกตา

ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

หากคุณมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ 1 ข้อ หรือมากกว่าคุณควรปรึกษาจักษุแพทย์

  • อายุมากกว่า 40 ปี
  •  เชื้อชาติ คนเชื้อชาติแอฟริกันอเมริกันจะพบต้อหินสูงกว่าคนผิวขาวถึง 6-8 เท่า ส่วนคนเชื้อชาติเอเชียจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินมุมปิดมากกว่าชนชาติอื่น
  • มีประวัติในครอบครัวเป็นต้อหิน
  • สายตายาวหรือสั้นมาก กระจกตาบาง
  • เคยเกิดอุบัติเหตุที่ตามาก่อน
  • มีการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ประวัติของการไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ เช่น ไมเกรน เบาหวาน ควานดันโลหิตสูง เลือดจาง หรือภาวะช็อก
  • ตรวจพบความดันตาสูง
  • การใช้ยาสเตียรอยด์

  โดยบุคคลที่มีความเสี่ยงสมควรได้รับการตรวจตาเป็นประจำ งดการซื้อยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยมาใช้เอง เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาควรรีบมาพบแพทย์ 

การรักษาต้อหินและการป้องกันภาวะตาบอด

เนื่องจากโรคต้อหินเส้นประสาทตาจะถูกทำลายอย่างถาวร การรักษาจึงเป็นการประคับประคองเพื่อให้ประสาทตาไม่ถูกทำลายมากขึ้นและเพื่อคงการมองเห็นที่มีอยู่ให้นานที่สุด ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
 หากคุณเป็นต้อหิน สิ่งสำคัญ คือ การควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับปกติ และหยุดการทำลายของเส้นประสาทตา การควบคุมความดันตา ทำได้โดย:

1. การใช้ยาหยอดตา

เป็นวิธีขั้นพื้นฐานและได้ผลที่ดี ซึ่งยาหยอดเหล่านี้จะออกฤทธิ์ลดการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาหรือช่วยให้การไหลเวียนออกของน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาดีขึ้น จึงลดความดันตาให้อยู่ในระดับเหมาะสมไม่เกิดการทำลายของเส้นประสาทตา การรักษาด้วยยาจำเป็นต้องหยอดยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการรักษา การดำเนินโรค และผลข้างเคียงจากยา

2. การใช้เลเซอร์

ทำในบางกรณี ทั้งนี้อาจต้องมีการใช้ยาหยอดตาร่วมด้วย โดยประเภทของเลเซอร์ที่ใช้จะขึ้นกับชนิดของต้อหินและระยะของโรค

  • Selective laser trabeculoplasty (SLT) เป็นการรักษาต้อหินมุมเปิด ใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาหยอดตาแล้วได้ผลไม่ดีนัก หรือรักษาด้วยยาหยอดตาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือมีอการแพ้ยาหยอดตา และมักเลือกใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ
  • Laser peripheral iridotomy (LPI) เป็นการรักษาต้อหินมุมปิด
  • Laser cyclophotocoagulation มักใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล เป็นการทำลายเซลล์มีหน้าที่สร้างน้ำในลูกตา ทำให้น้ำในลูกตาสร้างน้อยลง 

3. การผ่าตัด 

ใช้รักษาผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาหรือเลเซอร์ไม่สามารถควบคุมความดันตาได้

  • rabeculectomy เป็นการผ่าตัดทำทางระบายน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา ให้น้ำออกมานอกลูกตามากขึ้น เป็นผลให้ความดันตาลดลง
  • Aqueous shunt surgery ทำในกรณีที่การผ่าตัดวิธีแรกไม่ได้ผล เป็นการทำการผ่าตัดด้วยการใส่เครื่องมือที่เป็นท่อระบายเพื่อลดความดันตา

สิ่งที่สำคัญที่ควรทราบ:

  1. การใช้ยาหยอดตาไม่ได้ทำให้การมองเห็นหรือความรู้สึกในการรักษาดีขึ้น แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้การมองเห็นแย่ลง
  2. การใช้ยาหยอดทุกวันอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ
  3. การประเมินผลการรักษา จำเป็นต้องมีการตรวจตามการนัดหมายของแพทย์ เพื่อดูผลของการรักษา

กรณีฉุกเฉิน!!

ต้อหินอาจเกิดขึ้นได้เฉียบพลัน ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน

  •  มองไม่เห็นอย่างฉับพลันในตาข้างใดข้างหนึ่ง
  • การมองเห็นมัวลงคล้ายเป็นหมอก
  •  เวลามองมีแสงแฟลชหรือจุดดำ
  • เวลามองดวงไฟจะเห็นรัศมีเป็นสีรุ้ง
  • มีอาการปวดตา หรือปวดหัวข้างเดียวกับที่ตามัว
  • มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

สัญญาณเบื้องต้นของโรคต้อหินนั้น จริงๆ แล้ว คนไข้โรคต้อหินส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรก เพราะคนไข้ 70-80% เป็นประเภทต้อหินเรื้อรัง คนไข้กลุ่มนี้จะมีความดันลูกตาเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำให้เกิดความเคยชินกับความดันลูกตาที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่เกิดอาการปวดรุนแรง แต่ว่าคนไข้มีอาการจะเริ่มตามัวลงอย่างช้าๆ โดยที่การสูญเสียการมองเห็นจะเริ่มมาจากด้านข้าง ทำให้ลานสายตาค่อยๆแคบลง จนกระทั่งมัวบริเวณตรงกลางที่มอง คนไข้ถึงจะรู้สึกตัวว่าการมองเห็นลดลง จึงมาหาหมอ ซึ่งเป็นระยะท้ายของโรคแล้ว 

ดังนั้น โรคต้อหินมุมเปิดเรื้อรังจึงไม่มีอาการในระยะแรกของโรค ยกเว้นถ้าเป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน จึงจะมีอาการปวดตารุนแรง ดังนั้นถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ควรมาตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะคนไข้กลุ่มเสี่ยง ระยะเวลาสำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มผู้สูงมากกว่า 40 ปี อายุควรตรวจเป็นประจำทุกปี และไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรใช้ยาในความดูแลของแพทย์ ได้เพียงแค่ให้การมองเห็นที่มีอยู่ทรงตัวไม่ให้แย่ลง เพราะฉะนั้นควรตรวจพบในระยะแรกมีความสำคัญ เพื่อการรักษาที่ดี และป้องกันตาบอดให้ได้มากที่สุด

แพทย์

พญ.ฤทัยรัตน์ วินิจฉัย
ศูนย์จักษุและเลสิคสาขาต้อหิน

<