โรคหัวใจวาย (Heart Failure) ? คุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง? เช็คอาการ สาเหตุ & วิธีป้องกัน

หัวใจวายคืออะไร?

หัวใจวาย หมายถึง ภาวะซึ่งหัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง หัวใจวาย ไม่ใช่หัวใจหยุดเต้น

เราเรียกหัวใจวายว่า Congestive Heart Failure คือหัวใจทำงานล้มเหลวทำให้เนื้อเยื่อต่างๆขาดออกซิเจน

หากหัวใจห้องซ้ายวายก็จะมีการคั่งของน้ำที่ปอดทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าน้ำท่วมปอด Pulmonary Edema

หากหัวใจห้องขวาวายจะเกิดการคั่งของน้ำที่ขาทำให้บวมที่เท้า โดยที่อาการหัวใจวายอาจจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่นเกิดภายหลังจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาจจะค่อยๆเกิดเช่นโรคของลิ้นหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจ

สาเหตุของหัวใจวาย

เมื่ออายุมากขึ้นการบีบตัวของหัวใจก็จะลดลง หากมีภาวะที่ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นหรือมีการสูญเสียความสามารถในการบีบตัวของหัวใจก็จะเกิดโรคหัวใจวาย นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเช่น การสูบบุหรี่ อ้วน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดโรคหัวใจวายได้ หัวใจวายมีด้วยกันหลายสาเหตุ บางครั้งอาจจะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

สาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่

  • หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ (Coronary Heart Disease) ผู้ป่วยมักจะมีประวัติเจ็บแน่นหน้าอกมาก่อน เมื่อเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอกล้ามเนื้อหัวใจก็ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันอย่างเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายไป หากบริเวณที่ตายกินบริเวณกว้างก็อาจจะเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน 
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสบางชนิด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเกิดหัวใจวาย 
  • ความดันโลหิตสูง (Hypertension)เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหนาตัวและต้องทำงานมากขึ้น เกิดหัวใจล้มเหลว
  • โรคลิ้นหัวใจ เช่น โรคหัวใจ รูมาติก Rheumatic Heart Disease ทำให้ลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่วโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 
  • โรคปอด เช่นโรคถุงลมโป่งพอง ก็สามารถทำให้หัวใจห้องขวาวาย 
  • หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia) หรือเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia) ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ 
  • สารพิษ เช่น สุรา หรือยาเสพติด ซึ่งทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น 
  • ไทรอยด์เป็นพิษ 

อาการของโรคหัวใจวาย

ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเล็กน้อยจึงไม่ได้ใส่ใจ มีจำนวนไม่น้อยที่มาพบแพทย์เมื่ออาการหนักมาก ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจวายควรที่จะรู้ว่ามีอาการอะไรบ้างและควรที่จะติดตามอาการเหล่านั้น หากอาการแย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์อาการต่างๆที่พบได้ คือ

  • เหนื่อยง่าย หากโรคหัวใจเป็นไม่มากจะเหนื่อยเฉพาะเวลาทำงานหนัก (Dyspnea on Exertion) ถ้าโรคหัวใจเป็นมากขึ้นความรุนแรงของอาการเหนื่อยจะมากขึ้น งานปกติที่เคยทำได้ก็จะเหนื่อย แม้แต่เวลาพักก็ยังรู้สึกเหนื่อย หากอาการเหนื่อยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงต้องปรึกษาแพทย์ 
  • นอนแล้วจะมีอาการเหนื่อย หลังจากนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทำให้ต้องลุกขึ้นมานั่งอาการถึงจะดีขึ้น บางรายนอนราบไม่ได้เลย Orthopnea 
  • อ่อนเพลียง่าย 
  • เท้าบวม หรือท้องมาน เนื่องจากมีการคั่งของน้ำ
  • น้ำหนักเพิ่มอย่างเร็ว 
  • ไอเรื้อรังโดยเฉพาะหากเสมหะมีสีแดงหรือชมพู ปนออกมาต้องรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด 
  • มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากระบบย่อยอาหารได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง 
  • ความจำเสื่อม มีการสับสน 
  • ใจสั่นหัวใจเต้นเร็ว 

การรักษา

โรคหัวใจวาย เป็นโรคที่มีการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอาการของหัวใจวาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องร่วมมือในการรักษาโดยมี หลักการรักษา ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 
  • การใช้ยารักษา 
  • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่นการทำ Ballon หลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ 
  • การใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ 

การป้องกัน

การป้องกันก่อนการเกิดโรค เรียก Primary Prevention เป็นวิธีการที่ดีที่สุด

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารมีคุณภาพหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็มจัด ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เครียด งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในปริมาณที่จำกัด 
  2. รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น การรักษาโรคความดันโลหิต การรักษาโรคเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ 
  3. ตรวจร่างกายประจำปีก่อนการเกิดโรคหัวใจ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หัวใจ รพ.วิภาวดี โทร. 0-2561-1111 กด 1

แพทย์

สมพงษ์ รติพิชยกุล

อายุรกรรมโรคหัวใจ

ดูโปรไฟล์

FAQ

คำถามโรคหัวใจ ถาม อยากทราบว่า ผู้ป่วยเป็นโรค หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยต้องเข้าการรับการรักษาอะไรบ้าง เมื่อแพทย์ตรวจพบกล้ามเนื้อหัวใจตายต้องทำการรักษาโดยทันทีหรือเปล่าค่ะ

คำถามโรคหัวใจ ตอบ จากคำถาม เข้าใจว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคือ ภาวะที่เกิดลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายในที่สุด สาเหตุเกิดจากการที่ก้อนไขมันเส้นเลือดหัวจเกิดการปริแตกออก ทำให้เกิดการจับตัวของเกร็ดเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับ อาจมีอาการอึดอัด หายใจไม่ออก และมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ แขน หรือหลังได้ อาการมักจะรุนแรงและเป็นเวลานานมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป การรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ โรคแทรกซ้อน โรคร่วมอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยมี เช่น โรคไต เบาหวาน แพทย์จะเป็นคนพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยและญาติจะรักษาด้วยวิธีใด พิจารณาพร้อมกับผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น EKG, ผลเลือด การรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด แบ่งเป็น 1. การให้ยาละลายลิ่มเลือด ในรายที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา 2. การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดค้ำยัน สรุป การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันให้ได้ผลดีนั้น ระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการจนถึงได้รับการรักษา มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลอดเลือด โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดใส่ขดลวด ค้ำยัน ผลของการรักษาจะดีและภาวะแทรกซ้อนน้อย ถ้าผู้ป่วยได้รรับการรักษาเร็วค่ะ ยินดีบริการค่ะ คำตอบโดย คุณพรทิพย์ พิทักษ์เทพสมบัติ หัวหน้าแผนกคลีนิคบริการโรคหัวใจ
<