ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

  • ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีเกล็ดเลือดน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เลือดออกง่าย หยุดไหลช้า มีรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • สาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดต่ำเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ร่างกายผลิตเกล็ดเลือดได้น้อยลง เกล็ดเลือดถูกทำลายมากเกินไป และเกล็ดเลือดถูกกักอยู่ที่ม้าม
  • อาการแทรกซ้อนจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ คือมีอาการเลือดออกง่ายแม้ไม่ได้รับบาดเจ็บ หรือหากเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้เลือดไหลไม่หยุดจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • อาการภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว คือมีเลือดออกผิดปกติโดยไม่มีสาเหตุ มีจุดเลือดบนผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด ขับถ่ายมีเลือดปน ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ปวดท้อง ซึ่งบ่งบอกถึงการมีเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

เกล็ดเลือดเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวเมื่อเกิดบาดแผล แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำลงผิดปกติ อาจทำให้เกิดอาการเลือดออกง่ายหรือเลือดหยุดไหลช้า หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาก็สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในบทความนี้จึงชวนมาทำความรู้จักกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำให้มากขึ้น พร้อมวิธีสังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อให้รู้ทันอาการและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) คืออะไร

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำกว่าระดับปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ร่างกายคนเราควรมีเกล็ดเลือดอยู่ในช่วง 150,000–450,000 เกล็ด/ไมโครลิตร หากต่ำกว่าค่ามาตรฐาน อาจส่งผลให้เลือดออกง่าย หยุดไหลช้า มีแผลฟกช้ำโดยไม่รู้ตัว เลือดกำเดาไหลบ่อย และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกภายในที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

หาสาเหตุอาการเกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากอะไร

หาสาเหตุอาการเกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากอะไร

โดยปกติแล้วเกล็ดเลือดแต่ละเซลล์จะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 10 วัน จากนั้นไขกระดูกจะผลิตเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน หากเกิดความผิดปกติในการผลิตหรือมีการทำลายเกล็ดเลือดเร็วกว่าปกติ อาจนำไปสู่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ โดยภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดน้อยลง

ไขกระดูกมีหน้าที่ในการผลิตเกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง หากไขกระดูกไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณเกล็ดเลือดก็จะลดน้อยลง โดยสาเหตุที่ไขกระดูกผลิตเกล็ดเลือดได้ไม่ดี อาจเกิดจากปัจจัยบางอย่าง เช่น

  • เป็นโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia)ทำให้กระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ ส่งผลให้ปริมาณเกล็ดเลือดลดลงอย่างรุนแรง
  • เป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ไขกระดูกถูกทำลาย และสเต็มเซลล์ไม่สามารถผลิตเกล็ดเลือดใหม่ได้อย่างเพียงพอ
  • มีการติดเชื้อไวรัสบางชนิดเช่น ไวรัสอีสุกอีใส คางทูม หัดเยอรมัน เอดส์ หรือไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งมีผลต่อการทำงานของไขกระดูก
  • การขาดสารอาหารที่จำเป็นเช่น วิตามินบี 12 โฟเลต และธาตุเหล็ก ที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือด
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือได้รับสารพิษปริมาณมากเช่น สารหนู ยาฆ่าแมลง อาจส่งผลต่อไขกระดูกและลดประสิทธิภาพในการสร้างเกล็ดเลือด

2. ร่างกายทำลายเกล็ดเลือดมากเกินไป

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางชนิด ร่างกายอาจทำลายเกล็ดเลือดเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น

  • โรคภูมิต้านทานทำลายตัวเอง (Autoimmune Diseases)เช่น โรค ITP (Immune Thrombocytopenia) โรคลูปัส (SLE) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดและทำลายเกล็ดเลือดของร่างกาย
  • การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเช่น ไวรัสเตงกี ที่เป็นสาเหตุของการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไวรัสโมโนนิวคลิโอสิส (Mononucleosis) ไวรัสไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) เป็นต้น
  • การใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิดเช่น เฮพาริน (Heparin) ที่อาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเกล็ดเลือด ยาควินิน (Quinine) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย เป็นต้น
  • โรคที่พบได้ยากบางชนิดเช่น โรค TTP (Thrombotic Thrombocytopenic Purpura) ที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดในร่างกาย เกิดเป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

