โรคไขกระดูกฝ่อ

  • โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) เป็นโรคที่ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้เพียงพอ สาเหตุของโรคอาจเกิดจากการได้รับสารพิษบางชนิด ผลข้างเคียงจากยา หรือระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ของตนเอง
  • ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการใดๆ จนเมื่อระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ผิวซีด ติดเชื้อง่าย เลือดออกง่าย มีรอยช้ำง่ายโดยไม่มีสาเหตุ
  • อาการแทรกซ้อนจากโรคไขกระดูกฝ่อ อาจทำให้มีภาวะโลหิตจาง ติดเชื้อรุนแรง เลือดออกง่ายและหยุดยาก หัวใจทำงานหนัก และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไขกระดูกเสื่อม ที่พัฒนาอาการไปเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
  • ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อควรดูแลตัวเองโดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ลดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการติดเชื้อ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเบาๆ ตามคำแนะนำของแพทย์

สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะเมื่อร่างกายเริ่มส่งสัญญาณผิดปกติ เช่น มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด หรือมีรอยช้ำง่าย อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไขกระดูกฝ่อ เป็นหนึ่งในโรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในบทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักว่าโรคไขกระดูกฝ่อคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีสังเกตอาการและแนวทางการรักษา เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง

โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) คืออะไร

โรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ได้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือด ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจมีเลือดออกไม่หยุด โดยโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และสามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือค่อยๆ แสดงอาการทีละน้อย จากนั้นจะมีอาการรุนแรงขึ้นตามเวลา

สังเกตอาการโรคไขกระดูกฝ่อได้อย่างไร

สังเกตอาการโรคไขกระดูกฝ่อได้อย่างไร

โรคไขกระดูกฝ่อ ไขกระดูกเสื่อม อาจไม่แสดงอาการในช่วงแรก แต่เมื่อโรคนี้มีความรุนแรงมากขึ้น อาจแสดงอาการต่อไปนี้

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เนื่องจากร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ
  • หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ เป็นผลจากภาวะโลหิตจาง
  • ผิวซีด สังเกตได้จากใบหน้า ริมฝีปาก หรือใต้เล็บ
  • ติดเชื้อบ่อยหรือเป็นนานกว่าปกติ เนื่องจากเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • มีรอยฟกช้ำง่าย เลือดกำเดาไหล หรือเลือดออกตามไรฟัน โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • เลือดไหลไม่หยุดเมื่อเกิดบาดแผล
  • ผื่นบนผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือมีไข้

หาสาเหตุอาการโรคไขกระดูกฝ่อ เกิดจากอะไรบ้าง

โรคไขกระดูกฝ่อ เกิดจากความผิดปกติของสเต็มเซลล์ในไขกระดูก หรืออาจมีพังผืดในไขกระดูก ซึ่งทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดได้เพียงพอ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความผิดปกติในไขกระดูก มีดังนี้

  • ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีไขกระดูกภาวะนี้เรียกว่าโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disorder) ซึ่งร่างกายเข้าใจผิดและทำลายสเต็มเซลล์ในไขกระดูก
  • การรักษาด้วยรังสีและเคมีบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็งจะใช้การรักษาด้วยรังสีและเคมีบำบัด ที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบต่อสเต็มเซลล์ในไขกระดูก ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางชั่วคราวหรือถาวร
  • สารเคมีอันตรายการสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น ยาฆ่าแมลง เบนซีนซึ่งเป็นสารประกอบในน้ำมันเบนซิน สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไขกระดูกฝ่อได้
  • การใช้ยาบางชนิดยาบางประเภท เช่น ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และยาปฏิชีวนะบางชนิด อาจมีผลข้างเคียงต่อไขกระดูก
  • การติดเชื้อไวรัสไวรัสบางชนิดที่มีผลต่อไขกระดูก เช่น ไวรัสตับอักเสบ Epstein-Barr Cytomegalovirus Parvovirus B19 และ HIV
  • การตั้งครรภ์ภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจทำลายไขกระดูกในช่วงตั้งครรภ์ได้
  • ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในบางรายแพทย์ไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างชัดเจน

อาการแทรกซ้อนจากโรคไขกระดูกฝ่อ

โรคไขกระดูกฝ่ออาจนำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนที่พบได้ มีดังนี้

  • มีภาวะโลหิตจางอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ
  • ติดเชื้อบ่อยและรุนแรงภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
  • เลือดออกง่ายและหยุดยากเสี่ยงเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดออกในอวัยวะภายใน
  • หัวใจทำงานหนักขึ้นเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจล้มเหลว
  • เป็นโรคไขกระดูกเสื่อม (Myelodysplastic Syndrome)โรคไขกระดูกเสื่อมจะมีอาการคล้ายกับโรคไขกระดูกฝ่อ แต่สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

วินิจฉัยอาการโรคไขกระดูกฝ่อโดยแพทย์

วินิจฉัยอาการโรคไขกระดูกฝ่อโดยแพทย์

หากพบอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคไขกระดูกฝ่อผ่านขั้นตอนดังนี้

  • ซักประวัติและตรวจร่างกายแพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงอาการที่แสดง และ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การสัมผัสสารเคมี การใช้ยา เป็นต้น
  • การตรวจเลือด (Complete Blood Count - CBC)เพื่อประเมินปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด หากพบว่าปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดน้อยกว่าปกติ อาจมีแนวโน้มการป่วยเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ
  • การตรวจไขกระดูก (Bone Marrow Biopsy)แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไขกระดูกมาตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อประเมินเซลล์เม็ดเลือดและช่วยวินิจฉัยหรือแยกโรคอื่นได้แม่นยำขึ้น
  • การตรวจเพิ่มเติมในบางกรณี แพทย์อาจตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาการติดเชื้อไวรัส หรือการตรวจทางพันธุกรรม เพื่อระบุสาเหตุของโรคไขกระดูกฝ่อ

