กิน ดื่ม ขยับ ปรับอารมณ์
เทคนิคการสร้างสุขภาพดีด้วยการ ‘กิน-ดื่ม’
รับประทานอาหารเช้าในปริมาณที่มากกว่ามื้ออื่น
อาหารมื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุดในแต่ละวัน เพราะเป็นแหล่งที่มาของพลังงานซึ่งเราจำเป็นต้องใช้ ในการทำกิจกรรมมากมาย ไม่เพียงเท่านั้น อาหารเช้ายังมีประโยชน์ที่หลายคนคาดไม่ถึงอีกมาก อาทิ
·คนที่งดอาหารเช้ามีสิทธิ์อ้วนได้มากกว่าคนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำถึง 4.5 เท่า เพราะว่า ตั้งแต่มื้อดึกมาจนถึงเช้าวันใหม่ เราไม่ได้ทานอะไรมาเกือบ 12 ชั่วโมง หากยิ่งไม่ทานมื้อเช้า ซึ่งเป็นมื้อแรกของวัน จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง จนไปเพิ่มแนวโน้มในการรับประทานอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูงในมื้อเที่ยงมากขึ้น ในขณะที่มีเวลาในการเผาผลาญพลังงานน้อยลง จึงเป็นสาเหตุให้มีน้ำหนักเกินและอาจเป็นโรคอ้วนได้อย่างไม่รู้ตัว
·ผู้หญิงที่รับประทานอาหารเช้าซึ่งมีปริมาณแคลลอรี่มากกว่ามื้ออื่นๆจะสามารถควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่า
·เด็กที่ทานอาหารเช้าเป็นประจำจะมีทักษะความจำที่ดีกว่า และมีสมาธิในการเรียนรู้ที่ดีกว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า การทานอาหารเช้าจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอและมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้หรือการทำงาน ทำให้ระบบความจำ ทักษะการเรียนรู้ และอารมณ์ดีขึ้น แต่หากขาดพลังงานจากอาหารมื้อเช้าร่างกายจะขาดพลังงานจำเป็น สมาธิลดน้อยลง สมองทำงานไม่ได้เต็มที่ หากขาดอาหารเช้าเป็นประจำอาจส่งผลต่อสติปัญญาและมีผลเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว
ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
ร่างกายเราประกอบด้วยน้ำถึง 70% โดยทุกเซลล์มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ฉะนั้นการดื่มน้ำที่น้อยเกินไปอาจทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการร่างกายเรียกร้องขอน้ำโดยอัตโนมัติ จึงเกิดเป็นปัญหาสุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บได้ เทคนิคง่ายๆ สำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศคือวางน้ำเปล่าไว้ข้างกายให้จิบดื่มได้ตลอดทั้งวัน เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกายอยู่เสมอ
·ปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนคือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) x 33 = ปริมาณน้ำ (มิลลิลิตร)
·ปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมโดยเฉลี่ยคือ 2 ลิตรต่อวัน
‘ลด’ ปริมาณ แต่ไม่ ‘งด’ มื้อเย็น
หลายคนมีความเข้าใจที่ผิดคือเลือกที่จะงดรับประทานอาหารมื้อเย็นเพื่อเป็นการควบคุมน้ำหนัก แต่ในความเป็นจริงคือเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารให้ครบตามที่ร่างกายต้องการตลอดทั้งวัน เพื่อให้ร่างกายมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจึงควรเลือกทานอาหารมื้อเย็นให้ถูกวิธี คือ ควรทานอาหารมื้อเย็นก่อนเวลาเข้านอน 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้กระบวนการย่อยและดูดซึมสารอาหารไปกระทบช่วงเวลาการพักผ่อนของร่างกาย แค่ลดปริมาณที่รับประทานในมื้อเย็นก็เป็นประโยชน์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ควรให้ความสำคัญในการเลือกทานอาหารที่ย่อยง่ายไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา และผักผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งมีสารอาหารแตกต่างกันไป
‘ลด’ ปริมาณน้ำตาลที่รับประทานในแต่ละวัน
ไขมันส่วนเกินสะสมไม่ได้เกิดจากการทานอาหารประเภทไขมันในปริมาณที่มากเกินไปเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งมาจากการทานน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากกลไลของร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลที่เหลือจากการใช้พลังงานให้กลายเป็นไขมันสะสม น้ำตาลจึงเป็นหนึ่งสาเหตุของปัญหาสุขภาพและโรคอ้วน ดังนั้น เราจึงควรควบคุมปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายรับเข้าไป เลือกชนิดอาหารที่มีความหวานน้อยกว่า โดยเปรียบเทียบกับการอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปทุกชนิด เพื่อช่วยให้เราสามารถเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะกับความต้องการของร่างกายเรา
วิธีการคำนวณปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มง่ายๆเพียงแค่น้ำค่าน้ำตาล (กรัม) ที่ระบุฉลากโภชนาการมาหารด้วย 4 กรัม เราจะทราบว่าในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีน้ำตาลอยู่ประมาณที่ช้อนชาต่อ 1 หน่วยโภชนาการ
เทคนิคการสร้างสุขภาพดีด้วยการ ‘ขยับ’
·ผลวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า หากรับประทานอาหารอิ่มแล้วเดินทันที 30 นาที จะช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงเกินไป รวมถึงการป้องกันการเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันได้ดีกว่า เมื่อเปรี่ยบเทียบกับคนที่เดินในระยะเวลาเท่ากันหลังประทานอาหารไปแล้ว 1 ชั่วโมง
·เพิ่มโอกาสในการออกกำลังกายด้วยการตื่นเช้าขึ้นสัก 15 นาที แล้วขยับเคลื่อนไหวด้วยการเต้นไปกับเพลงสนุกๆ เป็นการปลุกร่างกายให้ตื่นตัวก่อนออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ตลอดทั้งวัน
·ขยับเปลี่ยนท่านั่ง หรือลุกเดินเคลื่อนไหวระหว่างวันทำงาน การนั่งในท่าติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้
เทคนิคการสร้างสุขภาพที่ดีด้วยการ ‘ปรับอารมณ์’
เมื่อสุขภาพร่างกายแข้งแรงแล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือความสุขใจ เราสามารถหาวิธีผ่อนคลายให้ตนเองในแต่ละวันด้วยการพักผ่อนสายตาระหว่างทำงาน 5-10 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง อีกหนึ่งวิธีลดความเคลียดแบบง่ายๆคือ “การกอดคนที่เรารักและไว้ใจ” เพราะสัมผัสการกอดมีผลต่อการเพิ่มการหลั่งสารอ๊อกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความผูกพัน เพิ่มภูมิคุ้มกัน ทั้งยังกระตุ้นการตื่นตัวได้ดี
ด้วยความปรารถนาดีจาก รพ.วิภาวดี
ขอบคุณที่มาจาก: นิตยสาร Health Plus@City
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved