กล้องที่ใช้ส่องตรวจจะมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กปรับโค้งงอได้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซ.ม ยาว 100 ซ.ม. ที่ปลายกล้องมีเลนส์ขยายภาพ และปลายอีกข้างหนึ่งต่อเข้ากับ เครื่องกำเนิดแสง เพื่อทำการส่งภาพมายังจอรับภาพ ในผู้ที่มีอาการกลืนอาหารลำบาก กลืนติดหรือกลืนแล้วมีอาการเจ็บ มีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระดำ,อาเจียนมากหลังรับประทานอาหาร,ปวดท้องจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่เป็นๆ หายๆ อยู่บ่อยๆ หรือรับประทานยารักษากระเพาะอาหารอักเสบ แต่อาการไม่ทุเลาหรือมีน้ำหนักลด,ท้องเสียเป็นประจำ เป็นต้น ถ้ามีอาการเหล่านี้ อย่างหนึ่งอย่างใด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ
ขั้นตอนส่องกล้องกระเพาะอาหาร
1. ผู้รับการตรวจจะได้รับการพ่นยาชาเฉพาะที่ๆ บริเวณลำคอ
2. ในบางกรณีผู้รับการตรวจจะได้รับยานอนหลับฉีดทางหลอดเลือดดำเพื่อลดอาการไม่สุขสบายระหว่างการตรวจ
3. ผู้รับการตรวจนอนในท่าตะแคงซ้าย
4.แพทย์จะใส่กล้องส่องเข้าทางปากให้ผู้ป่วยทำตัวผ่อนคลาย ไม่เกร็งซึ่งจะทำให้การส่องกล้องง่ายขึ้น
ข้อดี/ประโยชน์ของการส่องกล้อง
1. เพื่อการวินิจฉัยโรคในหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เช่นมีการอักเสบ เป็นแผล มีเนื้องอกหรือมีการตีบตันของอวัยวะเหล่านั้น
2. เพื่อรักษาโดยการใส่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางกล้องส่องตรวจ เช่น เครื่องมือขยายหลอด
อาหาร, อุปกรณ์ตัดติ่งเนื้อในกระเพาะอาหาร,อุปกรณ์ฉีดยาหรือรัดหลอดเลือดโป่งพองของหลอดอาหาร และอุปกรณ์สำหรับทำให้เลือดหยุดในกรณีที่มีแผลเลือดออก ในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น
ผลข้างเคียง
1. กรณีมีเศษอาหารในกระเพาะอาหาร อาจมีการสำลักเศษอาหารลงไปในปอด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบได้ และทำให้ผลการตรวจไม่มีประสิทธิภาพ
2. หลังจากตรวจอาจมีอาการเจ็บบริเวณลำคอ
3. อาจมีอาการปวดบริเวณหน้าอก ท้อง หายใจลำบาก
4. สังเกตน้ำลายที่บ้วนออกมาอาจมีเลือดปนเล็กน้อย
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
1. ควรงดน้ำและอาหาร 6-8 ชั่วโมง ก่อนมาตรวจเป็นการเตรียมกระเพาะอาหารให้ว่าง ไม่มีเศษอาหาร เพื่อป้องกันการสำลักเศษอาหารลงไปในปอด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดปอดอักเสบได้ และเพื่อให้ผลการตรวจมีประสิทธิภาพ
2. ถ้ามีฟันปลอมชนิดถอดได้ ควรถอดออกก่อน
3. ควรมีญาติมาด้วย
4. ถ้ามีโรคประจำตัวหรือแพ้ยาต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
การปฎิบัติตนหลังการส่องกล้องตรวจ
1. นอนพักเพื่อสังเกตอาการผิดปกติประมาณ 1-2 ชั่วโมง
2. ห้ามดื่มน้ำหลังได้รับการตรวจจนกว่าคอจะหายชา เมื่อหายให้ทดลองจิบน้ำ ถ้าไม่สำลักจึงดื่มน้ำได้
3. หลังการตรวจอาจมีอาการเจ็บบริเวณลำคอ
ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved