“ปอดอักเสบ” สาเหตุ อาการ และอันตรายต่อสุขภาพที่ควรรู้

ปอดอักเสบสาเหตุ อาการ และอันตรายต่อสุขภาพที่ควรรู้
         ปอดอักเสบ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “ปอดบวม” เป็นการอักเสบของเนื้อปอดซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โดยเชื้อโรคที่เข้าสู่ปอด ทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ การรับเชื้อสามารถเกิดได้หลายวิธี เช่น การไอ จาม หรือหายใจรดกัน การสำลัก การแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิต เป็นต้น พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ในวัยเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ บางรายการติดเชื้ออาจรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

 

สาเหตุของปอดอักเสบ
      เกิดได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่
- การติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด การติดเชื้อชนิดใดขึ้นกับ กลุ่มอายุ อาชีพ โรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกัน ประวัติการเดินทางต่างประเทศ การสูบบุหรี่ และสภาพแวดล้อม เช่น เชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV), เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza), เชื้อโคโรนา (Corona)  เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อ Streptococcus Pneumoniae, เชื้อ Haemophilus Influenzae, เชื้อ Atypical bacteria และเชื้อราซึ่งพบน้อย
- ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมีที่ระเหยได้ นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด และยาที่ใช้ควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิด เป็นต้น

อาการของปอดอักเสบ
ได้แก่
- มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น ระยะเฉียบพลัน
- ไอมีเสมหะ
- หายใจเร็ว หายใจหอบ เหนื่อย
- เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
- ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สึกสับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
- เด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ
- อาการจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย


การวินิจฉัยปอดอักเสบ
         แพทย์จะวินิจฉัยปอดอักเสบโดยอาศัยอาการทางคลินิก การตรวจร่างกาย และภาพถ่ายรังสีทรวงอก การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคและแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ การตรวจนับเม็ดเลือดขาวในเลือด การเพาะเชื้อเลือด การตรวจย้อมเสมหะและส่งเสมหะเพาะเชื้อ การตรวจ biomarkers ได้แก่ procalcitonin และ       C-Reactive Protein (CRP) ที่ช่วยบ่งชี้เชื้อก่อโรคและความรุนแรงของการติดเชื้อ ส่วนการตรวจ polymerase chain reaction (PCR) for respiratory viruses และ atypical pathogens จากเสมหะ และการตรวจ pneumococcal antigen และ legionella antigen จากปัสสาวะ อาจพิจารณา ในที่ที่สามารถส่งตรวจได้ เป็นต้น ตรวจวัดออกซิเจนในเลือดเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค

การรักษาปอดอักเสบจากการติดเชื้อ
ประกอบด้วย
- การรักษาจำเพาะ โดยการให้ยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยพิจารณาจากอายุ โรคประจำตัว ภาวะภูมิคุ้มกัน ประวัติการเดินทางต่างประเทศ และสภาพแวดล้อม และประวัติการได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อนภายใน 3 เดือน รวมถึงประวัติที่อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อดื้อยา   
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส และเชื้ออื่นๆ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก
- การรักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เกิดฝีในปอด หรือเกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่จำเป็นต้องเจาะหรือดูดออก ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต จำเป็นต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ และดูแลอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤต

 

การป้องกันปอดอักเสบ
ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
       ฉีดวัคซีนป้องกันโรค แพทย์แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ วัยเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง การฉีดวัคซีนที่ให้ผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส โดยวัคซีนนี้ มี 2 ชนิด คือ
1. ชนิดคอนจูเกต ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสได้ 13 ชนิด (PCV 13)

2. ชนิดโพลีแซคคาไรด์ ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสได้ 23 ชนิด (PPSV 23) เป็นต้น โปรแกรมในการฉีดวัคซีนควรอยู่ใต้คำแนะนำของแพทย์
 

การปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นปอดอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น เป็นต้น
- ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เป็นต้น
- เมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาแต่เนิ่นๆ
- การดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น หมั่นล้างมือเป็นประจำ ใช้ช้อนกลาง และการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ


 

 

<