• มะเร็งตับ (Liver Cancer) คือมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อตับ เกิดจากเซลล์ตับมีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้ายที่เรียกว่า มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma – HCC)
  • อาการมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการชัดเจน อาการที่อาจบ่งบอกถึงมะเร็งตับ เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวาบน ปัสสาวะสีเข้ม ท้องมาน ท้องบวมน้ำ ตาเหลือง ตัวเหลือง หายใจหอบเหนื่อย สังเกตเห็นก้อนเนื้อใต้โครงกระดูกซี่โครง
  • สาเหตุมะเร็งตับเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ และมักมีความเกี่ยวข้องกับโรคตับเรื้อรัง เช่น การป่วยเป็นโรคตับแข็ง ไขมันพอกตับ หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบบีหรือซี หรือภาวะภูมิต้านตับ (Autoimmune Hepatitis) และการดื่มสุราเป็นเวลานาน
  • การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็งตับทำได้โดยฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารปนเปื้อนเชื้อราและอาหารสุกๆ ดิบๆ ควรรับประทานอาหารสะอาด ปรุงสดใหม่ งดหรือลดแอลกอฮอล์ พร้อมควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

มะเร็งตับ เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในตับ บทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของมะเร็งตับว่ามีปัจจัยใดที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรค อาการที่ควรเฝ้าระวัง แนวทางการรักษา รวมถึงวิธีดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ เพื่อสามารถป้องกันและดูแลสุขภาพของตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งตับได้

มะเร็งตับ (Liver Cancer) คืออะไร

มะเร็งตับ (Liver Cancer) คือมะเร็งที่เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อตับ เกิดจากเซลล์ตับมีการเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้ายที่เรียกว่ามะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma – HCC) ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นที่ตับโดยตรง

อีกประเภทหนึ่งคือเซลล์มะเร็งลุกลามมายังตับ เกิดจากเนื้องอกตับของผู้ป่วยบางรายมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งที่มีต้นกำเนิดมาจากอวัยวะอื่น เช่น ตับอ่อน กระเพาะอาหาร ลำไส้ ปอด เต้านม ซึ่งจะถูกเรียกว่า มะเร็งตับแพร่กระจาย (Liver Metastases) มะเร็งตับถือเป็นโรคที่ร้ายแรง พบบ่อยในภูมิภาคเอเชีย และพบว่าคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับเป็นอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว

มะเร็งตับมีกี่ชนิด

มะเร็งตับมีกี่ชนิด

มะเร็งตับเป็นโรคร้ายที่แบ่งออกได้หลายชนิด โดยขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดของเซลล์มะเร็ง มะเร็งตับแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

มะเร็งตับชนิด Primary

มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ (Primary) เกิดขึ้นภายในตับ สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ มะเร็งของเนื้อเยื่อตับ (Hepatocellular Carcinoma) เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในตับมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง สามารถแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ โรคนี้ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับ 3 ของโลก และพบได้บ่อยในประเทศไทย โดยมีอัตราการเกิดในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงประมาณ 3 - 4 เท่า และมะเร็งท่อน้ำดีภายในตับ (Intrahepatic cholangiocarcinoma)

มะเร็งตับชนิด Secondary

มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิ (Secondary) คือโรคมะเร็งตับที่เกิดจากการกระจายของมะเร็งที่มีจุดเริ่มต้นที่อวัยวะอื่นๆ และแพร่กระจายมายังบริเวณตับ เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งรังไข่

5 ระยะโรคมะเร็งตับ

5 ระยะโรคมะเร็งตับ

มะเร็งตับแบ่งออกเป็น 5 ระยะ (Stage 1-5) ตามขนาดของก้อนมะเร็ง การแพร่กระจาย และผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง ดังนี้

  • ระยะที่ 1ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กและอยู่เพียงก้อนเดียว โดยมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามไปยังหลอดเลือดหรืออวัยวะอื่นๆ หากตรวจพบมะเร็งในระยะนี้ โอกาสในการรักษาหายขาดมีสูง
  • ระยะที่ 2ก้อนมะเร็งมีไม่เกิน 3 ก้อน แต่ละก้อนมีขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร ระยะนี้ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • ระยะที่ 3ก้อนเนื้อมะเร็งหลายก้อน ขนาดโตกว่ามะเร็งระยะที่ 2
  • ระยะที่ 4มะเร็งตับมีการลุกลามอย่างกว้างขวาง โดยก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น และสามารถลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงของตับ แพร่กระจายตามกระแสโลหิต ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้ตับ และอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูก หรือสมอง
  • ระยะที่ 5 ตับจะทำงานแย่ลงมาก ผู้ป่วยมีสุขภาพทรุดโทรม และนอนติดเตียงเป็นส่วนใหญ่

