ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
หากตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (FPG) ระดับน้ำตาลในเลือดในบุคคลปกติจะมีค่าน้อยกว่า 100 มก./ดล. ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วง 100-125 มก./ดล. จะถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานแต่ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มก./ดล. ขึ้นไป และเมื่อได้รับการตรวจซ้ำแล้วยังพบว่ามีค่าผิดปกติดังกล่าวอยู่อีกจะถือว่าเป็นบุคคลนั้นเป็นโรคเบาหวาน
บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวาน
ความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตขึ้นกับจำนวนปัจจัยเสี่ยง เช่น ถ้าอ้วน มีอายุมากกว่า 40 ปี มีโรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูง มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน หรือมีระดับน้ำตาลที่มากกว่า 100 มก./ดล. จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
ทำไมต้องให้การรักษาถ้าระดับน้ำตาลในเลือดสูง
เนื่องจากระดับน้ำตาลที่สูงมากกว่า 180 มก./ดล. อาจจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย
ระดับน้ำตาลก่อนอาหารตั้งแต่ 126 มก./ดล. จะมีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนระยะยาว เช่น โรคตา โรคไต เส้นประสาทเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งผู้ป่วยบางท่านมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การที่ควบคุมน้ำตาลไม่เกิน 180 มก./ดล. ก็เพียงพอเพราะไม่มีอาการจากโรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะเป็นจริงในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคแทรกซ้อนหรือผู้ป่วยที่มีโรคร่วมที่รุนแรง หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยๆ แต่ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่อยู่น้อยและคาดว่าจะมีอายุยืนยาวควรจะควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติหรือใกล้เคียงปกติ (FPG น้อยกว่า 80-130 มก./ดล.) เพราะจะลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานในระยะยาวได้
เป้าหมายโดยรวมในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยง | เป้าหมาย |
· ระดับน้ำตาลหลังอดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (FPG) | 80-130 มก./ดล. (ถ้าระดับที่น้อยกว่า 110 มก./ดล. จะใกล้เคียงคนปกติ) |
· ระดับน้ำตาลหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง | น้อยกว่า 180 มก/ดล.(ถ้าระดับที่น้อยกว่า 140 มก./ดล.จะใกล้เคียงคนปกติ) |
· ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด 3 เดือน (HbA1c) | น้อยกว่า 7% (ถ้าระดับที่น้อยกว่า 6.5% จะถือว่าดีมาก) |
· ความดันโลหิต | น้อยกว่า 140/90 มม. ปรอท (พิจารณาระดับต่ำกว่านี้ถ้ามีโปรตีนชนิดเดียวกับไข่ขาวในปัสสาวะ) |
· ระดับไขมันไม่ดี (LDL-C) | น้อยกว่า 100 มก./ดล. น้อยกว่า 70 มก./ดล. (ถ้ามีโรคหัวใจและหลอดเลือด) |
· สูบบุหรี่ | งดการสูบบุหรี่ |
· อ้วน | ควรเริ่มต้นลดน้ำหนักลง 5-7% จากน้ำหนักตัวเดิม |
· ผู้ป่วยและครอบครัวขาดความรู้และดูแลตนเองไม่ได้ | ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้และดูแลตนเองได้ |
ด้วยความปรารถนาดี จากศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อและไต รพ.วิภาวดี
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved