โรคไข้สมองอักเสบเจอีคืออะไร
คือโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสเจอี (Japanese encephalitis virus, JEV) มียุงรำคาญซึ่งหากินเวลากลางคืนเป็นพาหะนำโรค มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลายชนิดเป็นที่อาศัยของไวรัส ระยะฟักตัวของโรค 5-15 วัน จึงเริ่มมีอาการได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนพุ่ง มีอาการชักเกร็ง ไม่รู้สึกตัว และอาจเสียชีวิตได้
คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ผู้ติดเชื้อ 250 ราย มีเพียง 1 รายที่แสดงอาการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบโดยเฉพาะช่วงอายุ 0 ถึง 4 ขวบ และมีอัตราตายและพิการทางสมองสูงมาก โรคนี้พบแพร่กระจายทั่วทวีปเอเชีย การรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถป้องกันด้วยวัคซีน
การป้องกัน
โรคไข้สมองอักเสบเจอีมีอัตราตายและความพิการสูง การป้องกันจึงมีความสำคัญ สามารถทำได้โดย
1. ควบคุมพาหะนำโรค เช่น ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
2. ระวังไม่ให้ถูกยุงกัด
3. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีในประเทศไทย มี 2 แบบคือ
1. วัคซีนเชื้อตาย เตรียมโดยเลี้ยงไวรัสก่อโรคในสมองหนูแรกเกิด มีทั้งชนิดสายพันธุ์ Beijieng และสายพันธุ์ Nakayama ขนาดวัคซีนไม่เท่ากัน ขนาดวัคซีนสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี เป็นกึ่งหนึ่งของเด็กโต เริ่มให้ได้เมื่ออายุ 12-18 เดือน ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 2 เข็มห่างกัน 1-4 สัปดาห์ และให้เข็มที่สาม 1 ปี หลังจากรับวัคซีนเข็มแรก
ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนทั้งสองสายพันธุ์ให้ผลดีพอกัน ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม ร้อยละ 80-90 จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ระยะหนึ่ง และเมื่อได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มจะป้องกันโรคได้ 3-5 ปี หากอาศัยในพื้นที่ระบาด แนะนำให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็ม ทุก ๆ 4-5 ปี อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ก็จะสามารถป้องกันโรคในช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงได้
2. วัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ป้องกันโรคได้ ร้อยละ 95-100 มีข้อดีกว่าวัคซีนเชื้อตายคือ ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน ไม่ต้องฉีดเข็มกระตุ้น และวัคซีนได้จากการเลี้ยงไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง ไม่ได้เลี้ยงในสมองหนู จึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนทางระบบประสาทคือสมองและไขสันหลังอักเสบอย่างเฉียบพลันอันเนื่องจากเนื้อเยื่อสมองหนูปนเปื้อนในวัคซีน
1) วัคซีนจากประเทศจีนในรูปผงแห้ง เตรียมโดยเลี้ยงไวรัสสายพันธุ์อ่อนกำลัง SA 14-14-2 ในเซลล์เพาะเลี้ยง กำหนดให้ 2 เข็ม เริ่มให้ได้มื่ออายุ 1 ขวบ และให้เข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 1 ปี
2) วัคซีนผลิตโดยใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม โดยการตัดต่อยีนของไวรัสไข้สมองอักเสบเจอีสายพันธุ์ SA14-14-2 ใส่เข้าไปแทน ที่ยีน PrM และ E ของไวรัสวัคซีนไข้เหลืองสายพันธุ์ 17D เพื่อให้ได้ไวรัสที่มี structural protein เหมือนไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี และมี non-structural protein เหมือนไวรัสวัคซีนไข้เหลือง ใช้ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ ภายใน 28 วัน ภายหลังการฉีดวัคซีน 1 โด๊ส หากต้องการผลการป้องกันโรคในระยะยาว (long term protection) แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 1-2 ปี หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก โดยภูมิคุ้มกันโรคจะคงอยู่ในระดับสูงได้อย่างน้อย 3 ปี ภายหลังจากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนเพียง 1 โด๊ส โดยทั่วไปร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้ หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 14 วัน และไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภายในระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรก
ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี
ประชากรที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรค และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังประเทศในทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทย
นานเกิน 1 เดือน แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้ครบอย่างน้อย 10 วันก่อนเดินทาง เพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันสูงพอในการป้องกันโรคและจะได้เฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ใครควรงดรับวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี หรือเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน
1. มีประวัติแพ้วัคซีนจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีในครั้งก่อน
2. แพ้สารเจลาตินไม่ควรรับวัคซีนชนิดเนื้อตาย
3. หญิงตั้งครรภ์
4. ห้ามฉีดเชื้อเป็นในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ หรือผู้ที่รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่อยู่ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
5. กรณีเจ็บป่วยเรื้อรังเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือมีภาวะชักภายใน 1 ปี ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
6. มีไข้สูงหรือติดเชื้อรุนแรงให้เลื่อนการรับวัคซีน รอจนหายดีก่อนจึงค่อยมารับวัคซีน
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย
วัคซีนเชื้อตาย
ผลข้างเคียงพบบ่อย ได้แก่ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย คลื่นไส้ เกิดผื่นแพ้แบบลมพิษ อาจเกิดทันทีหรือล่าช้าไป ส่วนใหญ่ภายใน 10 วัน
วัคซีนเชื้อเป็น
ผลข้างเคียงพบน้อยกว่าวัคซีนเชื้อตาย และหายได้เองใน 2 วัน ได้แก่ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณที่ฉีด มีไข้ เกิดผื่น คลื่นไส้ เด็กร้องโยเย เบื่ออาหาร เป็นต้น
การดูแลอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
สิ่งที่ควรสังเกต
ü สังเกตุหาอาการผิดปกติต่างๆ ของอาการแพ้อย่างรุนแรง คือ ผื่น หน้าบวม ปากบวม คอบวม หายใจไม่สะดวก หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 2-3 นาที ถึง 1-2 ชั่วโมงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน
สิ่งที่ควรปฏิบัติ
หากคิดว่าผู้รับวัคซีนเกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
ด้วยความปรารถนาดี จาก ศูนย์วัคซีน โรงพยาบาลวิภาวดี
นโยบายความเป็นส่วนตัว | นโยบาย คุกกี้
Copyright © Vibhavadi Hospital. All right reserved