โรคออทิสติก (Autistic)

โรคออทิสติก (Autistic)

โรคออทิสติกคืออะไร

          โรคออทิสติก เป็นโรคที่มีความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้านได้แก่ พัฒนาการด้านการสื่อสาร ด้านการเข้าสังคม และด้านการเล่น อาการสามารถจำแนกตามพัฒนาการแต่ละด้านได้ดังต่อไปนี้

 

  • พัฒนาการด้านการสื่อสาร เช่น พูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ ไม่ส่งเสียงเรียก บอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
  • พัฒนาการด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ
  • พัฒนาการด้านการเล่น เช่น เล่นซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎเกณฑ์ 
  • นอกจากนี้โรคออทิสติกสามารถแสดงด้วยอาการอย่างอื่น เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่งหรือขาดสมาธิ ร้องกรี้ดเสียงสูง โขกศีรษะ เป็นต้น

 

           ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคออทิสติกที่แน่นอน เชื่อกันว่าภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญ นอกจากนี้ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้การป้องกันไม่ให้เกิดโรคทำได้ยาก แพทย์จึงมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อผลการรักษาที่ดี

 

           โรคกลุ่มออทิสติกพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1  อาการสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ในเด็กที่เริ่มมีอาการเบื้องต้นผู้ปกครองมักคิดว่าเป็นเด็กขี้อาย รักสงบ หรือบางคนเข้าใจว่าเป็นเด็กสมาธิดี จดจ่อของเล่นได้นาน เด็กออทิสติกมักมีอาการที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปี

 

การวินิจฉัยทำได้อย่างไร

           เมื่อดูจากลักษณะภายนอกเด็กออทิสติกจะดูไม่แตกต่างจากเด็กปกติทำให้การวินิจฉัยโรคออทิสติกทำได้ยาก การวินิจฉัยโรคออทิสติกทำโดยการประเมินอาการทางคลินิกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการใด ๆ การประเมินอาการประกอบด้วยการซักประวัติจากพ่อแม่และการประเมินเด็กผ่านทางการเล่น แพทย์อาจขอข้อมูลพฤติกรรมที่โรงเรียนจากครูเพิ่มเติม นอกจากนี้แพทย์จำเป็นต้องส่งประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) โดยนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง การส่งตรวจทางคลินิกที่อย่างอื่น เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จำเป็นในกรณีที่มีอาการชักร่วมด้วยเท่านั้น

 

ออทิสติกต่างกับปัญญาอ่อนอย่างไร

           หลายคนมักเข้าใจว่าออทิสติกกับปัญญาอ่อนเป็นภาวะเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วออทิสติกเป็นคนละภาวะกับปัญญาอ่อนสามารถแยกจากกันโดยการส่งประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) อย่างไรก็ตามโรคออทิสติกสามารถพบร่วมกับภาวะปัญญาอ่อนได้ร้อยละ 50 ในบางกรณีโรคออทิสติกสามารถมีระดับสติปัญญามากกว่าคนปกติและมีความสามารถพิเศษในระดับอัจฉริยะ (Autistic Savant) เช่น ความสามารถในการวาดรูป หรือความสามารถในการจำปฏิทิน

 

การรักษาโรคออทิสติก

            ทุกวันนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นในการรักษาออทิสติกแตกต่างกันไป ผู้เชียวชาญบางท่านให้ความเห็นว่าโรคออทิสติกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันโรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม การรักษาออทิสติกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้

 

  • การกระตุ้นพัฒนาการ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุดในโรคออทิสติก การกระตุ้นพัฒนาการมีหลายวิธี ได้แก่ การกระตุ้นผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก (Sensory Integration) กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) และการฝึกพูด (Speech Therapy) การรักษาทั้งหมดนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง
  • การปรับพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมอันตราย เช่น โขกศีรษะหรือก้าวร้าว ซึ่งในเด็กออทิสติกจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้อย่างตรงไปตรงมา การสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมต้องกระชับเข้าใจง่ายและทำได้จริง ทั้งนี้พ่อแม่ทุกรายควรได้รับการฝึกทักษะในการปรับพฤติกรรมโดยแพทย์
  • การใช้ยา เนื่องจากโรคออทิสติกเป็นโรคทางพัฒนาการของสมอง ดังนั้นยาจึงจำเป็นที่จะช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน การใช้ยาจะพิจารณาตามอาการสำคัญในเด็กออทิสติก เช่น ยา Risperidone ช่วยควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว ยา Methylphenidate ช่วยควบคุมอาการขาดสมาธิและอยู่ไม่นิ่ง ทั้งนี้การรักษาด้วยยาจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลและประเมินผลข้างเคียงโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

            โรคออทิสติกเป็นโรคทางสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการ การรักษาจำเป็นต้องใช้ความทุ่มเททั้งกายและใจอย่างมาก ผลการรักษาขึ้นกับความเข้าใจในตัวโรค ความเชื่อมั่นศักยภาพในตัวเด็ก และความรักจากผู้ปกครอง ทั้งหมดนี้จะเป็นแรงผลักดันให้สามารถเอาชนะโรคออทิสติกได้

 

               นพ.ทรงภูมิ  เบญญากร

      กุมารแพทย์สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น

คลินิกสุขภาพจิตและพัฒนาการเด็ก รพ.วิภาวดี

<