3. เกล็ดเลือดถูกกักที่บริเวณม้าม

ม้ามเป็นอวัยวะที่ช่วยกำจัดเซลล์เม็ดเลือดเก่าที่หมดอายุ แต่ถ้าม้ามมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือทำงานผิดปกติไปจากเดิม จะทำให้เกล็ดเลือดถูกกักเก็บไว้ที่ม้ามมากกว่าปกติ จนทำให้จำนวนเกล็ดเลือดในกระแสเลือดลดลง โดยสาเหตุที่ม้ามทำงานผิดปกติ อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก จนป่วยเป็นโรคตับแข็ง หรือเป็นโรคไขกระดูกเป็นพังผืด (Myelofibrosis) เป็นต้น

สังเกตอาการภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะมีอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรง ผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำในระดับไม่รุนแรง อาจไม่มีอาการใดๆ แต่หากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำรุนแรง ก็อาจแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • อ่อนเพลียง่าย
  • มีรอยฟกช้ำง่ายผิดปกติ โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • มีเลือดกำเดาไหลบ่อย
  • มีเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย
  • มีเลือดออกตามผิวหนังเป็นจุดแดงหรือม่วง (Petechiae)
  • แผลเลือดออกนานกว่าปกติ
  • ปัสสาวะหรืออุจจาระมีสีแดงหรือสีเข้มมาก อาเจียนเป็นเลือด
  • มีประจำเดือนมามากผิดปกติ

อาการแทรกซ้อนจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

อาการแทรกซ้อนจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจรุนแรงมาก จนนำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น เลือดออกที่ตา เหงือก หรือกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งยังทำให้เลือดออกมามากเมื่อเกิดการบาดเจ็บ หรือเลือดออกโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอีกด้วย

อาการภาวะเกล็ดเลือดต่ำแบบไหนที่ควรรีบพบแพทย์

สิ่งที่ต้องระวังในภาวะเกล็ดเลือดต่ำมากที่สุดคือการมีเลือดออกภายในอวัยวะที่สำคัญ หากพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์โดยทันที

  • เลือดออกในช่องปากหรือเหงือก
  • เลือดกำเดาไหลโดยไม่มีสาเหตุ
  • เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • พบจุดจ้ำเลือดหรือรอยช้ำบนผิวหนัง โดยไม่มีอุบัติเหตุหรือการกระแทก
  • จุดเลือดออกเล็กๆ ใต้ผิวหนัง
  • ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
  • ปวดศีรษะต่อเนื่องและรุนแรง
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น ตาพร่ามัว
  • อาการปวดท้องผิดปกติ

การวินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยแพทย์

การวินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยแพทย์

แพทย์สามารถประเมินอาการและวินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

  • ซักประวัติผู้ป่วยแพทย์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา การรับประทานอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว ประวัติการให้เลือด หรือความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ รวมถึงตรวจสอบว่ามีคนในครอบครัวเคยมีภาวะนี้หรือไม่
  • ตรวจร่างกายแพทย์จะตรวจหาสัญญาณของภาวะเลือดออก เช่น จุดแดงหรือรอยช้ำบนผิวหนัง ตรวจหน้าท้องว่ามีม้ามโตหรือไม่ และประเมินว่ามีอาการติดเชื้อหรือไม่
  • ตรวจเลือดการตรวจเกล็ดเลือดช่วยประเมินปริมาณเกล็ดเลือด หากพบว่าเกล็ดเลือดต่ำกว่า 150,000 เกล็ด/ไมโครลิตร อาจมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนี้อาจตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจสเมียร์เลือด (Blood Smear) และตรวจหาสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่ทำลายเกล็ดเลือดเพิ่มเติมด้วย
  • ตรวจไขกระดูกเนื่องจากไขกระดูกเป็นแหล่งผลิตเกล็ดเลือด หากสงสัยว่าไขกระดูกทำงานผิดปกติ แพทย์อาจทำการเจาะไขกระดูก (Aspiration) หรือตัดชิ้นเนื้อไขกระดูก (Biopsy) เพื่อศึกษาความผิดปกติของเซลล์
  • ตรวจเพิ่มเติมในบางกรณี แพทย์อาจตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด เช่น การตรวจ PT (Prothrombin Time) หรือ PTT (Partial Thromboplastin Time) รวมถึงอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจหาการขยายตัวของม้าม

แนวทางการรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

วิธีรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง หากอาการไม่รุนแรง เช่น มีเลือดไหลจากบาดแผลเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากอาการรุนแรงขึ้น การรักษาจะเน้นไปที่การแก้ไขต้นเหตุ ดังนี้

รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยการใช้ยา

ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำในระดับไม่รุนแรงมาก สามารถใช้ยาเพื่อรักษาอาการได้ ดังนี้

