• โรคเบาหวาน (Diabetes) คือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยมีสาเหตุจากผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้ไม่เพียงพอ หรือเซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ลดลง
  • อาการเบาหวานสังเกตได้จากความเหนื่อยล้าผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ชาและแสบร้อนที่ปลายมือและเท้า แผลหายช้า เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และปัญหาทางสายตา เช่น ตามัวและมองเห็นลดลง
  • ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนทางตา เส้นประสาท และไต เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัน
  • ป้องกันโรคเบาหวานสามารถทำได้โดย การเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

โรคเบาหวานเป็นภัยเงียบที่อาจไม่มีอาการในระยะแรก แต่หากไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ส่งผลต่อดวงตา สมอง หัวใจ ไต และระบบไหลเวียนโลหิต ควรหมั่นสังเกตอาการเบาหวานอย่างใกล้ชิด และหากพบความผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจและรักษาทันที

ในบทความนี้ เราจะพาคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรคเบาหวาน สาเหตุโรคเบาหวาน และแนวทางดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวาน (Diabetes) คืออะไร

โรคเบาหวาน (Diabetes) คืออะไร

โรคเบาหวาน (Diabetes) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลิน (Insulin) ได้เพียงพอหรือเซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งโดยปกติแล้วอินซูลินมีบทบาทควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยนำไปใช้เป็นพลังงาน หากมีความผิดปกติของอินซูลิน จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ จนส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ และภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง รวมถึงการที่ไตไม่สามารถดูดน้ำตาลกลับได้ทั้งหมด ทำให้มีน้ำตาลในปัสสาวะ จึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคเบาหวาน”

ทำความรู้จักเบาหวานทั้ง 4 ชนิด

ทำความรู้จักเบาหวานทั้ง 4 ชนิด

โรคเบาหวานสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดได้แก่

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (T1DM)

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus: T1DM) เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์เบตา (β-cells) ในตับอ่อนถูกทำลาย ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ ร่างกายจึงไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงขึ้น สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่อายุกว่า 40 ปี และคิดเป็นประมาณ 5–10% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด

อาการเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำผิดปกติ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว และในบางกรณีอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การดูแลรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยต้องฉีดอินซูลินอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (T2DM)

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus: T2DM) เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพและการทำงานของเซลล์เบตาในตับอ่อนลดลง จึงไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและมีแนวโน้มพบมากขึ้นในวัยหนุ่มสาว เนื่องจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุโรคเบาหวานชนิดนี้ ได้แก่ กรรมพันธุ์ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวเกิน

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM)

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) เป็นภาวะที่พบในสตรีมีครรภ์ เกิดจากฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้การทำงานของอินซูลินลดลง จึงเกิดภาวะดื้ออินซูลินเพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

อาการมักเกิดขึ้นในระหว่าง 24 – 48 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์

อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจไม่ชัดเจน แต่มักมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย เหนื่อยล้าง่าย และมองเห็นพร่ามัว หากไม่ควบคุมระดับน้ำตาล อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ทารกตัวโตเกินอายุครรภ์ทำให้คลอดแบบธรรมชาติยาก และทารกยังมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคอ้วนหรือเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ

โรคเบาหวานที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งทางพันธุกรรมและปัจจัยแวดล้อม เช่น

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของเซลล์เบตาในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน
  • ภาวะผิดปกติของตับอ่อน เช่น การอักเสบเรื้อรัง หรือโรคตับอ่อนอักเสบจากแอลกอฮอล์ อาจทำให้การผลิตอินซูลินลดลง
  • ความผิดปกติของฮอร์โมน
  • การได้รับยาบางชนิด โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์หรือสารเคมีบางประเภท อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานได้ชนิดที่สองได้

อาการเบาหวานเป็นอย่างไร

อาการเบาหวานเป็นอย่างไร

อาการเบาหวานสามารถสังเกต ดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำมากผิดปกติเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจะพยายามขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการปัสสาวะบ่อยขึ้น ร่างกายจึงสูญเสียน้ำมากขึ้นจึงเกิดอาการกระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • ความรู้สึกหิวบ่อย อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือขาดอินซูลิน ร่างกายจะไม่สามารถใช้พลังงานจากกลูโคสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความรู้สึกหิวบ่อย อ่อนเพลีย
  • แผลหายช้าและการติดเชื้อง่ายขึ้นผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มที่จะเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวลดลง ส่งผลให้แผลหายช้ากว่าปกติ และเกิดการติดเชื้อตามผิวหนังได้ง่าย
  • อาการคันและภาวะผิวหนังแห้งผิดปกติระดับน้ำตาลที่สูงอาจทำให้ผิวหนังแห้งและเกิดอาการคันได้มากขึ้น
  • ภาวะสายตาพร่ามัวระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงสามารถส่งผลกระทบต่อเลนส์ตา ทำให้เกิดภาวะสายตาพร่ามัวชั่วคราวได้ และหากไม่ได้รับการดูแล อาจนำไปสู่อาการเบาหวานขึ้นตา ต้อกระจก หรือจอประสาทตาเสื่อมได้
  • อาการชาตามปลายมือปลายเท้าโรคเบาหวานอาจทำให้เส้นประสาทเสื่อม ส่งผลให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รวมทั้งทำให้เกิดปัญหาด้านสมรรถภาพทางเพศได้

สังเกตตัวเองอย่างไรให้รู้เท่าทันโรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักแสดงอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะของโรค บางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่ในบางรายอาจมีอาการช็อกน้ำตาลหรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

อาการเบาหวานที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความเหนื่อยล้าที่เกินกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในตอนกลางคืน น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน อาการชาและแสบร้อนที่ปลายมือและปลายเท้า แผลที่หายช้า เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงอาการผิดปกติทางสายตา เช่น ตามัว ความสามารถในการมองเห็นลดลง

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ หากสามารถตรวจเบาหวานพบในระยะแรกและผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่พบได้บ่อย ได้แก่

ภาวะแทรกซ้อนทางตา

ภาวะแทรกซ้อนทางตาหรือภาวะเบาหวานขึ้นตา เกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดที่จอประสาทตา

อาการแทรกซ้อนทางตาที่พบบ่อย ได้แก่ โรคจอประสาทตาเสื่อม ส่งผลให้การมองเห็นลดลง และหากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะรุนแรง เช่น จอประสาทตาลอกและภาวะตาบอดถาวรได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดต้อกระจกและต้อหินมากกว่าคนปกติ

ภาวะแทรกซ้อนทางเส้นประสาท

ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย ได้แก่ เกิดอาการชาในบริเวณปลายมือและปลายเท้า คล้ายการสวมถุงมือหรือถุงเท้าอยู่ตลอดเวลา บางรายอาจมีอาการปวดแปลบคล้ายถูกของแหลมทิ่มแทง หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณปลายมือและเท้า

นอกจากนั้นยังอาจพบการทำงานของต่อมเหงื่อผิดปกติ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น กลืนลำบาก ภาวะกระเพาะอาหารทำงานช้า และท้องอืด

ภาวะแทรกซ้อนทางไต

ภาวะแทรกซ้อนทางไตหรือ โรคไตจากเบาหวาน เป็นภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสรีรวิทยาของไตอันเนื่องมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงผิดปกติเป็นระยะเวลานาน ในระยะเริ่มแรกของโรคอาจยังไม่พบความผิดปกติของไตที่ชัดเจน อาจตรวจพบการรั่วของโปรตีนอัลบูมินออกมากับปัสสาวะในปริมาณเล็กน้อย

หากไม่มีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเหมาะสม โรคไตจากเบาหวานจะเข้าสู่ระยะที่โปรตีนรั่วในปัสสาวะมากขึ้น และการทำงานของไตเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ป่วยจะมีภาวะไตเสื่อมเรื้อรังและนำไปสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้

เส้นเลือดสมองตีบ

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์สมองลดลง เมื่อสมองขาดเลือดเป็นเวลานาน เซลล์สมองในบริเวณดังกล่าวจะเริ่มเสื่อมสภาพหรือตายลง

อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อัมพฤกษ์หรืออัมพาต ความผิดปกติในการพูด ใบหน้าผิดรูปหรือปากเบี้ยว และอาการชาครึ่งซีกของร่างกาย

เส้นเลือดหัวใจตีบ

ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือดจากการตีบแคบของหลอดเลือดแดง ปริมาณเลือดและออกซิเจนที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้

เส้นเลือดแดงใหญ่อุดตัว

ภาวะหลอดเลือดแดงอุดตัน เกิดจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปยังแขน ขา และอวัยวะส่วนปลาย โดยมักพบมากในบริเวณขาและเท้า ผู้ป่วยมักมีอาการปวดขาเมื่อออกแรง โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นขณะเดินหรือออกกำลังกาย และทุเลาลงเมื่อพัก ปลายเท้าเย็นกว่าปกติ

มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น ผิวหนังบริเวณขามีลักษณะบาง เงามัน ขนขาร่วง หรือเกิดแผลเรื้อรัง ในระยะท้ายของโรคจะมีการอุดตันของหลอดเลือดแดงรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดเฉียบพลัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อตายและนำไปสู่การตัดนิ้วเท้าหรือขาเพื่อรักษาชีวิต

 วินิจฉัยโรคเบาหวานโดยแพทย์

วินิจฉัยโรคเบาหวานโดยแพทย์

การวินิจฉัยโรคเบาหวานในปัจจุบันมีหลายวิธี โดยวิธีที่ใช้แพร่หลายและมีความแม่นยำในประเทศไทย ได้แก่

  • การตรวจเบาหวานด้วยการวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังการงดอาหารที่มีพลังงาน เป็นเวลา 8-12 ชั่วโมง หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อย่างน้อย 2 ครั้ง บ่งชี้ว่าเป็นเบาหวาน
  • การทดสอบน้ำตาลในเลือดหลังจากการกลืนน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง หากพบว่าระดับน้ำตาลเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะบ่งชี้ถึงการเป็นโรคเบาหวาน
  • การวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม โดยไม่ต้องงดอาหาร หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรและมีอาการบ่งชี้โรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย หรือการมองเห็นผิดปกติ

แนวทางการรักษาโรคเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวานที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน โดยแนวทางการรักษาโรคเบาหวานมีดังนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน

การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อรักษาอาการเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินอาหาร เช่น ผักใบเขียวทุกชนิด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และไข่ขาว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ส่วนอาหารบางประเภท เช่น ผลไม้ ควรกินในปริมาณที่จำกัด โดยเลือกกินเฉพาะผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ เช่น ฝรั่ง ชมพู่ หรือแก้วมังกร

ออกกำลังกายอย่างสมำเสมอ

ผู้ป่วยที่มีอาการเบาหวานควรออกกำลังกายประเภทแอโรบิค เช่น การวิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยานเป็นประจำอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และควรฝึกการออกกำลังกายที่เน้นการต้านน้ำหนัก เช่น การยกเวท เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 45 นาทีต่อวัน และ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนพักเกิน 90 นาทีติดต่อกัน

ใช้ยารักษาโรคเบาหวาน

การรักษาโรคเบาหวานด้วยการใช้ยา แพทย์จะพิจารณาจากลักษณะและชนิดของโรคเบาหวานที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ในกรณีของอาการเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากการขาดอินซูลิน ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินเพียงอย่างเดียว

ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การรักษาจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากโรคมีลักษณะที่แตกต่างกันไป การพิจารณาเลือกใช้ยาจึงต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ได้แก่ ความรุนแรงของโรค ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โอกาสในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และสภาพทางเศรษฐกิจของผู้ป่วย

เป็นเบาหวาน ดูแลตัวเองอย่างไร

เป็นเบาหวาน ดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถดูแลตัวเองได้ โดยวิธีการต่างๆ เหล่านี้

ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน

  • กินอาหารให้ครบ 3 มื้อ ไม่กินอาหารว่างระหว่างวัน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ กินอาหารประเภทแป้งในปริมาณที่เหมาะสม เลือกกินผักใบเขียวและผลไม้น้ำตาลต่ำ
  • ลดอาหารที่มีรสหวาน อาหารมัน อาหารเค็ม
  • งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
  • ใช้น้ำมันพืชในการปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดทานตะวันได้ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว
  • ดื่มนมจืดพร่องมันเนย 250 มิลลิกรัมต่อวัน หรือโยเกิร์ตรสธรรมชาติไม่เกิน 1 ถ้วยต่อวัน
  • กินยาหรือฉีดอินซูลินตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ควรอ่านข้อมูลทางโภชนาการบนฉลากก่อนเลือกซื้ออาหารทุกครั้ง
  • ตรวจฟันและช่องปากทุกๆ 6 เดือน

ป้องกันโรคเบาหวาน ทำได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้ ในส่วนของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวานที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดและการลดน้ำหนักอย่างน้อย 7-10% ของน้ำหนักตัวเดิมนั้น สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการเบาหวานชนิดที่ 2 ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทำให้ร่างกายมีความไวต่ออินซูลินเพิ่มขึ้นและสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น