อาการมะเร็งตับ

อาการมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตรวจพบโรคในระยะที่ลุกลามแล้ว อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจบ่งบอกถึงมะเร็งตับ ได้แก่

  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้องบริเวณชายโครงด้านขวาบน
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • ท้องมาน ท้องบวมน้ำ
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • หายใจหอบเหนื่อย
  • สังเกตเห็นก้อนเนื้อใต้โครงกระดูกซี่โครง

สาเหตุมะเร็งตับ เกิดจากอะไร

สาเหตุมะเร็งตับ เกิดจากอะไร

สาเหตุมะเร็งตับสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเกิดจากการกลายพันธุ์และเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ตับ และมักมีความเกี่ยวข้องกับโรคตับเรื้อรัง เช่น การป่วยเป็นโรคตับแข็ง ไขมันพอกตับ หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด อย่างไวรัสตับอักเสบบีหรือซี หรือภาวะภูมิต้านตับ (Autoimmune Hepatitis) นอกจากนี้ มะเร็งตับยังมีสาเหตุมาจากการดื่มสุราเป็นเวลานานได้เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ

มะเร็งตับมักมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคตับเรื้อรัง เช่น ตับแข็งและการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้มาก่อนก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งตับ

หรือจะปัจจัยทางเพศ ที่พบว่ามะเร็งตับพบในเพศชายได้มากกว่า เนื่องจากพฤติกรรมการดื่มที่มีแนวโน้มมากกว่าผู้หญิง ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มักมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดไขมันพอกตับที่นำไปสู่โรคมะเร็งได้นั่นเอง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับโดยแพทย์

แพทย์จะใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยหลายรูปแบบเพื่อตรวจหาโรคมะเร็งตับ ดังนี้

  • ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง (รวมถึงผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี)
  • การตรวจคัดกรองโดยอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะต้องได้รับการตรวจมะเร็งตับเพื่อคัดกรองและตรวจหาความผิดปกติของตับ ร่วมกับตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP) ในเลือด ทุกๆ 6 เดือนเพื่อฝ้าระวัง
  • การตรวจเพิ่มเติมเมื่อพบความผิดปกติ แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือตรวจด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อ (Liver Biopsy)
  • การตรวจชิ้นเนื้อ (Liver Biopsy) หากภาพทางรังสีแสดงให้เห็นไม่แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งตับ หรือผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคตับเรื้อรัง จำเป็นจะต้องตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันอีกที

แนวทางการรักษามะเร็งตับ

แนวทางการรักษามะเร็งตับ

การรักษามะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะของโรค การแพร่กระจาย สมรรถภาพการทำงานของตับ และสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยแนวทางการรักษาหลัก ได้แก่

  • การผ่าตัด (Liver Resection or Hepatectomy)ทำได้หลายแบบ เช่น การผ่าตัดตัดออกบางส่วน การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) และการปลูกถ่ายเปลี่ยนตับ ที่จะทำได้ในกรณีที่มะเร็งอยู่เฉพาะที่ ก้อนในตับมีขนาดไม่ใหญ่มาก น้อยกว่า 5 เซนติเมตร และผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 70 ปี
  • การจี้ด้วยความร้อนหรือการรักษามะเร็งตับด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency Ablation: RFA)หรือ Microwave Ablation เป็นการรักษาด้วยวิธีทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งตับ สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ความเย็น และรักษาด้วยการใช้แอลกอฮอล์ได้เช่นกัน
  • การฉายรังสี (Radiotherapy) ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากตับที่ดีมีผลเสียจากรังสี
  • เคมีบำบัด (Chemotherapy)การใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือชะลอการเติบโตของมะเร็งตับ โดยอาจใช้เป็นการรักษาหลักในกรณีที่มะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม หรือใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ แต่โรคมะเร็งตับมักจะดื้อต่อยา เคมีบำบัดจึงไม่ค่อยได้ผล
  • การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ Kinase Inhibitor และ Monoclonal Antibodies

ดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อป้องกันมะเร็งตับ

การป้องกันมะเร็งตับสามารถทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงและดูแลสุขภาพตับให้แข็งแรง ซึ่งสามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