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) ใช้เพื่อชะลอการทำลายเกล็ดเลือด
  • อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulins) หรือริทูซิแมบ (Rituximab)ยาฉีดที่ช่วยลดการทำลายเกล็ดเลือดจากระบบภูมิคุ้มกัน
  • เอลทรอมโบแพก (Eltrombopag) หรือโรมิโพลสติม (Romiplostim)ยาที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเกล็ดเลือด

หากภาวะเกล็ดเลือดต่ำเกิดจากการใช้ยา แพทย์อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนหรือให้หยุดยาที่เป็นต้นเหตุได้

รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยการให้เลือด

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกมากหรืออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก แพทย์อาจใช้การให้เลือดหรือเกล็ดเลือดเพื่อเพิ่มปริมาณเกล็ดเลือดในร่างกาย

รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยการผ่าตัดม้าม

หากการรักษาด้วยยายังไม่ได้ผลหรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีสาเหตุเกิดจากม้ามกักเกล็ดเลือดผิดปกติ แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดม้าม ทั้งนี้การผ่าตัดม้ามอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงควรได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

รักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง

ใช้ในกรณีที่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำเกิดจากโรค TTP (Thrombotic Thrombocytopenic Purpura) เพื่อกรองเอาส่วนที่ผิดปกติออกจากเลือดและลดความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตัน

ผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำควรดูแลตัวเองอย่างไร

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำนั้นทำให้เลือดออกง่ายขึ้นและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เพื่อป้องกันอาการรุนแรงควรปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้ จะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดการกระแทกหรือบาดเจ็บ เช่น ฟุตบอล มวย รักบี้
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเพิ่มโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุ อย่างการใช้ของมีคม กรรไกร มีด
  • ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เพราะอาจเกิดบาดแผลจากของมีคมทิ่มตำ
  • ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม ห้ามใช้ไหมขัดฟัน
  • หลีกเลี่ยงการทำฟันหรือผ่าตัดใดๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกหรือจามแรงๆ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่ช่วยเสริมสร้างเกล็ดเลือด เช่น อาหารที่มีไฟเบอร์สูง วิตามินซี โฟเลต และธาตุเหล็ก
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin)

การรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีพร้อมให้บริการตรวจ วินิจฉัย และรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง มั่นใจได้ในมาตรฐานระดับสากล พร้อมโปรโมชั่นพิเศษเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เข้ารับบริการ

โรงพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9001:2008 และ Hospital Accreditation (HA) มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางครบวงจร รองรับการรักษาโรคหลากหลายประเภท ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ปลอดภัย และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้การดูแลอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ ยังมีบริการรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงสิทธิประโยชน์จากประกันสุขภาพที่ครอบคลุม ห้องพักผู้ป่วยสะอาด สงบ เหมาะสำหรับการพักฟื้น

ผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจและรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สามารถติดต่อโรงพยาบาลวิภาวดีตามที่อยู่ 51/3 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ หรือนัดหมายล่วงหน้าที่ 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 สำหรับตัวแทนประกันชีวิต สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผ่าน LINE: @vibhainsurance

สรุป

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม โดยสังเกตได้จากการมีเลือดกำเดาไหลง่าย เลือดออกตามไรฟัน หรือจ้ำเลือดขึ้นตามร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ ในบางกรณีอาจเกิดเลือดออกภายใน เช่น เลือดออกในสมอง ซึ่งอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นหากพบอาการเข้าข่ายภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว เพราะการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและป้องกันอันตรายต่อชีวิตได้

โรงพยาบาลวิภาวดีพร้อมดูแลสุขภาพของผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพและสร้างความประทับใจ

FAQ

มาดูคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเกล็ดเลือดต่ำ พร้อมคำตอบ เพื่อให้เข้าใจและรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างถูกต้อง

ทำอย่างไรให้เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น

สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟเลตสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ผักใบเขียว ถั่ว และผลไม้ เป็นต้น

เป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำไม่ควรกินอะไร

ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารที่ส่งผลต่อเกล็ดเลือด เช่น กระเทียม หัวหอม ขิง บลูเบอร์รี่ รวมไปถึงอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกาแฟ

ใช้ชีวิตร่วมกับอาการภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้อย่างไร

ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับเกล็ดเลือดให้เพียงพอ อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเลือดออกง่าย เช่น กีฬาที่มีการกระแทกรุนแรง การใช้ของมีคม เป็นต้น หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมเหล่านี้ควรสวมใส่เครื่องป้องกันไว้ด้วย

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111


ทีมแพทย์ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