โรคไมเกรน (Migraine) ปวดหัวแบบไหน รักษายังไง

ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดหัวชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการที่สำคัญ คือ ปวดตุ้บๆ ที่บริเวณขมับข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาการปวดจะเป็นพักๆ เป็นๆ หายๆ

ความรุนแรงของอาการปวด มีตั้งแต่ปวดปานกลางจนถึงรุนแรงมาก ระยะเวลาในการปวดแต่ละครั้งส่วนใหญ่ประมาณ 4-7 ชม.

อาการปวดจะกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นเมื่อมี ความเครียด อากาศร้อน แสงจ้า หรืออดนอน

ขณะปวดไมเกรนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจไวต่อแสงหรือเสียง ดังนั้นผู้ที่เป็นไมเกรนส่วนใหญ่มักอยากอยู่ในห้องมืดและเงียบ เพราะจะทำให้อาการปวดดีขึ้น

ชนิดของไมเกรนที่พบบ่อย

  1. Classic migrain : อาการมักเกิดในช่วงวัยรุ่น เมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดศีรษะจะลดลงจนกระทั่งหายขาด แต่ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการนำมาก่อน เช่น เห็นแสงแลบ ตามองไม่เห็น ชาซีกใดซีกหนึ่งเราเรียก classic migrain
  2. Common migrain : อาการแสดงมักเกิดบริเวณหน้าผาก รอบดวงตา ขมับและขากรรไกร ปวดมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำเรียก common migrain ไมเกรนเป็นโรครักษาไม่หายขาดแต่ถ้าเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำสามารถทำให้ควบคุมโรคได้

สาเหตุของโรค

ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆสมอง ระบบประสาทผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ ระบบประสาทจะมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดอาการอักเสบดังกล่าวเกิดขึ้น และอาการปวดอย่างรุนแรงตามมา

 ปัจจัยกระตุ้นมีดังนี้

  • อาหาร คือ ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือสารถนอมอาหาร สิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะได้
  • การนอนหลับ การนอนหลับมากหรือน้อยเกินไป สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดได้  และยังไปกระตุ้นอาหารปวดกล้ามเนื้อด้วย
  • ฮอร์โมน ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นไมเกรน บางคนจะมีอาการปวดไมเกรนในช่วงที่มีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก บางคนที่ใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดบางชนิดอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงหรือระยะเวลาในการปวดนานมากขึ้นได้
  • สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น “อากาศร้อน” หรือ “เย็นมาก ” อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือได้กลิ่นบางอย่างก็ทำให้ปวดหัว เช่น กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ หรือการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ
  • ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดจะมีอาการปวดไมเกรนได้บ่อยและรุนแรงกว่าผู้ที่ไม่เครียด

อาการ

แบบแรกอาการปวดตุบ ๆ แถว ๆ ขมับ หรือลึก ๆ อยู่แถวเบ้าตา เหมือนหัวใจเต้น และจะปวดในระดับกลางถึงมาก ซึ่งนี่เป็นลักษณะเด่นของการปวดไมเกรน แต่ถ้าปวดพอรำคาญ ไม่มากนัก โอกาสเป็นไมเกรนจะน้อย 
นอกจากนี้ อาการปวดแบบไมเกรนนั้น เมื่อหายปวดจะหายสนิท โดยในช่วงที่ปวดนั้น อาจจะปวดได้นาน 2-3 วันตามทฤษฎี แต่โดยทั่วไป อาจจะปวดแค่ 2-3 ชั่วโมง หรืออาจจะ 4 ชั่วโมง 

นอกจากนี้อาจมีอาการอาเจียน เห็นแสงแวบ ๆ เป็นสีเหลือง ๆ หรือเป็นหยัก ๆ ในช่วงก่อนปวด เรียกได้ว่าเป็นอาการนำ แต่อาการแบบนี้ไม่พบในคนไข้ทุกคน

Checklist อาการไมเกรน

  • จะต้องมีอาการปวดศีรษะ อย่างน้อย 5 ครั้ง
  • ปวดศีรษะนาน 4-72 ชั่วโมง
  • ลักษณะปวดศีรษะต้องประกอบด้วยลักษณะอย่างน้อย 2 ประการ
  • ปวดข้างเดียว และมีอาการปวดตุ๊บๆๆ
  • ปวดมากจนทำงานประจำไม่ได้
  • ขึ้นบันไดหรือเคลื่อนไหวทำให้ปวดมากขึ้น
  • ขณะปวดศีรษะจะต้องมีอาการข้างล่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง 
    • คลื่นไส้หรืออาเจียน 
    • แสงจ้าหรือเสียงดังทำให้ปวดศีรษะ        

ปวดหัวข้างเดียว ใช่ไมเกรน 100% หรือไม่

ในความเป็นจริงแล้ว อาการปวดข้างเดียวไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกอะไรเลยว่าเป็นไมเกรน ปวดข้างเดียวนี้ อาจะเป็นเนื้องอก หรือเกิดจากล้ามเนื้อตึงตัวก็ได้ ตกหมอน หรือได้รับอาการบอบช้ำ