  • ตรวจเช็กสุขภาพประจำปี
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (HBV Vaccine)
  • ผู้ที่มีภาวะตับแข็งหรือมีความเสี่ยงสูง ควรตรวจอัลตราซาวนด์ตับและตรวจค่ามะเร็งตับ (AFP) ทุก 6 เดือน
  • หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เช่น ถั่วลิสง หัวหอม พริกแห้ง และกระเทียมที่มีราขึ้น
  • ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบ กุ้งดิบ ก้อยปลา
  • ทานอาหารที่สะอาด และปรุงสดใหม่
  • งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การรักษาโรคมะเร็งตับที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีให้ความสำคัญกับสุขภาพคนไทย ดูแลรักษาและตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ มีบริการตรวจวินิจฉัย ให้คำปรึกษา และรักษาโรคด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางมืออาชีพ มีแพคเกจตรวจสุขภาพตับให้เลือกถึง 4 แบบ ดังนี้

  1. โปรแกรมรักษ์ตับ 1 กลุ่ม A สำหรับผู้ตรวจพบค่า SGOT, SGPT ผิดปกติ (ชาย)

  2. โปรแกรมรักษ์ตับ กลุ่ม A สำหรับผู้ตรวจพบ SGOT, SGPT ผิดปกติ (หญิง)

  3. โปรแกรมรักษ์ตับ กลุ่ม B สำหรับผู้ที่พบว่าเป็น Hepatitis B, C ไม่ได้รับการรักษา และดูว่าเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับ

  4. โปรแกรมรักษ์ตับ กลุ่ม C สำหรับผู้ที่เป็นตับแข็งอยู่แล้วต้องการคัดกรองการเป็นมะเร็งตับ

 

อีกทั้งยังมีโปรโมชันเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย มารักษาที่นี่มีประสิทธิภาพอย่างไร?

 

  • โรงพยาบาลได้มาตรฐานระดับสากล ISO 9001 : 2008 และ Hospital Accreditation (HA)
  • มีศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทางที่หลากหลาย ตอบโจทย์โรคและความต้องการด้านการรักษา
  • ตรวจรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทางมากประสบการณ์
  • เทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน
  • มีบริการฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน ด้วยสิทธิประโยชน์ประกันที่หลากหลาย
  • ห้องพักผู้ป่วยสะอาด เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน

 

เข้ามาติดต่อรักษาโรคได้ที่โรงพยาบาลวิภาวดี ที่อยู่ 51/3 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ หรือโทรศูนย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี 02-561-1111 กด 4525 หรือโทรเพื่อนัดหมายก่อนเข้ารับการรักษาได้ที่เบอร์ 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 และสำหรับตัวแทนประกันชีวิต สามารถติดต่อผ่าน LINE: @vibhainsurance

สรุป

มะเร็งตับเป็นโรคร้ายแรงที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เกิดจากเซลล์ตับเจริญเติบโตผิดปกติกลายเป็นเนื้อร้ายที่เรียกว่ามะเร็งเซลล์ตับ โดยมีทั้งชนิดที่เกิดจากตับโดยตรงและแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี การดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง ภาวะตับแข็ง เป็นต้น

โดยอาการมะเร็งตับเริ่มต้นมักไม่ชัดเจน แต่เมื่อรุนแรงขึ้นอาจมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด และตัวเหลือง การรักษามีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการปลูกถ่ายตับ ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ

โรงพยาบาลวิภาวดีมีแพคเกจตรวจสุขภาพสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับหรือสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งตับในราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เทคนิคการรักษาที่ดี ทีมแพทย์ให้คำแนะนำ และบริการอย่างจริงใจ เพราะเราใส่ใจสุขภาพของคนไทยให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งตับ

FAQ

หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมะเร็งตับ เพื่อให้เข้าใจโรคนี้ได้ดีขึ้น เราได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบที่กระชับและเข้าใจง่าย มาตอบไว้ที่นี่

มะเร็งตับกับไขมันพอกตับเกี่ยวข้องกันไหม?

ไขมันพอกตับ (Non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ เนื่องจากตับอาจเกิดการอักเสบ นำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับได้

มะเร็งตับ กินยาสมุนไพรหายไหม?

ยาสมุนไพรส่วนมากไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรอาหารและยา ยาสมุนไพรบางชนิดอาจปลอดภัยแต่ก็มีหลายตัวที่อันตราย หากต้องการกินยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการมะเร็งตับควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

มะเร็งตับติดต่อทางพันธุกรรมได้ไหม?

กรรมพันธุ์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับได้หากประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่แล้วพันธุกรรมไม่ได้มีส่วนบ่งชี้ว่าคุณจะเป็นมะเร็งตับ

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111


ทีมแพทย์มะเร็งตับ