เบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy DR)

เบาหวานเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ส่งผลต่อระบบเส้นเลือดต่างๆในร่างกาย เช่น ที่ตา ไต และระบบประสาท

 

เบาหวานเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับการเผาผลาญน้ำตาลในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ส่งผลต่อระบบเส้นเลือดต่างๆในร่างกาย เช่น ที่ตา ไต และระบบประสาท

เบาหวานขึ้นจอประสาทตา

เกิดจากการที่ร่างกาย มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดพยาธิสภาพผนังเส้นเลือดฝอยที่ตาเกิดอุดตัน โป่งพอง รั่วซึม มีจุดเลือดออก จอประสาทตาบวม มีเส้นเลือดงอกใหม่และเกิดพังผืดดึงรั้งที่จอประสาทตา จนทำให้ตาบอดได้ แบ่งเป็น 2 ระยะดังนี้

1.ระยะเริ่มต้น ตรวจพบความผิดปกติของจอประสาทตาโดยมีผนังเส้นเลือดโป่งพอง ต่อมามีจุดเลือดออก มีการรั่วซึมของสารไลโปโปรตีน เส้นใยประสาทตาขาดเลือดมาเลี้ยง อาจพบจอประสาทตาบวมน้ำได้

2. ระยะรุนแรง ตรวจพบมีเส้นเลือดใหม่ ซึ่งจะเปราะบางและแตกง่าย ทำให้เลือดออกในน้ำวุ้นตา อาจพบพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาเกิดการฉีกขาดและหลุดลอก ทำให้ผู้ป่วยมีระดับการมองเห็นลดลงหรือตาบอดในที่สุด

ถ้ามีเส้นเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา จะเกิดการอุดตันทางระบายน้ำในช่องหน้าม่านตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดต้อหินชนิดหลอดเลือดงอกใหม่ซึ่งรักษาได้ยาก และเป็นสาเหตุของตาบอดได้อีกด้วย

การรักษา

1. การรักษาด้วยยา โดยเน้นการรักษาโรคประจำตัวของผู้ป่วย ผู้ป่วยจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเส้นเลือด และความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้โรคเบาหวานขึ้นจอตาลุกลามมากขึ้น

2. การรักษาด้วยเลเซอร์ จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีจอประสาทตาบวมน้ำ เบาหวานขึ้นจอประสาทตาอยู่ในระยะรุนแรงมีเส้นเลือดงอกใหม่ จะเริ่มให้การรักษาด้วยเลเซอร์ แสงเลเซอร์จะถูกฉายลงบนจอประสาทตาโดยตรง ทำให้เส้นเลือดที่ผิดปกติหายไปโรคจะหยุดลุกลามได้ ในบางรายอาจต้องได้รับการฉายแสงเลเซอร์ต่อเนื่องกันหลายครั้ง

3. การฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นตา ได้แก่ ยากลุ่ม Steroid และยากลุ่มAnti VEGF เพื่อรักษาโรคจุดกลางรับภาพจอประสาทตาบวมจากเบาหวาน ข้อดีคือ ในรายที่ตอบสนองต่อยาได้ดี การมองเห็นจะกลับคืนมาได้เกือบเท่าปกติ โดยไม่มีผลทำลายจอประสาทตาแค่ยามีฤทธิ์อยู่ได้ชั่วคราว

4. การผ่าตัดน้ำวุ้นตา ในกรณีที่โรครุ่นแรง จนมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือมีพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาหลุดออก หรือมีจุดกลางรับภาพบวมเรื้อรัง ไม่ตอบสนองต่อการฉายแสงเลเซอร์ หรือยาฉีดจะต้องให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดน้ำวุ้นตาหรือผ่าตัดรักษาจอประสาทตา

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวานเพื่อไม่ให้ตาบอด

1. ให้ผู้ป่วยเบาหวาน ควรมารับการตรวจจอประสาทตากับจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด

2. ควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและมีค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C)<7%

3. รักษาโรคความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

4. ควบคุมระดับไขมันในเลือด

5. งดสูบบุหรี่                         

6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ

7. เคร่งครัดการใช้ยาให้ถูกต้อง

8. ปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่

สรุป การป้องกันเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วและความสม่ำเสมอในการรักษา การควบคุมอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อป้องกันการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนจนสู่ภาวะตาบอดได้

 

 

<