ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ) VS ยาแก้อักเสบ ต่างกันอย่างไร?

ยาฆ่าเชื้อ (ปฏิชีวนะ)  VS ยาแก้อักเสบ ต่างกันอย่างไร ?

“ยาแก้อักเสบ” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงต้องเคยมีประสบการณ์การรับประทานยากลุ่มนี้กันมาบ้าง เช่น เวลามีอาการเจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด หรือบาดแผล แล้วกรณีที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น ข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ รวมทั้งอาการกล้ามเนื้ออักเสบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในการทำงานหรือเล่นกีฬา ก็ได้รับยาแก้อักเสบเช่นกัน กรณีเหล่านี้ยาแก้อักเสบที่ได้รับ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ? ใช้แทนกันได้หรือไม่ ?

 

โดยทั่วไปปฏิกิริยาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย มีสาเหตุได้มากมาย ทั้งที่มาจากการติดเชื้อ และไม่ใช่การติดเชื้อ การใช้ยาเพื่อรักษาการอักเสบ จึงต้องพิจารณาว่าเกิดจากสาเหตุใด

 

            ในกรณีการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ, ท้องเสีย, ปัสสาวะแสบขัด, แผลอักเสบ ยาที่ได้รับจะเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotics) ตัวอย่างเช่น เพนิซิลลิน, เตตราซัยคลิน, ซัลฟา, คลอแรมเฟนิคอล, กานามัยซิน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องรับประทานตามแพทย์สั่งจนครบชุด เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อต่อยา

 

            ส่วนการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น กรณีกล้ามเนื้อ-เอ็นอักเสบจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ ยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาที่ให้ผลต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory) และมีฤทธิ์ระงับปวด โดยไม่มีผลในการยับยั้งเชื้อใดๆ ยากลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็นกลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) และไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยทั่วไปจะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งเรารู้จักกันย่อๆว่า เอ็นเสด (NSAIDs: non-steroid anti-inflammatory drugs) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Ibuprofen (ชื่อการค้า Brufen®, Gofen®), Diclofenac (ชื่อการค้า Voltaren®), Mefenamic acid (ชื่อการค้า Ponstan®) ที่ผู้หญิงมักคุ้นเคยกันดีเวลาปวดประจำเดือน หรือดั้งเดิมที่สุด คือ ทัมใจแอสไพริน (aspirin) ยาในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ควรรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ

 

จะเห็นได้ว่า “ยาแก้อักเสบ” บางครั้งอาจหมายถึงยาปฏิชีวนะ แต่ในบางครั้งก็ไม่ใช่ การที่ใช้คำว่า “ยาแก้อักเสบ” จึงอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ และเนื่องจากยาทั้ง 2 กลุ่มสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายยาทั่วไป อาจมีผู้ป่วยบางส่วนซื้อยาแก้อักเสบมาใช้เองอย่างผิดวัตถุประสงค์ สลับกันระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานั้นๆอีกด้วย หรือในกรณีของข้อบ่งใช้และวิธีการใช้ ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และได้รับยาแก้อักเสบ ซึ่งในกรณีนี้เป็นยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปจะให้รับประทานจนอาการหายดีแล้วหยุดยาได้ การรับประทานยานี้ต่อเนื่องกันนานๆ นอกจากจะระคายเคืองทางเดินอาหารแล้ว อาจทำให้ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ หรือเกิดภาวะไตวายได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีความเข้าใจผิดว่า “ยาแก้อักเสบ” ทุกตัวต้องรับประทานต่อเนื่องจนยาหมด จึงรับประทานยาลดการอักเสบกล้ามเนื้อต่อเนื่องจนยาหมด แม้ว่าอาการอักเสบปวดกล้ามเนื้อจะหายไปก่อนที่ยาจะหมดแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นการได้รับยาเกินความจำเป็น

อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ

  • แพ้ยา : หากแพ้ไม่มากอาจมีอาการแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้น ผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต
  • เกิดเชื้อดื้อยา : การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด
  • เกิดโรคแทรกซ้อน : ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ที่ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ อันตรายถึงชีวิต

 

ดังนั้น หากเกิดภาวะเจ็บป่วยไปพบแพทย์และได้รับยาแก้อักเสบมา ให้อ่านฉลากอย่างละเอียดให้เข้าใจ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและมีความปลอดภัย

 

ภญ.ณัฐกร จริยภมรกุร เภสัชกร ประจำ รพ.วิภาวดี

เอกสารอ้างอิง

  • ทหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  • โครงการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลในร้านยา; สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) Health Systems Research Institute 
<