แนวทางการรักษาโรคไขกระดูกฝ่อ

การรักษาโรคไขกระดูกฝ่อมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยแนวทางการรักษาหลักๆ มีดังนี้

รักษาโรคไขกระดูกฝ่อโดยการให้เลือด

การให้เลือด (Blood Transfusion) เป็นการทดแทนเซลล์เม็ดเลือดที่ขาดหายไป การให้เลือดช่วยบรรเทาอาการโลหิตจาง อ่อนเพลีย และป้องกันภาวะเลือดออกง่าย อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นการบรรเทาอาการชั่วคราว ไม่ใช่การรักษาที่ต้นเหตุของโรค

รักษาโรคไขกระดูกฝ่อโดยการจ่ายยา

แพทย์อาจรักษาด้วยการจ่ายยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) และ Antithymocyte Globulin เพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์เม็ดเลือด รวมถึงยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และยาที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูก เช่น เช่น ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) หรือยาอีโพอิตินชนิดอัลฟ่า (Epoetin Alfa) เพื่อเพิ่มการผลิตเซลล์เม็ดเลือด

รักษาโรคไขกระดูกฝ่อโดยการปลูกถ่ายไขกระดูก

การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplant) เป็นการแทนที่ไขกระดูกที่เสียหายด้วยสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยอายุน้อยที่มีอาการรุนแรงและสามารถหาผู้บริจาคที่เข้ากันได้ ทั้งนี้ วิธีการรักษานี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อต้านสเต็มเซลล์ใหม่จากร่างกายผู้ป่วย

ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เข้ารับการรักษาตามแผนการรักษา รวมถึงสังเกตอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และสามารถดูแลตนเองตามแนวทางต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือกีฬาที่มีการปะทะสูง เช่น ฟุตบอล ฮอกกี้ หรือมวยปล้ำ เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกมากได้
  • ป้องกันตนเองจากเชื้อโรคและไวรัส โดยการล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือโรคทางเดินอาหาร
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากอ่อนเพลียได้ง่าย จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่ไม่มีไขมัน ผัก และธัญพืช
  • ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยลดความเครียด ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย

การรักษาโรคไขกระดูกฝ่อที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีพร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคไขกระดูกฝ่อ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง พร้อมด้วยโปรโมชั่นการรักษาเพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่าย ที่นี่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้ป่วยและมุ่งมั่นให้การรักษาออกมาดีและปลอดภัยที่สุด

  • โรงพยาบาลวิภาวดีได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ISO 9001:2008 และ Hospital Accreditation
  • ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและไขกระดูก
  • ใช้เทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ทันสมัย
  • บริการฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน พร้อมสิทธิประโยชน์ด้านประกันสุขภาพ
  • ห้องพักสะอาด ปลอดภัย เหมาะแก่การพักฟื้น

โรคไขกระดูกฝ่อเป็นโรคที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้เพียงพอ

ติดต่อโรงพยาบาลวิภาวดี ที่อยู่ 51/3 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ หรือนัดหมายล่วงหน้าที่เบอร์ 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 สำหรับตัวแทนประกันชีวิต ติดต่อผ่าน LINE: @vibhainsurance

สรุป

โรคไขกระดูกฝ่อเป็นโรคที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้เพียงพอ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย และเลือดออกผิดปกติ หากอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อหัวใจและอันตรายถึงชีวิตได้ สัญญาณเตือนของโรคนี้คือมีอาการอ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว เลือดออกง่าย และติดเชื้อบ่อย หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การให้ยา การถ่ายเลือด และการปลูกถ่ายไขกระดูก ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค

หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนได้ โดยที่โรงพยาบาลวิภาวดีพร้อมช่วยเหลือในการรักษาโรคไขกระดูกฝ่อทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตรวจวินิจฉัย ให้คำปรึกษา ไปจนถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เพราะสุขภาพของผู้เข้ารับการบริการเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

FAQ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไขกระดูกฝ่อ บทความนี้ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบ เพื่อให้คลายความสงสัยและเข้าใจในโรคนี้มากขึ้นแล้ว

โรคไขกระดูกฝ่อติดต่อทางพันธุกรรมไหม

โรคไขกระดูกฝ่อสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม หรืออาจเกิดจากยีนที่ส่งผลต่อการทำงานของไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ตามปกติ

โรคไขกระดูกฝ่ออยู่ได้กี่ปี

ระยะเวลาของโรคไขกระดูกฝ่อขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค หากเกิดจากการใช้ยา การหยุดยาหรือเปลี่ยนยาอาจช่วยให้อาการดีขึ้น หากเกิดจากสาเหตุอื่น อาจต้องพิจารณาวิธีรักษาที่เหมาะสม แต่การจะรักษาโรคนี้อย่างถาวร มีเพียงแค่วิธีปลูกถ่ายไขกระดูกเท่านั้นที่สามารถทำได้

โรคไขกระดูกฝ่อห้ามกินอะไร

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลต่อเลือด เช่น กระเทียม หัวหอม บลูเบอร์รี่ อาหารที่มีไขมันสูง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกโปรตีนที่ไม่มีไขมัน ผัก และธัญพืชแทน

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111


ทีมแพทย์โรคไขกระดูกฝ่อ