เป็นโรคเบาหวาน หายขาดได้ไหม

ปัจจุบันมีการวิจัยที่ค้นพบวิธีรักษาอาการเบาหวานให้หายขาด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัย โรคเบาหวานในผู้ป่วยที่มีโรคอ้วน การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักช่วยลดน้ำหนักและทำให้บางรายหายขาดจากโรคเบาหวานได้

อย่างไรก็ตามผ่าตัดกระเพาะอาหารยังไม่สามารถใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานได้ทุกราย และมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของการผ่าตัด ดังนั้นแพทย์จึงจะพิจารณาการผ่าตัดเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเท่านั้น

การรักษาอาการเบาหวานที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของคนไทย โดยมีบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคเบาหวานด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้คำปรึกษาและการรักษาอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่นเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา เลือกมารักษาที่นี่ดีอย่างไร?

  • โรงพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล ISO 9001:2008 และ Hospital Accreditation (HA)
  • มีศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทางที่หลากหลาย พร้อมตอบโจทย์การรักษาโรคเบาหวานและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานมีประสบการณ์สูงในการดูแลรักษาผู้ป่วย
  • ใช้เทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน
  • มีบริการฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถวางแผนการรักษาล่วงหน้าได้ และรองรับสิทธิประโยชน์จากประกันสุขภาพต่างๆ
  • ห้องพักผู้ป่วยสะอาดและเงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อนและฟื้นฟูสุขภาพ

ท่านสามารถเข้ามาติดต่อเพื่อรับการรักษาโรคเบาหวานที่โรงพยาบาลวิภาวดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ 51/3 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพมหานคร หรือโทรเพื่อทำการนัดหมายล่วงหน้าที่หมายเลข 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 และสำหรับตัวแทนประกันชีวิตสามารถติดต่อผ่าน LINE: @vibhainsurance

สรุป

โรคเบาหวาน (Diabetes) เกิดจากการผลิตอินซูลินไม่เพียงพอหรือเซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตลอดเวลา เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้เกิดความเสื่อมของอวัยวะและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

การรักษาโรคเบาหวานสามารถทำได้โดยการฉีดอินซูลิน การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ การใช้ยารักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน อาการเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยและไม่ควรมองข้าม ดังนั้นหากมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลวิภาวดีเพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและออกแบบการรักษาก่อนอาการจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

FAQ

ทำความเข้าใจกับคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีภาวะเบาหวานหรือผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้สามารถจัดการและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เป็นเบาหวาน ห้ามกินอะไร

อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยงได้แก่ น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง ขนมไทย เบเกอรี่ ผลไม้กระป๋อ ผลไม้ที่มีรสหวาน

เบาหวานมีกี่ระยะ

อาการเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 สามารถแบ่งได้เป็นระยะต่างๆ ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เบต้าเซลล์ในตับอ่อนเริ่มถูกทำลาย น้ำตาลในเลือดยังปกติ

ระยะที่ 2 การทำลายเซลล์เพิ่มขึ้น น้ำตาลเริ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่มีอาการ

ระยะที่ 3 เบต้าเซลล์ถูกทำลายมากกว่า 50% น้ำตาลในเลือดสูงจนเป็นเบาหวาน

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ร่างกายผลิตอินซูลินปกติ แต่เซลล์ไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน

ระยะที่ 2 เซลล์ดื้อต่ออินซูลิน น้ำตาลเริ่มสูงถึง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งยังไม่ถึงเกณฑ์ที่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน

ระยะที่ 3 น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจมีอาการ เช่น กระหายน้ำบ่อย

ระยะที่ 4 หากไม่ควบคุม น้ำตาลสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

เบาหวาน ปัสสาวะเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะรู้สึกปัสสาวะไม่สุด มีปัสสาวะค้าง ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง หรือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เมื่อปัสสาวะจะรู้สึกแสบ ขัด

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมักแสดงอาการที่เป็นสัญญาณเตือน คือกระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ รู้สึกหิวบ่อย น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องโดยไม่ทราบสาเหตุ การมองเห็นลดลง รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง แผลหายช้ากว่าปกติ รู้สึกชาหรือเหมือนมีมดไต่บริเวณปลายมือปลายเท้า ผิวหนังแห้ง คัน

เป็นเบาหวาน ปัสสาวะกี่รอบต่อวัน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน โดยอาจมีการปัสสาวะเกิน 7-10 ครั้งต่อวัน

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111


ทีมแพทย์โรคเบาหวาน