อย่าเฉย…เมื่อชา เพราะอาการชา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณอันตราย

อย่าเฉย…เมื่อชา เพราะอาการชา อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณอันตราย

 

         ชาตามปลายมือปลายเท้า”  หลายคนเคยเกิดอาการนี้ บางคนมีอาการเพียงชั่วครู่ บางคนมีอาการนานกว่านี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ทำให้เกิดความรำคาญได้ ในระยะแรกๆ มักไม่รบกวนชีวิตมากเท่ากับอาการปวด แต่ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาท ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขอาการ ก่อนที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างอื่นตามมา

     อาการชาเป็นอาการผิดปกติของระบบประสาท รับความรู้สึก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะที่นิ้ว มือ แขน เท้าหรือขา เป็นอาการที่มีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติหรือไม่มีความรู้สึกเลย บางคนอาจรู้สึกซ่าๆ ที่ปลายมือปลายเท้าหรือบริเวณอื่นหรือมีอาการเหมือนมีอะไรยุบยิบๆ ตามปลายมือปลายเท้า แล้วก็หายไปหรือเป็นตลอด ซึ่งอาการชาจะเกิดขึ้นเมื่อเส้นประสาทส่งความรู้สึกของบริเวณที่เป็น  ทำงานบกพร่องไปแล้วอย่างน้อย50% โดยถ้าเส้นประสาทส่งความรู้สึกทำงานบกพร่องไปอย่างช้าๆ อาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติและมักตรวจพบได้ยาก แต่ถ้าเกิดการบกพร่องไปอย่างรวดเร็วจะเกิดอาการที่ชัดเจน

     อาการมือเท้าชาสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาจเกิดจากการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึง หรืออาจมีสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท งูสวัด เบาหวาน ปวดศีรษะไมเกรน ลมชัก หลอดเลือดสมอง เป็นต้น นอกจากนี้การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอก็อาจเป็นสาเหตุของความเสียหายของเส้นประสาทได้เช่นกัน โดยเฉพาะการขาดวิตามินB ต่างๆ เพราะวิตามิน B เหล่านั้นมีความจำเป็นต่อเส้นประสาทที่มีสภาพสมบูรณ์ หากรู้สึกเหน็บชาหรือมีอาการปวดเสียวบริเวณมือหรือเท้า นั่นอาจแสดงว่าเส้นประสาทได้รับการบำรุงไม่เพียงพอ

     การบรรเทาอาการจากโรคเส้นประสาทมีได้หลายวิธี   เริ่มแรกควรรับประทานอาหารที่ให้มีปริมาณวิตามิน B ที่เพียงพอ ซึ่ง วิตามิน B1 B6 และ B12 เป็นวิตามินที่มีส่วนสำคัญต่อการบำรุงรักษาเส้นประสาท เราสามารถรับวิตามินเหล่านี้ได้จากอาหารหลายชนิด วิตามิน B1 พบได้ในธัญพืช ข้าวไม่ขัดสี สารสกัดจากยีสต์ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว วิตามิน B6 พบได้ในอาหารจำพวกปลาทูน่า ผักโขม หรือผักตระกูลปวยเล้งและกล้วย ส่วนวิตามิน B12 ได้จากไข่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเลประเภทกุ้ง ปู และผลิตภัณฑ์นม

       วิตามิน B1 หรือไทอามีน (Thiamine) ทำหน้าที่สร้างชั้นที่ปกป้องเส้นประสาทขณะที่มีการรับส่งกระแสประสาทผ่านระบบสังเคราะห์สารสื่อประสาท การขาดไทอามีนจึงทำให้เกิดการทำลายเส้นประสาท สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมากและรบกวนกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาท นอกจากนี้อาจส่งผลต่อระบบเมแทบอลิซึม ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติและลดการเผาผลาญกลูโคส ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ควบคุม และทำให้เกิดโรคเส้นประสาทในที่สุด

สัญญาณเตือนว่ามีอาการขาดวิตามินบี 1 เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย เริ่มเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน สมองมึนงง ความคิดสับสนวกวนจากการเสื่อมสภาพของระบบประสาทหากขาดรุนแรงก็อาจจะทำให้เกิดอาการทางการเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน เหน็บชา (beriberi) เป็นต้น

         วิตามิน B6 หรือไพริด็อกซีน (Pyridoxine) มีส่วนช่วยในการขนส่งกลูโคสในร่างกาย การขาดวิตามินนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเนื่องจากร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ โดยระดับน้ำตาลในเลือดอาจทำลายระบบประสาท ทำให้เกิดโรคเส้นประสาทได้ การขาดวิตามิน B6 เป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบในผู้ป่วยเบาหวาน

        วิตามิน B12 หรือ โคบาลามิน (Cobalamin) มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบประสาท โดยส่งเสริมให้เกิดการสร้างและเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท เมื่อขาดวิตามิน B12 เป็นเวลานาน เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มและป้องกันเส้นประสาทเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคเส้นประสาทขึ้น

       วิตามิน B ทั้งหมดเป็นวิตามินละลายน้ำ วิตามินที่เกินจำเป็นซึ่งร่างกายไม่ได้ใช้ก็จะถูกขับออกทางเหงื่อ หรือปัสสาวะ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินอย่างเพียงพอ ถ้าอาหารมีปริมาณวิตามินไม่เพียงพอ อาจจะรับประทานอาหารเสริมเพื่อให้ได้รับวิตามิน B1 B6 B12 ให้เพียงพอต่อการบำรุงเส้นประสาท

       การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเลิกสูบบุหรี่ การลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายสม่ำเสมอมีส่วนช่วยได้ แม้แต่เพียงการปรับเปลี่ยนง่ายๆ เช่น การสวมรองเท้าที่สบายและเหมาะสม หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานาน และการแก้ไขท่าทางในชีวิตประจำวันก็ช่วยป้องกันการทำลายของประสาทได้ หากมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวานการควบคุมน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

<