มะเร็งเต้านม

  • มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือโรคมะเร็งที่มีความผิดปกติของเซลล์ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ซึ่งมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติแบบไม่สามารถควบคุมได้ อาจเริ่มต้นจากท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม และสามารถแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด ตับ หรือสมอง
  • มะเร็งเต้านมเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งทางพันธุกรรม อายุ เพศ เชื้อชาติ ฮอร์โมน และพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • แนวทางการรักษามะเร็งเต้านมประกอบไปด้วย การผ่าตัด เคมีบำบัด (Chemotherapy) การฉายรังสี (Radiation Therapy) ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Therapy) และยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ (Targeted Therapy)
  • เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมควรรักษาสุขภาพกายและจิตให้ดี โดยการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและแนวทางการรักษา เข้ารับการตรวจกับแพทย์สม่ำเสมอ พูดคุยกับนักจิตวิทยา ทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ตรวจคลำเช็กมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน หากอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจกับแพทย์ทุก 6 เดือน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และบุหรี่

มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย และยังเป็นภัยเงียบที่อาจไม่แสดงอาการที่ชัดเจนในระยะแรกเริ่ม การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ มารู้จักโรคมะเร็งเต้านมให้มากขึ้น ตั้งแต่สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีการตรวจคัดกรองโดยการคลำเต้านม ไปจนถึงแนวทางการรักษา เพื่อป้องกันและรับมือกับโรคนี้ได้อย่างมั่นใจ

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คืออะไร

มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คืออะไร

มะเร็งเต้านม คือความผิดปกติของเซลล์ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ซึ่งมีการแบ่งตัวที่ผิดปกติแบบไม่สามารถควบคุมได้ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย (พบได้น้อย) เต้านมนั้นประกอบไปด้วยไขมัน (Fat cells) ต่อมน้ำนม (Lobule) และท่อนํ้านม (Duct) เซลล์ต่างๆ เหล่านี้สามารถกลายพันธุ์เกิดเป็นมะเร็งได้ โดยเซลล์ที่พบบ่อยที่สุดและเกิดความผิดปกติจนทำให้เกิดมะเร็งเต้านมคือเซลล์ท่อนํ้านม ชนิดของมะเร็งที่พบน้อยก็คือมะเร็งของต่อมนํ้านม

เซลล์ที่มีการพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งจะมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นก้อนที่สามารถคลำเจอได้ เซลล์เหล่านี้มักแพร่กระจายผ่านทางเดินน้ำเหลืองไปยังอวัยวะใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือกระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลๆ เช่น กระดูก ปอด ตับ และสมอง เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้

มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร

มะเร็งเต้านมเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในเนื้อเยื่อเต้านม ท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ซึ่งสามารถลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นได้ มะเร็งเต้านมที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนมพบได้มากที่สุดถึง 80% ส่วนมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต่อมน้ำนมพบได้น้อยกว่า โดยพบประมาณ 10%

แม้ในปัจจุบันสาเหตุของมะเร็งเต้านมยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ เช่น พันธุกรรม ฮอร์โมน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และอายุที่เพิ่มขึ้น การตรวจคัดกรองและตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตลงได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านมยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้โดยปัจจัยเสี่ยงมีดังนี้

  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน(Estrogen) เป็นสารกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมให้มีการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้น
  • เพศเพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชาย
  • เชื้อชาติผู้หญิงในชาติตะวันตกจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงเอเชีย
  • อายุที่มากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุ 55 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสพบมะเร็งเต้านมประมาณ 2 ใน 3 เลย
  • กรรมพันธุ์โรคมะเร็งจัดเป็นโรคของความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง หากมีประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้
  • สตรีไม่มีบุตร เป็นหมัน กินยาคุมกำเนิด ไม่ให้นมบุตรมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
  • เป็นประจำเดือนก่อนอายุ 12เพิ่มโอกาสได้เจอกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานกว่า จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า
  • การดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
  • สูบบุหรี่ผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับบุหรี่มือสองมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 20
  • โรคอ้วนผู้ที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น
  • หน้าอกแน่น (Dense Breasts)มีเนื้อเยื่อและต่อมน้ำนมมากกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า
  • เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อนผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อนมีโอกาสที่จะเป็นซ้ำได้
  • ไม่ออกกำลังกายการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมด้วย

มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ

มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ

มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกเป็นหลายระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 0 ถึงระยะที่ 4 ซึ่งแต่ละระยะบ่งบอกถึงขนาดของก้อนมะเร็ง การลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง การแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ มาดูกันว่ามะเร็งเต้านมมีกี่ระยะและมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร

  • ระยะที่ 0เซลล์มะเร็งเริ่มก่อตัว ยังไม่มีการแบ่งตัวหรือลุกลามไปยังจุดอื่นๆ โอกาสหายสูง
  • ระยะที่ 1เซลล์มะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม. เริ่มลุกลามออกมานอกเนื้อเยื่อตรงจุดที่ก่อตัวเพียงเล็กน้อย แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  • ระยะที่ 2ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-5 ซม. ยังไม่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ อาจมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงหากเซลล์มะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 ซม.
  • ระยะที่ 3ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 ซม. เริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
  • ระยะที่ 4เป็นระยะแพร่กระจาย มะเร็งกระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง เป็นต้น การรักษามะเร็งเต้านมระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ใช้การรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น

สังเกตอาการมะเร็งเต้านมได้อย่างไร

สังเกตอาการมะเร็งเต้านมได้อย่างไร

มะเร็งเต้านมในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคเริ่มพัฒนาอาจเริ่มมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ การสังเกตอาการตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้ทันท่วงที มาดูกันว่ามีอาการมะเร็งเต้านมใดบ้างที่สามารถสังเกตได้ และอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของมะเร็งเต้านม

1. ขนาดเต้านมเปลี่ยนแปลง

เต้านมข้างใดข้างหนึ่งมีขนาดผิดปกติ รูปร่างของเต้านมดูไม่สมดุล ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง สังเกตได้ว่ามีอาการบวม หรือรู้สึกแน่นผิดปกติ เพราะขนาดเต้านมที่เปลี่ยนแปลงอาจเกิดจากการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็งภายในเต้านม ซึ่งส่งผลต่อเนื้อเยื่อโดยรอบ

2. คลำเจอก้อนเนื้อตรงเต้านมหรือใต้รักแร้

การคลำพบก้อนเนื้อแข็งผิดปกติภายในเต้านมหรือบริเวณใต้รักแร้ ซึ่งก้อนเนื้ออาจกดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้

ก้อนมะเร็งมักมีลักษณะแข็งกว่าก้อนเนื้อธรรมดา มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ผิวหนังดึงรั้ง หัวนมรั้ง มีน้ำเหลืองหรือของเหลวคล้ายเลือดไหลออก

3. ผิวหนังเต้านมบวม บุ๋ม

ผิวหนังเต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือหนาตัวคล้ายเปลือกส้ม อาจเป็นอาการของเซลล์มะเร็งที่ลุกลามมาถึงชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์

4. รู้สึกเจ็บเต้านม

หากรู้สึกว่ามีอาการเจ็บนมทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน หรือเต้านมบวมแดงอักเสบพร้อมกับพบเจอก้อนที่เต้านม ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป

5. มีของเหลวไหลจากหัวนม

หากพบว่ามีของเหลวสีคล้ายเลือดหรือน้ำเหลืองออกมาจากหัวนมรูเดียว และไม่ได้อยู่ในช่วงให้นมบุตร อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งที่เกิดในท่อน้ำนม ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจมะเร็งเต้านมโดยละเอียด

6. ผื่นคันเรื้อรังบนเต้านม

มีผื่นแดง แสบ คัน บริเวณหัวนมหรือเต้านมเรื้อรัง ชนิดแบบที่พบแพทย์ผิวหนังแล้วก็ยังไม่หาย จนผื่นกลายเป็นแผลตกสะเก็ดแข็ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งเต้านม เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามะเร็งได้ลามมายังผิวหนังด้านบนบริเวณหัวนมหรือเต้านมแล้ว

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมโดยแพทย์

การวินิจฉัยหรือการตรวจมะเร็งเต้านมสามารถเริ่มทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองโดยการคลำเต้านม เพื่อตรวจดูความผิดปกติของผิวหนังบริเวณเต้านมและก้อนในเต้านมหรือรักแร้ จนไปถึงการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมโดยแพทย์ หากอายุ 30 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจมะเร็งเต้านมเป็นประจำ หากพบความผิดปกติอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจแมมโมแกรม เพื่อคัดกรองหรือตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านม วิธีนี้ทำให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้ชัดเจน หลังจากนั้นแพทย์มักจะตรวจอัลตราซาวนด์เต้านม เพื่อตรวจดูว่ามีก้อนเนื้อหรือถุงน้ำในเต้านมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจ หรือการทำ MRI เพื่อตรวจดูขนาด ตำแหน่ง และขอบเขตของมะเร็งอีกด้วย

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

แนวทางการรักษามะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การรักษามีหลายจึงมีหลายวิธี ซึ่งอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายหลักคือการกำจัดเซลล์มะเร็ง ลดโอกาสการแพร่กระจาย และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย มะเร็งเต้านมรู้เร็วรักษาได้ แนวทางการรักษามะเร็งเต้านมมีดังต่อไปนี้

1. รักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยการผ่าตัด

การรักษามะเร็งเต้านมโดยการผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ การผ่าตัดบริเวณเต้านม และการผ่าตัดก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้ ซึ่งนับเป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก การผ่าตัดบริเวณเต้านมจะเป็นการตัดเต้านมออกทั้งเต้า หรือตัดเต้านมออกเป็นบางส่วน (คงเหลือหัวนม ฐานหัวนม และส่วนใหญ่ของเนื้อเต้านม) วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีมะเร็งเพียงตำแหน่งเดียวและมีขนาดเล็ก

การผ่าตัดก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้แบ่งออกได้ 2 แบบ คือการผ่าตัดก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้ทั้งหมดและการผ่าตัดก้อนน้ำเหลืองที่รักแร้บางส่วนโดยการฉีดสีเซนติเนล ใช้ในกรณีที่มะเร็งยังไม่ลามไปต่อมน้ำเหลือง

2. รักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยยาเคมีบำบัด

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการยับยั้ง ลดขนาด ทำลายเซลล์มะเร็งไม่ให้มีการเจริญเติบโตหรือลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ แต่ผลข้างเคียงคือยาเคมีบำบัดส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายด้วย ซึ่งเกิดเพียงชั่วคราวเมื่อหยุดยาก็จะกลับมาเป็นปกติ

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยเคมีบำบัดมักใช้ร่วมกับการรักษาอื่น เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา หรือฮอร์โมนบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น เคมีบำบัดยังเป็นการรักษาที่ใช้เวลาไม่นานในแต่ละครั้ง คนไข้สามารถทำเคมีบำบัดและกลับบ้านได้ เคมีบำบัดมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ ผมร่วง อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือในบางรายอาจไม่มีอาการข้างเคียงเลยก็ได้

3. รักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยการฉายแสง

รักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยการฉายแสง (Radiation Therapy) การฉายแสงเป็นการใช้พลังงานรังสีสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง หยุดยั้งการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์มะเร็ง การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการฉายแสงมักทำร่วมกับการผ่าตัด

การฉายแสงจะยังคงทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ทำงานได้ปกติเนื่องจากเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวเร็วจึงถูกทำลายออกไปมาก ในขณะที่เซลล์ดีก็ยังมีการซ่อมแซมตัวเองและสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ การฉายแสงใช้เวลาสั้นๆ เพียง 3 - 5 นาที ประมาณ 3 - 6 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน และให้มีวันพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย

4. รักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยยาต้านฮอร์โมน

การรักษามะเร็งเต้านมโดยยาต้านฮอร์โมน (Hormone Therapy) เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนที่เรียกว่า ER+ (Estrogen Receptor Positive) และ PR+ (Progesterone Receptor Positive) หากแพทย์ได้ทำการตรวจและพบว่ามะเร็งมีตัวรับฮอร์โมนก็จะให้ใช้ยาต้านฮอร์โมนเป็นระยะเวลา 5 - 10 ปี ขึ้นอยู่กับระยะของโรค

ยาต้านฮอร์โมนแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้

  • ยากลุ่ม Selective Estrogen Receptor Modulators (SERMs)เช่น Tamoxifen ทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง ใช้ได้ทั้งในผู้หญิงวัยก่อนและหลังหมดประจำเดือน ผลข้างเคียงคืออาจมีเลือดกะปริดกะปรอยในช่องคลอด
  • ยากลุ่ม Aromatase Inhibitors (AIs)เช่น Letrozole, Anastrozole, Exemestane ลดการผลิตเอสโตรเจนในร่างกาย ใช้ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • ยายับยั้งการทำงานของรังไข่ (Ovarian Suppression)ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนในผู้ป่วยที่ยังมีประจำเดือนอยู่
  • ยากลุ่ม Estrogen Receptor Downregulators (ERDs)เช่น Fulvestrant ออกฤทธิ์จับกับตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้ทำงานไม่ได้ และทำลายตัวรับฮอร์โมนให้สลายตัวไป

5. รักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ

รักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะ หรือการรักษามะเร็งเต้านมโดยการใช้ยาแบบพุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นแนวทางการรักษามะเร็งเต้านมที่มุ่งเป้าไปที่โมเลกุลหรือโปรตีนจำเพาะ (HER2) ทำให้มะเร็งเติบโตช้าลงหรือถูกทำลาย ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยตรง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายโดยไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติ แต่มีข้อจำกัดคือใช้ได้กับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

วิธีคลำนม สังเกตมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

วิธีคลำนม สังเกตมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง

การคลำนมเป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน เป็นวิธีการสังเกตตรวจมะเร็งเต้านมเบื้องต้น โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • ขณะนอนราบยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ โดยคลำเป็นรูปก้นหอยจากในออกนอกหรือบนล่าง โดยไม่ต้องบีบเนื้อเต้านม เพราะการบีบทำให้เนื้อนมรวมเป็นก้อน เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าเป็นก้อนมะเร็งได้
  • ขณะยืนหน้ากระจกปล่อยแขนสบายๆ ข้างลำตัว สังเกตขนาดของเต้านมว่าปกติหรือไม่ มีการบิดเบี้ยวของหัวนมหรือไม่ ประสานมือเหนือหัวและท่าเท้าเอว โน้มตัวไปข้างหน้าโดยวางมือบนเข่าหรือเก้าอี้และสังเกตดูความผิดปกติ
  • ขณะอาบน้ำผู้ที่มีเต้านมใหญ่ให้ใช้มือข้างที่จะตรวจมะเร็งเต้านมประคอง และคลำเต้านมจากด้านล่าง มืออีกข้างตรวจจากด้านบนลงล่าง ผู้หญิงที่เต้านมเล็กยกแขนข้างที่ตรวจไว้ที่เหนือศีรษะ และใช้มืออีกข้างคลำเต้านมเป็นรูปก้นหอย

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็งเต้านม

การดูแลตัวเองระหว่างการรักษามะเร็งเต้านมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจรับมือกับผลข้างเคียงและเพิ่มคุณภาพชีวิต เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมผู้ป่วยควรหาข้อมูลความรู้ความเข้าใจของโรค การรักษาแบบต่างๆ เข้ารับการตรวจติดตามกับแพทย์เป็นประจำ พร้อมทั้งพบนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุย ระบายความรู้สึก ความเครียด พร้อมพูดคุยกับคนในครอบครัว และเพื่อนๆ

นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและน้ำตาลสูง ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

ป้องกันมะเร็งเต้านมได้อย่างไร

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แม้ว่าไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่การดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคได้ มาดูกันว่ามีวิธีใดบ้างที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

  • ตรวจเช็กมะเร็งเต้านมทุกเดือนสามารถคลำก้อนมะเร็งได้เองที่บ้าน หากอายุมากกว่า 35 ปี ควรตรวจเต้านมกับแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางและตรวจแมมโมแกรม
  • ควบคุมน้ำหนักน้ำหนักตัวมีความสัมพันธ์โดยตรงกับมะเร็งเต้านม โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีความเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และเซลล์ไขมันยังคงผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนแม้หลังหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้
  • การรับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ ควรกินผักและผลไม้ 2 ใน 3 ของอาหารมื้อหลัก เพราะมีไฟเบอร์และสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยป้องกันเซลล์มะเร็ง เนื้อสัตว์ 1 ใน 3 ของอาหารมื้อหลัก ควรเลือกเนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ และหลีกเลี่ยงเนื้อแปรรูป
  • การออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพแข็งแรง และลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากช่วยควบคุมน้ำหนัก ลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนเกิน และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 3 ดริงก์ ต่อสัปดาห์เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นถึง 15% และควันบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมถึงร้อยละ 20

การรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลวิภาวดี

โรงพยาบาลวิภาวดีให้ความสำคัญกับสุขภาพคนไทย พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัย ให้คำปรึกษา และรักษาโรคด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางมีประสบการณ์

