มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) มะเร็งอันดับ 3 ในชายไทย (8.8 ราย / 100,000 คน) 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer) เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้น และเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก สำหรับประเทศไทย ปี พ.ศ.2542 พบมะเร็งลำไส้ใหญ่บ่อยเป็นอันดับสามในชายไทย (8.8 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน) รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด เป็นอันดับที่ 5 ในหญิงไทย (7.6 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน) โดยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และพบว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยมะเร็งนี้จะมีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว  มะเร็งลำไส้ โดยทั่วไปจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (colon) และลำไส้ตรง ( rectum) มากกว่าลำไส้เล็กครับ 

สาเหตุ

สาเหตุมีหลาย factor เช่น

  • กรรมพันธ์,ยีน มีประวัติคนเป็นในครอบครัว 
  • โรคของลำไส้บางชนิด เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ (FAP=familial adenomatous polyposis coli) พวกนี้โอกาศเป็นมะเร็ง 100% ฉะนั้นมักต้องตัดลำไส้ทันทีที่ทราบว่าเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง (ulcerative colitis) 
  • ในเรื่องของอาหารการกินก็มีส่วน คือพบว่าการกินอาหารไขมันสูง,กากน้อย จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น(High fat,low fiber)ทำให้โรคนี้มักเป็นกันมากในแถบ europe และ USA ซึ่งทานแต่เนื้อไม่ค่อยทานผัก(พวก fast food) 
  • เป็นเอง ไม่ทราบสาเหตุ อาการขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น คือ
    • ลำไส้ใหญ่ฝั่งขวา  อาจมาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือดประจำ อ่อนเพลีย  ซีด  น้ำหนักลดจากการเสียเลือดเรื้อรัง 
    • ลำไส้ใหญ่ฝั่งซ้าย   อาจมาด้วย ปวดท้อง ท้องอืดประจำ อาจมีถ่ายเป็นมูกเลือดได้ แต่พวกนี้มักมาด้วย 
    • ลำไส้อุดตันบ่อยครับ คือท้องอืดไม่ถ่าย ไม่ผายลม ต้องรีบ ผ่าตัดเลยครับ อาจมีอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด ได้เหมือนกัน 
    • ลำไส้ตรง  อาจมีอาการท้องเสีย สลับท้องผูกประจำ, ถ่ายเป็นมูกเลือด, ซีดลง, ถ่ายไม่สุด, ถ่ายลำเล็กลง, ถ่ายเป็นเม็ดกระสุนออกมา จนถึงอุดตัน จนถ่ายไม่ออก  ท้องอืด 

สรุปอาการที่เด่นๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นตรงไหน คือ อ่อนเพลีย ซีด ปวดท้อง แน่นท้อง รวมทั้งถ่ายเป็นมูกเลือดครับ

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันมีการศึกษาด้านชีวภาพของโรคนี้มากขึ้น ทำให้เข้าใจถึงพยาธิกำเนิดนำไปสู่แนวทางการป้องกันโดยการตรวจคัดกรอง (Screening) ทำให้วินิจฉัยมะเร็งนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก่อนที่มะเร็งลำไส้ใหญ่จะลุกลาม ส่งผลให้เพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น มีการตรวจหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป ได้แก่

การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test : FOBT)

เป็นวิธีที่ใช้แพร่หลาย จากข้อมูลทางยุโรปและสหรัฐ พบว่าร้อยละ 1-2.6 ของผู้ที่ให้ผลบวกของ FOBT มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ข้อจำกัดของวิธีนี้คือ ความไวต่ำและมีผลบวกลวงสูง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบบริโภคเนื้อแดง หรือผักจำพวกหัวผักกาด กระหล่ำดอก บล็อกโคลี หัวไชเท้า แคนตาลูป ฯลฯ ซึ่งผู้ตรวจควรงดรับประทานอาหารดังกล่าว 3 วัน ก่อนเก็บตัวอย่างอุจจาระ มาตรวจ และอาจต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระมาตรวจซ้ำ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ซึ่งผู้คัดกรอง หลายท่านไม่สะดวกและรู้สึกยากลำบากในการเก็บตัวอย่างมาตรวจนั่นเอง

การตรวจลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งและเอกซเรย์ (Double (air) Contrast Barium Enema : DCBE)

เป็นทางเลือกหนึ่งในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอดีต โดยใช้แป้งแบเรียมสวนเข้าทางทวารหนัก ประสิทธิภาพในการตรวจนี้ไม่ชัดเจน ความไวในการตรวจน้อยกว่าการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ถ้าติ่งเนื้องอกขนาดเล็กกว่า 1 ซม. ข้อจำกัดอีกอย่างคือ ผู้รับการตรวจอาจไม่สามารถทนการตรวจได้ เพราะต้องอัดแป้งเข้าไปประกอบกับต้องกลั้นทวารหนัก พลิกตะแคงไปมาและยังต้องการรังสีแพทย์ผู้มีประสบการณ์ ความชำนาญในการอ่านผลเป็นอย่างดี

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscope)

การส่องกล้องเป็นวิธีที่มี Cost Effective สูงสุดในปัจจุบัน สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงเป็นที่แนะนำของสมาคมแพทย์ต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากจะเห็นเนื้องอกชัดเจนแล้วยังสามารถนำติ่งเนื้องอกออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตามวิธีนี้จัดว่ามีภาวะแทรกซ้อนได้ร้อยละ 0.03-0.72 มีค่าใช้จ่ายสูง ผู้รับการตรวจต้องอดอาหารและเตรียมลำไส้ใหญ่ให้โล่งว่าง ทั้งยังต้องการแพทย์ผู้ชำนาญในการส่องกล้องตรวจเพื่อความแม่นยำและลดภาวะแทรกซ้อนในการตรวจ

การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography)

เป็นการนำ Helical CT ซึ่งมีความละเอียดสูง มาประกอบภาพ 3 มิติของลำไส้ใหญ่ ข้อดีคือ ทำให้เร็วและปลอดภัย เห็นภาพได้ตลอดความยาวลำไส้ใหญ่และมองเห็นผิวนอก ต่อมน้ำเหลืองรอบ ๆ ลำไส้ใหญ่ แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่างคือ ความไวและความจำเพาะไม่มาก ทั้งยังต้องเตรียมและต้องเป่าลมเข้าลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เครื่องมือชนิดนี้ยังมีไม่มากและไม่สามารถเบิกจ่ายค่าตรวจจากระบบประกันสุขภาพได้

การรวจหาดีเอนเอ (Fecal DNA Testing)

มีความไวในการคัดกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าการตรวจ FOBT ถึง 4 เท่า แต่มีความไว ครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การตรวจนี้อาจเป็นที่ยอมรับให้ใช้เป็น เครื่องมือในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในอนาคต

การป้องกัน

จากสาเหตุดังกล่าวการป้องกันเท่าที่ทำได้ คือถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง คงต้องพบแพทย์สม่ำเสมอ อาจต้องตรวจอุจจาระ ส่องกล้องดูลำไส้ ประจำ เช่น ปีละครั้ง เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ถ้าไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง ก็กินผักมากๆ อาหารมันๆน้อย ถ่ายอาจตรวจอุจจาระ (stool occult blood) ปีละครั้ง เริ่มตอนอายุ 40 ปี แค่นี้ก็พอครับ 

แพทย์

นพ.ธเนศ พัวพรพงษ์
แผนกศัลยกรรม

<