คนที่ปวดหัวข้างเดียวเพราะไมเกรนนั้น จริง ๆ แล้วมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของคนไข้ทั้งหมด ปวดสองข้างก็เป็นไปได้

กลุ่มเสี่ยง

คนสูงอายุจะไม่ค่อยเป็นกนมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาของวัยรุ่น คนหนุ่มสาวมากกว่าคนสูงอายุหลายเท่า คนที่เป็นไมเกรนนั้น จะเป็นได้ตั้งแต่เด็ก อายุ 7-8 ขวบ แต่ที่พบบ่อยจะเป็นช่วงวัยรุ่นอายุ 10 - 25ขึ้นไป

และจะเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่พออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการจะน้อยลง ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนบางอย่าง ผู้หญิงบางคนเป็นมาตลอด พอมาถึงวัยหมดประจำเดือนกลับหายจากอาการไปเลย

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยไมเกรนนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง ความถี่ ระยะเวลาในการปวด และอาการอื่นที่ร่วมด้วย

ประวัติโรคประจำตัวและประวัติการใช้ยา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจเอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคอื่น เช่น อาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว หรือจากภาวะเครียด การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง โรคของต่อมใต้สมองหรือมีเนื้องอก เป็นต้น

การรักษา

ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีการช่วยให้ความถี่และความรุนแรง ของไมเกรนลดน้อยลง โดยใช้ยาเพื่อป้องกันรักษา และหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ดูแลสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ ปัจจุบันจะมีการฝังเข็มเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นที่ยอมรับและในการฝังเข็มนั้นได้มีการระบุว่า เป็นการรักษาไมเกรนได้เช่นกัน

ยาแก้ปวดและป้องกันไมเกรน

ยาแก้ปวดไมเกรน คือ ยาที่ใช้เมื่อมีอาการปวด 
ส่วนยาป้องกันไมเกรน ใช้เพื่อทำให้ความถี่และความรุนแรงของการปวดลดลง และจะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดบ่อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน 

ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากมาย หลายชนิด การเลือกใช้ยาชนิดใด ควรได้รับคำแนะนำหรือควรปรึกษาแพทย์

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน เช่น แอลกอฮอล์โดยเฉพาะไวน์แดง ผงชูรส เนย นม ชอคโกแลต กล้วยหอม ผงชูรส ผลไม้ประเภทส้ม กาแฟและชา 
  • การนอน ควรนอนให้เป็นเวลา 
  • งดการใช้ฮอร์โมน เช่นยาคุมกำเนิด 
  • ควบคุมความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ 
  • ควบคุมปัจจัยสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อากาศ แสงไฟกระพริบ กลิ่นที่ฉุนเฉียว 
  • การทำสมาธิ 
  • การจัดการกับความเครียด 
  • การออกกำลังกาย

FAQ คำถามที่ถามบ่อย 

ถาม: เมื่อมีอาการปวดศีรษะจะปวดรุนแรง ถึงขั้นอาเจียนออกมา เวลาหายปวดจะหายสนิท และสัปดาห์หนึ่งจะเป็นถึง 5 วัน อยู่ในขั้นหน้าวิตกหรือไม่

ตอบ : ควรให้แพทย์เฉพาะทางตรวจดูอาการว่าเป็นไมเกรนแน่นอนหรือเปล่า ซึ่งจากอาการโอกาสจะเป็นไมเกรนค่อนข้างสูง สำหรับความถี่ของการการที่เกิดขึ้นนั้นนับว่าค่อนข้างบ่อย เพราะควรจะปวดเดือนละ 2-3 ครั้ง กรณีที่ปวดบ่อย อาจจะต้องรับประทานยาป้องกันอาการปวด ในขณะที่ปวดไม่บ่อย อาจรับประทานยาแก้อาการปวด

ถาม:  ทานยารักษาอาการเป็นประจำจะมีผลเสียหรือไม่

ตอบ : ยาไมเกรน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มป้องกัน กับกลุ่มแก้เวลาปวด การจะนำมาใช้ต้องให้แพทย์พิจารณาเป็นราย ๆ ไป และเมื่อรับประทานแล้ว จะต้องดูการตอบสนองด้วย ส่วนยา คาฟาค๊อท ที่มีจำหน่ายและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้น ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้ บางรายอาจไม่ต้องใช้ยาชนิดนี้ เพียงยาพาราเช็ตตามอล หรือแอสไพริน ก็สามารถช่วยได้

ถาม: การพิจารณาอาการในเด็ก ควรทำอย่างไร

ตอบ : ถ้าพบอาการปวดศีรษะในเด็ก สิ่งแรกที่ควรเช็คคือสายตา หรืออาจจะมีปัญหากับเพื่อน เพิ่งย้ายโรงเรียน ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ อาจเกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัว จุดนี้ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในเด็ก อายุ 7-8 ปี ก็อาจพบว่าเป็นไมเกรนได้เช่นกัน ให้สังเกตดูว่าเวลาปวดจะปวดมาก อาจถึงขึ้นอาเจียน แต่เมื่อหายปวดจะหายสนิทเลยเช่นกัน

ด้วยความปรารถนาดี จาก รพ.วิภาวดี

<