โรงพยาบาลวิภาวดีตรวจ วินิจฉัย ให้คำปรึกษาโรคที่เกี่ยวกับเต้านม มะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง Digital Mammogram โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมจากต่างประเทศ สามารถตรวจชิ้นเนื้อเพื่อหามะเร็ง พร้อมบริการการรักษาต่อเนื่องหลังการผ่าตัด เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยฮอร์โมน การรักษาทางรังสี

  • โรงพยาบาลได้มาตรฐานระดับสากล ISO 9001 : 2008 และ Hospital Accreditation (HA)
  • มีศูนย์การรักษาโรคเฉพาะทางที่หลากหลาย ตอบโจทย์โรคและความต้องการด้านการรักษา
  • ตรวจรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทางมากประสบการณ์
  • เทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน
  • มีบริการฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน ด้วยสิทธิประโยชน์ประกันที่หลากหลาย
  • ห้องพักผู้ป่วยสะอาด เงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน

สามารถติดต่อได้ที่แผนกศัลยกรรม คลินิกศัลยกรรมเต้านม โรงพยาบาลวิภาวดีเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 - 20.00 น. ชั้น G อาคาร 4 โทร. 02-561-1111, 02-058-1111 ต่อ 4142-3

หรือสามารถเข้ามาติดต่อสอบถาม รักษาโรคได้ที่โรงพยาบาลวิภาวดี ที่อยู่ 51/3 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ หรือโทรเพื่อนัดหมายก่อนเข้ารับการรักษาได้ที่เบอร์ 02-561-1111 หรือ 02-058-1111 และสำหรับตัวแทนประกันชีวิต สามารถติดต่อผ่าน LINE: @vibhainsurance

สรุป

มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่พบได้บ่อยและมักไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก สามารถสังเกตอาการได้ เช่น การคลำพบก้อนเนื้อที่เต้านมหรือรักแร้ การเปลี่ยนแปลงของขนาดเต้านม และการมีของเหลวผิดปกติไหลจากหัวนม

มะเร็งเต้านมหากพบเร็วสามารถรักษาให้หายได้ แนวทางการรักษามีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง และยาต้านฮอร์โมน ส่วนการป้องกันมะเร็งเต้านม ทำได้โดยการควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารที่ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคและส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาว

โรงพยาบาลวิภาวดีมีบริการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง Digital Mammogram โดยทีมแพทย์มีประสบการณ์ที่ได้รับการอบรมจากต่างประเทศ สามารถให้คำแนะนำและการรักษาได้อย่างตรงจุด พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัย ครบครัน การรักษาที่ได้มาตรฐาน ใส่ใจในทุกขั้นตอน

FAQ

รวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมขึ้นอยู่กับอะไร?

มะเร็งเต้านมนั้นไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด แต่ก็มีบางปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ เช่น อายุ เพศ ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนช้า หรือกรรมพันธุ์

คลำเจอก้อนตรงเต้านมแต่บีบแล้วไม่เจ็บ เป็นมะเร็งไหม?

การคลำเจอก้อนตรงเต้านมแต่บีบแล้วไม่เจ็บ ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยละเอียด

ควรรอให้อาการผิดปกติหายก่อนไปตรวจเต้านมไหม?

มะเร็งเต้านมมักไม่ปรากฏอาการเมื่อเป็นในระยะแรกๆ การไปตรวจเมื่อพบอาการผิดปกติอาจช้าเกินไป จึงควรหมั่นตรวจสุขภาพ และพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายเป็นปกติได้

รู้สึกคันยุบยิบหัวนมบ่อยๆ เสี่ยงมะเร็งเต้านมไหม?

อาการคันยุบยิบหัวนมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น คันจากอาการการแพ้ การติดเชื้อ หรือมะเร็ง หากพบว่าอาการคันไม่หายไปเมื่อรักษาโดยแพทย์ผิวหนัง ทั้งยังมีแผลและสีหัวนมผิดไปจากเดิม ควรพบแพทย์

รักษามะเร็งเต้านมแบบไม่ผ่าตัดได้ไหม?

การผ่าตัดเป็นขั้นตอนการรักษามะเร็งเต้านมที่จำเป็น เพราะเป็นการเอาเซลล์มะเร็งออกให้ได้มากที่สุด ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้มีการทำเคมีบำบัดหรือฮอร์โมนบำบัดก่อนการผ่าตัด หรือผ่าตัดเลยก็ได้

“ภูมิใจที่ได้ดูแลคุณ”

สอบถามรายละเอียดและนัดหมายล่วงหน้าที่

02-561-1111

02-058-1111


ทีมแพทย์มะเร็งเต้านม